O ปฏิจจสมุปบาท .. ธรรมที่พุทธะทรงตรัสรู้ในคืนวิสาขะ O
.


1. อวิชชา ->
2. สังขาร ->
3. วิญญาณ ->
4. นามรูป ->
5. สฬายตนะ ->
6. ผัสสะ ->
7. เวทนา ->
8. ตัณหา ->
9. อุปาทาน ->
10. ภพ ->
11. ชาติ ->
12. ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส ->
.
.
.
ความหมาย ..
1. อวิชชา

คือ สภาพที่ปราศจากความรู้ ของจิต

มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง
1.ไม่รู้ทุกข์
2.ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์
3.ไม่รู้ความดับทุกข์
4.ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์
.
.
2. สังขาร

คือ อำนาจแห่งการปรุงแต่งของจิต

สังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่ สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี 3 อย่างคือ สังขาร 3

1. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา
2. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา
3. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา
.
.
3. วิญญาณ

ในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕ อันหมายถึงการรับรู้จากอายตนะ หรือความรู้แจ้งอารมณ์ หรือระบบประสาทอันทําหน้าที่ในการสื่อสาร ดังเช่น จักขุวิญญาณ ระบบประสาทรับรู้ของตา กล่าวคือ การรับรู้หรือรู้แจ้งในรูป ที่มากระทบตา

- ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต(ก็เรียกกัน), ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ;

วิญญาณ 6 คือ
1. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
2. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
3. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
4. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
5. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
6. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)
.
.
4. นามรูป

นามธรรมและรูปธรรม;

นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ;

รูปธรรม หมายถึงสิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด
.
.
5. สฬายตนะ

อายตนะภายใน - อวัยวะที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอันมี
ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ,ทั้ง 6

อายตนะภายนอก - สิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนะภายในอันมี
รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์ (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจหรือความคิด) ทั้ง 6

เรียกทั่วๆไปอีกอย่างในทางธรรมว่า อารมณ์ 6
.
.
6. ผัสสะ

การประจวบกันของ ..
.. อายตนะภายใน 1
.. อายตนะภายนอก 1
.. วิญญาณ 1

เรียกการประจวบกันของธรรมทั้ง 3 ว่าผัสสะ ดังเช่น ตา + รูป + วิญญาณ; ผัสสะ การถูกต้อง, การกระทบ; ผัสสะ 6 ผัสสะอันเนื่องมาจากอายตนะต่างๆทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
.
.
7. เวทนา

การเสวยอารมณ์ (ทั้งต่อใจและกาย), ความรู้สึก,ความรู้สึกในรสของอารมณ์ (Feeling) ; ความรู้สึกจากการรับรู้ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบสัมผัส (ผัสสะ) กับอารมณ์ต่างๆ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัสทางกาย) ความคิดนึก(ธรรมมารมณ์) ด้วยอายตนะภายในอันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ;

หรือ ความรู้สึกรับรู้(รวมทั้งจําและเข้าใจ)ในสิ่งที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกาย อันหมายถึงความรู้สึกรับรู้พร้อมทั้งความจําได้ในสิ่งที่มากระทบสัมผัส

หรือ เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)อันพร้อมด้วยความจําได้หรือมีประสบการณ์ในสิ่งที่ผัสสะนั้นๆ (อ่านรายละเอียดในบทเวทนา)

เวทนูปาทานขันธ์ - เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน จึงยังให้เร่าร้อนเผาลนเป็นทุกข์, เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่เกิดวนเวียนในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาท

เวทนา 3 - ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี 3 อย่าง คือ
1. สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย
2. ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย
3. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา;
.
.
8. ตัณหา

ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา มี 3

1.กามตัณหา ตัณหาความทะยานอยาก (รวมทั้งความไม่อยาก)ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้ง๕ หรือในทางโลกๆ หรือความอยากได้ในอารมณ์(รูป รส กลิ่น ฯ.)อันน่ารักน่าใคร่

2.ภวตัณหา ตัณหาความทะยานอยากในทางจิตหรือความนึกคิด หรือความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่

3.วิภวตัณหา ตัณหาความทะยานไม่อยาก หรือผลักไส ต่อต้าน ความไม่อยากในทางจิตหรือความนึกคิด หรือความทะยานอยากในวิภพ ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้น(ไม่อยาก)ไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐ, พอสรุปได้เป็น ความไม่อยากทั้งหลายนั่นเอง
.
.
9. อุปาทาน

ความยึดมั่น,ความถือมั่นด้วยอำนาจของกิเลสตน ก็เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเป็นเอก หรือเป็นสำคัญนั่นเอง

- ความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจของตัวของตนด้วยกิเลสเป็นสําคัญ (รายละเอียดอยู่ในบทปฏิจจสมุปบาท), แบ่งออกเป็น ๔

- ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ
๑.กามุปาทาน ความถือมั่นในกามทั้ง๕
๒.ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ คือความเชื่อ,ความเข้าใจ,ทฤษฎีของตน
๓.สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นหรือความเชื่อในศีลและพรตอย่างงมงาย
๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นในวาทะ(คำพูดจา)จนเกิดมายาแก่จิตหลงผิดไปว่า เป็นตน เป็นตัวตน เป็นของตัวของตนอย่างแท้จริง
.
.
10. ภพ

โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี 3 คือ
1. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ
2. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาณ
3. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาณ
.
.
11. ชาติ

การเกิด, ชนิด, พวก, เหล่า, ปวงชนแห่งประเทศเดียวกัน, การเกิดของสังขาร(สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง) จึงครอบคลุมการเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวงไม่ใช่ชีวิตหรือร่างกายแต่อย่างเดียว,

ในปฏิจจสมุปบาท ชาติ จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของสังขารทุกข์ อันเป็นสังขารอย่างหนึ่ง
.
.
12. ชรา

ความแก่ ความทรุดโทรม ความเสื่อม, ความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวน, การแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงของสังขาร (สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง,

ในปฏิจจสมุปบาท ชรา จึงหมายถึง ความแปรปรวนหรือวนเวียนอยู่ในทุกข์หรือกองทุกข์ กล่าวคือฟุ้งซ่านปรุงแต่งไม่หยุดหย่อนในสังขารนั่นเอง โดยไม่รู้ตัว

มรณะ

ความตาย ความดับไป ความเสื่อมจนถึงที่สุด, การดับไปในสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง,

ในปฏิจจสมุปบาท มรณะ จึงหมายถึงการดับไปของสังขารทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นๆ

ทุกข์ (จากอุปาทาน)

อุปาทานทุกข์ - ความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นความทุกข์ที่ร่วมด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส จึงมีความเร่าร้อนเผาลนกว่าความทุกข์ชนิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติอันเกิดขึ้นแต่การรับรู้ของการผัสสะ, ทุกข์อุปาทานเป็นผลจากการปรุงแต่งของตัณหาอันเป็นเหตุคือสมุทัย จึงมีอุปาทานขึ้น

ดังนั้นทุกขเวทนาธรรมชาติจึงถูกครอบงำด้วยอุปาทานกลายเป็นทุกขเวทนูปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเผาลน เป็นไปดังปฏิจจสมุปบาทธรรม,

ทุกข์อุปาทานเป็นความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าโปรดสั่งสอนให้ดับสนิทลงไปได้ คือนิพพานนั่นเอง ; จึงไม่เหมือนดังทุกขเวทนาที่เป็นทุกข์ธรรมชาติ ที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่ย่อมมีความรู้สึกจากการรับรู้ เมื่อเกิดการผัสสะ(กระทบ)กัน เกิดเป็นสุขเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนาดังกล่าว หรือเกิดอุเบกขาเวทนา (อทุกขมสุขเวทนา) คือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามสัญญาของตนเป็นสําคัญ

โทมนัส

เศร้าใจ เสียใจ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สําราญทางจิต อารมณ์ไม่ดีเป็นทุกข์เกิดแต่ใจ ไม่ได้ดังใจ ไม่ได้ตามใจปรารถนา

อุปายาส

ความคับแค้นใจ, ความสิ้นหวัง, ความขุ่นเคือง คับแค้นใจ ขุ่นข้อง เช่น ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง หรือเกิดจากความคับแค้นใจหรือถูกเบียดเบียน รังแก เอาเปรียบ
.
.
.



.
.
.
มีสายเกิด และมีสายดับ .. เริ่มต้นที่อวิชชาทั้งคู่
ดังนั้น อวิชชา จึงเป็นเหตุเริ่มต้นแห่งทุกข์ ..

ปัญหาของเถรวาทไทย ติดตายกันตรง "วิญญาณ" นี่เอง
เป็นความเข้าใจที่ปนมั่วไปมา ระหว่าง วิญญาณพราหมณ์ และวิญญาณพุทธ

วิญญาณพุทธ นั้นชัดเจนดังที่แสดงในหัวข้อที่ 3
เป็นวิญญาณ 6 และเป็นปัจจยาการ ..

แล้ว วิญญาณพราหมณ์ เป็นอย่างไร ?
มีอธิบายไว้ในความหมายของคำว่า สัสสตทิฏฐิ

สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ

หมายถึงเจตภูต หรือ ดวงมนัส .. เป็นลักษณะเดียวกับที่เถรวาทไทย ทั้งพระทั้งชาวบ้าน 80-90% ของประเทศ เข้าใจมาตั้งแต่เกิด

.
.
ลองใคร่ครวญพิจารณาปฏิจสมุปบาทในสายดับลงดู

เพราะความจางคลายดับไปของอวิชชา จึงมีความดับของสังขาร
เพราะมีความดับของสังขาร จึงมีความดับของวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
.
.
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมที่ริมฝั่งน้ำเนรัญชลาในคืนวิสาขะ
นั่นคือ พระองค์ท่านทำลายอวิชชาจนหมดสิ้น .. ดังนั้น

เพราะมีความดับของอวิชชา จึงมีความดับของสังขาร
เพราะมีความดับของสังขาร จึงมีความดับของวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
.
.
หากวิญญาณ เป็นความหมายแบบ วิญญาณของพราหมณ์
คือวิญญาณล่องลอยออกจากร่างหลังกายแตกดับ แล้ว ..
วิญญาณดับจะแปลว่าอย่างไร ? .. ในเมื่อคนยังมีชีวิตอยู่ ?

เพราะวิญญาณ เป็นตัวรู้ที่ตั้งภาวะขึ้นมาได้ในนามรูป .. นี้ประการที่ 1
.
.
และ .. เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
นาม คือ ขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูป คือ ขันธ์ 1 คือ ร่างกาย
ความดับแห่งนามรูป จะหมายถึงอะไร ?
เป็นความดับของขันธ์ 5 หรือไม่ ?

หาก นามรูป หมายถึงขันธ์ 5
กายก็ต้องแตกดับไปด้วย หรือไม่ .. นี้ประการที่ 2

แต่หลังพุทธะตรัสรู้ (ทำลายอวิชชาลงได้จนหมดสิ้น) เมื่ออายุ 35 แล้ว ..
วิญญาณ (แบบพรามหณ์) ไม่ได้แตกดับ
นามรูป ก็ไม่ได้แตกดับ
ยังอยู่สอนชาวบ้านต่อมาอีก 45 ปี

พระองค์ท่านไม่ได้ปรินิพพานคาโคนต้นโพธิ์ เพราะวิญญาณแตกดับ เพราะนามรูปแตกดับแม้แต่น้อย

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

ตกลงแล้ว วิญญาณ แบบไหนที่ดับ ?
ตกลงแล้ว นามรูป แบบไหนที่ดับ ?

ตกลงแล้ว ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องทางจิตล้วนๆ ที่ตรงไปตรงมาเป็นอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่ ?

ตกลงแล้ว ธรรม ที่พุทธะทรงตรัสรู้ คือ ปฏิจจสมุปบาท นั้นว่าด้วยเรื่องทางจิตวิญญาณเท่านั้น ใช่หรือไม่ ?

หากเป็นเช่นนั้น
เมื่อวิญญาณ เป็นปัจจยาการ
จึงย่อมไม่เป็นตัวเป็นตนสืบเนื่องแบกรับบาปบุญใดๆ ใช่หรือไม่ ?

พระโมคคันลาน สาวกผู้เรืองฤทธิ์
ท่านบรรลุอรหันต์ คือ ทำลายอวิชชาลงหมดสิ้น
สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ .. ตั้งแต่บรรลุธรรมแล้วจริงไหม ?

แล้วการที่ถูกโจรทำร้ายทุบตีรูปกาย จนมรณะภาพ .. จะแปลว่าอย่างไร
นามรูปดับ ไปตั้งแต่บรรลุอรหันต์
รูปกาย (ขันธ์หนึ่งในนามรูป) กลับมาแตกดับทำลายอีกครั้ง อย่างนั้นหรือ ?
.
.
ตรงนี้ชัดเจนมาก

พระพุทธองค์ทำลายอวิชชาได้สิ้นเมื่ออายุ 35
ส่งผลต่อเนื่องมาจนเป็นเหตุให้อุปาทานดับ ตามสายดับลง

เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาติ จึงมีความดับแห่ง ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

ไม่มีใครแก่ใกล้ตายสักหน่อย - ภพชาติดับได้ไง ?
แถม - มีความดับแห่งชรา มรณะ (มรณะซึ่งแปลว่า ความตาย ความแตกดับอยู่ด้วยในตัว)

จะให้แปลว่า ความดับแห่งมรณะ คือความดับแห่งความดับ อย่างนั้นหรือ ?

แต่พุทธะไม่ดับ ยังอยู่มาจนอายุ 80

แปลว่า วิญญาณ ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ
ภพ ชาติ ชรา มรณะ ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น !


.
.
1.เริ่มด้วยภาวะของจิตเดิมที่มืดมน ไม่เข้าใจโลกแวดล้อม (อวิชชา)

2.จิตดวงนี้จึงต้องมีอำนาจแห่งการปรุงแต่งเรื่องราวอยู่พร้อมตลอดเวลาเป็นคุณสมบัติ (สังขาร)

3.ภาวะดวงจิตที่มืดมนไม่เข้าใจโลกแวดล้อมพร้อมอยู่ด้วยอำนาจแห่งการปรุงแต่งนี้ มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการรับรู้เรื่องราวรอบตัวเสมอไป ตลอดเวลา (วิญญาณ)

4.รูปและนามที่มีคุณสมบัติตามธรรมชาติ (ทวาร 6) รอคอยการสวมทับลงมาของภาวะธรรมชาติในข้อ 3 (นามรูป)

5.คู่ภายนอกของทวารทั้ง 6 มีอยู่แวดล้อมเป็นธรรมดา รออยู่ตั้งแต่รู้จักนึกคิด (สฬายตนะ)

6.เมื่อข้อ 4 กับข้อ 5 สัมผัสกัน (ผัสสะ)
ตรงนี้มันต้องเพิ่มเงื่อนไขว่า "ต้องมีความหมาย" เข้าไปด้วย .. ตา กระทบ รูป หากรูปนั้นไม่มีความหมายใดๆ เช่น ตาชายหนุ่มมองเห็นเม็ดกรวดเล็กๆริมถนนสักก้อนหนึ่ง "จักษุวิญญาณ"คงไม่เข้ามาผสมโรงเป็น อารมณ์ ขึ้นมาได้ .. แต่หาก ตาชายหนุ่มมองเห็นรูปหญิงสาวในชุดรัดรูป โค้งเว้า ตึงเปรี๊ยะ อย่างนี้จักษุวิญญาณลงผสมโรงแน่นอน

7.ความรู้สึกชอบ ชัง เฉย ก็เกิดขึ้นทันที เพราะดวงจิตนี้มืดมน ไม่เข้าใจโลกแวดล้อม พรั่งพร้อมการปรุงแต่ง พรั่งพร้อมการรับรู้ (เวทนา)

8.หลังความรู้สึกชอบชังเฉย ความอยากได้ ความอยากผลักไสออกไป ความมึนงงเฉยๆ ก็เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง (ตัณหา)

9.ดวงจิตนี้ก็ยึดเอาความอยากต่างๆในข้อ 8 แนบไว้กับตัว (อุปาทาน)

10.เมื่อยึดไว้ไม่ปล่อย เพราะอยากครอบครอง หรือผลักไสก็แล้วแต่ มันได้สร้างคุณสมบัติของตัวตน (ตัวกู) ที่ต้องการจะครอบครองขึ้นมา (ภพ)

11.จนคุณสมบัตินั้นเกิดเต็มภาวะขึ้นมา เป็นตัวฉันที่อยากได้ หรือ อยากผลักไส (ชาติ)

12.ตัวตนที่อยากในอารมณ์นั้นเลื่อนไหลดำเนินภาวะไปจนถึงที่สุด เมื่อไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์โทมนัส (ชรา มรณะ ทุกขะ โทมนัส โสกะปริเทวะ อุปายาส)
.
.
พิจารณาแล้ว เป็นภาวะที่เกิดต่อเนื่องรวดเดียวจบ
แล้วจะเกิดใหม่กับเรื่องใหม่ วนไปไม่จบไม่สิ้น - วัฏฏะสงสาร
จนกว่า จะทำลายอวิชชา ได้หมด - ถอนอาสวะได้สิ้น
.
.
.
เดาเอา ..





Create Date : 22 สิงหาคม 2559
Last Update : 27 สิงหาคม 2559 15:46:46 น.
Counter : 3857 Pageviews.

2 comments
แพ้เนื้อจากการโดนเห็บกัด alpha-gal allergy สวยสุดซอย
(17 เม.ย. 2567 14:07:10 น.)
เรื่อง รัก ลึก อุ่น (Omega Verse) - บทที่ 43 วัลยา
(16 เม.ย. 2567 16:34:37 น.)
ธี่หยด (2566) ไมเคิล คอร์เลโอเน
(15 เม.ย. 2567 12:42:37 น.)
๏ ... คืนฟ้าไร้ดาว ... ๏ นกโก๊ก
(14 เม.ย. 2567 09:49:36 น.)
  
คือ คำสอนของพระศาสดาอย่างแท้จริง ยังมีชาวพุทธอีกมากที่ไม่ทราบว่า นี่ล่ะ คือสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้

สาธุค่ะ ท่านพระอาจารย์ สดายุ
โดย: EconCU IP: 171.100.172.5 วันที่: 23 สิงหาคม 2559 เวลา:16:36:55 น.
  



สาธุคุณโยม

เรื่องนี้ค่อนข้างยาก
หากไม่ได้ท่านพุทธทาสตีความคัดง้างวิสุทธิมรรคไว้เป็นแนวทางอยู่ก่อนแล้ว คงเข้าใจไม่ได้

เป็นแนวทางตามพุทธวจนะ ไม่มีต่อเติมขอรับ
โดย: สดายุ... วันที่: 24 สิงหาคม 2559 เวลา:6:23:21 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sdayoo.BlogGang.com

สดายุ...
Location :
  France

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]

บทความทั้งหมด