"""ฺBlogนี้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผู้ใดจะเอาความรู้ในนี้ไปใช้ก็ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์ในBlogนี้ คือ คุณพ่อคุณแม่ ผู้เลี้ยงดูสั่งสอนเรามา ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่สอนสารพัดวิชา คุณคนนั้นผู้อยู่ในใจเสมอ และเพื่อนๆผู้คอยเสริมเติมแต่งสารพัน"""
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
7 ธันวาคม 2548

ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมากมาก

***งดออกความเห็นที่Blogนี้แล้วครับ****
-------------------------------------------------------------------------------------------------


ทำบุญอย่างไรได้บุญมาก


การทำบุญในที่นี้จะกล่าวถึงการให้ทานเท่านั้น สำหรับการทำบุญประเภทอื่น สามารถอ่านได้ในหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญประเภทนั้นๆ โดยตรง รวมทั้งในเรื่องเวลามสูตร ในหมวดธรรมทั่วไป ซึ่งเป็นสูตรที่สรุปเปรียบเทียบผลบุญที่ได้รับจากการทำบุญแทบจะทุกประเภท ว่าประเภทไหนให้ผลบุญมาก/น้อยกว่ากันอย่างไร


การให้ทานในที่นี้ จะเน้นที่การสละวัตถุสิ่งของ หรือทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้อื่นเป็นหลัก แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการให้ทานอย่างอื่นๆ เช่น ธรรมทาน(การให้ธรรมเป็นทาน) อภัยทาน(การให้อภัยแก่ผู้อื่น) ได้เช่นกัน โดยการพิจารณาเปรียบเทียบกัน


การให้ทานแต่ละครั้งนั้น จะให้ผลบุญหรืออานิสงส์มากหรือน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ทั้งปัจจัยจากตัวผู้ให้ วัตถุสิ่งของที่ให้ และผู้รับทานนั้นด้วย ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ในที่หลายๆ แห่ง ทางผู้ดำเนินการได้รวบรวมจากพระไตรปิฎกหลายๆ สูตร รวมทั้งแหล่งความรู้อื่นๆ สรุปได้ดังนี้คือ


การทำบุญให้ทานนั้น เปรียบเสมือนการทำนาปลูกข้าว โดยที่ผู้รับเป็นเหมือนนาข้าว ของที่ให้เหมือนเมล็ดพันธุ์ข้าว กิเลสของผู้รับและผู้ให้เหมือนเป็นวัชชพืชในนาข้าวนั้น ความตั้งใจของผู้ให้เหมือนความตั้งใจในการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ตกลงในนา ไม่ให้กระจัดกระจายออกนอกนา ศรัทธาของผู้ให้เปรียบเหมือนปุ๋ย ปิติที่เกิดขึ้นกับผู้ให้เปรียบเหมือนน้ำ ผลบุญที่ผู้ให้ได้รับเปรียบเสมือนผลผลิตจากการทำนานั้น ผู้รับจึงได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญ


การทำนาปลูกข้าวนั้น ถ้าใช้ข้าวพันธุ์ดี ปลูกในนาข้าวที่มีดินดี ในขณะหว่านก็ตั้งใจหว่านให้ข้าวตกลงในท้องนาอย่างพอดี ไม่กระจัดกระจายสูญหายไปนอกนา มีน้ำบริบูรณ์ มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ ไม่มีวัชชพืชมาคอยแย่งอาหารต้นข้าว ผลผลิตที่ได้ย่อมมากมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วยฉันใด
การทำบุญด้วยวัตถุอันเลิศ ให้กับบุคคลอันเลิศ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใดๆ ทำไปด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่มั่นคง ประกอบด้วยศรัทธาอันดี ถึงพร้อมด้วยปิติเบิกบานใจ ผลบุญที่ได้ย่อมไพบูลย์ฉันนั้น


คุณสมบัติของผู้ให้ทานที่จะได้บุญมาก
การที่ผู้ให้ทานจะได้รับผลบุญมากนั้น ตัวผู้ให้เองต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้


- ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ (มีความเคารพด้วยใจที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย)
- ให้ทานนั้นด้วยมือตนเอง (ถ้ายิ่งต้องใช้ความพยายามมากเท่าไร จิตก็จะยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น การทำบุญด้วยความรู้สึกที่หนักแน่นมากเท่าไร ก็จะส่งผลให้ได้บุญที่หนักแน่นมากเท่านั้น)
- เชื่อในกรรมและผลของกรรม (ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่หนักแน่นเช่นกัน ไม่ใช่ว่าสักแต่ให้ๆ ไปเท่านั้น)
- มีความเลื่อมใส ศรัทธาในผู้รับทานนั้น (เหตุผลเช่นเดียวกับข้อก่อน)
- เมื่อให้แล้วเกิดปิติโสมนัส จิตใจผ่องใส เบิกบาน
- ให้ทานเหมาะสมกับกาลเวลา คือให้ในสิ่งที่ผู้รับต้องการในเวลานั้นๆ
- ให้ทานโดยสละวัตถุทานนั้นอย่างแท้จริง ไม่มีใจยึดเหนี่ยว ห่วงใยวัตถุนั้นอีก ไม่ว่าผู้รับจะเอาสิ่งนั้นๆ ไปใช้ทำอะไรหรือเมื่อไหร่
- เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน คือให้โดยหวังประโยชน์แก่ผู้รับจริงๆ ไม่ใช่หวังประโยชน์แก่ตัวผู้ให้เอง
- รู้สึกยินดีในการให้ทานครั้งนั้นทั้ง 3 กาล คือทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ทานนั้นแล้วก็รู้สึกยินดี คือนึกถึงเมื่อใดก็ยินดีเมื่อนั้น ไม่ใช่ให้แล้วเสียใจในภายหลัง
- ให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ไม่หวังแม้แต่บุญที่จะได้รับ คือให้เพื่อให้จริงๆ แล้วผลบุญก็จะตามมาเอง


ลักษณะของวัตถุสิ่งของที่ใช้ให้ทานแล้วได้บุญมาก
วัตถุทานที่ใช้ทำบุญให้ทาน แล้วจะส่งผลให้ผู้ให้ทานนั้นได้รับอานิสงส์ผลบุญมาก มีลักษณะดังนี้คือ


- ให้ของที่ไม่ใช่ของเหลือเดน คือไม่ใช่เป็นของที่แม้ผู้ให้เองก็ไม่ต้องการแล้ว
- ให้ของที่สะอาด จัดเตรียมอย่างประณีต
- ให้ของที่ได้มาโดยชอบธรรม และผู้ให้มีสิทธิในการเป็นเจ้าของของนั้นจริงๆ
- ให้โดยไม่มีส่วนเหลือ คือให้ของนั้นทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่ให้อย่างขยักขย่อน
- ถ้าของที่ให้นั้นมีความสำคัญ มีความหมาย มีคุณค่าสำหรับตัวผู้ให้เองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้บุญมากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้ให้ต้องเสียสละมาก เช่น คนยากจนให้ทาน 10 บาท อาจได้บุญมากกว่าเศรษฐีให้ทาน 1,000 บาทก็ได้ เพราะเงิน 10 บาทนั้นมีค่ามากสำหรับคนยากจน ในขณะที่เงิน 1,000 บาทเป็นเพียงแค่เศษเงินของเศรษฐี
- การให้อวัยวะของตนเป็นทาน ได้บุญมากกว่าการให้ทรัพย์ภายนอกเป็นทาน
- การให้ชีวิตของตนเป็นทาน ได้บุญมากกว่าการให้อวัยวะเป็นทาน


คุณสมบัติของผู้รับที่จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมาก
ผู้รับทาน หรือเนื้อนาบุญที่ดี อันจะส่งผลให้ผู้ที่ทำบุญด้วยได้บุญมากนั้น มีคุณสมบัติดังนี้


- เป็นผู้ที่มีศีลมาก และถือศีลนั้นได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่เป็นคนทุศีล หรือต่อหน้าเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอลับหลังกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
- เป็นผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิ สงบ ผ่องใส ไม่ถูกนิวรณ์ทั้ง 5 ครอบงำ (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ)
- เป็นผู้ที่ปราศจากกิเลส หรือมีกิเลสเบาบาง หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อให้หมดกิเลส ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ได้บุญลดหลั่นกันไปตามขั้น
- การทำบุญกับสงฆ์ (สังฆทาน - การทำบุญโดยไม่เจาะจงผู้รับว่าต้องเป็นภิกษุรูปนั้นรูปนี้) จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมากกว่าปุคคลิกทาน (การให้โดยเจาะจงผู้รับ) ทั้งนี้ต้องเป็นสังฆทานด้วยใจที่แท้จริง
- ลำดับขั้นของผู้รับ ที่จะทำให้ผู้ให้ได้บุญมากหรือน้อยนั้น ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องเวลามสูตร ในหมวดธรรมทั่วไป ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงไว้อย่างชัดเจน


คุณสมบัติต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทั้งของผู้ให้ สิ่งของที่ให้ และผู้รับของนั้น ถ้ายิ่งมีมากและสมบูรณ์มากเท่าใด ผลบุญที่ได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าคุณสมบัติดังกล่าวลดน้อยลงไปมากเท่าใด ผลบุญที่ได้ก็จะน้อยลงตามไปด้วย


หมายเหตุ


- ในส่วนของผู้รับทานนั้น ความปราศจากกิเลส หรือมีกิเลสเบาบาง (ผลจากการเจริญวิปัสสนา) มีผลให้ผู้รับได้บุญมาก มากกว่าสมาธิ
- สมาธิมีผลให้ผู้รับได้บุญมาก มากกว่าศีล


ทั้งนี้เพราะวิปัสสนาทำให้กิเลสหมดไปได้อย่างถาวร ทั้งกิเลสขั้นละเอียด (อนุสัยกิเลส - กิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดาน หรือกิเลสในระดับจิตใต้สำนึก) กิเลสขั้นกลาง (กิเลสในระดับจิตสำนึก) กิเลสขั้นหยาบ (กิเลสที่ทำให้เกิดการแสดงออกทางกาย วาจา)
ในขณะที่สมาธินั้นสามารถข่มกิเลสในส่วนของนิวรณ์ 5 ได้ในระดับของกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเท่านั้น ส่วนกิเลสขั้นละเอียดยังคงอยู่เหมือนเดิม และเมื่อสมาธิเสื่อมไปเมื่อใด กิเลสทั้งหลายก็กลับมาได้เหมือนเดิม
ส่วนศีลนั้นเป็นแค่เพียงแต่ข่มกิเลสขั้นหยาบเอาไว้เท่านั้นเอง


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2548
11 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2552 10:41:16 น.
Counter : 5825 Pageviews.

 

เป็นบทความที่ดีมากๆเลยครับ
ขอบคุณที่นำมาให้ได้อ่านศึกษากันครับ
เจริญในธรรม

 

โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) 7 ธันวาคม 2548 10:11:03 น.  

 

ได้ข้อคิดทางธรรม ได้เข้าใจศิล ทาน มากขึ้น สังคมเราหากมีคนตั้งมั่นในธรรมเยอะๆ คงดีนะคะ อ่านข่าวแล้ว บางทีก็เศร้ากับสังคม วันพ่อ ลูกฟันพ่อ อ่านแล้วใจหาย

สาธุ

 

โดย: Frontier (Farm Girl in High Sierra ) 7 ธันวาคม 2548 14:45:52 น.  

 

เห็นชื่อ แล้วต้องรีบเข้ามาดู ...ชื่อ บล๊อกครับ ...น่าสนใจมาก พบเรื่องราวยิ่งน่าสนใจครับ ขอบคุณครับผม

 

โดย: POL_US 7 ธันวาคม 2548 15:08:15 น.  

 

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆ
ชอบชื่อบล็อกจังค่ะ

 

โดย: เฉลียงหน้าบ้าน 7 ธันวาคม 2548 15:35:32 น.  

 

แวะเข้ามาอ่านเพราะเคยเห็นชื่อใน ห้องชายคา ชอบข้อความที่เขียนนะคะ เพราะมีคนอีกเยอะที่ไม่รู้ แต่บางคนถึงรู้ก็ไม่ใส่ใจ แต่ข้อความที่เขียนคงให้หลายๆคนได้ข้อคิดเยอะละคะ ขอบคุณจริงๆ

 

โดย: ช้างน้อย IP: 203.185.69.34 9 ธันวาคม 2548 14:27:21 น.  

 

 

โดย: woodchippath 9 ธันวาคม 2548 15:26:37 น.  

 

สาธุ

 

โดย: เจ้าหญิงจอมแก่น 11 ธันวาคม 2548 12:40:27 น.  

 

 

โดย: คนจีนตัวน้อย 15 ธันวาคม 2548 17:53:49 น.  

 

ขอบคุณเหมือกัน

 

โดย: perasit IP: 61.91.119.57 8 มกราคม 2549 9:15:54 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะคุณต้นโพธิ์ต้นไทร
เป็นบทความที่ดีมาก
อ่านแล้วมีความเข้าใจ และ เป็นแรงบันดาลใจในการทำบุญ ทำทาน ด้วยค่ะ
ขอบคุณจากใจอีกครั้งค่ะ

 

โดย: parachute 15 มกราคม 2549 2:09:47 น.  

 

เข้ามาเยี่ยมบล๊อคครั้งแรกเจอบทความนี้เลย
ช่วงนี้กำลังอ่านหนังสือของ อ.สุทัสสา อ่อนค้อมค่ะ
ยังเหลืออีกเล่มกว่าๆ ทำไมอะไรมันมาพอเหมาะไปหมดอย่างนี้

 

โดย: anthurium IP: 203.170.140.42 19 ตุลาคม 2549 22:41:35 น.  


ต้นโพธิ์ต้นไทร
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 74 คน [?]




[Add ต้นโพธิ์ต้นไทร's blog to your web]