ความทุกข์ของพระโสดาบัน
พระสุตรในวันนี้อยุ่ในสัจจสังยุตต์ครับ กล่าวถึงความจริงกัน คิดว่ามีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ดังนั้นพระสูตรสิบพระสูตรที่ยกมานี้ก็คือความจริงสิบประการ ผู้มีศรัทธาอยากทราบมากกว่านี้ก็ขอเชิญอ่านในพระไตรปิฏกครับ จักเป็นประโยชน์แก่ท่านครับ

พระสูตรในวันนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัจจสังยุตต์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************************
ปปาตวรรคที่ ๔

จินตสูตร

การคิดเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ ไม่มีประโยชน์

[๑๗๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนหนึ่งออกจากเมืองราชคฤห์ เข้าไปยังสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา ด้วยประสงค์ว่า จักคิดเรื่องโลก ครั้นแล้ว นั่งคิดเรื่องโลกอยู่ ณ ขอบสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา เข้าได้เห็นกองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ เข้าไปสู่ก้านบัว ที่ขอบสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา ครั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า เราชื่อว่าเป็นคนบ้า ชื่อว่าเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านเสียแล้ว เราเห็นสิ่งที่ไม่มีในโลก ครั้งนั้น บุรุษนั้นเข้าไปยังนครบอกแก่หมู่มหาชนว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราชื่อว่าเป็นคนบ้า ชื่อว่าเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านเสียแล้ว เราเห็นสิ่งที่ไม่มีในโลก หมู่มหาชนถามว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเป็นบ้าได้อย่างไร ท่านมีจิตฟุ้งซ่านอย่างไร สิ่งอะไรที่ไม่มีในโลกซึ่งท่านเห็นแล้ว?

บุ. ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะบอกให้ทราบ เราออกจากกรุงราชคฤห์ เข้าไปยังสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา ด้วยประสงค์ว่า จักคิดเรื่องโลก ครั้นแล้ว นั่งคิดเรื่องโลกอยู่ ณ ขอบสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา เราได้เห็นกองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ เข้าไปสู่ก้านบัวที่ขอบสระโบกขรณีชื่อสุมาคธา เราเป็นบ้าได้อย่างนี้ เรามีจิตฟุ้งซ่านอย่างนี้ ก็สิ่งนี้ไม่มีในโลก เราเห็นแล้ว.

มหา. ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านเป็นบ้าแน่ ท่านมีจิตฟุ้งซ่านแน่ ก็และสิ่งนี้ไม่มีในโลกท่านเห็นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง ไม่ใช่ได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง.

[๑๗๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามเทวดากับอสูรประชิดกัน ก็ในสงครามนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ก็พวกอสูรที่แพ้กลัวแล้ว ยังจิตของพวกเทวดาให้งวยงงอยู่ เข้าไปสู่บุรีอสูรโดยทางก้านบัว เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงอย่าคิดเรื่องโลกว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความคิดนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

[๑๗๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะคิด พึงคิดว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความคิดนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[เรื่องบางประการเช่นฤทธิ์ของเทวดาทั้งหลายนั้น เกินกว่าวิสัยของการใช้เหตุผลของมนุษย์ปุถุชนจะอธิบายได้ เช่นเดียวกับการไปคิดถึงเรื่องว่าตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่ โลกเที่ยงหรือไม่ ฯลฯ เป็นการเสียเวลาเปล่า ควรคิดแต่เรื่องอริยสัจจ์ คือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางเพื่อดับทุกข์]

จบ สูตรที่ ๑

ปปาตสูตร

ว่าด้วยเหวคือความเกิด

[๑๗๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดนเพื่อพักกลางวัน ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้เห็นเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวนี้ใหญ่ เหวนี้ใหญ่แท้ๆ เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหวอื่นที่ใหญ่กว่าและน่ากลัวกว่าเหวนี้เป็นไฉน?

[๑๗๒๙] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... เพื่อความแก่ ... เพื่อความตาย ... เพื่อความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ยินดีแล้ว ย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.

[๑๗๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... และความคับแค้นใจ ไม่ยินดีแล้วย่อมไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลายซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ... และความคับแค้นใจ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกลงสู่เหวคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ... และความคับแค้นใจย่อมพ้นจากทุกข์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การกำหนดรู้เรื่องทุกข์ และความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อดับซึ่งความเกิด ความแก่ ความตาย ฯลฯ อันน่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่าหุบเหวอันลึก]

จบ สูตรที่ ๒

ปริฬาหสูตร

ว่าด้วยความเร่าร้อน

[๑๗๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อว่ามีความเร่าร้อนมาก มีอยู่ ในนรกนั้น บุคคลยังเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยนัยน์ตาได้ (แต่) เห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนาอย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา เห็นรูปที่ไม่น่าใคร่อย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าใคร่ เห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจอย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าชอบใจ ได้ฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยหูได้ ... ได้สูดกลิ่นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยจมูกได้ ... ได้ลิ้มรสอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยลิ้นได้ ... ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายได้ ... ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์อย่างหนึ่งด้วยใจได้ (แต่) รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าปรารถนาอย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าปรารถนา รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าใคร่อย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าใคร่ รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าพอใจอย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าพอใจ.

[๑๗๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเร่าร้อนมาก ความเร่าร้อนมากแท้ๆ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้ มีอยู่หรือ?

พ. ดูกรภิกษุ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้มีอยู่.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่า และน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้ เป็นไฉน?

[๑๗๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ฯลฯ ยินดีแล้ว ย่อมปรุงแต่ง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะความเกิดบ้าง ความแก่บ้าง ความตายบ้าง ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจบ้าง เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ... ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.

[๑๗๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ฯลฯ ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่ง ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่เร่าร้อน ด้วยความเร่าร้อนเพราะความเกิด ... และความคับแค้นใจ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากความเกิด ... ความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายเป็นความเร่าร้อน น่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่านรก]

จบ สูตรที่ ๓

กูฎสูตร

ว่าด้วยฐานะที่มีได้และมีไม่ได้

[๑๗๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้กระทำเรือนชั้นล่าง แล้วจักยกเรือนชั้นบนแห่งเรือนยอด ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๗๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรากระทำเรือนชั้นล่างแล้ว จักยกเรือนชั้นบนแห่งเรือนยอด ดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การกระทำถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ มีเพียงทางเดียวคือการกำหนดรู้ในอริยสัจจ์4]

จบ สูตรที่ ๔

วาลสูตร

ว่าด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงยาก

[๑๗๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้วได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ ที่จักยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว.

[๑๗๓๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ได้เห็นลิจฉวีกุมารมากด้วยกัน กำลังทำการยิงศรอยู่ในศาลาสำหรับเรียนศิลปะ ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด ครั้นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดว่า พวกลิจฉวีกุมารเหล่านี้ที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด เป็นผู้ศึกษาแล้ว ศึกษาดีแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน? คือ การที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน.

อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การแทงปลายขนทรายด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่าพระเจ้าข้า.

พ. ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้นย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การรู้แจ้งในอริยสัจจ์นั้นกระทำได้โดยยาก พึงไม่มีความประมาท กระทำความเพียรศึกษาอยู่ตลอด]

จบ สูตรที่ ๕

อันธการีสูตร

ผู้รู้ตามเป็นจริงไม่ตกไปสู่ที่มืด

[๑๗๓๙] ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกันตนรกมีแต่ความทุกข์ มืดคลุ้มมัวเป็นหมอก สัตว์ในโลกันตนรกนั้น ไม่ได้รับรัศมีพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้.

[๑๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมืดนั้นมาก ความมืดนั้นมากแท้ๆ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้ มีอยู่หรือ?

พ. ดูกรภิกษุ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้มีอยู่.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดนี้เป็นไฉน.

[๑๗๔๑] พ. ดูกรภิกษุ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ฯลฯ ยินดีแล้วย่อมปรุงแต่ง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมตกไปสู่ความมืดคือความเกิด ... และความคับแค้นใจ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ... ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์.

[๑๗๔๒] ดูกรภิกษุ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลายซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ฯลฯ ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่ง ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกไปสู่ความมืดคือความเกิดบ้าง ... และความคับแค้นบ้าง เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นไปจากความเกิด ... และความคับแค้นใจ ย่อมพ้นไปจากความทุกข์ ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[ความไม่รู้ในอริยสัจจ์นั้นเป็นความมืดเสียยิ่งกว่าในโลกันตนรก]

จบ สูตรที่ ๖

ฉิคคฬสูตรที่ ๑

ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ยาก

[๑๗๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอก ซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ สอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้น ยังจะเร็วกว่า เราย่อมกล่าวความเป็นมนุษย์เพราะคนพาลผู้ไปสู่วินิบาตแล้วคราวเดียวก็หามิได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะว่าในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศล การกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกิน ผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ควรหมั่นศึกษาทำความเข้าใจในอริยสัจจ์4]

จบ สูตรที่ ๗

ฉิคคฬสูตรที่ ๒

ว่าด้วยการได้ความเป็นมนุษย์ยาก

[๑๗๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้มีน้ำเป็นอันเดียวกัน บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาปฐพีนั้น ลมทิศบูรพาพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศประจิม ลมทิศประจิมพัดเอาไปทางทิศบูรพา ลมทิศอุดรพัดเอาไปทางทิศทักษิณ ลมทิศทักษิณพัดเอาไปทางทิศอุดร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาปฐพีนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นเป็นของยาก.

พ. ฉันนั้นภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[แม้ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะมีวาสนาได้พบกับพระพุทธศาสนาก็มิใช่เรื่องง่าย]

จบ สูตรที่ ๘

สิเนรุสูตรที่ ๑

ทุกข์ของพระอริยบุคคลหมดไปมากกว่าที่เหลือ

[๑๗๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเก็บก้อนหิน ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนแห่งขุนเขาสิเนรุราช เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้วกับขุนเขาสิเนรุราช อย่างไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชมากกว่า ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้ว น้อยกว่า เมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุราชแล้ว ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน ที่บุรุษนั้นเก็บไว้แล้ว ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้ว ผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่สิ้นไป หมดไปแล้ว มากกว่าที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[การเป็นพระโสดาบัน จักมาเกิดเป็นมนุษย์อีกไม่เกิน7ชาติ แม้เป็นความลำบาก แต่เทียบกับความทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดแล้วก็เปรียบดังก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว7ก้อนเมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุราช]

จบ สูตรที่ ๙

สิเนรุสูตรที่ ๒

ทุกข์ของพระอริยบุคคลหมดไปมากกว่าที่เหลือ

[๑๗๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาสิเนรุราชพึงถึงความสิ้นไป หมดไป เว้นก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไป กับก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ อย่างไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไป นี้แหละมากกว่า ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไป ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่ยังเหลืออยู่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้ว ผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่สิ้นไป หมดไปแล้ว มากกว่าที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[ผู้เป็นพระโสดาบันย่อมเหลือความทุกข์ที่ต้องเผชิญมีประมาณน้อยเปรียบดังก้อนหิน7ก้อน ไม่มากเท่ากับที่ปุถุชนจะต้องเผชิญ]

จบ สูตรที่ ๑๐

จบ ปปาตรวรรคที่ ๕

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2549 12:37:41 น.
Counter : 992 Pageviews.

0 comments
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด