3 นักวิจัย ม.มหิดล-ธรรมศาสตร์ คว้าทุนวิจัยแบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด 2019

3 นักวิจัย ม.มหิดล-ธรรมศาสตร์ คว้าทุนวิจัยแบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด 2019

ทุนวิจัยเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีสุขภาพที่ดียืนยาว

            เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชมรมโภชนวิทยามหิดล วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย  วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  และมูลนิธิแบรนด์เฮลธ์เพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย จึงได้จัดงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการ “แบรนด์ เฮลธ์ คอนเฟอร์เรนซ์ 2019” เรื่อง “อาหารและโภชนาการเพื่อเสริมสุขภาพสมอง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการใช้อาหารและโภชนาการในการดูแลสุขภาพสมอง รวมถึงเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆที่น่าสนใจ เพื่อส่งเสริมสุขภาพสมองและคุณภาพชีวิต ให้แก่บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วไปเข้าร่วมประชุมกว่า 900 คน ณ ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี

ภายในงานยังมีการมอบรางวัลทุนวิจัยแบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด 2019 ขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยและการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านสุขภาพ อันจะเกิดประโยชน์กับคนไทย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของนักวิจัยไทยไปสู่ระดับโลก โดยได้รับกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงโปรดให้ หม่อมราชวงศ์สมลาภ  กิติยากร  เป็นผู้แทนพระองค์เป็นประธานเปิดงานและมอบทุนวิจัยในครั้งนี้ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.จอมจักร จันทรสกุล ประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยฯ ให้การต้อนรับ

ทุนวิจัยแบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด 2019 เป็นทุนวิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยทุนดังกล่าวไม่มีข้อผูกพันใดๆทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยได้รับทุนจากโครงการไปแล้วกว่า  60  ผลงาน โดยในปีนี้มีผลงานที่ได้รับทุนจำนวน 3 ราย ได้แก่

1.ศ.ดร.ทพญ.วิภาวี นิตยานันทะ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอโครงงานวิจัยเรื่อง“การพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลผสมสารสกัดธรรมชาติที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งช่องปาก” (Development of gel containing plant-derived compounds with anti-oral cancer activity) เนื่องจากมะเร็งช่องปากมีสาเหตุการเกิดสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเคี้ยวหมาก สูบบุหรี่ และดื่มสุรา รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนปาปิลโลมา ชนิดที่ 16 (HPV-16) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุด และสารสกัดเปลือกทับทิมมีคุณสมบัติยับยั้งการติดเชื้อไวรัส โดยไม่เป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุผิวช่องปาก ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการนำคุณสมบัติดังกล่าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจล  ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปากในประชากรที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก และผู้มีพฤติกรมเสี่ยงทางเพศต่อการติดเชื้อ HPV-16 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย

2.รศ.ดร.ดวงดาว ฉันทศาสตร์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอโครงงานวิจัยเรื่องไอออนโทโฟเรซิสสำหรับนำส่งยาพรามิเพกซอลผ่านผิวหนังเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน (Iontophoresis of pramipexole transdermal delivery for the treatment of Parkinson's disease) โรคพาร์กินสันจัดเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากเป็นอันดับสองรองจากโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ซึ่งพบมากในผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากเซลล์สมองในซับสแตนเชียไนกราบางส่วนตาย หรือลดจำนวนลง ทำให้สารสื่อประสาทชื่อว่า “โดพามีน” ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างการลดลง ทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวช้า สั่น เกร็ง และสูญเสียการทรงตัว  รวมทั้งอาจจะมีความแปรปรวนของการนอนหลับ อารมณ์ พฤติกรรม และความจำเสื่อมร่วมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงาน คุณภาพชีวิต และอายุขัยลดลง ดังนั้นการศึกษานี้จึงมุ่งศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับนำส่งยาพรามิเพกซอลไดโฮไดรคลอไรด์ผ่านผิวหนังด้วยระบบไออนโทโฟเรซิส ได้แก่ pH และความเข้มข้นของสารละลายยา ความแรง และรูปแบบของกระแสไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้เป็นวิธีทางเลือกในอนาคตในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีปัญหาการกลืนยายาก

3.ผศ.ดร.พรรัศมิ์ จินตฤทธิ์ ภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อน และวิทยาศาสตร์อาหาร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาเรื่อง “การศึกษากรดไขมันชนิดสายสั้นที่เกิดขึ้นในกระบวนการหมักกากถั่วเหลืองในอาหาร "ถั่วเน่า" โดยใช้ไมโครไบโอมตามธรรมชาติเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพและโภชนาการต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของคน” (Studying short chain fatty acid occurring in fermenting process soybean meal in food "Thua-nao" from natural microbiome for usefulness in health and nutrition and their impact on human metabolism) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและแยกชนิดแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในถั่วเน่า ตลอดจนประโยชน์ในการผลิตสาร Metabolite กรดไขมันสายสั้นที่มีฤทธิ์ต้านสารอักเสบ ยับยั้งการออกฤทธิ์และควบคุมการแสดงออกของเอนไซม์ Histone deacetylase (HDAC) กระตุ้นการแสดงออกของยีนจำเพาะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแก่ และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบถึงจุลินทรีย์ในถั่วเน่า นำมาซึ่งความเข้าใจและสามารถพัฒนาถั่วเน่าให้เป็นอาหารเสริมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ยังสามารถนำไมโครไบโอมในถั่วเน่าไปใช้เป็นหัวเชื้อในทางอุตสาหกรรมอาหารและยาต่อไป

     การคิดค้นวิจัยองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ นับตัวแปรที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ดังนั้น 3 งานวิจัยข้างต้นนี้จะมีประโยชน์ช่วยเปิดทางการรักษาโรคและดูแลสุขภาพด้วยวิธีใหม่ๆ รวมไปถึงจะเป็นอีกแรกผลักดันและยกระดับการสาธารณสุขไทย เพื่อช่วยตอบโจทย์ปัญหาด้านโภชนาการและสาธารณสุขของไทยอีกทางหนึ่ง




Create Date : 16 ธันวาคม 2562
Last Update : 16 ธันวาคม 2562 11:50:29 น.
Counter : 837 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Prnewsonline.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 3876554
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด