O กรรมเก่า มีจริงหรือ ? O
.


คิดว่า .. คนส่วนใหญ่ "ไม่รู้"หรอกว่า กรรมเก่ามีจริงหรือไม่ ?
แต่ .. "เชื่อ" ว่ามี

มาดูความหมายที่ถูกต้องกันก่อน

.................................................

กรรม -
การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)

การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”

จาก .. พจนานุกรมพุทธศาสตร์

..................................................


เชื่อ หรือ ไม่เชื่อ มีผลต่อชีวิตประจำวันของคนเราอย่างไร ?
หรือ เรื่องนี้มันสำคัญแค่ไหน กับความสุข ความทุกข์ในชีวิตของคนเรา ?
รวมทั้ง กรรมในอดีตชาติของเราเองนั้น .. เราจะสามารถรู้ได้อย่างไร ?


มาลองมองผ่านมุมมองเชิงการปกครองดู ..

ที่ในสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนที่มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ไม่มีความพร้อมแม้กระทั่งสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต คือ ปัจจัยสี่ด้วยซ้ำไป .. ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่ง สุขสบาย ปานเทวดาบนสรวงสวรรค์ มีล้นเหลือ (พวกที่มีเกิน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน ทั้งหลาย) .. เหล่านี้เป็นเพราะสาเหตุใด ?

การที่พยายามชักจูงให้คิดไปถึงช่วงเวลาในอดีตที่ไม่มีใครรู้ .. ไม่มีใครพิสูจน์ได้ คือ อดีตชาติ ว่าทำดี ทำชั่ว มาต่างกัน จึงส่งผลมาถึงชาติปัจจุบันที่ทำให้คนมีความแตกต่างกัน .. พูดง่ายๆว่า .. พวกที่สุขสบายอยู่ในชีวิตตอนนี้ทั้งหลายนั้น – เป็นเพราะทำบุญไว้มาก ทำสิ่งดีๆไว้มากในชาติที่แล้ว ผลบุญจึงส่งมาให้ได้รับความสุขสบายในชาตินี้ .. ใครอยากสุขสบายแบบที่เห็นอยู่นั้นในชาติหน้าต่อไปก็ให้เร่งสะสมบุญ เร่งทำความดีไว้ให้มากๆ ชาติหน้าก็จะได้รับผลดีแบบนั้นแน่นอน –

หากคนส่วนมากเชื่อและทำตามดังว่าจริงแล้ว สังคมย่อมสงบสุข – จริงไหม ?

เพียงแต่ว่าแนวคิดเชิงรัฐศาสตร์ เพื่อปกครองคนผ่านการครอบงำด้วย อุดมการณ์ทางการเมือง .. หรือ อุดมคติเชิงศีลธรรมของชีวิตที่ควรเป็น .. หรือหลักศรัทธาในวัตรปฏิบัติที่ผ่านมาทางศาสนาก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงนั้น .. – หากเราลองยกวางลงเสียก่อน ในอุบายวิธีเชิงปกครองสังคมเหล่านั้น .. แล้วมาพิจารณา ความจริงแท้ กับ ความเชื่อเช่นนั้น ว่าจะสอดคล้อง สอดรับกัน หรือ ไปกันไม่ได้เลย .. อาจจะสามารถทำความสว่างแก่จิตใจตัวเองได้ไม่น้อย

กรรมเก่า .. ส่งผลมา จึงได้ผลที่ต่างกันไป – ใช่ไหม คนส่วนมากเชื่อกันเช่นนี้ ?

แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า กรรมเก่าของเรา นั้น เคยทำสิ่งใดไว้บ้าง ?
คนทั้ง 100 % - ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีทางรู้ได้ – ไม่มียกเว้นแม้แต่คนเดียว – นี่ ยังไม่พูดถึงพระสงฆ์ ทั้งหลายนะ


เมื่อไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง .. ก็ต้องเชื่อคนอื่น – หรือเชื่อตำราที่อ่านผ่านมา – จริงไหม ?

ทีนี้มองต่อไปที่ .. คนอื่น .. ที่เราเชื่อนั้น คือใคร ?
คนคนนั้นต้องมีคุณวิเศษเยี่ยงไร จึงสามารถมากกว่าเราท่านทั้งหลาย ถึงกับสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมาของผู้อื่นได้ ?

หรือ – คนคนนั้น มีวิชชา 3 ?
หรือ – คนคนนั้นมี อภิญญา 6 ?

เรามาลองดูคุณสมบัติของ ทั้งสองชื่อที่กล่าวมาดู

วิชชา 3 คืออะไร
……………………………..
ญาณ3 ได้แก่ วิชชา3
คำว่า ญาณ ในความหมายเฉพาะ หมายถึง พระปรีชาหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้า ความรู้แจ้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกเต็มว่า โพธิญาณ หรือ สัมมาสัมโพธิญาณ มี 3 อย่าง หรือที่เรียกว่าวิชชา3 คือ

บุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ ระลึกชาติได้

จุตูปปาญาณ - ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง

อาสวักขยญาณ - ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

.................................


ต้องเข้าใจเรื่องราวทางศาสนาอย่างหนึ่งว่า .. ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งสิ้นนั้น เกิดจากการกระทำสังคายนาคำสอนหลังพุทธปรินิพพานแล้ว .. ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธองค์โดยตรง แต่มีพระสงฆ์ท่องจำกันเอาไว้แล้วมาถ่ายทอดกันต่อ แล้วบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรอีกทีหนึ่ง .. อย่างพระอานนท์ เป็นต้น ที่จะกล่าวคำที่พระพุทธองค์เคยตรัสต่อท่านให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง และจดบันทึกลงไว้เป็นหลักฐาน

จากข้อความที่ยกมา จะเห็นได้ว่า วิชชา ทั้ง 3 นั้น เป็นโพธิญาณที่พระพุทธองค์หยั่งรู้ได้ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว เท่านั้น

แล้วคนคนนั้นที่พูดให้เราเชื่อเรื่องอดีตกรรมของเรา จะถึงขั้นตรัสรู้เชียว หรือ ? – นี้ประการที่ 1
.
.

อภิญญา 6 คืออะไร ?
.........................................

อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน

อภิญญาในคำวัดหมายถึงคุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มี 6 อย่าง คือ

1.อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
2.ทิพพโสต มีหูทิพย์
3.เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
4.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
5.ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
6.อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป

อภิญญา 5 ข้อแรกเป็นของสาธารณะ (โลกียญาณ) ข้อ 6 มีเฉพาะในพระอริยบุคคล

ถ้าพบผู้แสดงฤทธิ์ได้ อย่าพึ่งหมายว่าผู้นั้นจะเป็นอริยบุคคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

............................................


5 ข้อแรก เป็นโลกียญาณ

โลกิยะ - โลกียสุข - ความสุขอย่างโลกีย์หรือตามวิสัยแบบโลกๆ, ยังประกอบด้วยอาสวะคือ กิเลสหมักหมมเช่น กามสุข-ทางกาม, มนุษย์สุข-มนุษย์, ทิพยสุข-เทวดา,พรหม, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร

ญาณ - ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากําหนดรู้หรือความเข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ) หรือก็คือ ปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแท้จริง ตามธรรมหรือธรรมชาติ

โลกียญาณ จึงแปลว่า ความรู้ที่ยังกอปรด้วยอาสวะกิเลส ความรู้ที่ยังเนื่องอยู่ในโลก

ดังนั้น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ที่ทำให้ระลึกชาติได้จึงเป็น โลกียญาณด้วย !
ใครได้ญาณนี้จึงไม่อาจนับว่าเป็นพระอริยะบุคคล !

พระอริยะบุคคลนั้น ท่านนับเนื่องเอาเฉพาะผู้ที่ได้ อาสวักขยญาณ คือ ผู้ที่รู้การทำอาสวะให้สิ้นไปเท่านั้น !

.................................................
ในขณะที่ วิชชา 8 มี

1. วิปัสสนาญาณ (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือนามรูปโดยไตรลักษณ์ มีต่างกันออกไปเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน — insight-knowledge)
2. มโนมยิทธิ (ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ — mind-made magical power)
3. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ — supernormal powers)
4. ทิพพโสต (หูทิพย์ — divine ear)
5. เจโตปริยญาณ (ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้ — penetration of the minds of others)
6. ปุพเพนิวาสานุสสติ (ระลึกชาติได้ — remembrance of former existences)
7. ทิพพจักษุ (ตาทิพย์ — divine eye)
8. อาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ — knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)

ข้อที่ 2 โดยมากจัดเข้าในข้อที่ 3 ด้วย ข้อที่ 3 ถึง 8 (6 ข้อท้าย) ตรงกับอภิญญา 6

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

..............................................................


ข้อ 2 คือ มโนมยิทธิ จัดอยู่ในข้อ 3 คือ อิทธิวิธี
และอิทธิวิธี คือ โลกียญาณ คือ ความรู้ที่ยังกอปรด้วยอาสวะกิเลส ความรู้ที่ยังเนื่องอยู่ในโลก

ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ฝึก มโนมยิทธิ จึงเป็น ผู้ยังประกอบด้วยอาสวะคือ กิเลสหมักหมม อยู่ !


จะเห็นได้ว่า วิชชา 3 นั้น คือ ข้อ 4, 5, 6 ในอภิญญา 6
และคือข้อ 6, 7, 8 ในวิชชา 8

แต่นับเนื่องเป็นอริยะภาวะเพียงประการเดียวคือ อาสวักขยญาณ - ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ เท่านั้น

ยังไม่ต้องพูดถึง ว่า การบันทึกถึงคุณสมบัติทั้งปวงที่กล่าวถึงข้างบนนั้น มีนัยสอดรับกับ ไตรลักษณ์ หรือไม่เพียงใด

เอาแค่เพียง ความหมาย เราก็สามารถแยก .. คุณวิเศษ .. ที่มีในตนได้แล้วอย่างน้อยว่า ความเป็นพระอรหันต์ที่จะเข้าสู่ภาวะนิพพานได้ต้องผ่านคุณสมบัติประการเดียวนี้ก่อนเท่านั้น คือ อาสวักขยญาณ – ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ
.
.
.

ทีนี้มาพิจารณาเรื่องหลักการใหญ่แห่งความเป็นพุทธกันดู
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ ระลึกชาติได้


ชาติ .. คำคำนี้มีความหมายเยี่ยงไร แค่ไหน เป็นไปตามที่เราๆเข้าใจกันอยู่หรือไม่ .. นี่คือ คำถาม ?

มาลองพิจารณากันให้ละเอียด ถี่ถ้วนดูสักหน่อยเป็นไร .. โดยที่ยังไม่ต้องมีคติโน้มเอียงไปทางไหนทั้งสิ้น !


ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท

ชาติ แปลว่า การเกิด, ชนิด, พวก, เหล่า ดังเช่น การเกิดเป็นตัวตนจากท้องแม่ที่มีพ่อเป็นเหตุปัจจัยร่วม, การเกิดของสิ่งต่างๆ, การเกิดแต่เหตุปัจจัยคือสังขารต่างๆ, การเกิดของเหล่ากองทุกข์ ส่วนความหมายในทางโลก หมายถึง ปวงชนแห่งประเทศเดียวกัน, จึงมีความหมายได้หลายหลาก ขึ้นกับจุดประสงค์หรือสาระนั่นเอง

ชาติ ในความหมายของภาษาธรรม มีความหมายถึง การเกิดขึ้นของสังขารต่างๆทั้งปวง อันคือสิ่งต่างๆที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันจึงเกิดหรือชาติขึ้นมา จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมเช่นตัวตน ชีวิต และฝ่ายนามธรรมเช่น จิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ.

เมื่อกล่าวโดยโลกุตระหรือภาษาธรรมแล้ว ชาติ จึงหมายถึง การเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวง (สังขาร ที่หมายถึง สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ดังเช่น สังขารหรือสังขตธรรมในพระไตรลักษณ์ จึงไม่ใช่มีความหมายถึงแต่กายสังขารหรือชีวิตแต่อย่างเดียวเท่านั้น)

ดังนั้น ชาติ ในวงจรปฏิจจสมุปบาทก็แปลว่า การเกิด, การเกิดขึ้น เช่นกัน ที่หมายถึงเกิดมาแต่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกัน แต่มีความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่า หมายถึง การเกิดขึ้นของกองทุกข์หรือความทุกข์ แต่เป็นความทุกข์ชนิดที่ประกอบหรือถูกครอบงำด้วยอุปาทาน (อุปาทานทุกข์) [รวมทั้งสุขทางโลกหรือโลกียสุขอันเป็นทุกข์โดยละเอียดอย่างหนึ่ง] จึงมีความหมายที่เฉพาะตัวของมันเอง

ดังนั้นจงพิจารณาโดยแยบคาย อย่าให้มีความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา)หรือมีความยึดมั่นอย่างผิดๆ(มิจฉาทิฏฐิ)จนเป็นทิฏฐุปาทาน อันเป็นดังที่พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า "ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" ในอวิชชาสูตร, ดังนั้นความหมายของคำว่าชาติ ที่หมายรู้หมายตีความหรือพาลไปเข้าใจกันโดยทั่วๆไปโดยไม่รู้ตัวว่าหมายถึง การเกิดเป็นตัวตนหรือการเกิดแต่ครรภ์มารดา หรือการเกิดในภพชาติหน้า,ชาติโน้น แต่ฝ่ายเดียวจนเสียการ, แม้ในพระไตรปิฏก ก็มีการกล่าวถึงชาติหรือการเกิดไว้หลายนัยด้วยกัน ดังเช่น

ชาติ ที่หมายถึงการเกิดขึ้นของทุกข์หรือปฏิจจสมุปบาทก็มี
ชาติ ที่หมายถึงเกิดขึ้นของธรรมหรือจิตหรือขันธ์ต่างๆในชาติธรรมสูตรก็มี
ชาติ ที่หมายถึง การเกิดของแต่ละองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทและอาหาร ๔ ก็มี
ชาติ ที่หมายถึง การเกิดแต่ครรภ์มารดาเป็นตัวตนหรือชีวิตในมหาตัณหาสังขยสูตรก็มี
ชาติ ที่หมายถึง การเกิดแห่งวิญญาณในมหาตัณหาสังขยสูตรก็มี
ชาติ ที่หมายถึง การเกิดของปวงสัตว์ในสติปัฏฐาน ๔ ก็มี
ชาติ ในทุกขอริยสัจก็มี
ฯลฯ

ส่วน ชาติในปฏิจจสมุปบาท นั้น จึงมีหมายถึงการเกิดขึ้นของกองทุกข์ ความทุกข์ที่หมายนี้ หมายถึง การเกิดของอุปาทานทุกข์เท่านั้น จึงมิได้หมายถึงทุกขเวทนาอันเป็นไปตามสภาวธรรมเป็นธรรมดา

จึงมิได้หมายครอบคลุมไปในสารพัดทุกข์ทั้งหลายที่อาจเป็นไปตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติก็มี คือ ทุกขอริยสัจ อันมี ความเกิด ความเจ็บ ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือเป็นจริงเช่นนี้เอง คือยังคงต้องเกิดทุกขเวทนาจากธรรมเหล่านั้นขึ้นเป็นธรรมดา ในทุกหมู่เหล่าแม้แต่ในองค์พระอริยเจ้าท่าน

...................................................


คงพอประมาณได้แล้วว่า ความเข้าใจของตนเอง ถูกต้องเพียงไร ?

ขอยกพระสูตรมาให้ดูอีกสักตัวอย่าง ..

ชาติธรรมวรรคที่ ๔
ชาติธรรมสูตร
[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งทั้งปวงที่มีความเกิดเป็นธรรมดาคืออะไรเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส(ผัสสะ) มีความเกิด(ของจิตหนึ่งขึ้น จึงเกิดเวทนาหนึ่งขึ้น)เป็นธรรมดา

กล่าวคือเกิดแต่เหตุปัจจัยดังนี้
ตา+รูป->จักษุวิญญาณ->จักษุผัสสะ->...เวทนาหนึ่งก็มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ..
หู+เสียง->โสตวิญญาณ->โสตผัสสะ->...เวทนาหนึ่งก็มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ

แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความเกิด (เวทนาดังกล่าวขึ้น) เป็นธรรมดา ฯลฯ.
ตา+รูป->จักษุวิญญาณ->จักษุผัสสะ->...เวทนา มีความเกิดเป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้างเป็นธรรมดา ..ฯ

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส(ผัสสะ) มีความเกิด(ของจิตหนึ่งขึ้น จนเกิดเวทนาขึ้น)เป็นธรรมดา
ใจ+ธรรมมารมณ์เช่นคิด->มโนวิญญาณ->มโนผัสสะ->...จิตหนึ่งก็มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส(ข้างต้น)เป็นปัจจัย ก็มีความเกิด(เวทนาขึ้น)เป็นธรรมดา
ใจ+คิด->มโนวิญญาณ->มโนผัสสะ->เวทนามีความเกิดเป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้างเป็นธรรมดา-> ...ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย(นิพพิทา) ทั้งในจักษุ ทั้งในรูป ทั้งในจักษุวิญญาณ ทั้งในจักษุสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ

ทั้งในใจ ทั้งในธรรมารมณ์ ทั้งในมโนวิญญาณ ทั้งในมโนสัมผัส ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ฯ

.........................


แม้จะมีหลากหลายความหมาย .. แต่ การบันทึกข้อความนี้ย่อมต้องหมายถึง ชาติ ที่หมายถึง การเกิดแต่ครรภ์มารดาเป็นตัวตนหรือชีวิต เท่านั้น เพราะเป็นการบันทึกข้อความแบบ สัสสตทิฏฐิ คือมีความสืบเนื่องของ ดวงจิตวิญญาณ แบบล่องลอยออกจากร่างที่ตายแล้ว แล้วไปสืบทอดภาวะใหม่ในร่างใหม่ และยังนับเนื่องเป็นดวงจิตวิญญาณเดิม

สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ

.
.
.

ขันธ์
ขันธ์ - กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง คือ
- รูปขันธ์ กองรูป,
- เวทนาขันธ์ กองเวทนา,
- สัญญาขันธ์ กองสัญญา,
- สังขารขันธ์ กองสังขาร,
- วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)

รูป - ในขันธ์๕ หมายถึง ส่วนร่างกายตัวตน, ในอายตนะหมายถึง "ภาพ หรือรูป "ที่เห็น ซึ่งในบางครั้งใช้ครอบคลุมถึง "สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลาย" คือรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส, ความคิด(ธรรมารมณ์)ทั้ง๖, คือใช้แทนอายตนภายนอกทั้งหมด


บุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ ระลึกชาติได้

แปลว่า ความรู้นี้ทำให้สามารถ .. รู้ .. เห็น .. ร่างกายตัวตนที่เกิดในอดีตชาติหรือ กาลเวลาที่พ้นผ่านมาแล้ว ของตนเองได้

แต่จะรู้ ของคนอื่นได้ด้วยรึเปล่า ? - นี่คือคำถามอีกข้อ
ข้อนี้ ลองยกประโยชน์ให้ว่า สามารถรู้ของคนอื่นได้ด้วยไปก่อน (พลางๆ) !

ดังนั้น การที่เราจะรู้ว่าในอดีตได้ทำอะไรไว้บ้าง หรือการรู้ถึงกรรมเก่าในชาติที่แล้วได้นั้น แปลว่าผู้นั้นต้องได้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก่อน - จริงไหม ? - นี้ ประการที่ 2


แล้วใคร .. คือผู้ที่สามารถบอกได้ว่า ภาวะอย่างไหนในจิตคนคนหนึ่ง คือการได้ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ?

อะไร .. จะเป็นตัวบ่งชี้ ?

นี่เป็นคำถาม ธรรมดามาก – เมื่อเราเปรียบเทียบกับการศึกษาทางโลกที่ ผู้ที่สอบผ่านระดับใดระดับหนึ่ง ก็ด้วยการตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เรียนรู้ ได้ถูกต้อง – เกินครึ่ง .. จริงไหม ?

แค่ รู้เกินครึ่ง ของสิ่งที่เรียนก็สามารถบอกได้ว่า จบ ป6 .. จบ ม 6 .. หรือ จบปริญญาตรี คือ คะแนนเกิน 50%

แต่ในเรื่องของการฝึกจิต – ใครสามารถบอก ?
ตัวเองบอกตัวเองได้ไหม ?
หรือ ใครสักคน ที่เราเชื่อว่าบอกได้ จะเป็นผู้บอก ?

เห็นไหม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กับการแค่จะรู้ว่าการฝึกฝนของเราแต่ละคนนั้น สำเร็จหรือยัง
ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การฝึกที่ว่านั้น ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ถูกต้องหรือเปล่า .. หากพระพุทธองค์ระบุว่าพระองค์ใช้ อาณาปาณสติ .. แล้วเรากลับมาฝึกเพ่งกสิณ .. เราจะเอาอะไรมาเป็นตัวเปรียบเทียบ ?

รวมทั้ง คนที่เรา”เชื่อ” ว่าบอกเราได้นั้น เราจะรู้ถึงคุณวิเศษของเขาได้อย่างไร? .. ในเมื่อเราเองยังไม่อาจรู้ได้แม้แต่ตัวเอง ?

ช่องทางเดียว คือ ความเชื่อ .. และเป็นความเชื่อแบบหลับหูหลับตาเสียด้วย .. ไม่มีอย่างอื่น !

และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เจตนารมย์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้กับชนชาวกาลามะ (กาลามสูตร) ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ !


ประเด็นของกระทู้นี้มีว่า ..
คุณวิเศษ ในตน (หากแม้ว่า อาจมีอยู่จริงก็ตาม) .. ย่อมไม่สามารถบอกออกไปให้ผู้ที่ไม่มีคุณวิเศษนั้นๆรู้ได้ เข้าใจได้ !

และด้วยเหตุนี้ท่านถึงห้ามไว้ ไม่ให้ อวดอุตริมนุสสธรรม

เพราะมันหมิ่นเหม่ต่อการหลอกลวง "ลาโง่" ทั้งหลายที่น่าสงสารเหล่านั้น !

เมื่อเรื่องชาติก่อน เป็นเรื่องที่รู้เองไม่ได้ .. การกระทำต่างๆในชาติก่อน (กรรมเก่า) ของคนคนหนึ่ง ก็ย่อมไม่อาจรู้ได้เช่นเดียวกัน

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า กรรมเก่า ส่งผลมาให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ?
มันเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ .. มันเป็นเพียงความเชื่อ เท่านั้น


ทีนี้เมื่อมาจับประเด็นผ่านมุมมองของศาสนา ..
จุดประสงค์ของพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเผยแผ่ออกสอนสัตว์ทั้งหลาย .. ควรเป็นไปเพื่อดับทุกข์ในจิตในกาลปัจจุบัน หรือ ทุกข์ในจิตของรูปกายในกาลอดีตที่คนเกือบทั้ง 100% รู้เองไม่ได้ ?


.. ธรรมอันใดที่คนทั่วไปรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ .. พระพุทธองค์จะสอนหรือไม่ ?
.. เพราะเหตุว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่า .. อย่าเพิ่งปักใจเชื่อตั้ง 10 อย่างในกาลามสูตร ?
.. เพราะเหตุว่าธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนจะไม่มีทางขัดแย้งกันเลย !


ลองพิจารณากันดู


การวนเวียนรอบวัฏฏะสงสาร เกิดดับชาติแล้วชาติเล่า อย่างที่เป็นความสืบเนื่องจากจิตวิญญาณเดิมเดียวของบุคคลหนึ่งๆนั้น .. จึงเป็นภาวะการณ์ที่สอดรับกับเรื่อง กรรมเก่า วิบากกรรม ได้เป็นอย่างดี และเป็นแนวคิดที่แพร่หลายอยู่แล้วในพุทธกาล .. อันเป็นแนวคิดของพราหมณ์


คือ มีการแบ่งเป็น - ช่วง หรือ ไตรภาวะ
มี .. ชาติปัจจุบันเป็นตัวตนที่รับรู้สภาพธรรมที่เป็นอยู่
มี .. ชาติอดีต เป็นฐานความคิดให้กับการขับเคลื่อนจินตนาการ ที่ต้องการ
มี .. ชาติอนาคต เป็นอุดมคติ ให้จิตวิญญาณ (หรือ มนัส นั่นแหละ) มุ่งหวังที่จะไปให้ถึง ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง


และหากว่าแนวคิดนี้ ที่เราเรียกว่า สัสตทิฏฐิ ถูกต้อง แล้วพระพุทธองค์จะต้องออกแสวงหาโมกขธรรมอีกทำไม ?

ที่เรารู้ได้แน่นอนก็คือว่า ..

หากวันนี้ตั้งใจเรียน .. พรุ่งนี้ต้องมีความรู้ไว้สำหรับผ่านการทดสอบแน่นอน
หากวันนี้ตั้งใจทำงาน ขยันหาเงิน .. พรุ่งนี้ย่อมต้องมีเงินไว้ซื้อหาปัจจัย 4 ยังชีพแน่นอน

สำหรับเมื่อวานนี้ จะเป็นอย่างไรก็ตาม มันได้ผ่านพ้นไปแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะย้อนกลับไปคิด เพราะเราแก้ไขไม่ได้ ..

ที่เราทำได้ก็ตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้ไปข้างหน้าเท่านั้นเอง .. อันนี้แน่นอนเด็ดขาด !


เรื่องของเมื่อวานนี้ ..
เมื่อใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ มาจับ .. มีอะไรเหลือไว้บ้าง
รูปถ่าย - หากได้ถ่ายรูปไว้
เสียงพูด - หากได้อัดเสียงไว้
รอยเท้า - หากได้ย่ำดินทรายเอาไว้
ตัวหนังสือ - หากได้ขีดเขียนเอาไว้
ข้าวปลาอาหาร - หากได้ปรุงเก็บเอาไว้
.
.
ความทรงจำในเรื่องราว (สัญญา)
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อวาน
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อเดือนหนึ่งที่ผ่านมา
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อปีหนึ่งที่ผ่านมา
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อ 10ปี ที่ผ่านมา
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อ 20ปี ที่ผ่านมา
ได้สักกี่อย่าง - หากนึกคิดขึ้นมาในเรื่องของเมื่อ 50ปี ที่ผ่านมา


กรรมเก่า .. เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปรู้ไม่ได้
เพราะแม้แต่ภายในชาติเดียวกัน ยังจำได้ไม่หมดเมื่อทอดเวลาเนิ่นนานออกไป .. คือค่อยๆลืมไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่อยู่ภายในช่วงเวลาของรูปขันธ์เดิมเดียวด้วยซ้ำไป

แล้วเรื่องของเมื่อ ชาติที่แล้ว จะรู้ได้อย่างไร ?
ในเมื่อการรับรู้ระหว่างช่วงชีวิตทั้งสอง มีการแตกดับแห่งรูปขันธ์มาคั่นกลาง ? คือ อายตนะที่จะรับรู้ถูกทำลาย

ญาณที่จะเป็นของวิเศษพาข้ามภาวะปกติไปรับรู้ก็ไม่มี ในคนแทบทั้ง 100%



ดังนั้น ..
.. กรรมเก่า มีจริง ส่งผลจริงมายังเราในชาติปัจจุบัน หรือไม่ - เรารู้ไม่ได้
.. คนที่บอกเราอย่างนั้นอย่างนี้ .. เราก็รู้ไม่ได้ว่าที่เขาบอกจริงหรือเท็จ
.. วิบากกรรมจากอดีตชาติ จึงเป็นเรื่องที่ .. ไม่ควรคิด .. เพราะอยู่เหนือวิสัยที่จะได้คำตอบ

เป็นปัญหา อจินไตย

คนผู้ฉลาด ย่อมไม่วนเวียนในประเด็นที่ไม่มีคำตอบ
สู้เอาเวลามาควบคุมสติ เมื่อมีการสัมผัสกันกับปัจจัยรอบตัว น่าจะดีกว่า

......................


ช่างบังเอิญแท้ ..ที่ความคิดไปพ้องกับสิ่งที่ระบุไว้ใน
อจินตสูตร ..


อจินไตย ๔ -
มีพุทธพจน์แสดงไว้ดังนี้ใน อจินตสูตร ความว่า
" ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ..

พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๑
ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน๑
วิบากแห่งกรรม๑
ความคิดเรื่องโลก๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายอจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ "


หลักเหตุผล นี่ใช้ได้ .. ไม่จำกัดกาลเวลาจริงๆ




Create Date : 04 เมษายน 2555
Last Update : 2 มิถุนายน 2562 18:07:19 น.
Counter : 2299 Pageviews.

9 comments
การ์ตูนจากกล่องอาหาร สมาชิกหมายเลข 4313444
(14 เม.ย. 2567 04:14:16 น.)
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
  
รอฟังวิภาษต่อ
โดย: เจ IP: 27.55.8.172 วันที่: 4 เมษายน 2555 เวลา:21:51:22 น.
  


"คนผู้ฉลาด ย่อมไม่วนเวียนในประเด็นที่ไม่มีคำตอบ
สู้เอาเวลามาควบคุมสติ เมื่อมีการสัมผัสกันกับปัจจัยรอบตัว น่าจะดีกว่า"
ค่ะ...แต่ผู้ที่ไม่ทราบว่า"ตนเองฉลาดหรือไม่" ก็คงต้องค้นหา"ความฉลาด"ต่อไปว่า "สิ่งที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ไม่ได้"
จะมีหรือไม่มีจริง .."เวลา"..และ"วิวัฒนาการในยุคสมัย"จะเป็นเงื่อนไขในการค้นพบ ..จนกว่า"ศาสนาและวิทยาศาสตร์" จะมาบรรจบกัน

โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.158.74 วันที่: 6 เมษายน 2555 เวลา:14:29:20 น.
  


สิ่งที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ไม่ได้ ... แปลว่าไม่มีในความรับรู้
แต่อาจมีอยู่ในการจินตนาการของคนบางส่วน

ปกติเราใช้สัมผัสทั้ง 6 ทางเป็นพื้นฐานการบอกว่า
สิ่งใดมี หรือ ไม่มี

ที่นอกเหนือกว่านี้ เป็นเพียงจินตนาการองแต่ละคน..
ใครอยากให้มีอะไรก็เลือกเอาตามใจชอบ..ไม่มีใครห้าม !

บนท้องฟ้ากว้างไกล...โดยกล้องขยายมองไปถึงกาแลคซี่อื่น
บนสถานีอวกาศที่ไม่มีชั้นบรรยากาศมาบดบังที่คนจำนวนหนึ่งเทียวขึ้นเทียวลง...เพื่อไปทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์..
ยังไม่เคยมีใครเห็น สวรรค์ ทั้ง6 เลย .. ใช่ไหม ?

รวมทั้งใต้พื้นพิภพที่เป็นแกนกลางของโลกนี้ ที่ย่อมเป็น
หินลาวาหลอมเหลว มากกว่า นรกทุกขุม .. ใช่ไหม ?

โดย: สดายุ... วันที่: 6 เมษายน 2555 เวลา:20:23:38 น.
  


"ดูกรภิกษุทั้งหลายอจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ "

นี่เป็นจุด ที่แสดงให้เห็นว่า ศาสนาพุทธ "สอนให้คนหยุดลงที่ตนเอง" ไม่ส่งเสริมการพัฒนาค้นคว้าสิ่งแวดล้อมรอบตนต่อไป..

ตรงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค...ก็เป็นสัจจะ..เป็นอริยะสัจ..
นี่มินตราเห็นด้วยเพราะทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตของตนเองและมีวิธีแก้ไขได้..

ก่อนที่ศาสนาพุทธหรือศาสนาใดใดจะถือกำเนิด ได้มีศาสนาหรือปรัชญาที่เรียกว่า Zoroastrianism ของศาสดาZoroaster
ซึ่งพูดถึง ความดี ความชั่ว
กลุ่มผู้ที่ศึกษาและกระจายปรัชญานี้ คือกลุ่มชาวเปอร์เซีย
คำว่าอริยะจึงเป็นคำที่ใช้เรียกชาวเปอร์เซีย หมายถึงnoble
(นี่ไป"ท่องมาจากตำรา"อย่างที่สดายุว่านั่นแหละ และเปิดวิคีพิเดียดูได้...แต่คนเปิดต้องมี"ความรู้รากฐาน"มาก่อนว่าจะเปิดและใช้ตรงไหน แต่คนที่มีเชื้อสายเปอร์เซียย่อมมีความรู้เหล่านี้มาก่อนที่จะมีวิคีพิเดีย ใช่ไหมคะ)

การที่ท่องคัมภีร์ใช้ภาษาแขกได้ โดยจำกัดตนเองอยู่เพียง"สาขาของปรัชญา" จะถือว่าบุคคลอื่นที่ไม่สนใจปรัชญาเป็นหลัก นั้น
มีความ"อวิชชา"ได้อย่างไร ในเมื่อ"ความรู้ทางวิทยาศาสตร์"สามารถ ตอบคำถามและพิสูจน์สิ่งต่างต่าง"ได้ด้วยตัวของเราเอง"..
นี่พระพุทธเจ้าก็เปิด กาลามสูตร ไว้ให้วิทยาศาสตร์แล้วนี่...

เพียงแต่สมัยพุทธกาลนั้น ท่านทรงทราบถึงขีดจำกัดของเงื่อนไขในการพิสูจน์ จึงน่าจะตั้ง"อจินไตย ๔"ไว้..
นี่มินตราไม่รู้จัก..และไม่ลึกซึ้งในศาสนาจริงจริง

ที่น่าสังเกตุคือ..วิทยาศาสตร์ มีการพัฒนามาหลายยุคสมัย
ตั้งแต่เปอร์เซียมาจนถึง Aristoteles จนถึงศตวรรที่21ด้วยนักคิดหลายท่านในทุกศตวรรษ ต่อเนื่องกันมา..เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคยตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนคิด ใครเป็นผู้กำหนดว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงสนใจแต่"ความรู้ทางศาสนาปรัชญา"..และไม่ใส่ใจใน"ความรู้ทางวิทยาศาสตร์"
ฉะนั้นการที่ศาสนาพุทธซึ่ง มีการคิดค้นมาจาก"บุคคลเพียงคนเดียวในศตวรรษเดียว"จึงน่าจะมิใช่สิ่งที่"สมบูรณ์ที่สุด"เมื่อเปรียบกับวิทยาศาสตร์

คนไทยจะใช้สุภาษิตว่า ..
"ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด..
เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ฤๅไหว"

ใช่ไหมคะ คุณกวี 555
โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.160.191 วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:5:59:30 น.
  


มินตรา...

โซโรแอสเตอร์ เป็นศาสนาของชาว"อารยัน" หรือ "อริยกะ" ในภาษาบาลี...ชนกลุ่มนี้มีแหล่งอาศัยเดิมอยู่แถวทะเลสาปแคสเปี้ยน หรือ เอเชียไมเนอร์ เป็นพวกผิวขาวจมูกโด่ง แบบ คอเคซอยด์

ต่อมาอพยพลงมาทางดินแดนเปอร์เชียร์แล้วปักหลักที่นี่ส่วนหนึ่ง...ส่วนที่เหลือก็อพยพต่อมาทางตะวันออกแล้วลงหลักปักฐานที่ริมเขาหิมาลัย โดยรบแย่งดินแดนกับชนพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่า พวก มิลักขะ - (การรบแย่งชิงดินแดนนี้ทำให้ปรากฎเป็นวรรณกรรม รามายณะ .. ไว้ตอกย้ำความถูกต้องของผู้รุกราน)

เมื่อลงหลักปักฐานเป็นเรื่องราวดีแล้วก็เกิดกระทบกระทีั่งกันเอง แล้วทำสงครามรบกันในหมู่อารยันด้วยกันเอง..นี้ก็ได้บรรยายไว้แล้วใน มหาภารตะยุทธ (สงครามระหว่างสายเลือดเดียวกัน)

ส่วนพวกแรกในเปอร์เชียนั้น มีแค่โซโรแอสเตอร์ ศาสนาบูชาไฟ เพียงอย่างเดียว ไม่อาจให้กำเนิดปรัชญาใดๆได้อีก ตราบจนถึงยุคอิสลาม ...

สันนิษฐานกันว่า บรรดาปัญญาชน นักปราชญ์ ราชบัณฑิต น่าะติดตามไปกับพวกที่อพยพเลยเถิดไปถึงเชิงเขาหิมาลัย เป็นส่วนใหญ่ .. ทางนี้จึงให้กำเนิดศาสนา ปรัชญาใหม่ๆได้มากมาย


......................


ศาสนาพุทธ...เน้นการพิจารณาไปที่"นามธรรม" และเป็นนามธรรมที่เกิดในจิตเป็นสำคัญ

วิทยาศาสตร์...เน้นการพิจารณาไปที่"รูปธรรม" และเป็นรูปธรรมที่สามารถตรวจสอบ วัด"ค่าหรือขนาด" ได้ด้วยเครื่องมือวัดทั้งหลาย

วิทยาศาสตร์ จะตอบคำถามเกี่ยวกับ "การปรุงแต่งของจิต"
ได้ด้วยวิธีไหน ?

เพราะแม้แต่"ตัวจิต-"เอง ยังไม่อาจมองเห็นได้เลย ?

จิต - ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (สภาวธรรมของชีวิตที่รับรู้อารมณ์ เช่น สภาพหรือสภาวะของชีวิตในการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น ฯ.), สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ

จิตสังขาร - จิตตสังขาร - มโนสังขาร - สังขารขันธ์ในขันธ์๕ อันคือ ความคิด ความนึก การกระทำทางใจต่างๆ หรือมีความหมายได้ดังนี้

- 1. ปัจจัยปรุงแต่งจิต ได้แก่สัญญาและเวทนา
- 2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ มโนสังขาร เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม

......................................


มันไม่เกี่ยวกับเรื่องภาษาแม้แต่นิดเดียว เพราะพจนานุกรมพุทธศาสตร์ก็มีไว้ให้เปิดหาความหมายได้ไม่ยาก...มันเป็นเรื่อง ความเข้าใจไม่ได้ในประเด็นที่จะพูด เท่านั้นเอง

อย่างแรกต้องแยกให้ออกระหว่าง "ปรัชญา" กับ "พรหมจรรย์ หรือ ศาสนา" ก่อน

อย่างนักปรัชญาเมธี ชาวกรีกทั้งหลาย ทำไมถึงไม่เรียกว่า "ศาสดา" อย่างพลาโต อริสโตเติล เฮราคลีตุส หรือ แม้แต่ เหลาจื๊อ ผู้ให้กำเนิดลัทธิ เต๋า...?

เพราะ ปรัชญา เป็นเพียงแนวคิด ที่ไม่มีวิถีแห่งการปฏิบัติรองรับ..

วิทยาศาสตร์ มาถึงชั่วโมงนี้ สามารถมองเห็น "นิวเคลียร์ส"
รวมทั้งการเคลื่อนไหวได้ .. แต่ยังตอบไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวนั้น เกิดเพราะอะไร (หมายถึงทำไม อิเลคตรอนถึงต้องเคลื่อนที่รอบ โปรตอนและนิวตรอน)

และทั้งหมด เป็น รูปธรรมที่มองเห็นได้ หากมีเครื่องมือที่เหมาะสม...

อจินไตย ที่ระบุไว้ เป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ...จะเอาวิทยาศาสตร์ไหนมาพิสูจน์ ?

ลองนึกกลับไปในตัวเองดูว่า...ที่คิดกลับไปกลับมา อยู่ทุกนาทีน่ะ...เครื่องมือวิทยาศาสตร์อะไรสามารถจับสิ่งที่คิดได้ ?



ยิ่งพูด ดุเหมือนยิ่งสับสน...


.
.
.

หากจะวิเคราะห์พวกเปอร์เชียกันแล้ว ต้องพูดว่า เชิงปรัชญาอ่อนมาก .. แนวคิดที่สืบทอดมา ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อเปรียบกับ ชาติพันธุ์เดียวกันที่อพยพต่อมาถึงอินเดีย ที่ยังเข้มแข็งในประเด็น นามธรรม หรือ ตรรกะ ที่มีวิวัฒนาการผ่านมาหลายพันปี

อิสลาม นั้น แค่ที่มาของพระคัมภีร์ ก็เต็มไปด้วยเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าหัวร่อแล้ว (เปรียบได้กับ...กรรมกรท่าเรือ คลองเตย จะอ่าน สามัคคีเภทคำฉันท์ รู้เรื่องไหม...อย่าว่าแต่จะเขียน..

แล้วคนที่ไม่รู้หนังสือ เขียนหนังสือไม่ได้ จะรจนาภาษาชั้นสูงแบบนั้นออกมาได้อย่างไร - วิทยาศาสตร์ตอบได้ไหม ?)
โดย: สดายุ... วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:7:45:34 น.
  


และหากจะให้มองต่อก็ต้องว่า...

ในตะวันออกกลางนั้น...ศาสนายูดาย ของยิวนั่นเองที่เป็นต้นสายธารของแนวคิดเรื่อง พระเจ้าองค์เดียว ...

ที่ทั้งคริสต์และอิสลาม ได้สืบทอดแนวคิดนี้มาจาก การเพิ่มเติม หรือ ลดทอน รายละเอียดลงมากบ้างน้อยบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มตน แล้ว มาประกาศว่าเป็น"สิ่งที่รู้ใหม่ของตนเอง"

ดังนั้น ทั้งคริสต์ และอิสลาม จึงริษยายิว ที่เป็นต้นกำเนิด เอกเทวนิยม ตัวแม่แท้จริงกันทั้งนั้น จนลามไปทั้งยุโรปที่ส่วนมากนับถือคริสต์ และมาปะทุเอาหนักหนาในช่วง WW-2 โดยนาซีเยอรมัน

ความริษยา ย่อมเกิดจากความรู้สึกด้อยกว่า แต่ไม่อาจยอมรับอย่างเปิดเผยได้ว่าด้อยกว่า .. ยิ่งการเอาแนวคิดเขามาปฏิบัติตาม ยิ่งตอกย้ำความเป็น"ผู้ตาม" อย่างแท้จริง


มันไม่มีคัมภีร์ใหม่จากพระเจ้าองค์ใดทั้งสิ้น...
เป็นแนวคิดสืบทอดต่อกันมา แล้วจดจารึกไว้ในภายหลังโดยบุคคลที่ต่างกัน และรายละเอียดที่ต่างกัน... เท่านั้นเอง

ก็กราบไหว้กันไป...



โดย: สดายุ... วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:8:08:44 น.
  

สดายุ..

"โซโรแอสเตอร์ เป็นศาสนาของชาว"อารยัน" หรือ "อริยกะ" ในภาษาบาลี...ชนกลุ่มนี้มีแหล่งอาศัยเดิมอยู่แถวทะเลสาปแคสเปี้ยน หรือ เอเชียไมเนอร์ เป็นพวกผิวขาวจมูกโด่ง แบบ คอเคซอยด์"

ไปหาอยู่ตั้งนานว่าทำไมจึงพูดเช่นนี้ ..จึงทราบว่าไปอ่านงานของ
Friedrich Max Müller (1823 – 1900)มา
ท่านศึกษาอารยัน แบบคนต่างชาติที่สนใจเรื่องตะวันออกไปศึกษา
ในศตวรรษที่19 พยายามใช้การเปรียบเทียบศาสนาคริสต์กับพุทธ เพื่อให้ศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ "science of religion"

มินตราไปดูอารยันจากสมัย Babyloniaถูกกลืนเป็น Achaemenid Empire in 539 BC.
ลองไปดูตรงนี้
//en.wikipedia.org/wiki/Persian_people

แล้วจะทราบว่า เปอร์เซียคืออะไร ทำไมอารยะธรรมโลกจึงกระจายจากจีน ถึง ซีเรีย และที่มาของเส้นทางสายไหม


"ความริษยา ย่อมเกิดจากความรู้สึกด้อยกว่า แต่ไม่อาจยอมรับอย่างเปิดเผยได้ว่าด้อยกว่า .. ยิ่งการเอาแนวคิดเขามาปฏิบัติตาม ยิ่งตอกย้ำความเป็น"ผู้ตาม" อย่างแท้จริง"
เลิกใช้ภาษาคุณชายคึกฤทธิ์ ได้แล้ว อายคนเค้า ที่จะรู้ได้..ว่าเป็นใครมาจากไหน ความรู้มากน้อยเพียงใด

ค่ะ"ยิ่งพูด ดูเหมือนยิ่งสับสน..."

ต้องอ่านหลายตำราและหลายทฤษฎี ก่อนที่จะเป็น"ผู้ตาม"ที่ดีได้
ตราบใดที่เรา คนเดียว ยังไม่มีความสามารถพอที่จะสร้าง วิวัฒนาการของมนุษยชาติ ได้

โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.136.94 วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:11:01:59 น.
  


มินตรา...

ความสนใจของผมไม่ใช่ คนอิหร่าน หรือ อารยธรรมอิหร่าน
แต่เป็นชาวอารยัน ที่มาที่ไปจนมาเป็นพวกแขกขาวทางตอนเหนือของอินเดียในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับแนวคิดที่เชื่อ เทพเจ้า ที่เราเรียกว่า เทวนิยม ในขณะที่พุทธ เป็นศาสนาในกลุ่ม อเทวะนิยม คือ ไม่มีเทพเจ้า

ขณะที่ในความเป็นอิหร่าน หรือ เปอร์เชียนั้น .. ประกอบด้วยหลากหลายชนเผ่า หลากหลายที่มา และอารยันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด..

เพียงแต่ อารยัน มีรูปแบบของแนวคิดเชิงปรัชญา เชิงศรัทธาที่"อาจจะ"ล้ำหน้า ชนเผ่าอื่น โซโรแอสเตอร์ ของอารยันจึงตั้งมั่นครอบคลุมจิตใจชนในดินแดนนั้นได้อย่างยาวนาน

และที่มาทั้งปวงของข้อมูล แน่นอนเราต้องได้มาจากการอ่านเอาทั้งสิ้น เรื่องที่ผ่านมาและไกลตัวเราจะรู้ได้จากไหน หากไม่อ่านเอา - จริงไหม ?

ส่วนข้อมูลที่อ่านมา รุ้มา จะถูกหรือผิด ก็อีกเรื่องหนึ่ง .. หากแหล่งข้อมูลผิด สิ่งที่รู้ก็ย่อมผิด

เรื่องราวของอารยัน สร้างความสนใจเริ่มต้นจาก การที่นาซีเยอรมัน เอามา เชิดชู ระหว่าง WW-2 ในระหว่างกระบวนการทำลายล้างยิวนั่นเอง

และรวมทั้งได้มีโอกาสอ่านหนังสือนิยายที่เขียนโดย "พนมเทียน" ที่สอดแทรกไว้ในหลายๆเรื่อง...ปฐพีเพลิง..ศิวาราตรี..เพชรพระอุมา...ซึ่งทั้งหมด เป็นเรื่องราวของอารยันในชมพูทวีปเท่านั้น ในส่วนอารยันกลุ่มแรกที่ลงหลักปักฐานในเปอร์เชียนั้น...มีความสนใจน้อยมาก

จึงมีความเกี่ยวข้องกับความเป็น อิหร่าน หรือ เปอร์เชีย แค่ส่วนเดียวนี้เท่านั้น...

ส่วนเรื่องศาสนานั้น...เป็นข้อสมมุติฐานของผมเอง...เพราะมองเห็นเรื่อง God ของอิสลาม / คริสต์ เป็นเรื่องคิดตามยิว...เป็นเรื่องไร้สาระ .. และที่คิดได้แบบนั้น เพราะ เราไม่เคยมีพระเจ้าในความคิด

คิดจากว่า...เพราะพื้นทีแถวนั้นอยู่ใกล้ๆกัน ย่อมได้รับแนวคิดต่อๆกันมา เท่านั้นเอง...ไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์อะไรทั้งสิ้น...

หม่อมคึกฤทธิ์ ไปเกี่ยวอะไรด้วย ...งง ?

ดูๆ เวลาเขียนความเห็นนี่จะมีอารมณ์ไม่คงที่ .. แล้วการไปพาดพิงบุคคลที่สาม ก็ไม่สมควรแก่ ความเห็นเชิงวิชาการ นะ...

โดย: สดายุ... วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:13:03:16 น.
  

สดายุ..
อาณาจักรอาเคเมอนิด Achaemenid Empire(c. 550–330 BCE)หรืออาณาจักรแรกของชาวเปอร์เซียนั้นเป็นอาณาจักรในโลกใหญ่ที่สุด..
เป็นอาณาจักรในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของเอเซีย..
ครอบคลุมจากที่ราบลุ่มน้ำIndus ในทิศตะวันออก ไปจนถึงThrace(บุลกาเรีย..กรีก..ตุรกี ..ดินแดนยุโรปตะวันออกเฉียงใต้)และMacedon
เขตกรีกโบราณ ซึ่งรวมไปถึงอียิปต์ จึงสร้างถนนมากมายเพื่อใช้ในการติดต่อถึงกัน
เรียกตนเองว่าพาร์ซา ตามกำเนิดที่มาของเชื้อสายอารยันของตน "พาร์ซูอา"ซึ่งมาจากดินแดนตะวันตกของแม่น้ำTigris ในทางใต้ของอ่าวเปอร์เซีย

ในสมัยจักรพรรดิ ซีรุสมหาราชแห่งเปอร์เซีย (Cyrus II of Persia)ได้ครอบครอง Median, the Lydian, and the Babylonian Empires,เปิดทางไปสู่Egypt and Asia minorมีพื้นที่8ล้านตารางกิโลเมตร เป็นการครองสามทวีป คือ เอเซีย อัฟริกา และยุโรป
จึงมีความหลากหลายของวัฒนธรรมชนหลายเผ่าพันธุ์(ethnocultural diversity)

แม้นว่าพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander III of Macedon)ไปตีเปอร์เซียในปี 334 BCE จนพ่ายแพ้

.แต่ดินแดนหลักในเขตอิหร่าน..ที่ราบสูงอิหร่าน(Iranian Plateau)ยังคงอยู่
และภาษาอารยันที่พบบนหลุมศพ พระเจ้าดาริอุสมหาราช(Darius the Great)นั้นก็เป็น ภาษาเปอร์เซียเก่า

ที่เล่ามาเพื่อจะบอกว่า การตีดินแดนนั้นมิใช่เพียงแต่ดินแดนที่ได้มาแต่รวมไปถึงการจัดตั้งระบบทหารอาชีพ(a professional army) ..วัฒนธรรม..สังคม..เทคโนโลยีและ ศาสนา
ชาวเอเธนนำระบบด่านภาษีของเปอร์เซียไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าและแรงงานอย่างเป็นทางการ เป็นการวางระบบเศรษฐกิจ(economic systems)ในสังคมซึ่งนักมนุษยวิทยาใช้คำว่า "การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระบบหมูไปไก่มา"(a reciprocal cultural exchange)คือยังเป็นไปโดยธรรมชาติ

งานเด่นทางวิศวะกรรมคือระบบบริหารน้ำ" Qanat"( water management system)เก่าแก่ที่สุดและเส้นทางยาวที่สุด มากกว่า3000ปีและยาวมากกว่า 44ไมล์ (71 km.)

อาณาจักรเปอร์เซีย เป็นอาณาจักรแรกที่พยายามปกครองชาติพันธุ์ต่างต่าง(different ethnic groups)ด้วยหลักแห่งความรับผิดชอบร่วมกัน(principle of equal responsibilities)และสิทธิเท่ากัน(rights for all people)ตราบเท่าที่พลเมืองจ่ายภาษีและสงบ(subjects paid their taxes and kept the peace)..555

ระบบการบริหารจัดการ(system of management)เป็นลักษณะเด่นของเปอร์เซียเพราะการปกครองอาณาจักรใหญ่เช่นนี้
ต้องมีการจัดระบบและตรวจสอบ(order and control)..
ซึ่งต้องนำมาใช้ในการค้นหาแหล่งทรัพยากร..การเคลื่อนย้ายทัพ

ศาสนาZoroastrianism ของเปอร์เซีย ห้ามค้าทาส ดังนั้นจึงมีการให้อิสระภาพแก่ยิว ที่บาบิโลน..การ"จ่ายค่าแรงงาน"ให้แก่กรรมกรสร้าง กรุงแพร์เซอโพลิส(Persepolis)

การทหารเรือ(Navy)พระเจ้าดาริอุสมหาราช(Darius I)ได้จัดตั้งกองทัพเรือแห่งราชอาณาจักร"imperial navy"เป็นครั้งแรก
เรือลำแรกสร้างที่ซีดอน(Sidon)โดยชาวเฟอนิเชียน(Phoenicians)เรือยาว40เมตร กว้าง6เมตร สามารถขนส่งทหารเปอร์เซียได้300นาย ในครั้งเดียว มีฐานทัพในอ่าวเปอร์เซียจนถึงกลางศตวรรษที่19 จึงมี British East India Companyและ Royal Navy

Herodotusเขียนไว้ว่าชาวเปอร์เซียไม่มีพระเจ้า ไม่มีแท่นบูชา
มีแต่"the sun and moon, to the earth, to fire, to water, and to the winds.
เพราะฉะนั้น พระของโซโรอัสเทรียน(a Zoroastrian priest)จึงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเปอร์เซียด้วยเสรีภาพ เท่านั้น คือ ศาสนาตามกองทัพไป

Max Müller ผู้เริ่มนำ"ศาสนาเปรียบเทียบ"(discipline of comparative religion)มาใช้ในการวิจัยในศตวรรษที่ 19ได้ศึกษาProto-Indo-Iranian religion "ความเชื่อ"ของIndo-Iranian peoplesจากบันทึกของ the earliest Vedic (Indo-Aryan)และZoroastrian (Iranic) จึงเชื่อว่าความเชื่อของIndo-Iranian religionเริ่มต้นมาจากsun worshipซึ่งภาษาสันสกฤตใช้คำว่า สุริยะประภา(Suryaprabha)

ศาสนาพุทธซึ่งแรกเริ่มเป็นเพียง"เรื่องเล่า"(Myth)เมื่อเข้าไปในกรีก จึงได้รับการปรับชาวกรีกลงระบบเป็น ศาสนา(religion)

ที่ร่ายมายาวเพื่อจะเรียนให้ทราบว่า ทุกอย่างมี"รากเหง้า"มีที่มาที่ไป..จะไปตัดตอนเรียนเป็นบางส่วนมิได้...
ในเยอรมันนั้น ไม่ว่าจะเรียนวิชาใด จะขึ้นด้วยอริสโทเทเลส(Aristoteles)ก่อนทุกวิชา เป็นการ"ไหว้ครู"
แล้วจึงไล่มาว่า ศตวรรษไหน ใครคิดอะไรไว้..เพื่อจะไม่มีใครมาตั้งคำถามได้ว่า "ใครเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์"..
นักคิดนักวิจัยในทุกสาขา จะรับช่วงความคิดกันต่อต่อมาในการพัฒนาวิชาการ...


"Georg W. F. Hegel" in his work The Philosophy of History introduces the Persian Empire as the "first empire that passed away" and its people as the "first historical people" in history.

The famous American orientalist, Professor Arthur Upham Pope (1881–1969) said:[81] "The western world has a vast unpaid debt to the Persian Civilization!"


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.161.189 วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:20:05:05 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sdayoo.BlogGang.com

สดายุ...
Location :
  France

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]

บทความทั้งหมด