คำให้การชาวอังวะ
คำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔

หนังสือซึ่งเรียกว่า “คำให้การ” เหล่านี้ เป็นจดหมายเหตุประเภท ๑ ซึ่งรัฐบาลให้ถามเรื่องราวไว้จากผู้ที่รู้เห็น ด้วยประเพณีแต่ก่อนมา ถ้ารัฐบาลใดได้ชาวต่างประเทศที่รู้การงานบ้านเมืองมาก็ดี หรือแม้ชนชาวประเทศของตนเอง ได้ไปรู้เห็นการงานบ้านเมืองต่างประเทศมาก็ดี ถ้าและการงานบ้านเมืองต่างประเทศนั้นเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลต้องการจะรู้ ก็เอาตัวชาวต่างประเทศหรือชาวเมืองของตนที่ได้ไปรู้เห็นการงานมา ให้เจ้าพนักงานซักไซ้ไต่ถามข้อความที่อยากจะรู้ และจดเป็นคำให้การขึ้นเสนอต่อรัฐบาล

ประเพณีอันนี้เห็นจะมีเหมือนกันทุกประเทศ ด้วยมีหนังสือทำนองคำให้การอย่างว่านี้ในจำพวกหนังสือไทยเก่าๆ หลายเรื่อง เช่นเรื่องขุนสิงหลได้หนังราชสิงห์ และเรื่องขุนการเวกไปบูชาพระเมาฬีเจดีย์ ณ เมืองหงสา อันติดอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือนั้นเป็นต้น ต่อมาในสมัยเมื่อไทยกับพม่าเป็นข้าศึกทำสงครามขับเคี่ยวกัน วิธีที่ถามคำให้การเช่นกล่าวมานี้ยิ่งเป็นการสำคัญขึ้น เพราะเป็นทางที่จะได้ความรู้ภูมิประเทศและรู้กำลัง ตลอดจนพงศาวดารและขนบธรรมเนียมข้าศึก พม่าจับไทยไปได้ก็เอาไปถามคำให้การ ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้สำเนาฉบับหลวงมาแต่เมืองพม่า ได้ให้แปลและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ส่วนข้างไทยเราเมื่อจับพม่าข้าศึกมาได้ หรือได้คนซึ่งไปรู้เห็นการงานเมืองพม่ามา ก็เอาตัวถามคำให้การเรื่องเมืองพม่าเหมือนกัน หนังสือคำให้การว่าด้วยเรื่องราวและกิจการในประเทศต่างๆ มีสำเนาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายเรื่อง กรมการได้รวบรวมพิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคอื่นแล้วก็มี

ส่วนคำให้การ ๒ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คำให้การมะยิหวุ่น เป็นคำให้การของแม้ทัพพม่าที่ไทยจับมาได้จากเมืองเชียงราย เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพนักงานถามคำให้การขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

มะยิหวุ่นคนนี้ ในหนังสือเก่าเรียกชื่อหลายอย่าง บางแห่งเรียกว่า อาระปะกามะนี บางแห่งเรียกว่า มะยิหวุ่น บ้าง โปมะยุง่วน บ้าง สอบสวนได้ความว่าที่เรียก อาปะระกามะนีนั้นตามบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่ามะยิหวุ่นนั้นตามยศที่เป็นเจ้าเมือง คำว่าโปแปลว่านายพล เพราะฉะนั้นที่เรียกว่า โปมะยุง่วน คือ โปมะยิหวุ่น หมายความว่าเจ้าเมืองผู้เป็นนายพล คำข้างหลังทั้ง ๒ นี้เห็นจะเป็นคำคนพื้นเมืองเรียก อย่างไทยเราเรียกว่า “เจ้าคุณ” หรือ “เจ้าคุณแม่ทัพ” ชื่อที่พม่าเข้าเรียกในพงศาวดารเรียกว่า อาปะระกามะนี ตามบรรดาศักดิ์

ประวัติของอาปะระกามะนีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้น เดิมเป็นขุนนางอยู่เมืองอังวะ ครั้นเมื่อปะมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๒๔ พ.ศ. ๒๓๐๕ สมัยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ครองกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอังวะมังลอกผู้เป็นราชโอรส ได้ครองราชย์สมบัติสืบวงศ์พระเจ้าอลองพญา ให้ติงจาแมงข่อง และมังมหานอรธา กับอาปะระกามะนีคนนี้ คุมกองทัพพม่าเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นดูเหมือนจะเป็นอิสระอยู่ เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าอังวะจึงตั้งให้อาปะระกามะนีเป็นมะยิหวุ่น ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ต่อมา ตั้งแต่นั้นเมื่อพม่ายกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยคราวใด อาปะระกามะนีก็ได้เป็นนายพลคุมพวกเมืองเชียงใหม่มาช่วยรบไทยด้วยทุกคราว

ตลอดมาจนถึงครั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพหน้า ครั้งนั้นพม่าแต่งให้พระยาจ่าบ้าน กับพระยากาวิละ ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกชาวเชียงใหม่ คุมพลลงมาต่อสู้กองทัพกรุงธนบุรี พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละกลับมาสามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เข้ามาสมทบกองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ อาปะระกามะนีกับพวกพม่าเสียเมืองแล้วก็พากันถอยหนีขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองเชียงแสน แล้วลงมรบกวนหัวเมืองข้างฝ่ายเหนืออีกหลายคราว

จนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระเจ้าอังวะปะดุงจัดกองทัพพม่ามาเพิ่มเติมเข้ามาสมทบกองทัพอาปะระกามะนี ให้ยกกองทัพลงมาตีเมืองฝางในมณฑลพายัพ ในเวลานั้นพวกชาวมณฑลพายัพเอาใจมาเข้าข้างไทยเสียหมดแล้ว อาปะระกามะนีเกณฑ์กองทัพ ผู้คนพลเมืองก็พากันหลบเลื่อมระส่ำระสาย ครั้นกองทัพพม่าที่มาจากเมืองอังวะไปตั้งอยู่เมืองฝาง ทางเมืองเชียงแสน พวกชาวเมืองมีพระยาแพร่(มังไชย) พระยายอง และพระยาเชียงรายเป็นหัวหน้า เห็นได้ทีจึงระดมตีพวกพม่าที่ยังเหลืออยู่ จับได้ตัวอาปะระกามะนีส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ กรุงเทพมหานครฯ จึงได้โปรดให้ถามคำให้การที่พิมพ์นี้

คำให้การของอาปะระกามะนี เมื่อถามจะเป็นกี่ตอนกี่เรื่องยังทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับไว้แต่ตอนที่เล่าถึงพงศาวดารพม่าตอนเดียว สำนวนภาษาไทยที่เรียบเรียงคำให้การอาปะระกามะนี ผู้ใดจะเรียบเรียงไม่ทราบ แต่มีลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชมไว้ในต้นฉบับดังนี้ว่า

“สมุดนี้เป็นสมุดเก่า สำนวนเก่า เรียงแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใครเรียงไม่รู้เลย แต่เห็นว่าถูกต้องที่ใช้ แก่ กับ ถึงจะมีคำที่ไม่ควรใช้ บุตรสาว พระสาว ลูกเจ้า อยู่บ้างก็ดี คำว่า กับ กับ กับ กับ ถี่ไป อย่างหนังสือทุกวันนี้ไม่เห็นมีเลย ใช้กับและแก่ถูกทุกแห่ง ให้อาลักษณ์คัดไว้เป็นตัวอย่างแล้วส่งสมุดคืนมา สมุดนี้ก็มิใช่สมุดเดิม เป็นฉบับเขาลอกเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดอก”

ตามพระราชหัตถ์เลขาที่ปรากฏมาดังนี้ ควรนับถือว่าหนังสือเรื่องคำให้การมะยิหวุ่นนี้ เป็นหนังสือแต่งดีด้วยอีกสถาน ๑ หนังสือเรื่องนี้ หม่อมเจ้าธานีนิวัติ กับหม่อมเจ้าชายหญิงในพระบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ได้เคยพิมพ์แจกในงานทำศพสนองคุณหม่อมเอมมารดาครั้ง ๑ แล้ว เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ แต่พิมพ์เป็นเรื่องต่างหาก ข้าพเจ้าได้เรียกชื่อเรื่องเมื่อพิมพ์ครั้งนั้นว่า “คำให้การชาวอังวะ” ยังหาได้รวมไว้ในประชุมพงศาวดารไม่ จึงพิมพ์รวมไว้เสียงในครั้งนี้ เพื่อจะให้เป็นการสะดวกแก่ผู้ศึกษาโบราณคดี

คำให้การมหาโค มหากฤชนั้น มหาโคเป็นไทยชาวกรุงเก่า พม่าจับเอาไปกับพระเจ้าอุทุมพร คือขุนหลวงหาวัด (ในคำให้การเรียกว่าเจ้าวัดประดู่) ไปพลัดกันที่เมืองแปร มหาโคตกค้างอยู่ที่นั่น ได้โอกาสจึงบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายพรรษา แล้วสึกออกมาได้ภรรยามีลูกชาย คือ มหากฤช ทั้งพ่อลูกพึ่งบุญในพระมเหสีของพระเจ้ามังระ ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าจิงกูจา อยู่มาจนเจ้านายสิ้นบุญแล้ว ค่อยหลบเลี่ยงจากราชธานีของพม่ามาโดยลำดับ แล้วบวชเป็นพระพากันหนีมาเมืองไทยทางเมืองเชียงใหม่ มาถึงกรุงเทพฯในรัชการที่ ๒ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๕๓ เจ้าพนักงานจึงถามคำให้การในเรื่องประวัติของพระมหาโค มหากฤช ตลอดจนเรื่องราวเหตุการณ์ในเมืองพม่า ในเวลามหาโค มหากฤชอยู่ที่นั่น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มูลเหตุของคำให้การทั้ง ๒ เรื่องมีดังกล่าวมานี้

คำที่เรียกว่า มหาโค มหากฤช บางทีจะชวนให้ผู้อ่านสงสัยว่าเป็นเปรียญหรืออย่างไร จึงเรียกว่า “มหา” ข้อนี้ได้ทราบมาว่า แต่ก่อนคำว่า มหา ไม่ได้เรียกเฉพาะแต่เปรียญ พระภิกษุองค์ใดซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปการแล้ว ถ้าเป็นอนุจรก็เรียกว่ามหาทั้งนั้น จะยกตัวอย่าง เช่นสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ท่านไม่ได้เข้าแปลหนังสือ แต่ว่าเทศน์เพราะมาแต่เป็นสามเณร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระเมตตา โปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เรียกกันว่ามหาโตแต่นั้นมา มหาโค มหากฤชนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เห็นจะทรงอุปการด้วยพากเพียรหนีข้าศึกกลับมาบ้านเมือง จึงได้เรียกว่ามหาทั้ง ๒ องค์ ใช่วิสัยที่จะแปลหนังเป็นเปรียญได้ในทันที

.................................................................................................................................


คำให้การชาวอังวะ

ข้าพระพุทธเจ้า มะยุหวุ่น ขอพระราชทานทำกฎหมายเหตุ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจำได้ ทูลเกล้าฯ ถวาย
แต่ครั้งบุตรเจ้าอาทิตย์ได้เสวยราชสมบัติเมืองรัตนบุรอังวะ แต่ก่อนเมืองหงสาวดีขึ้นแก่เมืองอังวะ เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๙ ปี เจ้าเมืองรัตนบุรอังวะจึงตั้งสาอ่องไปเป็นเจ้าเมือง ให้นายแซงหมู่กรมช้างเป็นปลัดเกียกกายเมืองหงสาวดี ราษฎรทั้งปวงเป็นใจรักใคร่ นางแซงหมู่คิดกบฏจับเอาตัวนายสาอ่องฆ่าเสีย นายแซงหมู่จึงขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าเมืองหงสาวดี ตั้งให้น้องชายคนหนึ่งเป็นพระยาอุปราชา เป็นแม่ทัพเรือขึ้นไปตีเมืองรัตนบุรอังวะ น้องชายคนหนึ่งตั้งให้เป็นพระยาทะละ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตีเมืองรัตนบุรอังวะในปีนั้น ล้อมเมืองรัตนบุรอังวะ ๓ ปี จนถึงศักราชได้ ๑๑๑๔ ปี จึงได้เมืองอังวะ

แล้วพระยาอุปราชาจึงเอาตัวเจ้าเมืองอังวะและญาติวงศ์ลงไปเมืองหงสาวดี แต่พระยาทะละกับตละป้านอยู่ในเมืองอังวะ ชำระกิจการบ้านเมืองได้ความว่าอ่องเจยะมังลอง ซ่อมสุมผู้คนสิบสี่บ้านประมาณคนสี่พัน ห้าพัน เอาต้นตาลตั้งค่ายที่มุกโซโบ พระยาทะละกับตละป้านใช้ให้นายกองคุมไพร่พันห้าร้อยไปสืบข่าว พบคนมังลองนั่งทางอยู่ที่บ้านบอกสอด ใกล้กันกับมุกโซโบทาง ๘๐๐ ได้รบกัน รามัญแตกกลับไปเมืองอังวะ พระยาทละเกณฑ์ให้ตละป้านเป็นแม่ทัพ กับกะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบประมาณคนรามัญห้าพัน พม่าหมื่นห้าพัน เป็นคนสองหมื่น ยกไปล้อมมุกโซโบสิบห้าวัน

ฝ่ายกองทัพรามัญขาดเสบียงอาหารฆ่ากระบือวัวกิน อดอยากเป็นอันมาก มังลองยกกองทัพออกตีทัพรามัญแตกหนีไปเมืองอังวะ มังลองจึงเกณฑ์ให้ตามไปแต่เช้าจนตะวันเที่ยง ได้เครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก แล้วพระยาทะละเกณฑ์ให้ตละปัน อำมาจย์กะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบ กับรามัญห้าพัน พม่าห้าพัน ให้รักษาเมืองรัตยบุรอังวะ พระยาทะละเก็บเอาเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อย ครอบครัวไพร่พลลงไปเมืองหงสาวดีทางเรือ ไกลกันกับเมืองอังวะสิบวัน มังลองจึงให้แมงละแมงฆ้อง ไพร่พันห้าร้อยยกไปกองหนึ่ง เสนัดหวุ่นกับไพร่พันห้าร้อยยกไปกองหนึ่ง เป็นคนสามพัน ไปกวาดต้อนได้ไพร่พลเมืองสิบสี่เมืองอยู่ในแขวงอังวะแต่เมืองหนึ่งๆ ประมาณคนพันหนึ่ง สองพัน สามพัน สี่พัน ห้าพันบ้าง เข้ากันแต่พลเมืองเป็นคนสองหมื่น ได้บ้านในแขวงเมืองอังวะทางใกล้กันกับมุกโซโบทางวันหนึ่งสองวันสามวันบ้าง ยี่สิบบ้าน บ้านหนึ่งได้คนร้อยหนึ่ง สองร้อย สามร้อย สี่ร้อย ห้าร้อย พันหนึ่งบ้าง แต่บ้านได้ไพร่หมื่นหนึ่ง เข้ากันทั้งเมืองและบ้านแต่กวาดต้อนเกณฑ์มาได้เป็นคนสามหมื่น ช้าอยู่สิบห้าวัน ครั้นกองทัพกวาดคนมาถึงมุกโซโบสามวัน ให้เร่งยกกองทัพไปล้อมเมืองอังวะ มังลองจึงให้เสนาบดีแมงละแมงฆ้องเป็นแม่ทัพหน้า กับแซงแนงโบ ไพร่หมื่นหนึ่ง แมงมหาเสนาบดี เสนัดหวุ่นเป็นโปชุกแม่ทัพหลวง มองระบุตรมังลองกับคนสองหมื่นบังคับทัพทั้งปวง ยกไปล้อมเมืองอังวะ รบกันห้าวัน ตละป้านแตกหนีออกจากเมืองอังวะ ไปตั้งมั่นรับอยู่เมืองเปรใต้เมืองอังวะลงมาทางเจ็ดคืน มังลองจึงให้มองระผู้บุตรนั่งเมืองอังวะอยู่

ครั้นศักราชได้ ๑๑๑๕ ปี เดือน ๕ เจ้าเมืองหงสาวดี จึงให้พระยาอุปราชาน้องชายเป็นแม่ทัพ กับตละป้าน กะตุกหวุ่นตอถ่อกะละโบ เป็นกองหน้ายกทางบกทางเรือขึ้นมาล้อมเมืองอังวะ มองระใช้ให้คนถือหนังสือไปถึงมังลองผู้เป็นบิดา ว่ารามัญยกกองทัพพลทหารขึ้นมาล้อมเมืองอังวะเป็นอันมาก อ่องเจยะมังลองจึงเกณฑ์ให้ยกกองทัพมาช่วยรบรามัญซึ่งล้อมเมืองไว้นั้น เป็นสามทาง ทางตะวันออกให้แมงละแงกับไพร่สองพันเป็นกองหน้า ให้เจ้าตองอูน้องมังลองกับไพร่พันหนึ่ง เป็นแม่ทัพยกมาทางบกทางหนึ่ง แต่มุกโซโบไปเมืองอังวะไกลกันทางสองคืนสามวัน ทางน้ำเป็นเรือใหญ่น้อยร้อยห้าสิบลำ พร้อมไปด้วยปืนใหญ่ปืนน้อย เครื่องศัสตราวุธลูกกระสุนดินประสิว จึงให้มะโยลาวุทมัตราโปกับไพร่สองพันห้าร้อยกับเรือแปดสิบลำเป็นกองหน้า อัครมหาเสนาบดีเสนัดหวุ่น กับไพร่พันห้าร้อยกับเรือเจ็ดสิบลำเป็นแม่ทัพ ยกลงมาครั้งนั้นทางบกทางเรือตะวันตกตะวันออกเป็นเรือร้อยห้าสิบลำ คนหมื่นหนึ่ง จากมุกโซโบทางแปดร้อย

ถึงตำบลบ้านจอกยอง กองทัพเรือรามัญประมาณร้อยเศษ นายทัพนายกองสมิงรามัญไพร่พลทหารประมาณหมื่นเศษ ได้รบกันกับกองทัพพม่าทั้งบกทั้งเรือช้าอยู่ที่นั่นสิบห้าวัน กองทัพตละป้านอำมาตย์ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือแตกหนี ถอยทัพลงไปที่ล้อมเมืองอังวะ กองทัพพม่าติดตามลงไปตีเมื่อศักราชได้ ๑๑๖ ปี เดือนหกขึ้นสิบค่ำ พระยาอุปราชา สมิงรามัญ นายทัพนายกองซึ่งล้อมเมืองอังวะนั้นแตกถอยทัพไปตั้งมั่นรับอยู่ ณ เมืองแปร

เมื่อศักราชได้ ๑๑๑๖ ปี เดือนหกแรมสิบค่ำ เวลาบ่าย เกิดพายุฝนห่าใหญ่ตก ฟ้าผ่าลงมาในวันเดียวนั้น ๑๖ หน ผ่าลงที่เสาติดกระดานแผ่นทองเขียนเป็นอักษรชื่อนามเมืองในประตูเมืองที่ ๑ ผ่าเสาเบญจพาศข้างต้นที่ ๒ ผ่าซุ้มประตูปราสาทที่ ๓ ผ่าต้นแคในวังที่ ๔ ผ่าลงมุขปราสาทที่ ๕ ผ่าลงหอกลางที่ ๖ ผ่าเสากุฎีที่ ๗ ผ่าพระเจดีย์ที่ ๘ ผ่าเพนียดช้างที่ประตูหอจันที่ ๙ ผ่าลงซุ้มประตูเมืองที่ ๑๐ ผ่าลงที่สระในวังที่ ๑๑ ผ่าลงที่เรือนไพร่ในเมืองที่ ๑๒ ผ่าต้นตาลในเมืองที่ ๑๓ ผ่าต้นโพธิในเมืองที่ ๑๔ ผ่าต้นมะขามป้อมในเมืองที่ ๑๕ ผ่าลงที่กระดานแผ่นทองที่จารึกปิดไว้ตรงหน้าประตูวังแต่ครั้งมังลองได้เป็นเจ้า สร้างปราสาท ตั้งกำแพงเมืองปีเดือนวันคืนที่จารึก ศักราช ๑๑๑๕ ปี เดือนสิบสองขึ้นค่ำหนึ่งนั้นที่ ๑๖

มังลองจึงหาเสนาบดีพราหมณ์ปโรหิตโหราพฤฒามาตย์มา มังลองจึงถามว่า ฟ้าผ่าลงที่เมืองมุกโซโบวันเดียวแต่ตะวันบ่ายไปจนเย็น ๑๖ หนดังนี้ ผู้ใดใครได้พบเห็นเหตุเป็นประการใดบ้าง โหราพราหมณ์ปโรหิตทำนายว่า มังลองจะมีบุญญาธิการ จะได้ปราบยุคเข็ญ ซึ่งเป็นเสี้ยนศัตรูอยู่แก่เมืองอังวะจะพ่ายแพ้เป็นมั่นคง มังลองจึงว่าถ้าดังนั้น ศักราชได้ ๑๑๑๖ ปี เดือน ๗ ขึ้น ๓ ค่ำ มังลองจะยกทัพทั้งบกทั้งเรือกับเสนาบดีและนายไพร่ซึ่งอยู่ในเมืองมุกโซโบ และเมืองอังวะ เป็นคนสามหมื่น ให้มองระผู้บุตรเป็นทัพหน้า มังลองเป็นทัพหลวง ยกลงไปรบเมืองหงสาวดี ณ เดือนเจ็ดแรมสิบสองค่ำ

มองระบุตรมังลองซึ่งเป็นกองทัพหน้ายกไปก่อนได้รบกันกับกองทัพรามัญ พระยาอุปราชาน้องเจ้าเมืองหงสาวดีที่เมืองแปร แต่เดือนเจ็ดแรมสองค่ำปีหนึ่ง กองทัพพระยาอุปราชาสมิงรามัญทั้งปวงแตกหนีถอยหลังลงไปตั้งรับอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง แต่ทัพมังลองตั้งยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแปร มองระซึ่งเป็นทัพหน้าติดพันตามกันลงไปรบที่เมืองย่างกุ้ง แต่ ณ เดือน ๑๑ ข้างแรมในปีนั้น

ครั้นเมืองศักราชได้ ๑๑๑๗ ปี เดือนหกแรม ๕ ค่ำ พระยาอุปราชาสมิงรามัญแตกจากเมืองย่างกุ้ง ไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองเสี้ยง มังลองยกลงอยู่ ณ เมืองย่างกุ้งปีหนึ่ง ให้กองทัพหน้ามองระผู้บุตร เป็นโปชุกแม่ทัพหลวง กับเสนาบดีเสนัดหวุ่น แมงละแมงฆ้อง แม่ทัพนายกองทั้งปวงยกไปตีเมืองเสี้ยงแต่เดือนเจ็ดข้างแรมได้ ๑๑ เดือน ได้เมืองเสี้ยง แล้วพร้อมทัพกับมังลองที่เมืองเสี้ยงนั้น แล้วมังลองกับมองระบุตร กับเสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวงยกไป มังลองให้ตั้งเมืองที่ตำบลบ้านเจตุวะดี ทางไกลกันกับเมืองหงสาวดี ๕๐ วัน

พระยาหงสาวดีให้อำมาตย์ผู้ใหญ่เอาเครื่องบรรณาการออกมาให้แก่มังลอง แล้วเจรจาความเมืองกันว่า พระยาหงสาวดีจะเอาบุตรีมาให้แก่มังลอง มังลองจึงสั่งว่าอย่าเพ่อให้กองทัพทั้งปวงล่วงเข้าไปตีเมืองปะโก้ก่อน ครั้นถึงศักราชได้ ๑๑๑๘ ปี เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เจ้าเมืองหงสาวดีเอาบุตรีอายุ ๑๗ ปีมาให้แก่มังลอง แล้วพระยาอุปราชา พระยาทะละผู้น้องตละป้านผู้หลายพระยาหงสาวดี ติเตียนพระยาหงสาวดีว่า ทำไมจึงเอาลูกสาวไปยกให้แก่มังลอง พระยาพี่จะออกไปเป็นข้ามังลองก็ออกไปเถิด แต่ข้าพเจ้ากับเสนาบดีทั้งปวงจะสู้กว่าจะตายในเมือง พระยาหงสาวดีจึงว่า เมื่อและพระยาอุปราชา พระยาทะละ ตละป้าน มิยอมให้เมืองเป็นข้ามังลอง เสียลูกสาวคนหนึ่งก็แล้วไปเถิด พระยาหงสาวดีจะทำสงครามรบกับมังลอง

มังลองจึงสั่งแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า พระยาหงสาวดีเสียสัตย์แล้ว กลับจะทำสงครามรบกันกับเราอีกเล่า จึงสั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวง เร่งเข้าล้อมเมืองหงสาวดีประมาณ ๑๕ วัน ไพร่พลเมืองทั้งปวงซึ่งอยู่หน้าที่เชิงเทินเมืองหงสาวดีก็เป็นใจด้วยมังลอง จุดเพลิงทิ้งเชือกลงมารับกองทัพพม่าเข้าไปในเมือง จับได้พระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา พระทะละ และเสนาบดีได้ในเวลากลางคืนวันนั้น ศักราชได้ ๑๑๑๙ ปี เดือน ๘ มังลองจึงพาเอาพระยาหงสาวดีและญาติวงศ์ ทั้งเครื่องบริวารกลับขึ้นไปเมืองมุกโซโบ ครั้นถึงเมืองมักโซโบแล้ว มังลองจึงเลี้ยงพระยาหงสาวดีทั้งบุตรภรรยาเสนาอำมาตย์ไว้ให้อยู่เป็นสุข

ครั้นศักราช ๑๑๒๑ ปี เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ มังลองจึงเกณฑ์มองระผู้บุตร กับอำมาตย์ชื่อแมงละราชา แมงละแมงฆ้อง กับไพร่สองหมื่นเป็นกองหน้า มังลองเป็นแม่ทัพ กับไพร่สามหมื่น ทั้งทัพหน้าทัพหลวงเป็นคนห้าหมื่นยกเข้าไปกรุงทวารวดีศรีอยุธยา ถึง ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ มาถึงเมืองเปร เป็นฤดูฝน มังลองหยุดทัพอยู่ที่เมืองเปร มังลองจึงยกเอามองระผู้บุตรมาไว้ในกองหลวงด้วย มังลองจึงเกณฑ์ให้แต่แมงละราชา แมงละแมงฆ้อง กับไพร่สองหมื่นลงไปแรมทัพอยู่เมืองร่างกุ้ง ครั้นสิ้นเทศกาลฝนถึง ณ เดือน ๑๑ มังลองมองระยกทัพออกจากเมืองเปร มาถึงเมืองย่างกุ้ง ณ เดือน ๑๒ มังลองสั่งให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกับไพร่สองหมื่น เป็นกองหน้าไปตีเมืองทวาย มังลองแต่งกำปั่น ๔ ลำ กับเรือรบทะเล ๕๐ ลำ บรรทุกเสบียงอาหารกับคนหมื่นหนึ่ง ตั้งให้อากาโบหมู่เป็นนายทัพบกนายทัพเรือไปตีเมืองทวาย

ครั้นได้เมืองทวายแล้ว มังลองเข้าอยู่ ณ เมืองทวาย มังลองจึงสั่งให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกองหน้า ยกไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทางเรือ มังลองสั่งจึงสั่งให้อากาโบหมู่กับไพร่ในสำเภาหมื่นหนึ่ง ยกไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ทางบก มังลองยกทัพติดไปทีเดียว กองทัพไปทางบกยังไม่ถึง แมงละราชา แมงละแมงฆ้อง ทัพเรือตีเมืองมะริด เมืองตะนาวได้ก่อน ครั้นมังลองถึงเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ยับยั้งรี้พลไว้ที่เมืองตะนาวศรี มังลองจึงให้แมงละราชา แมงละแมงฆ้องกับไพร่สองหมื่น มังลองจึงตั้งให้มองระผู้บุตรเป็นแม่ทัพหน้า ได้บังคับแมงละราชา แมงละแมงฆ้อง ยกเข้ามากรุงทวาราวดีศรีอยุธยา มังลองยกเป็นทัพหลวงเข้ามา ครั้นถึงกรุงศรีอยุธยา มังลองบังเกิดเป็นวัณโรคสำหรับบุรุษป่วยหนักลง มังลองจึงสั่งให้แมงละแมงฆ้องเป็นกองรั้งหลัง กับไพร่พลหมื่นหนึ่ง มังลองถึงถอยทัพกลับไปทางระแหง แต่จากบ้านระแหงไปทาง ๙๐๐ ถึงปลายด่านต่อแดน มังลองถึงอนิจกรรมตาย มองระผู้บุตรเอาศพมังลองผู้บิดาใส่วอหามไปถึงเมืองมุกโซโบแต่ ณ เดือน ๖ ข้างขึ้น แล้วให้เอาจันทน์แดงจันทน์ขาวทำฟืนเผาด้วยสูบเอาน้ำกุหลาบดับเพลิง แล้วเก็บอัฐิมังลองใส่หม้อใหม่ปิดทอง เอาไปทิ้งเสียกลางน้ำ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๒ ปี เดือน ๔ บุตรมังลองผู้ชื่อมังลอกลูกชายใหญ่ได้ราชสมบัติในปีนั้น และแมงละแมงฆ้องอำมาตย์ กับคนหมื่นหนึ่ง ซึ่งเป็นกองรั้งหลังมาแต่เมืองอังวะ ณ เดือน ๖ แมงละแมงฆ้อง กับคนหมื่นหนึ่ง ก็ไล่กวาดต้อนผู้คนครอบครัวในแขวงเมืองอังวะ เข้ามาซ่องสุมไว้ในเมืองอังวะ คิดกบฏ ไม่ยอมเป็นข้าเข้าด้วยมังลอก ซึ่งเป็นเจ้าอยู่เมืองมุกโซโบหามิได้ มังลอกผู้เป็นบุตรมังลองซึ่งได้ราชสมบัติ จึงรู้ว่าแมงละแมงฆ้องคิดการกบฏไม่เข้าด้วย จึงแต่งให้จิตะราชสแซงแนงโบแมงแง ปะละสับกุงโบ กับคนสองหมื่นเป็นกองหน้า ยกลงมาล้อมเมืองอังวะไว้ มังลอกจึงยกลงมากับคนสามหมื่นตั้งอยู่เมืองจะแกงคนละฟากน้ำ แต่รบกันอยู่ถึงเจ็ดเดือนจึงได้เมืองอังวะ แมงละแมงฆ้องหนีออกจากเมือง กองทัพไล่ติดตามไป ยิงแมงละแมงฆ้องตาย มังลอกจึงเลิกทัพกลับไปเมืองมุกโซโบ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๓ ปี เดือน ๔ บังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวได้ยินเสียงกึกก้องดุจดังเสียงปืนทั่วไปทั้ง ๔ ทิศ บังเกิดเป็นสูรย์และลำพูกันขาว ในปีนั้นน้องชายมังลอกผู้ชื่อสะโดะอุจจะหน่าซึ่งได้นั่งเมืองตองอู คิดกบฏต่อมังลอกผู้หลาน ซึ่งได้ราชสมบัติอยู่ ณ เมืองมุกโซโบ แต่งให้บะละแมงแตงสันละกี ผู้เป็นอำมาตย์คุมพลห้าพันยกขึ้นมากวาดต้อนเอาคนที่เมืองเปรไปเมืองตองอู มังลอกรู้ว่าสะโดะอุจจะหน่าเจ้าเมืองตองอูคิดกบฏ จึงแต่งให้แมงแงพะละคุมพลสามพันเป็นทัพหน้า ตั้งให้โยลัดหวุ่นคุมคนเจ็ดพันเป็นกองหนุน ให้ยกไปรบเอาเมืองตองอู

ศักราช ๑๑๒๔ ปี มังลอกจึงเกณฑ์ให้อากาจอแทงคุมพลหมื่นหนึ่งยกเป็นกองหน้า มังลอกกับพลสองหมื่นเป็นทัพหลวงยกไปเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ถึงเมืองตองอู เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ได้เมืองตองอู จับได้สะโดะอุจจะหน่าทั้งบุตรภรรยาเสนาอำมาตย์ กวาดต้อนเอาขึ้นไป ณ เมืองมุกโซโบ ครั้นถึงแล้วจะได้ทำอันตรายเสีย หามิได้ มังลอกเลี้ยงไว้คุ้งเท่าบัดนี้

และตละป้านพระยาต่อพระยา ซึ่งพาบุตรภรรยาอพยพหนีไปเมื่อครั้งเมืองหงสาวดีแตกครั้งนั้น ไปอยู่เกาะปิ้นแขวงเมืองมัตตมะ มังลอกจึงสั่งให้ละเมิงหวุ่นคุมพล ๓๐๐๐ ให้ไปเกลี้ยกล่อมตละป้านพระยาต่อพระยา ละเมิงหวุ่นยกมาถึงเมืองมัตตมะ เกลี้ยกล่อมตละป้านพระยาต่อพระยาก็เข้าด้วย ตละป้านจึงว่าแกละเมิงหวุ่นว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นข้าเจ้าอังวะข้าพเจ้าก็เป็นคนโง่ และเจ้าอังวะได้ข้าพเจ้าแล้ว เลี้ยงข้าพเจ้าไว้ไม่ฆ่าข้าพเจ้าเสีย เจ้าอังวะก็เป็นคนโง่ แต่ว่าจับมารดาข้าพเจ้าได้ครั้งหงสาเสียนั้นแล้ว ถึงชีวิตจะตายจะขอเห็นหน้ามารดาหน่อยหนึ่งเถิด แล้วส่งไปเมืองมุกโซโบ มังลอกก็เลี้ยงตละป้านพระยาต่อพระยาไว้

อนึ่ง เมืองเชียงใหม่กับเมืองออกห้าสิบเจ็ดหัวเมืองนั้น เคยขึ้นแก่เมืองรัตนบุรอังวะ บัดนี้ละอย่างประเวณีเสีย หาได้ไปมาเอาเครื่องบรรณาการมาถวายตามอย่างตามธรรมเนียมแต่ก่อนไม่ ศักราชได้ ๑๑๒๕ ปี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ มังลอกจึงเกณฑ์ให้ติงจาแมงฆ้องคุมคน ๓๐๐๐ เป็นกองหน้า จึงตั้งให้ธาปะระกามะนีคนเจ็ดพันเป็นกองหนุนยกไปตีเมืองเชียงใหม่ เดือนอ้ายถึงเมืองเชียงใหม่ รบกันได้ ๔ เดือนได้เมืองเชียงใหม่ จับเจ้าจันผู้เป็นเจ้าเมืองได้ทั้งบุตรภรรยา กองทัพยังมิได้กลับคืนไป มังลอกถึงอนิจกรรมเดือน ๔ นั้น ก็ปลงศพอย่างธรรมเนียม

ศักราช ๑๑๒๕ ปี เดือนสี่นั้น มองระผู้บุตรมังลอง เป็นน้องมังลอกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ และธาปะระกามะนี ซึ่งเป็นนายทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ จึงเกณฑ์ให้มหานะระทากับคนเจ็ดพัน คุมเอาเจ้าจันทั้งบุตรภรรยาไปถวายมองระ แต่ธาปะระกามะนีกับคน ๓๐๐๐ อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ มองระจึงมีนามปรากฏชื่อว่าเจ้าช้างงเผือก จึงเลี้ยงเจ้าจันและบุตรภรรยาเจ้าจันไว้คุ้งเท่าบัดนี้

ณ เดือน ๑๑ ในปีนั้น มองระจึงสั่งให้โยลัดหวุ่นลงมาทำเมืองสร้างปราสาทเมืองอังวะ ตละป้านจึงคิดประทุษร้าย ให้นายทุยบ่าวตละป้านจุดไฟขึ้นในเมืองมุกโซโบ พิจารณาได้ความว่าตละป้านให้จุดไฟขึ้นทั้งนี้ จะคิดการทำร้ายเจ้าอังวะ มองระจึงสั่งให้ประหารชีวิตตละป้านเสีย

ศักราชได้ ๑๑๒๖ ปี เดือน ๑๒ มองระจึงสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ติงจาโบ คุมไพร่พลหมื่นหนึ่งเป็นกองหน้า มองระคุมไพร่สองหมื่นเป็นทัพหลวง ยกไปตีเมืองกะแซ ในปีนั้นเดือนยี่ข้างขึ้นได้เมือง กวาดเอาเชื้อวงศ์และเจ้ากะแซมาถึงเมืองมุกโซโบแต่ ณ เดือนสาม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๗ ปี เดือนหก มองระลงมาจากเมืองมุกโซโบเสวยราชย์เมืองอังวะ จึงเลี้ยงเจ้ากะแซและบุตรภรรยาเจ้ากะแซไว้คุ้งเท่าบัดนี้ ถึง ณ เดือนเจ็ดแรมห้าค่ำ ในวันเดียวนั้นบังเกิดพายุใหญ่ฝนตก ฟ้าผ่าลงที่หอกลองที ๑ ผ่าลงที่ยอดปราสาทเป็นไฟติดขึ้นเท่าวงกระด้ง ยอดปราสาทหักสะบั้นลงมา ดับไฟได้ พายุและลมก็บันดาลหาย มองระจึงถามโหราพฤฒาจารย์พราหมณ์ปโรหิต และพระราชาคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้มีปัญญา จึงทำนายว่าพระราชวงศาและอาณาประชาราษฎร์ในขอบขัณฑสีมาจะอยู่เป็นสุข ดับยุคเข็ญและศัตรูทั้งปวง ให้ชำระสระเกศให้ปล่อยนักโทษ และสรรพสัตว์ทั้งปวงซึ่งต้องทนทุกข์เวทนาขังไว้นั้น

เมื่อครั้งศักราช ๑๑๒๗ ปี เดือน ๑๒ มองระจึงสั่งให้ฉับพะกงโบยานกวนจอโบ คุมไพร่ห้าพันยกเป็นทัพหน้า ทัพหนุนนั้นให้เมียนหวุ่นเนเมียวมหาเสนาบดี คุมไพร่ห้าพันยกมาทางเหนือ ค้างเทศการฝนอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ทางทวายนั้นให้เมคราโบคุมไพร่หมื่นหนึ่งยกมายังกรุงศรีอยุธยา ค้างเทศกาลฝนอยู่ ณ เมืองทวาย ออกพระวัสสาแล้วยกทั้งทางเหนือทางใต้เข้าไปตีได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว กลับทัพไปเมืองรัตนบุรอังวะ


การเสียกรุงศรีอยุธยา โดย ครูเหม เวชกร
สีน้ำมันและปากกาคอแร้ง หมึกดำ บนกระดาษ 17.50 x 16.50 ซม.


เมื่อศักราชได้ ๑๑๒๙ ปี ในศักราชได้ ๑๑๒๘ ปีนั้น ฮ่อยกเข้ามาถึงเมืองแซงหวี ไกลกันกับเมืองอังวะทางสิบวัน มองระจึงสั่งให้ติงจาโบกับไพร่ห้าพันเป็นกองหน้า อะแซหวุ่นกี้กับไพร่หมื่นหนึ่งเป็นทัพหนุน ยกไปตีฮ่อแตกไป

ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๙ ปี ฮ่อยกกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง มาถึงตำบลบ้านยองนี้ใกล้กันกับอังวะทางคืนหนึ่ง มองระจึงสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ โยลัดหวุ่น เมียนหวุ่น สามนายเป็นแม่ทัพคุมทหารเป็นอันมากได้รบกันกับฮ่อสามวัน กองทัพฮ่อแตก จับได้นายทัพฮ่อแอซูแห กุนตาแย เมียนกุนแย ปะระซูแย ๔ นาย กับทหารนายและไพร่เป็นคนหกพัน มองระจึงสั่งให้เลี้ยงไว้คุ้งเท่าบัดนี้

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๑ ปี ฮ่อยกทัพกลับมาอีกเป็นสามครั้ง ครั้งหลังกวยชวยโบเป็นแม่ทัพฮ่อ กับรี้พลเป็นอันมาก มาถึงเมืองกองตุงปะมอ ไกลกันกับเมืองอังวะทางสิบห้าวัน มองระจึงสั่งให้ติงจาโบตะเรียงรามะกับไพร่ห้าพันเป็นกองหน้า ตั้งให้อะแซหวุ่นกี้คุมไพร่หมื่นหนึ่ง ทั้งทัพหน้าทัพหลวงเป็นคนหมื่นห้าพัน เป็นแม่ทัพยกไปทางบก ทางเรือนั้นให้งาจุหวุ่น เลต่อหวุ่น กับพลห้าพันเป็นกองหน้า อำมะลอกหวุ่นเป็นนายกองปืนใหญ่ คุมพลหมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพทั้งทางบกทางเรือ ไปถึงพร้อมกัน ณ เมืองกองตุงปะมอ ทัพทั้งสองฝ่ายก็รอรั้งตั้งมั่นเจรจาความเมืองกัน กวยชวยโบแม่ทัพฮ่อจึงให้อำมาตย์มาหาอะแซหวุ่นกี้ ว่าจะขอให้แม่ทัพฮ่อกับแม่ทัพพม่าเจรจาความเมืองกัน อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งให้ปลูกโรงในท่ามกลาง แล้วแม่ทัพทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกัน ณ โรง เจรจาว่าตั้งแต่วันนี้ไป ขอให้ขาดสงครามกัน จะเป็นมิตรสันถวะแก่กัน อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองจะได้ไปมาซื้อขายถึงกัน อะแซหวุ่นกี้ก็ยอมพร้อมด้วยนายทัพนายกองทั้งปวง เลิกกองทัพกลับลงมา ณ เมืองอังวะ ในศักราชได้ ๑๑๓๑ ปี ณ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ ฟ้าผ่าลงที่เสาติดกระดานแผ่นทองที่จารึกนามประตูเมืองไว้นั้น ครั้น ณ เดือนแปด เจ้าเมืองจันทบุรี นำเอาบุตรสาวมาถวายคนหนึ่ง

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๓ ปี เจ้าวงศ์ผู้เป็นเจ้าเมืองหลวงพระบางยกลงมาตีเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีบอกขึ้นไป ณ เมืองอังวะ มองระเจ้าเมืองอังวะจึงสั่งให้ชิกชิงโบคุมไพร่สองพันเป็นกองหน้า ให้เนมะโยมหาเสนาบดี คือ โปสุพลา คุมไพร่สามพันเป็นแม่ทัพหลวง ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้แล้ว โปสุพรากลับขึ้นไปพร้อมทัพกัน ณ เมืองจันทบุรี ค้างเทศกาลฝนอยู่ที่นั้น

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๔ ปี สิ้นเทศกาลฝนโปสุพลาจึงยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลเมืองพิชัย รบกันกับกองทัพกรุง กองทัพโปสุพลาแตกหนีถอยทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ค้างเทศกาลฝนอยู่


พระยากาวิละ


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๕ ปี ในปีนั้นกระแซก็คิดกบฏที่อังวะ ด้วยอำมาตย์จันตะรอซุยกีเลโบกับไพร่กระแซสามพันคิดกบฏ ใช้ให้โยคีกระแซเอาเพลิงจุดขึ้นที่มุมเมือง โยคีจุดเพลิงศาลาวัดซุยจี่กุง จุดขึ้นริมวัดติดแห่งหนึ่ง พอจับตัวกระแซโยคีไต่ถามให้การว่า จันตะรออำมาตย์ซุยกีเลโบใช้ให้โยคีจุดเพลิงขึ้นสี่ทิศ แล้วจะยกคนสามพันเข้าตีเอาเมือง จะฆ่าเจ้าเมืองอังวะเสีย พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ สั่งให้ฆ่ากระแสนายและไพร่สามพันเสีย ออดพระวัสสาแล้วจึงเกณฑ์ให้พระยาจ่าบ้าน กับแสนท้าวไพร่ลาวพันหนึ่งยกเป็นกองหน้า ให้เนมะโยกามะนีเฝ้าเมืองเชียงใหม่อยู่ โปสุพลากับไพร่ลาวพม่าเก้าพัน เป็นแม่ทัพยกลงมาตีกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ยกออกจากเมืองเชียงใหม่คืนหนึ่ง ประมาณทางห้าร้อย โปสุพลารู้ว่าพระยาจ่าบ้านคิดการประทุษร้ายเข้าด้วยกองทัพไทย กลับจะไปรบโปสุพลา โปสุพลาจึงกลับทัพเข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่ พอกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา ทั้งกองทัพกาวิละ พระยาละคร พระยาจ่าบ้าน บรรจบกันเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ โปสุพลาเนมะโยกามะนีแตกหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ ไปอยู่เมืองหน่าย ฝ่ายภรรยาโปสุพลาซึ่งอยู่ ณ เมืองอังวะนั้น เจ้าอังวะจำไว้ ภรรยาโปสุพลาให้คนมาบอกโปสุพลาว่า อย่าให้ไปเมืองอังวะเป็นอันขาดทีเดียว โปสุพลาจึงหลบหลีกอยู่ ณ บ้ายซุยเกียน ใกล้กันกับเมืองตองอูทางห้าวัน


สมรภูมิเชียงใหม่


เมื่อศักราชได้ ๑๑๓๕ ปี มีตราลงมาแต่เมืองอังวะ ให้ปะกันหวุ่นเกณฑ์เอารามัญหมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ปะกันหวุ่นจึงเกณฑ์ให้พระยาเจ่งตละเซ่ง พระยาอูเป็นกองหน้า กับไพร่สามพัน ให้แพ่กิจาเป็นแม่ทัพยกก่อน ไปตั้งฉางอัศมีฉางปาศัก ลำเลียงเอาเสบียงอาหารเข้าไว้ให้ได้เต็มฉาง ออกพระวัสสาแล้ว ปะกันหวุ่นกับไพร่เจ็ดพันจึงจะยกไปตาม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๖ ปี จะให้ยกกองทัพลงมาแต่เมืองอังวะ ไปตีเอากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ปะกันหวุ่นผู้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เก็บเอาเงินทองแก่ภรรยานายทัพนายกอง และไพร่สมิงรามัญซึ่งยกไปทำฉางนั้น ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อนนัก ตละเกิ้งจึงมีหนังสือไปถึงพระยาเจ่ง ละเซ่ง สมิงรามัญทั้งปวง ว่าปะกันหวุ่นทำให้ได้ความร้อนเข็ญสุดที่จะทนแล้ว ให้พระยาเจ่ง ตละเซ่ง สมิงรามัญ เร่งคิดยกทัพกลับมา ณ เมืองมัตตมะเป็นการเร็ว พระยาเจ่ง ตละเซ่ง สมิงรามัญทั้งปวงพร้อมกันจับแพ่กิจาแม่ทัพฆ่าเสียแล้วกลับทัพมา ณ เมืองมัตตมะ ปะกันหวุ่นเมืองเมืองมัตตมะ อะคุงหวุ่น รู้ว่าพระยาเจ่ง ตละเซ่ง ฆ่าแพ่กิจาเสีย ยกทัพกลับมาเมืองมัตตมะ ปะกันหวุ่น อะคุงหวุ่น ลงเรือหนีไปเมืองย่างกุ้ง พระยาเจ่ง ตละเซ่ง นายทัพนายกองสมิงรามัญยกติดขึ้นไปตีได้ค่ายตักกะเลริม

พอกองทัพหน้าอะแซหวุ่นกี้ยกลงมาแต่เมืองอังวะ ได้รบกันกับกองทัพรามัญที่เมืองย่างกุ้ง พระยาเจ่ง ตละเซ่ง นายทัพนายกองสมิงรามัญ แตกหนีลงมาเมืองมัตตมะ พาครอบครัวอพยพเข้ามากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา กองทัพพม่ายกตามมา จับได้ตละเกิ้งทั้งบุตรภรรยา ณ แขวงเมืองมัตตมะ ส่งขึ้นไปถวาย ครั้งนั้นมองระกับเสนาบดีลงมายกฉัตรอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง มองระจึงให้ถามตละเกิ้งว่าตัวคิดประทุษร้ายในครั้งนี้ ใครรู้เห็นเป็นใจด้วยตัวบ้าง ตละเกิ้งว่าพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชาผู้น้อง มีหนังสือถือให้คนถือมาถึงข้าพเจ้ากับพระยาเจ่ง ให้ชักชวนกันแต่บรรดาสมิงรามัญทั้งปวง จับเอาบรรดาพม่านายไพร่ซึ่งอยู่ในเมืองมัตตมะฆ่าเสีย แล้วให้ยกกองทัพตีเอาเมืองย่างกุ้งขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ ถามสอบพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา รับเป็นสัตย์ มองระจึงสั่งให้เอาพระยาหงสาวดี พระยาอุปราชา กับทั้งตละเกิ้ง ไปประหารชีวิตเสีย


เจ้าพระยามหาโยธา (พระยาเจ่ง)


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๖ ปี อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุง กองทัพหน้าก็ยกเข้ามาถึงเมืองราชบุรี กองทัพไทยจึงล้อมไว้ อะแซหวุ่นกี้จึงบอกขึ้นไปถึงมองระเจ้าอังวะ เจ้าอังวะจึงให้อะคุงหวุ่นมงโยะ กับไพร่สามพันรับอาสาจะมาตีแหกเอาคนสามพันในค่ายล้อมเขานางแก้วให้ได้ ครั้นเข้าตีกองทัพไทยซึ่งล้อมพม่าไว้นั้น ไพร่พลพม่ากองทัพป่วยล้มตายเป็นอันมาก อะแซหวุ่นกี้จึงบอกหนังสือไปถึงมองระเจ้าอังวะ ว่าถ้าจะเอาคนสามพันให้ได้จะเสียคนกว่าสามหมื่น ด้วยจวนเทศกาลฝน ไพร่พลอดเสบียงอาหาร จะขอถอนทัพมาแรมค้างอยู่ ณ เมืองมัตตมะ ต่อรุ่งขึ้นปีหน้าข้าพเจ้าจึงจะยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งพม่าสามพันทั้งนายทัพนายกองเอามาถวายให้จงได้ มองระเจ้าอังวะจึงตอบไปว่า ซึ่งอะแซหวุ่นกี้บอกมานั้นชอบด้วยราชการอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็สุดแต่อะแซหวุ่นกี้จะคิดผ่อนเอากรุงศรีอยุธยาให้จงได้


สมรภูมิบางแก้ว ราชบุรี


ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๗ ปี มองระกลับขึ้นไป ณ เมืองอังวะ ครั้น ณ เดือน ๑๑ ในปีนั้น อะแซหวุ่นกี้ให้แมงยางูกับนายกองผู้น้อย กับปันยิแยฆองจอ ปันยิตะจอง ๓ นาย กับไพร่สองหมื่น ให้ยกไปทางระแหง อะแซหวุ่นกี้กับไพร่หมื่นห้าพันเป็นแม่ทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้จึงแยกกองทัพลงมารับกองทัพกรุงศรีอยุธยาซึ่งขึ้นไปช่วยปากพิง ครั้นเมืองพิษณุโลกเสียแก่พม่าแล้ว อะแซหวุ่นกี้บอกหนังสือขึ้นไปถึงมองระเจ้าอังวะ พอมองระถึงอนิจกรรมตาย จิงกูจาบุตรมองระขึ้นเป็นเจ้า จึงให้ข้าหลวงลงมาให้เลิกกองทัพ ทั้งทัพเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี อะแซหวุ่นกี้ซึ่งไปตีเมืองกรุงกลับขึ้นไปเมืองอังวะ จิงกูจาปลงศพมองระผู้เป็นบิดาตามอย่างธรรมเนียม

ครั้นศักราชได้ ๑๑๓๘ ปี จิงกูจาผู้เป็นบุตรมองระขึ้นเสวยราชสมบัติ ชะแลงจาผู้น้องจิงกูจา เมืองมองระยังอยู่นั้น ตั้งให้ชะแลงจาเป็นเจ้าเมืองชะแลง ในปีนั้นชะแลงจา กับอะตวนหวุ่นอำมาตย์ คิดการกบฏต่อจิงกูจาผู้พี่ซึ่งได้รับราชสมบัติ จิงกูจาจึงให้เอาชะแลงจา กับอะตวนหวุ่นอำมาตย์ฆ่าเสีย แล้วจิงกูจาทำนุบำรุงพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ วัดวาอาราม อันชำรุดทรุดพังนั้นให้ลงรักปิดทอง

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๒ ปี จิงกูจาเจ้าอังวะสั่งให้ถอดอะแซหวุ่นกี้ออกจากราชการ แล้วจิงกูจาสั่งให้เอาอะเมียงสะแข่งผู้เป็นลูกมังลองเป็นน้องมองระเป็นอาจิงกูจาสั่งให้ไปฆ่าเสีย แต่ปะดุงแยกไปไว้ฟากจักเกิง ปะคานสะแข่งแยกไปไว้เมืองแปงยะ แปงตะแลแยกไปไว้ ณ บ้านชิกกี สามคนนี้เป็นลูกมังลอง เป็นน้องมองระ

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๓ ปี พระเจดีย์ ณ เมืองแปงยะใกล้กันกับเมืองอังวะทางสามร้อย มีนามชื่อว่าซุยชีกุง พังลงที่หนึ่ง อนึ่งพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองจะเกิ้งคนละฟากน้ำเมืองอังวะ ให้เป็นน้ำพระเนตรไหลออกมาครั้งหนึ่ง จองกูจาให้แต่งเครื่องนมัสการไปนมัสการพระตำบลชื่อสีหะ ต่อกับเมืองอังวะไกลกันทางห้าคืน จิงกูจายกไปทางเรือได้สามคืน มองหม่องเป็นบุตรมองลอก กับพวกเพื่อนเป็นอันมาก เข้าปล้นชิงเอาสมบัติขึ้นเป็นเจ้า มองหม่องจึงให้หาปะดุงสะแข่ง ปะคานสะแข่ง แปตะแลสะแข่ง ผู้อาสามคนมาพร้อมกัน ณ เมืองอังวะ มองหม่องจึงว่าสมบัตินี้อาเอาเถิด ปะดุง ปะคาน แปงตะแล จึงว่าสมบัติทั้งนี้ได้ด้วยบุญของเจ้า เจ้าจงเอาเถิด จึงตั้งอะแซหวุ่นกี้คงที่อะแซหวุ่นกี้

พรรคพวกมองหม่องซึ่งตั้งเป็นเสนาบดีขึ้นใหม่ข่มเหงเอาบุตรสาว เก็บริบเอาพัสดุทองเงินของอาณาประชาราษฎรซึ่งหาความผิดมิได้ และชาวบ้านไพร่พลเมืองได้ความเข็ญแค้นเคืองเดือดร้อนนัก ปะดุงจึงปรึกษาด้วยญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์คนเก่าว่ามองหม่องได้เป็นเจ้า ๕ – ๖ วัน ข่มเหงอาณาประชาราษฎรร้อนเข็ญดังนี้ หาควรที่จะให้เสวยราชสมบัติไม่ เสนาบดีไพร่พลเมืองเป็นใจด้วยปะดุงเข้าล้อมวัง รบกันกับมองหม่องแต่เช้าจนเที่ยง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จับตัวมองหม่องได้แล้วฆ่าเสีย ปะดุงได้เสวยราชสมบัติ แล้วสั่งให้เอาเกวียนบรรทุกศพซึ่งรบกันนั้นไปทิ้งเสียนอกเมือง

ในปีนั้นปะดุงใช้ให้มะหาสีละวะอำมาตย์ ๑ จอกตะลุงโบ ๑ กับเรือรบ ๕๐ ลำ คนประมาณพันหนึ่งให้ขึ้นไปรับตัวจิงกู ครั้นยกไปถึงบ้านสันโผไกลกันกับอังวะทางหกคืน จิงกูกับไพร่เหลือหนีอยู่สามสิบคน กับมเหสีนางห้าม จิงกูกับไพร่ก็พาเข้ามาหามะหาสีละวะอำมาตย์ ว่าปะดุงผู้ได้ราชสมบัติแล้วเห็นเราหาตายไม่ มะหาสีละวะอำมาตย์เอาตัวจิงกูกับบุตรภรรยาจำลงมาถวายแก่ปะดุง ปะดุงสั่งให้ฆ่าจิงกูทั้งบุตรภรรยาเสียให้สิ้น

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๔ ปี เดือนเจ็ด เพลาสองยามเศษ งะพุง พม่าเป็นคนท่องเที่ยวอยู่ในเมืองอังวะ กับพวกเพื่อนประมาณสามร้อยเศษ เข้าปล้นชิงเอาสมบัติรบกันกับปะดุง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ปะดุงจับตัวงะพุงได้ทั้งพวกเพื่อนสิ้น ปะดุงให้ฆ่าเสีย ในปีนั้นเดือนสิบสอง ปะดุงสั่งให้ทำเมืองใหม่ ตำบลที่ผ่องกากับเมืองอังวะทางสามร้อยทิศตะวันออก

ศักราชได้ ๑๑๔๕ ปี เดือนเจ็ด ปะดุงยกไปอยู่ ณ เมืองอำมะระบุระสร้างใหม่ ในปีนั้นเดือนสิบสองปะดุงจึงสั่งให้แอกกบันหวุ่นกับเสนาบดีคุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า จึงตั้งให้จะกูสะแข่งผู้บุตรคุมไพร่หมื่นหนึ่งเป็นแม่ทัพ ยกไปทางเมืองสันตวยแขวงเมืองยะไข่ทางหนึ่ง ให้แมงคุงหวุ่นกับเสนาบดีคุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า ตั้งให้กามะสะแข่งผู้บุตรคุมไพร่หมื่นหนึ่ง เป็นแม่ทัพยกไปทางเมืองมะอิละมูแขวงเมืองยะไข่ทางหนึ่ง ตั้งให้สิริตะเรียงแยฆองเดชะแจกเรจ่อโบ คุมไพร่สี่พันเป็นทัพหน้า ตั้งให้บุตรชายใหญ่คุมไพรหมื่นหกพันเป็นแม่ทัพ ยกไปทางเมืองตองก๊กขึ้นยะไข่ ให้ยกไปตีเมืองติญะวดี คือเมืองยะไข่ แต่ทัพบุตรใหญ่ยกไปถึงปะดุงจึงตั้งให้มหาจ่อแทงตะละยาแย จ่ออากาแข จ่อตะมุทแย ฆองเดชะ คุมไพร่ห้าพัน เรือรบทะเลห้าร้อยลำยกไปทางทะเล

ณ เดือนอ้ายถึงเมืองตองก๊ก แล้วยกไปตีเมืองตันลอย เจ้าเมืองตันลอยผู้ชื่อว่าจ่อตีแตกหนีออกจากเมืองข้ามทะเลไป กองทัพพม่าทั้งทัพยกทัพเรือลงเรือตามไป ณ เดือนยี่ ถึงเมืองยะไข่พร้อมทัพกันทั้งสามทาง ณ เมืองเลมีชุงใกล้กันกับเมืองยะไข่ทางประมาณร้อยหนึ่ง เจ้าเมืองยะไข่ยกพลทหารเสนาบดีออกมารบ เจ้าเมืองยะไข่แตกหนีกลับเข้าเมือง กองทัพพม่าไล่ติดตามเข้าไปได้เมือง เจ้าเมืองยะไข่หนีออกจากเมือง กองทัพพม่าติดตามจับตัวได้ ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ กวาดต้อนเอาเชื้อวงศ์บุตรภรรยาศฤงคารบริวารเสนาบดี เจ้าติญะวดีเจ้าเมืองยะไข่ แม่ทัพจึงตั้งให้จอกซูคุมไพร่หมื่นหนึ่งให้อยู่รักษาเมืองติญะวดี และนายทัพนายกองก็กลับมายังเมืองอำมะระบุระ ณ เดือนห้า ปะดุงสั่งให้เลี้ยงเจ้าเมืองติญะวดีทั้งบุตรภรรยาเสนาบดีไว้ เจ้าเมืองติญะวดีป่วยถึงอนิจกรรม และเสนาบดีทั้งปวงกับไพร่ห้าหมื่นของเจ้าเมืองยะไข่นั้น ปะดุงให้ภูมิฐานไร่นาเป็นที่ทำกินคุ้งบัดนี้

ศักราชได้ ๑๑๔๗ ปี แปงตะแลผู้น้องปะดุง เจ้าเมืองอำมะระบุระคิดกบฏ มีผู้เอาความมาว่า พิจารณาเป็นสัตย์ ปะดุงสั่งให้เอาแปงตะแลงผู้น้องไปฆ่าเสียทั้งพวกเพื่อนประมาณห้าสิบเศษ

ในปีนั้น ณ เดือนเก้า ปะดุงจึงสั่งให้นัดมีแลง ปะแลงโบ แปดองจา นะจักกีโบ ตองพยุงโบ ให้เนมะโยคุงนะรัต กับไพร่สองพันห้าร้อยเป็นกองหน้ายกไปทางบก สะทิงลางเคียงยกทางเรือ กับบาวาเชียงแองยิงเตจะอุตินยอ ให้ยีวุ่นเป็นแม่ทัพเรือกับไพร่สามพันไปตีเมืองถลาง ให้แกงวุ่นกับไพร่สี่พันห้าร้อย เป็นโปชุกบังคับกองทัพบกเรือไปตีเมืองนคร ชุมพร ไชยา ทางทวายนั้นให้จิกแกทวาย มะนีจอคอง สีหะแยจ่อแต่ง เปยะโบทวายหวุ่น กับไพร่สามพันเป็นกองนาย ตะแรงยามซู มะนิสินตะ สุรินจอคอง กับไพร่สามพัน ให้จิกสินโบเป็นกองหนุน ให้อนอกแผกติกหวุ่นกับไพร่สี่พัน เป็นโปชุกแม่ทัพยกมาทางเมืองราชบุรี ทางมัตตมะนั้นให้กลาวุ่น ปิลงยิง สูเลยี ปัญญาอู อากาจอแทง ลานซานโบ อคุงหวุ่น ปันยีตะซอง ละโมวุ่น ซุยฆองอากา กับไพร่หมื่นหนึ่ง ให้เมียวหวุ่นบังคับนานยทัพทั้งปวงเป็นกองหน้าที่ ๑ กองหนุนนั้นยอกแลกยาแยฆอง จอกาโบ ตะแรงปันยี ตุกแยโบ กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้เมียนเมวุ่นเป็นกองที่ ๒ ยังทัพหนุนอีกกองหนึ่งยวนจุวุน จิดกอง สิริยะแกงวุน แยเลวุน กับไพร่หมื่นหนึ่ง กามะสะแข่งบุตรชายน้องเจ้าอังวะเป็นแม่ทัพที่ ๓ อีกทัพหนึ่ง แมคราโบ อติตออากาปันยี มะโยลัดวุ่น กับไพร่หมื่นหนึ่ง ให้จักกุสะแข่งบุตรชายกลางเจ้าอังวะเป็นแม่ทัพที่ ๔

กองทัพเจ้าอังวะ ทัพหน้า จาวาโบ ยะไข่โบ ปะกันวุ่น ลอกาซุงถ่องวุ่น เมจุนวุ่น กับไพร่ห้าพัน อะแซวังมูเป็นแม่กอง ปีกขาวเจ้าอังวะ อำมะลอกวุ่น ตอนแซงวุ่น เลจอพวา ยัดจอกโบ งาจุวุ่นกับไพร่ห้าพัน ตั้งให้มะยอกวังมูเป็นแม่กอง ปีกซ้ายเจ้าอังวะ แลกะโรยะกิมู เลแซงวุ่น ยวนจุวุ่น ยะกีวุ่น สิบอจอพวา กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้ตองแวหมู่เป็นแม่กอง ปีกขาวทัพหลวงเจ้าอังวะ ระวาลัตวุ่น ออกมาวุ่น โมกองจอพวา โมมิกจอพวา โมเยียงจอพวา กับไพร่ห้าพัน ตั้งให้อะนอกแวงหมู่เป็นแม่กอง กองทัพปะดุงเจ้าอังวะไพร่สองหมื่น ให้อินแซะสะแข่งบุตรชายใหญ่ ให้อินแซะวุ่นอำมาตย์อยู่ว่าราชการเฝ้าเมืองอังวะ ทางระแหงนั้นให้ซุยตองนอระทา ซุยตองสิริจอพวา กับไพร่สามพัน ตั้งให้ซุยตองเวระจอแทงเป็นแม่กองทัพหน้า ตั้งให้จอฆองนอรธาคุมไพร่สองพันเป็นกองหนุน ทางเชียงใหม่นั้น ให้สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าเป็นแม่ทัพคุมนายทัพและไพร่สองหมื่นเศษ


สมรภูมิลาดหญ้า ในสงครามเก้าทัพ


ครั้นยกมาถึงเชียงแสน สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าจึงบังคับให้ปันยีตะจองโบ จุยลันตองโบ แยจอนอรธา ปลันโบ นัดซูมะลำโบ มุกอุโบ สาระจอซู กับไพร่ห้าพัน ให้เนมะโยสิหะซุยะเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองพิษณุโลก ครั้นได้เมืองพิษณุโลกแล้วลงมาตั้งทัพอยู่ปากพิง ทางแจ้หุ่มนั้นให้เมือยยอง เชียงกะเล พระยาไชยะ น้อยอันทะ กับไพร่สามพัน ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นแม่ทัพยกมาทางแจ้หุ่ม เป็นกองหน้ายกขึ้นไปล้อมเมืองลคร แจกแกโบ พระยาแพร่ อยุนวุ่น อุติงแจก กะโบ แนมะโยยันตะมิต กับไพร่หมื่นห้าพัน สะโดะมหาสิริอุจจะหน่าเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปล้อมเมืองลคร

ครั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปช่วยเมืองลคร ปะทะกันกับกองทัพพม่ารบกันที่ปากพิง กองทัพพม่าแตกหนีกระจัดกระจายล้มตายเสียม้าและไพร่พลที่นั้นเป็นอันมาก กองทัพพม่าซึ่งแตกไปแต่ปากพิง ขึ้นไปที่เมืองลครค่ายล้อม บอกแก่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นธาปะระกามะนี กับสะโดะสิริอุจจะหน่า ซึ่งเป็นโปชุกแม่ทัพซึ่งล้อมเมืองลครว่า กองทัพศรีอยุธยาไล่ติดตามขึ้นมาแล้ว ธาปะระกามะนี สะโดะสิริอุจจะหน่าซึ่งเป็นโปชุกแม่ทัพได้รบกันกับทัพกรุงแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองลครนั้น แตกหนีไปพร้อมทัพกัน ณ เมืองเชียงแสน พอมีตราให้ข้าหลวงถือหนังสือขึ้นมาว่า เจ้าอังวะนายทัพนายกองทั้งปวง ถอยทัพกลับมาเมืองอังวะแล้ว ให้เร่งสะโดะมหาสิริอุจจะหน่านายทัพนายกองและไพร่พล อย่าให้ล่วงเทศกาลฝน ให้ถึงเมืองอังวะตามกำหนด แต่ธาปะระกามะนีให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน กับไพร่พม่าสามพัน

ครั้นเมื่อศักราชได้ ๑๑๔๘ ปี เจ้าอังวะให้ปันยีเวซอ ซุยตอง เวยะจอแทง กับไพร่สองพัน จอฆองนอรธา กับไพร่พันห้าร้อย เป็นโปชุกแม่ทัพ ธาปะระกามะนีกับไพร่สามพัน เฝ้าเมืองเชียงแสนอยู่ ครั้งนั้นมีตราขึ้นไปให้เข้ากองทัพจอฆองนอรธาโปชุก ได้คนมาเข้ากองทัพแต่ห้าร้อย หนีไปก่อนสองพันห้าร้อย ยกไปตีเมืองฝางได้แล้วให้ตั้งทำไร่นาอยู่ที่นั่น แต่ธาปะระกามะนีกับไพร่ห้าสิบคน โปชุกนอรธาให้กลับไปจัดแจงบ้านเมืองไร่นาอยู่ ณ เมืองเชียงแสนประมาณหมื่นหนึ่ง พระยาแพร่ พระยายอง ยกกองทัพมา ณ เมืองเชียงแสน ข้าพเจ้าผู้เป็นธาปะระกามะนีหนีไปหาพระยาเชียงราย พระยาเชียงรายจับข้าพเจ้าได้ ส่งมาเมืองลคร เจ้าเมืองลครส่งมากรุงศรีอยุธยาคุ้นเท่าบัดนี้


สมรภูมิเชียงแสน


แต่ข้าพเจ้าธาปะระกามะนีรู้ว่า รามัญข้าราชการคนเก่าในเมืองหงสาวดี บุตรชันลุนอำมาตย์ บุตรจอกะตุกวุ่น เป็นกองหน้า ละเมิงหวุ่นเป็นโปชุก ยกมาทางเมืองมัตตมะจะมากรุงศรีอยุธยา ตั้งรวมเสบียงอาหารอยู่ท่าดินแดง กองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตีกองทัพพม่าแตกหนีล้มตายเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้ทราบเกล้าฯ จำได้แต่เท่านี้ ก่อนมังลอกยังไม่ได้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าธาปะระกามะนีได้รู้มา มีนามชื่อว่า เจ้าอาทิตย์ได้สมบัติยี่สิบปี มีบุตรคนหนึ่งได้สมบัติสิบห้าปี ตั้งให้สาอ่องนั่งเมืองหงสาวดีสามเดือน แซงหมู่คิดประทุษร้ายฆ่าสาอ่องเสีย แซงหมู่ขึ้นเป็นเจ้าได้เจ็ดปี มังลอกไปตีเอาเมืองหงสาวดีได้ มังลอกได้ราชสมบัติเมืองอังวะเจ็ดปี มังลองมีพี่ชายคนหนึ่งน้องชายตนหนึ่ง ก่อนยังไม่ได้เป็นเจ้านั้นพี่ชายตาย น้องชื่อสะโดะอุจจะหน่ายังอยู่คุ้งเท่ายัดนี้ มังลองมีบุตรชาย ๖ มีบุตรหญิง ๓ รวม ๙ คน

ครั้นมังลองถึงอนิจกรรม มังลอกได้ราชสมบัติ มีบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อมองหม่อง ได้นั่งเมืองสามปี มองระได้ร่าชสมบัติ มีบุตรชายชื่อจิงกูคนหนึ่ง ชะแลงคนหนึ่ง มีบุตรหญิงสองคน แต่ได้นั่งเมืองอยู่ ๑๓ ปี มองระเป็นโรคสำหรับบุรุษถึงอนิจกรรม จิงกูได้ราชสมบัติอยู่ห้าปี จิงกูถึงอนิจกรรม มองหม่องได้ราชสมบัติหกวันครึ่งถึงอนิจกรรม ปะดุงได้เสวยราชสมบัติ ฆ่าแปงตะแลงน้องชายสุดท้องเสีย ยังอยู่แต่ปะคานสะแข่งบุตร แต่บุตรมังลองยังคงอยู่เท่าทุกวันนี้แต่สองคน มีบุตรชาย ๓ หญิง ๓ อินแซะสะแข่ง ๑ จักกุสะแข่ง ๑ กามะสะแข่ง ๑ รวม ๖ คน ขอเดชะ ฯ


....................................................................................................................................................

คัดจาก
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔ เรื่องคำให้การชาวอังวะ


ไทยรบพม่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- ศึกหินดาดลาดหญ้า
- ศึกพม่าที่ท่าดินแดง
- ศึกพม่าที่นครลำปางและป่าซาง
- ศึกเมืองทวาย
- ศึกตีเมืองพม่า



Create Date : 04 กรกฎาคม 2550
Last Update : 5 กรกฎาคม 2550 8:21:19 น.
Counter : 11231 Pageviews.

0 comments
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
9 แนวคิดที่ทำให้เรามีชีวิตประจำวันที่ดีกว่าเดิม peaceplay
(31 มี.ค. 2567 09:18:27 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด