ศึกพม่าที่ท่าดินแดง
สงครามครั้งที่ ๒
คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง
ปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๒๙



เหตุที่เกิดสงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง เนื่องมาแต่สงครามครั้งที่ ๑ ซึ่งพม่ายกมา ๕ ทาง เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าเสียทีไทยกลับไปหมดทุกทาง พระเจ้าปดุงมีความอัปยศอดสู ด้วยทำสงครามไม่เคยแพ้ใคร เพิ่งมาแพ้ไทยเป็นครั้งแรก เกรงคนทั้งหลายจะดูหมิ่น จึงพยายามมาตีเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง พอพระเจ้าปดุงกลับไปก็ให้เตรียมทัพในต้นปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙

คราวนี้พระเจ้าปดุงรู้สึกการที่ได้ทำผิดไปในครั้งก่อน คิดแก้ไขจะมิให้พลาดพลั้งได้อีก จึงกะจะยกเป็นกระบวนทัพใหญ่ติดตามกันมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อันเป็นทางใกล้กรุงเทพฯแต่ทางเดียว และจะจัดวางเสบียงอาหารสำหรับกองทัพไว้ให้พอทุกระยะทางที่เข้ามามิให้ไพร่พลอดอยาก แล้วจะมาตั้งต่อเรือรบที่ปลายน้ำไทรโยค ยกทั้งกองทัพบกทัพเรือเข้ามาตีกรุงเทพฯให้จงได้(๑)

การที่พม่าเตรียมทัพคราวนี้ปรากฏในเบื้องต้นว่า พระเจ้าปดุงให้กองทัพที่กลับไปจากเมืองราชบุรีตั้งค้างฝนอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ และให้กองทัพเกงหวุ่นแมงยี่ที่กลับไปจากเมืองนครศรีธรรมราชค้างฝนอยู่ที่เมืองทวาย กองทัพอื่นก็เห็นจะให้ตั้งค้างฝนอยู่ที่อื่นอีก แล้วให้เกณฑ์เสบียงอาหารตามบรรดาหัวเมืองมอญ ตลอดไปจนเมืองยะไข่ขนมารวบรวมขึ้นยุ้งฉางไว้ที่เมืองเมาะตะมะเป็นอันมาก

ครั้นถึงปลายฤดูฝนจึงให้เกณฑ์รี้พลเพิ่ม ลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะ ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาลงมาบัญชาการกองทัพที่ ๑ มีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ยกเข้ามาเตรียมการในแดนไทยก่อน แล้วพระเจ้าปดุงจึงยกกองทัพหลวงตามเข้ามาอีกทัพหนึ่ง

พระมหาอุปราชาลงมารวบรวมพลที่เมืองเมาะตะมะพร้อมแล้ว พอเข้าฤดูแล้งก็แต่งให้เมียนหวุ่นกับเมียนเมหวุ่น ซึ่งเคยเป็นนายทัพที่ ๔ ที่ ๕ มารบกับไทยที่ลาดหญ้าเมืองคราวก่อน คุมพล ๓๐,๐๐๐ ยกล่วงหน้าเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้เข้ามาตั้งมั่น และทำทางวางเสบียงอาหารสำหรับกองทัพใหญ่ที่จะยกตามเข้ามา อย่าให้ติดขัดในตอนที่จะข้ามเขาเข้ามาถึงที่ราบในแดนไทยได้ดังครั้งก่อน กองทัพเมียนหวุ่นและเมียนเมหวุ่นจึงเข้ามาตั้งที่ท่าดินแดงแห่งหนึ่ง ที่สามสบแห่งหนึ่ง ทำค่ายใหญ่น้อยหลายค่ายชักปีกกาถึงกัน และขุดสนามเพลาะปักขวากป้องกันแน่หนา ประสงค์จะมิให้ไทยชิงไปทำลายการได้ในตอนนี้ แล้วให้ปลูกยุ้งฉางวางเสบียงอาหารทุกระยะ แม้ทางที่จะเดินทัพนั้นก็ให้ทำทอดสะพานข้ามห้วยธารมาทุกแห่ง แล้วพระมหาอุปราชาก็ยกกองหลวงมีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ตามเข้ามาตั้งค่ายอยู่ริมลำน้ำแม่กษัตริย์ ใกล้กับด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทัพหนึ่ง

รายการที่พม่าเข้ามาตั้งค่ายตระเตรียมการทัพในดินแดนไทยครั้งนั้น มีในกลอนเพลงยาวพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพรรณนาไว้ในนิราศท่าดินแดงดังนี้

"อ้ายพม่าตั้งอยู่ท่าดินแดง
ตกแต่งค่ายรายไว้ถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพัดมี
ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย
ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังทำทางวางวางสะพาน
ตามละหานห้วยธารทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางหว่างค่าย
ถ่ายเสบียงอาหารทุกแห่งหน
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน
จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายคูประตูหอรบ
ตบแต่งาสรพัดเป็นที่มั่น
ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน
เป็นชั้นอันดับมากมาย"


ยุทธวิธีที่ไทยต่อสู้พม่าคราวนี้ รายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารอยู่ข้างขจะย่นย่อไม่สู้ชัดเจนนัก ว่าชาวด่านไปสืบราชการ รู้ข่าวว่าพม่ายกมาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ เมืองกาญขนบุรี บอกเข้ามากรุงเทพฯเมื่อเดือนอ้าย ข้างแรม จึงดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพ จัดกระบวนเป็นทัพใหญ่ ๒ ทัพ ทัพที่ ๑ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวรฯกับเจ้าพระยารัตนาพิพิธยกไปก่อน แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงเป็นทัพที่ ๒ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ เศษ ออกจากกรุงเทพฯ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ หนุนไปอีกทัพหนึ่ง โปรดให้กรมพระราชวังหลังโดยเสด็จไปในกองทัพหลวงด้วย

กองทัพไทยยกขึ้นไปทางลำน้ำไทรโยคทั้ง ๒ ทัพ ด้วยประสงค์จะเอากำลังเข้าทุ่มตีพม่าให้แตกไปแต่ยังอยู่ปลายแดน ไม่ปล่อยให้ข้ามเขามาถึงลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรีดังคราวก่อน กองทัพกรมพระวังบวรฯเสด็จทางเรือไปถึงไทรโยค แล้วจึงจัดเป็นกองทัพบก ๔ กอง ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร คุมพลยกไป ๓ กอง รวมจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกกองทัพหลวงจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ตามไป หมายตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ

ฝ่ายกองทัพหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เสด็จขึ้นไปตามทางริมแม่น้ำจนถึงเมืองไทรโยค แล้วจึงยกเป็นกองทัพบกขึ้นไปตามทางริมน้ำจนถึงเมืองท่าขนุน ให้ตั้งค่ายหลวง ณ ที่นั้น แล้วให้นายทัพนายกองคุมพลยกขึ้นไปตั้งประชิดพม่าที่ตำบลท่าดินแดง

เมื่อกองทัพไทยทั้ง ๒ ทัพประจบกันแล้ว ถึงวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ก็ตีค่ายพม่าพร้อมกัน กองทัพวังหน้าเข้าตีค่ายที่สามสบ กองทัพวังหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดง รบกับพม่าอยู่ ๓ วัน ถึงวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ไทยเข้าค่ายพม่าได้ พม่าต่อสู้อยู่จนเวลาค่ำก็ทิ้งค่ายแตกหนีไปหมดทุกค่าย กองทัพไทยไล่ติดตามพม่าไปจนถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่แม่กษัตริย์ พระมหาอุปราชารู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ตกพระทัยรีบถอยหนีไปมิได้ต่อสู้

ในพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนี้พม่าแตกยับเยิน ไทยฆ่าฟันพม่าล้มตายมากนัก ที่จับเป็นได้ก็มาก ได้ทั้งช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารและศัสตราวุธ แม้ที่สุดปืนใหญ่ที่กองทัพพม่าเอามาครั้งนั้น ไทยได้ไว้หมดไม่มีเหลือไป ตัวแม่ทัพใหญ่ก็หนีไปเกือบไม่พ้น

แต่ในจดหมายเหตุทางเมืองพม่าว่าแตกต่างกัยอยู่ตรงตัวแม่ทัพ ในจดหมายเหตุของนายพันตรีไมเคล ไชม์ ว่าพระเจ้าปดุงเองไทยเกือบจับได้ แต่ในพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วว่า ทัพพม่าแม่ทัพใหญ่ชื่อว่าแมงยีนันทะกยอดิน นายทัพหน้าชื่อหวุ่นทอกเนมิโยกยอชวาคนหนึ่ง หวุ่นทอกมณีเชฐคนหนึ่ง และจำนวนพลพม่าที่ยกมาครั้งนี้ว่า ๕๕,๐๐๐ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า แม่ทัพใหญ่ที่มาแตกไทยไปเห็นจะเป็นพระมหาอุปราชาอย่างที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร พระเจ้าปดุงเวลานั้นเห็นจะยังอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ หรือยกตามมากลางทางยังมาไม่ถึงแม่กษัตริย์ จึงเข้าใจกันทางเมืองพม่าว่าพระเจ้าปดุงมาแตกทัพไป

