แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ท้ายพระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา



สอบศักราช

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสวยราชสมบัติเมื่อ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๑๘ พ.ศ. ๒๐๙๙ ครองราชสมบัติอยู่ ๒๒ ปี สวรรคตเมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๔๐ พ.ศ. ๒๑๒๑

ฉบับหลวงประเสริฐ (ต้องกับจดหมายเหตุของโหร) ว่าเสวยราชย์เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ (ช้ากว่า ๑๓ ปี) ครองราชสมบัติอยู่ ๒๑ ปี สวรรคตเมื่อ ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ (ช้ากว่า ๑๒ ปี)


ประวัติของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนี้ คำนวณตามศักราชในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ได้ความว่าสมภพเมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๗๗ พ.ศ. ๒๐๕๘ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หนังสือพระราชพงศาวดารว่า ฝ่ายพระบิดาเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง พระมารดาเป็นพระญาติ (ฝ่ายชนนี) สมเด็จพระไชยราชาธิราช บางทีจะเป็นชาวเมืองพิษณุโลก แต่คงจะได้รับราชการในพระองค์สมเด็จพระไชยราชาธิราชแต่ก่อนมา จึงได้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจรักษาพระองค์อยู่ใกล้ชิด

เมื่อเป็นพระมหาธรรมราชาไปครองเมืองพิษณุโลก พระชันษา ๓๓ ปี ได้พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นพระมเหสี ปรากฏว่ามีราชโอรสราชธิดา ๓ องค์ คือที่ ๑ พระสุวรรณเทวี น่าเชื่อตามพงศาวดารพม่าว่ามีและที่ว่าถวายพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองไป ที่ ๒ สมเด็จพระนเรศวร ที่ ๓ สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ๒๑ ปี จึงได้ราชสมบัติพระชันษา ๕๔ ปี


ทางไมตรีในระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหงสาวดี

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นต้องเป็นเมืองประเทศราชขึ้นหงสาวดีอยู่หลายปี (ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า ๘ ปี แต่ฉบับหลวงประเสริฐว่า ๑๕ ปี) ในระหว่างนั้น พระเจ้าหงสาวดีตั้งขุนนางมาอยู่กำกับ ทั้งที่กรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองข้างเหนือ กฎหมายอย่างธรรมเนียมต้องใช้ตามแบบแผนของหงสาวดีโดยมาก วิธีใช้จุลศักราช บางทีจะได้เอาเข้ามาใช้ในราชการเมืองไทยในครั้งนั้นเป็นปฐม หนังสือและจารึกก่อนนั้น เห็นใช้แต่มหาศักราช ข้อนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ มีความประกอบกันว่าเมื่อปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๙๔๓ "มีหนังสือมาแต่เมืองหงสาว่า ปีมะเส็งตรีนิศกนี้ (หา) อธิกมาสมิได้ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานี้มีอธิกามาศ" ดังนี้ แบบแผนของขนบธรรมเนียมที่ได้มาจากเมืองหงสาวดีในครั้งนั้น ครั้นเมื่อเมืองไทยได้อิสรภาพกลับคืน สิ่งใดที่จำใจใช้ก็เลิกเสีย คงใช้อยู่แต่ที่ชอบใจ จึงมียั่งยืนสืบมาแต่บางอย่าง


ศึกละแวก

กรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ราชสมบัติ เป็นเวลากำลังยับเยินป่นปี้ ทรัพย์สมบัติ ผู้คนและปืนผาอาวุธถูกพระเจ้าหงสาวดีเก็บริบไปเสียหมด ผู้คนที่ยังเหลืออยู่ก็แตกฉานซ่านเซ็น เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่าเสียเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชยังไม่ทันที่จะรวบรวมกำลังได้ก็เกิดศึกละแวก

เรื่องศึกละแวกในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พงศาวดารเขมรกล่าวย่อมากได้ความว่า พระยาละแวกจันทราชาผู้ที่รบกับพระยาโองเมืองสวรรคโลก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น ทิวงคตเมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๒๘ พ.ศ. ๒๑๐๓ ราชโอรสทรงนามพระบรมราชา ได้ทรงราชย์สืบพระวงศ์อยู่ที่เมืองละแวก พระบรมราชาองค์นี้มีราชโอรสเกิดด้วยมเหสีองค์ ๑ ชื่อนักพระสัฏฐา มีราชบุตรกับนักสนมต่างมารดากัน ๒ องค์ ชื่อพระศรีสุพรรณ (เรียกในพระราชพงศาวดารว่า พระศรีสุพรรณมาธิราช) องค์ ๑ ชื่อพระยาอ่อนองค์ ๑

พงศาวดารเขมรว่า เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๙๓๒ พ.ศ. ๒๑๑๓ พระบรมราชาได้ให้มาตีเมืองนครราชสีมา ได้เชลยไทยไปมากครั้ง ๑ พระบรมราชาทรงราชย์อยู่ ๑๑ ปี ทิวงคตเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๓๘ พ.ศ. ๒๑๑๙ นักพระสัฏฐาได้ทรงราชย์สืบพระวงศ์ และว่าเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๙๒๔ พ.ศ. ๒๑๒๓ พระยาละแวก (นักพระสัฏฐา) เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ได้เชลยไปเป็นอันมากอีกครั้ง ๑ ได้ความตามพงศาวดารเขมรในตอนนี้เพียงเท่านี้ แต่พอยุติได้ว่าพระยาละแวกที่เข้ามารบกวนในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้น ๒ องค์ คือ นักพระบรมราชาองค์ ๑ นักพระสัฏฐาเป็นผู้ที่ได้ทำไมตรีกันคราว ๑ และนักพระสัฏฐานั่นเองที่กลับเป็นศัตรู แล้วถูกสมเด็จพระนเรศวรให้ประหารชีวิตเป็นทำพิธีปฐมกรรม

เนื้อเรื่องศึกพระละแวกเป็นดังนี้ คือ ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างศรีอยุธยามา พระเจ้ากรุงกัมพูชายังไม่เคยยกเข้ามาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาเลย ด้วยเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาเกือบตลอดมา บางคราวเมื่อคิดร้ายเป็นข้าศึกอย่างจะทำร้าย ก็เสมอมาลักกวาดเอาคนตามหัวเมือง พึ่งทะนงองอาจยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนักพระบรมราชาเป็นครั้งแรก (ศักราชว่าตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๙๓๒ พ.ศ. ๒๑๑๓ โดยจะได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยายับเยินเต็มที ซึ่งเป็นความจริงด้วย ทัพเขมรยกเข้ามาเพียง ๓๐,๐๐๐ กรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีกำลังพอที่จะมั่นใจว่าจะต่อสู้ได้ในเวลานั้น ถึงปรึกษากันว่าจะหนีขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ก็ได้ข่าวว่ามีผู้ร้ายไทยกันเอง เจ้าเมืองพิณษุโลกคนเก่าคอยจะปล้นอยู่กลางทาง จึงจำต้องรั้งรอต่อสู่ข้าศึกอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ลงปลายได้แต่กวาดครัวตามหัวเมืองกลับไปตามเคย

ต่อนั้นเว้นมา ๕ ปี ถึงปีกุน จุลศักราช ๙๓๗ พ.ศ. ๒๑๑๘ พระยาละแวกนักพระบรมราชายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ๑ คราวนี้คงจะได้ข่าวว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เข้าใจว่าจะไม่มีกำลังรักษาพระนคร จึงยกทัพเรือจู่ขึ้นมาถึงวัดพนัญเชิง บังเอิญสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้เสด็จกลับพระนครก่อนกำหนด มาถึงทันสู้ทัพเขมร เขมรก็ต้องถอยทัพไปกวาดคนหัวเมืองตามชายทะเลกลับไปตามเคยอีก

กลับไปคราวนั้นนักพระบรมราชทิวงคต นักพระสัฏฐาได้ทรงราชย์ ไม่กล้าเข้ามาตีพระนครอีก ที่นี้ยกไปตีเมืองเพชรบุรี ซึ่งเห็นจะได้ข่าวว่าทรัพย์สมบัติยังมีมากอยู่ คราวแรกให้ขุนนางมาตีไม่ได้เมื่อ คราวที่ ๒ นักพระสัฏฐายกมาเอง (ฉบับหลวงประเสริฐว่า) ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ กรุงศรีอยุธยาส่งเมืองยศสุนทร เมืองเทพราชธานีออกไปช่วยรักษาเมือง ไปเกิดแตกสามัคคีกันขึ้น จึงเสียเมืองเพชรบุรีแก่พระยาละแวก พระยาละแวกเลยกำเริบ รุ่งปีขึ้นให้กองทัพยกเข้ามาทางหัวเมืองตะวันออก (เข้าใจว่าทางเมืองนครราชสีมา) คราวนี้ประจวบเวลาสมเด็จพระนเรศวรแรกจะทรงบัญชาการศึก ถูกสมเด็จพระนเรศวรแต่กองทัพหัวเมืองตีแตกไป ตั้งแต่นั้นเขมรก็เข็ดไปนาน


เรื่องบำรุงกำลังกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาผ่านพิภพนั้น พวกไทยเมืองเหนือเพราะมาช่วยในกองทัพพระเจ้าหงสาวดี คงจะไม่ถูกกวาดเอาไปเป็นเชลย แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาในชั้นแรก เพราะพระเจ้าหงสาวดีออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เดินทัพทางเมืองพิษณุโลก คงจะเกณฑ์เอากองทัพไทยหัวเมืองเหนือไปด้วยหมด อย่างดีก็จะแบ่งพวกเมืองพิษณุโลก ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเคยใช้สอยให้ไว้บ้าง

ครอบครัวราษฎรที่ในพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าหงสาวดีเหลือไว้ให้ ๑๐,๐๐๐ คนทั้งชายหญิงนั้น จะเอาเป็นชายฉกรรจ์สัก ๓๐๐ ก็เห็นจะไม่ใคร่ได้ ยังถูกพระยาละแวกเข้ามาเที่ยวกวาดต้อนผู้คนไปเสียอีกด้วย ในชั้นแรกได้แต่กำลังไพร่พลพม่ามอญ ที่พระเจ้าหงสาวดีให้เมืองนครพรหมคุมอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ๓,๐๐๐ เป็นกำลัง จะมีไพร่พลรักษากรุงศรีเบ็ดเสร็จไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ คน เพราะฉะนั้นเมื่อพระยาละแวกยกมาครั้งแรก จึงถึงต้องปรึกษากันว่าจะหนี ครั้นเมื่อกองทัพหัวเมืองเหนือกลับจากช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงสัตนาคนหุต ผู้คนทางหัวเมืองเหนือมากขึ้น ต้องการควบคุมและปกครองมิให้เป็นจลาจล สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จึงให้สมเด็จพระนเรศวรราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อปีมะแม จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๙๓๓ พ.ศ. ๒๑๑๔ ตามประเพณีซึ่งเคยมีมาแต่โบราณ

การสะสมกำลังกรุงศรีอยุธยา คงจะได้จัดต่อกันมาโดยเต็มกำลัง กรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ทะเล และเป็นที่ประชุมการค้าขายอยู่แล้ว การจะหาปืนผาอาวุธจะไม่สู้ยากนัก ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า เมื่อราวปีจอ จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๙๓๖ พ.ศ. ๒๑๑๗ ให้ขุดคูเมืองด้านตัวนออก ซึ่งเรียกว่าขื่อหน้า ให้กว้างลึกตั้งแต่วัดแม่นางปลื้มลงมาจนบางกะจะ และขยายแนวกำแพงเมืองด้านตะวันออกลงมาตั้งถึงริมน้ำ การที่ทำนี้ต้องใช้คนมากจึงทำได้ จึงทำให้เห็นว่า กำลังกรุงศรีอยุธยาจะเจริญขึ้นในไม่สู้ช้านัก แต่ถึงอย่างไรเชื่อได้ว่า ในครั้งนั้น และตลอดลงมาจนเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรทำศึกสงครามกับพระเจ้าหงสาวดี กำลังไทยทุกๆอย่างยังน้อยกว่าที่มีเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นอันมากเป็นแน่ ที่ไทยกลับตั้งตัวเป็นอิสระได้ ด้วยมีแม่ทัพดีเท่านั้น

ทางหัวเหมือเหนือ ถึงจะไม่ถูกพระเจ้าหงสาวดีกวาดต้อนผู้คน แต่เพียงถูกเกณฑ์เข้ากองทัพไปด้วย ๒ คราว และถูกเก็บเสบียงอาหารเรือแพมาใช้เสีย ก็จะป่นปี้มากอยู่ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองเมืองพิษณุโลก ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระชันษาได้ ๑๖ ปี สมเด็จพระนเรศวรคงจะได้เคยไปทัพกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมาแต่ก่อนแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจะได้เคยเข้าสู่ที่รบพุ่ง มาปรากฏคราวแรกเมื่อลงไปไล่พระยาจีนจันตุขุนนางกรุงกัมพูชา ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยา พอได้ข่าวว่าพระยาจีนจันตุหนีก็เรียกพวกพิษณุโลกที่ตามเสด็จมาด้วยออกติดตามโดยลำพัง เอาพระองค์ออกหน้าเข้าต่อสู้ข้าศึกเอง จนพระแสงทรงถูกปืนข้าศึก

อีกครั้ง ๑ เมื่อพระยาละแวกแต่งให้พระทศราชา พระสุรินทราชา ยกกองทัพ ๕,๐๐๐ เข้ามากวาดครัวทางเมืองนครราชสีมา ประจวบเวลาสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยาอีก พอทรงทราบข่าวก็เรียกพวกล้อมวังได้ ๓๐๐ รีบยกไป ให้เจ้าเมืองชัยบุรี (เห็นจะเป็นไชยบาดาล) เป็นกองหน้าไปสมทบพระถมอรัตน เจ้าเมืองท่าโรง (ซึ่งยกเป็นเมืองวิเชียร ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์) ยกคนไปไม่เกิน ๑,๐๐๐ ใช้อุบายซุ่มพล ล่อกองทัพเขมรให้หลงเข้าในที่ซุ่ม แล้วตีพวกเขมรแตกไปทั้งผู้คนมากๆ

พิเคราะห์ดูเรื่องที่รบ ๒ คราวนี้ ทำให้เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรชอบพระทัยในการรบพุ่ง มีพระสติปัญญากล้าหาญในการสงครามมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เหมือนเทพเจ้าให้บังเกิดมาสำหรับที่จะกู้เมืองไทยให้คืนคงเป็นอิสรภาพ เมื่อเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรทรงพระเจริญพอที่จะรู้สึกเจ็บแค้นข้าศึกอยู่แล้ว เห็นว่าไม่ใช่แต่จะไปรวบรวมพลอย่างเดียว คงจะเลือกคัดผู้คนมาฝึกหัดใช้ชิดร่วมพระทัยไว้มาก คนชุดนี้ที่ได้มาเป็นแม่ทัพนายกองเมื่อภายหลัง โดยทรงพระราชดำริเห็นมาแต่แรก ว่าวิธีรบพุ่งต่อไปจะต้องใช้ความกล้าหาญและกลอุบายในกระบวนรบ เอากำลังคนน้อยสู้คนมาก ไทยจึงจะเอาชัยชนะได้ ข้อนี้มีพยานเห็นได้ตั้งแต่รบเขมรเป็นทีแรก และในการศึกของสมเด็จพระนเรศวรตลอดมาว่า สมเด็จพระนเรศวรได้เปลี่ยนวิธีรบพุ่งของไทย ดังจะปรากฏในเรื่องราวต่อไปข้างหน้า


เรื่องสร้างวังจันทรเกษมที่กรุงเก่า

ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระนเรศวรลงมาประทับอยู่วังใหม่ ที่เรียกว่าวังใหม่นี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ตรวจสอบเชื่อว่า คือวังจันทรเกษมนี้เอง เป็นของสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างขึ้นสำหรับประทับเวลาเสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา บางทีคนจะเรียกว่า วังหน้า มาแต่แรก เพราะอยู่ทิศข้างหน้าพระราชวังหลวง วังที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเรียกว่าวังจ้นทร์ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เมื่อรวมคนหัวเมืองเหนือลงมาไว้กรุงศรีอยุธยาคราวทำศึกหงสาวดี พวกเมืองเหนือจะเอาชื่อวังเก่ามาใช้เรียกวังใหม่ที่สร้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาว่า วังจันทร์ จึงเลยมีชื่อว่า วังจันทร์ แต่คำว่า เกษม ข้างท้าย ยังไม่ทราบว่ามาแต่ไหน

วังจันทรเกษมพึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา แต่บางคราวเช่นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับอยู่ที่วังจันทรเกษม ไม่ไปอยู่พระราชวังหลวงก็มี วังจันทรเกษมนี้ตั้งแต่เสียกรุงแก่พม่าร้างอยู่ช้านาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับในเวลาเสด็จกรุงเก่า จึงซ่อมแซมรักษามาจนบัดนี้


เรื่องช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุต

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต กำหนดให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปด้วย ไปถึงหนองบัว (คือหนองบัวลำภู ที่ยกเป็นเมืองกมุทาสัยคราวหนึ่ง) สมเด็จพระนเรศวรประชวรทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีจึงอนุญาตให้กลับคืนมา เรื่องนี้ในฉบับหลวงประเสริฐกล่าวแต่ว่า ปีจอ จุลศักราช ๙๓๖ พ.ศ. ๒๑๑๗ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอประชวรทรพิษ เท่านี้ แต่ควรเชื่อว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับสมเด็จพระนเรศวรได้ยกขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อปีจอฉศก พ.ศ. ๒๑๑๗ จริง

เรื่องหงสาวดีตีกรุงศรีสัตนาคนหุตในตอนนี้มีหลายคราว ได้ความตามพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ขัดเคืองพระไชยเชษฐาที่มาช่วยไทย จึงยกกองทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อ ณ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ ขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ไปจัดกองทัพแยกเป็น ๒ กอง ให้พระมหาอุปราชา พระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ ยกไปตีหัวเมืองขึ้นกรุงศรีสัตนาคนหุตข้างใต้ขึ้นไป ๑ พระเจ้าตองอู เจ้าเมืองสารวดีเป็นทัพหน้า พระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหลวง ยกขึ้นทางด่านสมอสอไปเมืองเวียงจันทน์กอง ๑

เมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีถึงเมืองเวียงจันทน์ พระไชยเชษฐาสู้อยู่หน่อยหยึ่ง เมื่อเห็นว่าเหลือกำลังก็พากองทัพหนีเข้าป่าตามเคย พระเจ้าหงสาวดีเที่ยวติดตามพระไชยเชษฐาอยู่จนสิ้นฤดูแล้งก็ไม่พบพระไชยเชษฐา กองทัพหงสาวดีขัดเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยากล้มตายลงเป็นอันมาก พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องเลิกทัพกลับ คราวนี้กองทัพไทยไปช่วยแต่กองทัพหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระนเรศวรหาได้เสด็จไม่

ต่อมาพงศาวดารพม่ากับพงศาวดารล้านช้างและพงศาวดารเขมรกล่าวต้องกันว่า เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๙๓๓ พ.ศ. ๒๑๑๔ พระไชยเชษฐายกกองทัพลงไปตีเมืองเขมร ไปแพ้ศึกสูญไปในสงคราม พงศาวดารล้านช้างว่า พระเจ้าไชยเชษฐามีราชโอรสองค์ ๑ ทรงนามว่าพระหน่อแก้ว เมื่อพระไชยเชษฐาสูญไป จึงเสนาบดี ๒ คน ชื่อ พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้ากับพระยาจันทสีหราช ชิงกันจะเป็นผู้ปกครองพระหน่อแก้ว เกิดรบกันขึ้น พระยาจันทสีหราชเสียทีตายในทีรบ เมื่อพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าเห็นไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว ก็เลยราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อ(พระหน่อแก้ว- กัมม์)อายุได้ ๑๐ ปี มีนามพระสุมังคลโพธิสัตว์อัยการาชา (พิเคราะห์ตามชื่อทำนองจะตั้งตัวเป็นพระเจ้าตารักษาราชสมบัติไว้ให้พระหน่อแก้ว) คนทั้งหลายเรียกว่า พระกัยกา(ธิ)ราช

เรื่องต่อไปนี้ ในพงศาวดารล้านช้างไม่ชัดเจนเหมือนพงศาวดารพม่า พงศาวดารพม่าว่า พอพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ทราบว่า พระไชยเชษฐาทิวงคต ราชสมบัติได้แก่พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้า ก็คิดจะยกกองทัพมาชิงราชสมบัติให้แก่เจ้าอุปราชล้านช้าง ซึ่งจับเอาไปเลี้ยงไว้ที่เมืองหงสาวดี แต่เมื่อปรึกษาข้าราชการ เห็นพร้อมกันว่าควรจะว่ากล่าวโดยดีก่อน จึงแต่งอำมาตย์ ๒ คนให้ถือศุภอักษรมายังเมืองล้านช้าง ว่าราชสมบัติควรจะได้แก่เจ้าอุปราช ให้พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าถวายราชสมบัติแก่เจ้าอุปราชโดยดี จึงจะพ้นความผิด พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าขัดเคืองขับไล่ราชทูตเสีย พระเจ้าหงสาวดีทรงพิโรธ จะยกกองทัพหลวงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต พวกเสนาขเราชการเห็นว่าไพร่พลจะบอบช้ำนัก พระยาทะละอัครมหาเสนาบดีจึงรับอาสาคุมกองทัพเมืองหงสาวดียกเข้ามาหวังจะกล่าวโดยดีให้ได้ดังพระราชประสงค์ของพระเจ้าหงสาวดี และสั่งให้เมืองเชียงใหกม่จัดกองทัพไปสมทบกอง ๑ ให้กรุงศรีอยุธยาจัดกองทัพหัวเมืองเหนือไปสมทบด้วยกอง ๑

แต่พระยาทะละเชื่อว่าจะทำการได้ตลอดโดยลำพัง ไม่รอกองทัพเมืองเชียงใหม่และเมืองพิษณุโลกให้ไปถึงพร้อมกัน ยกตรงไปตั้งที่เมืองปลายแดนของกรุงศรีสัตนาคนหุตเมือง ๑ พม่าเรียกว่า สองเรต (แปลไม่ออกว่าเมืองไหน) แล้วแต่งทูตไปว่ากล่าวพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้า พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าทำกลอุบายโต้ตอบโยเย ถ่วงเวลาเสียจนเห็นว่าเสบียงอาหารพระยาทะละเบาบาง แล้วก็ขับไล่ทูตเสียอีก พระยาทะละจะยกไปรบก็ขัดเสบียงอาหาร กองทัพพิษณุโลกและเชียงใหม่ก็ยังไม่ขึ้นไป จึงจำเป็นต้องถอยกองทัพกลับลงมาทางเมืองพิษณุโลก ความทั้งนี้ทราบถึงพระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระพิโรธ ให้ข้าหลวงมาถอดพระยาทะละเสียจากแม่ทัพ ขับไปแต่กับบ่าว ๕ คน ส่วนนายกองเอาตัวจำออกไปเมืองหงสาวดีหมด พงศาวดารพม่าว่า พระยาทะละลงมาอาศัยอยู่เมืองชัยนาท ภายหลังสมเด็จพระมหาธรรมราชาสงสารให้รับขึ้นไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชร ไปอยู่ได้สักเดือน ๑ พระยาทะละก็ถึงแก่กรรมที่เมืองกำแพงเพชรนั้น


ต่อมาอีก ๒ ปี พงศาวดารพม่าว่าเมื่อปลายปีจอ จุลศักราช ๙๖๓ พ.ศ. ๒๑๑๗ พระเจ้าหงสาวดีเสด็จยกกองทัพหลวงไปกรุงศรีสัตนาคนหุตเอง กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกไปครั้งนั้นจัดเป็น ๔ ทัพ คือ พระเจ้าตองอูทัพ ๑ พระเจ้าแปรทัพ ๑ ไพร่พลล้วนชาวหงสาวดี แต่กองทัพพระมหาอุปราชนั้น ไพร่พลชาวหงสาวดีกับกรุงศรีอยุธยาและเมืองเชียงใหม่สมทบกัน พระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหลวง ยกจากเมืองหงสาวดีเมื่อ ณ วันพุธ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน จุลศักราช ๙๓๗ พ.ศ. ๒๑๑๘ (ฉบับหลวงประเสริฐว่า ปีจอฉศก พ.ศ. ๒๑๑๗) ตรงไปยังเมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง)

พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้า รู้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดียกไปก็ทิ้งเมืองพากองทัพเข้าซ่อนอยู่ในป่าตามเคย พระเจ้าหงสาวดีไปถึงได้แต่เปลือกเมืองเปล่าทั้งเมืองล้านช้างและเมืองเวียงจันทน์ คราวนี้พระเจ้าหงสาวดีเข็ด ไม่เที่ยวติดตามกองทัพศรีสัตนาคนหุตอย่างคราวก่อน ให้เจ้าอุปราชล้านช้างลงมาอยู่เมืองเวียงจันทน์ และจัดกองทัพลงมารักษาเมืองให้สร้างป้อมคูมั่นคง และสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นอันมาก ส่วนพระเจ้าหงสาวดีเองพักอยู่ที่เมืองล้านช้าง ให้ทำหมายประกาศปิดป่าวแก่ราษฎร ว่าพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาเพื่อจะกำจัดพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าเอาราชสมบัติให้แก่อุปราช ซึ่งเป็นผู้ควรจะได้รับราชสมบัติของพระไชยเชษฐา ถ้าผู้ใดมาเข้าด้วยเจ้าอุปราชโดยดีจะไม่เอาโทษ ถ้าผู้ใดต่อสู้หรือหลบเลี่ยงไม่เข้ามา จะแต่งกองทัพไปเที่ยวจับตัวให้จงได้ พวกท้าวพระยาและราษฎรที่เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่าไม่ใคร่มีผู้ใดนับถือพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าอยู่แล้ว เมื่อได้ทราบประกาศก็พากันมาเข้ากับเจ้าอุปราชเป็นอันมาก ที่กองทัพหงสาวดีจับได้ก็มี พระเจ้าหงสาวดีอยู่ที่เมืองล้านช้างจนสิ้นฤดูฝนจึงลงมาเมืองเวียงจันทน์ อภิเษกเจ้าอุปราชเป็นพระเจ้าประเทศราชครองกรุงศรีสัตนาคนหุตขึ้นหงสาวดี และให้กองทัพเมืองเชียงใหม่อยู่ช่วยรักษาเมือง ในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีกลับจากเมืองเวียงจันทน์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด จุลศักราช ๙๓๘ พ.ศ. ๒๑๑๙ เดินทางเชียงใหม่ถึงหงสาวดีแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘

ที่พระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีเมืองล้านช้าง คือ ไปในคราวนี้เอง แต่เมื่อไปถึงหนองบัวลำภู สมเด็จพระนเรศวรประชวรทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีจึงอนุญาตให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพาสมเด็จพระนเรศวรกลับคืน กองทัพไทยที่ขึ้นไปก็เห็นจะกลับด้วย เพราะพระเจ้าหงสาวดียกไปคราวนี้ไม่ต้องรบพุ่งอย่างใด

ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อมาในเรื่องเมืองล้านช้างว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพกลับแล้ว ทางโน้นพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้ายกมาตีเมืองเวียงจันทน์ แต่ไพร่พลระส่ำระสายไม่เป็นใจด้วย พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคิดกลอุบาย จับตัวได้ทั้งพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าและพระหน่อแก้ว (พงศาวดารพม่าว่า เป็นลูกพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้า) ให้ส่งไปว้เมืองหงสาวดี อยู่มาเกิดหยุกหยิกขึ้นในเมืองล้านช้าง เป็นเหตุด้วยพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตองค์ใหม่เลือกที่รักมักที่ชัง ชุบเลี้ยงแต่พรรคพวกของตน พวกท้าวพระยาข้าราชการโดยมากไม่พอใจ

ประจวบเหตุเกิดขึ้นด้วยกิตติศัพท์เลื่องลือว่า พระไชยเชษฐาที่ไปหายสูญในคราวรบเขมรกลับมาได้ พวกขุนนางและราษฎรที่ไม่พอใจพระเจ้าศรีสัตนาคนหุต พากันอพยพไปตั้งซ่องคอยรับพระไชยเชษฐาอยู่ตามหัวเมืองเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นจะเกิดจลาจล จึงบอกออกไปขอกำลังพระเจ้าหงสาวดีมาช่วยปราบปราม ในเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทุพลภาพลงบ้างแล้ว จึงให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพยกมาจัดการกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเถาะ จุลศักราช ๙๔๑ พ.ศ. ๒๑๒๒ และได้เรียกกองทัพเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทย ไปช่วยด้วย ครั้นกองทัพพระมหาอุปราชยกเข้ามาถึง พอกิตติศัพท์ที่เลื่องลือว่า พระไชยเชษฐากลับมาได้สงบลง พระมหาอุปราชจึงได้มาจัดการเกลี้ยกล่อมพวกที่อพยพหนี ให้กลับคืนดีกับพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ไม่ลำบาก เมื่อการเรียบร้อยแล้วพระมหาอุปราชากลับออกไปถึงเมืองหงสาวดี เมื่อ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๔๒ พ.ศ. ๒๑๒๓ ได้ความตามพงศาวดารพม่าดังนี้


เรื่องพระเจ้าเชียงใหม่

พงศาวดารพม่าว่า เมื่อ ณ วันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล จุลศักราช ๙๔๐ พ.ศ. ๒๑๒๑ พระมหาเทวีผู้ครองเมืองเชียงใหม่พิราลัย พระยาแสนหลวงกับพระยาสามล้าน เอาเครื่องยศออกไปถวายคืนพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีเห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจให้กว้างขวางออกไปได้อีก จึงปรึกษาหาเชื้อพระวงศ์ที่จะอภิเษกส่งมาครองเมืองเชียงใหม่ พระมหาอุปราชจึงทูลว่า เห็นแต่มังนรธาช่อ ราชบัตรของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งครองเมืองสารวดีมีสติปัญญากล้าหาญ สมควรจะครองเมืองเชียงใหม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีทรงเห็นชอบด้วย จึงอภิเษกมังนราธาช่อเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ และเมื่อก่อนจะส่งมาจากเมืองหงสาวดี ให้กระทำสัตย์ปฏิญาณกับพระมหาอุปราชาต่อหน้าสงฆ์ว่าจะซื่อตรงต่อกัน และพระราชทานพระราโชวาทเป็นอันมาก

พระเจ้าเชียงใหม่ที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ลงมารบกับสมเด็จพระนเรศวรคือ พระเจ้าเชียงใหม่นรธาช่อ พระราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองที่กล่าวมานี้


พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทิวงคต

พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประชวรปัจจุบันทิวงคต เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๔๓ (ตรงศักราชกับในฉบับหลวงประเสริฐ) พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าบุเรงนองสมภพเมื่อ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน จุลศักราช ๘๗๗ พ.ศ. ๒๐๕๘ ได้ราชสมบัติเมืองตองอู(๑) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ พระชันษา ๓๔ ปี ต่อมาอีก ๒ ปีได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีกุน จุลศักราช ๙๑๓ พ.ศ. ๒๐๙๔ ทิวงคตเมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ พระชันษาได้ ๖๖ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๓๒ ปี

มีพระมเหสี ๓ องค์ ราชโอรสธิดาเกิดด้วยพระมเหสี ชาย ๓ หญิง ๓ ลูกเธอเกิดด้วยพระสนม ชาย๓๐ หญิง ๓๕ องค์ พระมหาอุปราชาชัยสิงห์ (พระราชพงศาวดารเยกว่า มังเอิง) ได้รับราชสมบัติพระนามว่า นันทบุเรง แปลตรงศัพท์ว่า นันทราชา ตั้งให้มังกะยอชะวา (พระราชพงศาวดารเรียกว่า มังสามเกียด) ราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชา

ในคราวเปลี่ยนรัชกาลที่กรุงหงสาวดีคราวนี้ พงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าประเทศราชต่างไปเฝ้าตามประเพณี และว่าสมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จไปเมื่อเดือน ๗ ปีมะเมีย จุลศักราช ๙๔๔ พ.ศ. ๒๑๒๕ แต่เรื่องไปตีเมืองรุม เมืองคัง ในคราวนี้ หาได้ปรากฏในพงศาวดารพม่าไม่ แต่ควรเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไทย เพราะเมืองรุม เมืองคัง ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชไทยใหญ่ทั้ง ๒ นี้ เคยแข็งเมืองมาในครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็หลายคราว ด้วยเป็นเมืองอยู่บนเขาสูงปราบยาก ตรงอย่างว่าในพระราชพงศาวดาร


เหตุที่ไทยรบหงสาวดี

ได้กล่าวมาแต่ก่อนแล้ว ว่าการปกครองราชอาณาจักรของพระราชอาณาจักรพระเจ้าหงสาวดี เป็นปรกติอยู่ได้ด้วยอำนาจของพระเจ้าหงสาวดีอย่างเดียว เพราะมอญและไทยใหญ่ไม่อยากอยู่ในอำนาจพม่า ส่วนเจ้านายเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าหงสาวดี ที่เป็นผู้ปกครองหัวเมือง อยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดีสนิทก็ด้วยเป็นราชบุตรบ้างราชนัดดาบ้าง มีความนับถือยำเกรงโดยเฉพาะพระองค์ ยิ่งกว่าที่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของประเทศ ยิ่งหัวเมืองประเทศราชต่างชาติต่างภาษา ซึ่งเจ้านายชาวเมืองนั้นเองปกครองแล้ว ขึ้นหงสาวดีอยู่แต่ความกลัวอย่างเดียวโดยแท้ ย่อมคอยหาช่องที่จะเป็นอิสระอยู่ทุกเมือง ถึงกรุงศรีอยุธยาก็เช่นกัน เชื่อได้ว่าทั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระนเรศวรคงจะเตรียมหาโอกาสคืนเป็นอิสระอยู่เสมอ เมื่อเห็นว่ากำลังยังไม่พอที่จะทำการสำเร็จได้ ก็ต้องอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีโดยความจำพระทัย เมื่อพระเจ้าหงสาวดี

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทิวงคต ความรู้สึกคงจะมีทั้งในเมืองหงสาวดีและในเมืองขึ้นทั่วไป ว่าเป็นหัวต่อที่อาจจะเปลี่ยนแปลงในอำนาจของพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่ได้มาก ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเมืองหงสาวดี เชื่อได้ตามที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าจะขึ้นไปสืบสวนการงาน คือ เกี่ยวแก่การที่จะหาช่องทางเป็นอิสระ ข้างพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ เมื่อทราบความสามารถเข้มแข็งของสมเด็จพระนเรศวรครั้งไปตีเมืองรุม เมืองคัง ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็คงเกิดระแวงว่าไทยได้หัวหน้าเช่นสมเด็จพระนเรศวร คงจะตั้งตัวเป็นอิสระก่อนประเทศอื่น จึงตั้งต้นคิดอ่านเตรียมการปราบไทยก่อน

ดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ความยุติต้องกันกับฉบับหลวงประเสริฐว่า พอพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ผ่านพิภพได้ไม่ช้า ก็ให้เกณฑ์พวกไทยใหญ่ลงมาทำทางและตั้งยุ้งฉาง แต่เมืองเมาะตะมะเข้ามาเมืองกำแพงเพชร และให้นันทสูราชสังครำคุมคนกองใหญ่เข้ามาตั้งรวบรวมเสบียงไว้ที่เมืองกำแพงเพชร การที่ทำเช่นนี้แลเห็นได้ว่า เตรียมไว้เผื่อกองทัพหงสาวดีจะยกมาเมื่อใดให้มาได้โดยสะดวก ฝ่ายไทยต้องเข้าใจว่า พระเจ้าหงสาวดีจะหาเหตุมากวาดครัวตัดกำลังอีก จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรคิดตั้งต้นทำศึกกับหงสาวดี ผู้ใดอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนี้โดยความสังเกตแล้ว จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรผิดกับแม่ทัพไทยที่ปรากฏมาแต่ก่อน ในข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่ไม่ยอมให้โอกาสข้าศึกเป็นอันขาด ถ้าเป็นทีเป็นเชิงทำข้าศึกก่อนเสมอ เหมือนอย่างในเรื่องในตอนต่อไปนี้

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี คราวที่จะตั้งต้นทำศึกกับหงสาวดีนั้น ในพระราชพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่ากล่าวผิดกันชอบกล พงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดจะทำร้ายสมเด็จพระนเรศวร อุบายบอกมาว่า พระเจ้าอังวะเป็นกบฏ ให้สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปช่วยตีเมืองอังวะ สมเด็จพระนเรศวรพาซื่อยกขึ้นไป ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีแต่งให้พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม เป็นไส้ศึกทำทีประหนึ่งออกมาต้อนรับอยู่กับสมเด็จพระนเรศวร แล้วจัดให้กองทัพออกมาซุ่มดักทางอยู่ สั่งว่าถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกไปถึง ให้กองซุ่มและกองไส้ศึกช่วยกันจับสมเด็จพระนเรศวรปลงพระชนม์เสียในกลางทาง ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองแครง พระยาเกียรติ์ พระยาพระรามมารับเสด็จ เอาความลับไปแจ้งแก่พระมหาเถรคันฉ่อง พระมหาเถรคันฉ่องเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่มีความผิดคิดสงสาร จึงเกลี้ยกล่อมพระยาเกียรติ์ พระยาพระรามให้ทูลความจริงแก่สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรจึงได้ทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดร้าย ก็ประกาศทำสงครามในขณะนั้น และกวาดต้อนครอบครัวเมืองรามัญในระยะทางพากลับเข้ามากรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าอังวะตั้งแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีจะยกไปตีเมืองอังวะ กำหนดให้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีสัตนาคนหุต และเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพไปช่วย กรุงศรีสัตนาคนหุตและเมืองเชียงใหม่ยกไปตามกำหนด แต่กรุงศรีอยุธยารั้งรอเสียจนพระเจ้าหงสาวดียกไปเป็นยนานแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงยกกองทัพขึ้นไปและไม่ไปเมืองอังวะตามสั่ง ยกตรงเข้าไปเมืองหงสาวดี พระมหาอุปราชาซึ่งรักษาพระนครตกพระทัย จึงให้จัดการเตรียมต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรเข้าไปจนถึงชานเมืองหงสาวดี พอได้รู้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีไปชนช้างมีชัยชนะพระเจ้าอังวะ ได้เมืองอังวะแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ยกกองทัพกลับ และให้กวาดต้อนผู้คนในระยะทางมากรุงศรีอยุธยาด้วยเป็นอันมาก หนังสือพงศาวดารพม่าว่าดังนี้

ที่หนังสือพงศาวดาร ๒ ฝ่ายกล่าวผิดกันอย่างว่ามานี้ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดู เห็นว่ากล่าวตามที่เข้าใจว่าความจริงจะเป็นอย่างนั้นทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ความจริงของเรื่องจะไม่เป็นอย่างนั้นทีเดียว ข้าพเจ้าสันนิษฐานตามรูปเรื่องและเหตุการณ์ เห็นว่าเรื่องที่จริงในตอนนี้จะเป็นดังนี้ คือตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีให้ทำทางและตั้งยุ้งฉางเข้ามาถึงเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดความระแวงกันขึ้นในระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงศรีอยุธยา ในเวลาความระแวงมีอยู่ต่อกันเช่นนี้ ทางเมืองหงสาวดีก็เกิดศึกต้องยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ

ควรจะต้องเล่าเรื่องพระเจ้าอังวะตั้งแข็งเมือง ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารพม่าสักหน่อย จึงจะพิเคราะห์เห็นเรื่องราวที่จริงชัดเจน ในพงศาวดารพม่าว่า เหตุที่พระเจ้าหงสาวดีจะวิวาทกับพระเจ้าอังวะนั้น เกิดด้วยพระมหาอุปราชามีอัครชายา ๒ องค์ องค์ ๑ เป็นราชธิดาพระเจ้าอังวะ องค์ ๑ เป็นลูกของพระเจ้าบุเรงนอง ร่วมมารดากับพระเจ้าเชียงใหม่นรธา และพระศรีสุธรรมราชาเจ้าเมืองเมาะตะมะ นางทั้ง ๒ หึงหวงกัน พระมหาอุปราชาเข้าข้างน้องพระเจ้าเชียงใหม่ จึงเกิดวิวาททุบตีกับนางที่เป็นราชธิดาของพระเจ้าอังวะ นางนั้นศีรษะแตก (ทีจะฟ้องร้องไม่ได้ความพอใจจากพระเจ้าหงสาวดี) จึงเอาผ้าซับโลหิตส่งไปให้พระเจ้าอังวะผู้บิดา ร้องทุกข์ที่ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ ข้างพระเจ้าอังวะ (เห็นจะไม่สู้ชอบกับพระเจ้าหงสาวดีอยู่แล้ว) มีความโทมนัส จึงเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ๋ ซึ่งเอาใจออกหากพระเจ้าหงสาวดีอยู่แล้วเข้าเป็นพวก เมื่อเห็นว่าได้กำลังมากพอจะคิดการใหญ่ได้ พระเจ้าอังวะจึงแต่งทูตให้ไปชักชวนพระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ (และน่าจะเข้าใจว่าชักชวนถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย) ให้พร้อมกันตั้งแข็งเมืองขึ้นเป็นอิสระ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นด้วย จึงจับราชทูตอังวะส่งไปถวายพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ มูลเหตุที่พระเจ้าหงสาวดีจะตีเมืองอังวะ พงศาวดารพม่าว่าดังกล่าวมานี้

ที่จริงเมืองอังวะไม่ห่างกับเมืองหงสาวดีนัก เพียงกำลังเมืองหงสาวดี เมืองแปร เมืองตองอู เมืองเชียงใหม่ ดูก็จะพอ ดูไม่จำเป็นที่จะต้องเกณฑ์กองทัพถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างไกลออกมาเป็นอันมาก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าในเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีออกจะสงสัยกรุงศรีอยุธยาว่าจะเป็นพรรคพวกพระเจ้าอังวะ เพราะไม่ได้ออกตัวอย่างพระเจ้าแปรเป็นต้น จึงคิดอุบายจะปราบกรุงศรีอยุธยา ด้วยแกล้งเกณฑ์ให้ไปช่วย ถ้าไม่ไป เสร็จศึกอังวะแล้ว จะได้ยกโทษว่าขัดแข็งเอาเป็นเหตุที่จะยกกองทัพเข้ามาปราบ และเตรียมการไว้ ถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปก็จะทำอุบายทำร้ายจับไว้เป็นตัวจำนำเสีย ตัดกำลังกรุงศรีอยุธยาให้ปราบปรามต่อไปได้โดยง่าย จึงวางการไว้ให้พระมหาอุปราชาทำตามกลอุบายที่คิดไว้

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็คิดร้ายต่อหงสาวดีอยู่ เมื่อได้ข่าวว่าทางหงสาวดีเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง เห็นได้โอกาส บางทีจะแกล้งรอเสียจนคาดว่าพระเจ้าหงสาวดีไปทำศึกกับพระเจ้าอังวะติดพันอยู่แล้ว จึงยกขึ้นไป ข้าพเจ้านึกว่าสมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปครั้งนั้นถึงจะแสดงโดยเปิดเผยว่าจะไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีเมืองอังวะ ที่จริงคงจะตั้งพระทัยไปเป็น ๒ อย่าง คือถ้าเห็นพระเจ้าหงสาวดีไปเพลี่ยงพล้ำก็จะตีเมืองหงสาวดีทีเดียว ถ้าจะทำไม่ได้ถึงเช่นนั้น ก็จะกวาดครอบครัวลงมา ตัดกำลังหงสาวดีเสียในทางที่จะมารบพุ่งกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า สมเด็จพระนเรศวรไม่ได้ตั้งพระทัยไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีตีเมืองอังวะ เพราะรู้อยู่ก่อนแล้วว่า พระเจ้าหงสาวดีเตรียมจะมาทำร้าย จะไปช่วยทำความสะดวกเร่งให้มาทำร้ายทำไม

ครั้นเมื่อยกขึ้นไปถึงเมืองแครง พระยาเกียรติ์ พระยาพระรามลงมารับเสด็จ พระยาเกียรติ์ พระยาพระรามเป็นมอญ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะได้เป็นผู้คุ้นเคยชอบพอกับสมเด็จพระเนรศวรมาแต่ก่อน และเป็นชาวเมืองแครงมีสมัครพรรคพวกอยู่มากในที่นั้น สมัครพรรคพวกของพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ตั้งแต่พระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นชีต้นอาจารย์เป็นต้นลงมา เห็นจะอยู่ในพวกมอญที่เอาใจออกหากจากพม่าอยู่แล้ว เห็นพระเจ้าหงสาวดีจะไม่มีอำนาจได้ดังแต่ก่อน และเห็นสมเด็จพระนเรศวรหลักแหลม เชื่อว่าจะได้เป็นใหญ่ต่อไป จึงมาสวามิภักดิ์เข้ากับสมเด็จพระนเรศวร ทูลกลอุบายของพระเจ้าหงสาวดีให้ทรงทราบ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีเตรียมการต่อสู้ไว้และประจวบได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีชนะเมืองอังวะ เห็นจะทำการไม่สมคะเนในคราวนั้น จึงยกทัพกลับพระนคร เป็นทีก็กวาดต้อนผู้คนกลับเข้ามาด้วย การที่สมเด็จพระนเรศวรกวาดครัวครั้งนั้นเพื่อประโยชน์ ๒ อย่าง คือ ทำลายกำลังพาหนะของพระเจ้าหงสาวดีในระยะทางที่จะเข้ามาเมืองไทย ไม่ให้มาได้ง่ายอย่าง ๑ จะหาผู้คนมาเป็นกำลังสู้รบพระเจ้าหงสาวดีอย่าง ๑ ผู้คนที่กวาดต้อนเข้ามาคราวนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมเด็จพระนเรศวรตั้งพระทัยกวาดต้อนเอาไทยที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปไว้แต่ก่อน มากกว่าที่จะหามอญมาเป็นเชลย ผู้คนที่สมเด็จพระเนรศวรได้มาในคราวนั้นเห็นจะเป็นไทยโดยมาก จึงปรากฏในพระราชพงศาวดารเมื่อกล่าวถึงที่ซึ่งพระราชทานให้มอญตั้งบ้านเรือนไม่มีกี่แห่งนัก

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรกวาดครัวมาครั้งนั้น หนังสือพงศาวดารพม่ากับพงศาวดารไทยยุติต้องกันว่า พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชายกกองทัพติดตามมา แต่พงศาวดารพม่าว่าตามเข้ามาจนถึงกรุงศรีอยุธยาได้รบกันที่ทุ่งลุมพลี และว่าสมเด็จพระนเรศวรตีกองทัพพระมหาอุปราชาแตกยับเยินกลับไป แต่พงศาวดารไทยว่า ตามมาเพียงแม่น้ำสโตง พอสมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้นยิงสุรกรรมแม่ทัพหน้าตาย พระมหาอุปราชาก็เลิกทัพกลับไป ข้าพเจ้าเห็นว่าความจริงเป็นยอย่างพระราชพงศาวดารไทย ด้วยมีหลักฐานมั่นคง


ไทยเตรียมรบหงสาวดี

สมเด็จพระนเรศวรได้ประกาศแสดงความเป็นอิสรภาพของไทยที่เมืองแครง เมื่อเดือน ๖ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) ปีวอก จุลศักราช ๙๔๑ พ.ศ. ๒๑๒๗ แล้วยกทัพกลับตรงมากรุงศรีอยุธยา มาทูลเหตุการณ์การสงครามแก่สมเด็จพระราชบิดาแล้ว จึงเสด็จกลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลก เริ่มเตรียมการสงครามทีเดียว ตามเนื้อความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร เบื้องต้นลงมือกำจัดพวกหงสาวดีที่เข้ามากำกับอยู่ในเมืองไทย ที่ไหนอยู่น้อยตัวก็ให้จับส่งลงมากรุงศรีอยุธยา ที่ไหนตั้งอยู่เป็นหมวดกอง เช่น นันทสูราชสังครำที่เมืองกำแพงเพชร ก็ยกกองทัพไปขับไล่ไปเสียนอกสยามราชอาณาเขต และให้ความป้องกันแก่พวกที่เอาใจออกห่างจากกรุงหงสาวดี คือพวกไทยใหญ่เป็นต้น โดยซึ่งหน้าเปิดเผย

สมเด็จพระนเรศวรประกาศสงครามกับหงสาวดีครั้งนั้นเห็นได้ว่าทำด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แม้ไทยด้วยกันเองก็จะมีผู้สงสัยมากว่าจะทำไม่สำเร็จตลอดไปได้ เพราะฉะนั้นจึงมีพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก (เห็นจะเป็น ๒ คนที่พงศาวดารพม่าว่า ออกไปอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโดยดีแต่แรกนั้น) ซึ่งยังเชื่อบุญบารมีพระเจ้าหงสาวดี ตั้งแข็งเมืองจะเอาหน้า แต่ถูกสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นผู้ทำการจริงกำจัดเสียเป็นตัวอย่าง แต่นั้นมาก็สิ้นเสี้ยนหนามข้างฝ่ายไทย

