O วิญญาณ แบบพุทธ เป็นอย่างไร .. ? O
.


เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสผ่านตาแนวคิดเรื่อง"วิญญาณ" ที่เป็นอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบกับ"เปลวเทียน" ..





.........

ที่มา .. ->บันทึกหลวงพ่อชา<-

.........


ในขันธ์ 5 อันมี ..

รูป
ในขันธ์๕ หมายถึง ส่วนร่างกายตัวตน, ในอายตนะหมายถึง "ภาพ หรือรูป "ที่เห็น ซึ่งในบางครั้งใช้ครอบคลุมถึง "สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลาย" คือรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส, ความคิด(ธรรมารมณ์)ทั้ง๖, คือใช้แทนอายตนภายนอกทั้งหมด

เวทนา
การเสวยอารมณ์ (ทั้งต่อใจและกาย), ความรู้สึก,ความรู้สึกในรสของอารมณ์ (Feeling) ; ความรู้สึกจากการรับรู้ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ต่างๆ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัสทางกาย) ความคิดนึก(ธรรมมารมณ์) ด้วยอายตนะภายในอันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ; หรือ ความรู้สึกรับรู้(รวมทั้งจําและเข้าใจ)ในสิ่งที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกาย อันหมายถึงความรู้สึกรับรู้พร้อมทั้งความจําได้ในสิ่งที่มากระทบสัมผัส หรือ เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)อันพร้อมด้วยความจําได้หรือมีประสบการณ์ในสิ่งที่ผัสสะนั้นๆ

สัญญา
การกำหนดหมาย, ความจำได้ ความหมายรู้ คือหมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่น ทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น .. และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก

สังขาร
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น, สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัย, สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้น มาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยคือเครื่องสนับสนุน ปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรม และ นามธรรม ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, จิต, สิ่งของวัตถุ, ตัวตน ฯลฯ. กล่าวคือจึงครอบคลุมทั้งหมดทั้งสิ้น พึงยกเว้นแต่เพียงเหล่าอสังขตธรรมเท่านั้น อันคือ สภาวธรรม ทั้งปวง ดังเช่น พระนิพพาน.

วิญญาณ
ในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕ อันหมายถึงการรับรู้จากอายตนะ หรือความรู้แจ้งอารมณ์ หรือระบบประสาทอันทําหน้าที่ในการสื่อสาร ดังเช่น จักขุวิญญาณ ระบบประสาทรับรู้ของตา กล่าวคือ การรับรู้หรือรู้แจ้งในรูป ที่มากระทบตา

- ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต(ก็เรียกกัน), ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ;

วิญญาณ ๖ คือ
๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)


............

อันเป็นเหตุที่มาแห่งทุกข์ ตามลำดับการเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน
และวิญญาณที่เป็นทุกข์ คือตัวนี้ ไม่ใช่ที่เรียกว่าดวงมนัส อันเป็นแนวคิดจากพราหมณ์แต่อย่างใด ..

เมื่อมีภาวะเริ่มต้นจากภายนอกกายเป็นต้นเหตุ จึงเกิดการรับรู้ ทางทวารทั้ง 6 .. นี้เป็นลำดับที่ 1


แล้วมาดู"ลำดับการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ในสายปฏิจจสมุปบาท"

อวิชชา -> สังขาร -> วิญญาณ -> นามรูป -> สฬายตนะ -> ผัสสะ -> เวทนา -> ตัณหา -> อุปาทาน -> ภพ -> ชาติ -> ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส

"วิญญาณ" เป็นเหตุ และ .. จนได้ "เวทนา" เป็นผลก่อนจะลามต่อเป็น "อุปาทาน" ที่หากมาถึงจุดนี้ก็ค่อนข้างจะสายเกินการณ์ที่จะหยุดทุกข์ได้


ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ ..
.. ในขันธ์ 5 ท่านวาง เวทนา ไว้ก่อน วิญญาณ
.. ขณะที่ในปฏิจจสมุปบาท กลับวาง เวทนา ไว้หลัง วิญญาณ ในลำดับขั้นตอนที่แน่นอนชัดเจนที่ไม่อาจข้ามกันไปได้ เนื่องจากเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกัน


ซึ่งหากพิจารณาขันธ์ 5 โดยเริ่มที่รูปก่อนเป็นอย่างแรก ..
อายตนะภายในทั้ง6 ที่เป็นตัวรู้อายตนะภายนอกทั้ง6 นั้นจะเป็นบ่อเกิดของวิญญาณทั้ง6 จากภาวะที่ตัวตนนั้นๆเต็มพร้อมอยู่ด้วยอวิชชา

คือ เมื่อตากระทบรูป .. จักขุวิญญาณก็ถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นรับรู้รูปที่เห็นนั้น .. จักขุวิญญาณนี้สวมทับลงบนตาเนื้อที่เป็นอวัยวะบนใบหน้าหลังจากมองเห็นรูปที่มีความหมาย (เช่น .. สายตาชายหนุ่มมองเห็นสาวสวยในชุดรัดรูป .. ขณะที่หากมองเห็น กรวดเล็กสักก้อนริมท่อระบายน้ำ มันคงไม่มีความหมายอะไร - กรณีหลังนี้จักขุวิญญาณจะไม่เกิด เพื่อจะยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์)


พูดให้เข้าใจง่ายๆว่า .. การที่ตามองเห็นรูป มันไม่ใช่ปัญหาอะไรที่ทำให้พระพุทธเจ้าต้องออกบวช .. แต่การที่เกิดการ "spark" กันของรูปกับวิญญาณทางตา นี่ต่างหากที่เป็นปัญหา !


อะไรทำให้เกิดการ spark ?


ตอบว่า อำนาจแห่งการปรุงแต่ง หรือ สังขาร นี้จะ activate หรือกระตุ้นให้ตัวรู้อารมณ์ที่เรียกว่าวิญญาณ ตั้งภาวะขึ้นรอ

แล้วการตั้งภาวะขึ้นรอนี้คือ วิญญาณ (เกิดบนดวงตาเรียก จักขุวิญญาณ) เป็นภาวะนามธรรม จำต้องอาศัยเกิดขึ้นบนรูปธรรมคือดวงตา รวมกันเราเรียกว่า นามรูป

นามรูป นี้เหมือนตัวตนหนึ่งที่มีภาวะพร้อมสรรพสำหรับการรับรู้อารมณ์

เมื่อมีสิ่งภายนอกกาย ที่เป็นรูป ผ่านมา .. เราเรียกว่า อายตนะภายนอก นามรูปที่เป็นอายตนะภายใน ก็เกิดการ spark ขึ้นคือ ผัสสะ (contact)

การรู้รสของอารมณ์ก็เกิดขึ้น (feeling) คือ เวทนา

เมื่อรู้รสก็เกิด ความอยาก หรือ ไม่อยาก ในรสนั้น คือ ตัณหา (craving)

ความอยาก หรือ ไม่อยาก ก็จะทำให้เกิดความยึดติด ยึดมั่น ถือมั่น คือ อุปาทาน (attachment)

ความยึดมั่นถือมั่นนี้ ก็สร้างภาวะ ดำรงอยู่ มีอยู่ ของตัวตนนั้นขึ้นมา คือ ภพ (existence)

การสร้างภาวะดำรงอยู่ขึ้นมานี้ (เป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น) เราเรียกว่า การเกิด การเกิดขึ้นใหม่ หรือ ชาติ (birth or re-birth)

การเกิดขึ้นของกองทุกข์ก็ถึงพร้อม คือ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (decay, death, grief, lamentation, distress, sad)

ถึงตรงนี้สายศรัทธา อย่าเพิ่งมึน .. ว่าทำไม อุปาทาน ทำให้เกิดความแก่ ความตายได้ .. !

เพราะว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ เท่านั้น .. ไม่เกี่ยวกับ ร่างกายเลย .. แต่ต้องอาศัยกายเป็นที่ตั้งขึ้นของนามรูป

เพราะหากความแก่ ความตาย (ชรา มรณะ) นี้เป็นเรื่องทางกายแล้ว .. พระพุทธเจ้าที่ทำลายอวิชชาลงได้ในคืนตรัสรู้ .. จะต้องปรินิพพานคาโคนต้นโพธิ์ไปแล้ว ..

เพราะ ..

อวิชชาดับ -> สังขารดับ -> วิญญาณดับ -> นามรูปดับ -> สฬายตนะ (อายตนะนอก+ใน) ดับ -> ผัสสะดับ -> เวทนาดับ -> ตัณหาดับ -> อุปาทานดับ -> ภพดับ -> ชาติดับ -> ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส ดับ


จึงบอกว่า มันเป็นเรื่องทางจิตเท่านั้น

.
.

ร่ายยาวลงมาตามสายปฏิจจสมุปบาท เพียงเพื่อจะโยงไปหา เรื่อง วิญญาณ กับ เปลวไฟ เท่านั้น !


ว่า ..


การเกิดขึ้น การดับลง ของวิญญาณทั้ง 6 เป็นไปตามกำลังสังขารในจิตที่เกิดจากอวิชชา ..

และวิญญาณทั้ง6 จำต้องอาศัยรูปขันธ์เป็นที่อาศัยเกิดขึ้น

รูปขันธ์ คือ
.. ดวงตา
.. จมูก
.. หู
.. ลิ้น
.. ผิวกาย
.. สมอง (ที่เกิดความคิด)


รูปขันธ์ จึงเหมือนแท่งเทียน

เทียนจะติดไฟได้ต้องมีองค์ประกอบคือ
ไส้บนแท่งเทียนที่มีคุณสมบัติติดไฟรอพร้อม + ความร้อนระดับจุดวาบไฟสัมผัสที่ไส้ (พร้อมอ๊อกซิเจนในบรรยากาศ) = ดวงไฟสว่าง (ผลจากการประชุมกันของปัจจัย)

เปรียบได้กับ ..
ดวงตาบนร่างกายที่มีคุณสมบัติเห็นรูปได้รอพร้อม + อำนาจการปรุงแต่งจากอวิชชาที่นอนเนื่องในจิต (พร้อมรูปที่มีความหมาย) = จักขุวิญญาณ (ผลจากการประชุมกันของปัจจัย)


ในกรณีแท่งเทียนติดไฟ .. มันจะดับเมื่อ
.. แท่งเทียนไหม้จนหมด
.. ความร้อนต่ำกว่าจุดวาบไฟ
.. อ๊อกซิเจนในที่นั้นหมด


ในกรณีการมองเห็นรูป .. มันจะสิ้นสุดเมื่อ
.. ดวงตาสิ้นภาวะ (รูปขันธ์ถูกทำลาย หรือ หมดอายุ)
.. อำนาจการปรุงแต่งจากอวิชชาดับลง
.. รูปนั้นๆหมดความหมาย


ดังนั้น ..
หากดึงเอาปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งออกจากการประชุมกัน .. ผลจากการประชุมกันของปัจจัยก็จะเปลี่ยนไป .. ไม่สามารถตั้งภาวะถาวรสืบเนื่องต่อไปได้ .. คือ อนิจจะลักษณะ


คำถามของหญิงฝรั่งต่อหลวงพ่อชา เรื่องวิญญาณ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยวิธีนี้

ที่หลวงพ่อท่านบอกว่า เป่าด้วยลมปากให้ไฟที่แท่งเทียนดับ นั้น คือการทำให้ความร้อนต่ำกว่าจุดวาบไฟ นั่นเอง


แต่เนื่องจาก .. คำว่า วิญญาณ ของหญิงฝรั่งเขาหมายถึง "ดวงมนัส" อย่างของพรามหณ์นั่นเอง อัน ..
.. จะละออกจากร่างเมื่อรูปกายแตกดับลง
.. อันเป็นตัวรับรู้อารมณ์
.. อันเป็นตัวที่ทำให้พูดได้ มองเห็นได้ ดมกลิ่นได้ รู้สึกนึกคิดได้
.. อันจะเป็นตัวเสวยผลกรรมที่เคยทำไว้เมื่อชาติก่อน
.. อันจะล่องลอย เพื่อจะมุดเข้าท้องหญิงมีครรภ์ แล้วตั้งภาวะขึ้นใหม่ในร่างทารกหลังคลอดจากท้องแม่


มาลองพิจารณาดูความหมายของ วิญญาณ แบบพราหมณ์ดู เพื่อเปรียบเทียบ
.......................

ส่วนคำว่า อาตมัน (อาตฺมนฺ) สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นมาจากธาตุ อนฺ (อัน) ที่แปลว่า “หายใจ” ใช้เรียกส่วนเสี้ยวของพรหมัน ซึ่งเป็นจิตบริสุทธิ์ (ชีวาตมัน) ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด และใช้เรียกสิ่งที่เป็นแก่นสารที่แท้จริงของทุกสิ่งในจักรวาล

คำว่า อาตมัน แปลว่า ตัวตน (สิ่งที่เป็นอมตะ นิรันดร) มาจาก อนฺ ธาตุ แปลว่า หายใจ ซึ่งเป็นลมหายใจของชีวิต ความหมายของอาตมันแผ่กว้างออกไปตามลำดับ จนมีความหมายครอบคลุมถึงชีวิต วิญญาณหรือตัวตน

ที่มาของคำว่า อาตมัน ยังมีสันนิษฐานอื่นอีก กล่าวคือ อาจมาจากธาตุ อตฺ (อัต) ที่แปลว่า “ไปเรื่อย , เดินไป” หรืออาจมาจากธาตุ อวฺ ที่แปลว่า “ขับเคลื่อน” หรืออาจมาจากรากศัพท์ อะ ที่พบในคำว่า อะหัม (อหมฺ) ที่แปลว่า “ข้าพเจ้า” รวมกับคำว่า ตทฺ ที่แปลว่า “สิ่งนั้น” (พรหมัน) เป็นอาตมัน (อาตฺมนฺ) แปลว่า “ข้าพเจ้า คือ สิ่งนั้น” หมายถึง ชีวาตมันของข้าพเจ้า คือพระพรหมัน

ด้วยเหตุที่คำว่า ปราณ (ปฺราณ) ซึ่งแปลว่า “ลมหายใจ ชีวิต สิ่งที่เป็นหลักของชีวิต” ก็มีการสร้างคำขึ้นมาจากธาตุ อนฺ เช่นเดียวกับคำว่า อาตมัน ดังนั้นในคัมภีร์อุปนิษัท จึงปรากฏมีคำสอนเกี่ยวกับการใช้ ปราณ เป็นสัญลักษณ์เพื่อการเพ่งจิตถึงอาตมันของตน และมีการใช้คำว่า ปราณ แทนคำว่า อาตมัน ในหลายแห่ง อาทิ ในกฐะอุปนิษัท มีข้อความกล่าวไว้ว่าดังนี้

ด้วยเหตุที่สกลจักรวาลซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่นี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา (และ) เคลื่อนไหวอยู่ในปราณ (อาตมัน)

ราธากฤษณัน กล่าวว่า อาตมันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์ เป็นวิญญาณซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นลมหายใจ (ปราณ) เป็นความรู้สึกบริสุทธ์ปราศจากกิเลส และอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น อาตมันเป็นสิ่งที่คงอยู่ เมื่อทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนถูกทำลาย ดังนั้น อาตมันจึงเป็นส่วนที่เหลืออยู่หลังจากส่วนประกอบทางร่างกายและจิตของมนุษย์ของแต่ละคนถูกแยกกระจายออก ดังฉานโทคยะอุปนิษัทกล่าวไว้ว่า อาตมันอยู่เหนือกายหยาบและอาตมันที่ถูกรับรู้ในขณะตื่นและขณะหลับฝัน

สิ่งเหล่านี้ ล้วนมีธรรมชาติอย่างเดียวกัน คือ เป็นสรรพัญญู สรรพาภิภู สรรพเดชา เป็นอมตะ คือ ไม่เกิด ไม่ตาย และเที่ยงแท้นิรันดร แต่เรามองไม่เห็นจึงไม่รู้ว่า อาตมันมีลักษณะหรือสวภาวะเป็นอย่างนี้ อาตมันซ่อนอยู่ในเครื่องห่อ คือ โกศะ ที่ปิดบังตาเราไว้ไม่ให้เห็น และทำให้เราเข้าใจผิดไปว่ามันคือร่างกายบ้าง อินทรีย์บ้าง มนัสบ้าง ฉะนั้น ถ้าจะให้เห็นตัวอาตมันจะต้องเปิดเครื่องปกปิดที่เรียกว่า โกศะ ๕ อย่างออก แต่ละอย่างมีดังนี้

๑) อันนมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ข้าวและน้ำ ได้แก่ ส่วนของร่างกาย มีกระดูก เนื้อหนังมังสา ที่เจริญเติบโตขึ้นมาจากข้าวและน้ำนี้เอง นี้เป็นเครื่องปกปิดอาตมันชั้นแรก ถ้าไม่เปิดออก เราก็เข้าใจผิดว่า อาตมันคือร่างกาย แต่ที่จริงร่างกายไม่ใช่อาตมัน แต่มีขึ้นเพื่ออาตมันและโดยอาตมัน

๒) ปราณมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ลมหายใจ ได้แก่ ชีวิต แม้ว่าชีวิตจะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ ทำอะไรได้ก็จริง แต่ความมีชีวิตอาจตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วดับไป ฉะนั้น ชีวิตจึงไม่ใช่อาตมัน เพราะอาตมันเป็นอมตภาวะ เราต้องเปิดเครื่องปกปิดคือชีวิตอีกชั้นหนึ่ง และก้าวต่อไปเพื่อดูตัวอาตมัน

๓) มโนมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ มโนหรือมนัส ซึ่งทำหน้าที่รู้สึกต่ออารมณ์ มนัสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางความคิดหรือกระบวนการให้มีการรับรู้อารมณ์ เป็นเพียงเครื่องมือของอาตมันชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปแล้ว แต่เป็นเครื่องมือขั้นต่ำที่สามัญสำหรับคนและสัตว์ ขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ออก แล้วมองข้ามไปอีกชั้นหนึ่ง

๔) วิญญาณมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ วิญญาณ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิดที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นความคิดชั้นสูง มีเฉพาะในคนที่เจริญแล้ว เครื่องปกปิดชั้นนี้อยู่ใกล้อาตมันมากเข้าไปอีก แต่เป็นเพียงเหตุผล ไม่ใช่ตัวอาตมันแท้ ฉะนั้น จึงขอให้เปิดเครื่องปกปิดนี้ทิ้งไปแล้วก้าวต่อไปอีกชั้นหนึ่ง

๕) อานันทมัยโกศะ เครื่องปกปิด คือ ความสุข หมายความว่า ถ้าผู้ใดเปิดเครื่องปกปิดมาแต่ละชั้น ๆ และมองเห็นตามความเป็นจริงมาแต่ละชั้น ๆ ก็จะมาถึงชั้นสุดท้าย คือความสุข แล้วจะพบตัวอาตมันนอนอยู่ที่นั้น แต่มิได้หมยความว่า อาตมันอยู่เฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น แท้จริง อยู่ทั่วไปทุกชั้น แพร่อยู่ทั่วไป แต่เรามองไม่เห็น กลับมองเห็นอย่างอื่นไป

จากที่ได้แสดงมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการบอกให้เราได้รู้ถึงอาตมันหรือพรหมันในด้านความหมายและลักษณะของอาตมันหรือพรหมันเท่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน ดังนั้น เราถึงจะต้องรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะกล่าวต่อไปอีกข้างหน้า


ที่มา .. gotoknow

.......................


จึงทำให้การอธิบายแบบเหตุปัจจัยส่งผลต่อกันของหลวงพ่อชา ทำให้เขาไม่อาจเข้าใจได้ ..


เนื่องจาก วิญญาณ แบบ ดวงมนัส นี้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงในจิตคนส่วนใหญ่ ในความเชื่อ ในแทบทุกศาสนาจนยากจะถอนออกได้ ..

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ แล้วใคร่ครวญเพื่อสอนธรรมแก่คนบนโลกนี้ .. จึงทรงตระหนักว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ยากแก่คนทั่วไปที่มีธรรมชาติแนบแน่นอยู่กับอัตตาตลอดเวลาจะรู้ตามได้ จึงทรงท้อที่จะสอนธรรม


เนื่องจากแนวคิดแบบ ดวงมนัส เวียนเกิดดับอยู่ในวัฏฏะสงสารนี้ .. คนทั่วไปไม่อาจเข้าถึง ไม่อาจเข้าใจ ไม่อาจพิสูจน์ได้ .. การพร่ำพูดเรื่องที่รู้ด้วยตนเองไม่ได้ จึงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ และเป็นสาเหตุของการหลอกลวง เป็นความงมงายมืดมัวแห่งตัวตนนั้นๆ ..

พระพุทธองค์จึงไม่ทรงตอบ และเข้าใจว่าไม่อนุญาติให้สาวกตอบด้วย .. ด้วยเหตุที่คุณสมบัติผู้ฟังแทบ 100% ไม่ถึงระดับที่สามารถรู้ได้ ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตนเอง .. รู้ไปก็เท่านั้น

รวมทั้งเรื่อง วิบากกรรม ก็ไม่ทรงให้ตอบ


อจินไตย [จินไต] ว. ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด,
สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ
.. พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑
.. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑
.. วิบากแห่งกรรม ๑
.. ความคิดเรื่องโลก ๑



ผู้พยายาม พูดประเด็นพวกนี้ .. ย่อมเป็นเหตุทำให้พุทธธรรมเสื่อมทรามลง เพราะเป็นการเดามั่วทั้งสิ้น


เหมือนคนตาบอดสนิท 4-5 คนยืนอยู่โดยรอบช้างตัวหนึ่ง .. ทั้งปวงเอื้อมมือไปจับช้างแต่ละส่วน

ที่จับโดนหาง ก็ว่าช้างตัวกลม ยาว คล้ายงู
ที่จับโดนหู ก็ว่าช้างตัวแบน กว้าง เหมือนกระด้ง
ที่จับโดนงวง ก็ว่าช้างตัวกลมเป็นลำ เหมือนลำต้นไม้
ที่จับโดนขา ก็ว่าช้างมีลักษณะอ้วนกลม เหมือนเสาบ้าน


คนที่ไม่อาจรู้เรื่องนามธรรมได้ด้วยปัญญาญาณอันยิ่งของตนเองได้ ก็เหมือนคนตาบอด ..

การพูดถึงเรื่องวิญญาณล่องลอยแบบ ดวงมนัส ของพราหมณ์
การพูดถึงเรื่องข้ามภพข้ามชาติ
การพูดถึงเรื่องวิบากกรรม ชาติที่แล้ว ชาติหน้า


ย่อมเหมือนตาบอดคลำช้างนั่นเอง ..

ซึ่งก็คือ "บัวน้ำล่าง" ที่เหมาะจะเป็นอาหารของ เต่า ปู ปลา หอย .. ได้เท่านั้น !




Create Date : 22 เมษายน 2556
Last Update : 24 เมษายน 2556 21:19:24 น.
Counter : 2225 Pageviews.

2 comments
เรื่อง รัก ลึก อุ่น (Omega Verse) - บทที่ 43 วัลยา
(16 เม.ย. 2567 16:34:37 น.)
Oh!! my sassy boss ตอนที่ 22 หน้า 2 unitan
(16 เม.ย. 2567 10:34:46 น.)
15 เมษายน 2567 คุกกี้คามุอิ
(15 เม.ย. 2567 04:15:53 น.)
เรา คือ เอไอ ชีวภาพ..ที่ ทุกอย่าง ทำงาน อัตโนมัติ..อวิชชา ไม่รู้ โง่ ทุกข์..โดย อัตโนมัติ 15 CXO.Asia
(15 เม.ย. 2567 05:12:22 น.)
  
ู^___^
โดย: medkhanun วันที่: 25 เมษายน 2556 เวลา:11:09:54 น.
  

สวัสดีค่ะ
ลึกมาก ขนาดได้คุณสดายุขยายความ ต้องตั้งใจอ่านแบบช้าๆเลยอ่ะ ชอบจัง
โดย: คนเดินทาง IP: 61.91.50.78 วันที่: 27 เมษายน 2556 เวลา:10:12:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sdayoo.BlogGang.com

สดายุ...
Location :
  France

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]

บทความทั้งหมด