แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ



....................................................................................................................................................

อธิบายเรื่อง ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ท้ายพระราชพงศาวดาร ฉบับ พระราชหัตถเลขา



อธิบายเรื่อง ในสมัยขุนวรวงศาธิราช

เรื่องพงศาวดารตอนนี้ เป็นเรื่องของความชั่วไม่น่าอธิบาย แต่หนังสือที่เรียงเรื่องไว้ ถ้าอ่านโดยไม่พิเคราะห์ อาจจะไม่เข้าใจตามความจริง ข้าพเจ้าจึงทำอธิบายเรื่องตอนนี้ ตามที่พิเคราะห์เห็นว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ให้ผู้ศึกษาพงศาวดารได้พิจารณา

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ไม่มีราชโอรสที่เกิดด้วยพระมเหสี มีแต่ลูกยาเธอเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์อันเป็นพระสนมเอก ๒ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนาม พระยอดฟ้า พระชันษา ๑๑ ปี พระองค์น้อยทรงพระนาม พระศรีศิลป์ พระชันษา ๕ ปี

ที่ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระสนมเอกนั้น เพราะในกฎหมายทำเนียบศักดินาบอกไว้ชัดว่า ตำแหน่งท้าวอินทรสุเรนทร ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทั้ง ๔ นี้เป็นพระสนมเอก จึงเรียกว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ในคำอธิบายนี้

เรื่องสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ได้กล่าวมาแล้วว่า หนังสือพระราชพงศาวดารเถียงกันอยู่ ข้าพเจ้าเชื่อตามฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้วจึงประชวรสวรรคต และเชื่อว่าในเวลานั้นจะยังไม่มีเหตุเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ เหตุนั้นจะเกิดเมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าราชการแผ่นดินในรัชกาลของสมเด็จพระยอดฟ้า

ที่จริงเนื้อเรื่องในตอนนี้ เวลานานถึง ๒ ปีเศษ ควรเข้าใจว่าเหตุการณ์เป็น ๒ ตอน ตอนแรกตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ไปเห็นพันบุตรศรีเทพที่หอพระ มีความประดิพัทธ์ จึงให้ย้ายไปเป็นขุนชินราช พนักงานรักษาหอพระข้างใน และท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบเป็นชู้กับขุนชินราช ตอนนี้เป็นแต่การลอบเป็นชู้ เห็นว่าจะไม่ได้ตั้งใจจะให้เกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมือง ท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนชินราชจะลอบเป็นชู้กันอยู่กว่าปี แต่ปกปิดความชั่วมิดชิด ไม่มีใครรู้แพร่หลาย การบ้านเมืองจึงเรียบร้อยเป็นปกติอ โดยคนทั้งหลายเชื่อว่าสมเด็จพระยอดฟ้ามั่นคงอยู่ในราชสมบัติ ตอนที่ ๒ ที่จะเกิดเป็นเหตุใหญ่โตนั้น ตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นมา เมื่อเห็นว่าจะปิดความชั่วไว้ไม่มิด เกราภัยอันตราย จึงคิดอุบายแก้ไขเกี่ยวข้องไปถึงราชการ

อุบายของท้าวศรีสุดาจันทร์ ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารนั้นเบื้องต้น เลื่อขุนชินราชให้เป็นขุนวรวงศาธิราช (ชื่อเป็นราชนิกูล ที่หนังสือพระราชพงศษวดารว่าเป็นข้าหลวงเดิม ที่จริงเห็นจะเป็นญาติกับท้าวศรีสุดาจันทร์) ตำแหน่งขุนวรวงศาธิราชจะอยู่ในกรมไหนไม่ปรากฏ เข้าใจว่าเห็นจะเป็นสนมกรมวัง คงเอาไว้ในที่ใกล้ชิดสำหรับใช้สอยต่างหูต่างตา ที่ว่าปลูกจวนให้ริมศาลาสารบัญชีนั้นก็แปลว่าขุนวรวงศาธิราชไม่มีบ้านเรือน จึงให้ปลูกเรือนให้อยู่แห่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆกำแพงวัง ซึ่งไม่เป็นการอัศจรรย์อันใดในครั้งนั้น คงจะยังไม่มีใครสงสัยสนเท่ห์นัก แล้วให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลกสมสังกัดพรรค์ คือ เป็นพนักงานชำระเรียกคนเข้ารับราชการ ความข้อนี้ในจดหมายเหตุปินโตโปรตุเกสว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์อ้างว่า พระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ เกรงภัยอันตราย จึงเกณฑ์ทหารมาล้อมวงประจำซองไว้เป็นอันมาก บางทีความจะตรงกับที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชชำระเลกสังกัดพรรคนี้ เห็นพอจะยุติเป็นความจริงได้ ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์จะอ้างเอาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เกณฑ์ทหารมาไว้เป็นอันมาก และให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นกำลังรักษาตัว

ต่อมาเห็นจะเป็นเมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น จะออกหน้าว่าราชการเสมอดังแต่ก่อนไม่ถนัด จึงให้ขุนวรวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้บังคับทหารอยู่แล้ว เข้ามาอยู่ที่จวนในวังที่ริมต้นหมัน และให้รับคำสั่งไปสั่งราชการแทนตัว ความสงสัยและเสียงที่โจษซุบซิบจะมีขึ้นมากในเวลานี้ เมื่อกิตติศัพท์แพร่หลายรู้กันเป็นแน่ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้ และเอาชู้ขึ้นว่าราชการแผ่นดิน น่าจะมีข้าราชการที่จะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชหลายพวก ไม่แต่พวกขุนพิเรนทรเทพพวกเดียว พระยามหาเสนาก็จะอยู่ในพวกที่จะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชคนหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้แทงเสีย

ถึงสมเด็จพระยอดฟ้าที่ถูกปลงพระชนม์นั้น ก็อาจจะเป็นด้วยคิดอ่านกับข้าราชการที่มีความสัตย์ซื่อ จพกำจัดขุนวรวงศาธิราช ๆ จึงชิงปลงพระชนม์เสีย เชื่อว่าขุนวรวงศาธิราชมีกำลังทแกล้วทหารมากอยู่แล้วจึงออกหน้ากันไปตามเลย เอาขุนวรวงศาธิราชขึ้นราชาภิเษกอยู่ในราชสมบัติ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ได้ ๔๒ วัน ก็ถูกกำจัดทั้งตัวขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ และบุตรีที่เกิดด้วยกัน เรื่องจริงจะเป็นอย่างว่ามานี้ เพราะมีแต่ผู้คิดจะกำจัดกับผู้ที่จำใจอยู่ด้วย ด้วยความกลัวไม่มีใครเข้าด้วยคนร้าย จึงไม่ปรากฏว่าผู้หนึ่งผู้ใดนอกจาก ๓ คนนั้น กับอ้ายจันอุปราชอีกคนหนึ่งถูกฆ่าฟันในเวลานั้น หรือถูกรับอาญาอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาต่อมา ในเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์



อธิบายเรื่อง ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระมหินทราธิราช

สอบศักราช

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม กับฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ยุติต้องกันว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิครองราชสมบัติ ๒ คราว คือ คราวแรกขึ้นเสวยราขชสมบัติเมื่อปีฉลู จุลศักราช ๘๙๑ พ.ศ. ๒๐๗๒ ครองราชสมบัติอยู่ ๒๓ ปี เสด็จออกจากราชสมบัติเสียคราวหนึ่ง เมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๑๔ พ.ศ. ๒๐๙๕ อยู่นอกราชสมบัติ ๒ ปี กลับขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๑๖ พ.ศ. ๒๐๙๗ อยู่ได้ปีหนึ่งก็สวรรคต เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๙๑๗ พ.ศ. ๒๐๙๘

ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชนั้น ก็ว่าได้ครองราชสมบัติ ๒ คราว คือคราวแรกว่าขึ้นเสวยราชย์ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๑๔ พ.ศ. ๒๐๙๕ ครองราชสมบัติอยู่ ๒ ปี ถวายราชสมบัติคืนแก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๑๖ พ.ศ. ๒๐๙๗ ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองราชสมบัติครั้งที่ ๒ อยู่ปีหนึ่งก็เสียพระนครแก่พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๙๑๘ พ.ศ. ๒๐๙๙

แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ราชสมบัติเมือง ปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ครองราชสมบัติอยู่ ๒๐ ปี สวรรคตเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๙๓๐ พ.ศ. ๒๑๑๑ สมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นเสวยราชย์ในเวลากำลังศึกติดพระนคร ครองราชสมบัติอยู่ไม่เต็มปี ก็เสียพระนครแก่พระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ ที่ศักราช ๒ รัชกาลนี้ผิดกันด้วยเหตุใด จะเห็นได้ในคำอธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่จะกล่าวต่อไปนี้


ประวัติของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

พระเทียรราชาที่เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดินี้ ไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า จะเป็นราชบุตรหรือพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด แต่ในจดหมายเหตุของโปรเกรตุเกสว่าเป็นน้องยาเธอต่างพระราชมารดากับสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งเห็นว่าจะเป็นความจริง เห็นได้ว่าเป็นเจ้านายชั้นสูง จึงมีพระนามว่าพระเทียรราชา และอาจจะเป็นราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้คำนวนพระชันษาดู ตามที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ พระชันษาถึง ๑๘ ปี จึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติพระชันษาได้ ๓๖ ปี พระเทียรราชาได้ไปครองหัวเมือง หรือไม่ได้ครองทราบไม่ได้

แต่เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต พระเทียรราชาบางทีจะมีหน้าที่ช่วยรักษาราชการ ในเวลาสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ ก่อนท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องว่าราชการแผ่นดิน และเหตุที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชนั้น อาจเป็นด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์รุกรานต่างๆ ทนไม่ได้จึงทูลลาออกทรงผนผวช ท้าวศรีสุดาจึงได้ว่าราชการแผ่นดินนั้นมา เรื่องจริงบางทีจะเป็นเช่นว่านี้


ลูกเธอในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีลูกเธอหลายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี ๕ พระองค์ พระองค์ชาย ๒ คือ พระราเมศวร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ๑ พระมหินทร ๑ พระองค์หญิง ๓ คือ พระสวัสดิราช ที่ประทานนามว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ เมื่ออภิเษกกับพระมหาธรรมราชา ๑ พระราชบุตรีไม่ปรากฏพระนาม พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ไปเสียพระชนม์ในกลางศึกคราวเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย ๑ พระเทพกษัตรีย์ซึ่งส่งไปประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (ไชยเชษฐา) และพระเจ้าหงสาวดีมาแย่งไป ๑

ลูกเธอเกิดด้วยพระสนม ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระองค์หญิง ๔ คือ ที่ประทานเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ๑ เจ้าพระยามหาเสนา ๑ เจ้าพระยามหาเทพ ๑ (๒ องค์หรือทั้ง ๓ องค์นี้ ข้าพเจ้าสงสัยว่า ที่จริงจะไม่มี ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจะว่าเลยไปจึงไม่ปรากฏพระนาม) กับพระแก้วฟ้าที่ประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแทนพระเทพกระษัตรีย์ ๑ ยังพระศรีเสาวราชอีกพระองค์ ๑ ที่สมเด็จพระมหินทราธิราชให้สำเร็จโทษเสีย เมื่อจวนจะเสียกรุงแก่พระเจ้าหงสาวดี ความที่กล่าวในฉบับหลวงประเสริฐ ทำให้เข้าใจว่าเป็นราชบุตรสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเป็นลูกพระสนมอีกพระองค์ ๑


ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๑ (คราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย)

พอสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติอยู่ไม่ถึงปี ก็เกิดศึงหงสาวดีเข้ามาตีพระนคร

มูลเหตุที่เกิดสงครามคราวนี้ ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่า เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตั้งเป็นอิสระได้ในเมืองตองอู (ดังกล่าวในคำอธิบายเรื่อง ตอนแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น(๑)) แล้วสะสมกำลังทแกล้วทหารได้เป็นอันมาก ได้เชื้อพระวงศ์คนหนึ่งซึ่งเป็นพี่เขยเป็นแม่ทัพ ตั้งให้มีนามว่า กยอดินนรธา แปลตรงศัพท์ว่า กฤษดานุรุธ ต่อมาเลื่อนเกียรติยศขึ้นให้นามใหม่ว่า บุเรงนอง แปลตรงศัพท์ว่า พระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นคนสำคัญอีกคน ๑ พระเจ้าตเบ็งชเวตี้กับบุเรงนองช่วยกันทำสงคราม ตีได้เมืองไทยใหญ่และเมืองพม่ารามัญทั้งสิ้นแล้ว จึงลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหงสาวดี ด้วยเหตุนี้ในพงศาวดารของเราจึงเรียกว่าพระเจ้าหงสาวดี ชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นมอญ แต่ที่จริงพระเจ้าหงสาวดียกมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นพม่าทุกพระองค์ มิใช่มอญ

เหตุที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น กล่าวในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า เดิมพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ ทางนี้กองทัพไทยออกไปตีได้เมืองทวาย พระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้กลับจากเมืองยะไข่ แค้นไทยจึงยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา บางทีตรงนี้พงศาวดารพม่าจะหลง เพราะในปลายรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ติดศึกทางเชียงใหม่อยู่ ที่จริงงพระเจ้าตเบ็งชเวตี้เห็นจะแค้นไทยมาแต่รบกันที่เมืองเชียงกราน ครั้นรู้ว่าเกิดจลาจลในกรุงศรีอยุธยา เห็นเป็นทีจึงยกเข้ามาตี

ศึกหงสาวดีคราวนี้ เนื้อความที่กล่าวในพระราชพงศาวดารของเราผิดในข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่มและฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ที่ว่าพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาถึงชานพระนคร ในปีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ครั้ง ๑ และต่อมาถึงปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าหงสาวดียกเข้าล้อมพระนครอีกครั้ง ๑ ที่จริงยกมาเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ครั้งเดียว ที่หนังสือพระราชพงศาวดารผิดตรงนี้ เป็นด้วยหลงปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ ว่าเสวยราชย์เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๘๙๑ พ.ศ. ๒๐๗๒ ในจดหมายเหตุเดิมซึ่งรวบรวมมาตรวจเมื่อแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารบางฉบับ คงจะกล่าวเพียงว่า ในปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์นั้น พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามา บางฉบับลงไว้แต่ศักราช ว่าพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ ซึ่งเป็นความจริงทั้งสองฝ่าย แต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารลงศักราชปีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เร็วไป ๑๙ ปี จึงเข้าใจไปว่าศึกหงสาวดีเป็น ๒ ครั้ง เมื่อหาเรื่องราวการรบไม่ได้ จึงลงไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ครั้งแรกพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามา พอเห็นพระนครแล้วก็กลับไป ไม่ได้รบพุ่งอันใดกันในครั้งนั้น ไปรบกันต่อเมื่อยกเข้ามาครั้งที่ ๒

เรื่องตรงนี้สอบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ และพงศาวดารพม่า ได้ความยุติต้องกันว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ เสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้ก็ยกกองทัพเข้ามา มาครั้งเดียว และได้รบกันจนเสียพระสุริโยทัยในคราวนี้เอง ส่วนพลความที่กล่าวในพงศาวดารพม่าตอนนี้เลอะเทอะ เชื่อได้ว่าผิดอยู่หลายแห่ง ด้วยหนังสือพงศาวดารพม่าพึ่งแต่งใหม่ ดังกล่าวมาในตอนอธิบายตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่ที่เป็นเนื้อเรื่องเกือบจะยุติต้องกับพงศาวดารไทยไม่ผิดนัก ข้าพเจ้าได้สอบสวนทุกฝ่าย เชื่อว่าเนื้อเรื่องที่จริงจะเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

พระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้ ลงมาตั้งชุมนุมพลที่เมืองเมาะตะมะแล้วเดินกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีเก่า ที่ตั้งอยู่ริมเขาชนไก่ ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นจะแต่งกองทัพออกไปต่อสู้ ฟังกำลังข้าศึกในแขวงเมืองสุพรรณบุรีแห่งใดแห่งหนึ่ง กองทัพไทยต้านทานกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไม่ได้ จึงถอยกลับมาตั้งต่อสู้ข้าศึก เอาพระนครเป็นที่มั่น ด้วยพระนครศรีอยุธยามีลำน้ำล้อมรอบ ทางที่ต้องระวังข้าศึกสำคัญอยู่ข้างด้านเหนือและด้านตะวันออก เพราะพระราชวังตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครข้างด้านเหนือ ส่วนข้างตะวันออกนั้น ลำน้ำสักซึ่งกันพระนครยังอยู่ห่างแนวกำแพงเมืองมาก ในคราวนั้นปรากฏว่าไทยแต่งกองทัพออกไปตั้งค่ายมั่นรักษาชานพระนครด้านเหนือ ๒ ค่าย คือให้พระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีคุมพลไปตั้งรักษาที่ป้อมจำปา อยู่ฝั่งตะวันตกลำน้ำหัวตะพาน เหนือวัดท่าการ้องแห่ง ๑ ให้พระยาจักรีคุมพลไปตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลุมพลีแห่ง ๑ ที่ทุ่งลุมพลีนี้เป็นที่สำคัญในการป้องกันกรุงศรีอยุธยาข้างด้านเหนือ เพราะพระราชวังอยู่ข้างริมน้ำด้านเหนือดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเสียค่ายทุ่งลุมพลี ข้าศึกก็เข้าได้ถึงเชิงกำแพงเมืองด้านพระราชวัง เพราะฉะนั้น ในการเตรียมรบข้าศึกที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในคราวนี้หรือคราวต่อๆมา ไทยจึงออกไปตั้งค่ายมั่นยึดที่ลุมพลีนี้ไว้ทุกคราว

ที่กล่าวในพระราชพงศาวดารว่า มหานาคกับญาติโยมอาสาช่วยราชการสงคราม ได้ช่วยกันขุดคลอง ๆ หนึ่ง จึงเรียกว่า คลองมหานาค นั้นคือ ขุดข้างด้านเหนือหลังทุ่งภูเขาทองซึ่งติดกับทุ่งลุมพลี ให้เป็นคูกันพระนครชั้นนอกออกไปอีกชั้น ๑ ส่วนข้างตะวันออกซึ่งมีแต่คลองขื่อหน้าเป็นคูเมืองนั้นต้องรักษากันกวดขันมาก ในครั้งนั้นให้พระยามหาเสนาออกไปตั้งค่ายมั่นที่บ้านดอกไม้ ทุ่งหันตราค่าย ๑ พระยาพระคลังตั้งค่ายมั่นที่ท้ายคู คือ ทิศตะวันออกข้างใต้ลงไปอีกค่าย ๑

พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาตั้งล้อมพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จยกกองทัพออกไปตรวจกำลังข้าศึก พร้อมด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี และสมเด็จพระราชโอรส พระราชธิดา ได้รบพุ่งกับพระเจ้าแปรซึ่งเป็นกองทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยเข้าช่วยแก้ ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระราชธิดาสิ้นพระชนม์กับสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยอีกพระองค์หนึ่ง แต่นั้นฝ้ายไทยก็เป็นแต่ตั้งมั่นรักษาพระนคร คอยกองทัพหัวเมืองเหนือซึ่งสั่งให้พระมหาธรรมราชายกลงมาตีกระหนาบข้าศึก

วิธีต่อสู้ข้าศึกที่กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวรักษาตามลำน้ำ ข้าศึกแหลมเข้ามาทางไหน ก็เอาปืนใหญ่ยิงไปทางนั้น ถูกข้าศึกล้มตายมากกว่ามาก พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมพระนครอยู่กว่าเดือน เพียรตีค่ายที่รักษาชานพระนครได้ ๓ ค่าย แต่ก็เข้าไม่ได้ถึงคูพระนคร ล้อมอยู่เปล่าๆขัดเสบียงอาหาร ผู้คนอิดโรยลงทุกที ครั้นได้ข่าวว่ากองทัพพระมหาธรรมราชายกลงมาจากข้างเหนือจะมาตีกระหนาบ พระเจ้าหงสาวดีก็จำต้องถอย ที่ถอยขึ้นไปทางเหนือไม่กลับออกไปทางเดิมนั้น เพราะเสบียงอาหารตามทางที่ยกมายับเยินเสียหมดแล้ว จริงอย่างที่ว่าในพระราชพงศาวดาร

การที่พระเจ้าหงสาวดีถอยไปครั้งนั้น ความที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดารดูเป็นทีเหมือนจะไปด้วยความร่าเริง และมีกำลังแข็งแรงเหมือนกับเมื่อยกเข้ามา แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารพม่าของ เซอร์ อาเธอแฟรว่า ไพร่พลพระเจ้าหงสาวดีล้มตายด้วยไข้เจ็บ และถูกไทยยกออกติดตามฆ่าฟันเสียเป็นอันมาก เชื่อได้ว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีถอยไปครั้งนั้น คงจะถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาและกองทัพหัวเมืองเหนือติดตามตีกองหลังพระเจ้าหงสาวดียับเยิน หนังสือมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้วเอง รับว่ากองทัพไทยติดตามขึ้นไปจนทางอีก ๓ วันจะถึงเมืองกำแพงเพชร จวนจะทันทัพหลวง พระเจ้าหงสาวดีจึงทำอุบายซุ่มกองทัพ ล่อให้ไทยละเลิงรบถลำเข้าไป ล้อมจับเอาแม่ทัพไทยได้

แม่ทัพไทยที่พระเจ้าหงสาวดีจับได้ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า พระราเมศวรกับพระมหินทร พงศาวดารพม่าว่า ออกญานครอินทรราชบุตรเขย แต่ฉบับหลวงประเสริฐว่า พระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชา ข้าพเจ้าเห็นว่าจะถูกต้องตามฉบับหลวงประเสริฐ

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีจับพระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชาได้แล้ว ความในหนังสือพงศาวดารยุติต้องกันทุกฝ่ายว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมเป็นไมตรี ขอหย่าทัพกับพระเจ้าหงสาวดี หนังสือมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้วว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เอาช้างเผือก ๒ ช้างกับช้างชนะงา ๒ ช้าง ไปถวายพระเจ้าหงสาวดี และยอมเป็นเมืองส่วยรับส่งช้างปีละ ๓๐ ช้าง เงินปี ๓๐๐ บาท และยกภาษีอากรเมืองตะนาวศรีให้แก่พระเจ้าหงสาวดี เพื่อแลกพระราชบุตรและพระราชบุตรเขยกลับมา ข้อนี้เห็นว่าจะเป็นความจริงไม่ได้ ถ้าจะยอมเป็นเมืองส่วยเช่นนั้น จะเป็นได้แต่ในคราวหลัง คือเมื่อคราวรบกันด้วยเรื่องขอช้างเผือก ในคราวนี้ควรเชื่อตามพระราชพงศาวดารไทยว่า เพียงแต่ยอมหย่าทัพและเอาช้างชนะงาไปให้ ๒ ช้าง


ที่ฝังอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อเสร็จการศึกคราวนั้นแล้ว ทำการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย แล้วสร้างวัดตรงที่ทำพระศพให้ชื่อว่า วัดสบสวรรค์ วัดสบสวรรค์นี้ฝ่ายหนังสือพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระยาโคตระบองหนีพระยาแกรกไปคราวหนึ่ง แล้วกลับลงมาทิวงคตในแขวงเมืองอโยธยา พระยาแกรกทราบจึงเอาศพมาทำฌาปนกิจ และสร้างวัดลงตรงที่ทำศพนั้นให้ชื่อว่า วัดสบสวรรค์ เถียงกันอยู่ดังนี้

ข้าพเจ้าได้เคยไปตรวจท้องที่ และพิเคราะห์ความข้อนี้กับพระยาโบราณราชธานินทร์ด้วยกัน มีความเห็นตรงกันว่าวัดสบสวรรค์เป็นวัดเล็ก มีมาก่อนครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่การทำพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย เห็นจะมีมูลเกี่ยวข้องกับวัดสบสวรรค์อยู่บ้าง คือ เมื่อสมเด็จพระสุริโยทัยทิวงคตกลางศึกแล้ว เชิญพระศพมาไว้ที่สวนหลวงซึ่งเขตอยู่ติดกับวัดสบสวรรค์ ครั้นเสร็จศึกจึงปลูกพระเมรุทำพระศพในสวนหลวงที่ติดต่อกับเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างวัดขึ้นที่ตรงนั้นอีกวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ พระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย ยังปรากฏอยู่ในเขตโรงทหารที่กรุงเก่าจนทุกวันนี้


เรื่องพระเจ้าตเบ็งชเวตี้

ในที่นี้จำจะต้องอธิบายเนื้อความที่ได้จากพงศาวดารพม่าต่อไป ผู้อ่านจึงจะเข้าใจเรื่องการศึกข้างหน้าได้แจ่มแจ้ง คือเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้กลับไปจากกรุงศรีอยุธยาคราวนั้นแล้ว ก็ไปเกิดความฟั่นเฟือน เหตุด้วยเลี้ยงฝรั่งโปรตุเกสคนหนึ่งไว้เป็นมหาดเล็กคนสนิท โปรตุเกสคนนั้นชักชวนให้เสวยสุรามึนเมาอยู่เสมอ จนเสียพระสติไม่สามารถจะว่าราชการได้ บุเรงนองต้องเป็นผู้สำเร็จราชการทั้งปวง ราชอาณาจักรของพระเจ้าหงสาวดีนั้น ข้างเหนือเป็นเมืองไทยใหญ่ ตอนกลางเป็นเมืองพม่า ตอนใต้เป็นเมืองรามัญ ที่จริงพวกไทยใหญ่และพวกมอญไม่อยากอยู่ในอำนาจพม่า จำต้องอยู่ด้วยกลัวอำนาจพระเจ้าหงสาวดี

ครั้นความปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้มีพระสติฟั่นเฟือน พวกมอญก็คบคิดกันเป็นกบฏ ตั้งแข็งเมืองขึ้นที่เมืองทละ บุเรงนองต้องยกกองทัพไปปราบกบฏ อยู่ข้างหลังพระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้ดุร้ายวุ่นวาย พวกขุนนางคบคิดกันลวงเชิญเสด็จไปตามช้างเผือก แล้วไปลอบปลงพระชนม์เสีย เมืองที่ขึ้นในอาณาจักรของพระเจ้าหงสาวดีก็พากันตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่า แข็งเมืองขึ้นหมด มีการรบพุ่งปราบปรามกันเองอยู่ช้านาน กรุงศรีอยุธรบกับพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ครั้งหนึ่ง แล้วจึงขาดศึกหงสาวดีมาหลายปี


เรื่องรบเมืองละแวก

เรื่องกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับกรุงกัมพูชา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า เดิมพระยาละแวกได้ข่าวว่า ที่กรุงศรีอยุธยาเกิดจลาจลเรื่องขุนวรวงศาธิราช จึงยกกองทัพเข้ามา ครั้นมาถึงเมืองปราจีนบุรี ได้ข่าวว่าแผ่นดินเป็นปกติแล้ว ก็ไม่ได้ยกต่อเข้ามา เป็นแต่กวาดครัวไทยเมืองปราจีนบุรีกลับออกไป ทำนองว่าพระยาละแวกยกเข้ามาคราวนี้จะพร้อมๆกับกองทัพพระเจ้าหงสาวดี

ครั้นเสร็จศึกหงสาวดีแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงยกกองทัพลงไปตีกรุงกัมพูชาแก้แค้น พระยาละแวกยอมแพ้ ถวายนักพระสุโทนักพระสุทันราชบุตรเข้ามาไว้เป็นตัวจำนำ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงชุบเลี้ยงนักพระองค์ทั้งสองนั้นเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้นักพระสุทันขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก อยู่มานักพระสัฏฐาเชื้อวงศ์ของพระยาละแวกไปพาญวนขึ้นมาตีเมืองละแวก ฆ่าพระยาละแวกที่เป็นบิดาของนักพระสุทันพิราลัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงแต่งกองทัพให้นักพระสุทันไปตีกรุงกัมพูชาคืน ไปเสียที นักพระสุทันพิราลัยในที่รบ กองทัพต้องถอยกลับมา

เรื่องตรงนี้หนังสือพงศาวดารเขมรว่าไปเป็นอย่างอื่นทีเดียว ว่านักพระจันทราชาที่ได้กำลังไทยอุดหนุนนครั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราช จนตั้งเมืองละแวกเป็นราชธานีได้นั้น ยังทรงราชย์อยู่ และว่าเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๐๒ พ.ศ. ๒๐๘๓ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพออกไปตีพระนครหลวง พระจันทราชายกมารบชนะไทยครั้งหนึ่ง ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๙๑๗ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้พระยาโองผู้เป็นพระเชษฐาของพระจันทราชา คุมกองทัพออกไปรบอีกครั้งหนึ่ง ไปแพ้พระจันทราชาอีก ถึงพระยาโองพิราลัยในกลางศึก พระจันทราชาได้ศพไว้ทำฌาปนกิจดังนี้

ความทั้งสองฝ่ายตรงกันเพียงที่ว่า มีเจ้าเขมรสองคนพี่น้องได้เข้ามาพึ่งไทย และไทยได้ยกออกไปรบ ๒ ครั้ง ครั้งหลังให้เจ้าเขมรองค์หนึ่งคุมกองทัพออกไป ไปแพ้ถึงตัวตายในกลางศึก เนื้อความต้องกันอยู่เพียงเท่านี้ นอกจากนี้เอาเข้ากันไม่ได้ทีเดียว เรื่องตรงนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ไม่กล่าวถึงที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงไปตีเมืองละแวก ไปกล่าวขึ้นว่า "ศักราช ๙๑๘ พ.ศ. ๒๐๘๙ ปีมะโรงศกเดือน ๑๒ แต่งทัพไปละแวก พระยาองค์(โอง)สวรรคโลกเป็นทัพหลวง ฯ" และกล่าวความต่อไปว่า ไปเสียทัพเสียพระยาโองตรงกัน เมื่อเนื้อความที่สอบสวนแตกต่างกันดังนี้ ได้แต่เดาว่า เนื้อเรื่องที่จริงความจะเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระยาจันทราชาจะยังทรงราชย์กรุงกัมพูชาอยู่จริง ดังพงศาวดารเขมรกล่าว ครั้นเมื่อได้ข่าวว่าศึกหงสาวดีเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา พระจันทราชาจะเกิดโลภ แอบเข้ามากวาดต้อนครัวที่เมืองปราจีณ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขัดเคือง จึงยกกองทัพลงไปตีกรุงกัมพูชา พระจันทราชาเห็นจะสู้ไม่ได้ก็ยอมอ่อนน้อม แต่ข้อที่ว่าถวายนักพระสุโทนักพระสุทนนั้น พระราชพงศาวดารของเราเห็นจะหลง ความจริงเจ้าเขมรสององค์นี้ คือ พระจันทราชากับพระยาโองนั้นเอง เห็นจะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระไชยราชาธิราชอาจจะยกย่องเป็นพระราชบุตรบุญธรรมก็ได้ จึงให้พระยาโองขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก พระยาสวรรคโลกที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าได้ลงมาช่วยกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น น่าจะเป็นพระยาโองนี้เอง จดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสก็กล่าวว่า ในการกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น เจ้าแผ่นดินเขมรเป็นตัวสำคัญช่วยคิดกำจัดคนหนึ่ง บางทีจะหมายความว่าพระยาโองนั้นเอง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงให้พระยาโองเป็นแม่ทัพยกออกไปตีกรุงกัมพูชา โดยหวังพระทัยจะให้พระยาโองเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา แต่พระยาโองไปเสียทีพิราลัยในกลางศึก ดังยุติต้องกันทั้งพงศาวดารไทยและพงศาวดารเขมร


ไทยจัดการป้องกันบ้านเมือง

เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีคราวแรก (คือคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น) แล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงจัดการบำรุงกำลังพระนคร แก้ไขความเสียหายในการสงครามครั้งนั้น ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารหลายอย่างคือ การรวมกำลังอย่าง ๑ จัดหายุทธพาหนะอย่าง ๑ จัดที่มั่นในการสงครามอย่าง ๑ ฝึกหัดยุทธวิธีอย่างหนึ่ง ๑

ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า "ให้ตั้งพิจารณาสมสังกัดพรรค์ได้สกรรจ์ลำเครื่องแสนเศษ" นั้น คือแต่งข้าหลวงออกเที่ยวสำรวจบัญชีสำมะโนครัว และคัดคนเข้าทะเบียนเพิ่มเติมกำลังทหารทุกหัวเมืองชั้นใน การปรากฏว่าผู้คนตามหัวเมืองชั้นในเที่ยวตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินแยกย้ายกันอยู่ เวลาเกิดสงครามมูลนายจะไปเรียกระดมมาเข้าหมวดกองไม่ทันท่วงที จึงได้จัดตั้งเมืองชั้นในขึ้นในครั้งนั้นอีก ๓ เมือง คือ เมืองนนทบุรีเมือง ๑ เมืองนครชัยศรี ๑ (ที่จริงเมืองนครชัยศรีนี้เป็นเมืองโบราณ เคยเป็นราชธานีแต่เก่าก่อนหลายร้อยปี แต่ร้างเสียด้วยเรื่องแม่น้ำตื้นเขิน) เมืองสมุทรสาครเมือง ๑ เพื่อให้มีผู้ว่าราชการกรมทหาร อยู่ประจำในท้องที่สำหรับเรียกระดมคนเวลามีการสงคราม หัวเมืองชั้นในเมืองอื่นก็คงจะได้จัดการตรวจเรียกจำนวนคนขึ้นใหม่หมดในครั้งนั้น จึงได้จำนวนคนฉกรรจ์ถึงแสนเศษ ส่วนหัวเมืองเหนือ ๗ หัวเมือง ถึงไม่ได้กล่าวไว้ในพงศาวดารก็ควรเข้าใจได้ ว่าคงจะให้พระมหาธรรมราชาจัดการอย่างเดียวกันั

ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงการที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปเที่ยวล้อมช้างหลายคราว และปรากฏในที่แห่งหนึ่งว่าโปรดให้แปลงเรือแซเป็นเรือเอกชัยและเรือรูปสัตว์ เรื่องเหล่านี้ควรจะเข้าใจว่า เนื่องในการที่รวบรวมหาช้างม้า และต่อเรือขึ้นไว้สำหรับการทัพศึก คงจะทำกันโดยแข็งแรง ถึงเสด็จออกไปเที่ยวล้อมช้างด้วยพระองค์เอง บางทีไปไกลๆถึงตำบลแสนตอ ที่เป็นอำเภอขาณุขึ้นเมืองกำแพงเพชรอยู่ทุกวันนี้ ดูจะเป็นการลำบากต่อพระองค์มากมิใช่น้อย

การรบศึกหงสาวดีคราวนั้น ข้างไทยคงรู้สึกกันว่า พวกหงสาวดีได้มีโอกาสรบพุ่งมา ชำนาญการสงครามยิ่งกว่าไทย จะต่อสู้กลางแปลงยาก ทางต่อสู้อย่างดี ต้องเอาพระนครเป็นที่มั่น และเอากำลังกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีกระหนาบ จึงคิดป้องกันมิให้ข้าศึกที่จะมาติดกรุงศรีอยุธยา หาที่มั่นด้วยเหตุนี้ จึงยอมรื้อกำแพงเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี เมืองนครนายก อันอยู่รายรอบกรุงศรีอยุธยา มิให้ข้าศึกอาศัยเมืองเหล่านั้นเป็นที่มั่นได้ ส่วนพระนครศรีอยุธยาเองนั้น ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ให้ซ่อมแซมกำแพงพระนคร แต่ในฉบับหลวงประเสริฐว่า "แรกให้ก่อกำแพงพระนคร" ดังนี้จึงเข้าใจว่ากำแพงกรุงเก่าพึ่งแรกก่อด้วยอิฐปูน ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กำแพงพระนครตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างมา เห็นจะใช้แต่เสาไม้ปักเป็นระเนียดบนเชิงเทินดิน เพราะยังไม่เคยมีข้าศึกเข้ามาถึงชานพระนครเลย พึ่งจะมีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นครั้งแรก

ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ได้ทำพระราชพิธีปฐมกรรมำพิธีมัธยม(กรรม) พิธีอาจาริยาภิเษก พิธีอินทราภิเษก เหล่านี้ควรสังเกตว่าไม่ได้ทำในที่แห่งเดียว บางทีขึ้นไปทำถึงเมืองชัยนาท เป็นเช่นนี้ด้วยเหตุใด เพราะการทำพิธีเหล่านี้เกี่ยวด้วยการพิชัยสงครามทั้งนั้น ถ้าจะว่าก็ทำนองอย่างเราฝึกซ้อมรบทุกวันนี้ แต่ในครั้งโน้นวิธีการและความเชื่อความนิยมของคนผิดกัน พิธีจึงเจือไปข้างเวทมนตร์ ซึ่งอาจจะกระทำให้กล้าหาญแข็งแรงด้วยความเชื่อ เมื่อว่าโดยย่อแลเห็นได้ว่า เมื่อถูกศึกใหญ่เจ็บช้ำในคราวนั้น ไทยมิได้ละลืมเพิดเฉย ตั้งหน้าตระเตรียมการป้องกันบ้านเมืองเต็มกำลังที่จะทำได้ทุกอย่าง


เรื่องต่างประเทศมาค้าขาย

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีกำปั่นลูกค้าฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา สหรัฐ เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้สอบจดหมายเหตุของฝรั่งหลายฉบับได้ความว่า ในรัชกาลนั้นเรือลูกค้าฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา ยังไม่มีออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออก การค้าขายกับฝรั่งอยู่ในมือพวกโปรตุเกสชาติเดียว แต่เรือลูกค้าเมืองสหรัฐชาวอินเดียคงจะไปมาค้าขายถึงกันนานมาแล้ว


เหตุที่จะเกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ (คราวขอช้างเผือก)

การศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ ผิดกับศึกหงสาวดีครั้งแรกด้วยประการทั้งปวง พระเจ้าหงสาวดีคนละองค์ กองทัพหงสาวดีที่ยกมาก็ตระเตรียมมามากมายใหญ่หลวงกว่าคราวก่อน ทางที่มาก็คนละทาง วิธีทำสงครามก็ผิดกัน และที่สุดผลของการศึกครั้งนั้นก็ผิดกันกับทุกๆคราวที่มีมาแต่ก่อน จำจะต้องอธิบายเนื้อความที่ได้จากพงศาวดารพม่าและตำนานโยนกก่อน จึงจะเข้าใจเหตุการณ์ที่จะเกิดสงครามคราวนั้นชัดเจน

เมื่อเกิดกบฏปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้แล้ว ครั้งนั้นหัวเมืองในราชอาณาจักรของพระเจ้าหงสาวดีพากันตั้งแข็งเมืองทั่วไป ที่เมืองหงสาวดีก็มีมอญตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี บเรงนองเห็นเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้ จึงพาสมัครพรรคพวกกลับไปเมืองตองอู ซึ่งเป็นเมืองเดิมของตน น้องชายบุเรงนองซึ่งได้เป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองตองอูมาแต่ครั้งพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ไม่ยอมยกเมืองให้บุเรงนอง บุเรงนองต้องไปอาศัยอยู่ในแขวงเมืองตองอู

แต่อยู่ไม่ช้ามอญที่ได้บ้านเมืองคืน เกิดแตกสามัคคีกัน ถึงรบพุ่งแย่งบ้านเมืองกัน เหตุที่มอญเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันเองวุ่นไปดังนี้ ทำให้คนกลับไปนิยมบุเรงนอง พากันไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก บุเรงนองได้กำลังจึงเข้าชิงได้เมืองตองอู แต่ไม่ทำอันตรายแก่น้องชาย ช่วยกันซ่อมสุมผู้คนได้เป็นกำลังแล้ว จึงยกไปตีได้เมืองแปรและได้อาณาเขตขึ้นไปจนถึงเมืองภุกาม แล้วยกกำลังลงมาตีเมืองหงสาวดี เมืองเมาะตะมะและอาณาเขตรามัญคืนทั้งสิ้น

บุเรงนองทำการสงครามอยู่ ๓ ปีได้เมืองคืนแล้ว จึงตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๙๑๕ พ.ศ. ๒๐๙๖ มีพระนามว่า พระเจ้าศิริสุธรรมราชา (แต่พม่ามักเรียกตามนามเก่าว่า พระเจ้ากยอดินนรธา หรือ พระเจ้าบุเรงนอง) ตั้งมังชัยสิงห์ ราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชา และราชอนุชาเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองตองอูองค์หนึ่ง เมืองแปรองค์หนึ่ง เมืองเมาะตะมะองค์หนึ่ง เมื่อจัดการปกครองหัวเมืองรามัญเห็นเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าบุเรงนองปรารภจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา แต่พวกข้าราชการพากันทูลทัดทานว่า กรุงศรีอยุธยามีกำลังมาก ทั้งที่ตั้งพระนครก็เป็นชัยภูมิคับขันมั่นคงมีแม่น้ำล้อมรอบ ครั้งพระเจ้าตเบ็งชเวตี้มาตีก็เสียที หากว่าจับพระราชโอรสและพระราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ ไทยจึงยอมหย่าทัพ ขอให้ปราบปรามบ้านเมืองใกล้เคียงให้ราบคาบซ่องสุมกำลังให้ได้มากเสียก่อน จึงค่อยคิดตีเอากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงยกขึ้นไปตีเมืองอังวะได้ ให้ราชบุตรเขยเป็นพระเจ้าอังวะ แล้วไปตีเมืองไทยใหญ่ (คือเงี้ยว) ต่อขึ้นไป เพราะเหตุที่พวกไทยใหญ่ได้มาช่วยเมืองอังวะ เมื่อได้เมืองไทยใหญ่แล้วจึงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่

เรื่องพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ในระหว่างนี้ ได้ความตามหนังสือตำนานโยนกว่า เมื่อท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ไปเชิญพระไชยเชษฐาเมืองศรีสัตนาคนหุตมาครองเมืองเชียงใหม่ (ดังกล่าวไว้ในอธิบายตอนแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น พระไชยเชษฐาครองเมืองเชียงใหม่) อยู่ได้ ๒ ปี พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต(โพธิสาร) ผู้เป็นพระบิดาทิวงคต อนุชาของพระไชยเชษฐาเกิดชิงราชสมบัติกันขึ้น ท้านพระยากรุงศรีสัตนาคนหุตแตกกันเป็น ๒ พวก พวกข้างเหนือตั้งที่เมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง) พวกใต้ลงไปตั้งที่เมืองเวียงจันทน์ จะทำสงครามกัน พระไชยเชษฐาจึงกลับไประงับการวิวาทเรียบร้อยแล้ว ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ๔ ปี จึงบอกข่าวมายังเมืองเชียงใหม่ว่าจะเอาเมืองล้านช้างเป็นราชธานี ทางเมืองเชียงใหม่ให้ นางพระยาจิระประภา เป็นผู้รักษาเมืองไปอย่างแต่ก่อน

ข้างพวกท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ไม่พอใจที่จะเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงไปรับเจ้าเมกุติไทยใหญ่เมืองนายมาครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าไชยเชษฐาให้กองทัพมาตีก็มิได้บ้านเมืองคืน เมืองเชียงใหม่จึงเป็นของพระเจ้าเมกุติ อยู่จนพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองไทยใหญ่ ครั้นตีไปถึงเมืองนาย เจ้าเมืองนายเป็นญาติกับพระเจ้าเมกุติจึงขอกองทัพเมืองเชียงใหม่ไปช่วย ครั้นพระเจ้าหงสาวดีตีเมืองนายได้แล้ว จึงเลยยกเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ได้รบพุ่งกัน พระเจ้าเมกุติเห็นจะสู้ไม่ได้ ก็ยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดี

พระเจ้าหงสาวดีเที่ยวทำสงครามในตอนนี้อยู่หลายปี จึงได้อาณาจักรตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ เมืองไทยใหญ่ เมืองพม่า รามัญตลอดไป ครั้นได้อาณาจักรแล้ว ก็ตั้งบำรุงพระเกียรติยศด้วยประการต่างๆ มีการบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวารั้ววังเป็นต้น ให้สมกับที่เป็นราชาธิราช ในพงศาวดารพม่ากล่าวความสมกับในพระราชพงศาวดารไทยว่า ที่เกิดสงครามกับกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เป็นเหตุด้วยพระเจ้าหงสาวดีบำรุงพระเกียรติยศอย่างอื่นสำเร็จแล้ว ขาดแต่ยังไม่มีช้างเผือก ทราบว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีช้างเผือกดีอยู่ ๒ ช้าง จึงมีราชสาส์นเข้ามาขอช้างเผือก ให้เป็นเหตุที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอย่างหมายไว้

เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้รับราชสาส์นพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือก ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ปรึกษาข้าราชการทั้งปวงว่าควรจะให้ช้างเผือกแก่พระเจ้าหงสาวดีหรือไม่ควรให้ ที่ปรากฏว่าปรึกษากันอย่างนี้ ควรเข้าใจว่า ในครั้งนั้นข้างไทยเข้าใจดีทีเดียวว่า ถ้าไม่ให้พระเจ้าหงสาวดีคงยกมารบ และรู้อยู่ดีว่าพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจและกำลังยิ่งกว่าพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ที่ยกมาคราวก่อนเป็นอันมาก ความเห็นข้าราชการไทยในครั้งนั้นแตกกันเป็น ๒ พวก ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ เป็นพวกข้างรักษาความสงบ คือเห็นไม่ควรรบพวกหนึ่ง เป็นพวกที่เห็นควรรบพวกหนึ่ง

พวกที่เห็นควรว่าไม่ควรรบมีมาก พวกนี้เห็นว่ากำลังเมืองไทยไม่พอที่จะสู้รบเอาชัยชนะพระเจ้าหงสาวดีได้ ยอมให้ช้างเผือก ๒ ตัว แม้จะเสียเกียรติยศไปบ้าง ดีกว่าให้ไพร่บ้านพลเมืองยับเยินล้มตาย และคอยผลที่สุดซึ่งจะรู้ไม่ได้ว่าจะยิ่งร้ายถึงเพียงใด ฝ่ายพวกข้างเห็นควรจะรบนั้นมีน้อย ปรากฏชื่อในพงศาวดารบอกไว้ ๓ คน คือ พระราเมศวรราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระยาจักรีคนหนึ่ง พระสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง ความเห็นของพวกนี้เป็นอย่างไรคิดดูพอจะเข้าใจได้ คือเห็นว่า พระเจ้าหงสาวดีมุ่งจะเอาเมืองไทยไว้ในอำนาจ การที่ขอช้างเผือกสักแต่ยกขึ้นเป็นเหตุที่จะทำร้าย ถึงให้หรือไม่ให้พระเจ้าหงสาวดีก็คงหาเหตุเข้ามาทำอันตรายเมืองไทยวันหนึ่งจนได้ การที่จะยอมให้ช้างเผือกไม่เป็นเครื่องป้องกันอันตรายอันใด เป็นแต่จะเสียเกียรติยศปรากฏแก่ประเทศทั้งปวงว่าไทยขลาดและเขลา ไหนๆก็คงจะต้องรบกันวันหนึ่ง รบกันเสียทีเดียวเมื่อยังมีกำลัง อย่าให้เสียเกียรติยศดีกว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยอย่างนี้จึงไม่ยอมให้ช้างเผือกแก่พระเจ้าหงสาวดี

พระราชสาส์นที่ตอบไป ตามที่ปรากฏในพงศาวดารพม่าความเข้ากันดีกว่าในหนังสือพระราชพงศาวดารของเรา ใจความว่าช้างเผือกเป็นของได้ด้วยบุญญาอภินิหาร ถ้าพระเจ้าหงสาวดีทรงเจริญทศพิธราชธรรมให้ไพบูลย์แล้ว ก็คงจะได้ช้างเผือกมาประดับบารมีเป็นมั่นคง ความในพระราชสาส์นเห็นจะเป็นอย่างนี้ เห็นจะไม่เป็นเชิงท้าทายเหมือนที่แต่งไว้ในพระราชพงศาวดาร

ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกมาตีกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ ได้เปรียบหลายประการ กำลังไพร่พลก็มีมาก ทแกล้วทหารก็ชำนาญการสงคราม กำลังร่าเริงด้วยชนะมาใหม่ๆ และข้อสำคัญนั้นที่พระเจ้าบุเรงนองได้รู้ภูมิลำเนา ตลอดจนกำลังและวิธีรบของไทยมาแต่คราวก่อนนั้น แลเห็นได้ในการตระเตรียมของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ปรากฏในเรื่องพระราชพงศาวดารว่า ตระเตรียมแก้ไขความขัดข้องซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนทุกอย่างตั้งแต่ต้นทางที่เดินทัพ คราวก่อนเดินเข้ามาทางกาญจนบุรี ตรงเข้าล้อมพระนครศรีอยุธยา ถูกไทยตั้งรักษาพระนครเป็นที่มั่น แล้วให้ทัพเมืองเหนือลงมาตีกระหนาบ คราวนี้พระเจ้าบุเรงนองเปลี่ยนทางเดินเข้ามาทางเมืองตาก ยกกำลังเข้าทุ่มตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังที่จะช่วยกรุงศรีอยุธยาเสียก่อน แล้วจึงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา

ข้อที่เคยเสียเปรียบด้วยเรื่องไทยใช้ปืนใหญ่ไปยิงเมื่อคราวก่อน คราวนี้ก็ตระเตรียมทัพเรือและเอาปืนใหญ่มาด้วยเป็นอันมาก ในหนังสือพระราชพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีจ้างโปรตุเกสมาเป็นทหารคราวนั้นกว่า ๔๐๐ คน และปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุของโปรตุเกสว่า ทั้งพระเจ้าหงสาวดีและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่างให้ลงไปขอให้โปรตุเกสที่เมืองมะละกามาช่วยรบ แต่โปรตุเกสเจ้าเมืองมะละกาตั้งตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างไหน ด้วยประสงค์จะค้าขายหาประโยชน์ทั้งสองเมือง ยังเรื่องเสบียงอาหาร ซึ่งเป็นข้อขัดข้องสำคัญของพระเจ้าหงสาวดีเมื่อยกมาคราวก่อน คราวนี้พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้น ก็เกณฑ์พระเจ้าเชียงใหม่ให้เป็นกองเสบียง มีเรือลำเลียงตระเตรียมแก้ไขความบกพร่องไว้ทุกอย่าง

กองทัพพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกเข้ามาครั้งนี้ ตามหนังสือพระราชพงศาวดารพม่าจัดเป็นทัพกษัตริย์ ๕ ทัพ คือทัพพระมหาอุปราชาทัพ ๑ พระเจ้าอังวะราชบุตรเขยทัพ ๑ พระเจ้าแปรราชอนุชาทัพ ๑ พระเจ้าตองอูราชอนุชาทัพ ๑ พระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหลวงทัพ ๑ เกณฑ์พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่เข้าสมทบทุกกอง รวมพลเบ็ดเสร็จว่าห้าแสน เกณฑ์พระเจ้าเชียงใหม่ (เมกุติ) ให้จัดเรือลำเลียงอาหารส่งลงมา แต่พระเจ้าเชียงใหม่บิดพลิ้ว บอกป่วยเสียไม่ลงมาเอง ให้แต่พระยาแสนหลวง พระยาสามล้านลงมาแทน

หนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุน จุลศักราช ๙๒๕ พ.ศ. ๒๑๐๖ ตรงกับศักราชที่ว่าไว้ในฉบับหลวงประเสริฐ (แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่าปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ไปตรงกับศักราชที่พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกเข้ามา) กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมุ่งมาเมืองกำแพงเพชร ความที่กล่าวในพระราชพงศาวดารของเรา ดูเหมือนพระเจ้าหงสาวดีจะไม่ต้องรบหัวเมืองเหนือเลยสักนิดเดียว พอถึงเมืองไหน เจ้าเมืองเห็นกองทัพใหญ่หลวงเหลือกำลังที่จะต่อสู้ แม้พระมหาธรรมราชาก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีโดยดี

แต่ในหนังสือพงศาวดารพม่าไม่ได้ว่าเช่นนั้น ว่าเมื่อกองทัพหงสาวดียกเข้ามาถึงเมืองกำแพงเพชร ไทยออกต่อสู้ได้รบกัน พวกหงสาวดีตีได้เมืองกำแพงเพชร จับผู้ว่าราชการได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงเข้าตั้งมั่นในเมืองกำแพงเพชร แล้วแยกกองทัพเป็น ๓ กอง ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกไปตีเมืองสุโขทัย ให้พระเจ้าอังวะกับพระเจ้าแปรยกไปตีเมืองพิษณุโลก ส่วนพระเจ้าหงสาวดีเองยกไปตีเมืองสวรรคโลก พระยาสุโขทัยได้ยกกองทัพออกมารบนอกเมืองพ่ายแพ้เสียเมือง และจับพระยาสุโขทัยได้ ส่วนเมืองพิษณุโลกนั้นรักษาเมืองมั่นคง ทัพหงสาวดีต้องล้อมและเข้าตีหักเอาจึงได้เมือง จับพระมหาธรรมราชาได้

ข้อนี้สมกับความที่กล่าวในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองพิษณุโลกเมื่อ ณ วันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช ๙๒๕ พ.ศ. ๒๑๐๖ และกล่าวต่อไปว่า ครั้งนั้นหัวเมืองเหนือข้าวแพง ทั้งผู้คนก็เกิดไข้ทรพิษตายมาก พระเจ้าหงสาวดีจึงได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แต่เมืองสวรรคโลกนั้น พงศาวดารพม่าว่า พอได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดียกไป พระยาสวรรคโลกก็ออกมาอ่อนน้อม และพระยาพิชัยก็ตามมาอ่อนน้อมอีกเมืองหนึ่ง

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้หัวเมืองเหนือหมดแล้ว จึงจัดกองทัพใหม่ ให้พระเจ้าแปรคุมทัพเรือล่องมาทางลำน้ำแควใหญ่ทัพ ๑ ส่วนทัพบกนั้น ให้พระมหาอุปราชเป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเป็นกองกลาง ส่วนทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีตามมาข้างหลัง พระเจ้าหงสาวดีเอาพระมหาธรรมราชา พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย มาในกองทัพด้วย พระมหาธรรมราชาทูลได้ทูลขอขออนุญาต มีหนังสือลงมาทูลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพื่อจะให้ยอมแพ้เสียโดยดี พระเจ้าหงสาวดียอมอนุญาตให้มีมาตามประสงค์ แต่เมื่อคนถือหนังสือลงมาถึงกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระหมาจักรพรรดิได้ทราบความว่า พระมหาธรรมราชาไปเข้ากับข้าศึกทรงพระพิโรธ ให้เอาตัวผู้ถือหนังสือจำเสีย ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าดังนี้

การที่กรุงศรีอยุธยาต่อสู้ศึกหงสาวดีครั้งนี้ กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้พระยาพิชัยรณฤทธิ์ พระยาวิชิตณรงค์ ยกกองทัพไปช่วยเมืองพิษณุโลก ไปถึงแขวงเมืองนครสวรรค์ไม่ทันช่วยเมืองพิษณุโลกต้องกลับมา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบว่าเสียหัวเมืองเหนือแกข้าศึก ก็เสียพระทัย ให้จัดแต่การป้องกันพระนคร ไม่ได้ยกออกไปรบพุ่งอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้แต่งให้พระมหินทรคุมกองทัพ และเอาปืนใหญ่ใช้พลทหารโปรตุเกสประจำบรรทุกเรือขึ้นไปต่อสู้ข้าศึกถึงข้างเหนือ ได้เอาปืนใหญ่ยิงพวกกองทัพบกหงสาวดีล้มตายเป็นอันมาก กองทัพบกต้องรออยู่คราว ๑ จนกองทัพเรือของพระเจ้าแปรยกลงมาถึง ตีทัพพระมหินทรแตก กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงเดินต่อลงมา และว่าเมื่อข้าศึกจวนจะถึงพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกกองทัพใหญ่ออกไปตั้งรับที่ทุ่งลุมพลี ได้รบกันอีกครั้งหนึ่ง กองทัพไทยเสียทีแตกกลับเข้าพระนคร พวกหงสาวดีแย่งเอาเรือกำปั่นที่บรรทุกปืนใหญ่ไปได้ แต่นั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเป็นแต่รักษาพระนครมั่นไว้

ข้อนี้สมกับจดหมายเหตุของโปรตุเกสว่า ข้าศึกแย่งเอาเรือกำปั่นบรรทุกปืนใหญ่ไปได้ ๓ ลำ พงศาวดารพม่ากล่าวต่อมาว่า กองทัพพระเจ้าหงสาวดีเข้าตั้งล้อมพระนคร เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้าไปในเมือง ถูกบ้านช่องผู้คนล้มตายมาก ราษฎรพากันร้องทุกข์ต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหาจักรพรรดิจึงให้ออกไปขอเป็นไมตรี เนื้อความที่กล่าวในพงศาวดารพม่าตอนนี้น่าจะเป็นความจริง จะพลาดแต่ ๒ แห่งคือ ที่ว่าพระเจ้าหงสาวดีเองยกไปตีเมืองสวรรคโลกนั้น ที่จริงเห็นจะไปตีเมืองพิษณุโลก เพราะเป็นเมืองหลวงฝ่ายเหนือ กับอีกข้อหนึ่งที่ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้พระมหินทรเป็นแม่ทัพแกไปนั้น ที่จริงเห็นจะเป็นพระราเมศวร พระมหินทรไม่ปรากฏว่าเข้มแข็งในการสงครามในเวลาใดๆ แต่ต้นจนปลาย

ผลของการสงครามคราวนี้เป็นอย่างไร หนังสือพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าผิดกันเป็นข้อสำคัญ หนังสือพระราชพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดีเอาแต่ช้างเผือก ๔ ช้าง กับขอพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นหัวหน้าในการต่อสู้ไปเมืองหงสาวดี แต่หนังสือพงศาวดารพม่าว่า ในครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยายอมเป็นเมืองขึ้นหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมอบเวนราชสมบัติแก่พระมหินทร และว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพกลับ ได้เอาช้างเผือกไป ๔ ช้าง และพาเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระราเมศวรไปไว้เมืองหงสาวดีด้วย เรื่องที่ว่าเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระราเมศวรไปไว้เมืองหงสาวดีนั้น ยังมีเรื่องในพงศาวดารพม่าต่อมาว่า เมื่อไปอยู่เมืองหงสาวดี พระราเมศวรตามเสด็จพระเจ้าหงสาวดีไปรบเมืองเชียงใหม่ ไปประชวรสิ้นพระชนม์กลางทาง ส่วนสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นไปอยู่ที่เมืองหงสาวดีกว่า ๓ ปี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระเจ้าหงสาวดีได้ให้สร้างตำหนักขาว หลังคาสองชั้นอย่างวังเจ้านายเมืองพม่า ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิอยู่วังใหม่ได้หน่อยหนึ่งทูลลาทรงผนวช แล้วทูลลาเข้ามาธุดงค์ยังกรุงศรีอยุธยา มาลาผนวชออกช่วยพระมหินทรคิดอ่านรบพุ่งเมื่อศึกหงสาวดีคราวหลัง แต่ประชวรสวรรคตเสียแต่ในเวลากลางศึก ได้ความตามหนังสือพงศาวดารดังนี้

ว่าโดยย่อหนังสือพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าผิดกันในข้อสำคัญ ๒ ข้อ คือข้อที่ว่าพระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วยนี้ข้อ ๑ กับข้อที่ว่ากรุงศรีอยุธยายอมเป็นเมืองขึ้นหงสาวดีข้อ ๑ ความจริงจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าพิเคราะห์ดู ข้อที่ว่ายอมเป็นเมืองขึ้นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าเห็นจะยอมเป็นเมืองส่วยอย่างพงศาวดารพม่าว่ายอมเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีตเบ็งชเวตี้ คือยอมส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ ช้าง เงินปี ๓๐๐ ชั่ง(มิใช่บาท) และยอมให้ค่าปากเรือบรรดาได้ในเมืองตะนาวศรี เพราะการที่จะเอาแต่ช้างเผือก ๔ ช้างกับคน ๓ คนไป ไม่น่าจะพอแก่ประสงค์ของพระเจ้าหงสาวดี และพระเจ้าหงสาวดีในเวลานั้น มีอำนาจพอที่จะบังคับให้รับเป็นเมืองส่วยได้ เห็นจะไม่ลดหย่อนให้



Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 17 มีนาคม 2550 9:51:41 น.
Counter : 10513 Pageviews.

2 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
  
(ต่อ)

ข้อที่พงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วยนั้น ถ้าแลดูโดยเนื้อเรื่องก็น่าเชื่อ เพราะตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตั้งแต่เสร็จศึกคราวนั้นกรุงศรีอยุธยากับเมืองพิษณุโลกก็เกิดอริบาดหมางกันต่อมา สมเด็จพระมหินทรข้าง ๑ พระมหาธรรมราชาข้าง ๑ ซึ่งไม่เคยมีบุญคุณหรือเคยยำเกรงกัน อีกประการหนึ่ง ตามเนื้อเรื่องในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตอนต่อมานี้ ก็ปรากฏว่าได้มอบเวนราชสมบัติแก่พระมหินทรแล้วเสด็จออกไปอยู่เงียบๆที่วังหลัง และที่สุดออกทรงผนวช เนื้อเรื่อสมกับพงศาวดารพม่าทุกอย่าง ผิดกันแต่เวลามอบเวนราชสมบัติกับที่อยู่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฝ่ายเราว่าอยู่ในเมืองเรา ฝ่ายพม่าว่าไปอยู่เมืองหงสาวดี

ถ้าไม่มีข้อขัดขวางแล้ว ข้าพเจ้าจะเชื่อว่า พระเจ้าหงสาวดีได้เอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วยจริง แต่ข้อขัดขวางมีอยู่ คือ เรื่องที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขอพระเทพกษัตรี แม้ไม่ปรากฏทั้งในพงศาวดารพม่าและพงศาวดารล้านช้าง ก็ควรเชื่อว่าเป็นจริง โดยมีเหตุเป็นพยานที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้มาช่วยเหลือการศึกสงครามภายหลังอีกหลายคราว ซึ่งพงศาวดารทั้งหลายรับถูกต้องกัน พระเทพกษัตรีส่งไปเมื่อเสร็จศึกคราวขอช้างเผือกแล้วเป็นแน่ ในเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจำจะต้องอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา จึงเชื่อลงไปไม่ได้ว่า พระเจ้าหงสาวดีได้เอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วย คือ ในคราวนั้นพระเจ้าหงสาวดีไม่ได้ตีกรุงศรีอยุธยาได้ แต่ยอมแพ้กันโดยดี ลักษณะการที่ยอมแพ้ถึงเมื่อครั้งนั้นก็เห็นจะเหมือนกับสมัยนี้ ที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันเสียก่อน ว่าข้างชนะจะเอาเพียงไร ข้างแพ้จะให้ได้แล้วจึงยอมแพ้ ถ้าพระเจ้าหงสาวดีตั้งข้อจต้องการเข้ามาว่าจะเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปไว้เมืองหงสาวดี ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะยอมโดยดี

อีกประการหนึ่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นหนังสือฉบับหลวงแต่งภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นดพียง ๑๑๖ ปี แต่งก่อนหนังสือพงศาวดารพม่าช้านาน กล่าวไว้ชัดเจนว่า พระเจ้าหงสาวดีขอเอาไปแต่พระราเมศวร ถ้าพระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วย ทำไมจะไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ เหมือนอย่างได้บอกไว้เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชไป ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงยังไม่ยอมเชื่อในข้อที่ว่า พระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปด้วย(๒)


เรื่องพระยาตานีเป็นกบฏ

ผลของการแพ้ศึกในครั้งนั้น เห็นจะเกิดความท้อถอยระส่ำระสายในพระนครมาก พระยาตานีที่ยกกองทัพเข้ามาสู้รบข้าศึก จึงกล้าคิดกบฏจู่เข้าไปได้จนถึงในพระราชวัง แต่ก็แลเห็นได้ว่าไทยยังมีกำลังอาจปราบพวกกบฏตานีให้แพ้พ่ายไปได้โดยง่าย



เรื่องไชยเชษฐาธิราชขอพระเทพกระษัตรี

จำจะต้องกล่าวถึงเรื่องการศึก ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ และให้ไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตครั้งที่ ๑ ก่อน จึงจะเข้าใจเหตุที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาเป็นไมตรีกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ได้ความจากพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งขอช้างเผือกนี้ ได้สั่งพระเจ้าเชียงใหม่ (เมกุติ) ให้คุมกองทัพเรือขนเสบียงลงมาส่ง พระเจ้าเชียงใหม่บิดพลิ้วเสียไม่มาเอง เป็นแต่แต่งให้พระยาแสนหลวงกับพระสามล้านลงมาแทน พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่อยู่แล้ว ครั้นเมื่อกลับไปถึงเมืองหงสาวดีได้ความว่า พระเจ้าเชียงใหม่คบคิดกับพระยาเชียงแสน พระยานครลำปาง พระยาน่าน พระยาเชลียง จะตั้งแข็งเมืองก็ขัดเคืองมาก พักพอสิ้นฤดูฝนแล้ว

ถึงเดือน ๑๒ ปีชวด จุลศักราช ๙๒๖ พ.ศ.๒๑๐๗ (ภายหลังตีกรุงศรีอยุธยาปีหนึ่ง) ก็จัดกองทัพใหญ่ให้พระเจ้าอังวะคุมกองทัพเมืองอังวะ สมทบไทยใหญ่ยกมาทางเมืองนายกอง ๑ ส่วนกองทัพหงสาวดี ให้พระมหาอุปราชเป็นปีกขวา พระเจ้าแปรเป็นกองกลาง พระเจ้าตองอูเป็นปีกซ้าย พระเจ้าหงสาวดียกทัพหลวงตามมาทาง ๑ ให้พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพไทยเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย สมทบกองทัพเจ้าเมืองสารวดี (หรือสาวัตถี) ราชนัดดายกขึ้นไปทาง ๑

ไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่เห็นศึกเหลือกำลังจะต่อสู้ ก็ออกไปยอมแพ้แก่พระเจ้าหงสาวดีโดยดี แต่พระยาเชียงแสน พระยาเชลียง พระยานครลำปาง พระยาน่าน (พงศาวดารล้านช้างว่าพระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน) นั้นอพยพหนี พระเจ้าหงสาวดีจับพระยาเชียงแสนได้ แต่อีก ๓ คนหนีไปพึ่งพระไชยเชษฐา ณ กรุงศรีสัตนาคนหุต

ขณะเมื่อพระเจ้าหงสาวดีอยู่ที่เมืองเชียงใหม่นั้น ทางเมืองหงสาวดีเกิดเหตุพวกเชลยไทยใหญ่เป็นกบฏขึ้น พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กองทัพพระมหาธรรมราชากลับ แล้วรีบยกทัพหลวงกลับไปเมืองหงสาวดี เอาพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติไปด้วย ให้พระมหาเทวี (เข้าใจว่า นางพระยาจิระประภา ที่เคยนั่งเมืองครั้งหนึ่งแล้วนั้น) ครองเมืองเชียงใหม่และให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าอังวะ ยกกองทัพติดตามไปเอาตัวพระยาทั้งสามที่เมืองล้านช้าง ครั้งนั้นพระไชยเชษฐาลงไปตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ กองทัพหงสาวดียกไปถึงเข้าล้อมเมือง พระไชยเชษฐาเห็นจะสู้ไม่ได้ก็ยกกองทัพหลบเข้าป่า พวกหงสาวดีได้เมืองเวียงจันทน์จับได้เจ้าอุปราชผู้เป็นอนุชาและมเหสีของพระไชยเชษฐา ๓ พระองค์ กับนักสนมและเสนาอำมาตย์อีกหลายคน กองทัพหงสาวดีติดตามพระไชยเชษฐาต่อไปถึงหนองหาน ได้รบกับ ๓ พระยาพวกเชียงใหม่ พระยาน่านตายในที่รบ อีก ๒ คนหนีไปได้ แต่พระไชยเชษฐานั้นพากองทัพหลบอยู่ในป่า แต่งแต่กองโจรออกเที่ยวรังแกกองทัพหงสาวดี กองทัพหงสาวดีตามเท่าใดก็ไม่พบ จนกองทัพหงสาวดีขัดเสบียงอาหาร ไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายมากก็ต้องเลิกทัพกลับไป และพาเจ้าอุปราช มเหสี นักสนมของพระไชยเชษฐากลับไปเมืองหงสาวดีด้วย

จะเป็นเวลาเมื่อพระไชยเชษฐากลับคืนเมือง ในเวลาเลื่องลือว่ากองทัพหงสาวดีทำไม่ได้นี้เอง ที่พระไชยเชษฐาให้มาขอพระเทพกษัตรี เพราะมเหสีที่มีอยู่ มอญจับเอาไปเสียหมด และเป็นเวลากำลังแค้นพระเจ้าหงสาวดี เหมือนกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตพอจะเป็นกำลังช่วยแก้แค้นได้ จึงอนุญาตประทานพระราชธิดาตามที่ขอมานั้น

เรื่องที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งพระเทพกษัตรี ไปประทานพระเจ้ากรุงศรีศัตนาคนหุต และพระเจ้าหงสาวดีแย่งเอาไปเสียกลางทาง มีต้องกันทั้งในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐและฉบับราชหัตถเลขา แต่ฝในพงศาวดารล้านช้างและพงศาวดารพม่าไม่ปรากฏ พงศาวดารล้านช้างกล่าวแต่ว่า พระไชยเชษฐาได้ราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเป็นมเหสีองค์หนึ่ง หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระมหาอุปราชไปตีเมืองเวียงจันทน์ จับมเหสีของพระไชยเชษฐาได้ ๓ องค์ องค์หนึ่งมีนามว่า พระแก้วมโนหรา เป็นราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และกล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยคราวขอช้างเผือก ได้ราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไปด้วยองค์หนึ่ง

แต่ในคราวพระเทพกษัตรีนี้ หนังสือพงศาวดารพม่ากล่าวไปเป็นอย่างอื่น ว่า ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล จุลศักราช ๙๒๘ พ.ศ. ๒๑๐๙ ราชทูตของพระมหาธรรมราชาไปถึงเมืองหงสาวดี พาราชธิดาของพระมหาธรรมราชา มีนามว่า พระอินทรเทวี ไปถวายพระเจ้าหงสาวดี ความแตกต่างไปดังนี้ เรื่องพระเทพกษัตรี ข้าพเจ้าเชื่อว่าความจริงเป็นดังพระราชพงศาวดารไทย เพราะกล่าวความถูกต้องกันทุกฉบับ และกล่าวเป็นการแน่นอนมั่นคงสมด้วยเหตุผลทั้งปวง แต่ข้อพงศาวดารพม่าว่า พระมหาธรรมราชาถวายราชธิดาแก่พระเจ้าหงสาวดีในคราวนี้ น่าจะเป็นพระเทพกษัตรีนั้นเอง ผู้แต่งพงศาวดารพม่าจะหลงไป


สมเด็จพระมหินทราธิราชครองราชสมบัติ

พอแล้วเรื่องพระเทพกษัตรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็มอบราชการบ้านเมืองแก่สมเด็จพระมหินทราธิราช แต่จะให้สมเด็จพระมหินทราธิราชราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทีเดียวหรือเป็นแต่ให้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ข้อนี้ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ ด้วยพิเคราะห์เหตุผลเห็นอาจจะเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง ในระหว่าง ๓ ปีต่อมา เหตุการณ์ที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารล้วนแต่เกิดด้วยความแตกร้าวกัน ในระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองพิษณุโลก ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นด้วยกลอุบายของพระเจ้าหงสาวดี ที่จะตัดกำลังไทยไม่ให้ต่อสู้เมืองหงสาวดีได้อีก สาเหตุที่เกิดอริกันจะมีเรื่องอะไรบ้างรู้ไม่ได้ ยิ่งกว่าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าพระเจ้าหงสาวดีคงกดข้างกรุงศรีอยุธยา ด้วยรู้อยู่ว่าความเจ็บแค้นคิดเอาใจออกห่างอยู่เสมอ และแกล้งยุยงส่งเสริมข้างพิษณุโลกให้เกะกะกีดขวางต่างๆ ข้างพระมหาธรรมราชายิ่งถูกสมเด็จพระมหินทราธิราชรังเกียจเกลียดชัง ก็ยิ่งหันเข้าพึ่งอำนาจพระเจ้าหงสาวดีขึ้นทุกที เป็นดังนี้มาจนเกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓


เหตุที่จะเกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓

เหตุที่จะเกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓ เนื้อความในหนังสือพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าผิดกันมากนัก หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เดิมชายาของพระราเมศวรเป็นม่ายอยู่ที่เมืองหงสาวดี ทูลลาพระเจ้าหงสาวดีจะกลับเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีจึงแต่งให้อำมาตย์คน ๑ ชื่อราชมนูมาส่ง ราชมนูมาเป็นชู้กับชายาพระราเมศวร พาแวะเวียนอยู่เสียกลางทาง สมเด็จพระมหินทราธิราชฟ้องออกไป พระเจ้าหงสาวดีเอาตัวราชมนูไปชำระได้ความจริง จึงให้ประหารเสีย แล้วแต่งอำมาตย์อีกคน ๑ ให้เป็นผู้พาชายาของพระราเมศวรมาส่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชให้ดักฆ่าอำมาตย์นั้นเสียกลางทางแล้วเลยตั้งแข็งเมือง พระมหาธรรมราชาทราบความว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชคิดร้ายต่อพระเจ้าหงสาวดี ไม่เข้าด้วยจึงเสด็จออกไปเมืองหงสาวดีเป็นคราวแรกเพื่อไปออกตัวในเรื่องนี้ พระเจ้าหงสาวดีพอพระทัยในความสวามิภักดิ์ของพระมหาธรรมราชา จึงประทานเศวตฉัตรและชฎา อภิเษกพระมหาธรรมราชาให้เป็นเจ้าประเทศราชเรียกว่า เจ้าฟ้าสองแคว (ตามชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก)

ในเวลาเมื่อพระมหาธรรมราชายังอยู่ในเมืองหงสาวดีครั้งนั้น ทางนี้สมเด็จพระมหินทราธิราชเสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ไปรวบรวมเอาครอบครัวของพระมหาธรรมราชาลงมาไว้เป็นตัวจำนำที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีทราบความก็ขัดเคือง จึงสั่งให้เตรียมทัพที่จะยกมีตีกรุงศรีอยุธยา แต่เวลานั้นยังเป็นฤดูฝนกองทัพหลวงยังยกมาไม่ได้ จึงแต่งกองทัพท้าวพระยาให้มากับพระมหาธรรมราชา มารักษาเมืองพิษณุโลกไว้พลาง รอท่าทัพพระเจ้าหงสาวดีจะยกมาเมื่อสิ้นฤดูฝน

ในฤดูฝนนั้นสมเด็จพระมหินทราธิราช นัดแนะให้พระไชยเชษฐายกกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตมาตีเมืองพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยาก็ยกขึ้นไปช่วยพระไชยเชษฐาตีทางเรือ พระมหาธรรมราชารักษาเมืองไว้ได้จนถึงฤดูแล้ง สมเด็จพระมหินทราธฺราชได้ข่าวพระเจ้าหงสาวดีออกเดินทัพ ก็ถอยกลับลงมารักษากรุงศรีอยุธยา ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าดังนี้

พิเคราะห์ดูเห็นว่าเนื้อเรื่องใกล้กันกับที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารของเรา เรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังนี้ คือในเวลาสมเด็จพระมหินทราธิราชว่าราชการอยู่นั้น คิดอุบายให้พระไชยเชษฐายกกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตลงมาตีเมืองพิษณุโลก และสมเด็จพระมหินทราธิราชยกกองทัพขึ้นไป ทำประหนึ่งว่าจะไปช่วยเมืองพิษณุโลก อย่างว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระมหาธรรมราชาสงสัยในสมเด็จพระมหินทราธิราชอยู่แล้ว จึงให้ออกไปขอกองทัพพระเจ้าหงสาวดีมาช่วย ครั้นมาได้ความจากพระยาสีหราชเดโชซึ่งกลับใจไปเข้ากับพระมหาธรรมราชา ก็แน่พระทัยว่าสมเด็จพระมหินทราธิราชเป็นข้าศึก เมื่อกองทัพหงสาวดียกเข้ามาช่วยตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตและกองทัพกรุงศรีอยุธยายกถอยไปหมดแล้ว พระมหาธรรมราชาจึงออกไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าหงสาวดี มิใช่ไปด้วยเรื่องจะไปขอโทษพระยาภุกาม พระยาเสือหาญ อย่างว่าในพระราชพงศาวดารอย่างเดียวเท่านั้น

พระเจ้าหงสาวดีเห็น พระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระมหินทราธิราช เกิดเป็นข้าศึกกันสมประสงค์ จึงเลยยกย่องตั้งพระมหาธรรมราชาให้เป็นพระเจ้าประเทศราช อย่างว่าในพงศาวดารพม่า ข้างกรุงศรีอยุธยาทราบว่า พระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชก็เข้าพระทัยดี ว่าคงออกไปกล่าวโทษ จึงขึ้นไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระเอกาทศรถ เอาลงมาไว้อย่างตัวจำนำที่กรุงศรีอยุธยา หวังจะให้พระมหาธรรมราชาเป็นห่วง ข้อนั้นไม่เป็นการสำคัญเสียแล้ว ด้วยพระเจ้าหงสาวดีคอยจ้องอยู่ เมื่อเห็นว่าไทยแตกกันสมคะเนก็ตระเตรียมกองทัพใหญ่ยกมาทีเดียว


เรื่องศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓

หนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพหลวงจากเมืองหงสาวดี เมื่อ ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๓๐ พ.ศ. ๒๑๑๑ (ตรงศักราชกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) กองทัพที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ จัดเป็นทัพใหญ่ ๗ ทัพ คือ พระมหาอุปราชาทัพ ๑ พระเจ้าแปรทัพ ๑ พระเจ้าตองอูทัพ ๑ พระเจ้าอังวะทัพ ๑ เหล่านี้มีไทยใหญ่สมทบทุกทัพ เจ้าเมืองสารวดีสมทบกับเชียงใหม่และเชียงตุงทัพ ๑ พระเจ้าหงสาวดีทัพ ๑ พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพไทยหัวเมืองเหนือทัพ ๑ รวมคนทุกทัพกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางเมืองกำแพงเพชร ความต่อมายุติต้องกันกับหนังสือพระราชพงศาวดารว่า คราวนี้ไทยมิได้ออกไปต่อรบกลางทางเป็นแต่ตระเตรียมรักษาพระนครคอยต่อสู้อยู่อย่างเดียว

ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อไป ว่าเมื่อกองทัพหงสาวดีมาใกล้จะถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าหงสาวดีให้หาแม่ทัพนายกองมาประชุมปรึกษาการสงคราม พระมหาอุปราชาเห็นว่าควรจะเอากำลังมากรีบเข้าทุ่มเทตีหักเอาพระนครศรีอยุธยาพร้อมกันทุกด้านทีเดียว ด้วยเกรงว่าถ้ารั้งรอช้าวันไป ไพร่พลหงสาวดีมากมายจะขัดเสบียงอาหาร แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นชอบด้วย เห็นว่าไทยเตรียมการต่อสู้แข็งแรง ถ้าเข้าโจมตีในคราวเดียวไม่สำเร็จจะเพลี่ยงพล้ำเสียทีไทย จึงสั่งกองทัพให้เข้าตั้งค่ายล้อมพระนคร ให้ขึ้นไปต้นตาลทางเมืองเหนือมาทำค่ายมั่น และให้ขึ้นไปเก็บเอาเรือและขนเสบียงเมืองเหนือเอาลงมารวมไว้ เตรียมจนการที่จะทำนาหาเสบียงเป็นการแรมปี โดยมั่นหมายจะตีเอากรุงศรีอยุธยาให้จงได้

การที่กรุงศรีอยุธยาต่อสู้ครั้งนั้น ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ราษฎรแม้แต่ในจังหวัดพระนครเองแตกหนีเข้าป่าเสียมาก เกณฑ์ระดมทั้งในกรุงและหัวเมืองโดยรอบไม่ได้เต็มจำนวน แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จลาผนวชออกมาว่าราชการเอง และได้พระยาราม(รณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรคนเก่า ซึ่งไม่เข้าพวกพระมหาธรรมราชา) เป็นคนเข้มแข็งในการสงคราม เป็นผู้ช่วยอำนวยการอีกคนหนึ่ง จัดการป้องกันพระนครโดยสามารถ วิธีป้องกันและต่อสู้ดูยังคงใช้อุบายเดิม ซึ่งจะเห็นว่าเป็นดีกว่าอย่างอื่น คือเอาพระนครเป็นที่มั่น ข้างตะวันออก (แต่หัวรอลงไปบางกะจะ) ซึ่งเป็นคลองคูขื่อหน้าแนวกำแพงเมือง ยังอยู่ลึกเข้ามามากในครั้งนั้น ให้ตั้งค่ายนอกกำแพงเมืองรายลงไปจนจดคู วางผู้คนไว้คอยต่อสู้ด้านนี้มาก ข้างด้านอื่นที่แนวกำแพงเมืองจดลำน้ำ ตั้งหอรบลงไปในน้ำเป็นระยะ ตั้งปืนใหญ่ไว้คอยยิงไม่ให้เรือข้าศึกเข้ามาได้ บนกำแพงเมืองก็วางปืนใหญ่ตามป้อมและหอรบเป็นระยะอย่างถี่โดยรอบ ดูจะได้ตระเตรียมสะสมปืนผาอาวุธไว้ในเวลาเมื่อว่างศึกอยู่ ส่วนกำลังที่จะหามาช่วยตีกระหนาบข้าศึกนั้น คราวนี้ได้กำลังพระไชยเชษฐากรุงศรีสัตนาคนหุตแทนพระมหาธรรมราชาซึ่งโจนไปเข้าเสียกับข้าศึก วิธีต่อสู้คงตามแบบเดิมทุกอย่าง ไม่ปรากฏแต่เรื่องเอาปืนใหญ่ลงเรือไปเที่ยวยิงข้าศึก เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าหงสาวดีมีทัพเรือมาคอยระวัง จะทำไม่ได้ถนัดเหมือนเมือง ๒ คราวที่ล่วงมาแล้ว จึงเปลี่ยนไปใช้ตั้งจังก้ายิงบนบก ถึงกระนั้นก็ยังได้ผลดียิงข้าศึกล้มตายมาก แม้พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องย้ายค่ายหลวงหนี

การรบพุ่งครั้งนี้ เนื้อความตามพงศาวดารพม่ายุติต้องกันกับพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดีตั้งค่ายประชิดเข้ามาเป็นลำดับ ตีเข้าทางด้านตะวันออกซึ่งยังไม่มีลำแม่น้ำเป็นคูเมือง ไพร่พลถูกไทยยิงล้มตายเสียเป็นอันมาก รุกเข้ามาแล้วต้องถอยกลับออกไปเล่า ถึงพระเจ้าหงสาวดีลงโทษแม่ทัพนายกองอย่างเรี่ยวแรง ให้ยกกลับเข้ามาอีกก็ตายลงไปอีก จนต้องเดินลุยศพเข้ามารบ ก็ตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต คงเกิดความท้อใจขึ้นในพวกไทยที่รักษาพระนคร พระเจ้าหงสาวดีจึงทำอุบายขอเอาตัวพระยารามออกไปได้ พอพระไชยเชษฐายกกองทัพมาช่วย พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระยารามลวงให้รีบยกลงมา แล้วตีแตกไป

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า "ครั้นนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอศรีเสาราชนั้นตรัสเอาพระทัยใส่ และเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าตรัสรู้ ว่าพระเจ้าลูกเธอศรีเสาวราชเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น ก็มิไว้พระทัย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม" ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่าพระศรีเสาวราชเป็นราชบุตรของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มิใช่ลูกเธอของสมเด็จพระมหินทราธิราชดังว่าไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ซึ่งเป็นข้อสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมสมเด็จพระมหินทราธิราชจะไปสงสัยลูกเธอว่าจะเป็นกบฏในเวลากำลังศึกประชิดพระนคร

ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าและพงศาวดารไทยยุติต้องกันว่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว สมเด็จพระมหินทราธิราชให้ออกไปขอเป็นไมตรี แต่พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจวนจะได้เมืองอยู่แล้วไม่ยอมเป็นไมตรี จึงรบกันต่อมา เหตุที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสาวดีนั้น หนังสือพงศาวดารพม่ากับพงศาวดารไทยยุติต้องกันว่า ไทยสู้รบแข็งแรง พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมอยู่ถึง ๗ เดือน ทำอย่างไรๆก็ตีหักไม่ได้กรุงศรีอยุธยา เห็นผู้คนล้มตายมากนัก และจวนจะถึงฤดูน้ำเข้าทุกที จึงคิดอุบายแต่งให้พระยาจักรีเข้าไปเป็นไส้ศึก สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่า พระยาจักรีเคยอยู่ในพวกที่จะคิดสู้รบพระเจ้าหงสาวดีมาแต่ก่อน ก็ไว้พระทัยให้บัญชาการรักษาพระนคร พระยาจักรีไปคิดทรยศแกล้งถอนผู้คนให้เบาบางอย่างว่าไว้ในพระราชพงศาวดาร จึงเสียพระนคร (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อ ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ ตรงกับจดหมายเหตุโหร

ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อมาว่า พอพระเจ้าหงสาวดีได้กรุงศรีอยุธยาหน่อยหนึ่ง น้ำเหนือก็หลากลงมามาก น้ำท่วมทั่วไปในชานพระนคร พม่าเองว่าถ้าไม่ได้กรุงศรีอยุธยาเสียก่อน พระเจ้าหงสาวดีเห็นจะต้องถอยทัพเมื่อถูกน้ำเหนือหลากลงมา ด้วยเหตุนี้นึกดูก็น่าเสียใจ ว่าพระยาจักรีไทนเราเองคิดทรยศ จึงเสียบ้านเมืองยับเยินในครั้งนั้น พงศาวดารพม่าว่า เมื่อได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจะตั้งให้พระยาจักรีเป็นเสนาบดีครองเมืองพิษณุโลกโดยความชอบ พระยาจักรีเห็นจะรู้สึกว่า จะดูหน้าไทยชาติเดียวกันไม่ได้ ในพงศาวดารพม่าว่าไม่รับครองเมืองพิษณุโลก ขอออกไปอยู่เมืองหงสาวดี แต่ในคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า พระเจ้าหงสาวดีชุบเลี้ยงไว้หน่อยหนึ่ง พอให้ปรากฏว่าปูนบำเหน็จแล้ว ก็ให้ประหารชีวิตเสียโดยเกลียดชังว่าเป็นคนทรยศ แต่ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไร ไม่ปรากฏทั้งในพระราชพงศาวดารไทยและพงศาวดารพม่า

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว การที่ทำทุกอย่างในเวลานั้นและต่อมา แลเห็นได้ชัดว่าตั้งพระทัยจะกดกรุงศรีอยุธยาลงเป็นเมืองขึ้น และตัดรอนกำลังเสียไม่ให้ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีกต่อไปทีเดียว ผู้คนพลเมืองบรรดาที่ตกอยู่ในเงื้อมมือ กวาดต้อนเอาไปเป็นเชลยหมด เหลือไว้ให้อยู่ประจำเมืองเพียง ๑๐,๐๐๐ คนทั้งชายหญิง หนังสือพงศาวดารพม่าว่า แม้ขุนนางข้าราชการ พระเจ้าหงสาวดีอ้างว่าชอบพระมหาธรรมราชาบ้างไม่ชอบบ้าง จะไว้ใจไม่ได้ เก็บกวาดเอาไปเมืองหงสาวดีเสียเกือบหมด สมดังที่กล่าวในพระราชพงศาวดาร ปรากฏชื่อขุนนางตัวนายที่เหลือไว้ให้ไม่กี่คน กับขุนหมื่นประมาณ ๑๐๐ คน ปืนใหญ่น้อยและเครื่องสาตราวุธตลอดจนเงินทองของดีมีราคา พระเจ้าหงสาวดีเก็บริบเอาไปหมด พระมหาธรรมราชาได้ครองกรุงศรีอยุธยาแต่เปลือกเมืองเท่านั้น

ที่พระเจ้าหงสาวดีทำอย่างนี้ คิดดูก็มีดีแก่ไทยอยู่บ้าง เมื่อไทยประจักษ์แจ้งการที่พระเจ้าหงสาวดีได้ทำในครั้งนั้นแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงรู้สึกมีใจเจ็บแค้นทั่วหน้า ตลอดจนผู้ที่เคยฝักใฝ่นับถือพระเจ้าหงสาวดี เช่นพระมหาธรรมราชาเป็นต้น จะรู้ราคาสามัคคีและความเป็นอิสรภาพในชาติของตนดีเมื่อคราวนั้น เมื่อได้โอกาสแรกจึงตั้งแข็งเมือง ช่วยกันสู้รบพวกหงสาวดี อดทนแข็งแรงยิ่งกว่าคราวก่อนๆ จนอิสรภาพของชาวไทยกลับคืนมาได้ และยังซ้ำพากเพียรไปรบพุ่งแก้แค้นเอาเมืองรามัญมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาได้ในทันตา พวกที่ได้เข้ามาทำแก่เมืองไทยในคราวนั้นได้แลเห็น และรู้สึกเองเป็นอันมาก

พงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองพักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่เดือน ๙ จนเดือน ๑๒ จึงได้ยกขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต และว่าพระมหาธรรมราชถวายราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระสุวรรณเทวี พระเจ้าหงสาวดีเอาไปด้วย

ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชนั้น พงศาวดารพม่าว่าแต่ว่า พระเจ้าหงสาวดีเอาไปด้วย คงจะไปประชวรสวรรคตกลางทาง อย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร



....................................................................................................................................................

๑. เดิมทีเมืองตองอูมีคนสำคัญขึ้นคนหนึ่ง ชื่อว่ามังกินโย เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินพม่าแต่ก่อน มังกินโยฆ่าเจ้าเมืองตองอูตาย ชิงเอาเมืองได้ จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ใช้นามว่า พระเจ้ามหาสิริไชยสุร ในเวลานั้นบังเอิญในเมืองพม่ารามัญพระเจ้าแผ่นดินไม่อยู่ในราชธรรมทั้งสองอาณาจักร พระภิกษุสงฆ์และข้าราชการที่ถูกกดขี่เดือดร้อนต่างๆพากันอพยพมาพึ่งพระเจ้าตองอูเป็นอันมาก พระเจ้ามหาสิริไชยสุรได้กำลังและความนิยมของผู้คนพลเมือง จึงรักษาเมืองตองอูเป็นอิสระมาได้ จนพระเจ้ามหาสิริไชยสุรทิวงคต มังตราราชบุตรชันษา ๑๖ ปี ได้รับราชสมบัติ มีพระนามว่า พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ควรแปลว่า พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตรนี้มีอานุภาพมาก (ภายหลังได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี ที่มารบกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พอพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ได้ราชสมบัติก็คิดขยายอาณาจักร ตั้งต้นตีเข้ามาทางแดนไทยก่อน เมืองเชียงกรานจะอยู่ที่ไหนไม่แน่ ตรวจดูแผนที่ดูเห็นชื่อเมืองคล้ายกับเชียงกราน อยู่ที่ต่อแดนเหนือเมืองทวาย เห็นจะเป็นเมืองนี้เอง พระเจ้าตเบ็งชเวตี้มาตีเมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงยกออกไปต่อสู้รักษาพระราชอาณาเขต เมื่อปีจอ จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๙๐๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ได้สู้รบกันเป็นสามารถ สมเด็จพระไชยราชาธิราชตีทัพพม่าแตกไป

(๒) พระวินิจฉัยข้อนี้ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์เรื่อง พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้น ได้ทรงเปลี่ยนใหม่เป็นยอมเชื่อตามพงศาวดารพม่า


แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:9:50:45 น.
  
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ตอน แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ


ศักราช ๙๐๘ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๘๙) เดือน ๖ นั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า พระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติพระนคตรศรีอยุธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว

ศักราช ๙๑๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๙๑) วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกสนามให้ชนช้าง และงาช้างพระยาไฟนั้นหักเป็น ๓ ท่อน อนึ่งอยู่สองวัน ช้างต้นพระฉันทันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์ อนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์ เถิงวันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเทียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน พระยาหงสาปังเสวกี ยกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีเสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รบศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าเศิกเถิงสิ้งชนม์กับคอช้างนั้น และเศิกหงสาครั้งนั้นเสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรไปแก่หงสา และจึงเอาพระยาปราบและช้างต้นพระยานุภาพ ตามไปส่งให้พระยาหงสาเถิงเมืองกำแพงเพชร และพระยาหงสาจึงสิ่งพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า สมเด็จพระราเมศวรเจ้ามายังพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๙๑๑ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๙๒) ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ ได้ช้างเผือกพลายตำบลป่าตะนาวศรีสูง ๔ ศอกมีเศษชื่อ ปัจจัยนาเคนทร์ ครั้งนั้นแรกให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๙๑๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๙๓) เดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า ตำบลท่าแดง พระกรรมวาจาเป็นพฤติบาศ พระพิเชฎฐ์เป็นอัษฎาจารย์ พระอินโทรเป็นกรมการ

ศักราช ๙๑๔ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๙๕) ครั้งนั้นให้แปลงเรือแซเป็นเรือชัยและหัวสัตว์

ศักราช ๙๑๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๙๖) เดือน ๗ นั้น แรกทำการพระราชพิธีมัธยมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตำบลชัยนาทบุรี

ศักราช ๙๑๖ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๙๗) เสด็จไปวังช้างตำบลบางละมุง ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง อนึ่งในเดือน ๑๒ นั้น ได้ช้างพลายเผือกตำบลป่ากาญจนบุรีสูง ๔ ศอกมีเศษ ชื่อพระคเชนโทรดม

ศักราช ๙๑๗ เถาะศก (พ.ศ. ๒๐๙๘) วันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ได้ช้างเผือกพลาย ตำบลเพชรบุรี สุง(สี่ศอกคืบหนึ่ง ช้างชื่อพระ)แก้วทรงบาศ

ศักราช ๙๑๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๙๙) เดือน ๑๒ (แต่งทัพไปละแวก) พระยาองค์สวรรคโลกเป็นทัพหลวง ถือพล ๓(๐,๐๐๐ ให้พระ)มหามนตรีถืออาญาสิทธิ์ พระมหา(เทพถือวัวเกวียน ๑๑...) ฝ่ายทัพเรือไซร้ พระยาเยาวเป็นนายกอง ครั้งนั้นลมพัดขัด ทัพเรือมิทันทัพบก และพระยารามลักษณ์ (ซึ่ง) เกณฑ์เข้าทัพบกนั้น เข้าบุกทัพในกลางคืน และทัพพระยารามลักษณ์นั้นแตกมาประทัพใหญ่ ครั้งนั้นเสียพระยาองค์สวรรคโลกนายกองและช้างม้ารี้พลมาก

ศักราช ๙๑๙ มะเส็งศก )พ.ศ. ๒๑๐๐) วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ เกิดเพลิงไหม้พระราชวังมาก อนึ่งในเดือน ๓ นั้น ทำการพระราชพิธีอาจาริยภิเษก และทำการพระราชพิธีอินทราภิเษกในวังใหม่ อนึ่งเดือน ๔ นั้น พระราชทานสัตดมหาทาน และให้ช้างเผือกพระราชทานมีกองเชิงเงิน ๔ เท้าช้างนั้น เป็นเงิน ๑๖๐๐ บาท และพระราชทานรถ ๗ รถ เทียมด้วยม้า และมีนางสำหรับรถนั้นเสมอรถ ๗ นาง อนึ่งในเดือน ๗ นั้น เสด็จไปวังช้าง ตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง

ศักราช ๙๒๑ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๐๒) เสด็จไปวังช้างตำบลแสนตอ ได้ช้างพลายพัง ๔๐ ช้าง

ศักราช ๙๒๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๐๓) เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่ ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง อนึ่งอยู่ในวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ได้ช้างเผือกและตาช้างนั้นมิได้เป็นเผือก และลูกติดมาด้วยตัวหนึ่ง

ศักราช ๙๒๓ ระกาศก (พ.ศ. ๒๑๐๔) พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดมหาธาตุ แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลม่วงมดแดง และพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์ ให้เข้ามาเข้าพระราชวัง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ ครั้งนั้นพระยาสีหราชเดโชเป็นโทษรับพระราชอาชญาอยู่ และพระยาสีหราชเดโชจึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่า ครั้นพ้นวันพระแล้วจะให้ลงพระราชอาชญาฆ่าพระยาสีหราชเดโชเสีย และขอให้เร่งยกเข้ามาให้แต่ในวันพระนี้ และพระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาแต่ในวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เพลาเย็นนั้นมาแต่กรุง ครั้งรุ่งขึ้นเป็นวันพระนั้น พระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ครั้งนั้นได้ พระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น ครั้นแลรู้ว่าพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์เป็นแม่นแล้วไซร้ ก็ให้เอาพระสังฆราชป่าแก้วไปฆ่าเสีย

ศักราช ๙๒๔ จอศก (พ.ศ. ๒๑๐๕) เสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายพัง ๗๐ ช้าง

ศักราช ๙๒๕ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๐๖) พระเจ้าหงสานิพัตรยกพลลงมาในเดือน ๑๒ นั้น ครั้นเถิงวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ พระเจ้าหงสาได้เมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นเมืองพิษณุโลกข้างแพง ๓ สัดต่อบาท อนึ่งคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมาก แล้วพระเจ้าหงสาจึงได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แล้วจึงยกพลลงมายังกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาออกเป็นพระราชไมตรี และสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่ายเสด็จมาทำสัตยาธิษฐานหลั่งน้ำษิโณฑก ตำบลวัดพระเมรุ แล้วจึงพระเจ้าหงสาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรเจ้า และช้างเผือก ๔ ช้างไปเมืองหงสา ครั้งนั้นพระยาศรีสุลต่าน พระยาตานีมาช่วยการเศิก พระยาตานีนั้นเป็นขบถและคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง ครั้นแลเข้าในพระราชวังได้ เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ ณ ท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง และชาวพระนครเอาพวนขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก และพระยาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปรอด ในปีเดียวนั้นพระเจ้าล้านช้างให้พระราชสารมาถวายว่า จะขอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเทพกระษัตรเจ้า และทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง และครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเทพกระษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีให้แก่พระเจ้าล้านช้าง

ศักราช ๙๒๖ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๐๗) พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรี ลงมาส่งยังพระนครศรีอยุธยา และว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเทพกระษัตรเจ้านั้น และจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้นพระเจ้าหงสารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น จึงแต่ทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง และออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าได้ไปถวายแก่พระเจ้าหงสา อนึ่งในปีนั้นน้ำ ณ กรุงพระนครศรีอยุธยานั้นน้อยนัก

ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๑๑) ในเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าหงสายกพลมาแต่เมืองหงสา ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ พระเจ้าหงสามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี และเมื่อเศิกหงสาเข้าล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน และครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหินทราธิราช ตรัสมิได้นำพาการเศิก แต่พระเจ้าลูกเธอ พระศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระทัยใส่ และเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าตรัสรู้ว่า พระเจ้าลูกเธอศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้นก็มิไว้พระทัย ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม

ครั้งนั้นการเศิกซึ่งจะรักษาพระนครนั้นก็คลายลง ครั้งเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระมหานครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ทำการปราบดาภิเษกสมเด็จพระธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา อนึ่งเมื่อพระเจ้าหงสาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงสานั้น พระเจ้าหงสาเอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าขึ้นไปด้วย
โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:9:55:36 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด