เรื่องเกี่ยวกับเทวดา -4
(ต่อ)

อนาถปิณฑิกสูตรที่ ๑๐

[๒๗๕] อนาถบิณฑิกเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่
พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้า
พระองค์ ฯ
สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม
วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร
หรือทรัพย์ไม่ ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์
ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์
ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐ
ด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้
ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม ฯ

อนาถบิณฑิกเทวบุตร ครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

[๒๗๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทวบุตรองค์หนึ่ง เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เทวบุตรนั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักเราว่า
ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณพำนักอยู่
พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้า
พระองค์ ฯ
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม วิชชา
ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือ
ทรัพย์ไม่ ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์
ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์
ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐ
ด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้
ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นอย่างเยี่ยม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นครั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว ก็อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

[๒๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่ อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถูกละๆ ดูกรอานนท์ ข้อที่จะพึงถึงด้วยการนึกคิดมีประมาณเพียงใดนั้น เธอถึงแล้ว ดูกรอานนท์ ก็เทวบุตรนั้นคือ อนาถบิณฑิกเทวบุตร ฯ

นานาติตถิยวรรคที่ ๓

สิวสูตรที่ ๑

[๒๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงแล้ว สิวเทวบุตร มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๗๙] สิวเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความ
สนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของ
พวกสัตบุรุษแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ บุคคล
ควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนม
กับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษ
แล้ว ย่อมได้ปัญญา ไม่คลาดเป็นอย่างอื่น บุคคลควร
สมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนมกับ
พวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษ
แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางแห่งความเศร้าโศก
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิท
สนมกับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวก
สัตบุรุษแล้วย่อม รุ่งโรจน์ในท่ามกลางหมู่ญาติ บุคคลควร
สมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิทสนมกับพวก
สัตบุรุษ เหล่าสัตว์รู้ทั่วถึงพระสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมถึงสุคติ บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำ
ความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ เหล่าสัตว์รู้ทั่วถึงพระ
สัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมยืนยงตลอดไป ฯ

[๒๘๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบสิวเทวบุตรด้วยพระคาถาว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น ควรทำความสนิท
สนมกับพวกสัตบุรุษ บุคคลรู้ทั่วถึงสัทธรรมของพวกสัตบุรุษ
แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฯ

เขมสูตรที่ ๒

[๒๘๑] เขมเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประพฤติกับตนเองดังศัตรู ย่อม
ทำกรรมลามกอันอำนวยผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ เสวย
ผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย บุคคลทำกรรมใด
แล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีหัวใจแช่มชื่นเบิกบานเสวย
ผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี บุคคลรู้กรรมใดว่า
เป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว อย่า
พยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด ด้วยความคิดอย่างพ่อค้า
เกวียน พ่อค้าเกวียนละหนทางสายใหญ่ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอ
เสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้นซบเซา ฉันใด
บุคคลละทิ้งธรรม หันไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็น
คนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ทางมฤตยูซบเซาอยู่ เหมือน
พ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น ฯ

เสรีสูตรที่ ๓

[๒๘๒] เสรีเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้ง
นั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้ ฯ

[๒๘๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบเสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า
ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและ
น้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะ
เหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำ
มลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของ
เหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ

[๒๘๔] ส. น่าอัศจรรย์พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว
ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและ
น้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะ
เหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำ
มลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเหล่า
สัตว์ในโลกหน้า ฯ

[๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว หม่อมฉันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทานที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน หม่อมฉันได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย ครั้นต่อมา พวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาหม่อมฉัน ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทานกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกหม่อมฉันจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านแรกให้แก่พวกฝ่ายในไป เขาพากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกกษัตริย์พระราชวงศ์พากันเข้าไปหาหม่อมฉัน ได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญทาน พวกฝ่ายในก็บำเพ็ญทาน แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันก็คิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะให้ทานเราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สองให้แก่พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ไป พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ต่างก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา พวกพลกาย (ข้าราชการฝ่ายทหาร) เข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าพระพุทธเจ้ามิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทานกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายกเป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สามให้พวกพลกายไป เขาก็พากันให้ทานใน ที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมา มีพวกพราหมณ์คฤหบดี (ข้าราชการฝ่ายพลเรือน) เข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นว่า พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พวกฝ่ายในก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ก็ทรงบำเพ็ญพระกุศล พวกข้าราชการฝ่ายทหารก็ให้ทาน แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทานกระทำบุญบ้าง หม่อมฉันจึงคิดเห็นว่า เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทาน เมื่อมีผู้พูดว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะให้ทาน เราจะว่าอะไร แล้วจึงมอบประตูด้านที่สี่ให้พวกพราหมณ์คฤหบดีไป เขาต่างก็พากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างพากันเข้าไปหาหม่อมฉัน ได้ทูลสนองขึ้นว่า บัดนี้ พระองค์จะไม่ทรงบำเพ็ญทานในที่ไหนๆ อีกหรือ เมื่อเขาทูลอย่างนี้ หม่อมฉันจึงกล่าวตอบไปว่า ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในท้องถิ่นชนบทนอกๆ ออกไป มีรายได้ใดๆเกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในเมือง (เข้าท้องพระคลัง) เสียกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งพวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด (เป็นเช่นดังกราบบังคมทูลถวายนี้แหละ พระเจ้าข้า) หม่อมฉันจึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ แห่งกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ โดยที่จะมาคำนึงถึงว่า เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผลของบุญพอแล้ว หรือเท่านี้ที่เราพึงตั้งอยู่ในสามัคคีธรรม (คือพร้อมเพรียงร่วมทำบุญกับเขาพอแล้ว) ฯ

[๒๘๖] น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว
ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและ
น้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะ
เหตุนั้น สมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำ
มลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของ
เหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ

ฆฏิการสูตรที่ ๔

[๒๘๗] ฆฏิการเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหาเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
สิ้นราคะ โทสะแล้ว ข้ามพ้นเครื่องข้องต่างๆ ในโลกเสีย
ได้แล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ก็ภิกษุเหล่านั้น คือใครบ้างผู้ข้ามพ้นเครื่องข้องเป็นบ่วงมาร
อันแสนยากที่ใครๆ จะข้ามพ้นได้ ละกายของมนุษย์แล้ว
ก้าวล่วงเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ ฯ
ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า
คือ ท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวม
เป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่าน
พาหุรัคคิ ๑ ท่านลิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่า
นั้นล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงเครื่องประกอบอันเป็น
ทิพย์ได้แล้ว ฯ

[๒๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้
ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นรู้ทั่วถึงธรรมของใคร จึงได้
ตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ

[๒๘๙] ฆ. ท่านเหล่านั้นรู้ทั่วถึงธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือ
ภพเสียได้ ผู้นั้นนอกจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นนอก
จากพระศาสนาของพระองค์แล้วเป็นไม่มี ฯ
นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรม
นั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้ ฯ

[๒๙๐] พ. ท่านกล่าววาจาลึก รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก
ท่านรู้ทั่วถึงธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ฯ

[๒๙๑] ฆ. ครั้งก่อนข้าพเจ้าเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ใน
เวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นอุบาสกของ
พระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม ประพฤติ
พรหมจรรย์ ไม่มีอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์
ทั้งเคยได้เป็นสหายของพระองค์ในปางก่อน ข้าพเจ้ารู้จักภิกษุ
ทั้ง ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะ โทสะแล้ว
ข้ามพ้นเครื่องข้องต่างๆ ในโลกได้แล้ว ฯ

[๒๙๒] พ. แน่ นายช่างหม้อ ท่านพูดอย่างใดก็ได้เป็นจริงแล้ว
อย่างนั้นในกาลนั้น ครั้งก่อนท่านเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่
ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นอุบาสกของ
พระกัสสปพุทธเจ้า งดเว้นจากเมถุนธรรม ประพฤติพรหม
จรรย์ ไม่มีอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคย
เป็นสหายของเราในปางก่อน ฯ

พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมี
ในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ

ชันตุสูตรที่ ๕

[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง ภิกษุเป็นจำนวนมากอยู่ในกุฎีอันตั้งอยู่ในป่าข้างเขาหิมวันต์ แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง โอนเอน ปากกล้า วาจาสามหาว มีสติฟั่นเฟือน ขาดสัมปชัญญะ ไม่มั่นคง มีจิตคิดนอกทาง ประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์ ฯ

[๒๙๔] วันหนึ่งเป็นวันอุโบสก ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาพวกภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ครั้งก่อน พวกภิกษุผู้เป็นสาวกพระโคดมเป็นอยู่ง่าย (เลี้ยง
ง่าย) ไม่เป็นผู้มักได้แสวงหาบิณฑบาต ไม่มักได้ที่นอน
ที่นั่ง ฯ
ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง กระทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ได้ ฯ
ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยากเหมือนชาวบ้านที่
โกงเขากิน กินๆ แล้วก็นอน เที่ยวประจบไปในเรือนของ
คนอื่น ฯ
ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีต่อท่าน ขอพูดกะท่านบางพวกในที่นี้ว่า
พวกท่านถูกเขาทอดทิ้งหมดที่พึ่ง เป็นเหมือนเปรต ฯ
ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้หมายเอาบุคคลจำพวกที่ประมาทอยู่ ส่วน
ท่านพวกใดไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้าขอนมัสการท่านพวกนั้น ฯ

โรหิตัสสสูตรที่ ๖

[๒๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว โรหิตัสสเทวบุตรมีวรรณงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลสถิตอยู่ ณ ที่ใดหนอ จึงจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลจะอาจบ้างหรือไม่ เพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะเห็น หรือเพื่อที่จะบรรลุที่สุดโลกได้ด้วยการเดินทาง ฯ

[๒๙๖] พ. อาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลกว่า ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง ฯ

ร. น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้ง ดังปรากฏว่า อาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลกว่า ควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง ฯ

[๒๙๗] ร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรของอิสสรชน มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็วประดุจอาจารย์สอนศิลปธนู จับธนูมั่น ชาญศึกษา ชำนาญมือ เคยประกวดยิงธนูมาแล้ว ยิงผ่านเงาตาลตามขวางได้ด้วยลูกศรขนาดเบาโดยสะดวกดาย ย่างเท้าของข้าพระองค์เห็นปานนี้ ประดุจจากมหาสมุทรด้านทิศบูรพา ก้าวถึงมหาสมุทรด้านทิศประจิม ข้าพระองค์มาประสงค์อยู่แต่เพียงว่า เราจักบรรลุถึงที่สุดของโลกด้วยการเดินทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเร็วขนาดนี้ ด้วยย่างเท้าขนาดนี้ เว้นจากการกิน การขบเคี้ยว และการลิ้มรสอาหาร เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากระงับความเหน็ดเหนื่อยด้วยการหลับนอน มีอายุถึงร้อยปี ดำรงชีพอยู่ถึงร้อยปี เดินทางตลอดร้อยปี ก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกได้ แต่มาทำกาลกิริยาเสียในระวาง น่าอัศจรรย์นัก พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแจ่มแจ้งแล้ว ดังปรากฏว่า อาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง ฯ

[๒๙๘] พ. ดูกรอาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุด้วยการเดินทาง ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติเรียกว่าโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในสรีระร่าง มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจครอง ฯ

แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ ฯ

เหตุนั้นแหละ คนมีปัญญาดี ตระหนักชัดเรื่องโลก ถึงที่สุดโลกได้ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้จักที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้ระงับแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ฯ

นันทสูตรที่ ๗

[๒๙๙] นันทเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป ฯ
บุคคลมาพิจารณาเห็นภัยในมรณะนี้ ควรทำบุญอันนำความสุข
มาให้ ฯ

[๓๐๐] พ. กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลมาพิจารณาเห็นภัยในมรณะนี้ มุ่งต่อสันติ ควรละโลกามิสเสีย ฯ

นันทิวิสาลสูตรที่ ๘

[๓๐๑] นันทิวิสาลเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงได้กล่าวคาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ สรีรยนต์ มีจักร ๔ มีทวาร ๙
[คือ อิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน และทั้ง ๙ ทวาร]
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยความโลภ ย่อมเป็น
ประดุจเปือกตม ไฉนจักมีความออกไปจากทุกข์ได้ ฯ

[๓๐๒] พ. บุคคลตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องรัดด้วยความปรารถนาและความโลภอันชั่วช้าด้วย ถอนตัณหาพร้อมทั้งอวิชชาอันเป็นมูลรากเสียได้ อย่างนี้จึงจักออกไปจากทุกข์ได้

สุสิมสูตรที่ ๙

[๓๐๓] สาวัตถีนิทาน ฯ

ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตรหรือไม่ ฯ

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน ฯ

[๓๐๔] พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร ฯ

[๓๐๕] ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรบริษัทเป็นอันมาก ขณะที่พระผู้มีพระภาคและพระอานนท์เถระ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อยืนเรียบร้อยแล้วจึงได้กราบบังคมทูลพระผู้มีพระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาค จริงอย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน ฯ

[๓๐๖] ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

[๓๐๗] แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงาม โชติช่วง แปดเหลี่ยมอันบุคคลขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

[๓๐๘] แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้าหลอมไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

[๓๐๙] ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

[๓๑๐] พระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดูสรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสงแจ่มจ้าไพโรจน์ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่ ฯ

[๓๑๑] ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า
ท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่าเป็นบัณฑิตไม่ใช่คนมักโกรธ
มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงาม
ความดีอันพระศาสดาทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ ฯ

[๓๑๒] พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถาตอบสุสิมเทพบุตรปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า
สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความ
ปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็
แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน ฯ

นานาติตถิยสูตรที่ ๑๐

[๓๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงแล้ว พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ เป็นอันมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร กาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณงามยิ่ง ยังพระวิหารเวฬุวันทั้งสิ้นสว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๓๑๔] อสมเทพบุตร ครั้นยืนอยู่ ณ ส่วนที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านปูรณะกัสสปว่า
ครูปูรณะกัสสป เพียงแต่มองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน
ในเพราะเหตุที่สัตว์ถูกฟัน ถูกฆ่า ถูกโบย ถูกข่มเหง ใน
โลกนี้เท่านั้น ท่านบอกให้วางใจเสีย ท่านย่อมควรที่จะยก
ย่องว่าเป็นศาสดา ฯ

[๓๑๕] สหลีเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านมักขลิโคศาล ต่อไปว่า
ครูมักขลิโคศาล สำรวมตนดีแล้ว เพราะรังเกียจบาปด้วยตบะ
ละวาจาที่ก่อให้เกิดความทะเลาะกับคนเสีย เป็นผู้สม่ำเสมอ
งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ พูดจริง ท่านมักขลิโคศาล จัดว่าเป็นผู้
คงที่ ไม่กระทำบาปโดยแท้ ฯ

[๓๑๖] นิกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านนิครนถ์ นาฏบุตรต่อไปว่า
ครูนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้เกลียดบาป มีปัญญารักษาตัวรอด
เห็นภัยในสงสาร เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม เปิดเผยสิ่งที่
ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว น่าจะไม่ใช่ผู้หยาบช้าโดยแท้ ฯ

[๓๑๗] อาโกฏกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงพวกเดียรถีย์ต่างๆ ต่อไปอีกว่า
ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร และพวกท่าน
มักขลิโคศาล ท่านปูรณะกัสสปเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นศาสดา
ของหมู่ บรรลุถึงที่สุดในสมณธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นคง
เป็นผู้ไม่ไกลไปจากสัตบุรุษแน่นอน ฯ

[๓๑๘] เวฏัมพรีเทพบุตร ได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตรด้วยคาถาว่า
สุนัขจิ้งจอกสัตว์เลวๆ ใคร่จะตีตนเสมอราชสีห์ แม้จะ
ไม่ใช่สัตว์ขี้เรื้อน แต่ก็มีบางคราวที่ทำตนเทียมราชสีห์ ฯ
ครูของหมู่บำเพ็ญตัวเป็นคนแนะหนทาง แต่พูดคำเท็จ มี
มรรยาทน่ารังเกียจ จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้ ฯ

[๓๑๙] ลำดับนั้น มารผู้ลามกเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์เหล่าใด ประกอบแล้ว ในความเกลียดบาปด้วยตบะ
รักษาความสงบสงัดอยู่ ติดอยู่ในรูป ปรารถนาเทวโลก สัตว์
เหล่านั้น ย่อมสั่งสอนชอบ เพื่อปรโลกโดยแท้ ฯ

[๓๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี้เป็นมารตัวร้ายกาจ จึงได้ทรงภาษิตคาถาตอบมารผู้ลามกว่า
รูปใดๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า และจะอยู่ในอากาศ
มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที รูปทั้งหมดเหล่านั้น อันมารสรรเสริญ
แล้ว วางดักสัตว์ไว้แล้ว เหมือนเขาเอาเหยื่อล่อเพื่อฆ่าปลา
ฉะนั้น ฯ

[๓๒๑] ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตร ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคว่า
ภูเขาวิปุละ เขากล่าวกันว่า เป็นสูงเยี่ยมกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ใน
พระนครราชคฤห์ เสตบรรพตเป็นเลิศกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่า
หิมวันต์ พระอาทิตย์เป็นเลิศกว่าสิ่งที่ไปในอากาศ มหาสมุทร
เป็นเลิศกว่าห้วงน้ำทั้งหลาย พระจันทร์เป็นเลิศกว่าดวงดาว
ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าโลกกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าประชุมชน
ทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก ฯ

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ



Create Date : 19 ธันวาคม 2548
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 19:38:28 น.
Counter : 355 Pageviews.

0 comments
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด