♥ Love is the beauty of the Soul ♥ –Saint Augustine-
Group Blog
 
 
มีนาคม 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
Funny in Farsi




FUNNY IN FARSI (Memoir of the Iranian grown up in America)
Author : Firoozeh Dumas
209 Pages


ปกติไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือประเภท Memoir เท่าไหร่ ถ้าผู้เขียนไม่ใช่คนโด่งดังจริงๆ แต่รู้จักหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญ คือบังเอิญได้รู้จักกับอ.สุดจิตต์ ภิญโญยิ่ง ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ (และอีกหลายๆเรื่อง เช่น เอรากอน) ท่านนำข้อความบางตอนมาถ่ายทอด รู้สึกสนุก แต่หาฉบับแปลไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่ฉบับแปลเลย ฉบับภาษาอังกฤษเอง ตามหาทุกร้านหนังสือไม่ว่าจะเป็น ASIA BOOKS, DK หรือ KINO KUNIYA ก็ไม่มีแล้ว ซึ่งจริงๆเพิ่งพิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2003 นี้เอง แต่เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะความเป็นหนังสือประเภท NON-FICTION (MEMOIR) ก็เลยสั่งเข้ามาจำหน่ายน้อย

ด้วยกิเลสที่ล้นเหลือ เลยสั่งซื้อตรงจาก AMAZON.COM ราคาหนังสือเล่มละ $12.95 แต่ค่าส่ง $20 ตอนนั้น $1 = 40 บาท เบ็ดเสร็จแล้วหนังสือเล่มกระทัดรัดนี้ สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 1,300 บาท (โอ้ววว) แต่ก็เก็บเอาเป็นมุขไว้คุยได้..หนังสือเล่มนี้ ฉันสั่งซื้อจาก AMAZON.COM นะจ๊า…เพื่ออะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าความเสียดายลดลง(ยังไม่ถึงกับหมดซะทีเดียว..ก็แพงซะขนาดนั้น)





Funny in Farsi เป็นบันทึกความทรงจำของหญิงชาวอิหร่านที่ไปเติบโตในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราว และเปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นต่างๆไว้ในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะอารมณ์ขันของผู้เขียน ซึ่งปรากฎอยู่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

คนอเมริกันส่วนมากไม่รู้จักประเทศอิหร่าน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศนี้ตั้งอยู่ที่ไหนบนแผนที่โลก ผู้เขียนซึ่งตอนนั้นยังเด็กมาก ต้องคอยตอบคำถามของเพื่อนๆร่วมชั้นเรียน รวมทั้งชาวอเมริกันทั่วไป เกี่ยวกับประเทศของเธอ จนเธอเองก็ตั้งข้อสงสัยในใจว่า..

เด็กอเมริกันไม่ต้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์หรือ จึงไม่มีใครรู้ว่าอิหร่านอยู่มุมไหนของโลกใบนี้ คนอเมริกันหลายคนยังเข้าใจว่า ในอิหร่านใช้อูฐเป็นพาหนะในการเดินทาง ขนย้ายสิ่งของ ซึ่งจริงๆแล้วในขณะนั้น (คงประมาณ 30 ปีที่แล้ว นับจากอายุผู้เขียน) ยานพาหนะประจำบ้านของเธอคือ CHEVROLET คันโต ติดแอร์เย็นฉ่ำ ไม่ได้ขี่อูฐอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ก็คงเหมือนเราตอนอยู่กับครอบครัวชาวออสเตรเลีย (อันนี้เพิ่งสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง) บทสนทนาบนโต๊ะอาหารก็มักจะเป็นคำถามประเภทว่า

‘‘ที่บ้านยูมีรถยนต์หรือเปล่า ’’
‘‘ มีไมโครเวฟใช้ไม๊ ’’
" มีเตาอบหรือเปล่า"
“ แล้วตู้เย็นล่ะ ” bla..bla..bla..

เราก็ได้แต่แอบนึกอยู่ในใจ เออเนอะ ฝรั่งพวกนี้คงวาดภาพเราจูงควายไถนา เดินเท้าเปล่า ก่อไฟใช้ฟืน เหมือนภาพที่มักจะเห็นในหนังฝรั่งเวลาที่ถ่ายทำในเมืองไทยนั่นไง จะโทษเขาก็ไม่ได้ ก็เขาเคยเห็นแต่ภาพแบบนั้นจริงๆ นี่ขนาดประเทศอยู่ห่างกันแค่ 9 ชั่วโมงบินเองนะ




เราเอง...นอกจากต้องคอยตอบคำถามเพื่อลบล้างภาพความเป็น the 3rd world ให้หมดไปแล้ว บางครั้งก็ต้องคอยสร้างภาพให้ตัวเองด้วย

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่กำลังช่วยภรรยาเจ้าของบ้านทำความสะอาดบ้านอย่างขมักเขม้น ด้วยการใช้เครื่องดูดฝุ่น เซาะไซร้ไปตามซอกมุมที่หัวเครื่องดูดฝุ่นจะสามารถทะลุทะลวงเข้าไปได้ พลันก็ได้ยินคำถามดังขึ้นแข่งกับเสียงเครื่องดูดฝุ่นว่า

“ บ้านยูมีเครื่องดูดฝุ่นใช้หรือเปล่า ”

เราก็เข้าใจ...ว่าเขาถามด้วยความบริสุทธิ์ใจ คืออยากคุยแต่ไม่มีอะไรจะคุยน่ะ ไม่ได้เจตนาดูถูกดูแคลนอะไรเราหรอก แต่ก็ตอบไปสั้นๆว่า

“ NO ”

ยังไม่ทันอธิบายว่า เมืองไทยอากาศร้อน แล้วก็ฝุ่นเยอะ พื้นบ้านไม่ได้ปูพรม แต่ส่วนมากเป็นไม้ ปูปาเก้ หรือไม่ก็ปูกระเบื้องเพื่อลดความร้อนภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดูดฝุ่นหรอก เธอก็ชิงถามด้วยอาการประหลาดใจต่อทันที่ว่า

“ แล้วยูใช้อะไรทำความสะอาดบ้านละ ”

เราก็ตอบทันควันเป็นเชิงล้อเธอเล่นเล็กๆ

“ ใช้ MAID ”

เธอคงนึกภาพไปถึง MAID IN MANHATTAN อะไรปานนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ เลยอึ้งไปชั่วขณะ เราก็เลยปล่อยให้เธอวาดภาพไปเรื่อยๆ จะได้เปลี่ยนมุมมองที่เคยมีกับคนไทยบ้าง แต่ตอนนี้เธอคงเข้าใจแล้วล่ะ ว่ามันแทบจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน๊อต ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่ เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง กันแทบทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องมีแม่บ้านไว้ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว ให้บ้าง เพราะมันเหนื่อยน่ะ…





ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเล่าว่า ระบบการเรียนระหว่างสองประเทศก็แตกต่างกัน ในอิหร่าน เด็กๆต้องเรียนศาสตร์ทุกแขนง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสคร์ ศิลปศาสตร์ และที่สำคัญ ต้องท่องอาขยานทุกวันก่อนเลิกเรียนด้วย

...ว่าแล้ว เสียงปี่พระอภัยสมัยเรียนป.4 ก็แล่นโลดเข้ามาในโสตประสาท

ในเพลงปี่ ว่าสาม พี่พราห์มเอ๋ย
ยังไม่เคย ชมชิด พิศมัย
ถึงร้อยรส บุปผา สุมาลัย
จะชื่นใจ เหมือนสตรี ไม่มีเลย..

...เหอ..เหอ..นี่ขนาดผ่านมานานนน..มากแล้วนะเนี่ย ยังจำได้อยู่เลย สมกับเรียกว่า ‘ท่องจำ’ จริงๆ อ้อ..แต่เธอไม่ได้บอกว่าในอิหร่านเด็กๆ ต้องท่องสูตรคูณหรือเปล่า




วันปีใหม่ของอิหร่าน เรียกว่า Nowruz …ตรงกับวัน equinox ใน dictionary แปลว่าวันที่ กลางวันกับกลางคืนมีความยาวเท่ากันพอดี (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปกติต่างกันขนาดไหน) ซึ่งจะไม่ตรงกันทุกปี บางปีอาจตรงกับวันที่ 20 มีนาคม เวลา 11.54 PM บางปีอาจตรงกับวันที่ 21 มีนาคม เวลา 5.32 AM ชาวอิหร่านจะทราบดีว่าปีนี้ปีใหม่ตรงกับวันอะไร เวลาเท่าไหร่ ก็เหมือนกับวันตรุษจีน และวันสงกรานต์ที่เป็นวันปีใหม่ของไทยเรา และอีกหลายๆประเทศ ที่มีความเชื่อ และวัฒนธรรมของตัวเอง





ครอบครัวของผู้เขียนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษามาก บิดาของเธอเป็นนักเรียนทุน Fulbright และได้มีโอกาสมาศึกษาที่อเมริกา และต่อมาก็ได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่อเมริกาเป็นการถาวร ช่วงหลังการปฎิรูปการปกครองในอิหร่าน ครอบครัวของผู้เขียนประสบปัญหาทางด้านการเงิน ด้วยความวิตกว่าตนเองจะไม่สามารถเข้าเรียนมหาวัทยาลัยได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ผู้เขียนจึงเริ่มทำงานหารายได้พิเศษ จะเรียกว่าทำทุกอย่างที่มีคนจ้างให้ทำก็ว่าได้ ทั้งเป็นพี่เลี้ยงเด็ก (ซึ่งสุดท้ายแล้วเธอก็ต้องโบกมือลานายจ้างภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากความ ‘ร้ายเดียงสา’ ของเจ้าเด็กน้อยนั่นเอง ) ทำความสะอาดเครื่องครัว ทำสวนและอื่นๆ ในทุกๆงานที่เธอทำ ต่างมีเรื่องราวที่สนุกตื่นเต้น และเธอได้บอกเล่าไว้อย่างสนุกสนาน

ขณะที่ไปอยู่อเมริกาช่วงแรกๆ ผู้เขียนเล่าว่า ต้นทุนการใช้ชีวิตสูงกว่าในอิหร่านหลายเท่าตัวเพราะต้องจ่ายเป็น US Currency โดยเฉพาะช่วงหลังปฎิรูปการปกครอง ค่าเงินอิหร่าน (Toumans or Rial) อ่อนลงมาก อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 US เท่ากับกี่ Rial ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ เมื่อครั้งที่เราไปอยู่ออสเตรเลียแรกๆ จะซื้ออะไรที ต้องคูณด้วย 26 ก่อน (ตอนนั้น 1 A$ = 26 บาท) ไปแรกๆ อาหารกลางวันก็จะหนักไปทาง Hamburger อันละ $5.95 หรือไม่ก็มาม่า อาหารคลาสสิค สำหรับเด็กไทย สักระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ทำไมต้องทรมานตัวเองขนาดนั้นด้วย(วะ) ยังต้องอยู่อีกนาน เลยเริ่มบริโภคอาหารที่เป็น Meal จริงๆ

ที่ออสเตรเลีย อาหารเวียดนาม และ อาหารจีน (ประเภทข้าวผัด ข้าวหมูแดง ไม่รวมหูฉลาม, เป่าฮื้อนะ) ราคาจะถูกหน่อย ประมาณ $5-$6 คูณ 26 แล้วก็ประมาณ 130-160 บาท จ่ายสตางค์ทีก็ร้องอยู่ในใจที โห..แพงว่ะ

แต่พอกลับมาเมืองไทย ก๋วยเตี๋ยวชามละ 25 บาท หารกลับด้วย 26 โห… เหรียญเดียวเอง ถูกว่ะ..เอ๊ะ ยังไง…





ในหนังสือเล่มนี้ ยังมีอะไรอีกมากมายที่อ่านแล้ว ทำให้รู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่คล้ายกับบ้านเรา อย่างเช่นความเป็นครอบครัวขยาย (Extended Family) เวลามีงานฉลอง หรืองานเทศกาลต่างๆ เมื่อครอบครัวของผู้เขียนมารวมกันนับได้ 80-90 คน (ถ้าเลี้ยงโต๊ะจีน เฉพาะญาติก็เข้าไป 10 โต๊ะแล้วนะเนี่ย) ขณะที่อ่านเรื่องราวของครอบครัวผู้เขียน กลิ่นไอความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างครอบครัวแผ่สร้านออกมาให้เราสัมผัสได้ ทำให้หวลนึกถึงตัวเอง สมัยที่พ่อยังอยู่ บ้านเราก็เป็นศูนย์รวมของบรรดาเครือญาติ ถึงแม้จะนับรวมกันได้ไม่ถึง 90 คนก็เถอะ แต่ก็มากพอที่จะทำให้บทสนทนาไม่ขาดช่วง เสียงพูดคุย และเสียงหัวเราะยังแว่วอยู่ในความคำนึง ถึงแม้ว่ายามนี้ ความสุขเหล่านั้นจะเลือนหายไปแล้วก็ตาม..

ไม่รู้เหมือนกันว่า ทศวรรษนี้ในอิหร่าน ความเป็น Extended Family ยังคงแจ่มชัดอยู่อีกหรือไม่ สำหรับในเมืองไทย ดูเหมือนว่าจะค่อยกลายสภาพไปตามสังคมตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ





แม้แต่ประเพณีโยนช่อดอกไม้ในวันแต่งงาน ผู้เขียนเล่าว่า ในอิหร่านไม่มีประเพณีนี้ แต่อะไรที่เป็นนิมิตหมายของการจะได้พบเนื้อคู่ (คือการที่ผู้หญิงคนไหนรับช่อดอกไม้ได้ จะได้แต่งงานเป็นคนต่อไป) ก็สามารถแทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของประเทศเธอได้ไม่ยาก ก็อยากจะ Email ไปบอกเธอเหมือนกัน ว่าไม่ต่างอะไรกับบ้านฉันหรอก ทุกวันนี้ งานแต่งงานเจ้าสาวต้องโยนช่อดอกไม้ทุกงานไป…ก็ถือว่าเป็นการกระจายรายได้และสร้างธุรกิจใหม่ให้กับร้านดอกไม้ได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้การไปใช้ชีวิตในอเมริกาดินแดนแห่งเสรีภาพ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ท้ายสุดแล้วก็หนีสภาพความเป็น Second-class citizen ไปไม่ได้เลย ก็คงเหมือนกันทุกที่ในโลก ที่ไหนจะสุขใจและใช้สิทธิ์ใช้เสียงได้เต็มภาคภูมิได้เท่ากับอยู่บ้านเรา...

อย่างไรก็ดี หนังสือจัดว่าอ่านสนุก ได้ทั้งความรู้ และความบันเทิง และทำให้ได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการมองชีวิต ครอบครัวของผู้เขียน โดยเฉพาะตัวผู้เขียนเอง มองโลกในแง่ดี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เธอยอมรับมันด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเสมอ

...ฉันอยากเป็นอย่างนั้นบ้างจัง...








Create Date : 18 มีนาคม 2552
Last Update : 31 สิงหาคม 2552 14:30:12 น. 5 comments
Counter : 709 Pageviews.

 
แล้วถ้าอยากอ่านมั่ง ต้องทำยังไง
ก็หนังสือหาซื้อไม่ได้แล้วนิ


โดย: bookbank IP: 58.9.121.13 วันที่: 30 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:07:53 น.  

 
ก็...amazon.com ka


โดย: กระต่ายธาตุไม้ วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:17:57:29 น.  

 
ชอบการเขียนของคุณจังค่ะ อ่านเพลินเลยทั้งที่เป็นคนไม่ค่อนชอบอ่านอะไรยาวๆนะเนี่ย

ขอแอดเป็นเพื่อนเลยละกัน ฮ่าๆ


โดย: KEt-RhI วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:14:30:04 น.  

 
เรามีหนังสือเล่มนี้ แต่อ่านไม่จบสักที พอมาอ่านวิจารณ์ในนี้แล้วรู้สึกว่าถึงเวลาล่ะที่ต้องอ่านให้จบ


โดย: Thanawan IP: 202.47.224.130 วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:13:35:54 น.  

 
เอาใจช่วยค่ะ
หนังสือดี อ่านสนุกค่ะ


โดย: กระต่ายธาตุไม้ วันที่: 3 กันยายน 2553 เวลา:20:56:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระต่ายธาตุไม้
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add กระต่ายธาตุไม้'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.