มีจดหมายเหตุของบาทหลวงอิตาลีคนหนึ่งชื่อสันเยอะมะโนอยู่ในเมืองพม่าในเวลานั้นกล่าวว่า กองทัพพระเจ้าปดุงมาแตกหนีไทยไปคราวนี้ ผู้คนในเมืองพม่าพากันตื่นตกใจมาก จนบาทหลวงบางคนเห็นว่า ถ้ากองทัพไทยยกตามออกไปก็เห็นจะตีได้จนถึงอมระบุระ ในหนังสือพงศาวดารพม่าที่เซอร์อาเธอร์ แฟร์ แต่งเป็นภาษาอังกฤษ ก็สรรเสริญว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปลุกใจไทยซึ่งเข็ดขยาดพม่ามาช้านาน ให้กลับกล้าหาญ หายคร้ามพม่าได้ตั้งแต่มีชัยชนะครั้งนี้มา

ผลของการสงครามครั้งรบกันที่ท่าดินแดงคราวนี้ พิเคาระห์ดูตามหนังสือจดหมายเหตุทั้ง ๒ ฝ่าย ดูข้างพม่ารู้สึกว่าเป็นการสำคัญยิ่งกว่าที่รู้สึกกันทางข้างฝ่ายไทย เมื่อลองสันนิษฐานดูว่าจะเป็นเพราะเหตุใด เข้าใจว่าที่รู้สึกผิดกันคงเป็นเพราะเช่นนี้ คือสงครามพม่าครั้งนั้น ๒ คราวติดกันใน ๒ ปี คราวแรกพม่ายกมามากมายใหญ่หลวง กว่าไทยจะเอาชัยชนะได้ต้องรบพุ่งลำบากมาก ครั้งหลังนี้รบครั้งเดียวไทยก็ชนะสงคราม ฝ่ายไทยจึงเห็นว่าไม่สำคัญเหมือนคราวก่อน แต่ข้างฝ่ายพม่าเมื่อยกมาครั้งก่อนถึงว่ามาแพ้ไทยในที่สุด ก็มีผลพอเป็นข้อแก้ตัวว่าตีหัวเมืองเหนือใต้ของไทยได้หลายเมือง ที่ไม่สำเร็จเพราะกองทัพหลวงขาดเสบียงอาหารเป็นต้น แต่ครั้งหลังนี้ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะพม่าคิดอ่านแก้ไขข้อขัดข้องมาแต่ต้นจนหมดทุกอย่าง ความปรากฏโด่งดังว่าจะมาตีเมืองไทยให้จงได้ ครั้นกลับมาพ่ายแพ้ไทยยับเยินต้องแตกหนีกลับไปหมดทุกทัพ คนทั้งหลายก็ต้องคิดเห็นอย่างเดียวแต่ว่าสู้ฝีมือและความคิดไทยไม่ได้ ที่พม่ามาแพ้ไทยครั้งรบกันที่ท่าดินแดงพม่าจึงรู้สึกว่าสำคัญมาก แต่นี้ก็มิได้พยายามที่จะมาตีกรุงเทพฯอีกต่อไป

การสงครามครั้งรบพม่าที่ท่าดินแดง นับเวลาตั้งแต่กองทัพยกไปจากกรุงเทพฯไม่ถึงเดือนก็เสร็จสงคราม ครั้นมีชัยชนะพม่าแล้ว จึงมีรับสั่งให้เผาค่ายพม่าและยุ้งฉางที่พม่ามาสร้างขึ้นไว้แดนไทยเสียให่หมด แล้วก็โปรดให้กองทัพกลับคืนมายังพระนคร เป็นสิ้นเรื่องสงครามครั้งที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ฯเพียงนี้


....................................................................................................................................................

(๑) เรื่องต่อเรือรบไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร เข้าใจได้ที่พม่าเตรียมตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงนานวัน ไม่มีกิจอื่นนอกจากการต่อเรือรบ อันเป็นการจำเป็น


"ไทยรบพม่า" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2550 14:18:25 น.
Counter : 14906 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด