พระกำลังของพระตถาคต - 1
วันนี้จะกล่าวถึงเหตุผลแห่งการดำรงพระศาสนาของพระผู้มีพระภาค ที่คงมั่นอยู่จนปัจจุบัน ว่ามีเหตุอันสมควรในความเป็นผู้มีคุณวิเศษเป็นอัศจรรย์ของพระองค์ เหตุที่พระองค์จักเป็นเช่นปุถุชนผู้มีกิเลส ปราศจากพระกำลังอันยอดเยี่ยมนั้นหามิได้เลย ขออวยพรให้พุทธศาสนิกชนผู้สนใจ ได้อ่านพระสูตรในวันนี้จงยังจิตให้เลื่อมใส ขจัดความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามแต่ธรรมของท่านครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 สุตตันตปิฎกที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*************************************
มหาวรรคที่ ๓

สีหสูตร

[๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น สีหมฤคราช ย่อมออกจากที่อาศัย ครั้นแล้วย่อมเหยียดดัดตัว ครั้นแล้ว ย่อมเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ครั้นแล้วย่อมบันลือสีหนาทสามครั้ง ครั้นแล้ว ย่อมหลีกไปเพื่อหากิน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมันคิดว่า เราอย่าได้ยังสัตว์ตัวเล็กๆ ผู้ไปในที่หากินอันไม่สม่ำเสมอให้ถึงการถูกฆ่าเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าสีหะนี้แล เป็นชื่อแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัท เป็นสีหนาทของตถาคต ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจกบันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท กำลังของตถาคตมี ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ ตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะ ตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจกบันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งวิบากแห่งการยึดถือการกระทำทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งวิบากแห่งการยึดถือการกระทำที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกอันมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่างๆตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกอันมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่างๆ ตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลายการที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏกัปวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตเห็นสัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ ก็เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท กำลังของตถาคตเหล่านั้น ๑๐ ประการนี้แล ฯ
[เหตุที่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นเช่นสีหมฤคราช ทรงปฏิญาณฐานะของความเป็นมหาบุรุษอันเลิศ บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ก็ด้วยกำลัง10ประการคือ
1.พระองค์รู้ชัดซึ่งฐานะว่าเป็นฐานะ ความไม่เป็นฐานะว่าไม่เป็นฐานะในโลก ตามความเป็นจริง
2.พระองค์ทราบชัดถึงผลแห่งการกระทำโดยประการทั้งปวง ทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
3.พระองค์ทราบชัดว่าการปฏิบัติใดที่จักให้ผลอันเป็นคุณประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง
4.พระองค์ทราบชัด รู้แจ้งในโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง
5.พระองค์ทราบชัดถึงสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยต่างๆกัน
6.พระองค์ทราบชัดถึงอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่าหย่อน ว่าแก่กล้าโดยประการทั้งปวง
7.พระองค์ทรงทราบชัดถึงการออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริง ว่าเศร้าหมอง ผ่องแผ้ว
8.พระองค์ทรงระลึกชาติก่อนๆได้โดยไม่มีประมาณ ว่าในภพโน้นทรงมีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ ฯลฯ
9.พระองค์ทรงทราบถึงการจุติ อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
10.พระองค์กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งโดยพระองค์เอง]


จบสีหสูตร

อธิมุตติสูตร

[๒๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งอธิมุตติบท เหล่านั้น ดูกรอานนท์ เราเป็นผู้แกล้วกล้าปฏิญาณในธรรมเหล่านั้น เพื่ออันรู้ที่อาศัยของธรรมเหล่านั้นๆ แล้วแสดงธรรม โดยประการที่บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว จักรู้ซึ่งธรรมที่มีอยู่ว่า มีอยู่บ้าง จักรู้ซึ่งธรรมอันไม่มีอยู่ว่า ไม่มีอยู่บ้าง จักรู้ซึ่งธรรมเลวว่า เลวบ้าง จักรู้ซึ่งธรรมประณีตว่า ประณีตบ้าง จักรู้ซึ่งธรรมอันมีธรรมอื่นยิ่งกว่าว่า มีธรรมอื่นยิ่งกว่าบ้าง จักรู้ซึ่งธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าว่า ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าบ้าง ก็หรือว่าจักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้ง โดยประการที่ธรรมนั้นอันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น หรือพึงทำให้แจ้ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ ยถาภูตญาณในธรรมเหล่านั้นๆ เป็นยอดเยี่ยมกว่าญาณทั้งหลาย อนึ่ง เรากล่าวว่า ญาณอื่นอันยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณนี้ไม่มี ฯ

ดูกรอานนท์ ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท กำลังแห่งตถาคตเหล่านั้นมี ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งฐานะโดยเป็นอฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งวิบากแห่งการยึดถือการกระทำทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งวิบากแห่งการยึดถือการกระทำทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามเป็นจริง แม้นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาเครื่องให้ถึงประโยชน์ทั้งปวงตามเป็นจริง แม้นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกอันมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่างๆ ตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกอันมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่างๆ ตามเป็นจริง แม้นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กันตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามเป็นจริง แม้นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามเป็นจริง ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการพร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรอานนท์การที่ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก ฯลฯ นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจกบันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ด้วยประการฉะนี้ ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจกบันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

อีกประการหนึ่ง ตถาคตทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรอานนท์ การที่ตถาคตทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่นี้ เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ฯ

ดูกรอานนท์ ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะของผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท กำลังของตถาคตเหล่านั้นมี ๑๐ ประการนี้แล ฯ
[เหตุที่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นเช่นสีหมฤคราช ทรงปฏิญาณฐานะของความเป็นมหาบุรุษอันเลิศ บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท ก็ด้วยกำลัง10ประการคือ
1.พระองค์รู้ชัดซึ่งฐานะว่าเป็นฐานะ ความไม่เป็นฐานะว่าไม่เป็นฐานะในโลก ตามความเป็นจริง
2.พระองค์ทราบชัดถึงผลแห่งการกระทำโดยประการทั้งปวง ทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคต
3.พระองค์ทราบชัดว่าการปฏิบัติใดที่จักให้ผลอันเป็นคุณประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริง
4.พระองค์ทราบชัด รู้แจ้งในโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง
5.พระองค์ทราบชัดถึงสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยต่างๆกัน
6.พระองค์ทราบชัดถึงอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่าหย่อน ว่าแก่กล้าโดยประการทั้งปวง
7.พระองค์ทรงทราบชัดถึงการออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริง ว่าเศร้าหมอง ผ่องแผ้ว
8.พระองค์ทรงระลึกชาติก่อนๆได้โดยไม่มีประมาณ ว่าในภพโน้นทรงมีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ ฯลฯ
9.พระองค์ทรงทราบถึงการจุติ อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
10.พระองค์กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งโดยพระองค์เอง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่ายถาภูตญาณในธรรมซึ่งเป็นไปเพื่อการทำให้แจ้งด้วยปัญญาในความหลุดพ้นของพระองค์นั้น เป็นญาณอันยอดเยี่ยมกว่าญาณทั้งหลาย หาญาณอื่นอันยิ่งกว่านี้ ประณีตกว่านี้ มิได้]


จบอธิมุตติสูตร

กายสูตร

[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจามีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกายมีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยกาย เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วกล่าวอยู่ ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมเหล่านี้ เรียกว่าอันบุคคลพึงละด้วยกาย ไม่ใช่ด้วยวาจา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกายเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุเป็นผู้ต้องแล้วซึ่งส่วนอาบัติไรๆ อันเป็นอกุศลด้วยวาจา เป็นการดีหนอ ที่ท่านผู้มีอายุจงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ภิกษุนั้นอันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้ว ว่ากล่าวอยู่ ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าอันบุคคลพึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความริษยาอันชั่วช้าเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง ทาสหรือคนเข้าไปอาศัยของคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีผู้ใดผู้หนึ่งย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีนี้ ไม่พึงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทอง อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ ไม่พึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความริษยาอันชั่วช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความปรารถนาอันชั่วช้าเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีล ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้ว่าเรา เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ได้สดับน้อย ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ได้สดับมาก เป็นผู้มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ชอบสงัด เป็นผู้เกียจคร้าน ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้มีสติหลงลืม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีใจตั้งมั่น เป็นผู้มีปัญญาทราม ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ ย่อมปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้เราว่า เป็นผู้สิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความปรารถนาอันชั่วช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่าโลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้าจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นเป็นไป หากว่าโทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่ครอบงำภิกษุนั้น เป็นไป ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้นโลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้นโทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ ฯ
[ธรรมอันบุคคลละได้โดยประการต่างๆ คือ
1.ละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา คือกายทุจริตนั้นเอง ซึ่งเพื่อนพรหมจรรย์ใคร่ครวญแล้วช่วยตักเตือนเมื่อเห็นอาบัติด้วยกายนั้น
2.ละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย คือวจีทุจริตนั้นเอง ซึ่งเพื่อนพรหมจรรย์ใคร่ครวญแล้วช่วยตักเตือนเมื่อเห็นอาบัติด้วยวาจานั้น
3.ละด้วยกาย ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเนชัดด้วยวาจาไม่ได้ คือกิเลสต่างๆ ได้แก่
3.1ความโลภ
3.2ความคิดประทุษร้าย
3.3ความหลง
3.4ความโกรธ
3.5ความผูกโกรธ
3.6ความลบหลู่
3.7ความตีเสมอ
3.8ความตระหนี่
3.9ความริษยา คือหวังให้บุคคลอื่นปราศจากทรัพย์ หรือให้ภิกษุรูปนี้ๆอย่าได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร
3.10ความปรารถนาอันชั่วช้า คือหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าตนมีศรัทธา มีศีล มีสุตะ ชอบสงัด ปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีใจตั้งมั่น มีปัญญา สิ้นอาสวะ

เมื่อความโลภ ความคิดประทุษร้าย ฯลฯ ครอบงำภิกษุเมื่อใด บุคคลย่อมเห็นได้เองว่าท่านผู้นี้หามีความรู้ฉันนั้นไม่ แต่หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ฯลฯ ไม่ครอบงำภิกษุ บุคคลพึงทราบได้ว่าท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด]


จบกายสูตร

มหาจุนทสูตร

[๒๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ที่ชาติวันในแคว้นเจตี ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโส ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายรับคำท่านพระมหาจุนทะแล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้ ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ ดังนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย หากว่าโลภะย่อมครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้าจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดภาวนา การอบรม ย่อมกล่าวว่า เราเป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว ดังนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย หากว่าโลภะย่อมครอบงำ ภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้าครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงครอบงำผู้นี้ ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว ดังนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้าจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเป็นคนยากจน พึงกล่าวอวดความมั่งมี เป็นคนไม่มีทรัพย์ พึงกล่าวอวดทรัพย์ เป็นคนไม่มีโภคะ พึงกล่าวอวดโภคะ บุรุษนั้น เมื่อกิจอันจำต้องทำด้วยทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ไม่อาจจะนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทองออกใช้จ่ายได้ คนทั้งหลายพึงรู้บุรุษนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้เป็นคนยากจน ย่อมกล่าวอวดความมั่งมี เป็นคนไม่มีทรัพย์ ย่อมกล่าวอวดทรัพย์ เป็นคนไม่มีโภคะ ย่อมกล่าวอวดโภคะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ เมื่อกิจอันจำต้องทำด้วยทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ไม่อาจจะนำทรัพย์ข้าวเปลือก เงินหรือทองออกใช้จ่ายได้ ฉันใด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว ดังนี้ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย หากว่าโลภะครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โลภะจึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่ เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้ ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ ดังนี้ หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้รู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดภาวนา ย่อมกล่าวว่า เราเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว ดังนี้ หากว่าโลภะไม่พึงครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว ดังนี้ หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเป็นคนมั่งคั่ง พึงกล่าวอวดความมั่งคั่ง เป็นคนมีทรัพย์ พึงกล่าวอวดทรัพย์ เป็นคนมีโภคะ พึงกล่าวอวดโภคะ บุรุษนั้น เมื่อกิจที่จำต้องทำด้วยทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น พึงอาจนำเอาทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง ใช้จ่ายได้ คนทั้งหลายพึงรู้บุรุษนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นคนมั่งคั่ง จึงกล่าวความมั่งคั่ง เป็นคนมีทรัพย์ จึงกล่าวอวดทรัพย์ เป็นคนมีโภคะ จึงกล่าวอวดโภคะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้มีอายุนี้ เมื่อกิจที่จำต้องทำด้วยทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมอาจนำเอาทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้ ฉันใด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ย่อมกล่าวว่า เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว ดังนี้ หากว่าโลภะไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ครอบงำภิกษุนั้นตั้งอยู่ ภิกษุนั้นอันบุคคลพึงรู้อย่างนี้ว่า โลภะไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โลภะจึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่มีแก่ท่านผู้รู้ ฉันใด ท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด ฉันนั้น เพราะฉะนั้น โทสะ โมหะ ... ความริษยาอันชั่วช้า ความปรารถนาอันชั่วช้า จึงไม่ครอบงำท่านผู้มีอายุนี้ตั้งอยู่ ฯ
[ท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนภิกษุครั้งหนึ่งว่า เมื่อภิกษุกล่าวอวดความรู้ ว่ารู้ธรรมนี้ เห็นธรรมนี้ หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่

ภิกษุเมื่อกล่าวอวดภาวนา การอบรม ว่าตนมีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่

เมื่อภิกษุกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ว่ารู้ธรรมนี้ เห็นธรรมนี้ ว่าตนมีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้หารู้ฉันนั้นไม่

เปรียบดังบุคคลไม่มีทรัพย์กล่าวอวดว่ามั่งมี ครั้นเมื่อผู้นั้นต้องใช้เงินแต่ไม่มีทรัพย์ให้ใช้ ผู้อื่นเห็นอยู่ย่อมทราบว่าบุคคลนี้ไม่มีทรัพย์แต่อวดว่ามั่งมี

ส่วนเมื่อภิกษุกล่าวอวดความรู้ ว่ารู้ธรรมนี้ เห็นธรรมนี้ หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด

ภิกษุเมื่อกล่าวอวดภาวนา การอบรม ว่าตนมีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด

เมื่อภิกษุกล่าวอวดความรู้และอวดภาวนา ว่ารู้ธรรมนี้ เห็นธรรมนี้ ว่าตนมีกายอบรมแล้ว มีศีลอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว มีปัญญาอบรมแล้ว หากความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความตระหนี่ ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า ไม่ปรากฏว่าครอบงำภิกษุนั้นอยู่ บุคคลพึงรู้ว่าท่านผู้มีอายุนี้ย่อมรู้ชัด

เปรียบดังบุคคลผู้มีทรัพย์กล่าวอวดว่ามั่งคั่ง ครั้นเมื่อผู้นั้นต้องใช้เงินก็มีทรัพย์ให้ใช้ ผู้อื่นเห็นอยู่ย่อมทราบว่าบุคคลนี้มีทรัพย์จริง]


จบสูตรที่ ๔

(ยังมีต่อ)



Create Date : 13 มีนาคม 2549
Last Update : 13 มีนาคม 2549 17:21:17 น.
Counter : 420 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด