ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๑) เราสู้
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๒๑)

เราสู้

เมื่อ ๒๒ เม.ย.๕๕ หลังสงกรานต์ไปแล้วหลายวัน เพื่อนสมาชิกไนห้อง ไร้สังกัด ของเวปพันทิป ได้ชักชวนกันมาเยี่ยมผู้เฒ่า และได้ให้ขนมมาหลายชนิด หลายกล่อง หลายซอง แต่มีท่านหนึ่งให้หนังสือที่อยากได้มาก คือ หนังสือ อนุสรณ์ คึกฤทธิ์ ครูตลอดกาล ซึ่งจัดทำเพื่อเป็นที่ระลึกถึง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ครบรอบร้อยปี ขึ้นปีที่ ๑๐๑

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาแบ่งเป็นสี่ส่วน แต่ที่เราสนใจมากคือ ส่วนที่สอง เป็นการถ่ายทอดงานเสวนาเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นสาระสำคัญ ของหนังสือเล่มนี้ มีท่านผู้ร่วมเสวนา ๔ ท่านคือ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อจ.ไพศาล พืชมงคล รศ.สายสุนีย์ สินธุเดชะ และ รศ. ดร.คุณหญิง วนิดา ดิถียนต์

เราได้นำข้อความของ อจ.ไพศาล พืชมงคล เรื่อง ผู้เปิดประตูเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-จีน มาวางในไร้สังกัด ให้เพื่อนสมาชิกได้อ่าน ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทยในยุคปัจจุบัน

มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

................ในที่สุดสหรัฐอเมริกา พ่ายแพ้ในสงครามเวียตนาม สหรัฐออกไปจากเอเวียของเรา ในช่วงนั้นกองทัพเวียตนามหลายแสนคน พร้อมรถถังของเวียตนามมีสมรรถนะสูงกว่ารถถังของไทยหลายเท่า จำนวนหลายกองพันเผชิญหน้าอยู่ที่ชายแดนไทย ทหารเวียตนามสามแสนคน เชี่ยวชาญในการรบภายใตการบัญชาการของ นายพลเทียนวันคุง นำปฏิบัติการบัวบานยึดกัมพูชา ในเวลาไม่ถึง ๗ วัน แล้วประกาศว่า กรุงเทพ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น แต่คนไทยเรารักสนุกบอกว่า เวียตนามเข้ามาไม่ได้หรอก รถติดอยู่แถวปากน้ำซ.....................

และเรื่องนี้ได้สะกิดความทรงจำของผู้เฒ่าให้ระลึกถึง ชีวิตของตนเองในยุคนั้น ขึ้นมาได้อย่างแจ่มชัด ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๕๑๗ เรามีอายุ ๔๐ ปีเศษ เป็นทหารสื่อสาร ยศ ร้อยเอก ที่ไม่เคยจับปืนเลย ทำงานด้วย ดินสอ ปากกา เครื่องพิมพ์ดีด มาตลอดเวลา

เมื่อไปรายงานตัวเข้ากองประจำการ อยู่ในระหว่างที่สงครามเกาหลี กำลังเจรจาสงบศึก อยากเป็นทหารราบจะได้อาสาสมัครไปสงคราม แต่ก็ไปสังกัดกองร้อยเล็กนิดเดียว ไม่ใช่ทหารหน่วยรบ มีหน้าที่เป็นลูกมือในงานโยธา ของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๑ เท่านั้น

ช่วงสุดท้ายของการฝึกแปดสัปดาห์ เกิดเป็นโรคไส้เลื่อนอักเสบ ต้องไปนอนให้หมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลทหารบก พญาไท หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน ความจริงโรคนี้ ถ้าแจ้งเจ้าหน้าที่เกณฑ์ทหารก่อนเกณฑ์ จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเป็นทหารประจำการ แต่เราไม่รู้ ไม่มีใครบอก ก็เลยต้องผ่าตัดข้างขวา แผลยาวเกือบคืบ

หายดีแล้วจึงสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ เหล่าทหารสื่อสาร สำเร็จออกมาด้วยคะแนน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ได้ติดยศสิบโท แทนที่จะได้ไปอยู่กองพันทหารสื่อสาร กลับได้เป็นเสมียนเขียนหนังสืออยู่ที่กองกำลังพล ต่อมาเขารบกับคอมมิวนิสต์ไทย ทางภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคใต้ กลับได้ไปช่วยราชการ เป็นพนักงานกล้องโทรทัศน์ ช่อง ๗ ขาวดำ สนามเป้า

เข็นกล้องถ่ายทีวีอยู่ตั้งแต่เป็นสิบเอก จนถึงร้อยโท เกิดเป็นไส้เลื่อนขึ้นมาอีกข้างหนึ่ง จนทนไม่ไหวต้องลาออกมา เป็นหัวหน้าเสมียนที่สะพานแดงอย่างเดียว จนเรียนหลักสูตรชั้นนายร้อยจบ ก็เข้าโรงพยาบาล รักษาโรคตับโต อันเนื่องมาจากการกินเหล้าไม่บันยะบันยัง ตั้งแต่อายุสิบหกปี กินยารักษาตัวอยู่หนึ่งปีเต็ม ๆ จึงหาย

ขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่าง ปลายสงครามเวียตนาม สหรัฐอเมริกาเข้าไปช่วยเวียตนามใต้ รบกับเวียตนามเหนือ แล้วอ้างสหประชาชาติ เรียกร้องให้บรรดาประเทศเสรีประชาธิปไตยเข้าไปร่วมด้วย ประเทศไทยก็ส่งทหารไปขนาดกรมผสม ที่เรียกว่า จงอางศึก จนขยายออกเป็น กองพลเสือดำ เราเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ จัดทหารสื่อสารให้กับกองพลอาสาสมัคร แต่ตนเองสมัครไม่ได้ เพราะยศชั้นยังไม่ถึงอัตรา อาจจะได้ไปรุ่นที่ ๕

แต่พอถึง พ.ศ.๒๕๑๘ ไทยเราเพิ่งส่งทหารไปเป็นผลัดที่ ๓ สหรัฐอเมริกาก็ถอนกำลังทหารออกจากเวียตนามใต้ ปล่อยให้เวียตนามเหนือกับเวียตกง รวมประเทศเวียตนาม เป็นหนึ่งเดียว ด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แล้วก็เข้าไปช่วยประเทศลาวกับกัมพูชาฝ่ายซ้าย รบกับฝ่ายขวา จนกระทั่ง ฝ่ายซ้ายได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด ขึ้นเป็นรัฐบาลทั้งสองประเทศ

คราวนี้ประเทศในโลก ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ โดยมีอเมริกาเป็นหัวหน้าใหญ่ ก็คาดว่าคอมมิวนิสสต์เวียตนาม จะสามรถเข้าครอบครอง ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ให้เป็นคอมมิวนิสต์ได้ทั้งหมดในเวลาไม่นานนัก

เราซึ่งเป็นทหารมาร่วมสามสิบปี จึงรู้สึกได้ว่าประเทศไทยของเรา คงจะต้องพบกับศึกสงครามอีกแล้ว เพราะตามข่าวว่าทหารเวียตนามหลายแสน กับรถถังอีกหลายกองพัน มาจ่ออยู่ที่ชายแดนเขมร และประกาศว่า ถ้าเริ่มรุกในตอนเช้ามืด แบบญี่ปุ่นในสงครามเอเชียบูรพา เขาจะได้มากินข้าวเที่ยงที่สนามหลวงแน่

ขณะนั้นเราซึ่งหายป่วยจากโรคตับโต จึงบอกกับคุณหมอซึ่งมียศร้อยเอก ที่ดูแลรักษามาตลอดปีว่า เรามีโรคประจำตัวอยู่อีกโรคหนึ่ง คือไส้เลื่อน หมอช่วยจัดการให้ด้วย หมอจึงทำใบส่งตัวจาก แผนกทางเดินอาหาร ไปให้หมดศัลยกรรมดำเนินการผ่าตัดทันที

ความตั้งใจที่จะรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร ต่อสู้ป้องกันประเทศชาติจากศัตรู ได้เข้ามาใกล้จะถึงตัวแล้ว ถ้าจะเข้าสนามรบก็ควรจะคล่องตัวสักหน่อย ไม่ใช่วิ่งไปได้ ๓-๔ ก้าวก็ลงนอนปวดไข่ร้องโอดโอยเสียแล้ว
เวลานั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงหาวิธีแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ด้วยการเปิดสัมพันธไมตรีกับ จีนคอมมิวนิสต์ ที่กำลังจะแตกคอกับ สหภาพโซเวียตรัสเซีย พี่เบิ้มในยุโรป และเป็นผลสำเร็จ ดังที่ท่านได้เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์ เล่มที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น

จนต่อมาอีกสามรัฐบาล กองทัพไทยจึงส่งผู้แทนไปเจรจาขอความช่วยเหลือด้านการทหารจาก จีนแดง จนเกิดสงครามสั่งสอน ที่ทำให้เวียตนามต้องถอนทหารจากด้านเขมร ไปป้องกันตนเองทางทิศเหนือ ซึ่งทำให้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ มาจนถึงทุกวันนี้

แล้วเราก็คงเป็นทหารถือปากกา ต่อมาจนเกษียณอายุ ทั้ง ๆ ที่ซ้อมร้องเพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ ไว้จนคล่องปาก ขึ้นใจเป็นอย่างดีแล้ว เนื้อเพลงที่ว่านั้น มีคำร้อง ดังนี้

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป

ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย

ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู

บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว.

แม้เวลาจะล่วงมาจนประเทศที่เคยเป็นศัตรู ได้กลับมาเป็นมิตร ค้าขายแข่งขันกันอยู่ถึงบัดนี้ เราก็ยังจำเพลงนี้ได้อย่างขึ้นใจ

ขอกราบแทบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้า ปกกระหม่อม ให้คนไทยได้รอดพ้นภัยพิบัติในครั้งนั้นมาได้ อย่างไม่น่าเชื่อเลย.

###############



Create Date : 25 มิถุนายน 2555
Last Update : 25 มิถุนายน 2555 6:25:54 น.
Counter : 2028 Pageviews.

0 comments
Là ci darem la mano from Don Giovanni by Wolfgang Amadeus Mozart ปรศุราม
(17 ก.ค. 2567 11:43:41 น.)
๏ ... My Hope ... ๏ นกโก๊ก
(17 ก.ค. 2567 12:13:36 น.)
:: คิลานะ :: กะว่าก๋า
(15 ก.ค. 2567 22:00:43 น.)
๏ ... แหลมทองของไทย ... ๏ นกโก๊ก
(15 ก.ค. 2567 15:11:01 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด