พระไตรปิฎกเข้ากันได้กับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ![]() แม้ว่าอารยธรรมมนุษย์จะเจริญก้าวหน้ามามากมาย ผ่านเวลาหลายพันปี จนถึงบัดนี้ที่เรียกกันว่า ยุคโลกาภิวัตน์ แต่มนุษย์ก็ยังไม่พ้นหรือห่างไกลออกไปเลยจากปัญหาความทุกข์ และการเบียดเบียนบีบคั้น ตลอดจนสงคราม มนุษย์หวังจากระบบจริยธรรมของลัทธิศาสนาต่างๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ลัทธิศาสนาโดยทั่วไป จะมอบให้เพียงบทบัญญัติ หรือคำสั่งบังคับต่าง ๆ ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติตามด้วยศรัทธา ให้มนุษย์พ้นจากปัญหาในตัวและปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ไปขึ้นต่อการลงโทษและการให้รางวัลจากอำนาจที่เชื่อว่าอยู่เหนือธรรมชาติ ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาตามพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกบาลีมีลักษณะพิเศษ ที่สอนระบบจริยธรรมแห่งการพัฒนาตัวของมนุษย์เอง ให้หลุดพ้นจากปัญหาทั้งหลาย สู่ความเป็นอิสระที่แท้จริงโดยไม่ต้องไปขึ้นต่ออำนาจบงการจากภายนอก มนุษย์ยุคปัจจุบัน ได้เจริญมาถึงขั้นตอนหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดแห่งอารยธรรม และ ณ จุดนี้ อารยธรรมก็ได้นำปัญหาที่เป็นความทุกข์ครบทุกด้านมามอบให้แก่มนุษย์ กล่าวคือ ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม ที่มาบรรจบถึงความครบถ้วนด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นที่ชัดเจนว่า อารยธรรมที่เจริญมาสูงสุดอย่างนี้ สามารถมอบปัญหาที่เป็นความทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้อย่างครบถ้วน แต่ไม่สามารถนำมนุษย์ให้หลุดพ้นจากทุกข์แห่งปัญหาเหล่านั้นได้ มนุษย์จำนวนมากขึ้นๆ ได้เริ่มมองเห็นว่า พระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเป็นคำตอบสำหรับปัญหาแห่งความทุกข์ทั้งหมดนี้ของมวลมนุษย์ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นเป็นวงกลมซ้อน ๓ ชั้นดังในแผนภูมิต่อไปนี้ ทุกข์ใจ ▼ ● - ปัญหาชีวิต - ปัญหาสังคม - ปัญหาสิ่งแวดล้อม วงในที่สุดคือปัญหาชีวิต และปัญหาชีวิตที่ลึกซึ้งที่สุดคือปัญหาความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์ แม้แต่อย่างหยาบที่สุด คือความเครียด ก็เป็นปัญหาหนักยิ่งของมนุษย์ยุคปัจจุบัน พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่เรียกได้ว่าชำนาญพิเศษในการกำจัดปัญหาชีวิตขั้นสุดท้าย คือความทุกข์ในใจนี้ ถึงขั้นที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติด้วยปัญญา และกำจัดเชื้อแห่งความทุกข์ในใจให้หมดสิ้นไป ทำให้จิตใจเป็นอิสระโล่งโปร่งผ่องใส โดยไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีกเลย จากตัวเองออกมาข้างนอก ในวงกว้างออกไป คือ ปัญหาสังคม อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ผิด ซึ่งกลายเป็นความรุนแรงเบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์ ในการแก้ปัญหาระดับนี้ พระพุทธศาสนาก็ปรากฏเด่นตลอดมาในฐานะเป็นศาสนาที่เผยแพร่โดยไม่ต้องใช้คมดาบ ไม่เคยมีสงครามศาสนา และไม่มีหลักการใด ๆ ที่จะนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานหรือทำสงครามได้เลย พระพุทธศาสนามีประวัติแห่งความสงบอย่างแท้จริง สอนเมตตาที่เป็นสากล จนนักปราชญ์ยอมรับกันว่า พระพุทธศาสนาเป็นขบวนการสันตินิยมที่แท้แรกสุดของโลกพระไตรปิฎกจึงเป็นแหล่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์ผู้ปรารถนาสันติ สามารถเรียนรู้หลักการและวิธีการในการดำรงรักษาสันติภาพให้แก่โลกมนุษย์ วงนอกสุดที่ล้อมรอบตัวมนุษย์และสังคม ก็คือสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย โดยเฉพาะระบบนิเวศ ซึ่งเวลานี้ได้เกิดปัญหาร้ายแรงที่สุดซึ่งคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า เกิดจากแนวคิดผิดพลาด ที่เป็นฐานของอารยธรรมปัจจุบัน คือ ความคิดความเชื่อที่มองเห็นมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ แล้วให้มนุษย์มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ มุ่งจะเอาชนะและมีอำนาจที่จะจัดการกับธรรมชาติ เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ของมนุษย์ การที่จะแก้ปัญหานี้ได้ มนุษย์ต้องการแนวคิดใหม่มาเป็นฐาน ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ที่ให้รู้ตามเป็นจริงว่าธรรมชาติเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งปวง รวมทั้งมนุษย์ด้วย ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบที่อิงอาศัยเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน มนุษย์เป็นองค์ประกอบพิเศษในระบบความสัมพันธ์นั้น โดยเป็นส่วนที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้ เมื่อมนุษย์นั้นได้พัฒนาตนให้มีคุณสมบัติดีงาม ทั้งในด้านพฤติกรรมที่จะเป็นไปในทางเกื้อกูลกัน ในด้านจิตใจให้มีเจตจำนงในทางสร้างสรรค์ และในด้านปัญญาให้เข้าใจถูกต้องถึงระบบความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยกันว่าจะต้องให้ระบบสัมพันธ์นั้นดำเนินไปด้วยดีได้อย่างไร เมื่อมนุษย์ได้พัฒนามีคุณภาพดีแล้ว ก็จะรู้จักดำเนินชีวิตและจัดดำเนินการทั้งหลายที่จะเกื้อหนุนให้ระบบความสัมพันธ์แห่งธรรมชาติทั้งปวงนั้นเป็นไปในทางที่สมานเกื้อกูลกันยิ่งขึ้น เป็นทางนำมนุษย์ให้เข้าถึงโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน พูดสั้นๆ ว่า พระพุทธศาสนามอบให้ฐานความคิดอย่างใหม่ ที่เปลี่ยนแนวทางการพัฒนามนุษย์ จากการเป็นคู่ปรปักษ์ที่จะชิงชัยกับธรรมชาติ มาสู่ความเป็นองค์ประกอบที่เกื้อกูลต่อระบบแห่งการอยู่ร่วมกันของธรรมชาตินั้น เมื่อมองเห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนาในการที่จะแก้ปัญหาข้อใหญ่ที่สุดนี้ พระไตรปิฎกก็จะเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ของการศึกษาค้นคว้าเพื่อจุดหมายดังกล่าว ![]() ![]() ![]() - ไม่ว่าจะมองไปทางไหนใกล้ไกลเห็นชัดทั้งข้างในข้างนอก |
บทความทั้งหมด
|