รับทูตฝรั่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร์

The Rajah of Sarawak, Sir James Brooke



อธิบายต้นเรื่องจดหมายเหตุ เรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓

ในสมัยเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้ ที่ในยุโรปเป็นเวลามีมหาสงครามเนื่องมาตั้งแต่เกิดจลาจลในประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งต่างชาติกำลังรบพุ่งชิงอำนาจกัน ก็มิใคร่จะไปมาค้าขายถึงประเทศทางตะวันออกนี้ ครั้นศึกสงบลงอังกฤษอยู่ข้างฝ่ายชนะ ได้เมืองขึ้นของพวกที่แพ้อันมีอยู่ทางประเทศตะวันออกนี้ จึงมีอำนาจกว่าชาติอื่นเป็นเดิมมา ก็ลักษณะการปกครองหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในอินเดียสมัยนั้น ยังอยู่ในอำนาจบริษัทอังกฤษ รัฐบาลเป็นแต่ตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง เรียกว่า เกาวเนอเยเนราล มาอยู่ในมณฑลบังกะหล่า คือ เบงกอล การค้าขายและขยายอำนาจอังกฤษทางประเทศตะวันออกนี้ บริษัทอังกฤษที่อินเดียอำนวยการทั้งสิ้น มาขอเช่าเกาะหมากไปจากพระยาไทรบุรี เดิมทำเป็นแต่ที่จอดพักเรือที่มาค้าขาย และเป็นที่เก็บสินค้า ทีหลังคิดสร้างเป็นบ้านเมืองที่มั่น

ฝ่ายไทยกำลังติดพันรบพุ่งกับพม่า ไม่อยากจะให้เกิดวิวาทขึ้นกับอังกฤษอีกทางหนึ่ง จึงมิได้ว่ากล่าวเรื่องเกาะหมากกับอังกฤษ มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะตีเมืองไทย พม่าพยายามเกลี้ยกล่อมญวนและแขกมลายู จะให้ยกมาตีเมืองไทยทางตะวันออกและตะวันตกในคราวเดียวกับพม่ายกมาทางเหนือ ญวนไม่ยอมเข้าด้วย แต่เจ้าพระยาไทรปะแงรันเอาใจออกห่างจากไทยไปเข้ากับพม่า รับจะยกกองทัพตีขึ้นมาทางข้างใต้ แต่การที่เจ้าพระยาไทรคิดกบฏนั้นทราบถึงกรุงเทพฯ ก่อนเจ้าพระยาไทรได้ออกหน้าทำการประทุษร้าย จึงโปรดฯให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพลงไปตีเมืองไทรได้แล้ว ทรงตั้งบุตรเจ้าพระยานครฯ เป็นพระยาไทรอยู่ปกครองบ้านเมือง

ฝ่ายเจ้าพระยาไทรปะแงรันหนีไปอาศัยอังกฤษอยู่ที่เกาะหมาก ไปว่ากล่าวจะให้อังกฤษช่วยเอาเมืองคืนให้ ครั้นอังกฤษไม่ทำตาม เจ้าพระยาไทรก็เอาเกาะหมากเป็นที่อาศัยยุแหย่ให้พวกแขกในเมืองไทรกำเริบ ไทยไปต่อว่าอังกฤษ อังกฤษก็ว่าไม่รู้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่กักขังห้ามปรามเจ้าพระยาไทรอย่างไร เพราะที่จริงพวกอังกฤษที่เกาะหมากไม่อยากให้ไทยลงไปปกครองเมืองไทร อังกฤษกับไทยจึงเริ่มเกี่ยวข้องกันด้วยเกิดอริในเรื่องเมืองไทรบุรี แทบจะถึงต้องรบกัน

หากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียไม่ได้คิดจะเป็นศัตรู ประสงค์แต่จะขยายการค้าขายมาหาประโยชน์ถึงเมืองไทย เจ้าเมืองบังกะหล่าจึงแต่งให้ Dr.ยอน ครอเฟิด เป็นทูตมายังกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔ หมอครอเฟิดเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาค้าขายและจะขอให้เจ้าพระยาไทรปะแงรันเข้ามาครองเมืองไทรขึ้นกรุงเทพฯ อย่างงเดิม แต่ไม่สำเร็จทั้ง ๒ ข้อ ได้รับอนุญาตให้เรือพ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายในพระราชอาณาจักรได้เหมือนชาวต่างประเทศชาติอื่นๆ หมอครอเฟิดกลับไปได้ไม่ช้าอังกฤษก็เกิดรบกับพม่าครั้งแรก อังกฤษรู้ว่าไทยเป็นข้าศึกกับพม่ามาช้านาน จึงมาชวนไทยเป็นสัมพันธมิตรกับอังกฤษช่วยกันรบพม่า

ขณะนั้นพอสิ้นรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับทางไมตรีอังกฤษ ให้กองทัพไทยยกไปช่วยในการรบพม่า ให้ยกไปถึงเมืองมอระแมน ฝ่ายข้างอังกฤษก็แต่งให้นายร้อยเอกเฮนรี เบอนีเป็นทูตเข้ามายังกรุงเทพฯ เนื่องในการที่เข้ากันทำสงครามในครั้งนั้น ครั้นเมืองเสร็จสงคราม ไทยกับอังกฤษจึงปรองดองกัน ฝ่ายไทยยอมให้ผลประโยชน์ทางเมืองพม่าแก่อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษยอดเอาตัวเจ้าพระยาปะแงรันไปกักไว้ห่างไกล และรับช่วยอุดหนุนไทยให้ปกครองหัวเมืองมลายูที่ได้ไว้ใหม่โดยสะดวก นอกจากนี้ได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกันเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นเนื้อความว่า ไทยยอมให้เรือค้าขายของอังกฤษเข้ามาค้าขายในพระราชอาณาจักรโดยสะดวก ข้างอังกฤษยอมให้ไทยเก็บค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ถ้าเป็นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในเมืองไทยให้เก็บจังกอบวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเป็นเรือเปล่าเข้ามาซื้อสินค้าฝ่ายเดียวให้เก็บจังกอบวาละ ๑,๕๐๐ บาท เมื่อเสียจังกอบแล้ว ไทยรับว่าจะไม่เรียกภาษีอากรอย่างอื่นอีก ได้ทำสัญญากันดังนี้

ต่อมาถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ อเมริกันมาขอทำหนังสือสัญญาค้าขาย ก็ได้ทำกันเช่นเดียวกับอังกฤษอีกชาติหนึ่ง เมื่อได้ทำหนังสือสัญญากันแล้ว ต่อมาทั้งอังกฤษและอเมริกันเกิดไม่พอใจ เหตุด้วยในสมัยนั้นประเพณีในเมืองไทยทั้งในหลวงและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย ยังประกอบการขายค้าตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เรือของตนเองไปซื้อขายถึงนานาประเทศบ้าง เช่าระวางเรือของผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง ส่วนการค้าขายของหลวงยังมีพระคลังสินค้า สำหรับซื้อสินค้าบางอย่างซึ่งห้ามมิให้ผู้อื่นซื้อขาย พวกอังกฤษและอเมริกันเมื่อมีหนังสือสัญญาแล้ว กล่าวหาว่ารัฐบาลแย่งค้าขาย และตั้งพระคลังสินค้าเก็บภาษีโดยทางอ้อม ไม่ทำตามสัญญา ฝ่ายข้างไทยว่าไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะพวกพ่อค้าแขกและจีนต้องเสียภาษีอากรอยู่อย่างเดิม พวกฝรั่งจะขอเปลี่ยนเสียค่าปากเรือแทนภาษีก็ได้ยอมตามใจสมัคร การที่ทำสัญญานั้นไม่ได้หมายความว่าจะเลิกการค้าขายของหลวง หรือไม่อนุญาตให้เจ้านายข้าราชการค้าขาย เป็นข้อทุ่มเถียงกันดังนี้

ครั้นถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ รัฐบาลอเมริกันแต่งให้มิเตอร์โยเสฟบัลเลสเตีย เป็นทูตเข้ามาขอแก้สัญญาที่ได้ทำไว้ แต่โยเสฟบัลเลสเตียไม่สันทัดวิธีการทูต มาประพฤติและพูดจาก้าวร้าว เกิดเป็นปากเสียงเกี่ยงแย่งกัน บัลเลสเตียเกิดโทสะก็กลับไปในเดือน ๖ ปีจอ หาสำเร็จประโยชน์ที่เข้ามาไม่

ถึงเดือน ๙ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ นั้น รัฐบาลอังกฤษก็แต่งให้เซอรเชมสบรุกเป็นทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเช่นเดียวกับอเมริกันนั้น แต่มาประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงประชวร เมื่อคราวจะเสด็จสวรรคต จึงพระราชทานกระแสพระราชดำริออกมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกัน ว่ากล่าวเจรจากับเซอเชมสบรุก ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุเครื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ ที่สุดไม่ตกลงกันที่จะแก้หนังสือสัญญา เซอเชมสบรุกต้องกลับไปเปล่าเหมือนอย่างทูตอเมริกัน แต่เหตุการณ์ในชั้นนี้ผิดกับเมื่อครั้งหมอครอเฟิดและเฮอรีเบอนีเป็นทูตเข้ามาคราวก่อน ด้วยเดิมมาจีนก็ไม่ยอมทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับต่างประเทศจนเกิดรบกับอังกฤษขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ต่อแพ้อังกฤษจึงยอมทำหนังสือสัญญา เป็นเหตุให้ฝรั่งได้ใจ เห็นว่าต้องใช้อำนาจจึงจะให้พวกชาวตะวันออกยินยอมเป็นไมตรีตามประสงค์ได้

เซอเชมสบรุกกลับไปคราวนั้น ความปรากฏว่าไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษขอให้ส่งกำลังเรือรบเข้ามาบังคับไทยให้ทำสัญญาทางไมตรี เดิมรัฐบาลอังกฤษจะทำเช่นนั้น แต่เผอิญประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้ทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นมาแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ว่าเหตุการณ์ทางประเทศตะวันออกนี้เปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น ซึ่งจะไม่รับเป็นไมตรีนั้นไม่ได้

ฝ่ายข้างอังกฤษมอบอำนาจให้เซอยอนเบาริง เจ้าเมืองฮ่องกงมาจัดการทำหนังสือสัญญากับไทยให้สำเร็จ เซอยอนเบาริงทราบพระอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทราบว่าได้ทรงศึกษาสันทัดภาษาอังกฤษ จึงมีตดหมายเข้ามาทำทางไมตรีให้มีต่อส่วนพระองค์ แล้วตัวเซอยอนเบาริงเองเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีโดยฉันประเทศที่เสมอกัน ก็ได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ ต่อนั้นประธานาธิบดีสหปาลีรัฐอเมริกา และสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนโปเลียนที่ ๓ ฝรั่งเศส แต่งอัครราชทูตให้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ก็ได้ทำหนังสือสัญญากับไทยเป็นลำดับมา


Sir. John Bowring


การสมาคม และการเจรจาการบ้านเมืองกับฝรั่งแต่ก่อน ไทยเราลำบากด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ที่มีความนิยมแบบอย่างข้างจีนมาแต่โบราณประการ ๑ ที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งประการ ๑

ลักษณะการพูดจากันในระหว่างไทยกับทูต เมื่อคราวครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ ๒ ก็ดี และคราวเฮนรีเบอนีเข้ามาเมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ก็ดี ยังไม่มีผู้ใดในประเทศนี้ที่จะรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยสำหรับใช้เป็นล่ามทูตอังกฤษ มีแต่ล่ามที่รู้ภาษาอังกฤษกับภาษามลายู ต้องพูดภาษาอังกฤษให้ล่ามส่งภาษามลายูมาให้ล่ามมลายูของไทยแปลเสนอเป็นภาษาไทย ฝ่ายไทยจะพูดไปก็ต้องใช้ล่ามสองต่อเช่นนั้น ครั้นมาถึงทูตอเมริกันเข้ามาครั้งเอตมันรอเบิตมีพวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จนรู้ภาษาไทยแล้ว ได้อาศัยพวกมิชชันนารีเป็นล่าม เมื่อมาคราวบัลเลสเตียเข้ามา มีมิชชันนารีเข้ามาอยู่หลายคน และได้มาฝึกหัดคนไทยเช่นขุนปรีชาชาญสมุทร ให้รู้ภาษาอังกฤษมีขึ้นบ้างในชั้นนั้น ครั้นเซอเชมสบรุกเข้ามาถึง มีไทยคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวช สามารถจะตรวจหนังสือภาษาอังกฤษที่มีโต้ตอบกันได้ การที่จะส่งภาษาจึงสะดวกไม่ลำบากดังแต่ก่อน

ว่าโดยย่อในการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อเหตุการณ์ทางประเทศตะวันออกเปลี่ยนแปลงในสมัยที่กล่าวมา เมืองไทยได้อาศัยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ จึงมิได้เกิดเหตุร้ายอย่างเช่นเกิดทั้งในประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศพม่า และประเทศญวน ซึ่งถูกฝรั่งข่มขี่จนต้องยอมทำสัญญา ซึ่งเป็นผลร้ายแก่บ้านเมือง กลับกลายอเป็นดีได้แต่ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียว


.........................................................................................................................................................


(คัดจากคำนำ หนังสือจดหมายเหตุ เรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓)






Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 16:42:17 น.
Counter : 2767 Pageviews.

0 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด