ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๑) อดีตของสะพานแดง
อดีตของสะพานแดง

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๑๑)

อดีตของสะพานแดง

คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพตอนเหนือ คือเหนือสนามหลวงขึ้นไป จนถึงบางซื่อ ซึ่งเป็นอาณาเขตด้านเหนือสุดของจังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี คงจะรู้จัก คลองเปรมประชากร หรืออย่างน้อยก็คงได้ยินชื่อมาบ้าง ชื่อนี้มีมานานแล้วเพราะเป็นคลองดั้งเดิมของกรุงเทพ

เริ่มต้นแยกจากคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้างทำเนียบรัฐบาล ใกล้กับสะพานมัฆวาฬรังสรรค์ พุ่งตรงไปทางทิศเหนือ ขนานกับถนนพระรามที่ ๕ ผ่านวัด เบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ไปเลียบสวนสัตว์ดุสิต หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เขาดิน เลยโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยและสำนักงานเขตดุสิต ลอดสะพานเกษะโกมล ซึ่งมีบ้านของท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายยุคสมัย เลยไปผ่านมณฑลทหารบกที่ ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ติดกับกองพันทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ แล้วก็ตัดคลองบางกระบือถึง สะพานแดง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นสะพานบางซื่อไปแล้ว (ปัจจุบันเปลี่ยนกลับมาเป็นสะพานแดงอย่างเก่า) จากนั้นก็ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลียบถนน เตชะวนิชไปลอดสะพานสูงทะลุสามแยกที่จะเลี้ยวไป สถานีรถไฟบางซื่อทางขวา แยกคลองประปาทางซ้าย ตรงดิ่งจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ออกไปกลางทุ่ง ลิ่วไปผ่านรังสิต ปทุมธานี แต่ไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยพายเรือไปตามลำคลองนี้ซักที

ตรงสะพาน ที่ถนนทหารจรดกับถนนประดิพัทธ์ จ่อด้วยถนนพระราม ที่ ๕ ชนกับถนนเตชะวนิช เป็นสี่แยกขึ้นมานี้ มีชื่อเรียกตามชื่อสะพานเก่าว่า สี่แยกสะพานแดง แม้ว่าชื่อสะพานจะเปลี่ยนเป็นสะพานบางซื่อไปตั้งนานแล้ว คนเก่าพื้นเพดั้งเดิมแถวนั้น ก็ยังคงเรียกสี่แยกนี้ว่า สี่แยกสะพานแดงอยู่อย่างเดิม ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังงงงวยไปตาม ๆ กัน จนกระทั่งหลังปีการท่องเที่ยวไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพมหานครได้จัดทำป้ายสีเขียวสูงเด่น สำหรับบอกชื่อเส้นทางและแยกที่สำคัญ จึงได้รื้อฟื้นชื่อสี่แยกสะพานแดงขึ้นมาใช้ใหม่ ทำให้ทหารสื่อสารชอบใจมาก เพราะเรามักจะเรียก กรมการทหารสื่อสาร อันเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ตรงนี้ว่า ค่ายสะพานแดง ติดปากชินหูกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้แต่กรมสรรพาวุธทหารบก กรมการขนส่งทหารบก และกรมช่างอากาศ ก็คงจะพอใจด้วยเช่นกัน เพราะทั้งหมดนี้ได้ร่วมมือกัน จัดการแข่งขันกีฬาประเพณีสี่สโมสร ซึ่งได้เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า กีฬาสี่มุมสะพานแดง มาตั้งแต่เริ่มแรกเหมือนกัน

ค่ายสะพานแดงที่ว่านี้ ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เนื่องด้วยกรมยุทธนาธิการหรือกระทรวงกลาโหม ได้จัดตั้งโรงแสงสรรพาวุธขนาดใหญ่ขึ้น โดยได้จัดการซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ ตั้งแต่ปากคลองบางซื่อด้านใต้ หลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณีไปจนถึงทางรถไฟ เลี้ยวไปตามทางรถไฟ ถึงคลองบางกระบือฝั่งเหนือ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ได้สร้างโรงงานผลิตสรรพาวุธเพียงส่วนเดียว ตั้งเป็นกรมช่างแสงทหารบก นอกนั้นก็ได้จัดตั้งกองพาหนะและทหารช่าง เพื่อสนับสนุนโรงงานสรรพาวุธ ทหารช่างที่ว่านั้น ก็คือ กรมทหารช่างที่ ๑ ต้นกำเนิดของทหารสื่อสารนี้เอง

ที่ดินซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ซื้อไว้ในครั้งกระนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง กรมอุตสาหกรรมทหาร กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมสรรพาวุธทหารบก กรมช่างอากาศ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ กรมการขนส่งทหารบก กรมการทหารสื่อสาร กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โรงเรียนทหารขนส่ง นั่นเอง

และคลองบางกระบือ ก็คือคูแคบ ๆ ที่ผ่านข้างวัดประชาระบือธรรม ซึ่งเดิมก็ชื่อวัดบางกระบือ ไปลอดโรงงานผลิตเบียร์โซดาตราสิงห์ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดจันทรสโมสร นั่นแหละ

ทั้งหมดนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของค่ายสะพานแดง ริมฝั่งคลองเปรมประชากร ก่อนที่เราจะเกิด กว่าที่เราจะมาเกี่ยวข้องจนมีความหลังกับสื่อสารสะพานแดงนั้น ก็เป็นเวลาประมาณ พ.ศ.๒๔๙๗ แต่ก่อนหน้านั้น เราก็ได้มาวนเวียนอยู่แถว ๆ เขตทหารที่ตำบลบางซื่อตั้งเกือบสิบปี

เราเข้ามาเป็นลูกจ้างใช้แรงงานของ แผนกที่ ๓ กรมพาหนะทหารบก เยื้องวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ แล้วได้เลื่อนเป็นข้าราชการวิสามัญ กรมเดิมแต่เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการขนส่งทหารบก เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงมุมสี่แยกสะพานแดง จนถึง พ.ศ.๒๔๙๗ ปลายปี หลังจากเป็นพลทหารเกณฑ์ ปีที่ ๒ แล้วจึงได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร และจบการศึกษาได้ติดยศ สิบโท เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ และได้รับราชการอยู่ที่ค่ายสะพานแดงที่เดียว เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี

กรมการทหารสื่อสาร ที่เรียกว่าค่ายสะพานแดงนี้ กองทัพยกเคยมีนโยบายที่จะให้ย้ายไปอยู่ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก และได้ยกกำลังส่วนล่วงหน้าไปอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ แต่อยู่ที่นั่นมากว่าสิบปี ก็เปลี่ยนนโยบายให้ไปอยู่ที่ อำเภอ กระทุมแบน จังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มย้ายหน่วยแรกจาก เขาชะโงก ไปอยู่ก่อน โดยยกพื้นที่ให้ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เข้าไปตั้งแทน แล้วก็ย้าย กองพันทหารสื่อสาร จากพิ้นที่ใกล้สวนลุมพินี ตามไปโดยให้โรงเรียนเตรียมทหาร เข้าไปอยู่แทน

กองพันทหารสื่อสารสารนี้ ในปัจจุบันได้ขยายเป็น กรมทหารสื่อสารที่ ๑ และมีกองพันทหารสื่อสารที่ ๑๐๑ และ ๑๐๒ เป็นหน่วยกำลังรบ ต่อมาก็ย้ายกองผลิตสิ่งอุปกรณ็สายสื่อสาร จากสะพานแดงไปอยู่ด้วย และขอพระราชทานนามว่า ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒

แต่กรมการทหารสื่อสาร ก็ยังคงตั้งอยู่ที่สะพานแดงตามเดิม จนแน่ใจว่ากองทัพบกเลิกคิดจะย้ายแล้ว จึงสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พำระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประดิษฐานไว้เป็นการถาวร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐

ปัจจุบันนี้ เหล่าทหารสื่อสารก็ได้อาศัยอยู่ที่ค่ายสะพานแดงนี้ มาเป็นเวลาค่อนศตวรรษแล้ว และจะคงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีกองทัพบก คู่กับประเทศไทยตลอดไป.

############



จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 20 มี.ค. 55 07:52:41



Create Date : 12 เมษายน 2555
Last Update : 12 เมษายน 2555 12:09:05 น.
Counter : 2238 Pageviews.

0 comments
Là ci darem la mano from Don Giovanni by Wolfgang Amadeus Mozart ปรศุราม
(17 ก.ค. 2567 11:43:41 น.)
๏ ... มิตรภาพ ... ๏ นกโก๊ก
(17 ก.ค. 2567 21:17:46 น.)
๏ ... ต้มยำกุ้ง ... ๏ นกโก๊ก
(16 ก.ค. 2567 10:27:52 น.)
๏ ... แหลมทองของไทย ... ๏ นกโก๊ก
(15 ก.ค. 2567 15:11:01 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด