ปิงคิยะมานพและพราหมณ์พาวรี-1
เข้าสู่เนื้อหาของจูฬนิทเทสอันเป็นชื่อของพระไตรปิฎกเล่มที่ 30 ครับ เนื้อหาในพระไตรปิฎกเล่มนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ คำอธิบายโดยละเอียดของพระสูตรเรื่องมานพ 16 คน ผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีได้ทูลถามปัญญาข้อธรรมะต่อสมเด็จพระศาสดา ซึ่งเป็นการถามของมานพทีละคน พระผู้มีพระภาคได้ตอบคำถามทั้งหมดจนทุกๆมานพเข้าใจแจ่มแจ้ง มานพ 15 คนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่นั้น มีเพียงปิงคิยะมานพที่ห่วงพะวงถึงพราหมณ์พาวรีจึงยังไม่บรรลุธรรม มานพทั้ง 16 คนได้อุปสมบท ส่วนท่านพระปิงคิยะนั้นได้มาเล่าเรื่องคุณวิเศษของพระศาสดาว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐจริงแท้ ครั้งนั้นเอง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าท่านพระปิงคิยะและพราหมณ์มีอินทรีย์อันแก่กล้าที่จะบรรลุธรรมแล้ว ได้แสดงพระฤทธิ์มาเพื่อเทศนาสั่งสอนพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีในที่นั้น ท่านพระปิงคิยะได้บรรลุอรหัตตผล ส่วนพราหมณ์พาวรีได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้า คำสอนที่พระผู้มีพระภาคอธิบายต่อมานพทั้ง16 คนนั้น หากผู้ใดได้ศึกษาเข้าใจโดยถ่องแท้แล้วปฏิบัติตามแม้เพียงข้อเดียวใน16ข้อก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ทีเดียวครับ อย่างไรก็ตามพระสูตรนี้เคยปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 สุตตนิบาต ปรายนวรรคที่ 5 มาแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนในเล่มที่ 30 จูฬนิทเทสนี้เป็นคำอธิบายคำถามของมานพทั้ง16 คนโดยละเอียด ซึ่งท่านควรจะอ่านมากๆครับ ผมจะอธิบายแต่เนื้อหาจากพระไตรปิฎกเล่ม 25 พอสังเขปครับถึงที่มาของจูฬนิทเทสนี้และความสำคัญของพระสูตรเรื่องนี้

เนื้อหาส่วนที่สองของจูฬนิทเทสนั้นเป็นเรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าครับ ซึ่งก็จะเป็นหัวข้อสำหรับวันพรุ่งนี้ครับ

เนื้อหาพระไตรปิฎกวันนี้ยกมาจากเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปรายนวรรคที่ 5 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำเนื้อหาในพระไตรปิฎกเล่มที่30 จูฬนิทเทส ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*************************************
สุตตนิบาต ปรายนวรรคที่ ๕

วัตถุกถา

[๔๒๔] พราหมณ์พาวรีผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ปรารถนาซึ่งความเป็นผู้ไม่มี
กังวล ได้จากบุรีอันเป็นที่รื่นรมย์แห่งชาวโกศล ไปสู่ทักขิณา-
ปถชนบท พราหมณ์นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ใกล้
พรมแดนแห่งแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ ด้วยการแสวง
หาผลไม้ ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้น ก็เป็นผู้
ไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญ ด้วยส่วยอันเกิดแต่
กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น ครั้นบูชามหายัญแล้วได้กลับ
เข้าไปสู่อาศรม เมื่อพราหมณ์พาวรีนั้นกลับเข้าไปสู่อาศรม
แล้ว พราหมณ์อื่นเดินเท้าเสียดสีกัน ฟันเขลอะ ศีรษะ
เกลือกกลั้วด้วยธุลี ได้มาทำให้พราหมณ์พาวรีสะดุ้ง ก็พราหมณ์
นั้นเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐ พราหมณ์พาวรี
เห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ได้เชื้อเชิญด้วยอาสนะไต่ถามถึงสุข
และทุกข์ แล้วได้กล่าวว่า ไทยธรรมวัตถุอันใดของเรา
ไทยธรรมวัตถุทั้งปวงนั้น เราสละเสียสิ้นแล้ว ดูกรพราหมณ์
ท่านจงเชื่อเราเถิด ทรัพย์ ๕๐๐ ของเราไม่มี ฯ

พราหมณ์นั้นกล่าวว่า
เมื่อเราขออยู่ ถ้าท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่าน
จะแตก ๗ เสี่ยง พราหมณ์ผู้หลอกลวงนั้นกระทำกลอุบาย
แล้ว ได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว ฯ

พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีทุกข์
ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เพรียบพร้อมด้วยลูกศรคือความโศก
อนึ่ง เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดอยู่อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในฌาน ฯ
เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์
สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า
พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์
ไม่มีความรู้ในธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ
ตกไป ฯ

พราหมณ์พาวรีถามว่า
บัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้วขอท่านจงบอก
ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่
ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

เทวดาตอบว่า
แม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ
ตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่อง
เห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อม
มีแก่พระชินเจ้าทั้งหลาย ฯ

พราหมณ์พาวรีถามว่า
ก็บัดนี้ ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ ย่อมรู้ ดูกรเทวดา
ขอท่านจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุ
ให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

เทวดาตอบว่า
ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตรลำดับพระวงศ์ของ
พระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลก
เสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญา
และทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรง
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปใน
ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว
ในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถาม
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์
ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

[พราหมณ์พาวรีได้สละสมบัติทั้งหลายมาหลีกเร้นอาศัยที่ชนบท ถูกพราหมณ์ลวงโลกขู่จะเอาสมบัติ ว่าหากไม่ให้ทรัพย์แก่ตนแล้ว ภายใน7วัน ศีรษะพราหมณ์พาวรีจะแตกเป็น7เสี่ยง พราหมณ์พาวรีมีความสะดุ้งกลัวอยู่ เทวดาได้มาบอกว่าพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ลวงโลก ไม่ทราบเวทอันจะทำให้ศีรษะพราหมณ์พาวรีแตกเป็น7เสี่ยงดอก พราหมณ์พาวรีจึงได้ถามว่าสมณะผู้ใดจักทราบเวทนั้น เทวดาจึงเล่าว่าบัดนี้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกแล้ว พระองค์ย่อมทราบถึงเวทอันจะทำให้ศีรษะตกไปเป็นแน่]

พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู
มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์ พราหมณ์พาวรี
นั้นมีใจชื่นชมเบิกบาน เกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้น
ว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน
ข้าพเจ้าจะพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์ได้
ในที่ใด ฯ

เทวดาตอบว่า
พระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญา
ประเสริฐ กว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้
องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้
ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมันทิรสถานของชนชาวโกศล
ในพระนครสาวัตถี ฯ

ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้ถึงฝั่งแห่ง
มนต์ซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่าดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจง
มาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำ
ของเรา ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดอันสัตว์
ได้ยากเนืองๆ ในโลกนี้ วันนี้ พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปรากฏว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไป
เมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามด้วยคาถาว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึง
รู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าด้วยอุบายอย่างไรเล่า ขอ
ท่านจงบอกอุบายที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้จักพระสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด ฯ

พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า
ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย
อันพราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้บริบูรณ์แล้วตามลำดับ
ว่ามหาปุริสลักษณะทั้งหลาย มีอยู่ในวรกายของพระมหา-
บุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น มีคติเป็น ๒ เท่านั้น คติที่ ๓
ไม่มีเลย คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงชนะ
ทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีหลังคาคือกิเลส
อันเปิดแล้ว ท่านทั้งหลายจงถามถึงชาติ โคตร ลักษณะ
มนต์ และศิษย์เหล่าอื่นอีกและถามถึงศีรษะและธรรมเป็นเหตุ
ให้ศีรษะตกไปด้วยใจเทียว ถ้าว่าท่านนั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเห็นธรรมอันหาเครื่องกางกั้นมิได้ไซร้ จักวิสัชนา
ปัญหาอันท่านทั้งหลายถามด้วยใจด้วยวาจาได้ ฯ

พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสส-
เมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑
นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี
ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑
โมฆราชผู้มีเมธา ๑ ปิงคิยะผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์
มาณพทั้งปวง คนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่
โลกทั้งปวง เป็นผู้เพ่งฌาณ มีปัญญาทรงจำ อันวาสนา
ในก่อนอบรมแล้ว ทรงชฏาหนังเสือเหลือง ได้ฟังคำของ
พราหมณ์พาวรีแล้ว อภิวาทพราหมณ์พาวรี กระทำประทักษิณ
แล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ
เมืองมาหิสสติ ในคราวนั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ
เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต
เมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองอุดม เมืองเสตพยะ เมืองกบิลพัสดุ์
เมืองกุสินารามันทิรสถาน (เมืองมันทิระ) เมืองปาวาโภคนคร
เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และปาสาณกเจดีย์อันเป็น
รมณียสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ พราหมณ์มาณพทั้งหลายพากัน
ยินดีได้รีบด่วนขึ้นสู่เจติยบรรพต เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ
ยินดีน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีลาภใหญ่ และเหมือนบุคคล
ถูกความร้อนแผดเผายินดีร่มเงา ฉะนั้น ก็ในสมัยนั้น
พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น
อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรือง
เหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้น
อชิตมาณพได้เห็นพระอวัยวะอันบริบูรณ์ ในพระกายของ
พระผู้มีพระภาคนั้น มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่าขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ)
อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึง
ความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด
พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มี
ประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ
[พราหมณ์พาวรีได้ให้มานพผู้เป็นศิษย์16คน เดินทางไปพบพระผู้มีพระภาคเพื่อทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดาจริงหรือไม่ โดยให้สังเกตจากมหาปุริสลักณะ32ประการจากพระวรกายของพระศาสดา หากเห็นปรากฏอยู่จริงในพระวรกายของพระองค์แล้วให้สอบถามว่าพระองค์ทรงทราบว่าพวกตนผู้เป็นมานพนั้นเป็นศิษย์ผู้ใด โดยให้ถามในใจ มิให้เปล่งวาจา พระศาสดาจักทรงทราบคำถามในใจนั้นและตอบคำถามได้เป็นแน่ จากนั้นจึงให้สอบถามถึงธรรมอันจะทำให้ศีรษะตกไปจากพระองค์

ชื่อของมานพทั้ง16คนคือ
1.อชิตะ
2.ติสสเมตเตยยะ
3.ปุณณกะ
4.เมตตคู
5.โธตกะ
6.อุปสีวะ
7.นันทะ
8.เหมกะ
9.โตเทยยะ
10.กัปปะ
11.ชตุกัณณี
12.ภัทราวุธะ
13.อุทยะ
14.โปสาล
15.โมฆราช
16.ปิงคิยะ

อนึ่ง นามอชิตะมานพนั้นเป็นชื่อตรงกันกับอชิตภิกษุซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย์ในกาลเบื้องหน้า เป็นพระศาสดาพระองค์ถัดไปจากพระศาสดาพระองค์ปัจจุบัน แต่ว่าเป็นคนละคนกันครับ

มานพทั้งหมดเดินทางรอนแรมมาไกลจนได้พบพระผู้มีพระภาคที่เมืองราชคฤห์ ต่างมีความยินดี ได้กระทำตามคำสั่งของพราหมณ์พาวรีคือทูลถามปัญหาต่างๆจากพระองค์ในใจ]


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้น
มี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำรา
ทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์
นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรม
แห่งพราหมณ์ของตนย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

อชิตมาณพทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะ
ทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงประกาศตัดความทะเยอ
ทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิดมุขมณฑล
(หน้า) ด้วยชิวหาได้ มีอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มี
คุยหฐานอยู่ในฝักท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครๆ ผู้ถามเลย ได้ฟังปัญหาที่พระผู้มี-
พระภาคทรงพยากรณ์แล้ว (นึกคิดอยู่) คิดพิศวงอยู่ เกิด
ความโสมนัสประนมอัญชลี (สรรเสริญ) ว่า พระผู้มีพระภาค
เป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าว
สุชัมบดีจอมเทพ เมื่อปัญหาอันผู้ถามถามแล้วด้วยใจ ข้อ
ปัญหานั้นไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคได้ ฯ

อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็น
ศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัส
พยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นฤาษี
เสียเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า
ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบ
ด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็น
ธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความ
โสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลือง
เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียร
เกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจ พร้อมด้วยศิษย์
ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคล (ของพระผู้มีพระภาค) ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็น
ผู้ถึงความสุขเถิด แม้ถึงท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็น
อยู่สิ้นกาลนานเถิด ก็ท่านทั้งหลายมีโอกาสอันเราได้กระทำ
แล้ว ปรารถนาในใจเพื่อจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จง
ถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรีหรือของท่าน
ทั้งปวงเถิด อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมพุทธเจ้ากระทำแล้ว
นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาทีแรกกะพระตถาคต ณ
ที่นั้น ฉะนี้แล ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามที่ถามในใจของอชิตะมานพถึงรายละเอียดของพราหมณ์พาวรีได้ถูกต้อง ในส่วนธรรมที่จะทำให้ศีรษะตกไปนั้น พระองค์ตรัสว่า อวิชชาคือศีรษะ อาศัยวิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ วิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ต่อจากนี้ก็เป็นการถามตอบปัญหาของมานพทั้ง16 คนครับ]

จบวัตถุกถา

อชิตปัญหาที่ ๑
[๔๒๕] อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า
โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะ
อะไร พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไร
เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอชิตะ
โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่
(เพราะความประมาท) เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบ
ทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ
อ. กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็น
เครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้น
กระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วย
ธรรมอะไร ฯ
พ. ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า
เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิต
ย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรม
ทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถาม
แล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
พ. ดูกรอชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน นาม
และรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้
ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ ฯ
อ. ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยัง
ต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้
นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์
ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของชนเหล่านั้นแก่ข้า
พระองค์เถิด ฯ
พ. ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดใน
ธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ
จบอชิตมาณวกปัญหาที่ ๑

ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒
[๔๒๖] ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหาว่า
ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่
ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต) แล้วไม่ติดอยู่
ในส่วนท่ามกลาง (ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา พระองค์ตรัส
สรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน
โลกนี้ได้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ
ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มี
ตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว
ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหว
ทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว
ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญ
ภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน
โลกนี้เสียได้ ฯ
จบติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒

ปุณณกปัญหาที่ ๓
[๔๒๗] ปุณณกมาณพทูลถามปัญหาว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มี
ความหวั่นไหว ผู้ทรงเห็นรากเง่ากุศลและอกุศล สัตว์
ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์
พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดา
ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรปุณณกะ
สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากใน
โลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็น
มนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดา
ทั้งหลาย ฯ
ป. สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นอันมาก
ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ บูชายัญแก่เทวดา
ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้
เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้น
ชาติและชราได้บ้างแลหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์
ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่
ข้าพระองค์เถิด ฯ
พ. ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อม
มุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพัน
ถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ
การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา
ไปได้ ฯ
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการ
บูชา ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้น
ชาติและชราไปได้ในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์
ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่
ข้าพระองค์เถิด ฯ
พ. ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลก
ไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก
ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง
ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา)
หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้
แล้ว ฯ
จบปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓

เมตตคูปัญหาที่ ๔
[๔๒๘] เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์
ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความ
ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่
อะไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตตคู
ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุ
นั้นแก่ท่านตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็น
อันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำ
อุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะ
ฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ไม่พึงกระทำอุปธิ ฯ
ม. ข้าพระองค์ได้ทูลถามความข้อใด พระองค์ก็ทรงแสดงความ
ข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้ออื่นอีก
ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นเถิด นักปราชญ์
ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
ได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จง
ตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์
แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัด
แล้วด้วยประการนั้น ฯ
พ. ดูกรเมตตคู เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็น
แล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตนที่บุคคลทราบชัดแล้ว พึง
เป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
ในโลกเสียได้ ฯ
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่าง
ยิ่ง ซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติ
พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก
เสียได้ ฯ
พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้อง
บน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ใน
ส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความ
เพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ
(ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่
อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความ
ถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ
และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย ฯ
ม. ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ ของพระองค์ผู้แสวงหา
คุณอันใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร ธรรมอัน
ไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้
แน่แล้ว เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการ
นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์พึงทรงสั่งสอนชน
เหล่าใดไม่หยุดยั้ง แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มา
ถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉน พระผู้มีพระภาค
พึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด ฯ
พ. ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้
นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความ
สงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละ
ธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและ
มิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มี
กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้าม
ชาติและชราได้แล้ว ฯ
จบเมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔

โธตกปัญหาที่ ๕
[๔๒๙] โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าแต่
พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่ง
ซึ่งพระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของ
พระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโธตกะ
ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียร
ในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึง
ศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ
ธ. ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้ ทรงยัง
พระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่
พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอ
ถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์
จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด ฯ
พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมี
ความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอัน
ประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่ง
สอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่
เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็น
ผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป ฯ
พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ใน
ธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้
แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์
ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดี
อย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด ที่บุคคลได้
รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปใน
อารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
พ. ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วน
เบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้
ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่ง
นั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำ
ตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย ฯ
จบโธตกมาณวกปัญหาที่ ๕

(ยังมีต่อ)



Create Date : 07 มิถุนายน 2549
Last Update : 7 มิถุนายน 2549 18:55:07 น.
Counter : 2403 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด