ขยายความเรื่องโพชฌงค์ (ต่อ)
(ต่อ)

[๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
[เวลาที่จิตหดหู่ ควรเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อจิตหดหุ่ จิตนั้นเจริญได้โดยง่ายซึ่งการใคร่ครวญธรรม การริเริ่มและพากเพียร และความแช่มชื่นใจ เรียกว่าเป็นปัคคหะคือการปลอบจิตในเวลาหดหู่]

ภิ. ได้ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น.

[๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ?
[เวลาใดที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่ควรเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจะทำให้จิตฟุ้งซ่านจนสงบระงับได้โดยยาก เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องระวัง]

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.

[๕๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้หรือหนอ?
[เวลาที่จิตฟุ้งซ่าน ควรเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อเจริญความสงบใจ ความตั้งมั่นของใจ ความวางเฉยของใจ จิตนั้นย่อมสงบลง ควบคุมจิตได้โดยดี เรียกว่านิคคหะ - อุบายข่มจิตเมื่อฟุ้งซ่าน]

ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.
[ควรเจริญสติสัมโพชฌงค์ในทุกกาล]

จบ สูตรที่ ๓

เมตตสูตร

พรหมวิหาร ๔

[๕๗๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกลิยะ ชื่อ หลิททวสันนะ ในโกลิยชนบท ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปด้วยกัน เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด.

[๕๗๔] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะภิกษุเหล่านั้นว่า

[๕๗๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.

[๕๗๖] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.

[๕๗๗] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.

[๕๗๘] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.

[๕๗๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ฯลฯ

[๕๘๐] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.

[๕๘๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความแตกต่างกัน ของพระสมณโคดมหรือของพวกเรา คือว่า ธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.

[๕๘๒] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.

[๕๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในหลิททวสันนนิคม เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

[๕๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคม ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความดำริว่า เวลานี้ เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตยังหลิททวสันนนิคมก่อน ก็ยังเช้าอยู่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด.

[๕๘๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้พูดกะข้าพระองค์ทั้งหลายว่า.

[๕๘๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่าอยู่เถิด.

[๕๘๗] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ...

[๕๘๘] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ...

[๕๘๙] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.

[๕๙๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วจงมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ เหมือนกัน ฯลฯ

[๕๙๑] จงมีใจประกอบด้วยกรุณา ...

[๕๙๒] จงมีใจประกอบด้วยมุทิตา ...

[๕๙๓] จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่เถิด ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง จงมีใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก ในที่ทุกสถาน อันมีสัตว์ทุกหมู่เหล่า อยู่เถิด.

[๕๙๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของพวกเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกัน ของพระสมณโคดมของหรือพวกเรา คือว่าธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของพระสมณโคดม.

[๕๙๕] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านคำพูดของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำพูดนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.

เมตตเจโตวิมุติ มีอะไรเป็นคติ

[๕๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด กรุณาเจโตวิมุตติ ... มุทิตาเจโตวิมุตติ ... อุเบกขาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นปัญหา ที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคต.

[๕๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ววางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มีสุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์.

[๕๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรุณาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยกรุณา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งสองนั้น หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่กระทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา เธอคำนึงอยู่ว่า อากาศไม่มีที่สุด ย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวกรุณาเจโตวิมุติ ว่ามีอากาสานัญจายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุผู้ยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์.

[๕๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มุทิตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยมุทิตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ฯลฯ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉยมีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ย่อมบรรลุวิญญาณัญจายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวมุทิตาเจโตวิมุติว่า มีวิญญาณัญจายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่ง ในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์.

[๖๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาเจโตวิมุติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอุเบกขา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เธอคำนึงอยู่ว่า อะไรนิดหนึ่งไม่มี ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนะอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวอุเบกขาเจโตวิมุติว่า มีอากิญจัญญายตนะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงเป็นโลกีย์.
[การแผ่เมตตา เจริญพรหมวิหารธรรม สามารถบรรลุได้ถึงโลกียฌาน แต่ก็เป็นธรรมที่สนับสนุนต่อการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น]

จบ สูตรที่ ๔

สคารวสูตร

นิวรณ์เป็นปัจจัยให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง

[๖๐๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า.

[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่บุคคลกระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยใดแล บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไปและไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดแล้ว ตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาไม่รู้ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๐๔] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความ เป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ในสมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองนั้นตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๐๕] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๐๖] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ซึ่งร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มีไอพลุ่งขึ้น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๐๗] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๐๘] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๐๙] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๑๐] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมพัดต้องแล้ว หวั่นไหว กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...

[๖๑๑] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๒] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตม อันบุคคลวางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๓] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

[๖๑๔] ดูกรพราหมณ์ ส่วนสมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๑๕] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันไม่ระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๖] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๗] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ไม่ร้อนเพราะไฟ ไม่เดือดพล่าน ไม่เกิดไอ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๘] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๑๙] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนไม่ปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๐] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความจริง ฯลฯ

[๖๒๑] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมไม่พัดต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๒] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฯลฯ

[๖๒๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว อันบุคคลวางไว้ในที่แจ้ง บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๒๔] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.

[๖๒๕] ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์แม้ทั้ง ๗ นี้ มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุติ โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน? คือสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์ ๗ นี้แล มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชา และวิมุติ.

[๖๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
[พระพุทธองค์เปรียบเทียบนิวรณ์5ไว้ดังนี้
1.กามฉันทะเปรียบดังฝ้าสีเหลือง สีแดง สีเขียว ฯลฯ ปกคลุมผิวน้ำ
2.พยาบาทเปรียบดังน้ำที่เดือดพล่าน
3.ถีนะมิทธะเปรียบดังน้ำที่มีสาหร่าย จอกแหนปกคลุม
4.อุทธัจจะกุกกุจจะเปรียบดังน้ำที่เป็นระลอกคลื่น
5.วิจิกิจฉาเปรียบดังน้ำที่เป็นเมือกขุ่นข้น
นิวรณ์5นี้เป็นเครื่องปิดกั้นปัญญา ทำให้จิตไม่เหมาะแก่การงาน เปรียบดังบุคคลไม่อาจส่องผิวน้ำในห้าข้อข้างต้นเพื่อดูเงาของตนได้นั่นเอง]


จบ สูตรที่ ๕

อภยสูตร

ความไม่รู้ความไม่เห็นมีเหตุมีปัจจัย

[๖๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น อภัยราชกุมารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

[๖๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุรณกัสสปกล่าวอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ดังนี้ ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร?

[๖๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราชกุมาร เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย.

[๖๓๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย อย่างไร?

[๖๓๑] พ. ดูกรราชกุมาร สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย แม้ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๒] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ...

[๖๓๓] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ...

[๖๓๔] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจะกุกกุจจะ ...

[๖๓๕] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความไม่รู้ เพื่อความไม่เห็น ความไม่รู้ ความไม่เห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๖] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร?

พ. ดูกรราชกุมาร ธรรมเหล่านี้ชื่อนิวรณ์.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต นิวรณ์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลถูกนิวรณ์แม้อย่างเดียว ครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ ครอบงำเล่า.

[๖๓๗] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหตุเป็นไฉน ปัจจัยเป็นไฉน เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัยอย่างไร?

[๖๓๘] พ. ดูกรราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญสติสัมโพชฌงค์อยู่ ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.

[๖๓๙] ดูกรราชกุมาร อีกประการหนึ่ง ฯลฯ ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เธอเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ด้วยจิตนั้น แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความรู้ เพื่อความเห็น ความรู้ ความเห็น มีเหตุ มีปัจจัย ด้วยประการนี้.

[๖๔๐] อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร?

พ. ดูกรราชกุมาร ธรรมเหล่านี้ชื่อโพชฌงค์.

อ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์เป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยโพชฌงค์แม้อย่างเดียว พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ จะกล่าวไปไยถึงการที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ เล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ แม้ความเหน็ดเหนื่อยกาย ความเหน็ดเหนื่อยใจ ของข้าพระองค์ ก็สงบระงับแล้ว และธรรมอันข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว.

จบ สูตรที่ ๖

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาหารสูตร ๒. ปริยายสูตร ๓. อัคคิสูตร
๔. เมตตสูตร ๕. สคารวสูตร ๖. อภยสูตร
จบ หมวด ๖ แห่งโพชฌงค์ โพชฌงค์แห่งสังยุต

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ



Create Date : 26 มกราคม 2549
Last Update : 26 มกราคม 2549 16:20:54 น.
Counter : 444 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด