Miles Davis - The Prince of Darkness ตอนที่ 7
Funky Funky Miles

อัลบัมแจ๊ซร็อค Bitches Brew ได้รับเสียงชื่นชมกันอย่างหนาหูจากทั้งแฟนเพลงและนักวิจารณ์ แต่ก็นั่นแหละ หลังจากนั้นก็ยังคงไม่มีใครเดาออกว่างานชิ้นต่อไปของ ไมล์ส จะออกมาอีท่าไหน เขาบอกในตอนนั้นว่าอยากจะทำ “ดนตรีคนดำ” และแล้วสิ่งที่เขาทำออกมาก็คือดนตรีแร็ป จังหวะหนัก เคลือบเคล้าด้วยฟังกี ในอัลบัม On The Corner และอัลบัมนี้ก็ยังคงความคลาสสิกเรื่อยมาจนถึงยุค 2000 ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะได้รับคำวิจารณ์ไม่ถึงกับดีมากก็ตาม อัลบัมเปิดตัวด้วยเสียงกีตาร์จังหวะกลางๆ ของ John McLaughlin พร้อมๆ กับ Billy Hart หรือไม่ก็ Jack DeJohnette (หรือทั้งคู่!) กระหน่ำหนังกลองยังกับรัวปืน แล้วก็ยังทะบลาของ Badal Roy ซีตาร์ของ Collin Walcott และเสียงเครื่องเคาะของ Don Alias ส่วน Herbie Hancock กับ Chick Corea ก็อยู่ในวงนั้นด้วยเช่นกัน ในตอนที่อัลบัมนั้นออกวางจำหน่าย นักดนตรีทุกคนที่ร่วมวงไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในปกแผ่นเลย ปล่อยให้ทั้งแฟนเพลงและทั้งนักวิจารณ์งงไปตามๆ กันว่าใครมาร่วมสังฆกรรมกับ ไมล์ส ในงานชุดนี้บ้าง แต่อย่างน้อยฝีมือกีตาร์ของจอห์น แม็คลอฟลินก็โดดเด่น มีเอกลักษณ์จนไม่น่าที่จะเดาผิดว่าเป็นเขา และแล้วในสัปดาห์ถัดมา นักดนตรีเซ็ตนี้ก็บันทึกเพลง Ife (มีอยู่ในอัลบัมคู่ Big Fun) เพลงที่กินความยาวกว่า 21 นาที อาจจะด้วยความเข้าขากันของบรรดานักดนตรีเหล่านี้ คุณจะได้ยินเสียงหลอกหลอนของทรัมเป็ต – แน่นอน เป่าโดย ไมล์ส เจ้าเก่าควบคู่คละเคล้าไปกับเสียงให้จังหวะของนักดนตรีแบบนานาชาติ อย่าง Al Foster, บิลลี ฮาร์ต, บะดัล รอย และ Mtume



ไม่นานหลังจากนั้น ไมล์ส ก็ออกตะลอนทัวร์ คราวนี้เป็นทัวร์ใหญ่กว่าที่เคยบันทึกในงาน Live-Evil เสียอีก และออกมาเป็นอัลบัม Miles Davis In Concert บันทึกเสียงในเดือนกันยายน 1972 ที่ฟิลฮาร์มอนิก ฮอล ในเมืองนิวยอร์ก ที่นี่เองที่ ไมล์ส ใช้วาห์วาห์เพื่อให้เกิดเสียงเอฟเฟ็กต์ตลอด เช่นเดียวกับ Reggie Lucas มือกีตาร์ ดังนั้นอัลบัมนี้เลยกลายเป็นผจญภัยในวาห์วาห์ไปเลย เฮนเดอร์สัน กับ บะดัล รอย ยังคงเล่นประจำเครื่องเล่นของตนเองคือเบสกับทะบลา Khalil Barakrishna เล่นซีตาร์ไฟฟ้า อัล ฟอสเตอร์ กับกลอง และ ทูม กับเครื่องเคาะ Cedric Lawson ช่วยแต่งแต้มเสียงสังเคราะห์ประหลาดๆ กับซินธิไซเซอร์ของเขา และคนสุดท้าย Carlos Garnett กับโซปราโนแซ็กโซโฟน เป็นวงที่มีประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว ฟังก์กันเข้าไส้! ถ้าอยากจะฟังอัลบัมแสดงสดที่ได้รสชาติ งานในยุคนี้น่าจะสนองความต้องการได้มากโข มีอยู่ 2 เพลงเท่านั้นที่บันทึกในปี 1973 คือ Calypso Frelimo และ Red China Blues ซึ่งอยู่ในอัลบัม Get Up With It เพลง He Loved Him Madly กับ Calypso Frelimo เวอร์ชันยาวก็ถือว่าเป็นเพลงสำคัญที่ต้องฟังเหมือนกัน ที่เหลือก็คืออัลบัมสะสม 3 อัลบัม Dark Magus, Agharta และ Pangaea (สองลำดับหลังเป็นงานที่บันทึกเสียงในวันเดียว….ไม่รู้ทำได้ไง….แล้วก็เป็นที่ท้ายๆ ที่ ไมล์ส เล่นเคอนเสิร์ตก่อนที่เขาจะหยุดพักยาว) เป็นอัลบัมที่ควรค่าแก่การฟังด้วยความที่มันอัดแน่นไปด้วยคุณภาพในงานของ ไมล์ส เอง และยังเป็นงานที่เต็มไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ในการเป่าทรัมเป็ตนำของเขาอีกด้วย



สิ่งที่หายไปคือการทดลองอะไรใหม่ๆ ตามประสา ไมล์ส แต่สิ่งที่ได้มาคือการบรรลุถึงเป้าหมายสุดยอดของอัลบัม On The Corner ที่คุณต้องหามาฟังไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม


ไมล์ส กับชีวิตที่ฟื้นคืน

หลังจากยุคฟังก์กระจายในอัลบัม Pangaea ยังจะมีอะไรอีกไหมหนอที่ ไมล์ส จะสรรค์สร้าง นอกจากการพักผ่อน? ความเงียบจากตัวเขาเองดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ชัดที่สุด ไมล์ส พักยาวไปหลายปีด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการกรำงานที่ผ่านมา ทั้งไม่แต่งเพลง ไม่บันทึกเสียง และก็ไม่แสดงดนตรีที่ไหนอีก สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ไมล์ส ไม่พูดไม่ทำอะไรสักอย่างกับใคร ทุกคนก็เลยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเดาใจเขา นี่มันถึงจุดจบแล้วหรือ?

ป่วยการจะมานั่งเดา ในระหว่างนั้น อัลบัมรวมงานเพลงต่างๆ ของ ไมล์ส ก็ทยอยไหลอกมาเป็นสายน้ำ อย่าง Circle In The Round และ Directions รวมงานที่ไม่เคยออกวางจำหน่าย ในช่วงนั้นก็ข่าวต่างๆ นานาว่าเขาป่วย บางแหล่งบอกว่าเขาได้รับอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้ข้อเท้าหัก จากนั้นเขาก็เงียบหายไป แล้วก็ต้องมาผ่าตัดตะโพกข้างหนึ่ง แต่เสียงข่าวลือข่าวเล่าก็ต้องจางหายไป เมื่อ ไมล์ส ปรากฏตัวออกมาพร้อมกับอัลบัม The Man With The Horn ในปี 1981 แฟนเพลงต่างพาตกตะลึงกับการกลับมาครั้งนี้ ไม่ใช่ตะลึงแค่ที่เขากลับมาเท่านั้น แต่งานเพลงสิที่เปลี่ยนไป ความกระตือรือร้น กระหายแบบวัยหนุ่ม อย่างในช่วงกลางยุค 70 มันเหือดหาย แต่สิ่งที่ทดแทนก็คือความสุภาพ สุขุม นุ่มลึก บางทีเหตุผลของการนอกคอกเมื่อวัยหนุ่ม ก็นำมาซึ่งความสุขุมเมื่อก้าวต่อมา



ระหว่างที่ ไมล์ส เงียบหายไป แน่นอนว่าเทคโนโลยีหรืออะไรต่างๆ นานามันก็ต้องก้าวหน้า พัฒนาขึ้นตามลำดับ ซับซ้อน หรูหรา อลังการมากกว่าเก่า เขาคงรู้สึกเหมือนกับเด็กน้อยในร้านขายขนมยังไงยังงั้น ยังไงก็ตาม The Man With The Horn ก็เป็นงานที่มีรสชาติชวนชิม มีนักดนตรีลูกหม้อเก่าคนเดียวเท่านั้นที่มาร่วมงานต่อ นั่นคือ อัล ฟอสเตอร์ นอกนั้นมี Barry Finnerty เล่นกีตาร์ Bill Evans (คนละคนกับมือเปียโนเจ้าของอัลบัมอมตะ Waltz For Debby) เป่าโซปราโนแซ็ก ไมล์ส ดูสงบนิ่ง บางทีเขาเป่าเบาบางไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมของตัวเองได้ดี



We Want Miles แผ่นคู่แสดงสดในช่วงก่อนหน้านั้นก็ได้ออกมาด้วย และก็ยังตามด้วยอัลบัมที่ดีเยี่ยม มันได้รับรางวัลแกรมมีในปี 1982 ในสาขา Best Jazz Instrumental Performance By Soloist ต่อมา Star People ก็ออกมาในปี 1983 อิ่มเอิบไปด้วยอิเล็คทรอนิก บลูส์ มี Mike Stern กับ John Scofield มาร่วมเล่นกีตาร์ นี่เป็นทีมเสริมที่ดีที่สุดของ ไมล์ส ในช่วงยุค 80 ทีเดียว นี่เป็นอีกอัลบัมที่สมควรอย่างยิ่งแก่การสะสม



อีกสองอัลบัมที่ตามมา ปี 1984 กับอัลบัม Decoy และปี 1985 กับ You’re Under Arrest นำเสนอด้านที่นุ่มนวลกว่าของ Star People แม้ว่า ไมล์ส , เอแวนส์, สโกฟิลด์ และ ฟอสเตอร์ ยังคงพอใจที่จะเล่นกัน ก็ยังมี Branford Marsalis มาช่วยใน 3 เพลง คือ Decoy, Code M.D. และ That’s Right แม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่า You’re Under Arrest นั่นมันอ่อนหวานเหลือเกิน ทั้งยังมีการนำเพลงร่วมสมัยอย่าง Human Nature และ Time After Time มาถอดความใหม่ สำหรับความคิดคำนึงในช่วงบั้นท้ายชีวิตของเขาแล้ว ใครล่ะจะกล้าบ่น?

ปลายยุค 80 ไมล์ส ย้ายจากโคลัมเบียที่เคยอยู่มา 30 ปี หันมาซบอกวอร์เนอร์ และออกอัลบัม Aura (บันทึกเสียงในปี 1985 แต่วางขายในปี 1989), Tutu (1986) และ Amandla (1989) 3 สตูดิโออัลบัมสุดท้ายของเขา งานชุด Aura เป็นอัลบัมที่เอานักดนตรียุโรปอย่าง Palle Mikkelborg มาร่วมเล่น แจมด้วย จอห์น แม็คลอฟลิน งานชุดนี้เป็นอีกชุดหนึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานที่ดีของเขา ถึงแม้ว่าฟังครั้งแรกอาจจะไม่ชอบ แต่การฟังครั้งต่อๆ ไปจะมีความหมายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการประพันธ์ของมิกเกลบอร์ก แล้วคุณจะหลงรักเพชรเม็ดนี้ของ ไมล์ส อีกทั้งมันยังได้รับรางวัลแกรมมีสาขา Best Jazz Instrumental Performance By A Soloist On A Jazz Recording ส่วน Tutu และ Amandla (โดยเฉพาะ Tutu) ได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากนักดนตรีหนุ่มไฟแรงอย่าง Marcus Miller งาน Tutu เป็นการเรียงลำดับทางอารมณ์ เสียงออเคสตราสังเคราะห์ที่สรรเสริญภาวะครุ่นคำนึงในภาวะปัจจุบันของ ไมล์ส ถึงแม้ว่าความบ้าบิ่นในอดีตจะจางหาย แต่ยังไงก็ตามสัญลักษณ์เสียงทรัมเป็ตที่หลอกหลอนนั้นยังคงอยู่ ชุดนี้ได้รับรางวัลแกรมมี สาขา Best Jazz Instrumental Performace งาน Amandla เป็นงานที่นำเสนอความหลากหลายของดนตรีและการโซโลเดี่ยวของ Kenny Garrett กับอัลโตเเซ็กของเขา (ยังมีอัลบัมที่เป็นงานช่วงท้ายๆ ของ ไมล์ส อยู่อย่าง Siesta เล่นกับมิลเลอร์ Doo-Bop งานที่บางครั้งก็น่าสนใจ บางทีก็อยากจะโยนทิ้ง มันผสมผสานดนตรีฮิปฮอปลงไปด้วย ชุดนี้เสร็จหลังจากที่ ไมล์ส ได้เสียชีวิตลงไปแล้ว แต่ยังไงก็ตาม อัลบัมชุดนี้ก็ได้รับรางวัลแกรมมี สาขา Best Rhythm & Blues Instrumental Performance และเพลง Fantasy ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี สาขา Best Jazz Instrumental Solo)




Create Date : 04 กันยายน 2548
Last Update : 25 กันยายน 2548 17:47:01 น.
Counter : 1100 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nunaggie.BlogGang.com

nunaggie
Location :
City of Angels,  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]

บทความทั้งหมด