แนวคิดของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560
เมื่อกล่าวถึงแนวคิดของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 แล้ว ก็ต้องนึกถึงแนววิธีการคิดที่ปรับปรุงตามวันเวลาและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยต้องการให้เด็กได้พัฒนาบนหลักพื้นฐานความเป็นสากลและยังสามารถคงความเป็นไทยได้อยู่ นอกจากนี้แล้วแนวคิดของหลักสูตรยังต้องยึดปรัชญาการศึกษาปฐมวัย วิสัยทัศน์ และการพัฒนาเด็กโดยองค์รวม เพื่อให้เด็กได้สามารถใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การเรียนรู้ที่สูงขึ้นในอนาคต สำหรับแนวคิดหลักของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 นั้น มีด้วยกันทั้งหมด 11 ข้อแนวคิด ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวคิดในเชิงที่ต้องการพัฒนาตัวเด็กให้ไปได้ไกล และ พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในช่วงประถมศึกษา รายละเอียดของแนวคิดทั้งหมดจะเป็นเช่นไร สามารถอ่านได้ผ่านบทความนี้ที่ ‘รัฐกุล’ สรุปและนำมานำเสนอให้ทุกท่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น 1.แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก เด็กจำเป็นการได้รับการอบรมสั่งสอน เพื่อให้มีพัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้า โดยพัฒนาการสำหรับเด็กในวัยปฐมวัยที่ควรจะต้องได้รับการสั่งสอนนั้นมีทั้งหมด 4 พัฒนาการเด่น ๆ ที่ต้องได้รับการเน้นสอน ได้แก่ 1) พัฒนาการทางด้านร่างกาย ที่จะเน้นในการดูแลสุขภาพ และให้ร่างกายมีการพัฒนาขึ้นทั้งด้านน้ำหนักและส่วนสูงให้เหมาะสมกับวัย 2) พัฒนาการทางด้านจิตใจ และ อารมณ์ เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจที่ร่าเริงแจ่มใส ได้รับความอบอุ่นที่ควรจะมี สร้างวุฒิภาวะในจิตใจให้เขาตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เขาสามารถรู้สึกยับยั้งชั่งใจได้ในอนาคต 3) พัฒนาการทางด้านสังคม เพราะมนุษย์ทุกคนต้องมีสังคม ดังนั้นเพื่อการที่เด็กจะสามารถใช้ชีวิตได้ในสังคมปัจจุบันได้ ต้องรู้จักการเข้าสังคมที่ถูกวิธี และการปฏิบัติตนที่ไม่เป็นภาระแก่ส่วนรวม 4) พัฒนาการทางด้านสติปัญญา เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งรอบตัว และความรู้พื้นฐานที่เด็กสมควรได้รับ เช่น ภาษา การรู้จักลักษณะของคนและสิ่งของรอบตัว เป็นต้น 2.แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมและการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการ การพัฒนาเด็กโดยองค์รวมนั้นเป็นการต้องทำให้เด็กได้พัฒนาในทุกด้านอย่างสมดุล เท่ากัน ไม่ใช่การเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยพัฒนาการที่เด็กต้องได้เรียนรู้นั้น ก็คือ พัฒนาการทั้ง 4 ที่กล่าวถึง พัฒนาการทางด้านร่างกาย,พัฒนาการทางด้านจิตใจ และ อารมณ์,พัฒนาการทางด้านสังคม และ พัฒนาการทางด้านสติปัญญา โดยการที่จะอบรมและพัฒนาเด็กนั้นจะต้องดูถึงความเหมาะสมเป็นรายบุคคล เพราะเด็กทุกคนนั้นไม่ได้มีสภาพแวดล้อมและความสามารถที่เหมือนกันหมดทุกคนนั่นเอง ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องเข้าใจในตัวเด็ก และพยายามหาทางพัฒนารายบุคคลได้อย่างเหมาะสม 3.แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง ว่ากันว่าการที่จะพัฒนาเด็ก ช่วงเวลาที่ควรเริ่มสอนและให้ข้อมูลกับตัวเด็กนั้นเป็นช่วงปฐมวัย เพราะสมองของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับอารมณ์ ดังนั้นในช่วงเวลาปฐมวัยหรือ 3-6 ปี จะเป็นช่วงที่สมองได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เกิดเส้นและรอยหยักต่าง ๆ ได้ดี ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรจัดการสอนที่สอดคล้องกับสมองของเด็ก หรือ Brain Based Learing ที่เป็นกระบวนการสอนที่จะช่วยกระตุ้นให้สมองได้มีการพัฒนา โดยส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาตรงจุดนี้ นอกจากจะเป็นข้อมูล การเรียนรู้แล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างมากก็คือ “ประสบการณ์” เพราะเด็กจะเรียนรู้จดจำผ่านการลงมือทำได้ดีที่สุด โดยในช่วงวัย 3 ปี จะเป็นช่วงที่เซลล์สมองพร้อมที่จะทำการขยายเส้นใย และเจริญเติบโต ในวัย 5 ปี จะเป็นช่วงเซลล์สมองและจุดเชื่อมต่อ มีการสัมพันธ์กันยิ่งขึ้น โดยเมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นการใช้งานและพัฒนาของสมองแล้ว เขาก็จะใช้กระบวนการคิดผ่านสมองส่วนหน้าเพื่อแยกแยะ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำได้ 4.แนวคิดเกี่ยวกับการเล่นและการเรียนรู้ของเด็ก การเล่นเป็นการที่ได้ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยการเล่นนั้นจะทำให้เด็กได้รู้สึกถึงความเป็นอิสระ ได้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของตัวเด็กเอง ซึ่งผลที่ตามมานั้นจะทำให้เด็กได้รู้จักสิ่งรอบตัว ได้เกิดความผ่อนคลายที่เหมาะกับวัยของเขา โดยเด็กปฐมวัยกับการเล่นนั้นมักเป็นสิ่งที่คู่กัน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรต้องปล่อยให้เขาเล่น โดยไม่ลืมที่จะดูแล และไม่ปล่อยปะละเลยตัวเด็ก และนอกจากครูผู้สอนแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กอย่าง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ควรที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนเขาในการเล่น โดยใช้การเล่นเป็นการอบรมเขาให้ได้รู้จักสิ่งต่าง ๆ เยอะขึ้นแทนนั่นเอง 5.แนวคิดเกี่ยวกับการคำนึงถึงสิทธิเด็ก การสร้างคุณค่า และสุขภาวะให้แก่เด็กปฐมวัยทุกคน เด็กในช่วงปฐมวัยทุกคนควรได้รับการดูแลและพัฒนาทื่เหมาะสมสำหรับตัวเด็ก โดยเด็กนั้นควรมีสิทธิที่จะได้อยู่รอด ได้รับสิทธิในการคุ้มครอง สิทธิการพัฒนา และสิทธิที่กฏหมายได้ระบุไว้ เพราะเด็กทุกคนนั้นมีคุณค่าเป็นของตนเองนั่นเอง โดยทั้งนี้ครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมสุขภาวะให้แก่พวกเขา เช่น การได้รับประทานอาหารที่ถูกหลัก การใช้ชีวิตและทำความสะอาดจนแบบถูกหลักอนามัย การป้องกันคุ้มครองและรักษาในยามเจ็บป่วย เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้จักการรักษาตนเองได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสม 6.แนวคิดเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูควบคู่การให้การศึกษา การให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดู และได้รับความเอาใจใส่ด้วยความรัก จะเป็นหนทางที่ทำให้ตัวเด็กเกิดการพัฒนาได้เป็นอย่างดี โดยแนวคิดนี้จะเน้นการใช้การอบรมเลี้ยงดู ควบคู่กับการให้การศึกษา ซึ่งจุดนี้ผู้เกี่ยวข้องจะเป็นทั้งครูผู้สอน และผู้ปกครอง หรือ คนในครอบครัวของเด็ก โดยจะเริ่มจากการปฏิบัติที่ดีแก่เขา และสอนให้เขาได้รู้จักสิ่งนั้น ๆ หรือระหว่างที่เด็กกำลังได้ใช้ประสบการณ์ ก็อบรมให้เขาได้รู้ในสิ่งที่เขาต้องพัฒนา โดยใช้ปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนกับตัวเด็กเป็นจุดเชื่อม ยกตัวอย่างเช่น สอนให้เด็กมีจิตในที่ดี และปฏิบัติตนต่อคนอื่นในทางที่ดี ผ่านการได้ใช้ชีวิตประจำวัน การเจอสังคมและเพื่อนใหม่ หรือการสอนทางด้านจิตใจ และอารมณ์ โดยมุ่งเน้นการสอนให้เด็กรู้จักการมีวินัย มีความประพฤติดี รู้จักการควบคุมตัวเอง ผ่านกิจวัตรประจำวันของเด็ก 7.แนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการ เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่เรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย โดยในจุดนี้คุณครูผู้สอนทุกหมวดหมู่ต้องมีส่วนร่วมกัน โดยที่ไม่แบ่งเป็นรายวิชาใด วิชาหนึ่ง แต่ใช้วิธีเป็นการเรียนรู้ควบคู่แบบผสม เพื่อให้เด็กได้เพลิดเพลินผ่านการทำกิจกรรมและการเล่น ที่มุ่งหวังให้เด็กพัฒนา โดยครูผู้สอนต้องออกแบบกิจกรรมที่เด็กทำให้หลากหลาย โดยไม่ลืมที่จะเสริมความรู้ลงไปในกิจกรรมนั้น และต้องเป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงธรรมชาติของเด็กอีกด้วย ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ร่วมเล่น ได้แก่ การสร้างชิ้นงานทางศิลปะ ที่สอนให้เขาได้วาดรูปหรือระบายสี โดยแฝงความรู้ด้านสิ่งของรอบตัว หรือจะเป็นการทดลองทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เด็กสามารถทำได้ เพื่อเพิ่มให้เขาได้รู้จักทักษะการเรียนรู้อย่างหลากหลาย 8.แนวคิดเกี่ยวกับสื่อ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคที่สื่อเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ และสามารถช่วยทำให้สิ่งต่าง ๆ เช่น สื่อการเรียนการสอน สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ครูผู้สอนจึงสามารถใช้สื่อในการสอนเด็กได้ โดยทั้งนี้ต้องดูความต้องการของเด็กแต่ละคน รวมไปถึงการใช้งานสื่ออย่างเหมาะสมแต่พอดี ไม่ให้กระทบการพัฒนาการของเด็ก เช่น ทางด้านร่างกาย ก็คือไม่ทำให้เด็กสายตาเสีย หรือ ไม่ได้บริหารกล้ามเนื้ออย่างที่ควรจะเป็น หรือ ทางด้าน สังคม คือต้องคำนึงถึงการให้เขาได้พูดคุยและเข้าสังคมกับผู้อื่นเช่นกัน 9.แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง การประเมินเด็กตามสภาพความเป็นจริง จะเน้นใช้การสังเกตพัฒนาการของเด็กเป็นซะส่วนใหญ่ โดยกระบวนการประเมินนั้นจะต้องสอดคล้องกับการจัดประสบการณ์ และการเรียนรู้ รวมไปถึงการมุ่งเน้นให้เด็กได้เกิดพัฒนาการตามช่วงวัยที่ควรจะเป็น และในกรณีที่หากเด็กไม่ได้มีการพัฒนาการดังกล่าว หรือช้ากว่าที่ควรจะเป็น ครูผู้สอนต้องหาทางแก้ไขให้เขาเป็นรายบุคคล โดยส่งเสริมในจุดด้อยของเขาให้ดีขึ้น และสนับสนุนจุดเด่นของเขา จากนั้นถึงทำการประเมินและสื่อสารให้ครอบครัวของเด็กได้รับรู้ เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนาเด็กอย่างตรงจุด
10.แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของครอบครัว สถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและชุมชน การจะพัฒนาเด็กสักคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เพียงแค่ครูผู้สอน แต่ยังมีครอบครัว และชุมชนเป็นส่วนร่วมในนั้นอีกด้วย โดยบุคคลที่สำคัญคือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กอย่างครอบครัวนั้น ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาของตัวเด็ก และในส่วนของชุมชนที่ช่วยกันสอดส่องและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในชุมชนและสังคมของเด็กวัยเดียวกัน โดยทั้งหมดนี้ต้องให้ความร่วมมือกับสถานศึกษา สร้างกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาเด็ก รวมไปถึงมีการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ของเด็กในชุมชนด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความเสียสละเพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนร่วม การเคารพซึ่งกันและกันและการรับผิดชอบ ในการช่วยกันพัฒนาเด็กให้โตมาอย่างมีคุณภาพ พร้อมที่จะเข้าสู่การเรียนรู้ใน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 11.แนวคิดเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นไทย และความหลากหลาย ในปัจจุบันสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ได้มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง ทำให้เด็กได้รับอิทธิพลต่าง ๆ ที่เข้ามาอย่างหลากหลาย ดังนั้นผู้สอนจึงต้องสอนให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับความหลากหลายนี้ได้ โดยที่ต้องไม่ลืมความเป็นไทย ให้เกียรติซึ่งกันทุกความแตกต่าง ทั้งด้านสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม เพศ และเชื้อชาติ เพื่อให้เขาได้เป็นคนที่ตามทันโลกในอนาคต โดยทั้งนี้อาจจะควบคู่กับการสอนเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบมีภูมิคุ้มกัน และได้รู้ถึงรากความเป็นคนไทยนั่นเอง แนวคิดที่จะสามารถพัฒนาเด็กไปได้ไกลนั้น จะต้องเป็นแนวคิดที่ดีตามทันโลกปัจจุบัน และสามารถสร้างประสบการณ์ให้เด็กได้ โดยทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลเอาใจใส่เด็ก ให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า ตามหลักสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้เขามีความสุขและ พร้อมรับการพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองในภายภาคหน้าต่อไป สำหรับบทความความรู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยที่รัฐกุลจะนำมาฝากในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไร สามารถรอติดตามได้ทั้งหน้าแฟนเพจของรัฐกุล และทางเว็บไซต์นี้ได้เลยค่ะ เราสัญญาว่าจะนำความรู้ดี ๆ ที่มีประโยชน์ต่อทั้งครูผู้สอนและเด็กมาฝากอีกอย่างแน่นอน |
บทความทั้งหมด
|