O ธรรมกาย .. การดำผุดดำว่ายภายใต้ ไตรเภทของพราหมณ์ .. ! O
.


อ่านที่มาของแนวคิดกันก่อน

...........................................................


หลักคำสอนของวัดพระธรรมกาย


ส่วนแรกนี่ .. เป็นพวกนิยายสำหรับล่อเป้ากลุ่มศรัทธาจริต
..
พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ก่อนอุปสมบทชื่อว่า นายไชยบูลย์ สุทธิผล ได้เป็นศิษย์เอกของ อาจารย์แม่ชี จันทร์ ขนนกยูง โดยอาจารย์แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ได้บอกเล่าว่าได้รับคำสั่งจากพระมงคลเทพมุนีว่า เมื่อพระมงคลเทพมุนีได้มรณภาพแล้ว ให้อาจารย์แม่ชี จันทร์ ขนนกยูง อยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญเพื่อรอผู้ที่จะมาสืบทอดวิชชาธรรมกาย ซึ่งในขณะนั้นได้มาเกิดแล้ว เป็นชาวสิงห์บุรี มีลักษณะผิวงาม ซึ่งจะเป็นผู้ที่ทำให้วิชชาธรรมกายได้เผยแผ่ไปทั่วโลก และ จะมีการสร้างวัดขนาดใหญ่ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนกับวัดไทยทั่วไป ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำกล่าวของหมู่ญาติของพระมงคลเทพมุนี อาทิ นางองุ่น ซึ่งได้ติดตามหาบุคคลผู้อาจเป็นผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายดังกล่าว จนกระทั่งได้พบกับ ธมฺมชโยภิกขุ หรือพระเทพญาณมหามุนีในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นได้สร้างวัดพระธรรมกายแล้ว



ส่วนหลังนี่ .. เป็นความเชื่อ - ประมาณ เทพจุติมาปราบมาร .. 55


พระเทพญาณมหามุนี สอนศิษยานุศิษย์ถึงการมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นไปเพื่อ "การทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี" โลกมนุษย์มิใช่สถานที่แห่งการเสวยสุข แต่เป็นที่สร้างสมบารมี ในขณะที่ปรโลก คือ ภพอื่นที่มิใช่ภพมนุษย์นั้น เป็นภพของการเสวยผลบุญและบาป ภพที่เสวยผลบุญคือภพภูมิของ สวรรค์ พรหม ซึ่งมีที่สุดที่ไม่ต้องไปเกิดอีกคือ อายตนนิพพาน ภพที่เสวยผลบาปคือภพภูมิของ เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัชฉาน สัตว์นรก

มโนปณิธานหลักของหมู่คณะวัดพระธรรมกายภายใต้การนำของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) คือ การสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึง"ที่สุดแห่งธรรม" ซึ่งหมายถึง ที่สุดแห่งวัฏฏสงสาร ที่จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ใดๆ ทั้งหมดในภพสาม โลกันต์ อีกต่อไป

ที่สุดแห่งธรรมมีความแตกต่างจาก "อายตนนิพพาน" คือ ที่สุดแห่งธรรม ไกลกว่า และ ต้องสร้างบารมียาวนานกว่ามาก เพื่อให้สามารถรื้อผังการสร้างกิเลสของพญามาร ผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ผลิต กิเลส ทำให้มนุษย์และสรรพสัตว์ ต้องเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งคำสอนและมโนปณิธานนี้เหมือนกับพระมงคลเทพมุนี ดังที่ท่านได้เทศนาเอาไว้ใน บทพระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี หลายตอน อาทิ เรื่อง โอวาทเจ้าคุณพ่อ ,ทานวัตถุ/ฉากหลัง , ซึ่งได้มีการกล่าวถึงพญามารที่เป็นฉากหลังของการเวียนว่ายตายเกิดสร้างกรรมของสรรพสัตว์ โดยมโนปณิธานของทั้งสองท่านเป็นไปเพื่อการ"รื้อวัฏฏะ" หรือ เพื่อยุติการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยใช้อีกคำหนึ่งว่า สร้างบารมีเพื่อ "ปราบมาร"

มโนปณิธานของพระมหาเถระทั้งสองท่าน เป็นมโนปณิธานเดียวกับ อาจารย์แม่ชี จันทร์ ขนนกยูง ที่บอกเล่าต่อกันมาว่า "ใครจะเข้านิพพานก็เข้าไปเถอะ ถ้ายายปราบไอ้ดำไม่สำเร็จ ยายยังไม่ยอมเข้านิพพาน" ซึ่งคำว่า ไอ้ดำ ในที่นี้ หมายถึง พญามาร

โดยการลงมาเกิดนั้น เป็นการจุติเป็นหมู่คณะคล้ายการจุติเพื่อสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งมีที่พักในระหว่างการสร้างบารมีเมื่อละจากกายมนุษย์แล้ว อยู่ที่สวรรค์ชั้นที่ 4 ที่ชื่อว่า ดุสิต หรือ ดุสิตา โดยอยู่ในเขตของพระบรมโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นเขตวงศ์บุญพิเศษ ซึ่งมีหน้าที่และมโนปณิธานแตกต่างจากการบำเพ็ญบารมีของพระบรมโพธิสัตว์พระองค์อื่นๆ ซึ่งสร้างบารมีเพื่อการพ้นวัฏสงสาร และ ขนหมู่สัตว์เท่าที่โปรดได้เข้าสู่อายตนนิพพาน ในขณะที่พระบรมโพธิสัตว์เขตวงศ์บุญพิเศษมีภาระหน้าที่รื้อสัตว์ขนสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้พ้นจากวัฏสงสาร ซึ่งระยะทางตลอดการสร้างบารมีเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้เข้าสู่อายตนนิพพานจนหมดสิ้นนั้นยาวนานมาก โดยพระบรมโพธิสัตว์ผู้มีหน้าที่ในการเป็นผู้นำสร้างบารมีเพื่อ "ปราบมาร" และ "รื้อวัฏฏะ" ให้ไปจนถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น มี 2 ท่านคือ พระมงคลเทพมุนี และ พระเทพญาณมหามุนี ซึ่งจะสลับกันจุติมาเกิดเพื่อต่อวิชชาธรรมกาย คือ พระมงคลเทพมุนีจุติเพื่อค้นธรรมปฏิบัติจนพบแนวปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายและวิชชาธรรมกาย และ พระเทพญาณมหามุนี เรียนวิชชาธรรมกายเพื่อเผยแผ่วิชชาให้กว้างขวาง โดยมี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง เป็นผู้เชื่อมต่อวิชชาระหว่าง พระบรมโพธิสัตว์ทั้งสองท่าน มานับภพนับชาติไม่ถ้วน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

....................................


การบันทึกข้อความด้านบนนี้นับว่ามีกลิ่นอายของ ศรัทธาจริตคละคลุ้งทีเดียว !


ขอแวะเรื่องนิยายเรียกศรัทธาสักหน่อยละกัน ..

ไม่มีอะไรมากไปกว่า " .. การพยายามเลียนแบบการทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าแบบ ปัญจวัคคีย์ ทำนาย เจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ตอนประสูติ .. แล้วตามดู ตามสังเกตุ อย่างต่อเนื่อง เฝ้ารอจนรู้แจ้งในธรรมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในอนาคต แล้วมาสอนพวกตน ! .. "

การปูพื้นเรื่องมาในทำนองนั้น !

เมื่อสังเกตุให้ดี จะมีสวรรค์ชั้นดุสิต ที่เทพเสตเกตุ สถิตอยู่ก่อนถูกอัญเชิญจุติ แล้วอุบัติบนโลกมนุษย์ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ..

นิยายของธรรมไชยโย ก็ใช้ฉากทำนองเดียวกัน สวรรค์ชั้นดุสิต !
พูดได้ว่า สร้างอัตลักษณ์เทียบพระพุทธองค์เลยทีเดียว คือ เป็นโพธิสัตว์ อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ก่อน จุติมาเกิดเพื่อขยายอาณาจักรแห่งธรรมกายให้ไพศาล

การวางโครงเรื่องทำนองนี้มาจาก เอาหลวงพ่อสด เทียบชั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า (หรือ หากเป็นคริสต์ก็คือ ศาสดาพยากรณ์ หรือ พระบ๊อบ ที่มาก่อนพระบาฮาฮุลลาห์ของศาสนาบาไฮ .. นั่นเอง) คือรู้ธรรมในระดับเดียวกันแต่การเรียกรวมศรัทธาชนได้น้อยกว่า .. และ ธรรมไชยโย เทียบชั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือประกาศธรรมไปในชนหมู่กว้าง จำนวนมากได้


หากเรารับรู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างไม่มีอคติ .. เราจะดูออกได้ไม่ยาก ว่า
มีการวางเค้าโครงเรื่องในทำนองเดียวกัน

มีแม่ชีขนนกยูง เป็นตัวเชื่อมประสานเรื่อง ทำนองเดียวกับ อัญญาโกณฑัญญะ ในยุคพุทธกาล .. (เขียนไป..ยิ้มไปนะนี่ !)

เพราะเหตุว่า สำหรับ สมองระดับบัวใต้น้ำแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เขายังต้องการเรื่องประโลมโลกพวกนี้ไว้หล่อเลี้ยงศรัทธาของตนอยู่ !


ไม่อย่างนั้น กรณีอย่าง ยันตระอมโรภิกขุ .. ภาวนาพุทโธ .. อิสระมุนี .. จะเกิดขึ้นได้หรือ ในสังคมเชื่องเชื่อแบบนี้ ... หากไม่มีสมองระดับบัวใต้น้ำคอยตามแห่ ตามโหน เรื่องราวเพริดแพร้วพิสดารพวกนี้ !

และบัวใต้น้ำพวกนี้ ..จบตรี โท เอก จำนวนมากพอกับจบ ป6 นั่นเลยทีเดียว..

เพราะเหตุว่า.. ปัญญา กับ ปริญญา นี่มันคนละเรื่องกัน !



เพราะหากไปบอกว่า พระพุทธองค์ เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเราๆท่านๆนี่แหละ แต่ท่านมีปกติวิสัยที่จะใคร่ครวญในสภาพธรรมรอบตัว และมองสังคมแวดล้อมขณะนั้นที่คนส่วนใหญ่เชื่อถือเคารพกราบไหว้เทพองค์ต่างๆ อย่างฝังหัวรวมทั้งหลักคำสอนของพราหมณ์ว่า - เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ทำให้คนพ้นทุกข์ที่เดือดปุดๆอยู่ในจิตทุกวี่ทุกวันได้เลย - ไม่มีทาง

แล้วพระองค์ก็ลองปฏิบัติ ควบคุมทางจิต ใคร่ครวญไปในวิถีที่ค้นคว้าเอาเองดู จนรู้แจ้งว่า ทุกข์เกิดอย่างไร ดำรงอยู่ด้วยอะไร จะดับได้อย่างไร และโดยวิธีปฏิบัติแบบไหน

หากพูดแบบนี้ ระดับบัวใต้น้ำ จะศรัทธาได้อย่างไร เพราะมันไม่ค่อยเพริดแพร้ว พิสดาร อลังการงานสร้างเอาเสียเลย - จริงไหม ?

มันไม่สวยงาม จินตนาการไม่ได้ ไม่สนุก แห้งแล้งเกินไป .. ไม่เอา จะเอาแบบที่ว่า ต้องมีสวรรค์ เทวดา นางฟ้า เหาะกันไปมา จนผ้าผ่อนพลิ้วสยาย ..มีมงกุฎครอบหัว .. หน้าตา สวยๆงามๆหล่อๆ ทุกคน .. จะเอากันแบบนั้น ประมาณละคอน จักรๆวงศ์ๆ ทางช่องเจ็ดสี เช้าวันหยุด !

เพราะหลังจากทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ (ของคนวรรณะศูทร - จัณฑาล แบบคติพราหมณ์ คือ กรรมกร นั่นแหละ) .. กลับมาบ้านได้เวลาพักผ่อน เวลาหลับตานอนก็จะนึกภาพได้ แล้วหลับไปอย่างมีความสุข ว่าโลกนี้ยังมีหวัง - 55

แนวคิดทางศาสนาที่ใช้มอมเมาคนโง่เขลานี้ .. ต่อมาได้มีพัฒนาการมาสู่การเมือง สังคม เพราะมันทำให้ง่ายต่อการปกครองคน .. เป็นประเด็นทางชนชั้นนั่นเอง ..

คือหากคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ที่คนต่างกันเพราะเรื่องของบุญกรรมทำแต่งจากอดีตชาติ .. ความสงสัยในสถานภาพ สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในสังคมก็จะไม่มี .. แถมยังพิสูจน์ไม่ได้เสียด้วย .. คนที่ตั้งตัวเป็นชนชั้นสูงก็สบาย .. สามารถกอบโกยเอาทรัพยากรของชาติมาเป็นของตน สายเลือดและพวกพ้อง รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนสังคมพัฒนาไปไม่ถึงไหน เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆทั้งโลก ..


เมื่อลองยกเอาเรื่องความเชื่องมงายวางกองลง .. แล้วมาดูในบริบททางการจัดการสังคม .. จะเห็นได้ชัดเจนว่า .. ระบบที่ใช้มาหากยังเอาชาติให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้ -> แปลว่า ระบบนั้นล้มเหลว ไม่ได้เรื่อง และควรเปลี่ยนแปลง .. นี่คือความคิดที่คนที่ได้เปรียบอยู่ในสังคม ไม่ต้องการ ..


พวกเขา ก็เลยต้องเชิดชูแนวคิดที่ทำให้คนโง่ .. เชื่อง่าย .. คิดไม่เป็น .. พวกกูจะได้สบายไปอีกหลายชั่วคน !



.
.
.
.

ต่อไปก็มาว่ากันที่ส่วนที่เป็นความเชื่อเลยทีเดียว
v
v
.. "การทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี" .. ?
แค่ประโยคแรกก็ผิดแล้ว !

.. การทำพระนิพพานให้แจ้ง คือการที่จิตต้องไม่สร้าง ไม่แสวง .. คือตัว "สังขาร" ต้องถูกดับเท่านั้น .. อวิชชาถึงจะดับ จิตที่ปราศจากอวิชชาจึงสามารถแจ้งในพระนิพพานได้ ตามสายปฏิจจสมุปบาท

หลวงพ่อสด / ธรรมไชยโย เอาที่ไหนมาอ้าง ?

เพราะตัวสังขารคือตัวยุ่ง เป็นตัวบัญชาการให้จิตสร้าง ปรุงแต่งสิ่งต่างๆในฝ่ายนามธรรมขึ้นมา .. ให้ตัวตนนั้นๆ กอดรัด ฟัดเหวี่ยงเอาตามความบอดบ้า

มิจฉาทิฏฐิ .. มีได้ทั้ง ฆราวาส และบรรพชิต ไม่ได้ต่างกันเลย


... "โลกมนุษย์มิใช่สถานที่แห่งการเสวยสุข แต่เป็นที่สร้างสมบารมี ในขณะที่ปรโลก คือ ภพอื่นที่มิใช่ภพมนุษย์นั้น เป็นภพของการเสวยผลบุญและบาป ภพที่เสวยผลบุญคือภพภูมิของ สวรรค์ พรหม ซึ่งมีที่สุดที่ไม่ต้องไปเกิดอีกคือ อายตนนิพพาน ภพที่เสวยผลบาปคือภพภูมิของ เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัชฉาน สัตว์นรก" ...

ข้อความข้างบนนี้ คืออิทธิพลจาก วิสุทธิมรรค ของแท้ พันธุ์แท้ !
เป็นการวางความเชื่อลงบนหลัก ไตรเภท ของพรามหณ์ ..

ฝ่ายบุญ เรียกว่า สวรรค์มี 6 ชั้น
ฝ่ายบาป เรียกว่า นรกมี กี่ขุม จำไม่ได้ ไปเปิดหาเอาเองในไตรภูมิพระร่วง เพราะเป็นเพียงความเชื่อ ที่เป็นเพียงนามธรรมสำหรับล้อเล่นกับกำลังสังขารในจิตเท่านั้น !


ทำไมถึงกล้า ฟันธง ว่าเป็นเรื่องนามธรรม ?

เพราะบนฟ้า มีแต่ห้วงอวกาศ ที่มีดวงดาวนับจำนวนไม่ถ้วนประกอบอยู่เป็นกาแลคซี่ และกาแลคซี่จำนวนนับไม่ถ้วนประกอบอยู่เป็นเอกภพหรือ จักรวาล .. หามีสวรรค์ เทวดา เหาะไปมา แต่อย่างใด

ใต้ดินใจกลางโลกมีแต่หินร้อน หลอมเหลวและเคลื่อนไหวคุกรุ่นอยู่ ยังไม่เสถียรเลยตั้งแต่โลกถือกำเนิดมา .. ไม่มีนรก กระทะทองแดงร้อน ต้นงิ้วหนามแหลม อะไรทั้งสิ้น ..

ดังนั้น .. ความเชื่อปรัมปราอย่างที่บรรยายอยู่ในไตรภูมิพระร่วงเหล่านั้น เป็นเพียง " จินตนาการ " ของคนก่อน ยุควิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ .. ก่อนที่มนุษย์จะสามารถเข้าใจธรรมชาติ และ ปรากฎการณ์แวดล้อมได้อย่างถ่องแท้นั่นเอง !


สิ่งที่มีอยู่ - exist นั้นจำต้องสัมผัสได้ด้วย ประสาททั้ง 6 หรือ สามารถใช้เครื่องมือวัดแปลงให้เป็นกายภาพที่ปรากฎต่อประสาททั้ง 6 ทางใดทางหนึ่งได้ เช่น คลื่นความถี่ต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา, สัญญาณภาพ, สัญญาณเสียง สัญญาณแสง

ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างมากกับ "สิ่งที่ใครสักคนคิดว่าน่าจะมีอยู่" !

และคำคำนี้เองคือที่มาของ นรก สวรรค์ และองค์ประกอบทั้งมวล ..


มันเป็นเรื่องน่าหัวร่อ ที่คนที่ประกาศตนเป็นพุทธ แต่ไปเชื่อตามพราหมณ์ จนเปลี่ยนความเชื่อไม่ได้ !


เหมือน .. "พระโคทำนาย" ... นั่นก็ทำนองเดียวกัน - คือการยอมรับให้ วัว ควาย กำหนด ชี้นำ ชีวิตการกระทำของมนุษย์ 55 .. (อยากจะบ้าตาย !



อีกคำ "..อายตนนิพพาน .." บัญญัติคำขึ้นมาใช้กันจังสำนักนี้

อายตนะ [ยะตะนะ] น. เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ เช่น ตาเป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่รู้,
ในพระพุทธศาสนาหมายถึง จักษุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ใจ เรียกว่า
อายตนะภายใน เป็นเครื่องติดต่อกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์. (ป., ส.).

นิพพาน [นิบพาน] น. ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์. ก. ดับกิเลสและ กองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์). (ป.; ส. นิรฺวาณ), โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม).


จะให้แปลว่า ความดับสนิทของสิ่งที่รู้ - หรือ ความดับสนิทของเครื่องรับรู้ อย่างนั้นหรือ ?

ในเมื่อภาวะสังขาร หรือ อำนาจแห่งการปรุงแต่ง นั้นเป็นเรื่องนามธรรม
ลองยกมาสักคู่หนึ่ง

ตา กับ รูป
สองอย่างนี้สัมผัสกัน แล้วมีปัญหาอะไร ?
หากไม่มี "ตัวรับรู้ที่โง่เขลา" สวมทับลงมาบนตา ที่เรียกว่า จักขุวิญญาณ และตัวนี้เกิดจาก สังขาร ที่รู้ไม่ทัน หยุดไม่ทัน เพราะถูกผลักดันหลังมาจากอวิชชาอีกต่อหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า "อายตนะภายใน(ตา)+ภายนอก(รูป)" หากว่ามีอยู่ แต่ไม่ทำงาน หรือ ไม่ถูก activate ด้วยสังขาร การสัมผัสกันนั้น มีก็เหมือนไม่มี - คือสักแต่ว่าเห็น เพราะขาดตัวการคือ จักขุวิญญาณ(ภาวะรับรู้ที่โง่เขลาทางตา)

ดังนั้น หาก อายตนะทำงานด้วยเหตุปัจจัยจากสังขาร - ก็ไม่เป็นนิพพาน
หากว่า อายตนะดับ แล้วลามไปทำให้ นามรูปดับ วิญญาณดับ สังขารดับ จนอวิชชาดับ จึงเป็นภาวะนิพพาน .. (ไม่ต้องเรียก พระนิพพาน - เป็นเพียงภาวะนามธรรมที่เกิดแจ้งในจิต .. ไม่ใช่พระที่รอคนมากราบไหว้แต่อย่างใด - 55 )

อายตนะ จึงเกี่ยวกับภาวะนิพพานในแง่ที่หากมันดับ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อวิชชาดับ แล้วจิตนั้นๆจึงจักรู้แจ้งในนิพพาน

ดังนั้นคำว่า อายตนะนิพพาน จึงเป็นเพียง "โลกบัญญัติ" เอาเท่ - ได้เพียงอย่างเดียว ...

เพราะคำว่า นิพพาน ก็มีความหมายสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มให้มันดู ขลัง ดูเท่ ดูไม่เหมือนใคร (แบบวัยรุ่นมีปัญหาทางบ้าน) แต่อย่างใด - 55


" … ที่สุดแห่งธรรมมีความแตกต่างจาก "อายตนนิพพาน" คือ ที่สุดแห่งธรรม ไกลกว่า และ ต้องสร้างบารมียาวนานกว่ามาก เพื่อให้สามารถรื้อผังการสร้างกิเลสของพญามาร ผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ผลิต กิเลส ทำให้มนุษย์และสรรพสัตว์ ต้องเวียนว่ายตายเกิด …"

ที่สุดแห่งธรรม ... นี่มาอีกคำแล้วไง
ธรรม ก็คือ ธรรมชาติ หาได้เป็นภาวะที่สลับซับซ้อนอะไรไม่ .. ธรรมชาติที่มีทั้งฝ่ายรูป และฝ่ายนาม ..

แล้วอะไรคือ ที่สุดแห่งธรรม ?
เอามาจากไหน ?
ใครเป็นคนสอน ?

หรือ ธรรมไชยโย ว่าเอง เออเอง ?

แล้ว .. ผังการสร้างกิเลสของพญามาร คืออะไร ?

ในทางพุทธธรรม นั้น พญามาร คือ ผู้สร้างกิเลส ซึ่งก็คือ อวิชชา
สร้างอะไร ? ก็สร้าง สังขาร หรือ อำนาจแห่งการปรุงแต่ง

แล้วอวิชชาล่ะ ..มาจากไหน เกิดจากอะไร ?
หากจะพูด ก็ต้องพูดว่า .. เป็นธรรมชาติ ของจิตเดิมแท้ ที่นอนเนื่องอยู่ในสัตว์ที่กอปรด้วยสติสัมปชัญญะ คือ คนเท่านั้น .. และสติสัมปชัญญะ นี้ขาดความรู้ความเข้าใจในความเป็นปกติหรือไม่ปกติของสิ่งรอบตัวทั้งรูปและนาม


แต่ในสายปฏิจจสมุปบาท นับเอา อวิชชา เป็นจุดเริ่มของกระบวนการของเหตุปัจจัยไปสู่ทุกข์ ... ในทางเกิดขึ้น

และนับเอาเป็นจุดสิ้นสุด ... ในทางดับลงของทุกข์ หรือ ภาวะเริ่มการเกิดขึ้นของวิชชา .. หรือ วิมุติภาวะ


ปฏิจจสมุปบาท - สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้

อวิชชา -> สังขาร -> วิญญาณ -> นามรูป -> สฬายตนะ(อายตนะนอก/ใน) -> ผัสสะ -> เวทนา -> ตัณหา -> อุปาทาน -> ภพ -> ชาติ -> ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส


แต่หากเป็นสัตว์เดรัจฉาน สิ่งที่นอนเนื่องคือ สัญชาติญาณ


และการเวียนว่ายตายเกิด (หากชอบที่จะพูดเช่นนั้น) ก็คือการเวียนว่ายอยู่ในวงรอบของทุกข์ในจิตจากการปรุงแต่งของสังขาร ทุกการกระทบสัมผัสที่โง่เขลาจากทั้ง 6 ทาง .. แค่นั้นเอง


ลองพิจารณาการเกิดขึ้นของรูปกายมนุษย์ดู..ว่า มันเกี่ยวเนื่องกับนัยะที่เชื่อกันแค่ไหน ?

เด็กคนหนึ่งอุบัติขึ้นมาในรังไข่ของแม่ .. ที่ตั้งอยู่ในมดลูกทีละเซลล์ทีละเซล์ที่ค่อยๆแบ่งตัวหลังจากเชื้อของพ่อที่เรียกว่า อสุจิ พุ่งออกจากแหล่งผลิตคือลูกอัณฑะ เข้าไปผสมในมดลูกของฝ่ายแม่

คำถามคือ .. เป็นความตั้งใจของหญิงกับชาย .. หรือ ตัวอ่อนในมดลูก ที่ทำให้เกิดการผสมนี้ขึ้น ?

ในขณะที่เราพูดถึงการเกิดของคน .. เราหมายถึง “ตัวตน หรือ อัตตา หรือ ego” ซึ่งมีตัวการคือ สังขาร เป็นตัวสร้าง ตัวปรุงแต่ง ความคิดต่างๆขึ้นมา … และ การเกิด ตัวนี้เอง เป็นตัวที่เราต้องทำลายมันเสีย

ขณะเดียวกัน ภาวะตัวตน หรือ อัตตา นี้จะเกิดกับ ..

ตัวอ่อนในครรภ์ ที่ยังไม่มีสติสัมปชัญญะ ?

หรือ เด็กน้อยที่พอเข้าใจวิธีเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่แล้ว ?

หรือ ซับซ้อนขึ้นมาถึงการรู้จักใช้เลศนัย มารยาสาไถย แบบผู้ใหญ่ .. ?

และภาวะอัตตาแบบไหน ถึงควรเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ต้องการกำจัดเสีย ?

การเกิดขึ้นของตัวอ่อนในครรภ์ ตั้งแต่เซลล์แรกๆ ?
หรือ เด็กในวัยที่เริ่มร้องไห้อาละวาดเอากับพ่อแม่ ?
หรือวัยรุ่นที่เริ่มสร้างโลกของตัวเอง ?
หรือผู้ใหญ่ที่สู้ชีวิต ที่มีทั้ง รัก โลภ โกรธ หลง ?

อะไร .. ถึงควรเป็นสิ่งที่ทรงทนไม่ได้ถึงกับทำให้ออกแสวงหาทางหลุดพ้น ?
แค่ลองใคร่ครวญดู .. ทำใจกล้าๆหน่อย ก็พอจะได้คำตอบที่สมเหตุสมผล ... ใช่ไหม ?

การเวียนว่ายตายเกิด .. ควรเกิดจากเจตนารมย์ ของคนคนนั้นเป็นการเฉพาะเจาะจง และไม่ควรเป็นการกระทำของผู้อื่นที่ ตัวเอง เป็นผลพลอยได้ของเจตนารมย์เริ่มต้นนั้น .. หรือมิใช่ ?


เราสามารถพูดได้ว่า ..
การเกิดขึ้นของรูปกายที่จะมีสติสัมปชัญญะร่วมด้วยอย่างสมบูรณ์จนเราเรียกว่าเป็นคนคนหนึ่งได้นั้น .. เราไม่สามารถนับเอาที่การเริ่มขึ้นของการปฏิสนธิจากการที่ไข่ของแม่กับเชื้ออสุจิของพ่อผสมกันแล้ว เซลล์ที่เกิดขึ้นนั้นค่อยๆเพิ่มจำนวนจนเป็นตัวอยู่ในมดลูกของแม่ จนถึงเมื่อมีรูปกายของทารกเต็มสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะอยู่ในชั่วเวลาราวๆ 2-3 เดือน .. ในครรภ์มาพิจารณาเป็นการเกิดในทางพุทธศาสนาได้ ..

เพราะเหตุว่า ภาวะอวิชชา ในจิต ยังไม่อาจปรุงแต่งเป็นสังขารขึ้นมาได้ .. ณ ช่วงยามนั้น มีภาวะแค่สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตเท่านั้นเอง

ชีวิตเมื่อถือกำเนิดออกมาจากท้องแม่ ช่วงที่ยังเป็นทารกแบเบาะ จน 2-3 ขวบที่ยังจำความไม่ได้ .. สติสัมปชัญญะแบบที่จะปรุงแต่งโลกรอบตัวก็ยังไม่มีอยู่ดี .. ยังมีเพียงสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดเท่านั้นเอง เช่นการร้องไห้ ส่งเสียง เวลาหิว

จนเติบโตเริ่มจำความได้ ถึงเป็นช่วงที่สติสัมปชัญญะเริ่มทำงาน มีความคิดอ่านซับซ้อนมากขึ้น

และจากจุดนี้เป็นต้นไป .. จิตกับกาย มีธรรมชาติที่แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน จากการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่า ตัวกูของกู

กาย ก็จะเป็นกายตลอดไป .. แต่จิตที่เริ่มใคร่ครวญเรื่องราว และถูกฝึกฝน จะว่องไว ปราดเปรียว และสำหรับบางจิตใจอาจเริ่มรวดเร็วจนแยกจากกายได้ .. คือเคลื่อนไหวเร็วจนรู้ทัน กาย หรือล้ำหน้ากาย ก็จะรู้เท่าทันการสัมผัสของทวารทั้ง 6 ที่เป็นส่วนที่อยู่บนกาย

จิตที่ไม่เคยถูกฝึกฝนก็จะเชื่องช้า ไม่มีกำลัง ไม่สามารถไปพ้นจากกายได้ ก็ไม่สามารถรู้ทันการกระทบสัมผัสของทวารทั้ง 6 ที่อยู่บนกายได้ .. ความคิดจิตใจก็จะเป้็น ตัวกู ของกู อยู่ตลอดเวลา .. และไม่สามารถเข้าใจภาวะที่จิตเร็วกว่ากายได้เลย

จนแก่จะตายเข้าโลง ก็ยัง โกรธ เกลียด อาฆาต เศร้าโศก หวงแหนทรัพย์สิน อำนาจ บารมี อยู่เหมือนเด็กอายุ 15-16 .. ไม่ผิดกันไปได้ .. คือนรกในอกนั่นเอง .. จิตแบบที่ฝึกไม่ได้นี้ย่อมไม่สามารถเข้าใจวิมุติภาวะได้ .. ได้แต่จินตนาการเอาเท่านั้น ..

และจิตที่ฝึกไม่ได้นี้เอง ตั้งแต่จำความได้จนแก่ตายเข้าโลง จะปรุงแต่งสาระพัดเรื่อง ด้วยความเขลา จนกว่าจะตายเข้าโลง ก็ย่อมมีเป็นล้านๆเรื่อง .. คือล้านๆภพชาติ ..

วัฏฏะสงสารก็วนรอบแล้วรอบเล่าอยู่รอบทวารทั้ง 6 ที่ไม่อาจแยกออกจากจิตได้ .. นั่นเอง !


การสนใจศึกษาหลักธรรม หากไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน .. มีความเป็นไปได้มากที่จะ "มั่ว" .. และดำผุดดำว่ายอยู่กับมิจฉาทิฏฐิ .. !


เพราะเรากำลังพูดถึงหลัก พุทธธรรม


ส่วนใครที่บอกว่าเป็นสิ่งที่เขาเชื่อ เขาคิด เอาเองเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวกับศาสนาใด .. หากเป็นอย่างนั้น ก็เชิญว่ากันไปตามสบาย ..


แต่หากยังใช้เครื่องแบบสงฆ์อยู่แล้วมาเที่ยวบิดเบือนก็ต้อง ชำแหละ !



ในขณะที่พุทธศาสนามี ไตรลักษณ์ เป็นหลักตอกปักหนักแน่น ไม่มีทางโยกคลอน .. ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้สืบทอดหลักศาสนาของพุทธ กลับไปพล่ามพูดในสิ่งตรงข้าม ไปซะได้



ไตรลักษณ์ - ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ, ๓ ประการ ได้แก่

๑. อนิจจตา (อนิจจัง) ความเป็นของไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา (ทุกขัง) ความเป็นทุกข์ หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้
๓. อนัตตตา (อนัตตา) ความเป็นของมิใช่ตัวตน

(คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”)

ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์


อนัตตา - ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, ไม่มีตัวตน ที่หมายถึง ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างแท้จริง, ตัวตนคือสิ่งที่เห็น หรือตัวตนที่ผัสสะด้วยอายตนะใดๆก็ตามที ล้วนเป็นเพียงกลุ่มก้อนมวลรวม(ฆนะ)ของเหตุ(สิ่ง)ต่างๆที่มาเป็นปัจจัยกัน หรือประชุมกันเท่านั้น จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่ตัวใช่ตนที่หมายถึงเราหรือของเราอย่างแท้จริง จึงไม่ขึ้นอยู่กับใครหรือตัวตนเราเองเลย แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั้นๆนั่นเอง, ดังนั้นตัวตนทั้งหลายรวมทั้งตัวตนของตนเอง จึงต่างล้วนไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่นั่น นั่นก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเราอย่างแท้จริง : ดู อนัตตลักษณะ


อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่เป็นอนัตตา, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน ได้แก่

๑.เป็นของสูญ คือ ฆนะ(กลุ่มก้อน)เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลายเท่านั้น ความจริงแท้แล้วจึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง จึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ

๒.เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง เพราะเมื่อไม่มีตัวตนแท้จริงจึงไม่มีใครครอบครองเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง

๓.ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆทั้งสิ้น แต่เป็นไปตามธรรมคือตามเหตุ

๔.เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นหรืออิงต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ

๕.โดยสภาวะของมันเองก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา

เอาความหมายชัดๆ มาให้อ่านดูอย่างใคร่ครวญดู


ที่จริงหากเราลองพิจารณาแบบไม่ต้องไปคิดให้มันซับซ้อนก็ได้ ..

ว่า ... ภาวะ เด็ก ภาวะ หนุ่มสาว จนกระทั่งภาวะแก่เฒ่า .. ของคนทุกคน เราควบคุมบงการได้ไหม ?

เราห้ามตัวเองไม่ให้แก่เฒ่า ผิวหนังเหี่ยวย่น สายตาฝ้าฟาง ได้หรือไม่ ? ..

ตอบว่า ไม่ได้ ...

ดังนั้นย่อมแปลว่า ภาวะต่างๆ บนตัวเรา ไม่ใช่เป็นของใคร หรือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่สามารถบังคับควบคุมได้ .. แปลว่า มันเป็นอิสระในตัวมันเอง .. และหากจิตใจเรารู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในตัวเองทั้งฝ่ายรูปที่มองเห็น และฝ่ายนามที่เป็นเรื่องของความรู้สึก .. เราก็เข้าใจโลกทั้งโลกได้ ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องนอกตัว

เพราะแค่บนร่างกายตัวเองยังบังคับควบคุมไม่ได้ ... แล้วนอกกายยิ่งไม่มีทาง

ตัวเองตอนรับปริญญา อายุ 22 .. กับตัวเองตอนเกษียนราชการอายุ 60 ความรู้สึกนึกคิดแทบหาความเหมือนไม่เจอ .. ทั้งๆที่ห่างกันแค่ 38 ปีเท่านั้น !

แล้วมาบ้าจมปลักกับความคิดเรื่องข้ามภพข้ามชาติ เป็น 100 - 500 - 1000 ปี .. ว่าเป็นคนคนเดิม ..

แล้วจะให้เรียกอะไรได้ .. หากไม่ใช่ "พวกปัญญาอ่อน" ?




ทีนี้มาดูด้านตรงข้ามบ้าง ..

การเวียนว่ายตายเกิด .. จากชาติที่แล้วมาชาตินี้ สืบเนื่องจากวิญญาณเดิม .. จากชาตินี้ไปชาติหน้า สืบเนื่องจากวิญญาณเดิม .. จากชาติหน้าไปชาติต่อไปอีก สืบเนื่องจากวิญญาณเดิม

ชาติที่แล้ว .. ชื่อนาย ก
ชาตินี้ .. ชื่อนาย ข แต่ชาติที่แล้วคือนาย ก
ชาติหน้า .. จะชื่อนาย ค แต่ชาตินี้คือ นาย ข ซึ่งชาติที่แล้วคือนาย ก
ชาติต่อจากชาติหน้า .. จะชื่อนาย ง ซึ่งสืบต่อมาจาก นาย ก นั่นเอง

นี่คือ ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของผู้อ่านคัมภีร์วิสุทธมรรค ของพระพุทธโฆษาจารย์ อันเป็นต้นตำหรับของพุทธเถรวาททั้ง ลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร

และการที่มีการสืบเนื่องของ จิตวิญญาณ นาย ก อย่างที่แจกแจงมานี้เอง คือแนวคิดแบบ “สัสตทิฏฐิ” .. เอามาจากไตรเภท ของพราหมณ์

สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ


ขณะปากด้านหนึ่งฟุ้งหลักไตรลักษณ์เป็นคุ้งเป็นแคว ..
ปากเดียวกันอีกเวลาหนึ่งกลับพล่ามสอนแต่เรื่อง สัสสตทิฏฐิ การเวียนว่ายตายเกิด ?

ทั้งๆที่ทั้งสองเรื่องมันขัดแย้งกัน ไปกันไม่ได้ .. นับเป็นร้อยๆปี ก็ไม่มีสักพระ สักคน ที่จะพูดเรื่องนี้ จนถึงยุคแห่งการเปิดกะโหลกที่ตีบตันในสังคม .. จากสวนโมกข์ เราถึงพอจะเงยหน้าเห็นแสงกันบ้าง

แปลว่า .. การเวียนว่ายตายเกิด .. ในวิสุทธิมรรคมาจากพระพุทธโฆษาจารย์จับแนวคิด ไตรเภท ของพราหมณ์ที่ท่านเคยร่ำเรียนมาก่อนบวช .. มาจับยัดลงให้พุทธศาสนิกเชื่องเชื่อได้ฝังหัว ลงชิพกันมาได้ประมาณ 1000 ปีแล้ว หนังสือเล่มนั้นแต่งขึ้นเมื่อประมาณ พศ. 1500

พระร่วงเอามาฟุ้งต่อ ในไตรภูมิพระร่วง

หลวงพ่อสด ธรรมไชยโย มาขยายความให้พิสดารขึ้นไปอีก จนถึงกับสถาปนาตนเองเป็นโพธิสัตว์ในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติมาปราบพญามาร เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมอันยิ่งไปกว่า ภาวะนิพพาน แบบที่พระพุทธองค์ทรงสอน !


เชื่อเข้าไป .. ก็เกี่ยวหญ้ากินแทนข้าวได้เลย !




Create Date : 12 พฤษภาคม 2555
Last Update : 7 มกราคม 2557 20:59:17 น.
Counter : 3312 Pageviews.

4 comments
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
โรงงานผลิตอาหารเสริมผู้ชาย ตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ได้คุณภาพ สมาชิกหมายเลข 7213059
(3 เม.ย. 2567 00:10:02 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
  
งานชิ้นนี้ วิภาษได้น่าฟัง แน่นทั้งความเห็น หลักอ้างอิง และตัวอย่าง รวมถึงอารมณ์ขันที่คนอ่านก็อ่านไปยิ้มไปเช่นกันในหลาย ๆ ประเด็น และวาจาตรงไปตรงมาอย่างร้ายกาจ
แม้นบางตอนอาจเหมือนเหวี่ยงแหครอบคลุมกลุ่มชนบางกลุ่มไป แต่เข้าใจว่าท่านเจ้าบ้านคงมิได้มีเจตนาร้ายใด นอกจากแสดงความเห็นและคำวิภาษอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งที่ต้องการสื่อ
โดย: เจ IP: 124.121.226.100 วันที่: 19 พฤษภาคม 2555 เวลา:19:59:01 น.
  
ท่านผู้รู้ ท่านกล่าวไว้ว่า ตัวตน เป็นผลรวมของสิ่งที่เรากิน
สิ่งที่เราคิดและสิ่งที่เราทำพระพุทธองค์แสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จับใจความได้ว่า หนทางสุดโต่งสองทางที่ไม่ควรเสพย์ คือการทรมานตนให้ลำบากและการมัวเมาเมาในกาม(รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ทางสายกลางคือ มรรคมีองค์แปด เริ่มจากความเห็นชอบ ความดำริชอบ ซึ่งเป็นปัญญา วาจาชอบ การงานชอบ
เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นศีล ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตชอบ เป็นสมาธิ
สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่าแต่ที่นำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือทุกข์กับการดับทุกข์ ทุกข์นี้หมายถึงทุกข์ทางใจ ที่เกิดจากการไปยึดติดในอุปาทานขันธ์ห้า(ตัวกู-ของกู)
การจะดับทุกข์ อุปาทาน ก็ต้องศึกษา ศีล(ความปกติ-ผิดปกติ=ศีลขาด) สมาธิ (ความตั้งใจมั่น ชนิดพอควรแก่งานแก่การ ไม่ใช่ชนิดดิ่งลึกเป็นพวกโยคี-อย่าลืมวัตถุประสงค์ที่จะดับทุกข์อุปาทาน ไม่ใช่วัตถุประสงค์อื่น) ปัญญา( ซึ่งรู็เท่าทันกิเลส)
รวมเรียกว่าไตรสิกขา หรือการศึกษาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา

การศึกษาประกอบด้วย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
คือศึกษาจากประสบการณ์ของผู้อื่นในที่นี้คือประสบการณ์ของพระพุทธองค์(เรียกว่าปริยัติ -พอใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเรียกว่าทฤษฎี) เมื่อศึกษาปริยัติแล้วก็นำมาปฏิบัติต่อเนื่องจนบรรลุผล-เรียกว่าปฎิเวธ)คือพ้นจากทุกข์อุปาทาน

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อริยสัจจ์สี่ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค
เนื่องจากท่านนำมาจากความจริงไม่ใช่คิดเอาจึงกำหนดว่าทุกข์เป็นจุดเริ่มต้น (ห้ามสลับข้อ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าคิดเอาตามหลักเหตุส่งผล) ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุหทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องทำให้เจริญ

ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง
ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด

ในมรรคมีองค์แปด มีทั้งส่วนที่เป็น ศีล สมาธิ และปัญญา
(รวมลงใน กาย วาจา ใจ) สุดท้ายใจก็เป็นตัวชี้ขาด

สติเป็นธรรมที่มีอุปการะมากเปรียบเหมือนรอยเท้าช้างซึ่งเป็นรอยเท้าสัตว์บกทีใหญ่ทีสุด ธรรมหมวดอื่นเปรียบเหมืิอนรอยเท้าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ซึ่งสามารถก้าวลงในรอยเท้าช้างได้แปลว่าธรรมทุกหมวดต้องอาศัยสติเป็นหลักเหมือนการยึดตรึงร่างกายของวัวมิให้ซัดส่าย (ในกรณี สมถะ(สมาธิ) แต่ถ้าในกรณีปัญญา(วิปัสสนา-ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม) สติจะเหมือนการตรึงร่างกายบนเตียงผ่าตัดเพื่อพิจารณา(ปัญญา)


สติปัฏฐานสี่เป็นทางสายเอกสายเดียวซึ่งนำไปสู่การพ้นทุกข์(อุปาทาน) หมายความจะพ้นทุกข์อุปาทานก็ต้องเจริญสติปัฏฐานสี่จนเกิดปัญญาหรือมีวิชชา มองเห็นการปรุงแต่งของสังขาร(ความคิด) การศึกษาสติปัฎฐานสี่ให้ดูจากบทสวดมนต์แปลในมหาสติปัฏฐานสูตร

สรุป คนเราทุกข์เพราะคิดแล้วยึด(ตัวกู-ของกู) ต้องเจริญสติปัฏฐานสี่ ตามดูรู้ทีนความคิด ก็จะเกิดการปล่อยวางที่เกิดจากปัญญาชนิดเป็น มิใช่คิดเอา(ความอิ่ม=เป็น ต่างจากคิดว่าอิ่ม)

ศึกษาวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมจาก หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อ.โกวิท เอนกชัย (ศิลปินแห่งชาติ-เจ้าของนามปากกา รุ่งอรุณ ณ.สนธยา เขมานันทะ ) อ.กำพล ทองบุญนุุ่ม (ผู้พิกายร่างกายท่อนล่างและนำตัวเองมาเป็นอุปกรณ์สอนธรรม-เจ้าของวาทะ "ผมลาออกจากความทุกข์แล้ว"

การจะมีวิชชารู้เท่าทันการปรุงแต่งจนปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ ต้องอาศัยกัลยาณมิตรซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกอันเป็นตัวแปรสำคัญและมีปัจจัยภายในที่เรียกว่าการทำใจให้แยบคาย(โยนิโสมนัสสิการ)เป็นตัวชี้ขาด

อย่าเข้าใจไปว่าต้องเรียนมาก
ปฏิบัติลำบากจึงถึงได้
ถ้ารู้จริงก็ปฏิบัติได้ง่ายดาย
คือดับได้ ไม่เหลือเชื่อก็ลอง

(ท่านพุทธทาส)


โดย: มงคล ดอนโพธิ์ IP: 171.4.169.92 วันที่: 14 มิถุนายน 2555 เวลา:11:05:02 น.
  
ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่ง เป้าหมายของอุดมคติชาวพุทธก็คือ "ทำพระนิพพานให้แจ้ง" ถ้านิพพานหมายถึงความดับเย็น ในที่นี้เราเน้นความดับเย็นทางจิต แล้วละก็ ทางนี้ไม่น่าจะพลัดหลงแต่ถ้าทางอื่น ก็คนละทาง โบราณจะวาดรูปนิพพานให้คนดูไม่รู้จะทำอย่างไรกับสภาวะนามธรรมก็เลยวาดเป็นเมือง มีประตูเข้าหลายทางแต่พระพุทธองค์ สอนในเรื่องสติปัฏฐานสี่ ว่าเป็นทางสายเอก ก็ลองศึกษาดูเทอญ
โดย: มงคล ดอนโพธิ์ IP: 171.4.169.92 วันที่: 14 มิถุนายน 2555 เวลา:11:14:05 น.
  
คุณมงคล ดอนโพธิ์

ยินดีและขอบคุณที่นำข้อความที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านมาวางไว้เป็นวิทยาทานครับ
โดย: สดายุ... วันที่: 14 มิถุนายน 2555 เวลา:20:16:03 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sdayoo.BlogGang.com

สดายุ...
Location :
  France

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]

บทความทั้งหมด