สื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย “การเรียนรู้วิทยาศาสตร์” ถือเป็นกระบวนการอันสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เกิดการพัฒนาทางด้านวิธีคิด ช่วยให้เกิดความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ ช่วยให้มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ เกิดความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การปลูกฝังให้ “เด็กปฐมวัย” ได้เรียนรู้ “วิทยาศาสตร์” จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ คุณครูผู้สอนต้องใส่ใจและสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ผ่าน “สื่อการเรียนการสอน” สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีเต็มศักยภาพ คือการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการมองดู การฟังเสียง การชิมรส และการใช้กายสัมผัส จึงกล่าวได้ว่าเพื่อให้เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ดีนั้น จำเป็นต้องมีสื่อการเรียนการสอนที่เด็กสามารถสำรวจ ทดลอง ค้นคว้า ลองผิดลองถูก ซึ่งจะช่วยให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นตามวัย และจะเป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถต่อยอดการแสวงหาความรู้ในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ประเภทของสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ซึ่งแบ่งตามลักษณะประสบการณ์ สามารถแบ่งได้ ดังนี้ 1.สื่อประสบการณ์ตรง เป็นสื่อที่เป็นตัวอย่างของจริง สถานการณ์จริง สามารถรับรู้และเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การทดลองปฏิบัติ เช่น การสังเกตดอกไม้ ใบไม้ การทดลองปลูกพืช เป็นต้น 2.สื่อประสบการณ์จำลอง เป็นสื่อการสอนที่จะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้ศึกษาในส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นจากของจริงได้ เช่น หุ่นจำลองของเครื่องบิน หุ่นจำลองสัตว์ เป็นต้น 3.สื่อประสบการณ์นาฏการ เป็นสื่อการสอนที่ช่วยให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งนั้น จากการสร้างสถานการณ์ให้เด็กได้แสดงหรือปฏิบัติด้วยตัวเอง เช่น การเลียนแบบเสียงร้องของสัตว์ 4.สื่อสาธิต เป็นสื่อที่มีการลงมือปฏิบัติจริง ๆ เพื่อสาธิตให้เด็ก ๆ ดู เช่น การสาธิตการต้มน้ำ ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายกับเด็ก ๆ ได้ หากขาดความระมัดระวังหรือไม่ได้ป้องกันอย่างเพียงพอ 5.สื่อการศึกษานอกสถานที่ เป็นการศึกษาจากสถานการณ์จำลอง สถานการณ์จริง หรือปรากฏการณ์จริง เช่น การไปสวนสัตว์ ไปชมท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น 6.สื่อการจัดนิทรรศการ เป็นการนำสื่อของจริง หรือของจำลองต่าง ๆ มาจัดเรียงหรือจัดแสดงอย่างเป็นหมวดหมู่ 7.สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นสื่อการสอนในลักษณะของภาพและเสียงจากวิดีโอ เช่น ภาพและเสียงชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า เป็นต้น 8.สื่อภาพนิ่ง เป็นสื่อการสอนในลักษณะของภาพสไลด์และรูปภาพต่าง ๆ เช่น ภาพของสัตว์แต่ละชนิด ภาพของพืช ภาพของผลไม้ เป็นต้น 9.สื่อทัศนสัญลักษณ์ เป็นสื่อการสอนในลักษณะของแผนที่ แผนภาพ เช่น แผนภาพการเจริญเติบโตของสัตว์ เป็นต้น 10.สื่อวจนสัญลักษณ์ เป็นสื่อการสอนในลักษณะของหนังสือ เอกสารและตำรา เช่น หนังสือภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ เป็นต้น หลักการเลือกสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย 1.เลือกสื่อที่สังเกตได้ง่าย สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้มากที่สุด 2.เลือกสื่อที่มีขนาดเหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็ก 3.เลือกสื่อที่มีความแข็งแรง คงทน 4.เลือกสื่อที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก 5.เลือกสื่อที่ทันสมัย เท่าทันความรู้ที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน 6.เลือกสื่อที่สามารถใช้ได้อย่างทั่วถึง 7.เลือกสื่อที่ตรงตามจุดประสงค์ที่คุณครูต้องการให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ 8.เลือกสื่อที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาประหยัด 9.เลือกสื่อที่น่าสนใจ ดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ชวนให้เด็ก ๆ อยากรู้อยากเห็น ส่งเสริมวิธีคิดและจินตนาการ 10.เลือกสื่อที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับเด็ก ไม่มีพิษ ไม่แตกหักง่าย ไม่ใช่วัตถุไวไฟ พื้นผิวเรียบ ไม่เป็นเสี้ยน ตัวอย่างสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย การเรียนรู้เรื่องพืช คุณครูปฐมวัยสามารถนำสื่อที่เป็นของจริงมาให้เด็ก ๆ ได้ดู ได้มอง ได้สังเกต ได้สัมผัส เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่าง หรือเพื่อจำแนกประเภท เช่น การสังเกตเมล็ดของพืชชนิดต่าง ๆ โดยให้คุณครูนำเมล็ดพืชที่เด็ก ๆ สามารถสังเกตเมล็ดของพืชได้ชัดเจน เช่น ส้ม มะละกอ ลำไย พร้อมกับเตรียมเครื่องมือ เช่น แว่นขยาย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สังเกตความเหมือนและความแตกต่างของเมล็ดพืชแต่ละชนิด ในกรณีที่คุณครูต้องการให้เด็ก ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตจากของจริงได้เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของต้นกล้วย คุณครูก็สามารถหาสื่อการเรียนการสอนในลักษณะของสื่อประสบการณ์จำลอง เช่น เกมเรียงลำดับภาพต้นกล้วยมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้เช่นกัน การเรียนรู้เรื่องสัตว์ คุณครูปฐมวัยสามารถนำสื่อที่เป็นของจริงมาให้เด็ก ๆ ได้ดู ได้มอง ได้สังเกต ได้สัมผัส เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่าง หรือเพื่อจำแนกประเภท เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับไส้เดือนกับมด โดยคุณครูจะต้องเตรียมสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ใส่ภาชนะใสที่สามารถสังเกตได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สังเกตการเจริญเติบโต ได้สังเกตการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ เป็นต้น ในกรณีที่คุณครูต้องการให้เด็ก ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตจากของจริงได้เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับการสัตว์และที่อยู่ของสัตว์แต่ละชนิด คุณครูก็สามารถหาสื่อการเรียนการสอน เช่น เกมโยงภาพสัตว์กับที่อยู่อาศัยมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้เช่นกัน การจัดสื่อการเรียนสอนที่เหมาะสมจะช่วยให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เด็กปฐมวัยจะได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัสและได้ฝึกทักษะในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสังเกต การจำแนกประเภท ฝึกคิดวิเคราะห์ ฝึกการจดจำ เป็นต้น นอกจากนี้เด็ก ๆ จะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และช่วยให้การสอนของคุณครูประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด ซึ่งคุณครูสามารถวัดได้จากผลการประเมินในแบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพราะการประเมินพัฒนาการเด็กนั้นถือเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าคุณครูประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้มากขนาดไหนนั่นเอง |
บทความทั้งหมด
|