เรื่องเกี่ยวกับเทวดา
พระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตรนั้นเราได้ศึกษากันมาจนถึง สังยุตตนิกาย เป็นบทรวบรวมพระสูตรขนาดสั้นจำนวนมาก ประมาณ 10 พระสูตรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันรวมเป็นวรรคหนึ่งๆ และราวหนึ่งถึงสามวรรคที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันรวมเป็นหนึ่งสังยุตต์ ในพระสูตรที่เป็นสังยุตตนิกายนี้เริ่มต้นด้วยเทวตาสังยุตต์ และเทวปุตตสังยุตต์ คือเรื่องเกี่ยวข้องกับเทวดา ผมยกมาลงทั้งหมดโดยไม่ตัดทอนเลยครับ เพราะล้วนเป็นพระสูตรสั้นๆ เข้าใจง่ายและไม่ต้องขยายความ อีกทั้งเรื่องของเทวดานั้นก็เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา ประการหนึ่งที่มักพบเห็นคือทิฏฐิของเหล่าเทวดานั้นมีหลากหลาย บ้างมองเห็นถึงความไม่เที่ยงตามหลักพระศาสนา บ้างเพลิดเพลินในเทวดาสมบัติ บางพระสูตรเปรียบเทียบวาทะในเรื่องเดียวกันระหว่างเทวดาและพระพุทธองค์ เป็นเรื่องน่าศึกษาไม่น้อยครับ

พระสูตรเหล่านี้ยกมาทั้งหมดจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุตต์ และเทวปุตตสังยุตต์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

***********************************
เทวตาสังยุต

นฬวรรคที่ ๑

โอฆตรณสูตรที่ ๑

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ฯ

พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯ

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า
นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว
ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก ฯ

[๓] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล ฯ

นิโมกขสูตรที่ ๒

[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๕] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ พระองค์ย่อมทรงทราบมรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายหรือหนอ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เรารู้จักมรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายโดยแท้จริง ฯ

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ย่อมทรงทราบมรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายอย่างไรเล่า ฯ

[๖] พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาโดยคาถานี้ว่า
ท่านผู้มีอายุ เพราะความสิ้นภพอันมีความเพลิดเพลินเป็นมูล เพราะความสิ้นแห่งสัญญาและวิญญาณ เพราะความดับ เพราะความสงบแห่งเวทนาทั้งหลาย เราย่อมรู้จักมรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ ฯ

อุปเนยยสูตรที่ ๓

[๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถา นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูก
ชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้
ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำความสุขมาให้ ฯ

[๘] ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคล
ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น
ภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด ฯ

อัจเจนติสูตรที่ ๔

[๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้นแห่ง
วัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญ
ทั้งหลายที่นำความสุขมาให้ ฯ

[๑๐] กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้น
แห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละ
อามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด ฯ

กติฉินทิสูตรที่ ๕

[๑๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถานี้ว่า
บุคคลควรตัดเท่าไร ควรละเท่าไร ควรบำเพ็ญคุณอันยิ่ง
เท่าไร ภิกษุล่วงธรรมเครื่องข้องเท่าไร พระองค์จึงตรัสว่า
เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว ฯ

[๑๒] บุคคลควรตัดสังโยชน์เป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ อย่าง ควรละ
สังโยชน์เป็นส่วนเบื้องบน ๕ อย่าง ควรบำเพ็ญอินทรีย์อันยิ่ง
๕ อย่าง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่าง เรากล่าวว่า
เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว ฯ

ชาครสูตรที่ ๖

[๑๓] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อธรรมทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหนนับว่าหลับ เมื่อ
ธรรมทั้งหลายหลับ ธรรมประเภทไหนนับว่าตื่น บุคคลหมัก
หมมธุลีเพราะธรรมประเภทไหน บุคคลบริสุทธิ์เพราะธรรม
ประเภทไหน ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
[๑๔] เมื่ออินทรีย์ ๕ อย่างตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕ อย่าง
นับว่าหลับ เมื่อนิวรณ์ ๕ อย่างหลับ
อินทรีย์ ๕ อย่าง นับว่าตื่น บุคคลหมักหมมธุลีเพราะ
นิวรณ์ ๕ อย่าง บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕ อย่าง ฯ

อัปปฏิวิทิตสูตรที่ ๗

[๑๕] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ธรรมทั้งหลายอันชนพวกใดยังไม่แทงตลอดแล้ว ชนพวกนั้น
ย่อมถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้นชื่อว่ายังหลับ
ไม่ตื่น (กาลนี้) เป็นกาลสมควร เพื่อจะตื่นของชนพวกนั้น ฯ

[๑๖] ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดแทงตลอดดีแล้ว ชนพวกนั้น
ย่อมไม่ถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย
รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้
ประพฤติไม่เสมอ ฯ

สุสัมมุฏฐสูตรที่ ๘

[๑๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ธรรมทั้งหลายอันชนพวกใดลืมเลือนแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมถูก
จูงไปในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้นชื่อว่ายังหลับไม่ตื่น
(กาลนี้) เป็นกาลควรเพื่อจะตื่นของชนพวกนั้น ฯ

[๑๘] ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดไม่ลืมเลือนแล้ว ชนพวกนั้น
ย่อมไม่ถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย
รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติ
ไม่เสมอ ฯ

มานกามสูตรที่ ๙

[๑๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ทมะย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ปรารถนามานะ ความรู้ย่อมไม่มีแก่
บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า
ประมาทแล้ว ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏอันเป็นที่ตั้งแห่ง
มัจจุได้ ฯ

[๒๐] บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรม
ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว
บุคคลนั้นพึงข้ามฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุได้ ฯ

อรัญญสูตรที่ ๑๐

[๒๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
วรรณของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฉันภัตอยู่หนเดียว เป็น
สัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ย่อมผ่องใสด้วยเหตุ
อะไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
[๒๒] ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว ไม่ปรารถนา
ปัจจัยที่ยังมาไม่ถึง เลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
วรรณ (ของภิกษุทั้งหลายนั้น) ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น
เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และความโศก
ถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุจึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อ
สดที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น

นันทนวรรคที่ ๒

นันทนสูตรที่ ๑

[๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

[๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ พวกนางอัปสรบำเรออยู่ในสวนนันทวัน ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
เทวดาเหล่าใดไม่เห็นนันทวัน อันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพ
สามสิบ ผู้มียศ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข ฯ

[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า
ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้น
เสียได้เป็นสุข ฯ

นันทิสูตรที่ ๒

[๒๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย คนมีโค ย่อมยินดี
เพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิเป็นความดีของ
คน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มียินดีเลย ฯ

[๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย บุคคลมีโค
ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิ
เป็นความเศร้าโศกของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้น
ไม่เศร้าโศกเลย ฯ

นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓

[๒๘] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อม
ไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลาย
มีทะเลเป็นอย่างยิ่ง ฯ

[๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าว
เปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝน
ต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม ฯ

ขัตติยสูตรที่ ๔

[๓๐] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า โคประเสริฐสุดกว่า
สัตว์ ๔ เท้า ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยา
ทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่า
บุตรทั้งหลาย ฯ

[๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า สัตว์อาชาไนย
ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า ภรรยาที่ปรนนิบัติดี ประเสริฐ
สุดกว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้น
ประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ

สกมานสูตรที่ ๕

[๓๒] (เทวดากล่าวว่า)
เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่
ประหนึ่งว่าครวญคราง ความครวญครางของป่านั้นเป็นภัย
ปรากฏแก่ข้าพเจ้า ฯ

[๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่
ประหนึ่งว่าครวญคราง นั้นเป็นความยินดีปรากฏแก่เรา ฯ

นิททาตันทิสูตรที่ ๖

[๓๔] (เทวดากล่าวว่า)
อริยมรรคไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะความ
หลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความไม่ยินดี และ
ความมึนเมาเพราะภัต ฯ

[๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะขับไล่ความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย
ความไม่ยินดี และความมึนเมาเพราะภัต ด้วยความเพียร
อริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ได้ ฯ

ทุกกรสูตรที่ ๗

[๓๖] (เทวดากล่าวว่า)
ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก
เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ
คนพาล ฯ

[๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะสิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้าม
จิต เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่
ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหด
อวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัยและ
ทิฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพาน
แล้ว ไม่พึงติเตียนใคร ฯ

หิริสูตรที่ ๘

[๓๘] บุรุษที่เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ ได้มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดบรรเทาความหลับเหมือนม้าดีหลบแซ่ ภิกษุนั้นมีอยู่
น้อยรูปในโลก ฯ

[๓๙] ขีณาสวภิกษุพวกใด เป็นผู้เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ
มีสติประพฤติอยู่ในกาลทั้งปวง ขีณาสวภิกษุพวกนั้นมีน้อย
ขีณาสวภิกษุทั้งหลาย บรรลุนิพพานเป็นส่วนสุดแห่งทุกข์
แล้ว เมื่อสัตตนิกายประพฤติไม่เรียบร้อย ย่อมประพฤติ
เรียบร้อย ฯ

กุฏิกาสูตรที่ ๙

[๔๐] (เทวดากล่าวว่า)
กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่อง
สืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก
หรือ ฯ

[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ
เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจาก
เครื่องผูก ฯ

[๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้า
กล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็น
เครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ

[๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง
ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็น
เครื่องผูกแก่เรา ฯ

ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริง
เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจาก
เครื่องผูก ฯ

สมิทธิสูตรที่ ๑๐

[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระสมิทธิเถระผู้มีอายุ ตื่นขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี เข้าไปที่ลำน้ำตโปทาเพื่อจะล้างตัว ครั้นล้างตัวแล้ว จึงกลับขึ้นยืนมีจีวรผืนเดียวรอให้ตัวแห้ง ฯ

[๔๕] ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีใกล้สว่าง เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังลำน้ำตโปทาทั้งสิ้นให้สว่างทั่ว เข้าไปหาพระสมิทธิเถระผู้มีอายุถึงที่ใกล้ ครั้นแล้ว จึงลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะพระสมิทธิเถระผู้มีอายุด้วยคาถาว่า
ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแล้ว ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้ว ก็ไม่
ต้องขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้ว จงขอเถิด กาลอย่า
ล่วงท่านไปเสียเลย ฯ

[๔๖] ส. เรายังไม่รู้กาล กาลยังลับ มิได้ปรากฏ เพราะ
เหตุนั้น เราไม่บริโภคแล้ว จึงยังขออยู่ กาลอย่าล่วงเราไป
เสียเลย ฯ

[๔๗] ครั้งนั้นแล เทวดานั้นลงมายืนที่พื้นดินแล้ว กล่าวกะพระสมิทธิเถระว่า ภิกษุ ท่านเป็นบรรพชิตยังหนุ่มแน่น มีผมดำประกอบด้วยปฐมวัยจำเริญรุ่น จะเป็นผู้ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลายเสียแล้ว ภิกษุ ท่านจงบริโภคกามทั้งหลายเป็นของมนุษย์ อย่าละกามที่เห็นประจักษ์เสีย วิ่งไปหาทิพยกามอันมีโดยกาลเลย ฯ

[๔๘] ส. ท่านผู้มีอายุ เราหาได้ละกามที่เห็นประจักษ์ วิ่งเข้าไปหาทิพยกามอันมีโดยกาลไม่ ท่านผู้มีอายุ เราละกามอันมีโดยกาลแล้ว วิ่งเข้าไปหาโลกุตรธรรมที่เห็นประจักษ์ ท่านผู้มีอายุ ด้วยว่ากามทั้งหลายอันมีโดยกาล (เป็นของชั่วคราว) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามทั้งหลายนั้นมีโทษยิ่ง โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรเรียกร้องผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงทราบเฉพาะตน ฯ

[๔๙] ท. ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เป็นอย่างไร โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลาย พึงทราบเฉพาะตน เป็นอย่างไร ฯ

[๕๐] ส. ท่านผู้มีอายุ เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ เราไม่อาจบอกท่านได้พิสดาร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว ทูลถามเรื่องนี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด ท่านพึงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

ท. พระผู้มีพระภาคนั้น อันพวกเทวดามีบริวารมากจำพวกอื่นแวดล้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายเลย ภิกษุ ถ้าท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วพึงทูลถามเรื่องนี้ แม้ข้าพเจ้าพึงมาเพื่อฟังธรรม ฯ

พระสมิทธิเถระผู้มีอายุรับต่อเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราจะทูลถามอย่างนี้ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๕๑] พระสมิทธิเถระผู้มีอายุ ครั้นนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ขอประทานโอกาสกราบทูล ข้าพระองค์ตื่นขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี เข้าไปที่ลำน้ำตโปทาเพื่อล้างตัว ครั้นล้างตัวแล้วกลับขึ้นยืน มีจีวรผืนเดียวรอให้ตัวแห้ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีใกล้สว่าง เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังลำน้ำตโปทาทั้งสิ้นให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้วจึงลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวด้วยคาถานี้ว่า
ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแล้ว ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้ว ก็
ไม่ต้องขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้ว จงขอเถิด กาลอย่า
ล่วงท่านไปเสียเลย ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า
เรายังไม่รู้กาล กาลยังลับ มิได้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น เราไม่
บริโภคแล้ว จึงยังขออยู่ กาลอย่าล่วงเราไปเสียเลย ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล เทวดานั้นลงมายืนที่พื้นดินแล้วกล่าวคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ ท่านเป็นบรรพชิตยังหนุ่มแน่น มีผมดำ ประกอบด้วยปฐมวัยจำเริญรุ่น จะเป็นผู้ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลายเสียแล้ว ภิกษุ ท่านจงบริโภคกามทั้งหลายเป็นของมนุษย์ อย่าละกามที่เห็นประจักษ์ วิ่งเข้าไปหาทิพยกามอันมีโดยกาลเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวคำนี้กะเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราหาได้ละกามที่เห็นประจักษ์ วิ่งเข้าไปหาทิพยกามอันมีโดยกาลไม่ ท่านผู้มีอายุ เราละกามอันมีโดยกาลแล้ว วิ่งเข้าไปหาโลกุตรธรรมที่เห็นประจักษ์ ท่านผู้มีอายุ ด้วยว่ากามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามทั้งหลายนั้นมีโทษยิ่ง โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงทราบเฉพาะตน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมากเป็นอย่างไร โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงทราบเฉพาะตน เป็นอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวคำนี้กะเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราเป็นผู้บวชใหม่ เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ เราไม่อาจบอกท่านได้พิสดาร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว ทูลถามเรื่องนี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ พระผู้มีพระภาคนั้น อันพวกเทวดามีบริวารมากจำพวกอื่นแวดล้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายเลย ภิกษุ ถ้าท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วพึงทูลถามเรื่องนี้ แม้ข้าพเจ้าพึงมาเพื่อฟังธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคำของเทวดานั้นเป็นคำจริง เทวดานั้นพึงมาในที่ใกล้วิหารนี้นี่แล ฯ

เมื่อพระสมิทธิเถระทูลอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะพระสมิทธิเถระผู้มีอายุว่า ทูลถามเถิด ภิกษุ ทูลถามเถิด ภิกษุ ข้าพเจ้าตามมาถึงแล้ว ฯ

[๕๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเทวดานั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
สัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญในข้อที่ได้รับบอก ติดอยู่ในข้อที่ได้
รับบอก ไม่กำหนดรู้ข้อที่ได้รับบอก ย่อมมาสู่อำนาจแห่งมัจจุ
ส่วนขีณาสวภิกษุกำหนดรู้ข้อที่ได้รับบอก ย่อมไม่สำคัญ
ข้อที่ได้รับบอกแล้ว เพราะข้อที่ได้รับบอกนั้น ย่อมไม่มีแก่
ขีณาสวภิกษุนั้น ฉะนั้น เหตุที่จะพึงพูดถึงข้อที่ได้รับบอก
จึงมิได้มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น ดูกรเทวดา ถ้าท่านเข้าใจ
ก็จงพูด ฯ

เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอพระโอกาส ข้าพระองค์พึงทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคโปรดตรัสแก่ข้าพระองค์อย่างนั้นเถิด ฯ

[๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปด้วยพระคาถาว่า
บุคคลใดสำคัญว่าเราเสมอเขา ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเลวกว่าเขา
บุคคลนั้นพึงวิวาทกับเขา ขีณาสวภิกษุเป็นผู้ไม่หวั่นไหวอยู่ใน
มานะ ๓ อย่าง มานะว่าเราเสมอเขา ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเลว
กว่าเขา ย่อมไม่มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น ดูกรเทวดา ถ้าท่าน
เข้าใจก็จงพูดเถิด ฯ

เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระโอกาส ข้าพระองค์พึงทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้อย่างใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตรัสแก่ข้าพระองค์อย่างนั้นเถิด ฯ

[๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปด้วยพระคาถาว่า
ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว บรรลุธรรมที่ปราศจากมานะ
แล้ว ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว พวกเทวดา พวกมนุษย์
ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ในสวรรค์ทั้งหลายก็ดี ในสถานที่
อาศัยของสัตว์ทั้งปวงก็ดี เที่ยวค้นหาก็ไม่พบขีณาสวภิกษุนั้น
ผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสียแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา ดูกรเทวดา
ถ้าท่านเข้าใจก็จงพูดเถิด ฯ

[๕๕] เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารอย่างนี้ว่า
ไม่ควรทำบาปด้วยวาจา ด้วยใจ และด้วยกาย อย่างไหนๆ ในโลกทั้งปวง ควรละกามทั้งหลายเสียแล้ว มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ควรเสพทุกข์อันประกอบด้วยโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ฯ

สัตติวรรคที่ ๓

สัตติสูตรที่ ๑

[๕๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูก
ประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้
บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น ฯ

[๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูก
ประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฯ

ผุสติสูตรที่ ๒

[๕๘] ท. วิบากย่อมไม่ถูกบุคคลผู้ไม่ถูกกรรม วิบากพึงถูก
บุคคลผู้ถูกกรรมโดยแท้ เพราะฉะนั้น วิบากย่อมถูกบุคคลผู้ถูก
กรรม ผู้ประทุษร้าย นรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ฯ

[๕๙] ภ. บุคคลใดย่อมประทุษร้ายแก่นรชน ผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้น
ผู้เป็นพาลแท้ ประดุจธุลีอันละเอียดที่ซัดไปทวนลม ฉะนั้น ฯ

ชฏาสูตรที่ ๓

[๖๐] ท. หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อ
แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถาม
พระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้ ฯ

[๖๑] ภ. นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและ
ปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด
ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดี อวิชชาก็ดี
บุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลทั้งหลายนั้น เป็น
ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง
อันบุคคลทั้งหลายนั้นสางเสียแล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญา
และรูปสัญญาก็ดี ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง
นั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น ฯ

มโนนิวารณสูตรที่ ๔

[๖๒] ท. บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ใดๆ ทุกข์ย่อมไม่มาถึง
บุคคลนั้นเพราะอารมณ์นั้นๆ บุคคลนั้นพึงห้ามใจแต่อารมณ์
ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมพ้นจากทุกข์เพราะอารมณ์ทั้งปวง ฯ

[๖๓] ภ. บุคคลไม่ควรห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง ที่เป็นเหตุให้
ใจมาถึงความสำรวม บาปย่อมเกิดขึ้นแต่อารมณ์ใดๆ บุคคล
พึงห้ามใจแต่อารมณ์นั้นๆ ฯ

อรหันตสูตรที่ ๕

[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มี
อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น
พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา
ดังนี้บ้าง ฯ

[๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มี
อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น
พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้
บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติ
ที่พูดกัน ฯ

[๖๖] ท. ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะ
สิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นยังติด
มานะหรือหนอ จึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลาย
อื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ฯ

[๖๗] ภ. กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะ
เสียแล้ว มานะและคันถะทั้งปวง อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว
ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดี ล่วงเสียแล้วซึ่งความสำคัญ ภิกษุนั้น
พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา
ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตาม
สมมติที่พูดกัน ฯ

ปัชโชตสูตรที่ ๖

[๖๘] ท. โลกย่อมรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างทั้งหลายใด แสงสว่าง
ทั้งหลายนั้นย่อมมีอยู่เท่าไรในโลก ข้าพระองค์ทั้งหลายมา
เพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนจะรู้จักแสงสว่างที่ทูล
ถามนั้น ฯ

[๖๙] ภ. แสงสว่างทั้งหลายมีอยู่ ๔ อย่างในโลก แสงสว่างที่
๕ มิได้มีในโลกนี้ ดวงอาทิตย์สว่างในกลางวัน ดวงจันทร์
สว่างในกลางคืน อนึ่ง ไฟย่อมรุ่งเรืองในกลางวันและกลางคืน
ทุกหนแห่ง พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย
แสงสว่างของพระสัมพุทธเจ้า เป็นแสงสว่างอย่างเยี่ยม ฯ

สรสูตรที่ ๗

[๗๐] ท. สงสารทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่ไหน วัฏฏะย่อมไม่เป็น
ไปในที่ไหน นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่ไหน ฯ

[๗๑] ภ. น้ำ ดิน ไฟ ลม ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใด สงสาร
ทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่นี้ วัฏฏะย่อมไม่เป็นไปในที่นี้ นามก็ดี
รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่นี้ ฯ

มหัทธนสูตรที่ ๘

[๗๒] ท. กษัตริย์ทั้งหลายมีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก ทั้งมีแว่น
แคว้น ไม่รู้จักพอในกามทั้งหลาย ย่อมขันแข่งซึ่งกันและกัน
เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายนั้นมัวขวนขวาย ลอยไปตามกระแสแห่ง
ภพ บุคคลพวกไหนไม่มีความขวนขวาย ละความโกรธและ
ความทะเยอทะยานเสียแล้วในโลก ฯ

[๗๓] ภ. บุคคลทั้งหลาย ละเรือน ละบุตร ละปศุสัตว์ที่รัก
บวชแล้ว กำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาเสียแล้ว เป็นผู้มี
อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส บุคคลพวกนั้นเป็นผู้ไม่
ขวนขวายในโลก ฯ

จตุจักกสูตรที่ ๙

[๗๔] ท. ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก สรีระมีจักร ๔ มี
ทวาร ๙ เต็มด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยโลภะ ย่อม
เป็นดังว่าเปือกตม ความออกไป (จากทุกข์) ได้ จักมีได้
อย่างไร ฯ

[๗๕] ภ. ตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดด้วย
ความปรารถนาและความโลภอันลามกด้วย ถอนตัณหาอันมี
อวิชชาเป็นมูลเสียแล้วอย่างนี้ ความออกไป (จากทุกข์)
จึงจักมีได้ ฯ

เอณิชังคสูตรที่ ๑๐

[๗๖] ท. พวกข้าพระองค์เข้ามาเฝ้าแล้ว ขอทูลถามพระองค์
ผู้มีความเพียรซูบผอม มีแข้งดังเนื้อทราย มีอาหารน้อย ไม่มี
ความโลภ เป็นเหมือนราชสีห์และช้างเที่ยวไปผู้เดียว ไม่มี
ห่วงใยในกามทั้งหลาย บุคคลจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ฯ

[๗๗] ภ. กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก
บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้
อย่างนี้ ฯ

สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔

สัพภิสูตรที่ ๑

[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา (ผู้เทิดทูนธรรมของสัตบุรุษ) มากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วจึงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๗๙] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว มีแต่คุณ
อันประเสริฐ ไม่มีโทษอันลามกเลย ฯ

[๘๐] ลำดับนั้น เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมได้
ปัญญา หาได้ปัญญาแต่คนอันธพาลอื่นไม่ ฯ

[๘๑] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อม
ไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งเรื่องเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้า
โศก ฯ

[๘๒] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อม
ไพโรจน์ในท่ามกลางแห่งญาติ ฯ

[๘๓] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ สัตว์ทั้งหลายทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมไปสู่สุคติ ฯ

[๘๔] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ สัตว์ทั้งหลายทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมดำรงอยู่สบายเนืองๆ ฯ

ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ

[๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง
บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก
สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้น
จากทุกข์ทั้งปวง ฯ

มัจฉริยสูตรที่ ๒

[๘๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิตเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๘๗] เทวดาตนหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
เพราะความตระหนี่ และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้
ทานไม่ได้ บุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้ ฯ

[๘๘] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแลย่อมมี
แก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและ
ความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้นย่อมถูกต้องคน
ตระหนี่นั้นนั่นแลผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฉะนั้น
บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด
เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ฯ

[๘๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือนพวกเดิน
ทางไกลก็แบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลาย
เหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่าย่อม
ไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่งเมื่อ
ของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ ทักษิณาที่
ให้แต่ของน้อย นับเสมอด้วยพัน ฯ

[๙๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ทาน พวกพาลชนเมื่อให้ ให้ได้ยาก กุศลธรรม พวกพาล
ชนเมื่อทำ ทำได้ยาก พวกอสัตบุรุษย่อมไม่ทำตาม ธรรม
ของสัตบุรุษ อันพวกอสัตบุรุษดำเนินตามได้แสนยาก เพราะ
ฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของพวกสัตบุรุษและของพวกอสัตบุรุษ
จึงต่างกัน พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมเป็น
ผู้ดำเนินไปสู่สวรรค์ ฯ

ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ

[๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง
บุคคลแม้ใด ย่อมประพฤติธรรม ประพฤติสะอาด เป็นผู้
เลี้ยงภริยา และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่ง
บูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของ
บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อย ของบุคคลอย่างนั้น ฯ

[๙๒] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
การบูชาอันไพบูลย์ใหญ่โตนี้ ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่
บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุอะไร เมื่อบุรุษ
แสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ
การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่าง
นั้น ฯ

[๙๓] ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเทวดานั้นด้วยพระคาถาว่า
บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ (ปราศ
จากธรรม) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศกแล้วให้ทาน
ทานนั้นจัดว่าทานมีหน้าอันนองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับ
ด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ
(ประพฤติธรรม) เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือ
บริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่
ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น โดยนัยอย่างนี้ ฯ

สาธุสูตรที่ ๓

[๙๔] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๙๕] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
เพราะความตระหนี่และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ทาน
ไม่ได้ อันบุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้ ฯ

[๙๖] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
อนึ่ง แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
บุคคลพวกหนึ่ง เมื่อของมีน้อย ย่อมแบ่งให้ได้ บุคคลพวก
หนึ่ง มีของมากก็ให้ไม่ได้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อย ก็นับ
เสมอด้วยพัน ฯ

[๙๗] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง
ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ นักปราชญ์
ทั้งหลายกล่าวว่าทานและการรบเสมอกัน พวกวีรบุรุษแม้มี
น้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มากได้ ถ้าบุคคลเชื่ออยู่ย่อมให้
สิ่งของแม้น้อยได้ เพราะฉะนั้นแล ทายกนั้นย่อมเป็นผู้มี
ความสุขในโลกหน้า ฯ

[๙๘] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี อนึ่ง ทานที่
ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้
แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี บุคคลใดเกิดมาย่อม
ให้ทานแก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้มีธรรมอันบรรลุแล้วด้วยความ
หมั่นและความเพียร บุคคลนั้นล่วงพ้นนรกแห่งยมราช ย่อม
เข้าถึงสถานอันเป็นทิพย์ ฯ

[๙๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้
ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มี
ธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง
เป็นการดี ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณา ย่อมมีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์
นี้ ทานทั้งหลาย อันบุคคลให้แล้วในบุคคลทั้งหลายนั้น ย่อม
มีผลมาก เหมือนพืชทั้งหลายที่บุคคลหว่านแล้วในนาดี ฯ

[๑๐๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล
แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้
ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มี
ธรรมอันได้แล้วยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง
เป็นการดี อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายยิ่งเป็นการดี
บุคคลใดประพฤติเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายอยู่ ไม่ทำ
บาป เพราะกลัวความติเตียนแห่งผู้อื่น บัณฑิตทั้งหลายย่อม
สรรเสริญบุคคลซึ่งเป็นผู้กลัวบาป แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้
กล้าในการทำบาปนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาป เพราะ
ความกลัวบาปแท้จริง ฯ

ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ

[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย แต่ว่าพวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง
ก็ทานอันบัณฑิตสรรเสริญแล้วโดยส่วนมากโดยแท้ ก็แต่
ธรรมบท (นิพพาน) แหละประเสริฐว่าทาน เพราะว่า
สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญา ในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนกว่า
ก็ดี บรรลุซึ่งนิพพานแล้วแท้จริง ฯ

(ยังมีต่อ)



Create Date : 19 ธันวาคม 2548
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 18:35:36 น.
Counter : 378 Pageviews.

0 comments
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด