พระไตรปิฎกที่มีการท่องจำมีความแม่นยำเพียงไร


 
 235 พระไตรปิฎกที่มีการท่องจำมีความแม่นยำเพียงไร
 

     หลายคนอาจสงสัยว่า  เมื่อรักษาพระไตรปิฎกด้วยการทรงจำในตอนเริ่มแรก  ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป
 
     แต่เมื่อได้พิจารณาไตร่ตรอง   ก็กลับเห็นได้ชัดว่า   การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดเป็นหมู่คณะแล้วทรงจำไว้นั้นแหละ  เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเสียอีก
 
     ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร ?   เพราะว่าการท่องที่จะทรงจำพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น  ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน เช่น สวดกัน ๑๐ คน ๒๐ คน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนั่น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล่มไปเลย
 
     เพราะฉะนั้น  การที่จะสวดโดยคนจำนวนมาก ๆ ให้เป็นไปด้วยดี  ให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด  ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้ คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมาก ๆ โดยพระสงฆ์ซึ่งเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่า นี่แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น  ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย
 
      พระเถระรุ่นก่อนนั้น  ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง  แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า
 
          “อักษรตัวหนึ่งๆ  อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา  มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง"

                                                                                                 -ญาโนทยปกรณ์
 
     เพราะฉะนั้น  ถ้ามองในแง่บวก  ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี  แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อยก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก
 
     แต่มองในแง่ลบก็คือ  ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด  แม้แต่อักษรเดียว  ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง  เป็นบาปมาก
 
     เพราะฉะนั้นพระเถระรุ่นก่อน  ท่านจึงระวังมากในการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน
 
     ความมั่นใจในความบริสุทธิ์บริบูรณ์นี้ได้รับการย้ำสำทับ เมื่อปรากฏว่า พุทธพจน์เรื่องเดียวกัน ที่อยู่ในที่ต่างหมวดต่างตอน ซ้ำกัน ๔–๕ แห่ง ในความรับผิดชอบของคณะผู้ชำนาญต่างกลุ่ม โดยทั่วไปยังคงมีถ้อยคำข้อความเหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน ยืนยันกันเอง แสดงถึงความแม่นยำในการทรงจำและทวนทาน อีกทั้งพระภิกษุแม้เพียงแต่ละรูปก็สามารถทรงจำพุทธพจน์ไว้ได้มากมาย ดังมีตัวอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ที่ประเทศพม่า มีพระภิกษุหลายรูปที่ได้รับสถาปนาเป็นติปิฎกธร ซึ่งแต่ละรูปสามารถทรงจำสาธยายพระไตรปิฎกบาลีได้ครบถ้วนบริบูรณ์ นับตามจำนวนหน้าพิมพ์แบบปัจจุบันฉบับของไทยกว่า ๒๒,๐๐๐ หน้า
 
 



Create Date : 24 กันยายน 2567
Last Update : 24 กันยายน 2567 19:17:01 น.
Counter : 149 Pageviews.

0 comments
: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - คำตอบของความสุข : กะว่าก๋า
(8 ก.ค. 2568 05:01:01 น.)
อานาปาน ได้แก่ ลมใจหายใจเข้า ลมหายใจออก สมาชิกหมายเลข 6393385
(6 ก.ค. 2568 10:57:07 น.)
ร่างกาย นาฬิกาสีชมพู
(5 ก.ค. 2568 14:08:12 น.)
: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - บุกคนสำคัญ : กะว่าก๋า
(1 ก.ค. 2568 04:20:36 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด