บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
8 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
ธรรมชาติและวัฒนธรรม(55)...วิถีมอญ-เมืองบาดาล-สะพานมอญ”...“สังขละบุรี” มีดีไม่มีสร่าง








สะพานมอญ สัญลักษณ์แห่งสังขละที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา


“ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำๆ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา...”

(เพลง ฝนเดือนหก รุ่งเพชร แหลมสิงห์)

สมัยก่อนพอถึงเดือนหก(เดือนไทย) ฝนเป็นต้องโปรยสายตกพรำๆลงมาให้แผ่นฟ้าชุ่มฉ่ำ แผ่นดินชุ่มน้ำ ชาวไร่ชาวนาได้หน้าชื่นตาบานยิ้มรื่นรับหยดหยาดน้ำฟ้า

แต่พักหลังๆมานี่ภาวะโลกร้อนทำอากาศวิปริตแปรปรวน โดยเฉพาะปีนี้ที่แม้วันเวลาจะเดินทางเข้าสู่เดือนเจ็ด(เดือนไทย)แล้ว แต่ดูเหมือนว่าพระพิรุณยังเฉยเมย ไม่ยอมปล่อยหยาดน้ำฟ้าตามฤดูกาลลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำให้ผืนดินแผ่นฟ้าเมืองไทย มีเพียงปล่อยมาบ้างแบบเผาหัวยั่วให้อยากแล้วจากไป จนใครและใครหลายคนค่อนขอดว่า สงสัยพระพิรุณคงดูบอลโลกเพลินจึงลืมทำหน้าที่ของตนเอง

เมื่อฝนมาล่าช้ากว่ากำหนด ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้หลายจังหวัดประสบกับปัญหาภัยแล้งในต่างกรรมต่างวาระกันตั้งแต่ขั้นเบาะๆไปจนถึงขั้นวิกฤต เกิดเป็นปัญหาเร่งด่วนของชาติที่ดูเหมือนรัฐบาลจะดูดายไม่ใส่ใจให้ความสำคัญเท่าแผนปรองดอง ซึ่งวันนี้พี่มาร์คก็ยังไม่ชัดเจนเลยว่าจะปรองดองกับใคร

อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ ในวิกฤตภัยแล้งน้ำแห้งขอดยังมีโอกาสแฝงอยู่ ดังเช่นที่ เมืองชายแดน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ปีนี้ประสบภาวะแล้งหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ 27 ปี จนน้ำในทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณหรือเขื่อนเขาแหลมแห้งขอด

เมื่อน้ำลดตอย่อมผุด แต่น้ำในทะเลสาบที่นี่พิเศษกว่าที่ไหนๆตรงที่ยามน้ำลดนอกจาก“ตอจะผุด”แล้ว “เมืองยังโผล่”อีกด้วย แถมยังเป็น“เมืองบาดาล”ที่มีดีกรีอันซีนไทยแลนด์พ่วงท้ายเสียด้วย



น้ำแล้งปีนี้ทำเมืองบาดาลหรือวัดเก่าโผล่พ้นน้ำขึ้นมากเป็นพิเศษ


อันซีน เมืองบาดาล

เมืองบาดาล ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า“สามประสบ” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย

เมืองบาดาลเดิมเคยเป็นชุมชนชาวมอญ ปัจจุบันเหลือเพียงซากของวัดวังก์วิเวการามเดิมหรือ“วัดเก่า”หรือ“วัดใต้น้ำ” ตกทอดเป็นหนึ่งในตำนานของ“หลวงพ่ออุตตมะ” เกจิชื่อดัง ศูนย์รวมจิตใจแห่งสังขละบุรีไปจนถึงเมืองกาญจน์

ชาวมอญเมืองสังขละเคารพนับถือหลวงพ่ออุตตมะเป็นอย่างยิ่ง พวกเขายกย่องท่านเป็นดัง "เทพเจ้าของชาวมอญ" เพราะท่านได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวมอญไร้สัญชาติในสังขละบุรีตลอดมา

หลังจากหลวงพ่ออุตตมะออกธุดงค์ไปในหลายพื้นที่ ในปี 2496 ท่านได้มาปักหลักสร้างวัดวังก์วิเวการาม(หลังเก่า)และชุมชนชาวมอญขึ้นที่สามประสบ ต่อมาในปี 2527 ทางการได้สร้างเขื่อนเขาแหลมขึ้นกินพื้นที่มาถึงสามประสบทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปล่อยน้ำของเขื่อนต้องย้ายถิ่นหนี



เรือนแพเบียดกันหนาแน่น เพราะปีนี้น้ำในเขื่อนแห้งขอดจนลำน้ำบีบแคบเข้ามามาก


หลวงพ่ออุตตมะท่านจึงย้ายไปสร้างวัดวังก์วิเวการาม(ใหม่)บนเนินไกลฝั่งเมืองออกไปอีกนิด เช่นเดียวกับชาวมอญที่เขยิบขึ้นไปสร้างชุมชนแถวนั้น โดยมีลำน้ำซองกาเลียไหลผ่าน แบ่งฝั่งเมืองสังขละ(ฝั่งกระเหรี่ยง)กับฝั่งมอญออกจากกัน ก่อนจะนำไปสู่การสร้างสะพานมอญ(ไม้)สุดคลาสสิกในปีต่อมา(2528)

สำหรับวัดเก่านั้น หลังถูกน้ำท่วมก็ถูกลืมเลือนหายไปกับสายน้ำเป็นเวลานับสิบปี จนกระทั่งปี 2546 วัดเก่าถูกททท.หยิบยกขึ้นเป็นหนึ่งใน“อันซีนไทยแลนด์”พร้อมเรียกอย่างสวยหรูว่า“เมืองบาดาล” ส่งผลให้วัด แห่งนี้โด่งดังขึ้นมาในไม่กี่เพลา

ทุกๆปีในฤดูแล้งราวเดือนมี.ค.-พ.ค. ช่วงน้ำในเขื่อนลดระดับ เราสามารถเห็นตัววัดเก่าที่จมน้ำได้อย่างชัดเจน แต่ในปีนี้ฝนอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าแล้งหนักเป็นประวัติการณ์ ทำให้วัดเก่าโผล่พ้นน้ำเยอะเป็นพิเศษ จนนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเดินชมวัดเก่าได้อย่างใกล้ชิดสบายใจเฉิบ

อย่างไรก็ตามการจะเข้าไปเที่ยวชมวัดเก่า เราต้องนั่งเรือหรือนั่งแพเข้าไปลงที่วัดแล้วเดินเท้าขึ้นไปชมอีกทีหนึ่ง ซึ่งงานนี้“ตะลอนเที่ยว”และคณะลงแพที่เชิงสะพานมอญ แล้วนั่งแพออกไปพร้อมๆกับสามสาว มัคคุเทศก์น้อยชาวมอญในชุดแต่งกายพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์



ซากกองอิฐที่เชื่อว่าเป็นด่านเจดีย์ 3 องค์เดิม


หลังล่องมาได้ประมาณ 20 นาที ก่อนที่แพจะถึงวัดเก่าที่มองเห็นอยู่ลิบๆ เราได้เจอกับอันซีนสังขละ เป็นซากอิฐเก่าส่วนฐานของเจดีย์มี 3 องค์ ซึ่งน้องๆไกด์บอกว่านี่แหละคือ ด่านเจดีย์ 3 องค์ของดั้งเดิมมีอายุร่วมร้อยปีแล้ว ก่อนที่เจดีย์ทั้งสามจะถูกนำไปสร้างใหม่ที่ด่านเจดีย์ 3 องค์ ชายแดนไทยพม่าที่อยู่ห่างออกไปราว 30 กม. ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสังขละบุรี

อย่างไรก็ดีเรื่องด่านเจดีย์ 3 องค์เดิมนี้ยังไม่แน่ชัด เพราะมีบางกระแสเชื่อว่านี่คือเจดีย์สามสบที่คงต้องให้นักประวัติศาสตร์พิสูจน์กันต่อไป ส่วนที่ไม่ต้องพิสูจน์ก็คือวัดเก่าที่พอแพผ่านด่านเจดีย์ 3 องค์เดิมไปได้ไม่นาน วัดแห่งนี้ได้ปรากฏซากโดดเด่นให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งยามน้ำลดมากอย่างนี้ เราๆท่านๆ สามารถลงไปเดินทอดน่องซอกแซกชมวัดเก่าได้อย่างเพลินเพลิน



อันซีนวัดเก่า จะลงไปเดินชมได้ในยามน้ำแล้งเท่านั้น


สำหรับซากเด่นๆของวัดแห่งนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ หอระฆัง ที่เหลือเพียงโครงสร้างกับเจดีย์สีขาวเด่นบนยอด ซึ่งเป็นเพียงสิ่งหนึ่งเดียวของวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วมในยามน้ำในเต็มเขื่อน หอฉัน ที่เป็นโครงอาคารสี่เหลี่ยมเห็นช่องประตูหน้าต่างชัดเจน ซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ที่ยังคงมีเค้าโครงอยู่ และโบสถ์ของวัดที่ยังมีลวดลายซุ้มประตู หน้าต่างให้เห็น มีร่องลอยของช่องพระประดับผนังด้านในให้เห็น นอกจากนี้ยังมีเศียรพระ มีซากเจดีย์ ซากบันไดนาค ให้เห็นกันที่รอบนอกของตัวโบสถ์

นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่งวัดเก่าที่หนึ่งปีจะมีให้ชมสักครั้งยามน้ำแล้ง ซึ่งหลังจากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือน น้ำในเขื่อนท่วมสูง ภาพเหล่านี้ก็จะหายไป กลายเป็นทะเลสาบอันกว้างใหญ่ของเขื่อนเขาแหลมที่ดูจากเบื้องบนจะไม่รู้เลยว่า ที่ใต้น้ำบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดเก่าและชุมชมชาวมอญมาก่อน



รูปเคารพหลวงพ่ออุตตมะ และปราสาทบรรจุสังขารของท่าน


ไหว้หลวงพ่ออุตตมะ

อย่างที่ “ตะลอนเที่ยว”กล่าวไว้ในข้างต้นว่า หลังน้ำท่วมปี 2527 หลวงพ่ออุตตมะท่านได้ย้ายวัดขึ้นไปปลูกสร้างบนพื้นที่สูงกว่าเดิม เป็นวัดวังก์วิเวการามในปัจจุบัน ที่แม้วันนี้หลวงพ่ออุตตมะจะมรณภาพไปในปี 2549 แต่ท่านยังเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนอยู่ไม่เสื่อมคลาย

ดังนั้นเมื่อมาสังขละก็ต้องไปที่วัดวังก์วิเวการาม(ใหม่)เพื่อชื่นชมสิ่งน่าสนใจภายในวัดที่ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างสรรค์ของหลวงพ่ออุตตมะยามท่านมีชีวิตอยู่ ควบคู่ไปกับกราบสักการะสังขารของท่าน

งานนี้เราได้ 3 สาวไกด์น้อยนำชมอีกเช่นเคย โดยจุดแรกพวกเธอพาไปชมภาพเก่าๆของหลวงพ่ออุตตมะ ก่อนพาเข้าไปกราบสังขารของท่าน ในวิหารภายในงดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์แบบมอญอันปราณีตวิจิตร 3 หลัง มีปราสาทเล็ก 2 หลังซ้ายขวา จากนั้นเป็นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงและเหมือนจริงมากของหลวงพ่ออุตตมะ นั่งอยู่บนบัลลังก์หน้าปราสาทหลังใหญ่ 9 ยอดที่ใช้เก็บสังขารของท่านที่ไม่น่าเชื่อว่า วันนี้ยังคงอยู่ ไม่เน่าไม่เปื่อย นับเป็นความศักดิ์สิทธิ์หลังมรณะภาพที่ทิ้งไว้ให้บรรดาศิษยานุศิษย์ได้รำลึกถึงบารมีและคุณความดีของท่าน



หลวงพ่อขาว และรูปเคารพหลวงพ่ออุตมะ ในวิหารหินอ่อน


เสร็จจากกราบไหว้สังขารหลวงพ่อ ไกด์น้อย 3 สาว พาเราไปไหว้ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทำจากหินอ่อนในศิลปะมอญผสมพม่าอันอ่อนช้อยงดงาม

ด้านซ้ายมือของหลวงพ่อขาว(ด้านขวามือเมื่อมองเข้าไป) ทางวัดสร้างเป็นรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่ออุตตะมาในท่านั่งในมือกำลูกประคำเตรียมโยนคล้องคอลูกศิษย์ดูน่าเลื่อมใสไม่น้อย ในขณะที่ทางฝั่งขวามือของหลวงพ่อขาวมีงาช้าง 1 ข้างตั้งแสดงอยู่ ซึ่งทางวัดเขียนบอกว่าเป็น “งาช้างแมมมอธ” เพราะมีขนาดยาวมาก



เจดีย์พุทธคยา จำลองแบบมาจากอินเดีย


จากนั้นเราเดินทางต่อไปอีกราวหนึ่งกิโลเมตร เพื่อสัมผัสในความงามของ "เจดีย์พุทธคยา" ที่หลวงพ่ออุตตมะจำลองแบบมาจาก เจดีย์พุทธคยาในอินเดีย โดยสร้างขึ้นในปี 2525 ด้วยแรงงานชาวมอญทั้งชายหญิงประมาณ 400 คนที่ช่วยกันเผาอิฐมอญกว่า 260,000 ก้อนเพื่อก่อสร้างขึ้นเป็นองค์เจดีย์

ด้านหน้าเจดีย์มีสิงห์แบบมอญ 2 ตัวยืนเฝ้าบันไดทางขึ้นหลังคาซ้อนชั้น ที่ทอดยาวพาขึ้นสู่ตัวเจดีย์ทรงเหลี่ยมฐานจัตุรัส สีทองเด่นอร่าม มีเจดีย์เล็กทรงกลมแบบมอญสร้างอยู่บนยอดบนสุด ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวาขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ซึ่งหลวงพ่ออัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา

ส่วนใครที่ชอบช้อปปิ้งหรืออยากกระจายรายได้ หลังกราบไหว้เจดีย์แล้ว ก่อนอำลาจากวัดวังก์ อย่าเพิ่งไปไหนไกล เพราะใกล้ๆกับเจดีย์เป็นแผงร้านขายของฝากของที่ระลึก ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า เครื่องไม้ แป้งทานาคา และสินค้าพื้นเมืองอีกหลากหลาย

หนุ่มๆคนไหนที่แม้จะไม่ชอบช้อปปิ้ง แต่ถ้ามีเวลา เราขอแนะนำให้เดินชมตามร้านค้าแถวนี้ เพราะถ้าโชคดี ตาดี ก็จะพบกับแม่ค้าสาวสวยชาวมอญผิวพม่าตาแขกยืนขายของเรียกลูกค้า จนอาจทำให้หนุ่มๆหลายคนใจละลาย ควักเงินช้อปกันเพลินเกินหน้าเกินตาสาวๆ

เรื่องนี้เราเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว



ชาวมอญสังขละยังคงแนบแน่นในพระพุทธศาสนา


เสน่ห์วิถีมอญ

ไหนๆพูดถึงสาวมอญแล้ว ไหนๆมีไกด์สาวมอญมานำเที่ยวแล้ว งานนี้ยังไงๆต้องเที่ยวชมวิถีมอญทั้งเก่า-ใหม่ในสังขละบุรีกันเสียหน่อย เพราะที่นี่คือหนึ่งในเมืองมอญอันโดดเด่นของเมืองไทย ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการออกสัมผัสวิถีมอญของคนที่ไปเที่ยวพักค้างเพียงระยะเวลาสั้น 1-2 คืน ก็คือยามเช้าตรู่เริ่มตั้งแต่พระออกบิณฑบาต

ช่วงเช้าๆแบบนี้ ในฝั่ง(ชุมชน)มอญเราจะได้เห็นชาวมอญทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ใหญ่ วัยรุ่น เด็กๆ ตื่นแต่เช้ามาเตรียมข้าวเจ้าใส่บาตร หลายคนมาในชุดเต็มยศ นั่งๆ ยืนๆ รอคอย พอพระเดินผ่าน จึงรีบลุกตักข้าวของใส่บาตรอย่างสงบ สำรวม



คึกคักยามเช้าในตลาดสดเมืองสังขละ


เกิดเป็นภาพชวนประทับใจนักท่องเที่ยวมากมาย จนใครและใครหลายคนอดไม่ได้ที่จะขอตักบาตรยามเช้าร่วมกับชาวมอญอย่างอิ่มเอมใจ ทำให้ปัจจุบันเกิดเป็นธุรกิจจัดเตรียมสำรับสำหรับตักบาตรขึ้นมา ซึ่งก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า ความอยากตักบาตรของนักท่องเที่ยวกับความอยากขายของตักบาตรของชาวบ้าน จะสามารถรักษาสมดุลไม่เลยเถิดจนหมดเสน่ห์ของการตักบาตรในสังขละบุรีไป

หลังตักบาตร 3 สาวทรีโอไกด์น้อยมารับ “ตะลอนเที่ยว” พาไปเดินตลาด ไปดูบรรยากาศการจับจ่ายซื้อขาย ดูสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง พร้อมพาไปกินขนมแบบมอญ และกินขนมจีนน้ำยาหยวก(กล้วย)เมนูขึ้นชื่อ ก่อนจะพาเดินซอกแซกชมวิถีชาวบ้านที่โน่นที่นี่ ซึ่งเราพบว่า สาววัยรุ่นชาวมอญบางคนนอกจากจะเป็นมอญยุคใหม่แล้ว พวกเธอยังเป็นมอญทรงเกาหลีอีกด้วย



บรรยากาศสะพานมอญยามต้นราตรี


สะพานไม้สายคลาสสิค

ใครที่มาเที่ยวสังขละแล้วไม่ได้มาถ่ายรูปกับสะพานมอญหรือมาเดินบนสะพานมอญ เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงสังขละ เพราะสะพานมอญถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นเป็นเอกอุแห่งเมืองชายแดนแห่งนี้

สะพานมอญ สร้างด้วยไม้ทั้งหมดทั้งตัวสะพานและโครงสร้าง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" สร้างในปี 2538 หลังสร้างเขื่อน 1 ปีทอดข้ามลำน้ำซองกาเลีย โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีความยาว 850 เมตร นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย

สะพานไม้แห่งนี้ แม้สร้างด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่ว่ากลับดูคลาสสิกทรงเสน่ห์ยิ่งนัก อีกทั้งยังเป็นสะพานที่มีชีวิต จากภาพวิถีชาวแพในลำน้ำเบื้องล่าง และภาพวิถีของผู้คนที่เดินข้ามฝั่งไปมา โดยเฉพาะภาพวิถีชาวมอญ ที่ยามเช้าๆจะเห็นสาวๆชาวมอญทาแป้งทานาคาเดินเทินของบนศีรษะข้ามจากฝั่งมอญไปทำงานฝั่งเมืองกันอย่างคึกคัก



วิถีที่ผูกพันกับสายน้ำในทะเลสาบของชาวสังขละ


นับเป็นหนึ่งในภาพสุดคลาสสิกภาพหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นสะพานมอญสร้างมา 20 กว่าปี ตากแดดตากลมอยู่ทุกวัน ตากฝนอีกนับครั้งไม่ถ้วน แถมยังมีคนเดินข้ามไปมาอยู่ทุกวัน ทำให้สะพานแห่งนี้ทรุดโทรมจนวันนี้ต้องซ่อมแซม ปรับปรุงสะพานกันใหม่ แต่ยังคงเปิดให้ผู้คนสัญจรข้ามไปมาตามปกติ

และนับจากนี้อีกไม่นานเราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆของสะพานไม้สายคลาสสิกสายนี้ ซึ่งจะว่าไปคงเทียบไม่ได้กลับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสังขละบุรีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่เมืองนี้มีชื่อเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยว อะไรต่อมิอะไรหลายๆอย่างก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจะส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงจิตใจ ซึ่งหากวันใดที่น้ำใจชาวสังขละเปลี่ยนแปลงไป วันนั้นมนต์เสน่ห์ของสังขละก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย


*****************************************

ผู้สนใจเที่ยวสังขละบุรีและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในกาญจนบุรี สอบถามที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง รวมถึงติดต่อมัคคุเทศก์น้อย(ไกด์น้อย)นำเที่ยวสังขละ สามารถสอบถามได้ที่ ททท. สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200,0-3451-2500


เรื่องและภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์
เสียงประกอบ //www.palungjit.com/






Create Date : 08 มกราคม 2554
Last Update : 8 มกราคม 2554 15:10:54 น. 4 comments
Counter : 1761 Pageviews.

 
โห น้ำแห้งขนาดนั้นเลยหรอ...!


โดย: หมูหิน IP: 180.210.216.74 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:17:44:28 น.  

 
มีภาพตอนนี้ม้ย


โดย: หมูหิน IP: 180.210.216.74 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:17:46:47 น.  

 
ภาพปัจจุบันยังไม่มีครับ


โดย: ทัสนะ (atruthoflife10 ) วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:12:53:46 น.  

 
ขอบคุณมากนะคะที่ภาพออกมาสวยงามมากๆๆๆค่ะ


โดย: อรัญญา IP: 125.27.203.145 วันที่: 12 มิถุนายน 2554 เวลา:19:00:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.