ไทยครั้งนั้นเข้าใจกันดี ว่าในไม่ช้าพระเจ้าหงสาวดีคงให้กองทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สังเกตดูการที่ตระเตรียมต่อสู้ เห็นได้ว่าในครั้งนั้นฝ่ายข้างไทยได้เอาความคุ้นเคยออกพิจารณาโดยถี่ถ้วนทั้งที่ได้และที่เสีย แลเห็นว่าวิธีต่อสู้อย่างครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่เอาพระนครเป็นที่มั่น และเอากำลังเมืองเหนือเป็นทัพกระหนาบนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้ว ด้วยกำลังมีน้อยกว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และรู้อยู่ว่าข้างหงสาวดีเข้าใจวิธีตัดกำลังทางเมืองเหนือ จึงตกลงเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่นแห่งเดียว กวาดคนหัวเมืองเหนือลงมาไว้ในพระนครศรีอยุธยาหมด ยอมทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราว ๑

ทางเสียอีกอย่าง ๑ ซึ่งเคยเห็นมาแต่ก่อน ที่พระนครด้านตะวันออกห่างลำน้ำอยู่ด้านหนึ่ง ข้าศึกเข้าได้ทางนั้น คราวนี้ก็ให้ขุดคลองชักสายเข้าขื่อหน้า และขุดขยายขื้อหน้าออกไป จนเป็นลำแม่น้ำ ยังการที่เคยเสียเปรียบข้าศึกอีกอย่าง ๑ คือเรื่องรวมคนเข้าพระนครไม่ได้เต็มจำนวน คราวนี้ปรากฏวิธีแก้ไขจัดให้มีนายกองอาสาปล่อยกระจายออกไปไว้ตามบ้านนอก เมื่อข้าศึกยกมาตั้งล้อมพระนคร ให้พวกนายกองเหล่านี้รวบรวมคนที่กระจัดกระจายเข้าเป็นกองโจร เที่ยวสกัดตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึก เป็นประโยชน์แก่การรบพุ่งได้มาก

ส่วนวิธีที่เคยได้เปรียบเป็นต้นว่า การรวบรวมเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนครให้มากก็ดี และระวังทางส่งเสบียงอาหารก็ดี วิธีที่เอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวยิงข้าศึกก็ดี คราวนี้ตระเตรียมแข็งเเรงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และปรากฏว่า ได้ใช้วิธีเหล่านี้เป็นประโยชน์ตลอดการสงคราม เชื่อได้ว่าการอย่างใดที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้เป็นประโยชน์ได้ ได้ทำทุกอย่างในคราวนั้น เพราะจะต้องต่อสู้กองทัพใหญ่ด้วยคนน้อย


เรื่องเขมรขอเป็นไมตรี

ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ในขณะเมื่อไทยกำลังเตรียมการต่อสู้ศึกหงสาวดีนั้น พระยาละแวกนักสัฏฐาแต่งราชทูตถือศุภอักษรเข้ามาขอเป็นไมตรี เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารเขมร แต่น่าประหลาดใจอยู่ว่าเหตุใดอยู่ดีๆ พระยาละแวกจึงให้เข้ามาขอเป็นไมตรี เขมรต้องเข้าใจดีทีเดียวว่า ได้ทำให้ไทยเจ็บแค้นอยู่มาก ถ้าเป็นทีเมื่อใด ไทยคงจะยกไปแก้แค้นเป็นแน่ เห็นจะมีเหตุอย่างใดที่กลัวไทยยกไปในเวลานั้น จึงชิงเข้ามาขอเป็นไมตรี

บางทีเขมรจะได้ข่าวว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทิวงคต สมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปได้ชัยชนะพวกหงสาวดี กวาดครอบครัวผู้คนมามาก เกรงจะยกออกไปแก้แค้นเมืองละแวก หรือมิฉะนั้นจะมีเหตุแตกร้าวกันเกิดขึ้น เกรงพวกกันเองจะมานำกองทัพไทยออกไป จึงชิงเข้ามาขอเป็นไมตรีก็จะเป็นได้ ฝ่ายข้างไทยกำลังเตรียมจะทำศึกกับหงสาวดี เห็นเป็นประโยชน์ที่จะหยุดวิวาทกับเขมรเสียให้สิ้นห่วงทางนี้ จึงยอมเป็นไมตรีกับเขมรเสียคราวหนึ่ง


ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๑

เมื่อเริ่มลงมือทำสงครามกับพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรพระชันษา (คำนวนตามศักราชในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) ได้ ๒๙ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถพระชันษาเห็นจะราว ๒๑ - ๒๒ ปี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นจะได้มอบให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาการสงครามสิทธิ์ขาด หนังสือพงศาวดารพม่าจึงเข้าใจว่า สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในตอนนี้ไม่ได้กล่าวถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชาเลยทีเดียว

เรื่องศึกหงสาวดีครั้งแรกนั้น ในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระมหาอุปราชายกพลลงมาตามสมเด็จพระนเรศวรคราวเมื่อกวาดครัวลงมา ถูกสมเด็จพระนเรศวรตีแตกกลับไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีปลอบเอาพระทัยพระมหาอุปราชว่า เพราะไม่ทันตระเตรียม ไพร่พลที่ยกติดตามข้าศึกไปน้อยนัก กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ขับขันมั่นคงตียาก จึงให้จัดกองทัพขึ้นใหม่มีจำนวนพล ๑๒๐,๐๐๐ ให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพ และให้พระเจ้าเชียงใหม่จัดกองทัพเมืองเชียงใหม่สมทบอีกทัพ ๑ พร้อมกันตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชายกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เมื่อเดือน ๕ ปีระกา จุลศักราช ๙๔๗ พ.ศ. ๒๑๒๘

เมื่อกองทัพพระมหาอุปราชายกเข้ามา (ทางเมืองกาญจนบุรี) ถึงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปต่อสู้ ทัพหน้าไทยรับกองทัพพระมหาอุปราชาไม่อยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยอกกองทัพมาพระนคร มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ทุ่งลุมพลี พระมหาอุปราชายกกองทัพมาตั้งประชิด ให้เข้าตีค่ายสมเด็จพระนเรศวรหลายครั้งก็ไม่ได้ ด้วยไทยเอาปืนใหญ่ยิงกราดเอาผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นอันมาก เหทื่อเห็นจะตีค่ายสมเด็จพระนเรศวรไม่ได้ พระมหาอุปราชาจึงแกล้งตั้งนิ่งหมายให้สมเด็จพระนเรศวรยกไปตีบ้าง สมเด็จพระนเรศวรก็นิ่งเฉยเสียไม่ยกไปตี แต่ตั้งคุมเชิงกันอยู่อย่างนี้กว่าเดือน ๑ เสบียงอาหารในกองทัพพระมหาอุปราชาขัดสนลง พระมหาอุปราชาจึงเรียกนายทัพนายกองมาปรึกษา เห็นพร้อมกันว่า เชิงศึกเสียเปรียบไทย ด้วยไทยอาศัยค่ายมั่นและเสบียงอาหารบริบูรณ์ จะเข้าตีหักเอาก็ไม่ได้ ถ้าตั้งนิ่งรอไปเสบียงอาหารข้างกองทัพหงสาวดีก็จะหมด ควรจะทำอุบายถอยทัพล่อสมเด็จพระนเรศวรให้ออกติดตามจนพ้นที่มั่น จึงเอากำลังมากเข้าระดมเอาชัยชนะสมเด็จพระนเรศวร พระมหาอุปราชาเห็นชอบ

จึงสั่งให้เลิกทัพทำประหนึ่งว่าจะถอยไปบ้านเมือง สมเด็จพระนเรศวรก็ออกติดตามจนถึงที่แห่ง ๑ ซึ่งพระมหาอุปราชาเห็นเป็นชัยภูมิดี ก็สั่งให้หยุดทัพตั้งเป็นกระบวนรบ ให้พระยาคามณี ๑ นันทกยอดิน ๑ พระยาเกีนดอ ๑ สมิงราชสังครำ ๑ สมิงนครอินทร์ ๑ พระยาแสนหลวงเมืองเชียงใหม่ ๑ เป็นปีกขวา ให้พระยาราม ๑ นันทสุริย ๑ สมิงสองแคว ๑ พระยาศรีธรรมาโศกราช ๑ พระยาน่าน ๑ เป็นปีกซ้าย พระมหาอุปราชาตั้งเป็นกองกลาง คอยตีกองทัพไทยที่ยกตากไป

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อได้ทรงทราบว่า พระมหาอุปราชาหยุดกองทัพตั้งมั่นอยู่ ทรงตรวตราสังเกตได้ว่าปีกขวาของพระมหาอุปราชากำลังอ่อน สมเด็จพระนเรศวรไม่ให้กองทัพไทยเข้าตีประดาหน้าพร้อมกันดังพระมหาอุปราชาคาด เอากำลังเข้าทุ่มตีโอบปีกขวาทางเดียว เมื่อปีกขวาของพระมหาอุปราชาแตกยับเยินแล้วจึงตีกองกลาง ก็แตกอีกกอง ๑ ครั้นถึงปีกซ้าย สมเด็จพระนเรศวรเห็นข้าศึกได้ที่มั่นมีชัยภูมิก็ไม่ตี ให้กวาดต้อนเชลยและช้างม้าศาสตราวุธทั้งสองกองที่ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์กลับคืนพระนคร พระมหาอุปราชาจึงรวบรวมไพร่พลที่เหลืออยู่กลับคืนไปเมืองหงสาวดี ได้ความตามพงศาวดารพม่าดังนี้

แต่ศึกคราวนี้เนื้อความในพระราชพงศาวดารไทยทั้งฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับหลวงประเสริฐยุติต้องกัน (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) ว่าเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๔๖ พ.ศ. ๒๑๒๗ พระเจ้าหงสาวดีให้พระยาพสิมผู้เป็นอายกกองทัพเข้ามาเมืองกาญจนบุรีทาง ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ (ฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่าพระเจ้าสารวัตถี เพราะพระเจ้าเชียงใหม่องค์นี้เป็นเจ้าเมืองสารวดีอยู่ก่อน) ยกลงมาทางเมืองกำแพงเพชรทาง ๑ แต่ ๒ ทัพนี้ยกเข้ามาไม่พร้อมกัน กองทัพพระยาพสิมยกเข้าถึงเมืองสุพรรณบุรีแต่เดือนอ้าย สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชให้พระยาจักรี พระยาพระคลังคุมกองทัพเรือออกไปรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณบุรี กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ยิง กองทัพพระยาพสิมต้านทานไม่ได้ต้องถอยไปตั้งที่เขาพระยาแมน ในระหว่างเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองกาญจนบุรี

ถึงเดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จออกรวมพลที่ทุ่งลุมพลี แล้วขึ้นไปประทับที่เมืองวิเศษชัยชาญ (อยู่ในลำน้ำน้อย แขวงเมืองอ่างทองทุกวันนี้) แต่งกองทัพบกคนหัวเมืองเหนือ ให้เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปตีพระยาพสิมที่เขาพระยาแมนแตกพ่ายกลับไป เมื่อพระยาพสิมแตกไปแล้ว กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่จึงยกลงมาถึงเมืองชัยนาท ให้ทัพหน้ามาตั้งที่บางพุทรา สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเสด็จยกทัพเรือขึ้นไปตั้งที่บ้านชไว แขวงเมืองอ่างทอง แล้วให้พระราชมนูเป็นกองหน้า ยกขึ้นไปตีทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่แตกหนีกลับขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทราบความว่ากองทัพพระยาพสิมแตกกลับไปแล้ว ก็เลิกทัพหลวงกลับคืนไปเมืองเชียงใหม่ เนื้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารไทย ไม่ตรงกับพงศาวดารพม่าอยู่ดังนี้

ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูเห็นว่า ที่หนังสือพงศาวดารทั้ง ๒ ฝ่ายผิดกันตรงนี้ จะเป็นด้วยผู้แต่งพงศาวดารพม่าหลงเอาเรื่องในคราวอื่นมาลงเป็นคราวนี้ เรื่องที่จริงในคราวนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นดังกล่าวในพระราชพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดีให้พระยาพสิมยกเข้ามาทาง ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกมาทาง ๑ มารวมกันตีกรุงศรีอยุธยาเป็นศึก ๒ หน้า ด้วยประมาณกำลังไทยว่ายังมีน้อย และจะสู้รบตามวิธีเก่า แต่สมเด็จพระนเรศวรเปลี่ยนวิธีการรบเป็นอย่างใหม่เสียแล้ว พอข้าศึกทางไหนโผล่หน้าเข้ามาก่อน ก็รีบเอากำลังไปรุมตีเสียให้แตก ไม่ปล่อยโอกาสให้ข้าศึกมีเวลาทันรวมกันได้ ศึกหงสาวดีครั้งที่ จึงพ่ายแพ้ไปโดยง่าย



Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 17 มีนาคม 2550 10:14:43 น.
Counter : 4512 Pageviews.

4 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กับฉบับหลวงประเสริฐ ยุติต้องกันว่า เมื่อ ณ เดือนยี่ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) ปีระกา จุลศักราช ๙๔๗ พ.ศ. ๒๑๒๘ พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าเชียงใหม่ ยกกองทัพลงมาตั้งที่บ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง ครั้นถึงเดือน ๕ ให้พระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามาตั้งทำนาที่เมืองกำแพงเพชรอีกทัพ ๑ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จออกไปตั้งรวมพลที่ทุ่งลุมพลี เมื่อ ณ วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ แล้วยกทัพหลวงขึ้นไปป่าโมก ในขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ให้พระยาเชียงแสน คุมทัพหน้าล่วงลงมา กองหน้าของพระยาเชียงแสนมาปะทะทัพหลวงได้รบพุ่งกัน ตีทัพพระยาเชียงแสนแตกพ่ายกลับขึ้นไป สมเด็จพระนเรศวรจึงให้พระราชมนูกับเจ้าพระยาสุโขทัยเป็นกองหน้ายกตามพวกเชียงใหม่ขึ้นไป

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ยกกองทัพหลงหนุนลงมา เมื่อ ณ วันอรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ พบกองทัพพระราชมนูกับพระยาสุโขทัยได้รบพุ่งกันที่บางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงหนุนขึ้นไปถึงที่บ้านแห ทรงทราบว่าพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาเองก็ซุ่มกองทัพหลวงไว้ สั่งให้กองหน้าถอยลงมา ข้างพระเจ้าเยงใหม่สำคัญว่ากองทัพกรุงศรีอุธยาแตก ก็ไล่ลงมาไม่เป็นกระบวน หลงเข้าในที่ซุ่มทัพ สมเด็จพระนเรศวรจึงออกล้อมรบตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่แตกยับเยิน เกือบจับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ ติดตามตีขึ้นไปจนได้ค่ายหลวงที่บ้านสระเกศ จับได้ท้าวพระยาและไพร่พลช้างม้าเครื่องศัตราวุธเป็นอันมาก จนเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าเชียงใหม่เองก็ขนหนีไม่ทัน กองทัพเชียงใหม่แตกหนีขึ้นไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร จึงไปรวมกันได้

เนื่อความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร เรื่องศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ ดังกล่าวมานี้ ไม่มีในหนังสือพงศาวดารพม่าทีเดียว ที่ไม่มีในพงศาวดารพม่าด้วยเหตุใด พิเคราะห์ดูพอจะเข้าใจได้ พระเจ้าหงสาวดีให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาคราวนี้ไม่ใช่ให้มารบพุ่ง เป็นแต่ให้มาตั้งมั่นแล้วแต่งทหารแยกย้ายออกไปเที่ยวรังแกอย่าให้ไทยทำนาได้ จะตัดกำลังให้กรุงศรีอยุธยาขัดสยเสบียงอาหาร และให้พระมหาอุปราชาเข้ามาตั้งทำนาสะสมเสบียงอาหารไว้ไว้ที่เมืองกำแพงเพชร คอยกองทัพพระเจ้าหงสาวดี ด้วยเหตุนี้พระเจ้าเชียงใหม่จึงยกลงมาตั้งอยู่เพียงสระเกศเป็น ๓ เดือน กองทัพพระยาเชียงแสนที่แต่งลงมาจนป่าโมก ก็คือให้มาเที่ยวรังแกราษฏรนั้นเอง เชิงศึกเป็นเช่นนี้ สมเด็จพระนเรศวรจึงชิงขึ้นไปตีเสียให้แตกก่อนฤดูทำนา ไม่ให้ข้าศึกทำการได้สมความคิด


เรื่องไทยเกิดอริกับพระยาละแวก

เมื่อเกิดศึกหงสาวดีคราวที่ ๒ นี้ พระยาละแวกให้พระศรีสุพรรณมาธิราชน้องยาเธอคุมกองทัพเขมรเข้ามาช่วย ในทางราชการคงจะรับรองให้เป็นเกียรติยศแก่พระศรีสุพรรณมาธิราชเต็มที่ แต่น่าสงสัยว่า พระศรีสุพรรณมาธิราชจะมาวางกิริยาอาการอันไม่เป็นที่พอตาพอใจของชาวกรุงศรีอยุธยามาแต่แรก เหตุที่จะเกิดอรินั้น กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระศรีสุพรรณมาธิราชกับพวกเขมรจอดเรืออยู่ที่โพธิ์ ๓ ต้น สมเด็จพระนเรศวรชนะศึกเชียงใหม่แล้ว ทรงเรือพระที่นั่งล่องลงมา เมืองผ่านเรือพระศรีสุพรรณมาธิราช พระศรีสุพรรณมาธิราชนั่งดูอยู่ไม่ลงหมอบ สมเด็จพระนเรศวรทรงขัดเคือง ให้เอาศีรษะลาวเชลยมาเสียบไว้ตรง(ข้ามกับ)ที่เรืองพระศรีสุพรรณมาธิราชดังนี้

ธรรมเนียมเรื่องนั่งเรื่องหมอบจะถือเคร่งครัดเพียงไรในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็ทราบไม่ได้ แต่ใจให้นึกเห็นไปว่า ถ้าพระศรีสุพรรณมาธิราชอยู่ในกัญญาเรือ อันมีม่านผูกอยู่โดยรอบ การจะนั่งหรือหมอบ ดูไม่เป็นการเสียความเคารพอันใดนัก ดูไม่เป็นเหตุพออยู่ที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงขัดเคืองถึงปานนั้น เห็นทีพระศรีสุพรรณมาธิราชจะได้แสดงกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังเช่นขึ้นไปนั่งทำภูมิดูอยู่บนศาลาท่าน้ำหรือบนตลิ่ง ให้พวกเขมรหมอบกราบตัวเองอยู่ ทำเหมือนไม่รู้จัก ซึ่งปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายทั่วไปว่าปราศจากความเคารพ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงขัดเคืองมาก ที่จริงจะแลเห็นได้ในพระราชพงศาวดารตรงนี้ว่าธรรมเนียมแต่ก่อนไม่ผิดกับเดี๋ยวนี้ ในการที่แสดงอัชฌาสัยต่อแขกเมือง ถ้าแขกเมืองไม่ทำอย่างน่าเกลียดจริงๆ สมเด็จพระนเรศวรเห็นจะไม่ตอบโต้ ลักษณะที่ตอบโต้นั้นเอง ก็แลเห็นได้ว่าแสดงแต่เป็นนัยยังไวอัชฌาสัยอยู่บ้าง ถ้าไม่ไวอัชฌาสัย ก็ให้ขุจตำรวจหรือมหาดเล็กไปว่ากล่าวให้พระศรีสุพรรณมาธิราชได้ความอัปยศในเวลานั้น

หนังสือพระราชพงศาวดารทำให้เข้าใจว่า เพราะเหตุอริที่เกิดคราวนี้ พระยาละแวกจึงให้เข้ามาตีเมืองปราจีนนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องเหตุคราวนี้ไม่เป็นการสำคัญ เหตุที่จริงพระยาละแวกยกมาตีเมืองปราจีนนั้น เพราะรู้ว่าพระเจ้าหงสาวดียกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่ากรุงศรีอยุธยาจะเสียอีก เขมรจึงพลอยซ้ำ เพราะฉะนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงขัดเคืองนัก


ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓

ศึกหงสาวดีที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้น หนังสือพงศาวดารทั้งปวงยุติต้องกันว่า พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ยกมาเอง ศักราชตามหนังสือพงศาวดารพม่าถูกต้องกับฉบับหลวงประเสริฐว่า ยกมาเมื่อปีจอ จุลศักราช ๙๔๘ พ.ศ. ๒๑๒๙

เรื่องราวที่พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ได้เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ ได้ความในหนังสือราชพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่กองทัพที่พระเจ้าหงสาวดีได้เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกกลับออกไป พระเจ้าหงสาวดีทรงพระวิตกมาก ปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า ถ้าไม่ปราบปรามกรุงศรีอยุธยาลงให้ได้ เมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะพากันเอาอย่างกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพใหญ่เข้ามาเอง เมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ จุลศักราช ๙๔๘ พ.ศ. ๒๑๒๙ จำนวนพลของพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาครั้งนั้น พงศาวดารพม่าว่า ๒๕๐,๐๐๐ ให้พระมหาอุปราชาอยู่รักษาพระนคร (แต่พงศาวดารไทยว่า พระมหาอุปราชามาด้วย)

ในพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรให้เก็บขนเสบียงตามหัวเมืองเข้ามารวบรวมไว้ในพระนคร และเกณฑ์คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทิน คอยต่อสู้โดยสามารถ พระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาตั้งล้อม และให้ยกพลเข้าปล้นพระนครหลายครั้ง ก็เข้าไม่ได้ด้วยไทยต่อสู้แข็งแรง ยิงไพร่พลพระเจ้าหงสาวดีล้มตายมากนัก ได้แต่ตั้งล้อมอยู่ ไทยก็หาเสบียงอาหารส่งเข้าไปในเมืองได้ไม่ขัดสน ด้วยกรุงศรีอยุธยามีลำน้ำไปมาได้หลายทาง พระเจ้าหงสาวดีไม่สามารถจะปิดทางไปมาให้เกิดความอัตคัดขึ้นในพระนครได้ ตั้งล้อมมาช้าวันเข้า ข้างพระเจ้าหงสาวดีเองกลับขัดสนเสบียงอาหาร จนไพร่พลเป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในกองทัพ

พอสมเด็จพระนเรศวรได้ทราบข่าวว่าข้าศึกหย่อนกำลังลงด้วยเกิดความเจ็บไข้อดอยาก ก็แต่งกองทัพออกปล้นค่ายทั้งกลางวันกลางคืน ฆ่าฟันไพร่พลพระเจ้าหงสาวดีล้มตายลงอีกเป็นอันมาก พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ ๗ เดือน เห็นจะเอาชนะไม่ได้ ปรึกษานายทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า เชิงศึกเสียเปรียบไทยลงทุกวัน พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เลิกทัพกลับไปเมืองหงสาวดี และขณะเมื่อพระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพกลับไปครั้งนั้น พงศาวดารพม่าว่าสมเด็จพระนเรศวรยกออกติดตามตีกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงหนองหลวง (แขวงเมืองอุทัยธานี) แล้วจึงคืนกลับพระนคร กองทัพพระเจ้าหงสาวดีครั้งนั้นยับเยินไปมาก ได้ความตามพงศาวดารพม่าดังนี้

ในหนังสือพระราชพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดียกมาคราวนี้ มาทางเมืองกำแพงเพชร เมื่อลงมาถึงนครสวรรค์ จึงแบ่งทัพบกออกเป็น ๒ กอง ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกลงมาทางฝั่งตะวันออกกอง ๑ พระเจ้าหงสาวดียกลงมาทางฝั่งตะวันตกกอง ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองทัพเรือและลำเลียงเสบียงอาหารลงมาทางลำแม่น้ำ กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนยี่ ก่อนกองทัพพระมหาอุปราชาลงมาถึง พระเจ้าหงสาวดีตั้งทัพทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ให้มังมอดราชบุตรกับพระยารามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ให้พระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทเลา ให้นันทสูตั้งทิศเหนือที่ขนอนบางลาง ครั้นกองทัพมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกมาถึงจึงให้ตั้งทางทิศตะวันออกที่ทุ่งชายเคือง (แต่ฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว)

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้ข่าวศึก ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาเป็นศึกใหญ่ มีกำลังมากนัก จะยกออกไปต้านทานกลางทาง เห็นไม่ได้เปรียบ จึงให้จัดการเตรียมรักษาพระนครเป็นที่มั่น และตั้งต้นตัดเสบียงอาหารข้าศึกก่อน ด้วยในเวลานั้นข้าวในท้องนายังเกี่ยวเก็บไม่แล้วเสร็จ จึงแต่งทหารกองอาสาให้แยกย้ายกันไปเที่ยวเร่งให้เกี่ยวข้าวเก็บเสบียงอาหาร รวบรวมเข้าไว้ในพระนคร ที่เอามาไม่ทันก็ให้ทำลายเสีย มิให้ข้าศึกได้ไปเป็นประโยชน์ กองทัพข้าศึกเข้ามาถึงชานพระนคร ในเวลาเกี่ยวข้าวในทุ่งหันตรายังไม่สำเร็จดี จึงเพิ่มกำลังให้เจ้าพระยากำแพงเพชรผู้ว่าที่สมุหกลาโหมคุมเป็นกองใหญ่ออกไปป้องกันคนเกี่ยวข้าว พระมหาอุปราชาให้กองทัพม้ามาตีกองทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตก เห็นจะเป็นครั้งแรกที่กองทัพไทยแตกคราวนั้น ในเวลาที่ไทยจะยังไม่หายครั้นคร้ามพระเจ้าหงสาวดีทีเดียว สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระพิโรธนัก ถึงจะให้ประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แล้วเสด็จยกออกไปตีทัพพระมหาอุปราชาเองโดยทันที เพื่อจะรักษาน้ำใจไทยมิให้ครั่นคร้ามต่อข้าศึกต่อไป

ในระหว่างตั้งแต่เดือนยี่ ปีจอ จนเดือน ๖ ปีกุน จุลศักราช ๙๔๙ พ.ศ. ๒๑๓๐ ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ไม่ได้กล่าวทีเดียวว่า ได้รบพุ่งกันอย่างไรบ้าง แต่ฉบับหลวงประเสริฐมีรายวันการรบ (แต่ผู้แต่งสำคัญผิดไปเป็นคราวหน้า ที่จริงเชื่อได้ว่าเป็นรายวันรบในคราวนี้ มีว่า)

ณ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เวลาตี ๑๑ เสด็จยกออกตีทัพพระยานครที่ปากน้ำพุทเลา (เห็นกำลังข้าศึกตรงนี้จะอ่อนกว่าที่อื่น) ข้าศึกแตกหนีได้ค่ายพระยานคร

ณ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จออกไปตั้งทัพซุ่ม ณ ทุ่งลุมพลี แล้วออกตีข้าศึก ได้รบพุ่งถึงตะลุมบอนกับม้าพระที่นั่ง ทรงพระเเสงทวนแทงเหล่าทหารข้าศึกตาย ข้าศึกพ่าย ไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงหน้าค่าย (ที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรรบลักไวทำมู น่าจะเป็นคราวนี้)

ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จทัพเรือไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ขนอนบางตะนาว พระมหาอุปราชาแตกพ่ายลงไปอยู่บางกระดาน

ณ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ เสด็จออกไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ตั้งอยู่บางกระดานแตกพ่ายไป

มีในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่าแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ เสด็จกระบวนช้างน้ำมันจะไปปลอมเข้าค่ายพระมหาอุปราชา ข้าศึกรู้ตัวเข้าไม่ได้ ที่ว่านี้เข้าใจว่า ที่จริงจะเป็นคราวเดียวกับที่ตีทัพพระมหาอุปราชาแตกที่บางกระดานนั้นเอง ต่อนี้ไปในฉบับหลวงประเสริฐยุติต้องกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า

ณ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เสด็จยกทัพชัยออกตั้งค่ายมั่นที่วัดเดช (ฉบับพระราชหัตถเลขาว่าวัดช่องลม)

ณ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงค่ายพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีต้านทานไม่ได้ ถอยกลับไปตั้งที่ป่าโมกใหญ่

ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อมาว่า ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ เสด็จยกทัพเรือตามขึ้นไปตีพระเจ้าหงสาวดีที่ป่าโมก รบพุ่งไม่แพ้ชนะกัน ต่อนี้หนังสือพระราชพงศาวดารทั้ง ๒ ฉบับ กล่าวต้องกันว่า พระเจ้าหงสาวดีให้เลิกทัพกลับไป

เนื้อเรื่องที่กล่าวในพระราชพงศาวดารไทยทั้ง ๒ ฉบับ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีรบพุ่งอย่างใด ดูเหมือนมาตั้งอยู่ให้ไทยรบฝ่ายเดียว ความจริงจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตั้งล้อมแล้ว คงจะได้ให้เข้าตีพระนครหลายครั้งอย่างว่าในพงศาวดารพม่า แต่ไทยสู้รบแข็งแรงเข้าไม่ได้ ต่อมากองทัพหงสาวดีก็เกิดความไข้เจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารลง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ด้วยการตัดเสบียงข้าศึกเป็นกลศึกสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรอย่างหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าข้าศึกหย่อนกำลังแล้ว ก็ยกออกไปตีกระหน่ำใหญ่อย่างว่าในพงศาวดารพม่า ที่ปรากฏรายวันการรบดังกล่าวมาต้องเข้าใจว่า เฉพาะแต่ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จเอง เชื่อได้ว่ายังมีกองอื่นๆที่จะผลัดเปลี่ยนกันออกไปปล้นค่าย และรังแกข้าศึกอีกหลายกองหลายคราว ด้วยวิสัยสมเด็จพระนเรศวร ถ้าเป็นเป็นทีแล้ว เป็นไม่ปล่อยให้ข้าศึกตั้งตัวได้เป็นอันขาด

ที่พงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีปรึกษา นายทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า เชิงศึกเสียเปรียบไทย จึงเลิกทัพกลับไป และว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ยกกองทัพออกติดตามตีไปจนถึงหนองหลวงนั้น เห็นว่าเป็นความจริง พระเจ้าหงสาวดีคงไปปรึกษานายทัพนายกองเมื่อถอยขึ้นไปตั้งอยู่ป่าโมกใหญ่ และที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัถตเลขาว่า สมเด็จพระนเรศวรยกตามตีกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมกนั้น เชื่อได้ตามพงศาวดารพม่า ที่จริงตามตีไปจนถึงหนองหลวง แล้วจึงเสด็จกลับ


ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๔

เรื่องศึกหงสาวดีครั้งนี้น่าสงสัยอยู่ ในหนังสือพงศาวดารมอญและพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ฉบับพระราชหัตถเลขายุติต้องกันว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ ถอบทัพกลับไปถึงหงสาวดีแล้ว พักอยู่ชั่วฤดูฝน พอถึงฤดูแล้ง ก็ให้เกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๕๐๐,๐๐๐ ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ๑ พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เมื่อขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๑๓ (ถ้าเอาศักราชฉบับหลวงประเสริฐเป็นเกณฑ์ควรจะเป็นปีชวด จุลศักราช ๙๕๐ พ.ศ. ๒๑๓๑) เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อสิ้นเดือนอ้าย พระเจ้าหงสาวดีตั้งทัพทิศเหนือที่บางปะหัน พระมหาอุปราชาตั้งทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่กุ่มดอง พระเจ้าแปรตั้งทัพทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่ทุ่งสีกุก พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งทัพทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่วัดสังฆาวาส

จดหมายเหตุการรบคราวนี้ มีในพระราชพงศาวดารน้อยเต็มที ปรากฏแต่ว่าคราว ๑ สมเด็จพระนเรศวรทรงม้าทวนกับทหารม้า ๓ กอง รวม ๑๐๐ เศษ ออกตีกองหน้าข้าศึกแตกฉาน ไล่ข้าศึกเข้าไปถึงหน้าค่าย สมเด็จพระนเรศวรทรงคาบพระเเสงดาบปีนค่ายข้าศึก ข้าศึกเอาทวนแทงตกลงมาหลายครั้ง เห็นจะขึ้นไม่ได้ จึงกลับเข้าพระนคร พระเจ้าหงสาวดีทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรทำการสงครามกล้าหาญองอาจนัก จึงให้ลักไวทำมูกับทหารทศ คุมกองทหารมาซุ่มคอยจับสมเด็จพระนเรศวร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกออกไปครั้งที่ ๒ ลักไวทำมูกับทหารทศคุมทหารเข้าล้อมรบสมเด็จพระนเรศวรถึงตะลุมบอน สมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงทวนแทงถูกลักไวทำมู และเอาพระแสงดาบฟันถูกทหารทศตายทั้ง ๒ คน ข้าศึกแตกพ่ายไปจึงเสด็จกลับคืนพระนคร ปรากฏรายการรบ ๒ คราวเท่านี้ แล้วก็ว่าพระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพกลับไป

เรื่องที่ว่าพระเจ้าหงสาวดียกมาคราวนี้ ในหนังสือพงศาวดารพม่าไม่มีทีเดียว ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐก็ไม่บอกว่ายกมาเป็น ๒ คราว เป็นแต่สอบวัน (ในสัปดวารวันอาทิตย์ วันจันทร์ เป็นต้น) ซึ่งกำกับค่ำ ปรากฏเวลาการศึก ตั้งแต่เดือนยี่ปีจอ จุลศักราช ๙๘๔ พ.ศ. ๒๑๒๙ ไปจนเดือน ๗ ปีชวด จุลศักราช ๙๕๐ พ.ศ. ๒๑๓๑ รวมถึง ๑๗ เดือน นานกว่าจะเป็นศึกคราวเดียว จึงชวนให้เข้าใจว่าพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ตั้งใจจะว่าเป็นการศึก ๒ คราวเหมือนกัน แต่ถ้าไม่นิยมด้วยวันสัปดวาร ฟังแต่รายการศึกกับค่ำและเดือน ความที่จดไว้ในฉบับหลวงประเสริฐสมเป็นศึกคราวเดียว แม้เรื่องสมเด็จพระนเรศวรปีนค่ายและรบลักไวทำมูก็อยู่ในคราวแรก ดังข้าพเจ้าได้จดบอกไว้ที่อื่นแล้ว ตรงนี้อาจจะจริงอย่างพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ยกมาแต่คราวเดียว เหตุที่เราเข้าใจว่ามา ๒ ครั้ง เพราะมาตั้งทำศึกข้ามปี ตั้งแต่เดือนยี่ ปีจออัฐศก จนถึงเดือน ๗ ปีกุนนพศก จดหมายเหตุแรกของไทยเราลงเป็น ๒ ปี เมื่อรวบรวมจดหมายเหตุแต่งเป็นเรื่องพระราชพงศาวดารผู้แต่งจึงเรียงเรื่องแยกเป็น ๒ คราว

ถ้าพระเจ้าหงสาวดียกมา ๒ คราว จริงดังกล่าวในพระราชพงศาวดารไทย การที่รบพุ่งกันในคราวหลังนี้ บางทีจะเป็นอย่างข้างตอนต้น ที่พงศาวดารพม่าเอาไปลงไว้ ว่าพระมหาอุปราชายกเข้ามาคราวแรก เมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๔๗ พ.ศ. ๒๑๒๘ คือพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาล้อมพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรตั้งมั่นต่อสู้อย่างคราวก่อน พระเจ้าหงสาวดีจะตีหักเอาพระนครไม่ได้ ก็รับเลิกทัพกลับไป ไม่ทันไพร่พลอดอยากเสียเชิงไทยอย่างคราวก่อน

ในพงศาวดารพม่ามีเรื่องแปลกอยู่เรื่อง ๑ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อน ว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์กลับไปถึงเมืองหงสาวดี ให้รื้อป้อมและกำแพงเมืองหงสาวดีแก้ไขใหม่ เอาอย่าฝงป้อมกำแพงกรุงศรีอยุธยาไปทำ ด้วยเห็นว่าแข็งแรงมั่นคงมาก ข้อนี้เชื่อได้ว่าจริง และเป็นพยานว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตั้งล้อมพระนครศรีอยุธยาอยู่ คงได้ให้เข้าตีปล้นพระนครหลายครั้ง แต่เข้าไม่ได้ด้วยพระนครมั่นคง


เรื่องตีเมืองละแวก

หนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับยุติต้องกันว่า ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น พระยาละแวก ให้ฟ้าทะละยกกองทัพลอบเข้ามาตีได้เมืองปราจีนบุรี เมื่อเดือน ๖ ปีกุน ศักราช ๙๔๙ พ.ศ. ๒๑๓๐ เป็นเวลาศึกหงสาหย่อนกำลังลงแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงให้พระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาสีหราชเดโชชัยยกกองทัพไปถึงทัน เมื่อกองทัพเขมรตีตีเมืองนครนายก ได้รบพุ่งกัน กองทัพเขมรแตกพ่าย ไทยไล่ติดตามไปจนถึงชายเเดน

ได้ความตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐต่อมาว่า วันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๓ ปีกุน จุลศักราช ๘๔๙ พ.ศ. ๒๑๓๐ เสด็จไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง แล้วเสด็จไป (ตีเมือง) ละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก ดังนี้ เรื่องสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองละแวกครั้งแรก หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า เสด็จเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ผ่านพิภพแล้ว ลงศักราชไว้ว่า ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ (ยังก่อนเวลาที่ว่าไว้ในฉบับหลวงประเสริฐ) กล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้พระราชมนูเป็นกองทัพหน้ายกไปตีเมืองละแวก พระยาละแวกให้มารักษาเมืองโพธิสัตว์ เมืองปัตตะบอง ตั้งซุ่มกองทัพไว้ พระราชมนูกองหน้ายกถลำเข้าไป ข้าศึกออกโจมตีแตกพ่ายเข้ามาจนถึงทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธพระราชมนู จะให้ประหารชีวิตเสีย สมเด็จพระเอกาทศรถทูลขอชีวิตไว้ จึงให้พระราชมนูยกไปตีเมืองปัตตะบอง เมืองโพธิสัตว์แก้ตัว พระราชมนูตีได้ทั้ง ๒ เมืองแล้ว ทัพหลวงยกเข้าไปถึงเมืองละแวกตั้งล้อมเมืองอยู่ กองทัพหลวงขัดเสบียงอาหารลง จึงยกกลับคืนมาพระนคร

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรยกไปตีเมืองละแวกคราวนี้ ไม่ปรากฏในหนังสือพงศษวดารเขมร แต่เชื่อได้ว่าได้ยกไปจริง หนังสือพระราชพงศาวดารไทยผิดกันแต่ฉบับหลวงประเสริฐว่า ไปตีในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่ฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า ไปตีเมื่อสมเด็จพระนเรศวรผ่านพิภพแล้ว ควรเชื่อตามฉบับหลวงประเสริฐเพราะศักราชไม่คลาดเคลื่อน


สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชธิราช

ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (เรียกตรงนั้นว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพฤฒา(ธิ)ราช) สวรรคต วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ (วันตรงกับฉบับพระราชหัตถเลขา) ปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ อยู่ในราชสมบัติ ๒๑ ปี พระชันษา ๗๕ ปี ในแผ่นนี้ตอนต้น กรุงศรีอยุธยาชาตาตกต่ำถึงขีดสุด ซึ่งเคยปรากฏในพงศาวดารคราว ๑ จนต้องลงเป็นเมืองขึ้นของต่างประเทศ แต่ในแผ่นดินนี้เองเหมือนกัน ที่ได้แลเห็นไทยพากเพียรทำสงครามเอาอิสระกลับคืนมาได้ จึงนับว่าเป็นรัชกาลที่สำคัญรัชกาล ๑ ในพงศาวดารของเมืองไทย




....................................................................................................................................................

(๑) เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์สวรรคต บุเรงนองต้องหนีไปเมืองตองอู(เมืองเดิมที่พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ตั้งตัวขึ้นมาได้) ในขณะนั้นน้องชายบุเรงนองได้ครองเมืองตองอู ก็ไม่ยอมมอบเมืองให้บุเรงนอง ต่อมาพวกมอญที่ได้เมืองหงสาวดีกลับคืนมาเกิดแก่งแย่งฆ่าฟันกันขึ้น ผู้คนก็กลับไปนิยมบุเรงนองอพยพหนีเข้ามาหา ด้วยยังยกย่องว่าเป็นแม่ทัพมีสติปัญญากล้าหาญ เมื่อมีกำลังขึ้นบุเรงนองก็ยกเข้าชิงเมืองตองอูได้ (แต่ไม่ได้ทำอะไรน้องชาย) ตั้งตัวได้ที่เมืองตองอู และต่อมาได้ยกมาปราบเมืองหงสาวดีเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากยอดินนรธา ก็ให้พระราชอนุชาเป็นพระเจ้าตองอูครองเมืองประเทศราชตองอู - กัมม์



แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช


..................................................................................................................................................................................
โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:10:17:18 น.
  
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ตอน แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช


ครั้งเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา

ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ทำการปราบดาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา อนึ่งเมื่อพระเจ้าหงสาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงสานั้น พระเจ้าหงสาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย

ศักราช ๙๓๒ มะเมียศก (พ.ศ.๒๑๑๓) พระยาละแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุธยา พระยาละแวกยืนช้างตำบลสามพิหารและได้รบพุ่งกัน และชาวเมืองพระนครยิงปืนออกไปต้องพระยาจัมปาธิราชตายกับคอช้าง ครั้งนั้นเศิกพระยาละแวกเลิกทัพกลับคืนไป ในปีนั้นน้ำ ณ กรุงพระนครศรีอยุธยามาก

ศักราช ๙๓๓ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) น้ำน้อย อนึ่งสมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก

ศักราช ๙๓๔ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๑๕) น้ำน้อยมาก

ศักราช ๙๓๕ ระกาศก (พ.ศ. ๒๑๑๖) น้ำน้อยเป็นมัธยม

ศักราช ๙๓๖ จอศก (พ.ศ. ๒๑๑๗) น้ำมากนัก ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิษ

ศักราช ๙๓๗ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๑๘) พระยาละแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุธยา ในวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑ นั้น ชาวเมืองละแวกตั้งทัพเรือตำบลพะแนงเชิง และได้รบพุ่งกันครั้งนั้นเศิกละแวกด้านมิได้เลิกทัพกลับไป และจับเอาคน ณ เมืองปักษ์ใต้ ไปครั้งนั้นมาก ในปีนั้นน้ำ ณ กรุงศรีอยุธยาน้อย

ศักราช ๙๔๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑) พระยาละแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรี มิได้เมือง และชาวละแวกนั้นกลับไปครั้งนั้นพระยาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองละแวก มาสู่พระราชสมภาร ครั้นอยู่มาพระยาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง

ศักราช ๙๔๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๒๓) รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ

ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔) มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมากและยกมาจากลพบุรี และยืนช้างอยู่ตำบลหัวตรี และบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้น ยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง และในปีนั้นมีหนังสือมาแต่เมืองหงสาว่า ปีมะเส็งตรีนิศกนี้ อธิกมาสมิได้ ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยานี้มีอธิกมาส

อนึ่งในวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงสานฤพาน อนึ่งในเดือน ๓ นั้น พระยาละแวกยกพลมาเมืองเพชรบุรี ครั้งนั้นเสียเมืองเพชรบุรีแก่พระยาละแวก

ศักราช ๙๔๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๑๒๕) พระยาละแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลายด่านตะวันออก

ศักราช ๙๔๕ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๒๖) ครั้งนั้นเกิดเพลิงไหม้แต่จวนกลาโหม และเพลิงนั้นลามไปเถิงในพระราชวัง และลามไหม้ไปเมืองท้ายเมือง ครั้งนั้นรู้ข่าวมาว่า ข้าหงสาทำทางมาพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๒๗) ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงสากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงสาและอยู่ในวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน และงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย และโหรทำนายว่าห้ามยาตรา และมีพระราชโองการตรัสว่าได้ตกแต่งการนั้นสรรพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป

ครั้งเถิง ณ วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกตั้งทัพชัยตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชรในวันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแกรง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุธยา

ฝ่ายเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ในวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกนั้น ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่งเห็นสตรีภาพผู้หนึ่ง หน้าประดุจหน้าช้าง และทรงสัณฐานประดุจวงช้างและหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ ณ วัดประสาท หัวเมืองพิษณุโลก อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มตายลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่งเห็นตักแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมาก และบังแสงพระอาทิตย์บดมาแล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง ลงมายังกรุงพระนครศรีอยุธยา ในปีเดียวนั้นพระเจ้าหงสาให้พระเจ้าสาวถี และพระยาพสิม ยกพลลงมายังกรุงพระนคร

และ ณ วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงสาแตกพ่ายหนีไป อนึ่งม้าตัวหนึ่งตกลูกและศรีษะม้านั้นเป็นศรีษะเดียวกัน แต่ตัวม้านั้นเป็น ๒ ตัว และเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศรีษะแก่กัน

ศักราช ๙๔๗ ระกาศก (พ.ศ. ๒๑๒๘) พระเจ้าสาวถียกพลลงมาครั้งหนึ่งเล่า ตั้งทัพตำบลสะเกษ และตั้งอยู่แต่ ณ เดือนยี่ เถิงเดือน ๔ ครั้งเถิงถึงวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ เวลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกาบาท เสด็จพยุหบาตราตั้งทัพชัยตำบลหล่มพลี

แล ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จจากทัพชัยโดยทางชลมารคไปทางป่าโมก มีนกกระทุงบินมาทั้งซ้ายขวาเป็นอันมากนำหน้าเรือพระที่นั่งไป

ครั้นเถิงวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีป ออกดาช้างม้าทั้งปวงอยู่ ณ ริมน้ำ และพระอาทิตย์ทรงกลด และรัศมีกลดนั้นส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่งมีทรงสัญฐานประดุจเงากลดนั้นมากั้นช้างพระที่นั่ง ครั้งนั้นตีทัพพระเจ้าสาวถีซึ่งตั้งอยู่ตำบลสะเกษนั้นแตกพ่ายไป ในปีเดียวนั้นพระมหาอุปราชายกพลมาโดยทางกำแพงเพชร ตั้งทำนาอยู่ที่นั้น

ศักราช ๙๔๘ จอศก (พ.ศ. ๒๑๒๙) ณ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ พระเจ้าหงสางาจีสยาง ยกพลลงมาเถิงกรุงพระนคร

ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ และพระเจ้าหงสาเข้าล้อมพระนคร และตั้งทัพตำบลขนอนปากคู และทัพมหาอุปราชาตั้งขนอนบางตนาว และทัพทั้งปวงนั้นก็ตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ และครั้งนั้นได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ และพระเจ้าหงสาเลิกทัพคืนไป

ในศักราช ๙๔๙ (พ.ศ. ๒๑๓๐) นั้น วันจันทร์แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จโดยทางชลมารค ไปตีทัพมหาอุปราชาอันตั้งอยู่ขนอนบางตนาวนั้น แตกพ่ายลงไปตั้งอยู่ ณ บางกระดาน

วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราชาอันลงไปตั้งอยู่ ณ บางกระดาน นั้นแตกพ่ายไป

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เสด็จพระราชดำเนิน พยุหบาตราออกตั้งทัพชัย ณ วัดเดช และตั้งค่ายขุดคูเป็นสามารถ

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงสา ๆ ต้านมิได้ ก็เลิกทัพไปตั้ง ณ ป่าโมกใหญ่

วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก เข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงสานั้น

วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเป็นทัพซุ่ม ณ ทุ่งหล่มพลี และออกตีทัพข้าศึก ครั้งนั้นได้รบพุ่งตะลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง และทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย ครั้นข้าศึกเศิกแตกพ่ายเข้าค่ายและไล่ฟันแทงข้าเสิกเข้าไปจนถึงหน้าค่าย

วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง เสด็จยกทัพออกไปตีทัพพระยา นคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ปากน้ำมุทุเลานั้น ครั้งนั้นเข้าตีทัพได้เถิงในค่าย และข้าเศิกพ่ายหนีจากค่ายข้าเศิกเสียสิ้น แลพระเจ้าหงสาก็เลิกทัพคืนไป และพระยาละแวกมาตั้ง ณ บางซาย ครั้งนั้น เสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน

เถิงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง แล้วเสด็จไปละเวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก

ศักราช ๙๕๐ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๓๑) ณ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ แผ่นดินไหว

ศักราช ๙๕๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๓๒) ข้าวแพงเป็นเกวียนละสิบตำลึง ปิดตราพระยานารายณ์กำชับ ณ วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๒ แผ่นดินไหว

ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓) วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพฤตาราชนฤพาน

วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลจระเข้สามพัน
โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:10:28:53 น.
  
ขออนุญาต add blog นะคะ

กำลังอยากอ่านประวัติศาสตร์ช่วงนี้อยู่พอดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ
โดย: BFBMOM วันที่: 7 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:23:08 น.
  
ด้วยความยินดีครับ
ตามไป AddBlog คืนแล้วจ้า
โดย: กัมม์ วันที่: 10 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:26:01 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด