การสังคายนาคืออะไร


 



                สังคายนา:  การซักซ้อมทบทวนพุทธพจน์


235 การสังคายนา คือ อะไร

     ในเมื่อการดำรงรักษาพระพุทธพจน์เป็นสาระของการดำรงรักษาพระพุทธศาสนาอย่างนี้  จึงถือเป็นความจำเป็นและสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา  ที่จะดำรงรักษาพระพุทธพจน์ 
 
     ดังนั้น   ความพยายามรักษาพระพุทธพจน์จึงมีตลอดมา   ตั้งแต่พุทธกาล คือ ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ 
 
     ตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว   นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง  สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน  ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว  สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร
 
     ครั้งนั้น  ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้ เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน
 
     เวลานั้น  พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่   คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเช่นนั้นเกิดขึ้น  เพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้  เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้   ควรจะได้ทำการสังคายนา  คือ  รวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของ   พระองค์ไว้ให้เป็นหลัก  เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน
 
     เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง  เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า  ซึ่งมีพระสงฆ์ประชุมเฝ้าพร้อมอยู่  โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ  มาแสดงตามลำดับหมวด  ตั้งแต่หมวดหนึ่ง  ไปจนถึงหมวดสิบ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว  พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ  หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่า สังคีติสูตร แปลง่ายๆ ว่า  “พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือ สังคีติ”   มีมาในพระสุตตันตปิฎก  ทีฆนิกาย
 
     วิธีรักษาพระพุทธพจน์ ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แล้วจัดหมวดหมู่ให้กำหนดจดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว  แล้วสวดสาธยายพร้อมกันแสดงความยอมรับเป็นแบบแผนเพื่อทรงจำสืบต่อกันมา   วิธีการนี้เรียกว่า   สังคายนา  หรือ สังคีติ  ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า  การสวดพร้อมกัน   (จาก สํ  “พร้อมกัน” + คายน  หรือคีติ  “การสวด”)
 
     คำว่า  สังคายนา  เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษมีใช้หลายคำ คือ rehearsal บ้าง communal recital บ้าง และ communal recitation บ้าง  บางทีก็ไปเทียบกับแนวคิดแบบตะวันตก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  มักเรียกการสังคายนาเป็น Buddhist Council  ในทางกลับกัน  คำว่า council  (เช่น Vatican Council ในศาสนาคริสต์)  เราก็แปลว่า  สังคายนา  ความหมายของทั้งสองคำนี้เทียบกันได้ในบางแง่  แต่ที่จริงไม่เหมือนกันเลย
 
     การประชุม Council  ของศาสนาคริสต์  เป็นการมาตกลงกันในเรื่องข้อขัดแย้งด้านหลักคำสอน และแม้กระทั้งกำหนดหลักความเชื่อและวางนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาของเขา  แต่การสังคายนาในพระพุทธศาสนา  เป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อน หรือตัดแต่งต่อเติมตามใจชอบ  เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน  ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม
 
 



Create Date : 23 กันยายน 2567
Last Update : 23 กันยายน 2567 12:11:11 น.
Counter : 179 Pageviews.

0 comments
มันจบแล้ว สมาชิกหมายเลข 7881572
(3 เม.ย. 2568 19:16:47 น.)
: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - วาทะจอมยุทธ์ สุดยอดสุภาษิตจีน : กะว่าก๋า
(8 เม.ย. 2568 04:51:00 น.)
ธรรมะวันนี้ ๕ เม.ย. ๒๕๖๘ **mp5**
(5 เม.ย. 2568 05:12:40 น.)
บูชาสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)ฉันเพล ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นายแว่นขยันเที่ยว
(31 มี.ค. 2568 01:34:16 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด