John Abercrombie in the New York Sessions
ซีรีส์ดนตรีแจ๊สปลอดสารพิษ

The New York Sessions ที่จะกล่าวถึงในฉบับนี้ เป็นซีรีส์แจ๊สซีรีส์หนึ่งของต้นสังกัดเพลงแจ๊สชั้นนำของโลกอย่าง Chesky ที่ถูกจัดทำออกมาเพื่อการฟังที่ปลอดสารพิษ ปลอดสารพิษในที่นี้มิได้หมายถึงมลภาวะทางอากาศแต่อย่างใด หากหมายความถึงความสะอาดและการตกแต่งทางเสียงอันเกิดจากกระบวนการประดิดประดอยทางดนตรี อันอาจจะเกินขอบเขตอย่างที่นักฟังที่ต้องการความสดใหม่ปรารถนา



นั่น...น่าจะเรียกได้เหมือนกันว่าเป็นสารพิษอันทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงความสดและเสียงที่แท้จริงขณะที่ศิลปินกำลังบรรเลงอยู่ ทั้งๆ ที่เราควรจะได้ซึมซับกระแสแห่งท่วงทำนองและความงดงามในแบบที่พึงจะได้รับอย่างสมบูรณ์ และนี่คือแผ่น SACD ที่จะเรียกความสุขแบบสามัญประจำบ้านกลับคืนมาอย่างที่ควรจะเป็น

ในปี 2549 นี้ เชสกี เรคคอร์ดส ซึ่งเป็นต้นสังกัดดนตรีแจ๊สที่ไม่เป็นสองรองใครสำหรับคอออดิโอไฟล์ที่นิยมคุณภาพของดนตรี โดยเฉพาะแจ๊สกับคลาสสิก ได้ปล่อยผลงานเซอร์ราวด์ ซาวด์ เอสเอซีดีออกมาสองอัลบัม โดยใช้ชื่อเรียบๆ ง่ายๆ ว่า “นิวยอร์ก เซสชันส์ ไฮเดฟฟินิทีฟ ซีรีส์” โดยผลงานชิ้นแรกวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนสิงหาคม เป็นผลงานการแสดงสดของ เดวิด ฮาเซลไทน์และจอร์จ มราซ ทริโอ โดยร่วมกับบิลลี ดรัมมอนด์อีกคนหนึ่ง ส่วนอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดที่เราจะคุยกันฉบับนี้ เป็นผลงานการแสดงสดของ จอห์น แอเบอร์ครอมบี สุดยอดมือกีตาร์แห่งแจ๊สพิภพ และเอ็ดดี โกเมซ ทริโอ ร่วมกับจีน แจ็กสัน เพียงแค่ชื่อชั้นของศิลปินก็แทบอยากจะฟังผลงานเหล่านี้ในรูปแบบเอสเอซีดีซีรีส์นี้เสียแล้วสิ

เชสกียังได้ประกาศว่า ในซีรีส์นิวยอร์ก เซสชันส์นี้ ได้เพิ่มเติมเทคโนโลยีเสียงเซอร์ราวด์เอสเอซีดี เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นออดิโอไฟล์ที่มีการบันทึกเสียงที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแง่มุมการบันทึกเสียงแบบใหม่ที่ถูกบันทึกที่โบสถ์เซนต์ ปีเตอร์ ในเชลซี เมืองนิวยอร์ก บรรจุภัณฑ์ของอัลบัมนี้เป็นกล่องพลาสติกใสที่พะโลโกสีเหลือง Hi Def Jazz SACD บนหน้าปกกับสัญลักษณ์คุ้นตาของ SACD ตรงปกหลัง เชสกียังได้บันทึกข้อความไว้อีกว่า “นี่เป็นไฮบริด เอสเอซีดีที่สามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องเล่นซีดีและเครื่องเล่นดีวีดีทั่วไป”

เมื่อหยิบแผ่นซีดีออกมาแล้ว ตรงปกหลังด้านในคุณจะเห็นคำนิยมของเชสกีที่พิมพ์เอาไว้ถึงเจตนารมณ์ในการบันทึกเสียงของอัลบัมซีรีส์นี้ โดยบอกเอาไว้ว่า “เราสรรค์สร้างเสียงที่บริสุทธิ์ที่สุด เป็นธรรมชาติมากที่สุดเที่เคยทำกันมา โดยได้ใช้ไมโครโฟนแบบซิงเกิล พอยต์ ประกอบกับเครื่องมือไฟฟ้าที่ดีที่สุดในโลกทำขึ้นมาพิเศษ ไม่มีการบันทึกซ้ำ ไม่มีการบีบสัญญาณเสียง มีเพียงช่องเสียงเดียว ไม่อาศัยแผงผสมเสียงแผงใหญ่ให้วุ่นวาย คุณจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง”

ในเมื่อกล้ารับประกันกันขนาดนี้แล้ว คงไม่เป็นปัญหาในการอุดหนุนค่ายเพลงแจ๊สออดิโอไฟล์ค่ายนี้มาฟังอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ตามมาคือ แล้วเนื้อหาของงานล่ะ...เป็นอย่างไรกันบ้างหนอ?

จอห์น แอเบอร์ครอมบีเป็นใคร เราน่าจะมารู้จักเขากันก่อนที่จะกด Play ผลงานชุดนี้กัน

John Abercrombie มือกีตาร์ผู้ผสานผสานสิ่งใหม่และเก่า

จอห์น แอเบอร์ครอมบีเกิดในปี 1944 ที่พอร์ตเชสเตอร์ นิวยอร์ก เติบโตในกรีนวิช คอนเน็กติกัต เขาเริ่มเล่นกีตาร์เมื่ออายุได้ 14 ปี หลังจากที่เขาจบจากชั้นมัธยมปลาย นั่นก็คือเวลาที่เขาพร้อมจะผันตัวมาเล่นในสไตล์ชัค เบอร์รี ซึ่งเขาใช้วิธีการเล่นของชัคเป็นแบบเรียนในการฝึกหัดกีตาร์ที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ ขณะที่เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนดนตรีเบิร์กลีในบอสตัน เขาก็ร่วมตั้งวงดนตรี 3 ชิ้น กีตาร์ ออร์แกน กลองกับเพื่อนๆ เล่นตามคลับและบาร์ท้องถิ่น



เมื่อมีข้อเสนอให้เข้าร่วมการตระเวนแสดงคอนเสิร์ตกับมือออร์แกนอย่าง จอห์นนี แฮมมอนด์ เขาก็ตกปากรับคำนำไปสู่การออกเดินสายอย่างแท้จริงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ได้เล่นคลับเจ็บๆ อย่าง Count Basie’s Lounge และ Club Baron ในฮาร์เล็ม ในช่วงนั้นเองที่จอห์นได้พบกับพี่น้องเบร็กเกอร์ที่เข้ามาฟอร์มวง Dreams พวกเขาเชิญจอห์นไปเล่นด้วยกัน จนกระทั่งได้ออกอัลบัมแรกในนาม Dreams กับสังกัดใหญ่อย่างโคลัมเบีย

ในปี 1969 หลังจากที่จอห์นบากบั่นเรียนจนจบจากเบิร์กลี เขาก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อไปทางใต้ เพื่อจะนำไปสู่การเป็นนักดนตรีอย่างเต็มตัวในเมืองแห่งเสียงดนตรีอย่างนิวยอร์ก ในอีก 2-3 ปีถัดมา เขาก็ได้รับสมญาให้เป็นนักดนตรีที่ใครๆ ก็ถามหาแห่งนิวยอร์กเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีผลงานการบันทึกเสียงกับกิล เอแวนส์, กาโต บาร์บิเอรี, แบร์รี ไมล์สและอีกเหลือคณานับ รวมไปถึงการได้เล่นประจำกับวงของชิโก แฮมิลตันด้วย

จอห์นเคยเล่าถึงการเป็นตัวเลือกไซด์แมนให้ฟัง “ผมเคยออกทัวร์กับจอห์นนี แฮมมอนด์หลายครั้งหลายหนในคลับออร์แกนทั้งหลาย เขาเคยบอกเรื่องอัดเสียงกับผม เขาบอกว่า “ฉันจะไปนัดวันอัดเสียงแล้ว แต่ฉันจะต้อใช้จอร์จ เบนสันเล่นแทนนาย โทษทีว่ะ แต่ฉันต้องใช้ชื่อเสียงของเขาน่ะ” แต่แล้วเขาก็กลับมาหาผม แล้วบอกว่าคิวของจอร์จไม่ลงตัวกับวันอัดเสียง ดังนั้นก็เลยส้มหล่นใส่ผม ในทางหนึ่งผมก็เป็นตัวแทนจอร์จ ซึ่งผมว่าผมยังไกลเขาน่ะ จอร์จเป็นมือกีตาร์ที่สั่งสมชื่อเสียงมาเยอะ แต่ผมมันไม่ใช่อย่างนั้น แต่ก็สนุกดี”

แต่ถ้าพูดถึงการได้ออกสู่สายตาสาธารณชน แล้วล่ะก็ ต้องเป็นการร่วมวงกับบิลลี ค็อบแฮม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ในความสามารถของเขาอย่างแท้จริง วงนี้เป็นเหมือนกับการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของ Dreams เพราะว่าพี่น้องเบร็กเกอร์ก็ร่วมวงอยู่ด้วย จอห์นได้เล่นในอัลบัม Crosswinds, Total Eclipse and Shabazz ของบิลลี เขาได้เห็ตัวเองเล่นอยู่ในหลากหลายฮอลและสมรภูมิแห่งเสียงดนตรี ซึ่งบางครั้งก็เป็นรายการเดียวกับวงดนตรีร็อกระดับโลกอย่าง The Doobie Brothers

“มีอยู่คราวหนึ่ง เรามาเล่นกันที่สเปคตรัม ในฟิลาเดลเฟีย ผมก็คิดกับตัวเองว่าเรามาทำอะไรอยู่ที่นี่กันเนี่ย?” จอห์นกล่าว

ในเวลาไม่นานต่อมา เขาได้เล่นที่มงเทรอซ์ เฟลสติวัล เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง จากการเชิญชวนของแมนเฟรด เอ็กเกอร์ สุดยอดโปรดิวเซอร์แห่งสังกัดแจ๊สทรงอิทธิพลอย่างอีซีเอ็ม ซึ่งได้ชวนให้เขามาบันทึกเสียงกับทางค่ายเช่นเดียวกัน ผลงานชุดแรกใช้ชื่อว่า Timeless มีแจน แฮมเมอร์และแจ็ก ดิจอห์นเน็ตเป็นไซด์แมน ได้รับคำวิจารณ์ในทางบวกอย่างเป็นเอกฉันท์ Gateway จึงเป็นผลงานลำดับต่อมาที่ออกในปี 1975 เป็นการรร่วมงานครั้งแรกของจอห์น, แจ็กและเดฟ ฮอลแลนด์ ในปี 1979 จอห์นเริ่มฟอร์มวงแจ๊ส 4 ชิ้นของเขาเองขึ้นมา โดยประกอบด้วยริชี เบรัค (เปียโน), จอร์จ มราซ (เบส) และปีเตอร์ โดแนลด์ (กลอง) วงสี่ชิ้นกลุ่มนี้ได้ผลิตผลงานออกมาทั้งหมด 3 อัลบัม Arcade, Abercrombie Quartet และ M

จอห์นบันทึกเสียงภายใต้สังกัดอีซีเอ็มร่วมกับหลากหลายศิลปินรุ่นพี่รุ่นน้องมากมายหลายชุดด้วยกัน แต่วงที่ยังคงเป็นที่โจษขานในความเก๋าก็เห็นจะเป็นยุคสมัยที่ร่วมงานกับแจ็กนั่นเอง (เขาเองก็ไปทำงานให้แจ็กเช่นกันในนามวง Directions และ New Directions) และกับเพื่อนนักกีตาร์อย่าง ราล์ฟ ทาวเนอร์ ผู้ซึ่งเจนจัดในการผสานดนตรีคลาสสิกกับแจ๊สเข้าด้วยกันอย่างไม่ขัดเขิน ผลงานชุด Sagasso Sea (1976) ที่จอห์นและราล์ฟเล่นดูเอ็ตกันคงจะเป็นอีกผลงานหนึ่งที่รับประกันได้ถึงความฉกาจของทั้งคู่



วงสามชิ้นถัดมาของจอห์น... เขาได้ร่วมงานกับมาร์ก จอห์นสัน (เบส) และปีเตอร์ เออร์สกีน (กลอง) ในผลงาน Current Events, Getting There (มีไมเคิล เบร็กเกอร์ เกลอเก่าเป็นแขกรับเชิญ) และ John Abercrombie/Marc Johnson/Peter Erskine โดยได้รับคำวิจารณ์เชิงบวก ชัค เบิร์กถึงกับเขียนไว้ว่า “มีเอกภาพไปสู่จุดที่สามารถสอดประสานกันอย่างกลมกลืน สรรค์สร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นหนึ่งเดียวกับดนตรีแห่งเทพยดา เช่นดียวกันกับวง 3 ชิ้นของบิล เอแวนส์และออสการ์ ปีเตอร์สัน” ยกยอกันขนาดนี้แล้ว จอห์นคงจะดีใจเป็นล้นพ้นเป็นแน่แท้

ผลงาน Current Events ที่ออกมาในปี 1988 เป็นครั้งแรกที่จอห์นใช้กีตาร์ซินธิไซเซอร์ในการบันทึกเสียง ส่วน John Abercrombie/Marc Johnson/Peter Erskine ที่ออกในปี 1989 บันทึกเสียงกันในบอสตัน และถูกจารึกไว้ว่าเป็นการบันทึกเสียงสดของวงดนตรี 3 ชิ้นหนุ่มไฟแรง ด้วยความที่พวกเขามักจะถูกเชื่อมต่อให้เป็นวงทายาทของบิล เอแวนส์ สร้างความโชติช่วงให้แก่วันวารนั้นอย่างแจ่มชัด ในปี 1990 Animato จอห์นร่วมงานกับ วินซ์ เมนโดซา นักประพันธ์เพลงและจอห์น คริสเตนเซน (กลอง) นำเสนอผลงานประพันธ์ทั้งหมด 8 เพลง

ความที่จอห์นเองก็ผูกสมัครรักใคร่กับแจ๊สสแตนดาร์ดไม่น้อย ทำให้เขาสมัครใจจะทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือเหมือนกัน แล้วก็ยังเป็นอาจารย์ที่ขยันหมั่นเพียรเสียด้วย ขณะที่เตรียมการสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขารับผิดชอบวิชาประวัติศาสตร์แจ๊สกีตาร์ เขาอธิบายว่า “เมื่อผมเล่นเพลงสแตนดาร์ดอย่าง Autumn Leaves, Stella By Starlight ซึ่งก็เล่นมานับครั้งไม่ถ้วนในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ยังคงมีความสุขที่จะเล่นอย่างไม่รู้เบื่อ เพราะผมว่าผมรู้จักเพลงเหล่านี้ทุกซอกทุกมุม ผมก็เลยเล่นเพลงพวกนี้ได้คล่องและพลิ้ว ผมรู้สึกลื่นไหลเวลาเล่นเหมือนกับว่าผมไม่ได้เล่นคอร์ดเพลงพวกนี้อยู่ ซึ่งสำหรับผม...ผมว่านั่นแหละฟรีแจ๊ส”

จอห์นยังเป็นเจ้าของเสียงกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้ผนวกเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับมาตรฐานแจ๊ส แล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบของสแตนดาร์ดแจ๊ส อย่างที่เขาเคยบอกไว้ในหนังสือ Jazziz เมื่อปี 1988 ว่า “การนำเอาสไตล์การเล่นแบบชาร์ลี คริสเตียนและจังโก ไรน์ฮาร์ดตมานำเสนอในปัจจุบันนั้นเป็นทิศทางการเล่นของผม ผมอยากให้คนฟังซึมซับผลงานของผมโดยผสานเข้ากับการเล่นของศิลปินระดับตำนานเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็เปิดพรมแดนแห่งความคิดทางดนตรี ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกีตาร์โดยตรง”



ตั้งแต่ปี 1992 เขาก็บันทึกเสียงผลงาน While We’re Young กับแดน วอล (ออร์แกน) และอดัม นัสบอม (กลอง) เขาก็ทำงานต่อเนื่องที่นิวยอร์ก และออกผลงานอย่างต่อเนื่องกับหลากหลายสังกัด ไม่ว่าจะเป็นอีซีเอ็ม, มิวสิดิสก์, สเตร็ตช์, อันเดอร์ฮิล แจ๊ส รวมไปถึงเชสกี

จอห์นเคยร่วมงานกับเชสกีมาแล้วในปี 1999 เขากับเพื่อนนักกีตาร์ 1 หนุ่มใหญ่กับ 1 สาวใหญ่ คือ แลร์รี คอร์เยลและบาร์จี อัดสาด ทำอัลบัม Three Guitars ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง หากแต่มั่นใจได้ในเรื่องน้ำเนื้อของงานของทั้งสามคนได้อย่างมิต้องสงสัย จนกระทั่งได้มาร่วมเป็นหนึ่งในผลงานซีรีส์ Hi Def Jazz อีกครั้งหนึ่ง

It’s The Structures Of Jazz

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่า อัลบัม Structures ของจอห์นเป็นลำดับที่สองในซีรีส์นี้ จริงๆ แล้วมีหลายแผ่นที่จะแนะนำให้ฟังกัน แต่เนื่องจากชื่อเสียงของจอห์นที่มีมาในแง่บวกตลอด ทำให้เลือกแผ่นนี้ขึ้นมาอย่างไม่ต้องลังเล

Structures เป็นผลงานของวง 3 ชิ้นของจอห์น (แน่นอน-กีตาร์), เอ็ดดี โกเมซ (เบส) และจีน แจ็กสัน (กลอง) โดยทั้ง 10 เพลงนี้เป็นชิ้นงานประพันธ์เพลงของจอห์นและเอ็ดดี 4 ชิ้น ที่เหลือ 6 ชิ้นเป็นบทเพลงสแตนดาร์ดอมตะที่เราๆ ท่านๆ เคยได้สัมผัสกันมาบ้างในความงดงาม บิล มิวคาวสกีเป็นผู้จดจารคำนิยมบนปกในให้กับจอห์น หากยังไม่รู้จักบิลล่ะก็ เขาคือนักเขียนแห่งนิตยสาร Jazz Times และ Jazziz ซึ่งกล่าวถึงอัลบัมนี้ไว้ว่า “บนแท่นหินบูชาอายุกว่า 160 ปีในโบสถ์ เล่นอยู่ด้วยกันทั้งจอห์น, เอ็ดดีและจีน เสียงดนตรีของพวกเขาโบยบินผ่านไมโครโฟนแบบซิงเกิล พอยต์เพลงแล้วเพลงเล่า เงี่ยหูฟังซึ่งกันและกันอย่างใจจดใจจ่อ เพื่อต่อบทเพลงได้กลมกลืนอย่างน่าประหลาดใจ”

Structures บันทึกเสียงกันในวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2006 ที่โบสถ์เซนต์ ปีเตอร์ในนิวยอร์ก ดูแลการผลิตโดยเดวิด เชสกีและชาร์ลส คาร์ลินี บันทึกเสียง, แก้ไขและทำมาสเตอร์โดย นิโคลัส เพราต์ ส่วนตัวเอสเอซีดีผลิตโดย Sony DADC

จอห์นบอกถึงหลักในการทำงานของอัลบัมนี้ว่า “พวกเราทำงานแบบค่อนข้างปล่อยให้เป็นอิสระ ไม่ได้วางโครงสร้างไว้ชัดเจน เราแค่กำหนดตอนต้นเพลงกับท้ายเพลงว่าจะจบอย่างไร ส่วนตรงกลางก็ต่างคนต่างอัดกันไปเลยตามแต่ใจ” จอห์นเองก็เคยทำงานกับเอ็ดดีมาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 70 แต่ที่น่าสนใจก็คือ จีน แจ็กสันที่เขาไม่เคยเล่นร่วมกันเลยสักครั้งจนกระทั่งเซสชันที่โบสถ์นี้เอง หากแต่จอห์นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นมือกลองที่สามารถเล่นสนับสนุนเขาได้เป็นอย่างดี



“เราไม่เคยซ้อมกับจีนมาก่อนเลยให้ตาย เขาเพิ่งลงจากเครื่องแล้วก็มาที่โบสถ์ เซ็ตอัพกลองแล้วก็เล่น ผมว่านี่แหละคือหัวใจของเซสชันนี้เลย มันเป็นโปรเจ็กต์ที่ปล่อยอิสระทางความคิดมากๆ แล้วก็เป็นเซสชันที่ทำได้ไม่ยากเลยด้วย” แต่ท่าทางจอห์นจะลืมไปว่าคงจะมีเพียงนักดนตรีระดับนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเล่นด้วยกันโดยไม่ต้องซ้อม เพราะความเข้าขากันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับดนตรีที่ใช้การอิมโพรไวส์เป็นหลักอย่างนี้ แต่แน่นอน ดูเหมือนว่าเกลอที่ไม่เคยเล่นด้วยกันมาก่อนจะไม่ได้สร้างความผิดหวังให้กับคนฟังเลยแม้แต่น้อย เพราะถ้าว่ากันตามเนื้อผ้า Structures ไม่ได้เป็นงานเด่นของจีนอย่างแท้จริง หากแต่เขาสามารถเล่นเสริมภาคริธึมให้กับอีกสองหน่อได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับที่จอห์นได้ว่าเอาไว้ ซึ่งความคิดเห็นก็เป็นไปในเดียวกับที่เอ็ดดีบอกไว้ว่า “จีนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง แล้วเขาก็เป็นมือกลองในฝันที่เราต้องเอามาร่วมโปรเจ็กต์นี้อย่างไม่อาจจะต้านทานจริงๆ”

ดังนั้นแล้ว....จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าความโดดเด่นของ Structures อยู่ที่คู่หูจอห์นกับเอ็ดดีนั่นเอง ที่สลับสับเปลี่ยนกันด้นให้เราได้ฟังกันตลอดช่วงเวลา 60 นาทีเต็ม Moon And Sand (Alex Wilder) บทเพลงหนึ่งที่มีความโดดเด่นในแง่ของการเล่นทั้งจอห์นและเอ็ดดี เพลงนี้เป็นเพลงบัลลาดคีย์ไมเนอร์ที่จะตราตรึงอยู่ในหัวอีกนานและถูกเล่นโดยนักดนตรีแจ๊สหลายคน อาทิ เคนนี เบอร์เรล (จากอัลบัม Guitar Forms ในปี 1964), คีธ จาร์เร็ตต์ (ในอัลบัม Standards Vol.2 ในปี 1983) จอห์นและเอ็ดดีต่างผลัดกันเล่นในภาคริธึม ขณะที่อีกคนอิมโพรไวส์ หากแต่จอห์นยังคงเก็บไลน์กีตาร์สวยๆ มาให้เราได้ซึมซับอย่างอิ่มเอม ไม่เว้นแม้ท่อนโซโลเบสที่ล้ำลึกทว่ากลมกลืนไปกับเสียงกีตาร์ของจอห์น

Everything I Love ประพันธ์โดยโคล พอร์เตอร์ ไลน์เบสสวยงามตั้งแต่เริ่มอินโทรเลยทีเดียว ก่อนจะเข้าสู่จังหวะ 4/4 ให้จอห์นพยายามจะพาเราเข้าไปสู่การอิมโพรไวส์แบบลื่นไหลไปสู่จินตนาการ แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ผสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวของท่วงทำนองและรูปแบบของเพลง เช่นเดียวกับเพลงสแตนดาร์ดอย่าง Embraceable You ยังคงเปิดด้วยการด้นเบสของเอ็ดดี ไลน์นิ้วในการเดินเบสลื่นไหลยาวนานของเขาพาคนฟังล่องลอยสู่เวิ้งฟ้าก่อนจะส่งต่อให้จอห์นในช่วงของกีตาร์ รองรับด้วยการคุมจังหวะที่เนิบนาบของจีนเข้าสู่ท่วงทำนองที่คุ้นเคย ไลน์เบสของเอ็ดดีในเพลงนี้ไม่ว่าจะเป็นท่อนอินโทรหรือท่อนกลางเพลง ทั้งการเดินเบสและการสลับนิ้วเล่นสาย ล้วนแล้วแต่บอกได้เพียงว่า “น่าจดจำ”

Missing You ประพันธ์โดยเอ็ดดีเอง เขาแสดงเทคนิกการใช้คันชักสำหรับนักเบสได้อย่างไม่มีริ้วรอยตำหนิเอาไว้ คงไว้เพียงความงดงาม แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาร่ำเรียนมาจากวิทยาลัยจูลลิอาร์ด เพลงนี้เรียกว่าเป็นเพลงเอกของเอ็ดดีเลยก็ว่าได้ จากการที่จอห์นปล่อยให้เขาลื่นไหลไปกับท่วงทำนอง หลังจากที่หมดธุระกับคันชัก จึงเข้าสู่การเดินเบสผ่านนิ้วด้วยจังหวะที่เนิบช้าและสวยงาม

เพลงปิดท้ายอัลบัม How Deep Is The Ocean เพลงหนึ่งที่เป็นสิ่งที่จอห์นชื่นชอบที่จะทำและบอกว่าเป็นความท้าทาย นั่นคือการพลิ้วไหลไปกับบทเพลงสแตนดาร์ดที่ตัวเองจดจำทำนองได้ขึ้นใจ เสร็จแล้วเขาก็บอกเพื่อนๆ ว่ามาเล่นเพลงนี้แบบไม่ธรรมดากันดีกว่า ดังนั้นจังหวะของเพลงนี้จึงขึ้นอยู่กับการด้นสดของทั้งสามคนเป็นหลัก โดยที่พวกเขายังคงยึดเพียงเมโลดีหลักๆ เอาไว้เท่านั้นเพื่อเป็นแกนของเพลง

เมื่อหันกลับมามอง Structures ในฐานะเอสเอซีดี ระบบเสียงเซอร์ราวด์แล้ว จะรู้สึกได้ถึงช่องว่างของเสียงที่ถูกบันทึกออกมาขณะที่ทางวงบรรเลงกันอยู่ เสียงของดนตรีทั้งสามชิ้นถูกส่งผ่านมาทางฟรอนต์ แชนแนลกับเสียงกลองที่ดูเหมือนจะอยู่หลังเสียงกีตาร์และเบสไปหน่อย

หลังจากที่ได้ฟัง Structures นับครั้งไม่ถ้วน จึงได้สัมผัสกับอรรถรสแห่งความบันเทิงที่เต็มอิ่มในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝีไม้ลายมือที่เติมเต็มสุนทรียภาพทางสมอง ทั้งยังได้คุณภาพในการบันทึกเสียงที่จะมาช่วยเติมเต็มสุนทรียภาพทางอารมณ์ น้อยนักที่เราจะสามารถหาความสมดุลในทั้งสองทางพร้อมๆ กันอย่างนี้



John Abercrombie, Eddie Gomez with Gene Jackson / Structures (Chesky)
SACD Surround Sound/SACD Stereo/CD Audio
(Chesky SACD 317)
Produced by David Chesky, Charles Carlini
Executive Producer : Norman Chesky
Recording Engineer : Nicolas Prout

Musicians :
John Abercrombie : Guitar
Eddie Gomez : Bass
Gene Jackson : Drums

Tracklisting :
1. Jazz Folk
2. The Touch Of Your Lips
3. Moon And Sand
4. Walter Pigeon
5. Everything I Love
6. Embraceable You
7. 3 For Three
8. Turn Out The Stars
9. Missing You
10. How Deep Is The Ocean

Selected Albums
1974 Timeless (ECM)
1975 Gateway (ECM)
1977 Characters (ECM)
1979 Straight Flights (JAM)
1985 Night (ECM)
1988 John Abercrombie, Marc Johnson, Peter Erskine (LIVE) (ECM)
1997 Gateway : Homecoming (ECM)
1999 Open Land (ECM)
2003 Three Guitars (Chesky)
2004 Class Trip (ECM)
2006 Structures (Chesky)












Create Date : 09 มกราคม 2550
Last Update : 9 มกราคม 2550 17:32:39 น.
Counter : 1224 Pageviews.

7 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
มาอ่านครับ ขอติงนิดหนึ่งว่าตัวหนังสือสีค่อนข้างจะกลมกลืนกับพื้นทำให้อ่านดูลานตาสักหน่อย แล้วก็มารับ tag จากผมด้วยนะครับ
โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 10 มกราคม 2550 เวลา:8:44:54 น.
  
แอบมาอ่านเอาความรู้ค่ะ

ขอบคุณที่แนะนำ กำลังหาเพลงที่แนะนำฟังอยู่พอดีค่ะ
โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) วันที่: 10 มกราคม 2550 เวลา:13:48:56 น.
  
แวะมาทักว่า ถ้าพี่นุัีนยังไม่เขียน หนูขอไม่เขียนนะคะ
รอพี่นุ่นเขียนบล๊อกแทกกอนนะคะ

กิกิ
โดย: vodca วันที่: 11 มกราคม 2550 เวลา:17:50:41 น.
  
โอ้วววว

เพิ่งเคยมาเยือนหรือไร

หรือมาแล้วจำไม่ได้



หน้าตาบล็อกไม่คุ้นเลยง่ะ

บล็อกสวยมั่กๆ ค่ะ



นั่นสิ เดจาวูหรือเปล่าหนอ

แต่เราว่า เรื่องความรักนี่คงเป็นหรือมีกันทุกคนนะคะ
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 12 มกราคม 2550 เวลา:13:41:39 น.
  
^
^
เราคุยกันในบล็อกเกี่ยวกับหนังสือของเราเองแหละ อิอิ Just Read ไงคะ

ยังไงขอให้หายจากเดจา-วูเร็วๆ นะคะ
โดย: nunaggie วันที่: 14 มกราคม 2550 เวลา:16:35:37 น.
  
เจํ เราเขียนบล๊อกแท๊กแล้ว

ที่นี่เลยค่า


เจ๊เขียนยางงง วะคะ
โดย: vodca วันที่: 19 มกราคม 2550 เวลา:11:08:43 น.
  
แวะมาเยี่ยมจ้า มาบอกว่า บล็อกเจ๊สวยอ่ะ ถูกใจๆๆ
โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) วันที่: 23 มกราคม 2550 เวลา:17:37:55 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Nunaggie.BlogGang.com

nunaggie
Location :
City of Angels,  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด