Walter Lang Trio พลิ้วไปในยามเช้าที่นุ่มละมุน


ฉบับนี้ขอกลับมาแนะนำอัลบัมเพลงแจ๊สดีๆ ให้นักฟังเพลงได้มาทดลองฟังกันบ้าง หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวและข้อมูลของศิลปินต่างสายพันธุ์กันไปหลายฉบับจนอิ่มเอมแล้ว และหลังจากผ่านพ้นพายุงานที่หอบเอาผู้เขียนแทบบักโกรก พร้อมกับวันหยุดยาวหลายครั้ง ทำให้เวลาหดหายไปอย่างรวดเร็ว คราวนี้แหละจึงได้มีโอกาสละเลียดบทเพลงดีๆ พร้อมกับบรรยากาศที่ย่ำออกจากวสันตฤดู เข้าสู่เหมันต์อย่างมีความสุขเกินจะบรรยาย การได้ฟังบทเพลงที่ดีจากเครื่องเสียงมีคุณภาพ ถือเป็นกำไรชีวิตที่ไม่น่าพลาด หากมีปัจจัยพอที่จะเอื้ออำนวย

เปียโนยังคงเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์กับงานดนตรีแจ๊ส และเป็นเครื่องดนตรีนำที่ยังคงไม่เสื่อมมนต์ขลังมานานนับทศวรรษ ยิ่งถ้าใครชอบเครื่องดนตรีอะคูสติกที่เล่นกันสดๆ สามชิ้นแล้วด้วย การฟังเปียโนทริโอแผ่นนี้คงจะให้ความบันเทิงอารมณ์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

วอลเตอร์ ลังก์ ทริโอ

คงบอกได้ว่าวอลเตอร์ ลังก์เป็นศิลปินที่ค่อนข้างจะใหม่ในบ้านเรา หากแต่ความเก่าและเก๋าของวอลเตอร์ในนอกบ้านนอกเมืองนั้น ไม่น้อยหน้า วอลเตอร์เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1961 ณ Schwabisch Gmund เมืองเล็กๆ ที่ห่างจากสตุตการ์ต ในประเทศเยอรมันราวๆ ห้าสิบกิโลเมตร ยามเมื่ออยู่ในวัยเยาว์ก็ถูกปลูกฝังให้เติบโตมากับเสียงเปียโนและออร์แกนจากฝีมือของพ่อและปู่ เขาจึงได้รับบทเรียนเปียโนครั้งแรกในชีวิตเมื่อายุเข้าเก้าขวบ วอลเตอร์เกิดและเติบโตที่ประเทศเยอรมัน แต่เดินทางเข้าสู่บอสตัน สหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนดนตรีที่โรงเรียนเบิร์กลีอย่างจริงจัง จากนั้นจึงกลับมาที่ยุโรปเข้าศึกษาต่อที่อัมสเตอร์ดัม สกูล ออฟ ดิ อาร์ตสจนสำเร็จการศึกษา



วอลเตอร์ได้สั่งสมประสบการการเล่นดนตรีและผสมผสานเข้ากับการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เขาได้ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งวงดนตรีในนาม ริก ฮอลแลนเดอร์ ควอเต็ต ซึ่งพวกเขาได้ตระเวนออกทัวร์กันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ 90 ไปทั่วทั้งอเมริกาที่เขาว่ากว้างใหญ่ไพศาล, ญี่ปุ่น และท่องยุโรปหลายครั้ง ในระหว่างการออกเดินสาย พวกเขาก็ได้ร่วมกันทำงานสตูดิโอออกมาด้วยกันถึงห้าชุด ความพยายามและความสามารถของพวกเขาก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่ว ตอกย้ำด้วยรางวัลชนะเลิศ Europ’ Jazz Contest ที่พวกเขาได้รับจากเบลเยียม

ระหว่างนั้น วอลเตอร์ ในฐานะนักเปียโนอิสระที่มีความหมั่นเพียรตลอดเวลา ก็ได้มาเล่นให้กับนักดนตรีแนวหน้าอย่าง ลี โคนิตซ์, เจมส์ มูดี, ดอน เมนซา และชิโก ฟรีแมน ในบ้านเกิดเขาก็เล่นให้กับนักดนตรีในมิวนิกอย่าง Harald Rueschenbaum, The Jason Seizer Quartet และ Johannes Herrlich’s Collage วอลเตอร์ได้รับรางวัลที่บ้านเกิดอีกครั้งในปี 1998 ในฐานะ Artist Of The Year ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองยิ่งขึ้น

ในปี 1997 วอลเตอร์ก่อตั้งวงดนตรีสามชิ้นของตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็เป็นเพื่อนมือกลองคนเดิม ริก ฮอลแลนเดอร์ กับ นิโกลาส ธีส (เบส) ผลงานชุดแรก Walter Lang Trio Plays Charlie Chaplin ซึ่งอุทิศให้กับดาวตลกอมตะ ชาร์ลี แชปลิน ล้วนเป็นดนตรีประกอบหนังของตลกหน้าตายคนนี้ทั้งสิ้น เขาแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของดนตรีประกอบและใส่ใจกับมันมากกว่าที่เป็นมาโดยตลอด อัลบัมนี้ออกมาภายใต้สังกัดญี่ปุ่นอย่าง นิปปอน คราวน์

วอลเตอร์เดินเครื่องต่อเพื่อรับสหัสวรรษใหม่กับผลงานชุด Tales Of 2 Cities พร้อมด้วยการเพิ่ม เอ็กเกอร์ฮาร์ด โรสเซิลเล่นแซ็กโซโฟน แล้วเปลี่ยนเป็นคาโรลีน ฮอฟเลอร์เล่นเบสแทนนิโกลาส คราวนี้ย้ายมาสังกัดกับค่ายดับเบิลมูน ผลงานแผ่นนี้เปิดโอกาสให้วอลเตอร์ได้แสดงความสามารถในการผสมผสานความร่าเริงอย่างดนตรีอเมริกาใต้และความคลาสสิกของดนตรีอเมริกาเหนือ อีกทั้งเพิ่มความป็อปปูลาร์ให้ฟังง่ายอย่างคนอเมริกัน ผลก็คือความน่าพึงพอใจจากแฟนเพลงให้กับวอลเตอร์นั่นเอง

ผ่านอัลบัม Across The Universe กับ Lotus Blossom ในปี 2002 และ 2003 มาตามลำดับ ก็คงพอจะเห็นแล้วว่าวอลเตอร์เป็นนักดนตรีที่มีผลงานให้เสพอย่างต่อเนื่อง ใครที่เป็นแฟนเพลงของเขาก็คงจะมีความสุขในการฟังมิใช่น้อย หากแต่เป็นเรื่องน่าแปลกเหมือนกัน เพราะศิลปินแจ๊สโดยส่วนมากมักจะมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องปีละหนึ่งชุดเป็นอย่างต่ำ บางคนที่ฟิตหน่อยก็อาจจะมีสองถึงสามชุดภายในปีเดียวก็เป็นได้

วอลเตอร์ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่มากมายไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพราะในปีนี้ เขาออกผลงานในเวลาไล่เลี่ยกันถึงสองชุด นั่นก็คือ The Sound Of Rainbow ออกกับค่าย M&I ที่เขาเคยร่วมงานมาแล้วในชุด Across The Universe และอีกชุดหนึ่ง Softly As In A Morning Sunrise (Nagel-Heyer) ที่เรากำลังจะมาร่วมเดินทางเข้าสู่โลกของมันในบรรทัดถัดไปนี้



เดินทางในตอนเช้ากับวอลเตอร์ ลังก์

Softly As In A Morning Sunrise ผลงานลำดับที่ห้าของวอลเตอร์ในนามของวงสามชิ้น ซึ่งสมาชิกก็กลับมาเป็นแบบยุคดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเขาเองในตำแหน่งเปียโน นิโกลาส ธีส เล่นเบส และริก ฮอลแลนเดอร์ เล่นกลอง ดูเหมือนว่าวอลเตอร์กับริกจะเป็นคู่หูที่แยกกันไม่ออกเสียแล้วในการทำงานเพลงตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา

และก็ดูเหมือนว่าการเดินทางครั้งนี้ของวอลเตอร์กับค่ายเพลงเทรดิชันอย่างนาเกล-เฮเยอร์ จะเป็นเหมือนคู่หูที่เข้ากันได้ดีอีกคู่หนึ่ง นับเหนือไปจากวอลเตอร์เองกับริก เพื่อนมือกลอง เนื่องจากว่าสไตล์การทำงานของแฟรงก์ นาเกล-เฮเยอร์ที่ เจ้าของค่ายเพลง (ซึ่งมีผลงานในบรรณพิภพแจ๊สมาได้สิบปีพอดี) มักจะเป็นไปในทางเทรดิชันแนล แจ๊ส ก็หมายถึงแจ๊สที่ยึดตามแบบแผนที่เคยเป็นมา ท่วงทีลีลา จังหวะจะโคน หรือบางคนอาจจะบอกว่า “โบราณ” แต่นี่แหละคือสิ่งที่เป็นจุดขายของนาเกล-เฮเยอร์อย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าในช่วงก้าวที่สิบของนาเกล-เฮเยอร์จะมีพวกคอนเทมโพรารีโผล่ออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นอาหารจานหลักที่น่าลิ้มลองแต่อย่างใด ถือเป็นน้ำจิ้มที่เพิ่มรสชาติในการฟังเพลงของนาเกล-เฮเยอร์

ความคิดรสวบยอดของอัลบัมนี้อยู่ในโทนที่เรียบและค่อนข้างจะสุขุมเยือกเย็น ควบคุมแนวทางไว้ได้ดีเช่นเดียวกับชื่ออัลบัม ซึ่งก็คือเพลงเด่นเพลงที่หกของอัลบัมด้วยนั่นเอง อัลบัมนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนในแง่ของงานประพันธ์ ส่วนแรกเป็นส่วนที่วอลเตอร์หยิบเอาเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สมาเรียบเรียงใหม่ Autumn Leaves หลายคนคงจะเคยได้ยินเพลงนี้กันมานับสิบเวอร์ชันก็เป็นได้ เอาเฉพาะแบบต็มเพลง ไม่นับที่แซมป์ไปนิดๆ หน่อยๆ ก็นับกันไม่ถ้วนแล้ว วอลเตอร์เพิ่มจังหวะเข้าไปให้ความร่าเริงขึ้นมากับ Autumn Leaves ไม่น้อย โดยเฉพาะการเรียบเรียงไลน์เปียโนของเขาที่ลื่นไหลในขณะเดียวกันก็ดูเร่งเร้า โดยมิพักจะต้องใช้เทคนิกการเล่นแบบ “นิ้วเร็ว” แต่อย่างใด หากแต่ใช้ประโยชน์ของการเล่นแบบซิงเกิลโน้ตมากกว่า Alone Together พลิ้วไหวไปกับลีลาการพรมนิ้วอันอ่อนหวานในโน้ตของวอลเตอร์อย่างช่วยไม่ได้ ผิดกับภาคริธึมของนิโกลาสและริกที่เร่งเร้าอยู่เป็นพื้นหลัง โดยเฉพาะการเดินเบสของนิโกลาสนั้นเต็มไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนนิ้วจริงๆ



Softly As In A Morning Sunrise เพลงชื่อเดียวกับอัลบัม ลีลาสวิงที่ฟังแล้วบางคนอาจจะอยากลุกขึ้นมาเต้นลีลาศก็เป็นได้ เพลงนี้นิโกลาสได้โชว์การอิมโพรไวส์ดับเบิลเบสแบบยังไม่เต็มอิ่มเท่าใดนัก เพราะต้องรีบกลับเข้าท่อนหลัก อาจจะเป็นด้วยความยาวของเพลงที่ถูกจำกัดเอาไว้ก็เป็นได้ เพลงยาวก็ฟังยาก เพลงที่ฟังยากก็มีความหมายต่อเนื่องออกไปเรื่อยๆ ไปจนถึงการขายได้-ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย (ฮา) แต่ก็เอาเถอะ เพราะว่าฝีมือเบสของนิโกลาสก็ไม่ได้จบเท่านั้น หากแต่ว่ามาสำแดงในเพลงช้าอย่าง Spring Is Here ซึ่งเล่นลูกล่อลูกชนหวานๆ กับเปียโนของวอลเตอร์ในแบบบัลลาดที่ยาวแปดนาทีกว่าๆ ทีเดียว บางคนที่ไม่ชอบความนิ่ง อาจจะนึกอึดอัดขึ้นมาเล็กน้อย แต่หากใครชอบละเลียดตัวโน้ตละก็ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะว่าคุณจะได้ดื่มด่ำการหยอกเย้าของเปียโนกับเบสอย่างอิ่มเอม โดยมีกลองกับบรัชรองรับอยู่เป็นฉากหลัง

ในส่วนที่สองเป็นส่วนของบทเพลงที่วอลเตอร์ประพันธ์เองใหม่ทั้งหมดหกเพลงด้วยกัน Monsieur Hulot ดูจะเป็นเพลงที่เหมาะแก่การตักออกมาประชาสัมพันธ์มากที่สุด ด้วยความยาวเพียงแค่เกือบๆ สี่นาทีเท่านั้น ง่ายต่อการรับฟังในระยะเวลาอันจำกัดบนหน้าปัดวิทยุ และเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่วอลเตอร์เลือกให้เป็นเพลงแถมท้ายอัลบัม ซึ่งก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Alternate Version นั่นแหละแบบที่แผ่น Reissue มักจะมีแถมมาให้เสมอ Monsieur Hulot โดดเด่นที่ไลน์เปียโนของวอลเตอร์ เรียกว่าแทบจะเป็นวันแมนโชว์เลยก็ว่าได้ โดยมีเส้นเบสของนิโกลาสเข้ามาเอี่ยวด้วย บทบาทกลองและเครื่องเคาะของริก ฮอลแลนเดอร์ปรากฏอยู่บ้าง ถึงจะไม่โดดเด่นออกมาไลน์เดียว แต่ก็เป็นการแต่งแต้มสีสันให้กับ Monsieur Hulot ไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเคาะฉาบ เคาะไฮ-แฮทแต่ละครั้ง ล้วนสร้างสีสันให้เกิดขึ้นทุกครั้ง ส่วนอัลเทอร์เนท เวอร์ชันก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างเท่าไรนัก นอกจากโน้ตบางตัวเท่านั้นเอง



Casino Estoril กับ Pensao Central อีกสองเพลงที่วอลเตอร์ประพันธ์ออกมาโดยมีกลิ่นอายของอเมริกาใต้เจือจางอยู่บางเบา แทรกซึมอยู่ในไลน์เปียโนของเขาเองเป็นหลัก

D’Afrique หลังจากที่ปล่อยให้เปียโนดวลกับเบสมาหลายเพลงแล้ว คราวนี้ถึงคราวเปียโนกับกลองบ้างจะเป็นไรไป นี่เป็นการดวลกับกลอง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะทำให้ภาคดนตรีในเพลงนี้คึกคักกว่าปกติ คีย์ของเพลงนี้การเปลี่ยนอยู่ถึงสองหนด้วยกันเช่นเดียวกับการเล่นเปียโนของวอลเตอร์เองในเพลงนี้ที่เล่นสองไลน์ไปพร้อมๆ กัน อยากจะให้ลองฟังกันดู จะได้เห็นถึงเพลงที่เล่นยากแต่ฟังง่ายนั้นเป็นอย่างนี้นี่เอง นอกจากเทคนิกแล้ว การหยอกล้อระหว่างเปียโนและกลองให้สนุกนั้น ก็ดูเหมือนว่าวอลเตอร์กับริกจะทำออกมาได้รสชาติพอสมควรทีเดียว อาจจะเป็นด้วยว่าทั้งสองนั้นเป็นคู่หูทำงานกันมานานปีดีดัก การเล่นแบบนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมันเป็นเรื่องของการเล่นให้ “เข้าขา” กันนั่นเอง

October Breeze เพลงนี้เป็นเพลงที่ต่อจากเพลง Aumtumn Leaves ในอัลบัม ต้องถือว่าเป็นการต่อเพลงที่ลงตัวอย่างยิ่ง เพราะมันเหมือนกับดนตรีภาคต่อยังไงยังงั้น ในแง่ของความโดดเด่นด้านชิ้นดนตรีแล้ว ไม่มี... แต่หากจะโดดเด่น คงเป็นที่ความนุ่มนวลและละมุนละไมที่นักดนตรีทั้งสามคนได้ถ่ายทอดออกมาผ่านเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น โดยเฉพาะเสียงบรัชของริกนั้น ฟังดูรื่นรมย์ยิ่งนัก!

บอกตามตรงเลยว่า Softly As In A Morning Sunrise ทำให้ยามเช้าของเราเป็นยามเช้าขึ้นมาอยู่พักหนึ่งเลยทีเดียว เพราะทุกครั้งที่เปิดซีดีเพลงนี้แล้ว ความละมุนละไมที่วอลเตอร์ส่งผ่านมาทางเสียงเปียโน พร้อมกับเพื่อนร่วมวงนิโกลาสและริก สร้างความรื่นรมย์ได้ไม่น้อยในสไตล์อะคูสติกดิบๆ แบบนี้ ยิ่งถ้าได้กาแฟร้อนๆ สักถ้วย พร้อมๆ กับหนังสือพิมพ์สักฉบับ เช้าวันนั้นคงจะเป็นเช้าที่พิเศษจนข่าวฆาตกรรมหน้าหนึ่งที่กำลังจะเปิดอ่านนั้นหมดความหมายไปเลย



Walter Lang / Softly As In A Morning Sunrise (Nagel Heyer)
Walter Lang : Piano
Nicolas Thys : Bass
Rick Hollander : Drums
Produced by Frank Nagel-Heyer

Tracklisting;
1. Monsieur Hulot (Lang) 3.55
2. D’Afrique (Lang) 5.22
3. Autumn Leaves (Kosma) 4.42
4. October Breeze (Lang) 3.49
5. Alone Together (Schwartz) 4.43
6. Softly As In A Morning Sunrise (Romberg) 5.42
7. Spring Is Here (Rodgers) 8.31
8. Casino Estoril (Lang) 4.37
9. Call On Bill (Lang) 4.30
10. Pensao Central (Lang) 4.07
11. Monsieur Hulot (Bonus Track) (Lang) 3.58

Selected Works

2005 Walter Lang Trio/The Sound Of A Rainbow (M&I Records)
2005 Walter Lang Trio/Softly As In A Morning Sunrise (Nagel-Heyer)
2003 Walter Lang/Lotus Blossom (Pirouet)
2002 Walter Lang Trio/Across The Universe (M&I Records)
2000 Walter Lang/Tales Of 2 Cities (Doublemoon)
1999 Walter Lang Trio/Plays Charlie Chaplin (Nippon Crown)










Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2549 21:30:11 น.
Counter : 1440 Pageviews.

13 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
  
เดี๋ยวค่อยเอาคลิปเพลงมาลงแล้วกัน ต้องไปงานฟิล์มเฟสฯ ก่อน
โดย: nunaggie วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:13:32:15 น.
  
expensive
โดย: k_ktp วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:14:26:59 น.
  
เดี๋ยวลองส่งไฟล์ไปให้ฟังก่อนก็ได้นะพี่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ rip ลงเครื่องอ่ะ
โดย: nunaggie วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:15:22:31 น.
  
ขอบคุณครับ ขอลองฟังเพลงนึงเป็นไอเดียก่อนก็ได้ครับ
โดย: k_ktp วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:16:15:00 น.
  
เพลงที่ได้ยินนี้คือเพลง Monsieur Hulot นะคะ ส่วนที่ส่งไปให้คือเพลง Softly As In A Morning Sunrise ค่ะ
โดย: nunaggie วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:21:36:09 น.
  
โอ้ ขอบคุณมากเลยครับ

แต่ว่าส่งไปที่ไหนเหรอครับ ทำไมไม่เห็นเลย
โดย: k_ktp วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:22:03:18 น.
  
เพิ่งได้ฟังเช้านี้เอง รอบรรยากาศให้เข้ากับชื่อเพลงก่อน 55 เสียดายมีฟังอยู่เพลงเดียว จบแล้วเลยเอา Viaticum ของ Esbjorn Svensson มาฟังต่อ
โดย: k_ktp วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:7:26:33 น.
  
ว้าว คนนี้ก็ชอบเหมือนกัน แต่ Viaticum เคยสั่งทางอินเตอร์เน็ตแล้ว มันมาส่งไม่ถึงอ่ะ นี่ก็ปาเข้าไป 3-4 เดือนแว๊ว แย่จริงๆ เลยยังไม่ได้ฟังสักที
โดย: nunaggie วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:10:20:47 น.
  
อ้าว สั่งจากที่ไหนครับ บางที่อย่าง amazon เคยเคลมไปสองครั้งเค้าก็ส่งมาใหม่ ครั้งนึงนี่มันแค่ช้าผิดปกติ เลยได้มาสองแผ่นเลย

viaticum เดี๋ยวเสาร์อาทิตย์นี้จะส่งให้ลองฟังดู
โดย: k_ktp วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:11:17:15 น.
  
สั่งจาก eBay ค่ะ เพิ่งลองเป็นหนแรก เช็กประวัติ Seller แล้วำม่น่ามีปัญหา แต่ดันไม่ได้ของค่ะ เพราะตั้งแต่สั่งของทางเน็ตมาก็ได้ครบทุกครั้ง ไม่มีปัญหา จะมีก็แค่ช้าหน่อยเท่านั้นเอง

คงจะเลิกยุ่งกับ eBay ไปอีกนาน
โดย: nunaggie วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:15:44:39 น.
  
แย่จังครับ ถือซะว่าซื้อแผ่นอื่นแพงขึ้นแล้วกัน เฉลี่ยกันไป

ช้าสุดที่สั่งก็สองเดือนกว่า แต่ก็ไม่ใช่พวกซีดี จะเป็นหนังสือหรืออย่างอื่นซะมากกว่า

เฉลียที่ซื้อของมา เร็วสุด amazon.co.uk บางทีสามสี่วันได้ของแล้ว ไม่งั้นก็อาทิตย์นึง

โดย: k_ktp วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:16:23:54 น.
  
โอ้ ใช่แล้วค่ะ แต่รู้สึกว่าไปรษณีย์ไทยก็อืดอาดเหมือนกัน คือเพิ่งย้ายจากเขตบางซื่อมาเขตจตุจักร แต่ของที่ได้ช้ากว่ากันเท่าตัวเลยค่ะ

แย่จัง
โดย: nunaggie วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:10:41:01 น.
  
~ เพราะจังเลยค่ะ ฟังแล้วเย็นหัวจัยดีจัง
โดย: noohjaah (noohjaah ) วันที่: 10 กันยายน 2549 เวลา:10:52:05 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nunaggie.BlogGang.com

nunaggie
Location :
City of Angels,  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด