ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเลิศทางฤทธิ์ (ต่อ)
(ต่อ)

๖. ทัททัลลวิมาน

ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในทัททัลลวิมาน

นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า
[๓๔] ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งเรืองโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมด ด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่านเพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า?

นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า
ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉัน
ได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่มาด้วย
ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้นมาแล้ว ได้มาเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์
ชั้นนิมมานรดี.

นางภัททเทพธิดาจึงถามต่อไปอีกว่า
ดูกรแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้า เหล่า
นิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มาก แล้วจึงได้มา
บังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใครเป็นครู
ผู้แนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์
ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและรักษาศีลเช่นไรไว้ ดูกรแม่เทพธิดา
ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย?

นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า
เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่ แก่สงฆ์
ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉัน
จึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะ
บุญกรรมนั้น.

นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า
พี่ได้เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้
อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเอง มากกว่าเธอ ครั้น
ให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอ
ได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เล่า แน่ะแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย?

นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า
เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรบทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่
จึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธานด้วย
ภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ อนุเคราะห์แก่
ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน
ทักขิณาของดิฉันนั้น จึงเป็นสังฆทาน ดิฉันให้เข้าตั้งไว้ในสงฆ์เป็นทาน
ที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่า มีอยู่เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุ
ด้วยความเลื่อมใสเป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก.

นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้นจึงกล่าวว่า
พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไป
บังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความ
ตระหนี่ ถวายสัฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์.

เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพยวิมานของตนบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น เมื่อนางสุภัททาเทพธิดากลับไปแล้ว จึงตรัสถามนางเทพธิดาว่า
ดูกรนางภัททา เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนาอยู่กับเธอ
ย่อมรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี?

นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่า
ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้น เมื่อชาติ
ก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และ
ได้เคยร่วมสามีเดียวกันกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศลคือถวาย
สังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้ เพค๊ะ.

สมเด็จอัมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทาน จึงตรัสว่า ดูกร
นางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน
คือการถวายสังฆทานที่ไม่อาจจะปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถาม
พระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรม
ที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่มีผลมาก ของมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทาน
อยู่ หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายใน
บุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้น
แก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และ
ท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยมรรค ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้
ชื่อว่าสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรงดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์
ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภการเวียน
เกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็น
ผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์
ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเน
ได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ได้ ฉะนั้น พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นผู้ประ-
เสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร เป็นเยี่ยมในหมู่
นรชนเป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือ ญาณของชาวโลก ได้แก่ นำ
เอาแสงสว่าง คือพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้
แจง ปวงชนที่ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักขิณา
ของเขาเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูก
ต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบ เพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน
มีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญชน
เหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติ
โสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ความลังเลในใจ และการตีตนเสมอท่าน อันเป็นมูลฐานเสียได้
ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน แต่นั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ๆ เป็นแดน
สวรรค์.

จบ ทัททัลลวิมานที่ ๖.

๗. เสสวดีวิมาน

ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในเสสวดีวิมาน

เมื่อพระวังคีสเถระจะไต่ถามถึงบุรพกรรมของนางเทพธิดานั้น จึงสรรเสริญวิมานของเธอเสียก่อนเป็นปฐม ด้วยคาถา ๗ คาถา ความว่า
[๓๕] ดูกรแม่เทพธิดา อาตมาได้เห็นวิมานของท่านนี้ อันมุงและบังด้วย
ข่ายแก้วผลึก ข่ายเงินและข่ายทองคำ มีพื้นที่เต็มไปด้วยต้นไม้มี
ผลวิจิตรนานาพรรณเป็นระเบียบเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ เป็นวิมาน
ซึ่งเกิดกับสำหรับบุญ มีซุ้มประตูแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ที่ลาน
วิมานเรี่ยรายไปด้วยทรายทองงดงามมาก มีรัศมีส่องสว่างไปทั่วทุกทิศ
เหมือนพระอาทิตย์มีรัศมีตั้งพัน ซึ่งกำจัดความมืดมนได้เป็นปกติใน
ยามสรทกาล หรือเหมือนกับแสงเปลวเพลิงซึ่งกำลังลุกอยู่บนยอด
ภูเขาในเวลากลางคืน หรือคล้ายกับการลืมตาขึ้นขณะที่ฟ้าแลบในโอกาส
ฉะนั้น วิมานนี้เป็นวิมานลอยอยู่ในอากาศ ก้องกังวาลไปด้วยเสียง
ดนตรี คือ พิณเครื่องใหญ่ กลอง และกังสดาล ประโคม
อยู่มิได้ขาดระยะ สุทัสนะเทพนคร อันเป็นเมืองพระอินทร์ ซึ่ง
มั่งคั่งไปด้วยสมบัติทิพย์ฉันใด วิมานของท่านนี้ก็ฉันนั้น วิมานของ
ท่านนี้ฟุ้งไปด้วยกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยมหลายอย่างต่างๆ กัน คือ
กลิ่นดอกปทุม ดอกโกมุท ดอกอุบล ดอกจงกลณี ดอกคัดเค้า
ดอกพุดซ้อน ดอกกุหลาบ ดอกอังกาบ ดอกรัง ดอกอโศก
แย้มกลีบ ส่งกลิ่นหอมระรื่น ทั้งตั้งอยู่ริมฝั่งสระโบกขรณี น่า
รื่นรมย์ เรียงรายไปด้วยไม้หูกวาง ขนุนสำมะรอ และต้นไม้
กลิ่นหอม มีทั้งไม้เลื้อยชูดอกออกช่อหอมระรื่น ห้อยย้อยเกาะก่ายลงมา
จากปลายใบต้นตาล และมะพร้าว คล้ายกับข่ายแก้วมณี และ
แก้วประพาฬจัดเป็นของทิพย์ มีขึ้นสำหรับท่านผู้เรืองยศ อนึ่ง ต้น
ไม้และดอกไม้ผลทั้งหลายซึ่งเป็นต้นไม้เกิดอยู่ในน้ำและบนบก ทั้ง
เป็นรุกขชาติมีอยู่ในเมืองมนุษย์ และไม่มีในเมืองมนุษย์ ตลอด
จนพรรณไม้ทิพย์ประจำเมืองสวรรค์ ก็ได้มีพร้อมอยู่ใกล้วิมานของท่าน
ท่านได้สมบัติทิพย์ทั้งนี้ เป็นผลแห่งการประพฤติทางกาย วาจา ใจ
และการฝึกฝนอินทรีย์อย่างไร เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงมาเกิดในวิมานนี้ ดูกรนางเทพธิดาผู้มีขนตางอนงาม ขอท่านจงตอบถึงผลกรรม เป็นเหตุได้วิมานที่ท่านได้แล้วนี้ เป็นไปตามที่อาตมาถามท่านแล้วตามลำดับด้วย
เถิด?

ลำดับนั้น นางเทพธิดาตอบว่า
ก็วิมานที่ดิฉันได้แล้วนี้ มีฝูงหงส์ นกกระเรียน ไก่ฟ้า นกกด
และนกเขาไฟ เที่ยวร่อนร้องไปมา ทั้งเต็มไปด้วยหมู่นกนางนวล
นกกะทุง และพญาหงส์ทอง ซึ่งเป็นนกทิพย์ เที่ยวบินไปมา
อยู่ตามลำน้ำ และอึงคนึงไปด้วยฝูงนกประเภทอื่นๆ อีก คือ นก
เป็ดน้ำ นกค้อนหอย นกดุเหว่าลาย นกดุเหว่าขาว มีทั้ง
ต้นไม้ดอก ไม้ต้น ไม้ผล อันเกิดเองหลายอย่างต่างพรรณ
คือ ต้นแคฝอย ต้นหว้า ต้นอโศก พระคุณเจ้าขา ดิฉันได้วิมาน
เหตุนี้ด้วยเหตุผลอันใด ดิฉันจะเล่าเหตุผลอันนั้นถวายพระคุณเจ้า
นิมนต์ฟังเถิด คือ มีหมู่บ้านหมู่หนึ่งชื่อนาฬกคาม ตั้งอยู่ทางทิศ
ตะวันออกของพระนครราชคฤห์ ดิฉันเป็นบุตรสะใภ้ประจำตระกูล
ของบ้านนั้นอันตั้งอยู่ภายในบุรี ชุมนุมในหมู่บ้านนั้นเรียกดิฉันว่า
เสสวดี ดิฉันมีใจชื่นบาน ได้ก่อสร้างกุศลกรรมไว้ในชาตินั้น คือ
ได้บูชาพระธาตุพระธรรมเสนาบดี นามว่า อุปติสสะ ซึ่งเป็นที่
บูชาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายผู้มากไปด้วยคุณความดีมีศีลเป็นต้น
หาประมาณมิได้ ซึ่งนิพพานไปแล้ว ด้วยเครื่องสักการะหลาย
อย่าง ล้วนแต่รัตนะและดอกคำ ก็แหละครั้นบูชาพระธาตุของพระผู้
แสวงหาซึ่งคุณอย่างยอดยิ่ง ผู้ถึงอนุปทิเสสนิพพานธาตุแล้ว ซึ่ง
ในที่สุดยังเหลืออยู่แต่พระธาตุเท่านั้น ครั้นดิฉันละกายมนุษย์นั้นแล้ว
จึงได้มาเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ชั้นไตรทศ อยู่ประจำวิมานในเทวโลก.

จบ เสสวดีวิมานที่ ๗.

๘. มัลลิกาวิมาน

ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในมัลกาวิมาน

พระนารทเถระไต่ถามนางมัลลิกาเทพธิดาว่า
[๓๖] ดูกรนางเทพธิดา ผู้มีผ้านุ่งห่มและธงล้วนแต่สีเหลือง ประดับประดา
ด้วยเครื่องก็ล้วนเหลือง เธอถึงจะไม่ประดับด้วยเครื่องประดับอันงดงาม
เหลืองอร่ามเช่นนี้ ก็ยังงามโดยธรรมชาติ ดูกรนางเทพธิดา ผู้มีเครื่อง
ประดับล้วนแต่ทองคำธรรมชาติ แก้วไพฑูรย์ จินดา มีกายาปกคลุม
ไว้ด้วยร่างแหทองคำเหลืองอร่าม เป็นระเบียบงดงามด้วยสายแก้วสี
ต่างๆ สายแก้วเหล่านั้น ล้วนแต่สำเร็จด้วยทองคำธรรมชาติ แก้วทับทิม
แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ บางสายก็ล้วนแล้วด้วยแก้วลาย คล้ายตาแมว
บ้างก็สำเร็จด้วยแก้วแดงคล้ายสีเลือด บ้างก็สำเร็จด้วยแก้วอันสดใส
สีตานกพิลาป เครื่องประดับทั้งหมดที่ตัวของท่านนี้ทุกๆ สาย ยามต้อง
ลมพัด มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกยูงพญาหงส์ทองหรือเสียงนก
การะเวก หรือมิฉะนั้นก็เสียงเบญจางคดุริยดนตรี ที่พวกคนธรรพ์พากัน
บรรเลงเป็นคู่ๆ อย่างไพเราะน่าฟังก็ปานกัน อนึ่ง รถของท่าน
งดงามมาก หลากไปด้วยเนาวรัตนนานาพรรณ อันบุญกรรมจัดสรรมา
ให้จากธาตุนานาชนิด ดูมูลมองพิจิตรจรัสจำรูญยามท่านยืนอยู่เหนือ
สุพรรณรถขับไปถึงประเทศใด ที่ตรงนั้นก็สว่างไสวไปทั่วถึงกัน ดูกรนาง
เทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ท่านจงตอบอาตมาว่า นี้เป็นผลแห่ง
กรรมอะไร?

นางมัลลิกาเทพธิดาตอบว่า
พระคุณเจ้าขา ดิฉันมีร่างกายซึ่งปกปิดไว้ด้วยร่างแหทองคำ วิจิตรไปด้วย
แก้วแดงอ่อนๆ และแก้วมุกดา นับว่าดิฉันคลุมร่างไว้ด้วยตาข่าย
ทองคำเช่นนี้ ก็เพราะดิฉันมีจิตผ่องใส ได้บูชาพระโคดมบรมครู
ผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ ซึ่งเสด็จเข้าสู่นิพพานไปแล้ว ครั้นดิฉัน
ทำกุศลธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญแล้ว จึงสร่างโศก หมด
โรคภัย ได้รับแต่ความสุขกาย สุขใจ รื่นเริงบันเทิงใจเป็นนิตย์.

จบ มัลลิกาวิมานที่ ๘.

๙. วิสาลักขิวิมาน

ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในวิสาลักขิวิมาน

สมเด็จอัมรินทราธิราชตรัสถามนางสุนันทาเทพธิดาว่า
[๓๗] ดูกรแม่เทพธิดาผู้มีนัยย์ตางาม เธอชื่อไร ได้ทำกรรมอะไรไว้ จึงได้มีหมู่นางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวารเดินวนเวียนอยู่รอบๆ ในสวนจิตรลดาอันน่ารื่นรมย์ ในคราวที่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ล้วนแต่ขึ้นม้า ขึ้นรถ ตบแต่งร่างกายวิจิตรงดงาม เข้าไปยังสวนนั้นแล้ว จึงมาในที่นี้ แต่เมื่อ
เธอพอมาถึงในที่นี้ กำลังเที่ยวชมสวน รัศมีก็สว่างไสวไปทั่วจิตรลดาวัน
โอภาสของสวนมิได้ปรากฏ รัศมีของท่านมาข่มเสีย ดูกรแม่เทพธิดา
ฉันถามเธอแล้ว ขอเธอจงบอกว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?

นางสุนันทาเทพธิดาผู้เป็นอัครชายาทูลตอบว่า
ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ ผู้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่เก่าก่อน รูปอันสวยงาม คติ ฤทธิ์ และอานุภาพของหม่อมฉัน ย่อมมีได้ด้วยกรรม
อันใด ขอพระองค์จงทรงสดับกรรมนั้น หม่อมฉันเป็นอุบาสิกามีนามว่า
สุนันทาอยู่ในพระนครราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา และ
ศีล ยินดีในการจำแนกทานทุกเมื่อ คือหม่อมฉันมีจิตเลื่อมใส ได้
ถวายผ้านุ่งผ้าห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะและเครื่องประทีป ในภิกษุ
ทั้งหลายผู้เที่ยงตรง ทั้งได้รักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอด
ปฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมอยู่ในศีลเป็นนิตย์ หม่อมฉันยินดีแล้วใน
สิกขาบททั้ง ๕ คือ งดเว้นจากปาณาติบาต จากความเป็นขโมย
จากการประพฤตินอกใจ ระมัดระวังจากการพูดเท็จ และเว้นไกล
จากการดื่มน้ำเมา เป็นผู้ฉลาดในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔
เป็นอุบาสิกาของพระสมณโคดมผู้มีพระจักษุ ผู้เรืองยศ บิดาของหม่อม
ฉันใช้ให้หม่อมฉันนำดอกไม้มาทุกๆ วัน หม่อมฉันได้บูชาที่สถูป
อันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระผู้มีพระภาคทุกๆ วัน ในวันอุโบสถ
หม่อมฉันมีใจผ่องใส ได้ถือเอาพวงมาลัย ของหอมและเครื่องลูบไล้
ไปบูชาพระสถูปของพระผู้มีพระภาคนั้นด้วยมือของตน ข้าแต่พระองค์
ผู้จอมเทพ รูปอันสวยงาม คติ ฤทธิ์ และอนุภาพเช่นนี้ เกิดมีแก่
หม่อมฉันเพราะกรรมนั้น มิใช่ว่าผลที่หม่อมฉันได้บูชาพระสถูปด้วย
พวงมาลัย และที่หม่อมฉันได้รักษาศีล จะให้ผลเท่านั้นก็หามิได้ ยังกลับ
ให้หม่อมฉันพึงได้สกทาคามี ตามความปรารถนาของหม่อมฉันอีกด้วย.

จบ วิสาลักขิวิมานที่ ๙

๑๐. ปาริฉัตตกวิมาน

ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในปาริฉัตตกวิมาน

พระมหาโมคคัลลานเถระถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า
[๓๘] ดูนางเทพธิดา ท่านมาเก็บเอาดอกปาริกฉัตตกะ มีสีงามหอมหวนยวนใจ อันเป็นดอกไม้ทิพย์ มาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยประดับกายขับร้องเล่นสำเริงอยู่ เมื่อท่านกำลังฟ้อนรำอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟังวังเวงใจ
เปล่งจากอวัยวะใหญ่น้อยพร้อมๆ กัน ทั้งกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ
ก็ฟุ้งขจรไปจากอวัยวะใหญ่น้อยทุกๆ ส่วน เมื่อท่านไหวกายผายผันกลับ
ไปมา เสียงเครื่องประดับอันท่านประดับไว้ที่ช้องผมทุกๆ แห่ง เมื่อคราว
ลมพัดพานมาต้องเข้า ก็เปล่งเสียงไพเราะ คล้ายกับเสียงดนตรีเครื่อง ๕
อนึ่ง เสียงแห่งมาลัย เครื่องประดับเศียร คือ มงกุฏ ที่ถูกลมพัดต้อง
เข้าแล้วก็กังวานไพเราะ คล้ายกับเสียงดนตรีเครื่อง ๕ แม้กลิ่นแห้ง
ดอกไม้ที่ท่านสอดแซมไว้บนเศียรเกล้า ก็มีกลิ่นหอมหวนชวนให้ชื่นใจ
หอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ ดังต้นอุโลกที่มีอยู่บนเขาคันธมาทน์ ฉะนั้น ท่าน
ย่อมสูดดมกลิ่นอันหอมหวนนั้น ทั้งได้ชมรูปทิพย์ซึ่งมิใช่ของมนุษย์
ดูกรนางเทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่ง
กรรมอะไร?

นางเทพธิดานั้นตอบว่า
พระคุณเจ้าขา แต่ก่อน เมื่อดิฉันยังอยู่ในเมืองมนุษย์ ได้น้อมนำ
เอาดอกอโศกซึ่งมีเกษรงามเลื่อมประภัสสร มีกลิ่นหอมฟุ้ง ไปบูชา
พระพุทธเจ้า ครั้นดิฉันทำกุศลกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว
จึงสร่างโศกหมดโรคภัย ได้รับแต่ความสุขกายสุขใจ รื่นเริงบันเทิงอยู่
เป็นนิตย์.

จบ ปาริฉัตตกวิมานที่ ๑๐
---------------
รวมวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุฬารวิมาน ๒. อังฉุวิมาน
๓. ปัลลังกวิมาน ๔. ลตาวิมาน
๕. คุตติลวิมาน ๖. ทัททัลลวิมาน
๗. เสสวดีวิมาน ๘. มัลลิกาวิมาน
๙. วิสาลักขิวิมาน ๑๐. ปาริฉัตตกวิมาน.
จบ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓

**********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ.



Create Date : 03 เมษายน 2549
Last Update : 3 เมษายน 2549 15:20:26 น.
Counter : 537 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด