การบรรลุธรรมโดยประการต่างๆ (ต่อ)
(ต่อ)

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.

[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียงแล้ว หามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละ ในละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น. เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.

[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิกภิกษุอย่างนี้ว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคและคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโส ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์.

[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า? ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว กล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ. พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูล อย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น หลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา.

[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านของถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.

[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก. ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว. ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไป ทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ. ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.

จบ สูตรที่ ๕.

๖. อัสสชิสูตร

ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเวทนา

[๒๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอัสสชิอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่อารามของกัสสปเศรษฐี. ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโสทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา และท่านทั้งหลายจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านอัสสชิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า อัสสชิภิกษุ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า และสั่งมากราบทูลว่า พระเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาอัสสชิภิกษุถึงที่อยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ.

[๒๒๓] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่พักผ่อนแล้วเสด็จเข้าไปหาท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอัสสชิว่า อย่าเลย อัสสชิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระอัสสชิว่า ดูกรอัสสชิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ? ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ฯลฯ ทุกขเวทนานั้นปรากฏว่า กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรอัสสชิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

อ. พระเจ้าข้า แท้ที่จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

พ. ดูกรอัสสชิ ก็ตัวเธอเองไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

อ. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนข้าพระองค์เองได้โดยศีลก็หาไม่.

พ. ดูกรอัสสชิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและความเดือดร้อนอะไร?

อ. พระเจ้าข้า ครั้งก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) ได้อย่างลำบาก จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิ จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราไม่เสื่อมหรือหนอ.

พ. ดูกรอัสสชิ สมณพราหมณ์ที่มีสมาธิเป็นสาระ มีสมาธิเป็นสามัญญะ เมื่อไม่ได้สมาธินั้น ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายไม่เสื่อมหรือหนอ. ดูกรอัสสชิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ถ้าอริยสาวกนั้น ได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่า เสวยทุกขเวทนา ก็ทราบชัดว่าทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่า เสวยสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้าย เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าหากว่า เสวยทุกขเวทนา ก็ปราศจาก ความยินดียินร้าย เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าหากว่า เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ปราศจาก ความยินดียินร้าย เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ย่อมทราบชัดว่า เวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน. หากว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด[เวทนาทางทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย] ก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ถ้าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด[เวทนาทางใจ] ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.

[๒๒๔] ดูกรอัสสชิ อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เชื้อไม่มีก็พึงดับ เพราะหมดน้ำมันและไส้นั้น ฉันใด. ดูกรอัสสชิ ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ทราบชัดว่า ก่อนแต่จะสิ้นชีวิต เพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น.

จบ สูตรที่ ๖.
[ภิกษุผุ้ไม่ได้ฌานก็สามารถบรรลุอริยผลได้โดยการเจริญสติปัฏฐาน4 คือมีสติพิจารณาความไม่เที่ยงในกาย เวทนา จิต และธรรม]


๗. เขมกสูตร

ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕

[๒๒๕] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นพระเถระหลายรูป อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเขมกะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่พทริการาม. ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลาย ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เรียกท่านพระทาสกะมากล่าวว่า มาเถิด ท่านทาสกะ จงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงบอกกะเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายได้ถามท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่า ทุเลา ไม่กำเริบขึ้นหรือ? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ท่านพระเขมกะตอบว่า ผมอดทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาอันกล้าของผมกำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาเลย.

[๒๒๖] ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เป็นเถระว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เขมกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ฯลฯ

ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงกล่าวกะเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตนหรือว่ามีในตนหรือ? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาพระเขมกะถึงที่อยู่แล้ว กล่าวว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตนหรือ?

ข. อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์ ผมไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน.

[๒๒๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวอย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ดูกรผู้มีอายุ ผมไม่ได้เห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่า มีในตนเลย.

ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษุเขมกะอย่างนี้ว่า อาวุโส พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ. ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ.

ข. ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่าเป็นตน หรือว่ามีในตน และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา.

[๒๒๘] ครั้นนั้นแล ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เถระถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา.

ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษุเขมกะอย่างนี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นี้คืออย่างไร? ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ท่านกล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ. ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามีนั้น คืออย่างไร? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะ ว่าท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร? ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ท่านกล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ. ดูกรท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร?

ข. พอทีเถิด ท่านทาสกะ การเดินไปเดินมาบ่อยๆ อย่างนี้ จะมีประโยชน์อะไร อาวุโส จงไปหยิบเอาไม้เท้ามาเถิด ผมจักไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายเอง.

[๒๒๙] ครั้งนั้น ท่านพระเขมกะยันไม้เท้าเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้นคืออย่างไร ฯลฯ

ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริก (บัวขาว) ก็ดี ผู้ใดหนอ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นใบ กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร ผู้นั้นเมื่อกล่าวอย่างนี้ จะพึงกล่าวชอบละหรือ?

ถ. ไม่เป็นอย่างนั้น อาวุโส.

ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้อย่างไร?

ถ. ดูกรอาวุโส โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้ว่า กลิ่นดอก.

ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่าเรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา. สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีไม่ได้. สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้. เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของทั้งหลายมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือ หรือในโคมัยแล้ว เอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาวผ่องก็จริง แต่ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้น ใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น แม้ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นก็หายไป ฉันใด. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้. เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้ ฉันนั้น.

[๒๓๐] เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ผมทั้งหลายไม่ได้ถามมุ่งหมายเบียดเบียนท่านเขมกะเลย แต่ว่า ท่านเขมกะสามารถพอจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นโดยพิสดาร ตามที่ท่านเขมกะบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว โดยพิสดาร.

ท่านพระเขมกะได้กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุผู้เถระทั้งหลายชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระเขมกะ. ก็เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวคำไวยากรณภาษิตอยู่ จิตของภิกษุผู้เถระประมาณ ๖๐ รูป และของท่านพระเขมกะ พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น.

จบ สูตรที่ ๗.
[พระสูตรนี้อธิบายถึงธรรมที่พระอนาคามีแจ่มแจ้งนั้นเป็นเช่นใด และเป็นตัวอย่างของพระอนาคามีที่ได้บรรลุอรหัตตผลโดยหมั่นพิจารณาธรรมอยู่เนืองๆ]

๘. ฉันนสูตร

ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ

[๒๓๑] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระหลายรูป อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น ถือลูกดาลเข้าไปสู่วิหาร ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงพร่ำสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผมจะพึงเห็นธรรมได้.

[๒๓๒] เมื่อพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้กล่าวกะท่านพระฉันนะว่า ดูกรท่านฉันนะ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา. ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะเกิดความคิดนี้ว่า แม้เราก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้น ในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ในการสละคืนอุปธิทั้งปวง ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมเกิดขึ้น ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็นตนของเรา. แต่ความคิดเห็นอย่างนี้ไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม (สัจจธรรม ๔) ใครหนอจะแสดงธรรมแก่เรา โดยที่เราจะพึงเห็นธรรมได้.

[๒๓๓] ลำดับนั้นเอง ท่านพระฉันนะได้มีความคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์ผู้ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและทรงยกย่องแล้ว ย่อมสามารถแสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญ และสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยที่เราจะพึงเห็นธรรมได้ อนึ่ง เราก็มีความคุ้นเคยในท่านพระอานนท์อยู่มาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาท่านพระอานนท์เถิด. ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะก็เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ สมัยหนึ่ง ผมอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้น ผมออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น ถือลูกดาลเข้าไปสู่วิหาร ทางวิหารแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลายจงพร่ำสอนผมด้วย ขอท่านพระเถระทั้งหลาย จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผมจะพึงเห็นธรรมได้. เมื่อผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้กล่าวกะผมว่า ท่านฉันนะ รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้ ผมนั้นได้มีความคิดว่า แม้เราก็มีความคิดเห็นอย่างนั้นว่า รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่หลุดพ้นในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ในการสละคืนอุปธิทั้งปวง ในความสิ้นตัณหา ในวิราคะ ในนิโรธ ในนิพพาน ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานย่อมเกิดขึ้น ใจก็ถอยกลับอย่างนี้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเล่าเป็นตนของเรา. แต่ความคิดเห็นอย่างนี้ไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม ใครหนอ จะแสดงธรรมแก่เราโดยที่เราจะพึงเห็นธรรมได้. อาวุโส ผมนั้นได้มีความคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้ อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์ผู้ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและยกย่อง ย่อมสามารถแสดงธรรมแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญ และสามารถจะแสดงธรรมแก่เราโดยที่เราจะพึงเห็นธรรมได้ อนึ่ง เราก็มีความคุ้นเคยในท่านพระอานนท์อยู่มาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาท่านพระอานนท์เถิด ขอท่านพระอานนท์ จงกล่าวสอนผมด้วย ขอท่านพระอานนท์ จงพร่ำสอนผมด้วย ขอท่านพระอานนท์ จงแสดงธรรมีกถาแก่ผมด้วย ตามที่ผมจะพึงเห็นธรรมได้.

[๒๓๔] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผมก็ดีใจด้วยท่านพระฉันนะ ทั้งได้รำพึงกันมาแต่แรก ท่านพระฉันนะได้กระทำข้อนั้นให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำลายความดื้อดึงได้แล้ว ท่านพระฉันนะ ท่านจงเงี่ยโสตลงฟัง ท่านเป็นผู้สมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง. ลำดับนั้น ความปีติและความปราโมทย์อย่างโอฬาร ก็บังเกิดมีแก่ท่านพระฉันนะ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่าเราเป็นผู้สมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง.
[ท่านพระฉันนะเป็นผู้สมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งเพราะว่าละความดื้อดึง ยินดีรับฟังการอธิบายธรรมจากพระอริยเจ้านั่นเอง]

อา. ท่านพระฉันนะ ผมได้สดับคำนี้มาเฉพาะพระพักตร์ รับมาแล้วเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสสั่งสอนภิกษุกัจจานโคตรอยู่ว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี ๑ ความไม่มี ๑. ก็เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี. เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุถือมั่นและความยึดมั่น แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น มีความยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละเมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย. ดูกรกัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ. ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี. ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ฉ. ดูกรท่านอานนท์ ท่านเหล่าใด มีการกล่าวสอนอย่างนี้ ท่านเหล่านั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์ กล่าวสอนและพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ก็แลผมเองได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านอานนท์แล้ว เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง.

จบ สูตรที่ ๘.

๙. ราหุลสูตรที่ ๑

ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ไม่ให้มีอหังการมมังการและมานานุสัย

[๒๓๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ อหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอกจึงจะไม่มี?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อหังการ มมังการและมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก จึงจะไม่มี.
[พระพุทธองค์ตรัสอธิบายธรรมอันยอดเยี่ยม เป็นแก่นของพระศาสนาแก่ท่านพระราหุล]

จบ สูตรที่ ๙.

๑๐. ราหุลสูตรที่ ๒

ว่าด้วยการรู้การเห็นที่ทำให้ปราศจากอหังการมมังการและมานานุสัย

[๒๓๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรหนอ ใจจึงปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิต ภายนอก เป็นของก้าวล่วงด้วยดี ในส่วนแห่งมานะสงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น. ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก เป็นของก้าวล่วงด้วยดีในส่วนแห่งมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว.
[ธรรมอันลุ่มลึกดังใจความเช่นกับพระสูตรก่อนหน้านี้ต้องพิจารณาโดยแยบคาย มักต้องกล่าวซ้ำเพื่อกระตุ้นความเข้าใจครับ]

จบ สูตรที่ ๑๐.

จบ เถรวรรคที่ ๔.

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ



Create Date : 09 มกราคม 2549
Last Update : 9 มกราคม 2549 14:10:38 น.
Counter : 481 Pageviews.

0 comments
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)

Aragorn.BlogGang.com

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด