bloggang.com mainmenu search
นอกเหนือจากความหอมของกาแฟ บรรยากาศในการดื่มกาแฟที่แสนจะมีเสน่ห์ นักดื่มกาแฟ
รู้จักดีว่าในกาแฟมีสารที่เรียกว่า “คาเฟอีน”อยู่ ซึ่งสารคาเฟอีนนี้จะช่วยทำให้คนวัยทำงาน
อย่างเราๆ ผ่านช่วงบ่ายอันแสนง่วงไปได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า “คาเฟอีนเป็นสารเสพติด”
ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ และท่านผู้อ่านก็ไม่ได้อ่านผิดหรอกครับ คาเฟอีนเป็นสารเสพติดจริงๆ


ในทางการแพทย์ได้กำหนดให้มีอาการที่เรียกว่า ภาวะติดคาเฟอีน (Caffeine Dependence)
เช่นเดียวกับสารเสพติดอย่างสุรา ซึ่งภาวะดังกล่าวถูกกำหนดอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
ที่เรียกว่า DSM-IVเหตุผลเนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีสูตร
โครงสร้างคล้ายสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า อะดีโนซีน (Adenosine) ผลก็คือทำให้สมองมีสารโดปามีน
(Dopamine) และซีโรโตนิน (Serotonin)เพิ่มสูงขึ้น สารทั้งสองตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้สมองตื่นตัวและ
ทำงานหนักขึ้น รวมถึงความรู้สึกพึงพอใจจากการดื่มกาแฟ หลังจากดื่มกาแฟแล้วคาเฟอีนจะเข้าสู่
กระแสเลือดและเข้าสู่สมองภายใน 45 นาที และมีฤทธิ์อยู่ประมาณ3-5 ชั่วโมง

สำหรับเทคนิคการเลิกดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการติดคาเฟอีน หมอขอแนะนำวิธีการเบื้องต้น
ดังต่อไปนี้

1. ให้ลดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวันลง เช่น จากที่เคยดื่มวันละ 4 แก้วให้ลดลงเหลือ 3 แก้ว
แต่หากจำเป็นต้องดื่มแก้วที่ 4 ให้ชงด้วยกาแฟสกัดคาเฟอีน (Decaffeinated) จนกระทั่งร่างกาย
เริ่มชินก็ลงปริมาณลงอีก

2. สำรวจว่านอกจากกาแฟแล้ว ท่านยังได้รับคาเฟอีนจากอาหารชนิดใดอีกบ้าง เช่น ชา โกโก้
ช็อคโกแลตซีเรียลรสโกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น จากนั้นให้ลดการบริโภคทุกอย่างร่วมกับ
การลดปริมาณกาแฟที่ดื่มในแต่ละวัน หรือเลิกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้

3. นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

4. ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 1-2 ลิตร และการรับประทานวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยทุเลาอาการ
อ่อนเพลีย

5. การออกกำลังกายจะช่วยให้สมองเพิ่ม ซีโรโตนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) ได้
เช่นเดียวกันกับการได้รับคาเฟอีน

6. งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

7. รับประทานอาหารเช้าเพราะระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เพียงพอจะช่วยให้สมองและร่างกาย
ทำงานได้โดยไม่อ่อนเพลีย

8. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟและควรหลีกเลี่ยงการไปร้านกาแฟ

9. หากมีอาการปวดศีรษะระหว่างงดกาแฟ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลหรือแอสไพรินได้
ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนอยู่

10. หากมีอาการหงุดหงิด ใจสั่น อาจจะให้วิธีอาบน้ำเย็นช่วย

เทคนิคทั้ง 10 ข้อนี้ ประยุกต์จากความรู้ทางวิชาการและจากประสบการณ์การแนะนำผู้มาตรวจสุขภาพ
รวมถึงประสบการณ์ของหมอเองในการลดปริมาณการดื่มกาแฟ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้อ่านลดปริมาณ
การดื่มกาแฟได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่มก็คือ ความตั้งใจและความมุ่งมั่น
ของท่านผู้อ่านเอง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ : //goo.gl/HVZoe
Create Date :23 กันยายน 2554 Last Update :23 กันยายน 2554 12:54:25 น. Counter : Pageviews. Comments :1