Derek Bailey ดนตรีเหนือกาลเวลา


ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าพัฒนาการในวงการดนตรีแจ๊สตลอดศตวรรษที่ 20 เป็นการตกผลึกความคิดของเหล่านักดนตรี ที่ลึกซึ้ง เต็มไปด้วยนัยยะที่โดดเด่น และก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเป็นเดเร็ก ไบลีย์เป็นผู้ที่ส่งเสริมการเล่นในแบบนี้

เรากำลังจะพูดถึงนักกีตาร์ชาวอังกฤษคนสำคัญที่สิ้นลมหายใจสุดท้ายไปเมื่อช่วงคริสต์มาสปี 2548 ด้วยความเคารพ เดเร็กมีฝีมือที่น่าสนใจและโดดเด่น กระฉับกระเฉง ว่องไว มีพรสวรรค์ในอันที่จะเก็บรายละเอียดทางดนตรีไร้รูปแบบ แล้วถักทอร้อยเรียงความคิดออกมาเป็นบทเพลงในแบบที่ลุ่มลึก แต่เขาก็ทำอย่างนี้ในกริยาที่บ่งบอกราวกับว่า “มาด้วยกันกับผมสิครับ หลั่งไหลจิตวิญญาณของคุณผ่านเส้นลวดทั้งหกสายเช่นเดียวกันกับผม ผมว่าคุณทำได้”

แน่นอน คุณคงทำอย่างเขาไม่ได้หรอก แต่ก็ไม่เชิงนะ คุณอาจจะทำอย่างอื่นได้ดีกว่าเขา แต่สำหรับเดเร็กแล้ว ชีวิตการเป็นศิลปินของเขาตลอดเวลา 6 ทศวรรษ มันไม่ใช่เพียงแค่การใช้ลูกเล่นหรือเทคนิกแพรวพราว ไม่ใช่แค่ที่เขาเล่นเพลงของวิลญา-โลโบสได้ หรือไม่ใช่แค่แต่งเพลงที่มีคอมโพสิชันเด็ดๆ ได้ แต่เขาเติมเต็มความรู้สึกในทุกนาทีที่เล่น ดึงแต่ละโน้ตออกมาจากหัวใจ จากอากาศธาตุ และทำให้คนที่เสพงานของเขาได้ “เข้าถึง” อย่างแนบชิดกับสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาด้วย

ต่อไปนี้ก็คือการปฏิวัติทางดนตรีในศตวรรษที่ 20 สิ่งที่เดเร็กไม่ได้เริ่มทำและถึงไม่ได้ทำออกมาทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้น เธลอเนียส มังค์กับ That’s The Way I Feel It, จอห์น เลนนอนกับ Be Here Now คุณต้องเห็นเพื่อที่จะเชื่อ ต้องไปอยู่ที่นั่น และหวังว่าจะอยู่ที่นั่น ความสามารถพิเศษของแฟรงก์ สิเนตรา, ท่าเต้นสุดเท่ของเอลวิส เพรสลีย์, คอนเสิร์ตที่ไม่มีมือถือถ่ายรูปได้ พวกเขาร่วมอยู่เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ประสบการณ์ที่นำมาทำใหม่อย่างละครของเช็กสเปียร์ หรือซิบีลิอัส มันล้ำ ใหม่ ร่วมสมัย พร้อมรับกับความตื่นเต้นที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดนตรีพังค์เกิดขึ้นมาเนื่องจากห้วงเวลาที่พาดผ่านระหว่างการเป็นคนดูคนคอนเสิร์ตและการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งนั่นก็หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเพียง 2 เดือน เดเร็กส่งผ่านอิทธิพลความรู้สึกถึงอิสรภาพแห่งการแสดงกออกทางอารมณ์ คุณอาจจะไม่สามารถทำเหมือนกับเขาได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหรอก



เพลงที่โอบกอดเกี่ยวรัดกับคำว่าอิสระนั้น คนมักจะมองว่าเป็นแจ๊สมากกว่าอย่างอื่น และก็เป็นดนตรีที่เดเร็กได้เริ่มต้นด้วย ในการเล่นหลายๆ ครั้งที่เขาได้เล่นกับศิลปินคนโปรดอย่างสตีฟ เลซี, พอล โมเชียน, โทนี วิลเลียมส์ และแพ็ต เม็ทธินี เขาทุ่มเทในการสร้างสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เดเร็กเขียนหนังสือออกมาได้เล่มหนึ่งในปี 1980 ชื่อสั้นๆ ว่า Improvisation ด้วยนิสัยที่ไม่เหมือนใคร พูดน้อย แต่เขาได้เขียนถึงดนตรีคลาสสิก, ร็อก, รากา และก็นักดนตรีคนอื่นๆ เกี่ยวกับการอิมโพรไวส์ในงานดนตรีเหล่านั้น จุดประสงค์ที่ไม่เคยเปิดเผยชัดเจน ก็คือการอิมโพรไวส์ไม่ได้ทำให้คนคนหนึ่งเป็นนักดนตรีแจ๊สได้ และดนตรีที่เดเร็กเล่นนั้นไม่ใช่แจ๊ส

“ผมไม่คิดว่ามันจะมีอะไรดีขึ้นมาสำหรับการเล่นอิมโพรไวส์อิสระ พูดง่ายๆ เพื่อที่จะได้เป็นแจ๊สนะครับ” เดเร็กให้สัมภาษณ์กับนิก เคนในปี 2000 ลงในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Opprobrium

“แต่ในแง่มุมของผมเกี่ยวกับแจ๊ส ผมว่ามันตายไปตั้งแต่ปี 1956 แล้วนะ มันเริ่มจะเปลี่ยนแนวไปในทางที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 แต่แล้วมันก็กลับเกิดใหม่แบบพิลึกพิลั่นในช่วงทศวรรษที่ 80 แต่นี่เป็นความเห็นส่วนตัวผมนะ มันเป็นส่วนหนึ่งของผมที่ไม่ค่อยชอบเท่าไร อย่างช่วงอายุ 23 ผมก็ไม่ได้อยากจะเป็นชาร์ลี คริสเตียน ก่อนหน้านั้นผมก็อยากจะเป็นนักกีตาร์ชั้นยอดแหละครับ ผมตัดสินใจตอนนั้นว่าถ้าผมต้องการอย่างนั้น ผมก็ต้องเริ่มในสิ่งที่แตกต่าง เล่นในที่ที่แตกต่าง เวลาที่แตกต่าง หรืออาจจะต้องไปเล่นในกลุ่มคนผิวสีด้วย”

เดเร็กเริ่มต้นไปเล่นที่เชฟฟิลด์ ยอร์กไชร์ในเดือนมกราคม 1930 เขาได้รับอิทธิพลจากลุงในการจับกีตาร์ ซึ่งลุงเองก็เล่นกีตาร์ซ้อมกับแผ่นของชาร์ลี คริสเตียนนั่นแหละ ช่วงปี 1950 เขาทำงานในแจ๊สคลับที่อังกฤษ ย้ายไปเมืองอื่นๆ เรื่อยๆ เพื่อนจะเล่นต่อไปในผับ ความสามารถของเขาในฐานะมือกีตาร์นำพาไปสู่การเล่นที่มีสเกลใหญ่ขึ้นๆ จนกระทั่งได้มาพบกับโทนี อ็อกซ์ลีย์ (มือกลอง) และเกวิน ไบรยาร์ (มือเบส) ในปี 1963 พวกเขาก่อตั้งวงโจเซฟ ฮอลบรูค ทริโอขึ้นมา ชื่อนี้เกวินเป็นคนตั้งเพื่ออุทิศให้กับคีตกวีผู้ไร้ชื่อเสียงนามว่า “แว็กเนอร์ผู้ยากไร้” เสียชีวิตในปี 1958 ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่รู้จักกันดี แต่ก็เริ่มค้นหาสิ่งที่เป็นนามธรรมในการอิมโพรไวส์ด้วยกันอย่างเข้าขา

“พวกเราตั้งมั่นจะอยู่ตรงกันข้ามกับกระแสหลัก เพราะว่าในตอนนั้นทุกๆ อย่างมันเหมือน.... มันเป็นช่วงเวลาของออสการ์ ปีเตอร์สัน เหมือนอย่างที่โทนีเคยบอกไว้ว่ามันเป็นอะไรที่เขารับกันได้” เดเร็กบอกเล่าเรื่องนี้ผ่านหนังสืออัตชีวประวัติของเขาโดยเบน วัตสันในปี 1997 “นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เรามีเป็นเกณฑ์พื้นฐาน แล้วก็มีสิ่งอื่นๆ ที่เราให้ความสนใจอย่างมาก นั่นก็คือความเงียบ”



หากว่าไม่ใช่คนค้นพบแล้วล่ะก็ คงจะเรียกฮอลบรูค ทริโอได้ว่าเป็นหัวหอกในการส้รางรูปแบบของการอิมโพรไวส์อิสระที่ก่อร่างเริ่มต้นเป็นเสาหลักในการเคลื่อนที่ต่อไปสู่การเป็นพาณิชย์เมื่อยุค 70 แต่เดเร็กก็ไม่ใช่คนที่จะได้รับเครดิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเพียงคนเดียว ก่อนหน้าที่จะตั้งวงฮอลบรูค ทริโอ เขามีโอกาสที่จะได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับการอิมโพรไวส์อิสระเช่นเดียวกัน

“เล่นกีตาร์กัน 3 คน มีลอรี (สตีลกีตาร์) ผม แล้วก็เพื่อนอีกคนหนึ่งมาเล่นให้เป็นการส่วนตัว จากนั้นพวกเราก็เล่น... ผลที่ออกมาน่ะหรือ? ผมจำไม่ได้ เราไม่ได้ลองเล่นกันอีก แต่ผมว่านั่นเป็นบทเริ่มต้นค้นคว้าที่ไม่ธรรมดา มันเกิดขึ้นตอนนั้น เดี๋ยวนั้น ผมเดาว่ามันก็จะเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่มีใครเป็นคนคิดค้นการอิมโพรไวส์อิสระหรอกครับ”

ในระหว่างการบูมของดนตรีทั้งหลายสาขา แจ๊ส, ร็อกและอื่นๆ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 และต้นทศวรรษที่ 70 เมื่อบรรดาค่ายเพลงทั้งหลายต่างหมดไอเดียกับการปั้นผลงานขึ้นมาสักชิ้นให้โดนๆ ทันใดนั้นก็มีผลงานชิ้นหนึ่งวางจำหน่ายออกมา ในตอนนั้นเดเร็กก็มีส่วนร่วมทำผลงานเด่นๆ ออกมาหลายเซสชันส์ ที่น่าสนใจคือ The Baptisted Traveller (1969), 4 Compositions of Sextet (1970) การขับเคลื่อนครั้งใหม่ได้รับความสนใจมากขึ้น กับวง Spontaneous Music Ensemble ของมือกลอง จอห์น สตีเฟนส์ (แล้วก็มีเดเร็ก, เอแวน พาร์เกอร์ (แซ็กโซโฟน) และเดฟ ฮอลแลนด์ (เบส)) ที่ได้บันทึกเสียงภายใต้สังกัดไอส์แลนด์ในปี 1968 และสังกัดมาร์มาเลดในปี 1969

ต่อมาในปี 1970 ค่ายเพลงไฟแรงจากเยอรมัน ECM ก็ได้วางจำหน่ายแผ่นเสียงจากบริษัท มิวสิก อิมโพรไวเซชัน โดยมีเดเร็ก, เอแวน, ฮิวจ์ เดวิส, เจมี มุยร์ และคริสติน เจฟฟรีย์ (ร้อง) เป็นสมาชิกวง แต่ในปีเดียวกันนั้น ค่าย CBS ก็ได้ปล่อยอัลบัมที่ 3 ของโทนีออกมาและเขาก็เสนอเดเร็กให้มาทำค่ายเพลงด้วยกัน พวกเขาเก็บเงินทุนสำรองเอาไว้และเชิญเอแวนมาร่วมทุนด้วยเป็นคนที่สาม แต่รอยร้าวที่ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในช่วงที่งานอิมโพรไวส์กำลังเบ่งบานในอังกฤษ และเกิดข่าวลือข่าวเล่าอ้างตั้งแต่นั้น

ในอีกไม่กี่ปีต่อมา โทนีกับเอแวนก็ออกจากบริษัท ส่วนเดเร็กก็ยังคงทำต่อมาจวบจนวาระสุดท้าย และในขณะที่เขาออกแผ่นมามากกว่า 50 ชุด ทำให้ค่ายอินคัสของเขาเป็นมากกว่าค่ายเพลงในฝันที่เพ้อพกด้วยทิฐิไปวันๆ เคเร็น บรูคแมน ภรรยาของเขามีส่วนช่วยในการสร้างรากฐานค่ายเพลงสำคัญค่ายนี้ประดับวงการแจ๊สในอังกฤษด้วย

แต่นอกเหนือไปมากกว่าการเป็นผู้ที่ค้นพบและเจ้าของค่ายเพลง ก็คือการเล่นของเขา เดเร็กได้รับการกล่าวขานในฐานะนักเล่นที่มีการแสดงเดี่ยวที่น่าจดจำ ท้าทายให้ผู้ฟังในอันที่จะทำความเข้าใจ ด้วยการซ้อนทับของตรรกะและชุดความคิดที่ยากจะเข้าใจในการฟังเพียงหนึ่งครั้ง ซึ่งมีนักดนตรีไม่กี่คนทำ อาจจะมีแค่ซีซิล เทย์เลอร์และรอสโก มิตเชลเท่านั้น รูปแบบการเล่นของเดเร็กนั้นไม่สามารถจะแยกแยะจำแนกได้ แต่สามารถซึมซับได้ ไม่เท่านั้น...ตัวเขาเองก็ยังไม่ชอบที่จะแสดงเดี่ยวด้วย โดยให้เหตุผลว่า

“สำหรับผม... การที่ผมจะเล่นได้ก็คือเอาเครื่องดนตรีไปเล่น แล้วสิ่งที่ผมจะเล่นก็คือสิ่งที่ศึกษา แต่คำว่าดนตรีสำหรับผม มันถูกคนอื่นนำพามา ไม่มีเหตุผลในการที่จะไม่เล่นกับคนอื่น ถ้าพวกเขาไม่ได้นำมาซึ่งเสียงเพลงเหมือนกัน บางคนชอบตราหน้าผมว่าไม่สนใจคนอื่นๆ เวลาเล่น ซึ่งคำกล่าวหาแบบนั้นทำให้ผมกลายเป็นเหมือนคนแปลก นั่นเป็นเพราะผมคิดว่าเพื่อนร่วมวงมีความสำคัญ อย่างผมไม่ชอบแสดงเดี่ยว เพราะผมไม่ได้สนใจการโซโลขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเอง การฟังก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าที่เล่นๆ มาทั้งหมดจะต้องเล่นโซโล ผมก็ยังรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำจะไม่สมบูรณ์ หากว่าไม่มีเพื่อนร่วมวง พวกเขาเติมเต็มบทเพลงที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ ผมว่าทั้งหลายทั้งปวง การเล่นเป็นวงคือการเริ่มต้น”



บางคนก็อาจจะเข้าใจว่าเขาชอบโชว์ออฟ แต่ในขณะที่บางคนก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาไม่เคยเอ่ยปากชมเพื่อนร่วมวง มันไม่ใช่วิสัยปกติที่เขามักจะทำ เดเร็กมักจะเดินรอบๆ เพื่อนๆ ตั้งคำถามพวกเขา แล้วก็พูดจากัดเพื่อนๆ ในบางครั้ง นั่นคงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนฟังได้เห็นเขาในแสงที่แตกต่างจริงๆ ในหนังสือ Derek Bailey And The Story Of Free Improvisation ในปี 2004 เบน วัตสันเขียนไว้ว่า

“เช่นเดียวกับนักสนทนาที่น่าสนใจจริงๆ การเล่นของเดเร็กไม่ได้เป็นการเสริมการเล่นของนักดนตรีคนอื่นที่เขาเล่นด้วย หากเขาพยายามที่จะทำความเข้าใจการเล่นของเพื่อนร่วมวงด้วยการเล่นสิ่งที่ตรงกันข้าม การกระทำในแง่ลบแบบนี้ของเดเร็กคือสิ่งที่น่าสนใจในอันที่จะกล่าวว่า มันก่อประโยชน์ให้กับเพื่อนนักดนตรี เพราะว่าพวกเขาถูกปูพื้นในความเข้าใจดนตรีตามตรรกะการสนทนาในแบบของเขา

เดเร็กยังคงเดินหน้าในการออกแสดงและบันทึกผลงานเดี่ยว อย่างไรก็ตามโรคประสาทพิการได้ก้าวเข้ามาทำร้ายความสามารถในการเล่นของเขาลงอย่างร้ายกาจ ผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา Carpal Tunnel ที่ออกกับค่ายซาดิกเพียง 5 เดือนก่อนหน้าที่เขาจะสิ้นลมหายใจสุดท้าย งานชุดนี้ไม่เพียงแค่ได้ฟังการเล่นเดี่ยวของเขา แต่เรายังจะพบด้วยว่าเขากะปลกกะเปลี้ยจากโรคนี้อย่างเห็นได้ชัด 10 นาทีแรกของอัลบัมคือเพลง Explanation & Thanks คือการพูดของเดเร็กทั้งหมดเกี่ยวกับการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อที่มือในขณะที่เล่นไปด้วย (เดเร็กนั้นชอบการพูดไปพลางเล่นไปพลางเป็นอย่างมาก เขาเคยออกผลงานแบบนี้ที่เขาเรียกเองว่า Chats ในช่วงหลายๆ ปี) เพลงทั้ง 5 เพลงในอัลบัมถูกบันทึกในเวลาต่างวาระรวม 3 สัปดาห์เพื่อจะบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในการเล่นที่เสื่อมลง เพลงปิดอัลบัมแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียการเล่นลูกเล่นต่างๆ อย่างสิ้นเชิง

แต่กระนั้นก็ขับรัศมีในการแสดงอารมณ์การเล่นมากขึ้น เหมือนอย่างที่เคย การเล่นของเดเร็กมักจะต้องใจเสมอ มันไม่ได้ฟังง่ายจนกระทั่งทำให้รู้สึกตามไปสบายๆ แต่มันสะท้อนออกมา ในเชิงลึกซึ้งมากขึ้น การประพันธ์ที่เกินคำบรรยาย และล่องลอยอยู่ในห้วงเวลา

ในปี 1976 หนังสือ Musics ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักดนตรี 30 คนกับคำถามที่ว่า “เวลาคุณอิมโพไวส์อยู่นั้น เกิดอะไรขึ้นกับเวลา?” บางคนก็ตอบยาวเป็นหน้ากระดาษ หากแต่เดเร็กตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “จากเสียงติ๊กก็เป็นเสียงต๊อก จากเสียงต้องก็เป็นเสียงติ๊ก” เช่นเดีวกับการเล่นของเขาที่ยังคงหยัดยืนอยู่อย่างไร้กระแสกาล





Selected Works

1970 Topography Of The Lungs
1972 Derek Bailey & Han Bennik
1980 Aida
1983 Outcome (Live)
1988 Han
1989 Lace
1992 Solo Guitar Vol.2
1997 No Waiting (Live)
1998 Takes Fakes And Dead She Dances
1999 Mirakle
2000 Ballads

My Melancholy Baby - Derek Bailey



Create Date : 09 ตุลาคม 2549
Last Update : 14 กรกฎาคม 2551 1:56:19 น.
Counter : 1120 Pageviews.

1 comments
:: ถนนสายนี้มีตะพาบ โครงการที่ 349 :: กะว่าก๋า
(8 เม.ย. 2567 05:48:36 น.)
Maggie May - Rod Stewart ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(3 เม.ย. 2567 10:53:48 น.)
Tonkatsu TOKU (ทงคัตสึ อร่อยขั้นสุด!) peaceplay
(27 มี.ค. 2567 10:18:25 น.)
In Dreams - Roy Orbison ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(26 มี.ค. 2567 12:20:30 น.)
  
เอ่อ แปลกจัง... เวลาแสดงผลใน Firefox แล้วหน้ามันใหญ่เกินหน้าจอยังไงก็ไม่รู้ แปลกฌิง ๆ
โดย: nunaggie วันที่: 10 ตุลาคม 2549 เวลา:13:53:06 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Nunaggie.BlogGang.com

nunaggie
Location :
City of Angels,  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด