แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช


....สยามราชกาลที่ ๑๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๑๓๖ จนพุทธศักราช ๒๑๔๔ พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานพระหัดถ์ทั้งสองถวายพระเนตรพระองค์นี้ ทรงสถาปนาขึ้นไว้ในพระพุทธสาสนา ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด สมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช ซึ่งได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติเรียงพระวงษ์ ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร เมื่อจุลศักราช ๙๕๕ ปีมเสงเบญจศก ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๘ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลูตรีศก....


.........................................................................................................................................................



แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ

สอบศักราช

ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ได้ความว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเสวยราชย์เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ พ.ศ. ๒๑๓๖ ครองราชย์สมบัติอยู่ ๘ ปี สวรรคปีฉลู จุลศักราช ๙๖๓ พ.ศ. ๒๑๔๔

ในฉบับหลวงประเสริฐว่า เสวยราชย์ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ (ช้ากว่า ๑๒ ปี) ครองราชย์สมบัติอยู่กี่ปีและสวรรคตปีไรไม่ปรากฏ ด้วยหมดฉบับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเสีย ถ้ายุติว่าปีรัชกาล ๘ ปี ควรลงศักราชปีสวรรคตปีฉลู จุลศักราช ๙๗๕ พ.ศ. ๒๑๕๖ (ช้ากว่า ๑๒ ปี)


ประวัติสมเด็จพระเอกาทศรถ

ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่มีหลักอันใดที่จะสอบให้รู้ได้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถสมภพเมื่อปีไร เรื่องพระชันษาหาที่สอบไม่ได้ทีเดียว ถ้าจะเดาตามสังเกตเนื้อเรื่อง ที่ได้เสด็จไปรบพุ่งด้วยกัน สมเด็จพระเอกาทศรถเห็นจะอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรราวสัก ๖ ปี คือเมื่อเริ่มรบเอาอิสรภาพกับหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๙ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถพระชันษาได้ ๒๓ เห็นกำลังพอจะรบพุ่งด้วยกันได้

ตามความที่ปรากฏในที่ทั้งปวง ทั้งในพงศาวดารไทยพงศาวดารรามัญ เชื่อได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถชอบชิดสนิทเสน่หากันมาก เสด็จไปรบพุ่งคราวใดก็เสด็จด้วยกันตั้งแต่แรกจนตลอด มีพระรากฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะกบฏศึกบท ๑ ว่าด้วยยกเงินหลวงที่ติดค้างพระราชทานแก่บุตรภรรยาข้าราชการซึ่งไปตายในการศึกสมเด็จพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา พระราชกฤษฎีกานี้ เกี่ยวข้องแก่พงศาวดารชอบกล ควรจะเอาลงมาไว้ตรงนี้ได้

“ศุภมัสดุ ศักราช ๙๕๕ พยัคฆสังวัจฉรมาฆมาสกาฬปักษ์ เอกาทศมีดิถีครุวารกาลบริเฉทกำหนด พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งมงกุฎพิมานสถานพิมุขไพชยนต์ปราสาทมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสแก่พระยาศรีธรรมาว่า พระหลวงเมืองขุนหมื่นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ฝ่ายทหารพลเรือนเกณฑ์เข้ากระบวนทัพ ได้รบพุ่งด้วยสมเด็จบรมบาทบงกชลักษณอัครปุริโสดม บรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศวรเชษฐาธิบดี มีชัยชำนะแก่มหาอุปราชหน่อพระเจ้าไชยทศทิศเมืองหงสาวดีนั้น ฝ่ายทหารพลเรือนล้มตายในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก และรอดชีวิตเข้ามาได้เป็นอันมากนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพูนบำเหน็จแล้ว และซึ่งขุนหมื่นนายอากรภาษีและนายหมวดค่าส่วยขึ้น ณ พระคลังหลวง และส่วยสาอากรนั้น เข้าการณรงค์รบพุ่งล้มตายในที่รบเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาตรัสประภาษว่า มันทำการรณรงค์สงครามมีบำเหน็จความชอบอยู่นั้น ถ้าและหนี้สินส่วยสาอากรขึ้นแก่พระคลังหลวงติดค้างอยู่มากน้อยเท่าใดให้ยกไว้ มีลูกหลานให้รับราชการแทนเลี้ยงไว้สืบไป ถ้าและขุนหมื่นนายอากรภาษีนายค่าส่วยซึ่งขึ้นพระคลังติดค้างอยู่ ก็ให้ยกเป็นบำเหน็จผู้ตายในการรณรงค์ผู้เป็นเจ้าแล้วอย่างให้บุตรภรรยาใช้หนี้เลย ถ้าและมีพี่น้องลูกหลานให้เลี้ยงเป็นข้าเฝ้าและเลี้ยงไว้ในที่ทหารใช้ราชการสืบไป อนึ่ง ผู้ใดมีน้ำใจจัดแต่งลูกหลานพี่น้องอาสาเข้ากองทัพได้รบพุ่งล้มตายในที่รบ ถ้าหาหนี้สิน ณ พระคลังหลวงติดค้างมิได้ ให้พระราชทานบุตรภรรยาโดยพระราชกฤษฎีกา ถ้าหนี้สินพระคลังหลวงติดค้าง ก็ให้ยกพระราชทานให้แก่บุตรภรรยามิได้เอาเลย และรอดคืนมาหาหนี้สินหลวงติดค้างมิได้นั้น ให้พระราชทานโดยพระราชกฤษฎีกา เลี้ยงไว้ในที่ทหาร” ดังนี้

จุลศักราช ๙๕๕ ที่ลงในพระราชกฤษฎีกานี้เป็นปีมะเส็ง (มิใช่ปีขาล ปีขาลไม่มีในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ) สอบได้ความว่า ปีขาลนั้น ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทำยุทธหัตถีปี ๑ แต่อยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร พระนเรศวรสวรรคตต่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ เพราะฉะนั้นพระราชกฤษฎีกานี้เข้าใจว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาวังหน้า ยกเงินพระราชทานแก่ผู้ที่เป็นข้าวังหน้า ที่ว่าพระราชกฤษฎีกานี้เกี่ยวข้องแก่พงศาวดารนั้น ด้วยหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ ผิดอยู่รอบ ๑ ศักราชที่แก่ผิดไปรอบ ๑ นี้ พึ่งมาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๔๕ (ซึ่งกล่าวในตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร) แต่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับเก่ากว่านั้นขึ้นไป คือ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ และฉบับหลวงประเสริฐ ศักราชยังไม่เคลื่อนคลาด ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าเมื่อชำระพระราชพงศาวดารในครั้งกรุงธนบุรี จะได้เห็นพระราชกฤษฎีกาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถบทนี้ เห็นลงศักราช ๙๕๕ ผู้แต่งว่าเป็นพระราชกฤษฎีในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ และสอบได้เป็นปีมะเส็งตรงกับปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวร จึงเป็นเหตุให้แก้ศักราชในพงศาวดารเร็วขึ้นไปรอบ ๑ ศักราชในหนังสือพระราชพงศาวดารเคลื่อนคลาด จะเป็นได้ด้วยเหตุนี้ดอกกระมัง


กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ

เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นเวลาปรากฏเกียรติยศและอำนาจกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ยำเกรงแก่บรรดาประเทศที่ใกล้เคียงโดยรอบ สมเด็จพระเอกาทศรถเองก็เข้มแข็งในการศึกสงคราม ได้รบพุ่งข้าศึกมากับสมเด็จพระนเรศวรในการศึกสงครามที่สำคัญทุกๆ คราว จนเป็นคำเรียกของคนทั้งหลายตลอดจนเมืองรามัญว่า “เจ้าสองพี่น้อง” บ้าง ว่า “พระองค์ดำพระองค์ขาว” บ้าง เพราะเหตุที่ได้รบพุ่งกล้าหาญมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้นถึงสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไปแล้ว พระเกียรติยศและอานุภาพของสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศทั้งปวง ไม่มีประเทศใดที่จะคิดมาเป็นข้าศึกศัตรู แต่ถ้าพิเคราะห์ดูตามเรื่องในพระราชพงศาวดารจะแลเห็นได้ว่า ในเวลาเมื่อสมเด็จเอกาทศรถขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น จะต้องเป็นเวลาที่กำลังบ้านเมืองจับทรุดโทรม ด้วยต้องทำสงครามติดต่อกันเรื่อยมาหลายคราวหลายปี ถึงจะชนะผู้เป็นแม่ทัพนายกองตลอดจนไพร่พลย่อมเปลืองไป ด้วยล้มตายในการศึกสงครามเป็นเหตุให้กำลังลดลง อุปมาเหมือนผู้ที่วิ่งแข่งผู้อื่น เมื่อวิ่งถึงหลักชนะแล้วลงนั่งเหนื่อยหอบอยู่ฉันใด กำลังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถก็เช่นนั้น อาศัยด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยผู้อื่นยำเกรงไม่กล้าจะตั้งตัวเป็นข้าศึกประการ ๑ ด้วยไทยกำลังบอบช้ำประการ ๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถจึงไม่มีศึกสงครามตลอดรัชกาล


เรื่องพระทุลอง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถเชิญพระบรมศพเลิกกองทัพกลับมาเมืองเชียงใหม่ แล้วเสด็จบกต่อลงมาทางเมืองสุโขทัย มาลงเรือพระที่นั่งที่เมืองกำแพงเพชร และว่า “ครั้งนั้นทรงกรุณาเอาพระทุลองลูกพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาโดยเสด็จ พระราชทานนามกรว่า พระสีหสุ(ร)มหาธรรมราชา” เรื่องพระทุลองนี้ในหนังสือพงศาวดารพม่าว่าได้เป็นราชบุตรเขยพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และลงมาทำราชการอยู่ที่กรุง จนพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อผู้บิดาพิราลัย ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่บอกขอพระทุลองขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ (เห็นจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ) พระทุลองขึ้นไปถึงยังไม่ทันได้ครองเมืองก็ไปป่วยเจ็บถึงพิราลัย พระไชยทิปน้องที่ ๒ จึงได้ครองเมืองเชียงใหม่ จะครองอยู่กี่ปีไม่ปรากฏ (แต่เห็นจะถึงพระเจ้าทรงธรรม) ในที่สุดเกิดวิวาทขึ้นกับท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่บังคับให้พระไชยทิปออกบวชเสีย น้องคนเล็กจึงได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา


เรื่องเมืองตองอู

เรื่องเมืองตองอู ตอนนักสร้าง (นัตจิหน่อง) ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี ที่หนังสือพระราชพงศาวดารวางเรื่องไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ที่จริงเป็นเรื่องเกิดแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังข้าพเจ้าได้อธิบายมาแล้ว เรื่องเมืองตองอูในตอนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ในสมัยนั้นหัวเมืองใหญ่ในอาณาจักรหงสาวดีที่ยังมิได้ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาต่างเป็นอิสระแก่กัน พระเจ้าตองอูตั้งตัวเป็นพระเจ้าหงสาวดีในพระนามว่า พระมหาธรรมราชา และตั้งนัตจินหน่องเป็นพระมหาอุปราชา แต่เสวยราชย์อยู่ที่เมืองตองอูไม่ลงมาอยู่เมืองหงสาวดี เพราะเมืองหงสาวดีตั้งแต่ถูกพวกยะไข่เผายังทรุดโทรมนัก พระเจ้าตองอูชอบชิดสนิทสนมกับพระเจ้ายะไข่ (พระเจ้ายะไข่องค์นี้นับถือศาสนาอิสลาม) เมืองตองอูกับเมืองยะไข่ต่างแต่งทูตและส่งบรรณการไปถึงกันเนืองๆ

ในสมัยนั้นโจรผู้ร้ายในระหว่างทางชุกชุม เพราะเหตุที่อาณาจักรหงสาวดีแยกกันอยู่ในหลายอำนาจ ราชทูตที่ไปมาระหว่างเมืองยะไข่กับเมืองตองอูถูปผู้ร้ายปล้นหลายหน พระเจ้ายะไข่จึงตั้งโปจุเกตคน ๑ ชื่อว่าฟิลิปเดอบริโต มาเป็นเจ้าเมืองเสรียมซึ่งเป็นเมืองปากน้ำใกล้ทะเล ให้มีเรือกำปั่นรบมาไว้ด้วย ๓ ลำ สำหรับคอยตรวจตระเวนโจรผู้ร้าย ฟิลิปเดอบริโตโปจุเกต แต่แรกก็ทำการโดยซื่อตรง ให้ก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ จนเมืองเสรียมมั่นคง คอยเอาใจใส่ปราบปรามโจรผู้ร้ายจนราบคาบ และหมั่นส่งบรรณาการไปถวายพระเจ้ายะไข่พระเจ้าตองอูเนืองๆ อยู่มาฟิลิปเดอบริโตไปเป็นไมตรีกับพระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะ ซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุธยา จนที่สุดได้ให้ลูกสาวไปเป็นภรรยาบุตรพระยาทละคน ๑ ฟิลิปเดอบริโตประกอบการค้าขายได้ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ขึ้น เห็นว่าจะอาศัยพระยามละเป็นกำลังได้ (บางทีจะได้มาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา แล่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) จึงตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นทั้งเมืองยะไข่และเมืองตองอู

พระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่ขัดเคือง จึงนัดกันแต่งกองทัพให้พระมหาอุปราชาทั้ง ๒ พระนครยกไปตีเมืองเสรียม เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๙๖๕ พ.ศ. ๒๑๔๖ ฟิลิปเดอบริโตเห็นกองทัพพระมหาอุปราชายกมาทั้ง ๒ ทัพ เหลือกำลังที่จะต่อสู้จึงลงเรือกำปั่นจะหนีไป กองทัพเรือเมืองยะไข่เข้าล้อม ฟิลิปเดอบริโตยิงกองทัพเรือเมืองยะไข่แตกจับได้พระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ไว้เป็นตัวจำนำ ฟิลิปเดอบริโตจึงกลับเข้าไปตั้งมั่นอยู่เมืองเสรียมอีก กองทัพพระมหาอุปราชาเมืองตองอูยกลงไปยังไม่ถึง เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพเมืองยะไข่เสียทีก็รออยู่ ฝ่ายพระเจ้ายะไข่เมื่อทราบว่าข้าศึกจับพระมหาอุปราชาไปได้ ก็ยกกองทัพมาเอง นัดกองทัพเมืองตองอูพร้อมกันเข้าล้อมเมืองเสรียมไว้ ให้เข้าตีเมืองเสรียมเป็นสามารถก็ตีไม่ได้ พระเจ้ายะไข่มีความวิตกด้วยพระมหาอุปราชาตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก จึงให้เข้าไปบอกฟิลิปเดอบริโตว่า ถ้าส่งพระมหาอุปราชาออกมาถวายโดยดีจะยอมเป็นไมตรี ฝ่ายฟิลิปเดอบริโตให้ตอบมาว่า ถ้าพระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูยอมให้ฟิลิปเดอบริโตครองเมืองเสรียมอย่างประเทศราช จึงจะยอมส่งพระมหาอุปราชาให้ พระเจ้ายะไข่จำเป็นต้องยอม เมื่อได้พระมหาอุปราชาคืนแล้วก็เลิกทัพกลับไป ตั้งแต่นั้นมาฟิลิปเดอบริโตได้เป็นใหญ่ก็มีใจกำเริบด้วยโลภเจตนา ให้เที่ยวขุดพระเจดีย์และโบสถ์พระวิหารเอาแก้วแหวนเงินทองของพุทธบูชาไปเป็นอาณาประโยชน์ตนเสียเป็นอันมาก

ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อปราบปรามเมืองไทยใหญ่ไว้ได้ในอำนาจ (และได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว) ก็เกณฑ์กองทัพไทยใหญ่ สมทบกับกองทัพพม่าลงมาตีเมืองแปร เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๗๐ พ.ศ. ๒๑๕๑ ตีได้เมืองแปรแล้ว จึงตั้งให้มังเรสิงหสุรผู้เป็นอนุชาเป็นเจ้าเมืองแปร

ถึงปีระกา จุลศักราช ๙๗๑ พ.ศ. ๒๑๕๒ พระเจ้าตองอูพิราลัย นัตจินหน่องผู้เป็นพระมหาอุปราชาขึ้นครองราชย์สมบัติ ขนานนามว่า พระเจ้าสุรสีห รุ่งขึ้นปีจอ จุลศักราช ๙๗๒ พ.ศ. ๒๑๕๓ พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองตองอู ตั้งล้อมอยู่หลายเดือน พระเจ้าตองอูเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ต้องยอมอ่อนน้อมขึ้นแก่พระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึงให้พระเจ้าตองอูครองเมืองเป็นประเทศราชขึ้นเมืองอังวะต่อไป แต่กวาดต้อนผู้คนเมืองตองอูแบ่งกำลังเอาไปเมืองอังวะเสียด้วยเป็นอันมาก

หนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าตองอูมาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น คือเข้ามาขอขึ้นในตอนนี้เมื่อกำลังแค้นพระเจ้าอังวะที่มาตีเมือง

ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อมา ว่าเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๗๔ พ.ศ. ๒๑๕๕ พระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะกับฟิลิฟเดอบริโตเจ้าเมืองเสรียม สมทบกันยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองตองอู (เห็นจะเป็นด้วยมีรับสั่งออกไปจากกรุงศรีอยุธยาให้ไปช่วย หรือไปตีเอาเมืองตองอูให้พ้นจากอำนาจพระเจ้าอังวะ) หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เวลานั้นเมืองตองอูไม่มีกำลังจะต่อสู้ พระยาทละและฟิลิปเดอบริโตได้เมืองตองอูแล้ว ก็เก็บทรัพย์สมบัติและกวาดผู้คนเอาลงไปในเมืองเสรียมเสียเป็นอันมาก ตัวพระเจ้าตองอูเองฟิลิปเดอบริโตก็เอาไปไว้เมืองเสรียมด้วย และว่าขณะเมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปตีเมืองตองอูนั้น พระเจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพลงมารักษาเมืองตองอู แต่ลงมาไม่ทันเมืองตองอูเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงให้เรียกกองทัพกลับไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปถึงเมืองตองอูแล้ว ได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะให้กองทัพใหญ่ยกลงมา เห็นว่าจะต่อสู้รักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน และพาพระเจ้าตองอูมา

ในปีนั้น พระเจ้าอังวะเกณฑ์กองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองเสรียม รบพุ่งกันอยู่หลายเดือน จึงได้เมืองเสรียม จับฟิลิปเดอบริโตได้ พระเจ้าอังวะให้ฆ่าเสีย แต่พระเจ้าตองอูนัตจินหน่องนั้น พงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าอังวะได้ตัวที่เมืองเสรียมก็ให้สำเร็จโทษเสียด้วย ด้วยแค้นว่ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าอังวะได้เมืองเสรียมแล้ว ก็มีอำนาจตลอดอาณาจักรหงสาวดี ที่มิได้ขึ้นแก่ไทยทุกหัวเมือง จึงกลับตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นเป็นราชธานี


เรื่องเมืองล้านช้างขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองล้านช้างคือกรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งราชทูตเข้ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา ในคราวเดียวกับเมืองตองอูนั้น สอบพงศาวดารล้านช้างได้ความว่า พระหน่อแก้ว เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตครองราชย์สมบัติอยู่ได้ ๖ ปี พิราลัย ลูกน้าของพระหน่อแก้วได้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่เมืองเวียงจันทน์ ชื่อ พระธรรมิกราช มีลูกชื่อพระอุปยุวราช พ่อลูกเกิดรบกันขึ้น อาจจะเป็นพ่อหรือลูกที่เข้ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น


ตำนานกฎหมายเมืองไทย

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ตั้ง “พระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ” ดังนี้ จะหมายความว่ากระไรเข้าใจยากอยู่ แต่ไม่ใช่พึ่งตั้งกฎหมายขึ้นในครั้งนั้น นั้นเป็นแน่เพราะกฎหมายเป็นของคู่กับประชุมชน ประชุมชนมีมาแต่เมื่อใดกฎหมายก็ต้องมีมาแต่เมื่อนั้น เมื่อมนุษย์ยังไม่รู้จักใช้หนังสือ การรักษากฎหมายก็ใช้ท่องให้ขึ้นปากเจนใจ เอาไปป่าวร้องแล้วมีเจ้าพนักงานจำไว้บอกเล่าสืบต่อกันมา เมื่อรู้จักหนังสือก็ใช้จดกฎหมายลงมาเป็นตัวหนังสือ แล้วคัดลอกบอกหมายส่งกันไปให้ป่าวร้อง และเขียนลงในสิ่งใดๆ มีใบลานหรือกระดาษเป็นต้น เก็บรักษากฎหมายไว้ ประเพณีเป็นดังนี้มาทั่วทุกประเทศ

ในสยามประเทศนี้ เมื่อก่อนพุทธศักราช ๑๘๒๖ ยังไม่มีหนังสือไทยใช้กันแต่หนังสือคฤนถ์ ซึ่งพวกพราหมณ์พามาแต่อินเดีย หนังสือคฤนถ์นั้นตามที่เคยเห็นศิลาจารึกเห็นใช้เขียนแต่ภาษามคธ ภาษาสันสกฤต และภาษาขอม ไม่เคยพบจารึกอักษรคฤนถ์เป็นภาษาไทยเลย แต่บางทีจะเขียนภาษาไทย อย่างหนังสือขอมเขียนแปลร้อยได้ในครั้งนั้นแล้ว เข้าใจว่ากฎหมายไทยที่ตั้งขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตอนก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ เห็นจะต้องให้แปลกลับเป็นภาษาขอมหรือภาษาสันสกฤต หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวคฤนถ์แปลร้อยได้ แต่การจดลงเป็นหนังสือไม่ว่าภาษาใดคงเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ เพราะผู้ที่รู้หนังสือและเจ้าตำรับกฎหมายในเวลานั้น มีอยู่แต่ในพวกพระพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้พราหมณ์จึงเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่าตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวงที่สูงศักดิ์ชื่อเป็นพราหมณ์ทั้งนั้น

สมเด็จพระร่วงเจ้า พระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่นมีหนังสือชันกาลมาลินีเป็นต้นว่า พระยารามราช เป็นผู้คิดหนังสือไทยขึ้น เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖ (ตัวอย่างหนังสือไทยของสมเด็จพระร่วง จารึกหลักศิลามีอยู่ในหอสมุดวชิรญาณทุกวันนี้) เมื่อมีหนังสือไทยแล้ว กฎหมายที่ตั้งขึ้นต่อมาหรือกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้เริ่มจดลงและรักษามาในหนังสือไทยแพร่หลายเร็วมาก ข้อนี้มีพยานเห็นได้ด้วยศิลาจารึกภาษาไทยรุ่นเก่า ใช้ตัวหนังสือไทยตามแบบของพระเจ้าขุนรามคำแหงทั่วทุกเมืองในอาณาจักรลานนาไทย ตลอดขึ้นไปจนกรุงศรีสัตนาคนหุต เพราะความต้องการหนังสือสำหรับเขียนภาษาไทยมีอยู่ด้วยกันทุกประเทศที่ชาติไทยได้เป็นใหญ่ เมื่อเกิดแบบตัวหนังสือมีขึ้น ทุกประเทศก็ยอมรับใช้หนังสือนั้น โดยเห็นประโยชน์มิต้องมีผู้ใดบังคับบัญชา

ขณะเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา แม้หนังสือไทยเพิ่งมีขึ้นได้เพียง ๖๗ ปี ก็เชื่อได้ว่าคงได้ใช้ตลอดลงมาถึงเมืองอู่ทองแล้ว บรรดากฎหมายที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาเข้าใจว่าเขียนเป็นหนังสือไทยทั้งนั้น แต่ประหลาดอยู่หน่อยที่ข้าพเจ้ายังได้พบพระราชกฤษฎีกาเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา และแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศที่เมืองพัทลุงเขียนเส้นดินสอดำในกระดาษ ยังใช้อักษรและภาษาเขมรหลายฉบับ จะเป็นด้วยเหตุใดข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็นจนทุกวันนี้ ได้ให้ต้นหนังสือนั้นไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ ผู้ใดจะตรวจดูก็ได้


วิธีตั้งกฎหมาย

กฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เรารู้ได้ในเวลานี้ อยู่ในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่ม ซึ่งต้นฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระเรียบเรียงไว้ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ และหมอบรัดเลได้พิมพ์จำหน่ายในครั้งแรก เมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ ยังมีกฎหมายครั้งกรุงเก่าที่ไม่ได้พบหรือไม่เอาเข้าเรื่องเมื่อชำระกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ อยู่อีกบ้าง หอพระสมุดได้ไว้สัก ๒-๓ เล่ม ลักษณะทำกฎหมายแต่โบราณมา คงจะทำเป็นชั้นๆ ดังนี้คือ

ชั้นที่ ๑ เมื่อแรกตั้งกฎหมาย ตั้งด้วยประการพระราชกฤษฎีกา บอกวันคืนเหตุผลและพระราชนิยม อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ยังแลเห็นได้ในพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่และกฎหมายพระสงฆ์เหล่านี้ ล้วนเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นหมายที่แรกตั้งอย่างนั้น

ชั้นที่ ๒ เมื่อพระราชกฤษฎีกามีมากๆ เข้า จะสอบค้นยาก จึงตัดทอนพระราชกฤษฎีกาเก่าคงไว้แต่ใจความเป็นย่ออย่างกลาง ดังจะเห็นได้ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ และกฎหมายหมวดพระราชบัญญัติ

ชั้นที่ ๓ เพื่อจะจัดระเบียบกฎหมายเก่าให้สะดวกแก่สุภาตุลาการให้ค้นได้โดยง่าย นานๆ จึงมีการชำระกฎหมายครั้ง ๑ อย่างเราเรียกทุกวันนี้ว่า ทำประมวลกฎหมาย คือรวบรวมกฎหมายเก่าจัดเป็นหมวดๆ ตามลักษณะความ ตัดเหตุผลวันคืนที่ตั้งกฎหมายออกเสีย คงไว้แต่ใจความซึ่งเป็นพระราชนิยม เรียงเข้าลำดับเป็นมาตราๆ ในลักษณะนั้นๆ

วิธีชำระกฎหมายดังกล่าวมานี้ สำหรับทำแต่กฎหมายเก่าที่ตั้งมานานๆ แล้ว แต่กฎหมายที่ออกใหม่ ก็ยังคงออกอย่างพระราชกฤษฎีกาตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นวิธีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังสุดการชำระกฎหมาย ได้ทำเมื่อปีชวดฉศก จุลศักราช ๒๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้นหนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเป็นอันตรายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงฯฌป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอน ทำเป็นกฎหมายฉบับหลวงขึ้นใหม่ คือฉบับพิมพ์ ๒ เล่มนั้น

มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในนั้น ๔ ลักษณะ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณะนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณะโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อได้ว่าคงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า และเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่ากฎหมายตอนปลายกรุงเก่า ที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จเจ้าบรมโกศ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือกฎหมาย ๓๖ ข้อ และมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกา ยังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าอีกหลายสิบบท


ศักราชที่ใช้ในกฎหมาย

วันคืนที่ใช้ในกฎหมายครั้งกรุงเก่า วิธีนับรอบปีตามนักษัตรคือ ชวด ฉลู เป็นต้น รู้ได้แน่ว่าใช้มาแต่ครั้งสุโขทัยแล้ว ด้วยมีปรากฏในศิลาจารึกตั้งแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหง วิธีนับสัปตวารคือวันอาทิตย์ วันจันทร์ เป็นต้น และนับเดือนตามจันทรคติก็ใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยปรากฏในศิลาจารึกเหมือนกัน แต่ศักราชครั้งสุโขทัยใช้มหาศักราช ถึงศิลาจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาชั้นต้นเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ใช้มหาศักราช แต่ศักราชที่ปรากฏอยู่ในบานแพนกกฎหมายดูใช้ศักราชหลายอย่างปะปนกัน แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ใช้พุทธศักราช ต่อๆ มาใช้พุทธศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง จุลศักราชบ้าง และยังมีศักราชอีกอย่าง ๑ ซึ่งข้าพเจ้ายังทราบไม่ได้ว่าศักราชอะไร โหรเรียกว่าศักราชจุฬามณี แต่สืบเอาเรื่องเอาเกณฑ์จากโหรยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเรียกไว้ว่า “ศักราชกฎหมาย”

ศักราชทั้ง ๔ อย่างนี้ จะสอบในหนังสือกฎหมายได้ความว่าแผ่นดินไหนใช้ศักราชอะไรรู้ไม่ได้ ด้วยบานแพนกกฎหมายในแผ่นดินเดียวกัน ใช้ศักราชต่างกันก็มี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ศักราชในบานแพนกกฎหมายสับสนกันไป จะเป็นเพราะเมื่อเวลาชำระหรือคัดเขียนหนังสือกฎหมายในชั้นหลังๆ ผู้คัดอยากจะให้เข้าใจง่าย เลยคิดคำนวณบวกทอนศักราช ซึ่งผิดกันกับอย่างที่ใช้อยู่ในเวลานั้นเปลี่ยนให้เป็นอย่างเดียวกัน จับผิดได้ที่ปีนักษัตรควรเป็นคู่ ลงศกและศักราชเป็นคี่มีอยู่หลายแห่ง ยังเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลบศักราช เอาปีกุนเป็นสัมฤทธิศก ก็ทำให้ศักราชเคลื่อนไป ๒ ปี ศักราชที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายทั้ง ๔ อย่างสอบได้ดังนี้ คือ (๑) พระพุทธศักราชใช้กฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข ๑๑๘๒ ลบ เป็นจุลศักราช (๒) มหาศักราชในกฎหมายต้องใช้เกณฑ์ ๕๕๘ ลบ เป็นจุลศักราช (๓) ศักราชกฎหมาย (ปรากฏในบานแพนกแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ข้าพเจ้าได้ลองสอบดู น้อยกว่ามหาศักราช ๓๐๐ ปีถ้วน) ลบด้วยเกณฑ์เลข ๒๕๘ เป็นจุลศักราช (๔) จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้นในเมืองพม่าก่อน น่าจะพึ่งเอาเข้ามาใช้ในราชการเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ตั้งแต่เกี่ยวข้องกับเมืองหงสาวดี


กฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ตั้งเป็นอิสระ ณ กรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็เป็นธรรมเนียมที่จะต้องแบบแผนพระราชประเพณี และพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับพระนคร กฎหมายที่ตั้งครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จะมีอะไรบ้าง รู้ไม่ได้หมดอยู่เอง แต่ตรวจดูตามบานแพนกกฎหมาย ๒ เล่ม ได้ความว่า กฎหมายเหล่านี้มีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือ
- ลักษณะพยาน ตั้งเมื่อปีขาลโทศก พ.ศ. ๑๘๙๔ (จุลศักราช ๗๑๒)
- ลักษณะอาญาหลวง กำหนดโทษ ๑๐ สถาน ตั้งเมื่อปีเถาะตรีศก พ.ศ. ๑๘๙๕ (จุลศักราช ๗๑๓)
- ลักษณะรับฟ้อง ตั้งเมื่อปีมะแมสัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)
- ลักษณะลักพา ตั้งเมื่อปีมะแมสัปตศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๗)
- ลักษณะอาญาราษฎร์ ตั้งเมื่อปีระกานพศก พ.ศ. ๑๘๙๙ (จุลศักราช ๗๑๙
- ลักษณะโจร ตั้งเมื่อปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)
- ลักษณะเบ็ดเสร็จ ว่าด้วยที่ดิน ตั้งเมื่อปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๙๐๓ (จุลศักราช ๗๒๑)
- ลักษณะผัวเมีย ตั้งเมื่อปีชวดโทศก พ.ศ. ๑๙๐๔ (จุลศักราช ๗๒๒)
- ลักษณะผัวเมียอีกตอน ๑ ตั้งเมื่อปีฉลูตรีศก พ.ศ. ๑๙๐๕ (จุลศักราช ๗๒๓)
- ลักษณะโจร ว่าด้วยสมโจร ตั้งเมื่อปีมะเมียอัฐศก พ.ศ. ๑๙๑๐ (จุลศักราช ๗๒๙)

กฎหมายรัชกาลอื่นๆ ครั้งกรุงเก่า ที่มีบานแพนกและศักราชบอกไว้ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ๒ เล่ม ดังนี้

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
- กฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ (สงสัยว่าจะเป็นปีขาล จุลศักราช ๘๕๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ด้วยกล่าวถึงศักดินาในกฎหมายนั้น)

แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- ทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ตั้งเมื่อปีจอ พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)
- ทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตั้งเมื่อปีจอฉศก พุทธศักราช ๑๙๙๘ (จุลศักราช ๘๑๖)
- ลักษณะกบฏ (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีฉลู มหาศักราช ๑๓๗๕ จุลศักราช ๘๑๙
- เพิ่มเติมลักษณะและอาญาหลวง ไม่ปรากฏวัน
- กฎมณเฑียรบาล ตั้งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๒๐

แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
- เพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๐๕๕ (จุลศักราช ๘๗๔)

แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช
- ลักษณะพิสูจน์ ตั้งเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๘๙๗ (ที่พระเทียรราชาเสี่ยงเทียน เห็นจะเป็นเวลากำลังนิยมกันด้วยเรื่องพิสูจน์เสี่ยงเทียน อยู่ในวิธีพิสูจน์อย่าง ๑)

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
- เพิ่มเติมลักษณะอาญาหลวง เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๐๙๓ (จุลศักราช ๙๑๒)

สมเด็จพระเอกาทศรถ (ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร)
- พระราชกฤษฎีกาบำเหน็จศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
- พระธรรมนูญกระทรวงศาล ตั้งเมื่อปีชวด ศักราชกฎหมาย ๑๕๔๔ (จุลศักราช ๙๘๖)

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง
- พิกัดเกษียณอายุ ตั้งเมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๙๕
- ลักษณะอุทรณ์ ตั้งเมื่อปีกุน มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)
- พระธรรมนูญตรากระทรวง ตั้งเมื่อปีกุนสัปตศก มหาศักราช ๑๕๕๕ (จุลศักราช ๙๙๗)
- ลักษณะทาส ตั้งเมื่อปีฉลูนพศก มหาศักราช ๑๕๕๗ (จุลศักราช ๙๙๙)
- เพิ่มเติมลักษณะทาส เมื่อปีกุนเบญจศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๖๓ (จุลศักราช ๑๐๐๕ ควรเป็นปีมะแม)
- ในพระราชกำหนดเก่าบท ๑ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๐๐๕
- เพิ่มในลักษณะอาญาหลวง ห้ามไม่ให้ยกลูกสาวให้ชาวต่างชาติ เมื่อปีกุนนพศก ศักราชกฎหมาย ๑๕๖๗ (จุลศักราช ๑๐๐๙)
- ลักษณะกู้หนี้ ตั้งเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก ศักราชกฎหมาย ๑๒๘๖ (จุลศักราช ๑๐๑๐)
- พระราชกำหนดเก่าบท ๑ ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๐๑๑
- กฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๐๑๒

แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- เพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง เมื่อปีกุนตรีศก มหาศักราช ๑๕๙๑ (จุลศักราช ๑๐๓๓)
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๒ บท ระหว่างปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๒๖ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๔๙
- พระราชกำหนดเก่า ๔ บท ระหว่างปีจอ จุลศักราช ๑๐๓๒ จนปีเถาะ จุลศักราช ๑๐๓๕

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
- มูลคดีวิวาท ว่าด้วยตัดสินปันหมู่ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๒
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ บท ๑ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๕๔
- ลักษณะตุลาการ ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๕๘

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๑๘ บท ระหว่าปีฉลู จุลศักราช ๑๐๗๑ จนปีมะแม จุลศักราช ๑๐๘๙
- เพิ่มเติมลักษณะตุลาการ เมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๐๙๐
- เพิ่มเติมมูลคดีวิวาท ว่าด้วยปันสมรส ตั้งเมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓
- พระราชกำหนดเก่า ๒๕ บท ระหว่างปีกุน จุลศักราช ๑๐๖๙ จนปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- เพิ่มเติมคดีวิวาท ว่าด้วยจำหน่ายเลก เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕
- ลักษณะวิวาท ตั้งเมื่อปีมะเส็งเอกศก ศักราชกฎหมาย ๑๓๖๙ (จุลศักราช ๑๑๑๑)
- เพิ่มเติมลักษณะทาส เมื่อปีกุนสัปตศก ศักราชกฎหมาย (เข้าใจว่า ๑๓๗๕ จุลศักราช ๑๑๑๗)
- ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ ๕ บท ระหว่างปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕ จนปีจอ จุลศักราช ๑๑๑๖
- พระราชกำหนด ๓๖ ข้อ ๕ บท ระหว่างปีฉลู จุลศักราช ๑๑๑๙ จนปีขาล จุลศักราช ๑๑๒๐

สารบาญกฎหมายเก่าที่กล่าวมานี้ ตามที่ตรวจดู เท่าที่รู้ได้ในกฎหมาย ๒ เล่ม ยังมีบานแพนกบางแห่งที่ศักราชและปีวิปลาส ไม่แน่ใจว่าจะเป็นแผ่นดินไหน จึงไม่ได้เอามาลงไว้ ผู้อ่านสารบาญนี้ควรสังเกตแต่เค้าความ ว่ากฎหมายกรุงเก่าที่ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้ตั้งในแผ่นดินใดๆ บ้าง แต่จะเข้าใจไปว่า แผ่นดินนั้นๆ จะได้ตั้งแต่งกฎหมายซึ่งกล่าวในสารบาญนี้เท่านั้นก็ดี หรือว่ากฎหมายลักษณะใดที่กล่าวไว้ในสารบาญ ว่าตั้งในแผ่นดินใดจะพึ่งมีแต่แผ่นดินนั้นก็ดีนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เราได้เห็นพิมพ์ไว้ในกฎหมาย ๒ เล่ม เป็นของที่ได้ตัดทอนแก้ไข เรียกรวมโดยนามว่า “ชำระ” มาหลายครั้งหลายคราว


วิธีจัดหมวดกฎหมายครั้งกรุงเก่า

ลักษณะจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายและเนื้อความที่ปรากฏในหมวดพระธรรมศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิมประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรไม่รู้ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้งหนึ่งน่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย และมีผู้แปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องพระราชพงศาวดาร ก็น่าจะยุติว่า คงแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล

ที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ของพระมโนสารหรือมนูนี้ เป็นต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเป็นภาษาสันสกฤต มีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียเป็นอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเป็นภาษารามัญ ได้วานพระเทวโลก แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญแปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมติราชตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตเป็นหนังสือในศาสนาพราหมณ์ และเป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่ เมื่อพระเอามาแปลที่เมืองรามัญจะเลือกแปลแต่บางแห่ง และแปลงเนื้อความที่แปลนั้นให้เป็นหนังสือฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วย ไทยเราได้พระธรรมศาสตร์มาจากมอญดังปรากฏอยู่ในคาถาคานมัสการข้างต้น เห็นจะได้มาเมื่อกฎหมายไทยเรามีเป็นแบบแผน และจัดหมวดหมู่อยู่อย่างอื่นแล้ว มาจัดเอาเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์เมื่อทีหลัง จึงเข้าไม่ได้สนิท ข้อนี้จะแลเห็นได้ถนัดในกฎหมาย แม้สังเกตแต่มาติกามูลคดี มาติกามูลคดีรามัญว่ามี ๑๘ เท่าธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ แต่มูลคดีในพระธรรมศาสตร์ไทยขยายออกไปเป็น ๒๙ เห็นผิดกันมากอยู่ดังนี้ จึงเข้าใจว่าเมื่อจะจัดกฎหมายไทยให้เป็นหมวดตามพระธรรมศาสตร์ จะเอาเข้าไม่ได้สนิท จึงทำอย่างขอไปที จะยกตัวอย่างมาไว้ให้ดูได้ ดังนี้

คาถาพระธรรมศาสตร์รามัญ

ตตฺถ อฏฺฎา ทวิธา วตฺตา มูลสาขปฺปเภทโต
มูลฏฺฐารสธา สาขา ติทินฺนาทิเนกธา
อิณํ ธนํ สนฺนิธานํ อสกํ ปริกีณิตํ
อธมฺมธนวิภาคํ ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คณฺเห
ภติกสฺส ปลิโพโธ พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข
ยํ วจนํ กเถตฺวาน ปจฺฉา ปุน กเถนฺติ ตํ
กีณิตฺวา ปุน อิจฺฉติ วิกีณิตฺวา วิวตฺตติ
ทฺวิปทา จตุปฺปทา สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา
ปฐวีวิภตฺติวาจา อญฺญํ โทสปโรหิตํ
ปรมาตํ ฆรํ คจฺเฉ อิตฺถีปุริสวิกฺกเต
วิภตฺติธนเหตุ อกฺขวตฺตปริภาโค
เอเต มูลา อฏฺฐารส ธมฺมสตฺเถ ปกาสิตา

แปลเป็นมูลคดี ๑๘ อย่าง สอบกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศของอาจารย์แมกสมุเลอ ได้คำแปลดังนี้
๑. อิณํธนํ หนี้สิน Non payment of debts.
๒. สนฺนิธานํ ของฝาก Deposit and pledge.
๓. อสกํ มิใช่ของตน Sale without ownership.
๔. ปริกีณิตํ หุ้นส่วน Concerns among partner.
๕. อธมฺมธนวิภาคํ แบ่งสินมิเป็นธรรม Partition of inheritance.
๖. ธนํ ทตฺวา ปจฺฉา คณฺเห ให้สินแก่เขาแล้วเอาคืนเล่า Resumption of gife.
๗. ภติกสฺส ปลิโพโธ ไม่ให้เงินค่าจ้าง Non payment of wages.
๘. พหุมชฺเฌสุ สมฺมุเข ยํ วจนํ กเถตฺวาน ปจฺฉา ปุน กเถนฺติ ตํ ไม่ทำตามสัญญา Non performance of agreement.
๙. กีณิตฺวา ปุน อิจฺฉติ ซื้อแล้วคืนเล่า Recission of sale and purchase.
๑๐. วิกีณิตฺวา วิวตฺตติ ขายแล้วอยากได้คืน Recission of sale and purchase.
๑๑. ทฺวิปฺทา วา จตุปฺปทา สพฺเพ มนุสฺสภตฺติกา วิวาทเหตุวิญญาณกทรัพย์ Dispute between owner of cattle and his servants.
๑๒. ปฐวีวิภตฺติวาจา แบ่งที่ดินเรือกสวนไร่นา Dispute regarding boundaries.
๑๓. อญฺญํโทสปโรหิตํ ใส่ความท่าน Defamation.
๑๔. ปริฆาตํ ฆ่าฟันท่าน Assualt, robbery and violence.
๑๕. ฆรํคจฺเฉ ลักทำชู้ Theft and adultery.
๑๖. อิตฺถีปุริสวิกเต ลักษณะผัวเมีย Duties of man and wife.
๑๗. วิภตฺติธนเหตุ ลักษณะแบ่งสิน Partition of inheritance.
๑๘. อกฺขวตฺตปริภาโค ลักษณะเล่นการพนัน Gambling and detting.

คาถาพระธรรมศาสตร์ไทย

แสดงมูลแห่งตุลาการ ๑๐ ประการ
อินฺทภาโส ธมฺมานุญฺโญ สกฺขิ จ สกฺขิเฉทโก
อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส ปฏิภาณญฺจ เฉทโก
อฏฺฏคาโห อฏฺฏกูโฏ ทณฺโฑ โจทกเฉทโก
อกฺขทสฺสาทสญฺเจว เอเต มูลา ปกิตฺติตา

มูลคดีแห่งตุลาการ ๑๐ ปรการ ที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยหมวดกฎหมายกรุงเก่า ดังนี้
๑. อินฺทภาโส อินฺทภาษ ได้แก่ลักษณะอินทภาษ และลักษณะตุลาการ
๒. ธมฺมานุญฺโญ พระธรรมนูญ ไดแก่พระธรรมนูญ
๓. สกฺขี พยาน ได้แก่ลักษณะพยาน
๔. สกฺขิเฉทโก ตัดพยาน เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๕. อญฺญมญฺญํ ปฏิภาโส แก้ต่างว่าต่าง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๖. ปฏิภาณญฺจ เฉทโก ตัดสำนวน เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๗. อฏฺฏคาโห รับฟ้อง ได้แก่ลักษณะรับฟ้อง
๘. อฏฺฏกูโก ประวิง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง
๙. ทณฺโฑ พรหมทัณฑ์ เอาไว้ในกรมศักดิ์
๑๐. โจทกเฉทโก ตัดฟ้อง เอาไว้ในลักษณะรับฟ้อง

คาถาแสดงมูลคดีวิวาท ๒๙ ประการ
อิณญฺจ รญฺโญ ธนโจรหารํ อธฺมมทายชฺชวิภตฺตภาคํ
ปรสฺส ทานํ คหณํ ปุเนว ภติกอกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา
ภณฺฑญฺจ เกยฺยาวิกยาวหารํ เขตฺตาทิอารามวนาทิฐานํ
ทาสึ จ ทาสํ ปหรญฺจ ขํ สา ชายมฺปตีสฺส วิปตฺติเภทา
สงฺคามโทสาปิ จ ราชทุฏโฐ ราชาณสุงฺกาทิวิวาทปตฺโต
ปรมฺปสยฺโหปิ จ อตฺตอาณํ อีติยกาโร วิวิโธ ปเรสํ
ฐานาวิติกฺกมฺมพรากเรน ปุตฺตาทิอาทาคมนาสเหว
เหตุ ปฏิจฺจมฺมธิการณํ วา อคฺฆาปํนายู จ ธนูปนิกฺขา
อาถพฺพนีกาปิ จ ภณฺฑเทยฺยํ เตตาวกาลีกคณีวิภาคํ
ปจฺจุทฺธรนฺตํ ตุ วิวาทมูลา เอกูนตึสาทิวิธาปิ วุตฺตา
โปรากวีนา วรธมฺมสตเถติ

มูลคดีวิวาท ๒๙ ประการ ที่แปลไว้ในกฎหมาย เทียบด้วยกฎหมายกรุงเก่า เป็นดังนี้
๑. อิณํธนํ กู้หนี้ ได้แก่ลักษณะกู้หนี้
๒. รญฺโญ ธนโจรหารํ ฉ้อพระราชทรัพย์ เอาไว้ในลักษณะอาญาหลวง
๓. อธมฺมทายชฺชวิภตฺตภาคํ มรดก ได้แก่ลักษณะมรดก
๔. ปรสฺส ทานํ คหณํ ปุเนว ให้ปัน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๕. ภติกา จ้างวาน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๖. อกฺขปฺปฏิจารธุตฺตา เล่นพนัน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๗. ภณฺฑญจเกยฺยาวิกยํ ซื้อขาย เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๘. อวหารํ โจรกรรม ได้แก่ลักษณะโจร
๙. เขคฺตาทิฐานํ ที่นา เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๑๐. อารามวนาทิฐานํ ที่สวน เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๑๑. ทาสึทาสํ ทาส ได้แก่ลํกษณะทาส
๑๒. ปหรญฺจ ขุ สา ตบตีด่าว่า ได้แก่ลักษณะวิวาท
๑๓. ชายมฺปติกสฺสสวิปตฺตเภทา ผัวเมีย ได้แก่ลักษณะผัวเมีย
๑๔. สงฺคามโทสา สงคราม ได้แก่ลักษณะอาญาศึก อยู่ในลักษระกบฏศึก
๑๕. ราชทุฏโฐ กบฏ ได้แก่ลักษณะกบฏ อยู่ในลักษณะกบฏศึก
๑๖. ราชาณํ ละเมิดพระราชบัญญัติ ได้แก่ลักษณะอาญาหลวง
๑๗. สุงฺกาทิวิวาทปตฺโต อากรขนอนตลาด เอาไว้ในลักษณะอาญาหลวง
๑๘. ปรมฺปสยฺโห ข่มเหงท่าน ได้แก่ลักษณะอาญาราษฎร์
๑๙. อีติยกาโร ที่กระหนาบคาบเกี่ยว เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๐. ฐานาวิติกฺกมฺมพลากร บุกรุก เอาไว้ในลักษณะอาญาราษฎร์
๒๑. ปุตฺตาทิอาทาคมนาสเหว ลักพา ได้แก่ลักษณะลักพา
๒๒. เหตุ ปฏิจฺจอธิกรณํ สาเหตุ เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๓. อคฺฆปนายู เกษียณอายุ ได้แก่กรมศักดิ์
๒๔. ธนูปนิกฺขา ฝากทรัพย์ เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๕. อาถพฺพนิกา กระทำด้วยกฤตยาคม เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๖. ภณฺฑเทยฺยํ เช่า เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๗. ตาวกาลิกํ ยืม เอาไว้ในลักษณะเบ็ดเสร็จ
๒๘. คณีวิภาคํ ปันหมู่ชา ได้แก่มูลคดีวิวาท
๒๙. ปจฺจุทธรนฺตํ อุทธรณ์ ได้แก่ลักษณะอุทธรณ์

กฎหมายกรุงเก่าอยู่นอกมาติกานี้ มีพระธรรมศาสตร์ เพราะเป็นต้นมาติกา ๑ กฎมณเฑียรบาล ๑

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ น่าจะเข้าใจว่าจะจัดประมวลกฎหมายเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์อย่างว่ามานี้เอง แต่เมื่อข้าพเจ้าไปกราบทูลหารือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีรับสั่งว่าคาถาที่ปรากฏในกฎหมายไทย ตั้งแต่คำนมัสการจนพระธรรมศาสตร์สำนวนมคธวิปลาสไม่เรียบร้อย คล้ายกับคาถาคำนมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เกือบจะสันนิษฐานว่า ผู้แต่งเป็นคนเดียวกันได้ ดังนี้

ทางภาษาในหนังสือเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยเวลา ปละประเภทที่แต่งหนังสืออยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะไม่นำพาไม่ได้ เมื่อปรากฏว่ามีคาถาแต่งครั้งกรุงสุโขทัย (คือคาถานมัสการในหนังสือไตรภูมิพระร่วง) แห่งหนึ่ง และคาถาในพระธรรมศาสตร์กฎหมายไทยอีกแห่งหนึ่ง เป็นสำนวนเดียวกัน ถ้าเชื่อว่าคาถาไตรภูมิพระร่วงแต่งครั้งกรุงสุโขทัย ก็จะเชื่อว่าคาถาพระธรรมศาสตร์ไทยแต่งครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถไม่ได้อยู่เอง เพราะห่างกันหลายร้อยปีนัก จะว่าได้พระธรรมศาสตร์ฉบับรามัญเข้ามาแต่ครั้งสุโขทัย แต่งคาถาพระธรรมศาสตร์ไทยขึ้นคราวๆเดียวกันจัดกฎหมายเข้าเป็นหมวดหมู่ ตามพระธรรมศาสตร์อย่างกล่าวมาแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ส่วนข้างภาษาไทยในกฎหมายที่เห็นได้ว่า โดยมากเป็นของแต่งใหม่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นข้อขัดข้องแก่การที่จะตัดสินอยู่ มีทางที่จะสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง คือคาถานมัสการเรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ของเดิมภาษามคธไม่มี จะพึ่งมาแต่งขึ้นในครั้งกรุงเก่า ถ้าเช่นนั้นความสันนิษฐานที่ว่าพึ่งจัดกฎหมายเข้าหมวดพระธรรมศาสตร์ เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถพอจะเป็นได้ การสอบกฎหมายทางที่เนื่องด้วยพงศาวดารดังอธิบายมานี้ แสดงโดยอัตโนมัติของข้าพเจ้า อาจจะผิดพลาดได้ ถ้าผิดพลาดไปข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่านผู้อ่าน



Create Date : 14 มิถุนายน 2550
Last Update : 14 มิถุนายน 2550 13:33:06 น.
Counter : 6735 Pageviews.

1 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ…วางแผนการเงินอย่างไร ให้เหลือใช้ถึงปลายเดือน! สมาชิกหมายเลข 7654336
(13 เม.ย. 2567 02:04:45 น.)
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
  
ตั้งส่วยอากรขนอนตลาด

หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีข้อหนึ่งว่า สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ตั้ง “ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด” ว่าเพียงเท่านี้ ยากที่จะเข้าใจได้ว่าจัดการที่ว่านั้นอย่างไรๆ บ้าง แต่เชื่อได้ว่าไม่ใช่ว่าพึ่งตั้งภาษีอากรขึ้นคราวนั้นเหมือนกัน ภาษีอากรคู่กับรัฐบาล เหมือนกับกฎหมายคู่กับประชุมชน มีรัฐบาลเมื่อใดภาษีอากรก็มีมาแต่เมื่อนั้น ผิดกันต่างกันแต่วิธีเก็บภาษี ภาษีอากรที่เรียกรวมในชื่อว่า “ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด” นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจำแนกเป็น ๓ อย่างคือ ส่วยอย่าง ๑ อากรขนอนอย่าง ๑ อากรตลาดอย่าง ๑ วิธีเก็บ ถ้าหมายความว่า ๓ อย่างนี้ ได้ความตามหนังสือของมองสิเออร์ลาลูแบร์ประกอบกับที่เข้าใจความตามที่กล่าวในกฎหมายเป็นดังนี้

ส่วยนั้น ตามความเข้าใจกันทุกวันนี้ หมายความว่ายอมให้ไพร่พลส่งสิ่งของได้แทนแรงที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ เป็นต้นว่า ไพร่พลพวกใดตั้งอยู่ภูมิลำเนาในที่มีป่าไม้ ยอมให้ไพร่พลพวกนั้นตัดไม้ที่ต้องการใช้ในราชการส่งมาโดยกำหนดคนละเท่านั้นๆ ไม้นั้นเรียกว่าไม้ส่วย เมื่อผู้ใดได้ส่งส่วยแล้ว ก็ไม่ต้องรับราชการประจำในที่นั้น รัฐบาลเอาของส่วยมาใช้ในราชการ ดังเช่นไม้ก็เอามาใช้ในการปลูกสร้างสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ลักษณะของการส่วยเป็นดังว่ามานี้มาแต่ประเพณีโบราณ ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้เมืองขึ้นหรือให้หมู่บ้านที่ขึ้นต้องจัดสิ่งดีซึ่งมีในเมืองและบ้านนั้นๆ ส่งแก่ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่เป็นพยานในการที่เป็นข้าขอบขัณฑเสมา ยกตัวอย่างดังในพงศาวดารเหนือ ที่พระร่วงเมืองละโว้ต้องเป็นส่วยส่งน้ำทะเลชุบศรไปถวายพระเจ้ากรุงขอมทุกๆ ปี ไม่ใช่ว่าเพราะเมืองขอมกันดารน้ำ หรือมีความจำเป็นโดยแท้จริงอันใดที่จะต้องได้น้ำทะเลชุบศรไปใช้ในเมืองขอม การที่บังคับให้เมืองละโว้ส่งน้ำทะเลชุบศร ก็เพื่อจะให้ชาวละโว้รู้สึกทั่วกันอยู่เสมอว่า เป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดินขอมเท่านั้นเอง ประเพณีอันนี้

แม้อย่างต่ำแต่เมืองต้องส่งต้นไม้เงินทองถวายแทนของส่วย ทุนที่จะใช้ทำต้นไม้เงินทองนั้น ยังใช้เก็บเฉลี่ยเรียกจากราษฎร เพื่อให้ความรู้สึกมีอยู่แก่ราษฎรทั่วกันว่า เป็นข้าขอบขัณฑเสมาตามธรรมเนียมเดิม ยังใช้เป็นประเพณีในหัวเมืองมลายูมาจนเลิกประเพณีถวายต้นไม้เงินทอง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีเก็บส่วยจากราษฎรเห็นว่าจะเอามาจากประเพณีโบราณนี้เอง เปลี่ยนเป็นการเฉพาะตัวไพร่พลในชาติเดียวกัน และกำหนดให้ส่งแต่ของที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการ ยกหน้าที่ๆจะรับราชการประจำให้เป็นการตอบแทน ซึ่งต้องเป็นความยินดีพอใจของพวกไพร่พลที่อยู่ใกล้อยู่เป็นธรรมดา วิธีเก็บส่วยจากไพร่พล ถ้าตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ จริงดังกล่าวในพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเกิดแต่จะบำรุงการทำมาหากิน ด้วยไพร่พลต้องทำศึกสงครามบอบช้ำมาช้านาน และเข้าใจว่าวิธีที่ยอมให้ส่งส่วยนี้เอง ในรัชกาลอื่นภายหลังมาขยายต่อออกไปจนให้ส่งเงินแทนรับราชการได้ จึงเกิดประเพณีเสียเงินข้าราชการสืบมา ของส่วยที่เรียกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถทราบไม่ได้ว่าอะไรบ้าง มาทราบในชั้นหลัง ซึ่งข้าพเจ้าจะเอาไว้อธิบายในรัชกาลอื่นต่อไป

ที่เรียกว่าอากรขนอนนั้น ตามเนื้อความเท่าที่จะทราบได้ เป็นภาษีเก็บในจังหวัดราชธานี คือตั้งด่านขึ้นตามทางน้ำทางบก ที่มหาชนไปมาค้าขายต้องผ่าน ครั้งกรุงเก่าเรียกด่านภาษีว่า “ขนอน” จะเป็นเรือก็ตามเกวียนก็ตาม เมื่อพาสินค้าผ่านขนอน เก็บสินค้านั้นเป็นภาคหลวงโดยอัตรา ๑๐ ชัก ๑ ซึ่งเราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ภาษีภายใน หรือ ภาษีผ่านด่าน มาจากอากรขนอนนี้เอง ถ้าเชื่อตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ก็ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นปฐมเหมือนกัน

อากรตลาดนั้น เข้าใจว่าอย่างเดียวกับที่เรียกว่า เก็บจังกอบ แต่ในจังหวัดราชธานีเหมือนกัน คือที่ใดราษฎรประชุมกันตั้งตลาดค้าขาย ที่นั่นก็ตั้งให้เก็บภาษีจากร้านและผู้ซึ่งมาขายของ อัตราที่เก็บเท่าใดในครั้งกรุงเก่า ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบ


ที่กัปนา

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระเอกาทศรถพระราชทานที่กัลปนาเป็นนิตยภัตพระสงฆ์ ที่เรียกว่า พระราชทานที่กัลปนานั้น หมายความว่าพระราชทานผลประโยชน์ซึ่งได้ในภาษีที่ดินเป็นนิตยภัตเลี้ยงพระสงฆ์ ไม่ได้พระราชทานตัวที่ดิน ประเพณีพระราชทานที่กัลปนา เป็นพระราชประเพณีมีมาแต่ครั้งสุโขทัย ไม่ใช่ตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นแน่ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าว เห็นจะหมายความว่าพระราชทานเพิ่มเติมที่กัลปนาขึ้นอีก คือวัดหลวงวัดใดที่ยังไม่มีกัลปนามาแต่ก่อน ก็จัดให้มีขึ้นให้เหมือนกับวัดที่มีแล้วให้บริบูรณ์เท่านั้นเอง


เรื่องตั้งพระมหาอุปราช

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถมีราชโอรส ๒ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนาม เจ้าฟ้าสุทัศน์ พระองค์น้อยทรงพระนาม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์เป็นพระมหาอุปราช อยู่มาพระมหาอุปราชทรงกราบทูลว่า จะขอพิจารณาคนออก เห็นจะหมายความว่าคนที่เข้ามารับราชการประจำซองอยู่ มีคนแก่ชราทุพพลภาพอยู่มาก จะขอให้ปลดคนเหล่านั้นออกเสียจากราชการ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระมหาอุปราชกราบทูลดังนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถทรงขัดเคือง รับสั่งถามพระมหาอุปราชว่าจะเป็นกบฏหรือ พระมหาอุปราชตกพระทัย เกรงพระราชอาญาเป็นกำลัง เวลาค่ำเสวยยาพิษทิวงคต สมเด็จพระเอกาทศรถทรงอาลัยถึงพระราชโอรสเป็นอันมาก ยังไม่ทันที่จะได้ตั้งพระมหาอุปราชอีกก็เสด็จสวรรคต ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารดังนี้

เรื่องนี้มีในจดหมายเหตุของฝรั่ง ซึ่งแต่งในสมัยนั้น กล่าวว่า ในเวลาเมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถพระอารมณ์ไม่เป็นปรกติ มีขุนนางคนหนึ่งกราบทูลยุยงว่าพระมหาอุปราชจะเป็นกบฏ สมเด็จพระเอกาทศรถหลงเชื่อขุนนางคนนั้น ให้สำเร็จโทษพระมหาอุปราชเสีย ข้อที่ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถมีพระอารมณ์ไม่ปรกติ ในเวลาเมื่อจวนสิ้นรัชกาลนั้น ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงไว้อย่างนั้น น่าจะเป็นความจริง แต่เรื่องที่พระมหาอุปราชทิวงคตนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเนื้อความจะจริงอย่างว่าในพระราชพงศาวดาร

คือในเวลาเมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถจะฟั่นเฟือนและดุร้าย จะมีความเดือดร้อนอย่างไรแพร่หลายอยู่ในกรุงฯ พระมหาอุปราชเห็นจำเป็นจะต้องแก้ไขผ่อนผันบรรเทาความเดือดร้อนที่มีอยู่ในเวลานั้น จึงกราบทูล ฝ่ายสมเด็จพระเอกาทศรถจะเข้าพระทัยไปว่า พระมหาอุปราชเป็นหัวหน้า ตั้งพวกที่จะฝ่าฝืนพระราชอำนาจ คงจะทรงพระพิโรธเพียงตรัสบริภาษพ้อพระมหาอุปราชด้วยประการต่างๆ ทำนองที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระมหาอุปราชไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยฝ่ายหนึ่งก็มีผู้คนเดือดร้อนแพร่หลาย เห็นท่าจะเกิดจลาจล ครั้นไปกำราบทูลขอระงับแก้ไข ก็ถูกสงสัยว่าจะเป็นกบฏต่อพระราชบิดา จึงเสวยยาพิษทิวงคต พวกฝรั่งรู้แต่เหตุที่เกิดกริ้วกราดกัน และรู้ว่าพระมหาอุปราชทิวงคตด้วยมีเหตุมิได้ประชวรโดยสามัญโรค จึงลงเนื้อเห็นว่าถูกสำเร็จโทษ

ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถคงจะมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยดังกล่าวมา พอสมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต พระศรีศิลป์ซึ่งบวชเป็นพระราชาคณะอยู่ จึงชิงราชสมบัติได้ ซึ่งเป็นข้อประหลาดใจของผู้ศึกษาโบราณคดีอยู่จนทุกวันนี้ว่า ทำไมจึงเป็นได้อย่างนั้น ถ้าเจ้าฟ้าสุทัศน์ไม่ทำลายพระชนม์เสีย พระราชวงศ์ของสมเด็จพระเอกาทศรถเห็นจะยังได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อมาอีกช้านาน.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก
พระอธิบายท้ายพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โดย: กัมม์ วันที่: 14 มิถุนายน 2550 เวลา:13:40:01 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด