แม้ทิฏฐิชองพระโสดาบันยังสามารถข่มขี่ชนนอกพระศาสนา (ต่อ)
(ต่อ)

อุตติยสูตร

[๙๕] ครั้งนั้นแล อุตติยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า หรือหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ ฯ

อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ

พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ

อุ. ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระอันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ฯ

พ. ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ

อุ. ท่านถูกเราถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ ก็โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อถูกถามว่า ท่านโคดมผู้เจริญ โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรอุตติยะ แม้ข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านโคดมผู้เจริญจะพยากรณ์ในทางไหน ฯ

พ. ดูกรอุตติยะ เราย่อมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพนาน ฯ

อุ. ด้วยข้อที่พระโคดมผู้เจริญได้ทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น โลกทั้งหมดหรือกึ่งหนึ่งหรือสามส่วนจักออกไปจากทุกข์ได้ เมื่ออุตติยปริพาชกกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดว่า อุตติยปริพาชกอย่าได้ทิฐิอันลามกอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมถูกเราถามปัญหาเฉพาะหน้าทั้งปวง ย่อมเลี่ยง ไม่ทรงวิสัชนา หรือวิสัชนาไม่ได้แน่นอน เพราะทิฐิอันลามกนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน แก่อุตติยปริพาชก ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอุตติยปริพาชกว่า ดูกรอาวุโสอุตติยะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาแก่ท่าน วิญญูบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา ดูกรอาวุโสอุตติยะ เปรียบเหมือนนครอันตั้งอยู่ชายแดนของพระราชา นครนั้นมีป้อมมั่นคง มีกำแพงและประตูมั่นคง มีประตูเดียว นายประตูในนครนั้น เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จักเข้าไป ให้คนที่รู้จักเข้าไป เขาเดินเลียบไปตามทางเลียบกำแพงโดยรอบนครนั้น ไม่พึงเห็นที่ต่อแห่งกำแพงหรือช่องแห่งกำแพง แม้โดยที่สุดพอแมวออกได้ และเขาย่อมไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ เข้ามาสู่นครนี้หรือออกไป โดยที่แท้ เขาย่อมมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างนี้ว่า สัตว์ตัวใหญ่ๆ บางเหล่า ย่อมเข้ามาสู่นครนี้หรือย่อมออกไป สัตว์ทั้งหมดนั้นย่อมเข้ามาหรือออกไปทางประตูนี้ แม้ฉันใด ดูกรอาวุโสอุตติยะ พระตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน มิได้ทรงมีความขวนขวายอย่างนี้ว่า โลกทั้งหมดหรือกึ่งหนึ่งหรือสามส่วนจักออกไปจากทุกข์ โดยที่แท้ พระตถาคตทรงมีพระญาณอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งออกไปแล้ว หรือกำลังออกไป หรือจักออกไปจากโลก สัตว์ทั้งหมดนั้นละนิวรณ์อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามเป็นจริงแล้ว สัตว์เหล่านั้นออกไปแล้วหรือกำลังออกไป หรือจักออกไปจากโลกด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรอาวุโสอุตติยะ ท่านได้ทูลถามปัญหานี้กะพระผู้มีพระภาคข้อใด ปัญหาข้อนั้นท่านได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคโดยปริยายอื่น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่าน ฯ

จบสูตรที่ ๕

โกกนุทสูตร

[๙๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ (อยู่ที่ตโปทาราม ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์) ลุกขึ้นแล้วในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ไปยังแม่น้ำตโปทาเพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำที่แม่น้ำตโปทาแล้วกลับขึ้นมา มีจีวรผืนเดียว ได้ยืนผึ่งตัวอยู่ แม้โกกนุทปริพาชกลุกขึ้นแล้วในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ไปยังแม่น้ำตโปทาเพื่ออาบน้ำ โกกนุทปริพาชกได้เห็นท่านพระอานนท์เดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอาวุโสใครอยู่ในที่นี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรอาวุโส เราเป็นภิกษุ ฯ

โก. ดูกรอาวุโส ภิกษุพวกไหน ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เราเป็นพวกสมณะศากยบุตร ฯ

โก. ข้าพเจ้าพึงถามข้อข้องใจบางอย่างกะท่าน หากท่านจะให้โอกาสเพื่อแก้ปัญหา ฯ

อา. เชิญท่านถามเถิด อาวุโส เราฟังแล้วจักกล่าวแก้ ฯ

โก. ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เรามิได้มีความเห็นอย่างนั้น ฯ

โก. ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้หรือว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เรามิได้มีความเห็นอย่างนั้น ฯ

โก. ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เรามิได้มีความเห็นอย่างนั้น ฯ

โก. ถ้าอย่างนั้น ท่านผู้เจริญย่อมไม่รู้ ไม่เห็นนะซิ ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เราไม่รู้ไม่เห็นหามิได้ เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ฯ

โก. ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้หรือว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส เรามิได้มีความเห็นอย่างนั้น เมื่อถูกถามว่า ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้หรือว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส เรามิได้มีความเห็นอย่างนั้น เมื่อถูกถามว่า ท่านผู้เจริญมีความเห็นอย่างนี้หรือว่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าหรือหนอ ก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส เรามิได้มีเห็นอย่างนั้น เมื่อถูกถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านผู้เจริญย่อมไม่รู้ ไม่เห็นละซิ ก็กล่าวว่า ดูกรอาวุโส เราย่อมไม่รู้ ไม่เห็นหามิได้ เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ดูกรอาวุโส ก็อรรถแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไรเล่า ฯ

อา. ดูกรอาวุโส ข้อนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่าเป็นทิฐิอย่างหนึ่ง ข้อนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เป็นทิฐิอย่างหนึ่ง ข้อนี้ว่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ก็เป็นทิฐิอย่างหนึ่ง ดูกรอาวุโส ทิฐิก็ดี เหตุที่ตั้งทิฐิก็ดี ที่ตั้งมั่นแห่งทิฐิก็ดี ที่ตั้งขึ้นโดยรอบแห่งทิฐิก็ดี ความเพิกถอนทิฐิก็ดี มีประมาณเท่าใด เราย่อมรู้ ย่อมเห็นทิฐิเป็นต้นนั้น มีประมาณเท่านั้น เรารู้ทิฐิเป็นต้นนั้น จึงกล่าวว่า เรารู้อยู่ เราเห็นทิฐิเป็นต้นนั้น จึงกล่าวว่า เราเห็นอยู่ เราจะกล่าวว่าเราไม่รู้ ไม่เห็นอย่างไรได้ ดูกรอาวุโส เรารู้อยู่ เห็นอยู่ ฯ

โก. ท่านผู้มีอายุชื่อไร และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายย่อมเรียกท่านผู้มีอายุว่าอย่างไร ฯ

อา. ดูกรอาวุโส เรามีชื่อว่า อานนท์ และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเรียกเราว่า อานนท์ ฯ

โก. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าสนทนาอยู่กับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ ไม่รู้เลยว่า เป็นท่านพระอานนท์ ก็ถ้าว่าข้าพเจ้าพึงรู้ว่านี้คือท่านพระอานนท์ไซร้ ข้าพเจ้าก็ไม่พึงกล่าวโต้ตอบถึงเท่านี้ ขอท่านพระอานนท์จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ฯ

จบสูตรที่ ๖

อาหุเนยยสูตร

[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกข์สังวร ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ เป็นผู้มีคนดีเป็นมิตรมีคนดีเป็นสหาย มีคนดีเป็นเพื่อน ๑ เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบด้วยความเห็นอันชอบ ๑ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฎก็ได้ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในอากาศก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ๑ ย่อมได้ยินเสียงสองอย่าง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ๑ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น ๑ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ๑ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาจึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ๑ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ

จบสูตรที่ ๗

เถรสูตร

[๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุเป็นเถระรัตตัญญู บวชมานาน ๑ เป็นผู้มีศีลสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ จำปาติโมกข์ทั้งสองด้วยดีโดยพิสดาร จำแนกด้วยดี ให้เป็นไปได้ด้วยดี วินิจฉัยได้แล้วโดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ๑ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น ๑ เป็นผู้ใคร่ธรรม รักการฟังธรรมการแสดงธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่งในวินัยอันยิ่ง ๑ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ แม้นั่งในละแวกบ้านก็สำรวมแล้วด้วยดี ๑ เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้ ฯ

จบสูตรที่ ๘

อุปาลีสูตร

[๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี เสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลายเห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิจักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน ดูกรอุบาลี เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่อยู่ มีช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง มาถึงเข้า ช้างตัวนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วพึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมากลับไปตามต้องการ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้ว พึงขัดถูหูเล่นบ้าง ขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าช้างนั้นเป็นสัตว์มีร่างกายใหญ่ ย่อมได้การลงในน้ำลึก ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึง (ห้วงน้ำนั้น) เข้า กระต่ายหรือเสือปลาพึงคิดอย่างนี้ว่า เราเป็นอะไรและช้างใหญ่เป็นอะไร ไฉนหนอ เราพึงลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วจึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ กระต่ายหรือเสือปลานั้นก็ลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยพลัน ไม่ทันได้พิจารณา กระต่ายหรือเสือปลานั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือจักลอยขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่ากระต่ายหรือเสือปลานั้นเป็นสัตว์มีร่างกายเล็ก ย่อมไม่ได้การลงในห้วงน้ำลึก แม้ฉันใด ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือฟุ้งซ่าน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ดูกรอุบาลี เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย ย่อมเล่นมูตรและคูถของตน ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อนอย่างเต็มที่สิ้นเชิงมิใช่หรือ ท่านพระอุบาลีกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแล อาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ย่อมเล่นเครื่องเล่นทั้งหลายที่เป็นของเล่นของพวกเด็กๆ คือ เล่นไถน้อยๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้ เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้ เป็นการเล่นดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแล อาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ เป็นผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ด้วยรูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ด้วยเสียงทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยหู ... ด้วยกลิ่นทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยจมูก ... ด้วยรสทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยลิ้น ... ด้วยโผฏฐัพพะทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้ เป็นการเล่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรอุบาลี ก็พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรแห่งคฤหบดี หรือผู้เกิดมาในภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธาในตถาคต ประกอบด้วยการได้ศรัทธาแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่ขัดแล้วไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่แล้วปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ละอพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อถือได้ ไม่พูดลวงโลก ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ภิกษุนั้นเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องการประโคมดนตรีและการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว เว้นขาดจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เว้นขาดจากการซื้อการขาย เว้นขาดจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง การฉ้อโกงด้วยของปลอม และการฉ้อโกงด้วยเครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง ซึ่งตนจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง ซึ่งตนจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่มีโทษเฉพาะตน ฯ

ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่าย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่าย่อมรักษามนินทรีย์ ชื่อว่าย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสเฉพาะตน ฯ

ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ย่อมทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ย่อมทำความรู้สึกตัวในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ย่อมทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่า ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละความโลภในโลกแล้ว มีจิตปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความโลภ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลสัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา ฯ

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการนี้ได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยคำนึงว่า อากาศไม่มีที่สุด ดังนี้ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยคำนึงว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้ ... เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงว่า หน่อยหนึ่งไม่มี ดังนี้ ... เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยคำนึงว่า ธรรมชาตินี้สงัด ธรรมชาตินี้ประณีต ดังนี้ ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ฯ

ดูกรอุบาลี อีกประการหนึ่ง เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุจึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ และอาสวะของภิกษุนั้นเป็นกิเลสหมดสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ฯ

อุ. เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรอุบาลี สาวกทั้งหลายของเราพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมแม้นี้ (ว่ามีอยู่) ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน ดูกรอุบาลี เธอจงอยู่ในสงฆ์เถิด เมื่อเธออยู่ในสงฆ์ ความสำราญจักมี ฯ

จบสูตรที่ ๙

อภัพพสูตร

[๑๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๑๐ ประการนี้ ไม่ได้แล้ว ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ โกธะ ๑ อุปนาหะ ๑ มักขะ ๑ ปฬาสะ ๑ อิสสา ๑ มัจฉริยะ ๑ มานะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลยงละธรรม ๑๐ ประการนี้แลไม่ได้ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๑๐ ประการนี้ได้แล้ว จึงเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ โกธะ ๑ อุปนาหะ ๑ มักขะ ๑ ปฬาสะ ๑ อิสสา ๑ มัจฉริยะ ๑ มานะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๑๐ ประการนี้แลได้แล้ว จึงเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ฯ

จบอุปาสกวรรคที่ ๕

**********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ



Create Date : 17 มีนาคม 2549
Last Update : 17 มีนาคม 2549 18:03:59 น.
Counter : 483 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด