หลักการอ่านคำภาษาบาลี(๒)
 
 
   ในส่วนที่เป็นคำภาษาบาลี  เช่น  คำนมัสการ  คำบูชาพระรัตนตรัย  คำถวายทาน  คำสมาทานศีล  เป็นต้น  ได้พิมพ์ด้วยสัญลักษณ์ของคำบาลีแท้เหมือนพระบาลีในคัมภีร์พระไตรปิฎก คือ มีจุดหรือพินทุ ( . ) ใต้พยัญชนะที่เป็นตัวสะกด มีนิคหิตหรืออัง  (  ํ ) บนพยัญชนะที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้น (อ อิ อุ) และจะไม่ใส่เครื่องหมายประวิสรรชนีย์ ( ะ ) หลังพยัญชนะที่ไม่มีตัวสะกดและประกอบด้วยสระ อะ ตัวอย่าง เช่น อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ การพิมพ์แบบนี้เรียกว่า ภาษาบาลีแท้  แต่ถ้าพิมพ์อย่างที่นิยมพิมพ์กันเพื่อมุ่งให้คนทั่วไปอ่านง่าย ก็จะเป็น อะระหัง สัมมาสัมพุทฺโธ แบบนี้ เรียกว่า คำบาลีไทย ทั้งนี้ เพราะคำนึงถึงหลักความจริงที่ว่าพุทธศาสนิกชนควรอ่านคำภาษาบาลีได้ เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาบันทึกจารึกหลักพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าไว้   ภาษาบาลีคือภาษาพระพุทธศาสนา  เมื่อนับถือพระพุทธศาสนา  ต้องพยายามสนใจอ่านให้ได้บ้างตามสมควร   ดังจะได้แนะนำหลักการอ่านภาษาบาลีเป็นเบื้องต้นต่อไปนี้

 
 
(น.156)


170หลักการอ่านคำภาษาบาลีแท้

    ความจริงแล้ว การอ่านคำบาลีแท้นั้น หากพุทธศาสนิกชนตั้งใจหรือสนใจสัทธาจะอ่านให้ได้จริงๆ นั้นง่ายนิดเดียว เพราะภาษาบาลีนั้นไม่มีอักษรเขียนเป็นการเฉพาะของตนเองเหมือนภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยของเรา  มีแต่เสียงสำหรับสื่อให้รู้ความหมายเท่านั้น เมื่อคนชาติใดนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  ซึ่งจารึกบันทึกพุทธธรรมด้วยภาษาบาลี ก็จะใช้อักษรของคนชาตินั้นเป็นอักษรตัวเขียนของภาษาบาลี เช่น ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกของประเทศไทยเรา ก็ใช้อักษรไทยเป็นตัวเขียน เรียกว่า บาลีอักษรไทย ดังนั้น จึงเป็นการง่ายที่จะอ่านคำบาลีแท้ แม้ว่าจะไม่ได้เรียน เพราะเราคุ้นเคยกับอักษรไทยกันดีอยู่แล้วนั่นเอง


    การอ่านคำบาลีแท้นั้น มีหลักสำหรับการอ่านอยู่ ๒ ประการ คือ

    ๑) การอ่านพยัญชนะที่มีจุด ( . ) อยู่ใต้ มีหลักว่า พยัญชนะตัวนั้นทำหน้าที่เป็นตัวสะกด โดยถ้าสะกดพยัญชนะที่ผสมด้วยสระ อะ ซึ่งไม่ปรากฏรูป เช่น คำว่า อคฺโค สจฺจํ กมฺมํ จุดใต้ ค, จ, และ ม นั้น มีค่าเท่ากับเครื่องหมายไม้หันอากาศหรือไม้ผัด (  ั ) พยัญชนะที่มีจุด กำกับนั้นมีค่าเท่ากับตัวสะกด ก็จะอ่านออกเสียงว่า อัคโค สัจจัง กัมมัง
ถ้าสะกดพยัญชนะที่นอกจากสระ อะ คือ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ซึ่งปรากฏรูปอยู่ เช่น คำว่า เวทนากฺขนฺโธ จิตฺตํ สุกฺกํ อุเปกฺขโก  จุดนั้น   ไม่มีค่าอะไร   เพียงแต่เป็นเครื่องหมายกำหนดพยัญชนะตัวนั้นให้ทำหน้าที่เป็นตัวสะกด   ก็จะอ่านออกเสียงไปตามรูปสระที่ปรากฏ คือ อ่านว่า เวทะนากขันโธ จิตตัง สุกกัง อุเปกขะโก

    ๒) การอ่านพยัญชนะ หรือ สระที่มีนิคคหิต (  ํ ) อยู่บน   มีหลักว่า พยัญชนะ คือ อัง  (  ํ ) หรือนิคคหิตนี้ จะปรากฏอยู่บนร่วมกับสระเสียงสั้น ๓ ตัว คือ อ อิ อุ เสมอ เมื่อปรากฏอยู่บนสระ อะ เช่น เอวรูปํ จิตฺตํ กมฺมํ ให้แทนค่าเป็น   ัง คือ ไม้หันอากาศตามด้วย ง สะกด อยู่ร่วมกับพยัญชนะตัวใด ก็ออกเสียงไปตามพยัญชนะตัวนั้น เช่น ในตัวอย่างนี้ ก็จะอ่านว่า เอวะรูปัง จิตตัง กัมมัง เมื่อปรากฏอยู่บนสระ อิ เช่นคำว่า กึ อหึ สุคตึ ให้แทนค่าเป็น   ิง คือสระ อิ ตามด้วย ง สะกด ก็จะอ่านได้ว่า กิง อะหิง สุคะติง และพึงตระหนักว่าไม่ใช่สระ อึ จึงไม่ควรอ่านออกเสียงเป็นสระ อึ ว่า กึ อะหึ สุคะตึ เป็นอันขาดอาจทำให้เสียภูมิรู้   เมื่อปรากฏอยู่บนสระ อุ เช่น คำว่า กาตํุ เสตํุ ให้แทนค่าเป็น   ุง  คือ สระ อุ ตามด้วย ง สะกด ก็จะอ่านได้ว่า กาตุง เสตุง ดังนี้  เป็นต้น

   นอกจากนี้  ยังมีหลักการอ่านพยัญชนะอวรรค (พยัญชนะอิสระที่ไม่จัดเข้าวรรค) อีก ๗ ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ ซึ่งพยัญชนะเหล่านี้ ท่านจัดเป็นอัฑฒสระ คือ ออกเสียงได้เล็กน้อย ออกเสียงได้ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องอ่านให้เร็ว แม้จะเป็นตัวสะกด หรือใช้ร่วมกับพยัญชนะวรรคอื่นๆ เช่น คำว่า ตสฺมา กตฺวา ก็จะอ่านว่า ตัด สะ มา โดยพยัญชนะ ส เป็นได้ทั้งตัวสะกด และยังออกเสียงว่า สะ ซึ่งต้องอ่านออกเสียงเร็ว กตฺวา อ่านว่า กัด ตะ วา คำว่า ตะ ต้องว่าออกเสียงเร็ว ดังนี้ เป็นต้น


    ตัวอย่างคำบาลีแท้: คำถวายผ้ากฐิน

    อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย.

    คำอ่าน (บาลีไทย):

    อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อตฺถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.
 





Create Date : 05 กรกฎาคม 2565
Last Update : 5 กรกฎาคม 2565 20:55:17 น.
Counter : 372 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 32 : กะว่าก๋า
(10 เม.ย. 2567 06:04:44 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]