อธิบายตำนานรำโคม

การแสดงรำโคม
ไฟล์ภาพจากพิพิธภัณฑ์บ้านแฮริส



อธิบายตำนานรำโคม

รำโคมเป็นการฟ้อนรำอย่างหนึ่งทำนองเดียวกับระบำ สำหรับเล่นที่หน้าพลับพลา เวลาเสด็จออกทอดพระเนตรงานมหรสพตอนค่ำคู่กับเต้นสิงโต ซึ่งสำหรับเล่นถวายทอดพระเนตรเวลาเสด็จออกพลับพลาตอนบ่าย การเล่นทั้ง ๒ อย่างนี้เดิมพวกญวนที่เข้ามาสวามิภักดิ์พึ่งพระบารมีคิดฝึกหัดกันขึ้นเล่นถวายทอดพระเนตร สนองพระเดชพระคุณในงานมหรสพของหลวงก่อน แล้วจึงได้เลยเป็นเครื่องมหรสพสำหรับไทยเล่นงานหลวงต่อมา

ต้นเดิมของการเล่นเต้นสิงโตและรำโคม ๒ อย่างนี้สืบได้ความว่า การเล่นสิงโตญวนเอาตำรามาแต่จีน ในเมืองจีนนั้นพวกชายฉกรรจ์ที่ใจคอกล้าหาญมักชวนกันฝึกวิชาสำหรับรบสู้ป้องกันตัว คือหัดวิธีบำรุงกำลัง (ยิมแนสติก) และมวยปล้ำเป็นต้น ถึงเวลานักขัตฤกษ์เช่นตรุษจีน มักคุมกันไปเที่ยวเล่นประลองกำลัง คือที่เราเรียกว่า “พะบู๊” ให้คนดู ทำเป็นรูปสิงโตใส่ตัวเต้นนำกระบวนไปเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นการเต้นสิงโตจึงเป็นเครื่องหมายของพวกที่ได้ฝึกหัดมีกำลังวังชากล้าหาญ พวกจีนที่เล่นสิงโตวงใหญ่เมืองเราเวลาตรุษจีน ก็สมมติว่าเป็นคนชนิดนั้น ถึงพวกที่อังกฤษเรียกว่า “บ๊อกเซอร์” (แปลว่านักมวย) ซึ่งได้เคยก่อการกำเริบใหญ่โตในเมืองจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ก็กล่าวกันว่าเป็นพวกที่เล่นเต้นสิงโตนั้นเอง การเล่นเต้นสิงโตคงเป็นประเพณีมาในเมืองจีนแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินญวนเอาอย่างไปฝึกหัดพวกทหารญวนให้เล่นประลองกำลังอย่างจีน การเล่นเต้นสิงโตจึงติดไปเป็นประเพณีในราชสำนักของญวนด้วย ส่วนการเล่นรำโคมหรือที่เราเรียกกันแต่ก่อนว่า “ญวนรำกระถาง” นั้น พวกญวนเขาว่าเป็นของคิดขึ้นในเมืองญวนเอง สำหรับเล่นถวายพระเจ้าแผ่นดินในงานมงคล เช่นงานเฉลิมพระชันษาเป็นต้น ที่เมืองจีนหามีไม่ เรื่องต้นเดิมของการเล่นสิงโตกับเล่นรำโคมสืบได้ความดังกล่าวมานี้

เหตุที่พวกญวนจะนำตำราเล่นสิงโตและเล่นรำโคมเข้ามาฝึกหัดไว้ในเมืองไทยนั้น ได้ความว่าเมื่อครั้งเมืองตังเกี๋ยกับเมืองเว้ต่างมีเจ้าครองเป็นอิสระแก่กัน ที่เมืองเว้เกิดขบถ พวกขบถชิงได้เมืองแล้วฆ่าฟันเจ้านายเสียเป็นอันมาก พวกเชื้อพระวงศ์เมืองเว้ที่รอดอยู่ได้ พากันหนีพวกขบถลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์ องเชียงชุนบุตรที่ ๔ ของเจ้าเมืองเว้มาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียนซึ่งต่อแดนเขมร เขมรเรียกว่าเมืองบันทายมาศ พวกขบถยกกองทัพมาติดตาม เจ้าเมืองฮาเตียนเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็อพยพครอบครัวพาองเชียงซุนเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้รับไว้ แล้วพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงซุนตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระนครฝั่งตะวันออก คือแถวถนนพาหุรัดทุกวันนี้ จึงเรียกกันว่าบ้านญวนมาจนสร้างถนนพาหุรัด อยู่มาองเชียงซุนพยายามจะหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสีย(๑) พวกองเชียงซุนเป็นญวนพวกแรกที่อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ เมื่อภายหลังเสียงกรุงเก่าแก่พม่าข้าศึก

ต่อมาถึงชันกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๑ มีนัดดาเจ้าเมืองเว้อีกองค์ ๑ ชื่อองเชียงสือ เดิมหนีพวกขบถมาอาศัยอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนนับถือยกย่องให้ครองเมือง แต่รักษาเมืองต่อสู้ศัตรูไม่ไหว จึงหนีมาอาสัญอยู่ที่เกาะกระบือในแดนเขมร พระชาชลบุรีคุมเรือรบไทยไปลาดตระเวนทางทะเล ไปพบองเชียงสือ องเชียงสือจึงพาครอบครัวโดยสารเรือพระยาชลบุรีเข้ามาขอพึ่งพระบารมีอยู่ ณ กรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณารับทำนุบำรุง และพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงสือตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกที่ตำบลคอกกระบือ คือตรงที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกศทุกวันนี้ พวกญวนที่นับถือองเชียงสือมีมาก ครั้นรู้ว่าองชียงสือได้มาพึ่งพระบารมีเป็นหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็พากันอพยพครอบครัวติดตามเข้ามาอีกเนืองๆ จำนวนญวนที่เข้ามาในคราวองเชียงสือเห็นจะมากด้วยกัน จึงปรากฏว่าองเชียงสือได้ควบคุมพวกญวนไปตามเสด็จในการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง

องเชียงสืออยู่ในกรุงเทพฯ ๔ ปี ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ องเชียงสือเขียนหนังสือทูลลาวางไว้ที่ที่บูชา แล้วลอบลงเรือหนีไปกับคนสนิท เนื้อความในหนังสือนั้นว่า ตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำนุบำรุงเป็นอเนกประการ ถึงให้กองทัพไทยไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนพระราชทานก็ครั้ง ๑ แต่การยังไม่สำเร็จ เพราะกรุงเทพฯ ติดทำสงครามอยู่กับพม่า จะรอต่อไปก็เกรงว่าพรรคพวกทางเมืองญวนจะรวนเรไปเสีย ครั้นจะกราบถวายบังคมลาโดยเปิดเผยก็เกรงจะมีเหตุขัดข้องจึงหนีไป เพื่อจะไปคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน ถ้าขัดข้องประการใดขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงอุดหนุนด้วย เมื่อได้เมืองแล้วจะมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป องเชียงสือหนีไปพักอยู่ที่เกาะกูด เมื่อข่าวที่องเชียงสือหนีทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงถือโทษ แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืององเชียงสือ ในครั้งนั้นจึงโปรดฯ ให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายขึ้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่เสียที่บางโพธิ์ ยังมีเชื้อสายสืบมาจนทุกวันนี้

มีคำเล่ากันสืบมาว่า เมื่อองเชียงสือเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ได้คิดฝึกหัดให้พวกญวนเล่นเต้นสิงโตอย่าง ๑ ญวนหก(พะบู๊)อย่าง ๑ สำหรับเล่นกลางวัน และญวนรำกระถางอย่าง ๑ สิงโตไฟคาบแก้อย่าง ๑ สำหรับเล่นกลางคืน แล้วนำมาเล่นถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทอดพระเนตร เป็นการสนองพระเดชพระคุณ โปรดฯ ให้เล่นที่หน้าพลับพลาและโปรดฯ ให้ทำมังกรไฟคาบแก้วขึ้นเป็นคู่กัน จึงเลยเล่นเป็นประเพรีมีสืบมาจนรัชกาลหลังๆ

ความที่กล่าวมานี้มีเค้าเงื่อนเห็นสมจริง ด้วยองเชียงสือเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ จนปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ ในระหว่างนั้นปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสมโภชพระนคร มีมหรสพเป็นการใหญ่ องเชียงสือเห็นจะฝึกหัดจัดการเล่นอย่างญวน ให้พวกของตนเล่นสนองพระเดชพระคุณในงานมหรสพคราวนั้น แต่องเชียงสือจะได้หัดการเล่นในครั้งนั้นทั้ง ๔ อย่างที่กล่าวมา หรือแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ข้อนี้ได้สอบดูในโคลงซึ่งกรมหมื่นศรีสุเรนทรทรงแต่ง ว่าด้วยงานพระเมรุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งทำในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ เครื่องมหรสพซึ่งพรรณนาไว้ในหนังสือนั้น มีปรากฏแต่การเล่นเต้นสิงโต กล่าวไว้ในโคลงว่า

แต่การเล่นรำโคมและสิงโตคาบแก้วในเวลาค่ำมิได้กล่าวถึงในหนังสือนั้นเลย จึงได้เที่ยวสืบถามตัวพวกญวนสูงอายุ ได้ความว่ารำโคมนั้นเป็นของมีขึ้นทีหลัง ญวนพวกที่เข้ามาชั้นหลังต่อมาอีกเป็นผู้นำแบบแผนเข้ามา องเชียงสือได้มาฝึกหัดให้พวกญวนเล่นครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่เต้นสิงโตกับพะบู๊เท่านั้น

พวกญวนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยภายหลังองเชียงสือ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีก ๓ คราว คือคราวแรกนั้น เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงหเสนี) ไปตีเมืองญวน ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ ครัวญวนที่เข้ามาคราวนี้เป็น ๒ พวก คือเป็นพวกถือพระพุทธศาสนาพวก ๑ เป็นพวกถือศาสนาคริสตังพวก ๑ พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนานั้นโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ ซึ่งทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก แต่พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังนั้น โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามเสน ให้ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่

ญวน ๒ พวกที่กล่าวมานี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พวกคริสตังย้ายสังกัดไปเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวร (คือญวนพวกพระยาบรรฦๅสิงหนาท) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าพวกญวนที่อยู่เมืองกาญจนบุรีโดยมากอยากจะมาอยู่กรุงเทพฯ เหมือนกับญวนพวกอื่น จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้โปรดฯ ให้ขุดใหม่นั้น แล้วให้จัดเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา ที่เมืองกาญจนบุรียังมีวัดญวนและมีชื่อตำบลเช่นเรียกว่า “ชุกยายญวน” ปรากฏอยู่ เชื้อสายพวกญวนที่ไม่สมัครเข้ามากรุงเทพฯก็ยังคงอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีจนทุกวันนี้

ต่อมาจะเป็นปีไหนไม่ทราบแน่ แต่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๖ จน พ.ศ. ๒๓๘๑ มีญวนเข้ารีตคริสตังอีกพวก ๑ ถูกพระเจ้ามิงมางบังคับมิให้ถือศาสนาคริสตัง จึงพากันอพยพหนีมาอาศัยเมืองไทยเป็นคราวที่ ๒ มาอยู่ที่เมืองจันทบุรี จึงมีพวกญวนอยู่ที่นั่นมาจนบัดนี้

ครัวญวนที่อพยพเข้ามาคราวหลังในรัชกาลที่ ๓ นั้น มาเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๘๓ มีเรื่องปรากฏว่าเวลานั้นกองทัพไทยกับเขมรกำลังรบพุ่งขับไล่กองทัพญวน ที่เข้ามาตั้งอยู่ในแดนเขมร กองทัพญวนถูกล้อมอยู่หลายแห่ง เผอิญเกิดความไข้ขึ้นในค่ายญวน พวกญวนหนีความไข้ออกมาหาเขมรประมาณ ๑๐๐๐ เศษ เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ อีกพวก ๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ญวนพวกนี้ไปอยู่บางโพธิ์กับเชื้อสายญวนพวกองเชียงสือ เพราะถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน และให้สังกัดเป็นกรมอาสา ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เข้าใจว่าญวนพวกหลังนี้เป็นผู้นำตำรารำโคมเข้ามา ด้วยมีคำของญวนที่สูงอายุเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถามถึงการเล่นของพวกญวน (ทำนองจะดำรัสถามถึงเค้ามูลเรื่องเต้นสิงโต) พวกญวนกราบทูลว่า ประเพณีในเมืองญวนนั้น ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกเวลากลางวัน พวกทหารเล่นเต้นสิงโตถวายทอดพระเนตร ถ้าเสด็จออกกลางคืนมีพวกระบำแต่งเป็นเทพยดามารำโคมถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้หัดพวกญวนรำโคมขึ้นพวก ๑ แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ หาได้เล่นถวายตัวเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไม่ ตามคำเล่าว่าได้เล่นถวายตัวเป็นครั้งแรกเมื่องานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้พวกกรมญวนหก ซึ่งเป็นพนักงานเล่นเต้นสิงโตมาแต่ก่อนนั้น หักเล่นรำโคมในเวลาค่ำด้วยสืบมา สืบได้ความในเรื่องตำนานรำโคมตอนที่เล่นอย่างญวนดังกล่าวมานี้ แต่สิงโตคาบแก้วที่เล่นหน้าพลับพลาเวลากลางคืน จะมีขึ้นครั้งใดสืบไม่ได้ความ ปรากฏแต่ว่ามังกรคาบแก้วนั้นมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว


เชิงอรรถ

(๑) กล่าวกันอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาส เกิดอุปทานว่ามีแก้วอยู่ในท้ององเชียงซุน จึงให้ประหารชีวิตเพื่อจะค้นหาแก้ว

.........................................................................................................................................................


คัดจาก ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




Create Date : 13 กรกฎาคม 2550
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 11:15:14 น.
Counter : 11207 Pageviews.

4 comments
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
ประโยชณ์ของ living trust มีมากกว่า will มากมายค่ะ newyorknurse
(19 มี.ค. 2567 04:58:36 น.)
การทำแท้งถูกกฎหมายที่สวีเดน - Att göra abort i Sverige สวยสุดซอย
(7 มี.ค. 2567 22:15:31 น.)
มินิรีวิวที่รองแก้วน้องเพี้ยน ฌบี้
(6 มี.ค. 2567 11:17:28 น.)
  
เข้ามาชื่นชมในผลงานครับ.......

มีสาระดีครับ.........จะพยายามอ่านให้จบคับ

โดย: jantzen วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:10:11:55 น.
  
จุหายไปทำวิทยานิพนธ์มาค่ะ รำโคมนี่จุนึกว่าเหมือนกับพวกประทีปโคมไฟเสียเอง ประมาณสาวๆ อ้อนแอ้นรำเทียนอ่ะคะ แต่ว่าใช้เทียนน้ำเทียนหยด เลยใช้โคมแทน


สมัยนี้ญวณก็เล่นสิงโตเก่งนะคะ สมัยที่นครสวรรค์จัดแข่งสิงโต คณะสิงโตของญวณ นอกจากหนุ่มๆ น่าตาดีมาเล่น ฝีมือก็ไม่ด้อยเลยค่ะ
โดย: กระจ้อน วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:10:21:49 น.
  
สวัสดีครับ คุณ jantzen
Blog รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ อาศัยแต่ลูกอึดอย่างเดียว
กุศลใดที่เกิดขึ้นบ้าง ถวายเป็นส่วนพระกุศลองค์เจ้าของผู้ทรงพระนิพนธ์ครับ

สวัสดีครับ คุณ จุ
หายไปเสียนานเลยนะครับ ขอให้วิทยานิพนธ์สำเร็จดังประสงค์
ส่วนผู้ตามเสด็จพระประพาสทุกครั้งที่เคยติดค้างไว้นานแล้ว
คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ผมแปะรูปไว้ที่เรื่อง เสด็จประพาสต้น แล้วครับ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=21-03-2007&group=2&gblog=36

โดย: กัมม์ วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:12:05:08 น.
  

อ่านเรื่อง " อธิบายเรื่องพระบาท" ยังไม่จบ

ต้องมาค้างเรื่อง " ตำนานรำโคม " อีกหัวข้อ

วันหยุดนี้จะอ่านจบมั้ยนี่ !?!?!

แวะไปฝากรูป "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ " ไว้ที่เรื่องพระบาท

ไม่ทราบว่ามีหรือยังคะ..ถ้ามีแล้วขออภัยด้วยค่ะ.
โดย: Tante-Marz วันที่: 15 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:06:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด