"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
25 กรกฏาคม 2555

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒ : พระองค์ไล พระนามเดิม?



ปกนวนิยายเรื่อง "เจ้าไล" โดย คึกเดช กันตามระ


ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพระนามเดิมของพระองค์คือ "พระองค์ไล" "เจ้าไล" หรือ "ไล" คนส่วนใหญ่หลังจากรู้จากที่มาหนึ่งแล้วก็จะนำไปใช้ต่อกันจนเข้าใจว่าเป็นชื่อที่ถูกต้อง 

จริงๆแล้วเป็นความผิดพลาดแต่ครั้งอดีตต่อเนื่องมายาวนาน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีหลักฐานใหม่ๆที่สามารถหักล้างของเดิมได้ แต่คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะอ่านประวัติศาสตร์ที่สำเร็จรูปแล้วมากกว่า


การแปลเอกสารของวันวลิตเป็นภาษาไทย
ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ยุคนั้นเป็นยุคที่มีการศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยอยู่มาก รวมถึงมีการแปลเอกสารจดหมายเหตุต่างๆของชาวต่างชาติมาเป็นภาษาไทยเพื่อประกอบการศึกษา

ตอนนั้นมีเอกสารที่เยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) นายห้างชาวดัชต์ซึ่งประจำอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้บันทึกไว้(เรียกกันภายหลังว่า 'Historical Account of King Prasat Thong' ) เป็นฉบับภาษาฝรั่งเศส สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงโปรดให้ W.H.Mundie บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Bangkok Times แปลฉบับภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ ใน ค.ศ.1904(พ.ศ.๒๔๔๗) 

เมื่อเวลาผ่านไปจึงโปรดให้ขุนวิจิตรมาตราแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แต่แปลได้แค่ ๙ หน้าเท่านั้นแล้วจึงได้ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1934(พ.ศ.๒๔๗๗) เรียกกันว่า "จดหมายเหตุวันวลิต"



ต่อมาคุณนันทา วรเนติวงศ์ ได้แปลเอกสารของฟาน ฟลีตที่ Mundie แปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเป็นภาษาไทย โดยมีชื่อว่า "จดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)" ใน พ.ศ.๒๕๐๘ และได้มีการจัดให้เป็น "ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๙"

นอกจากนี้ก่อนที่จะมีการแปลอย่างเป็นทางการ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงนำข้อความจากเอกสารของฟาน ฟลีตมาประกอบในพระนิพนธ์ "ไทยรบพม่า" เข้าใจว่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ครั้งแรก

"ไทยรบพม่า" เป็นงานนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อวงการประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นเวลานาน จนเนื้อหาถูกนำไปใช้ในแบบเรียน แม้ว่าในปัจจุบันมีการพบหลักฐานใหม่ๆที่สามารถหักล้างได้แต่คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อพระมติไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน"จดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)" คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าปราสาททองก็ล้วนต้องอ่านทั้งนั้น 


"พระองค์ไล" ในเอกสารต่างๆ
ในไทยรบพม่าได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า "วันวลิตฮอลันดากล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นนามเดิมคนทั้งหลายเรียกกันว่า 'พระองค์ไล' เกิดในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อราวปีชวด พ.ศ.๒๑๔๓" (เรื่องปีเกิดสามารถอ่านได้ใน ตอนที่ ๑)

ส่วน "จดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)" กล่า่วว่า "...พระองค์ไลผู้ซึ่งได้ครองราชย์ ในเวลานั้น และทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง (PratiavwTsangh, Pra - Tiavw Isi angh Ihon - Dengh Pra Thiangh Choboa) ที่เรียกกันว่าพระเจ้าบัลลังก์ทอง พระเจ้าช้างเผือกแดงหางขอด..."

เอกสารที่ยกมาเป็นที่แพร่หลายในผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จึงเป็นที่รับรู้กันว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีพระนามเดิมว่า "พระองค์ไล" ตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯท่าน

นอกจากนี้ยังได้นำเรื่องนี้ไปแต่งเป็นนิยายในชื่อว่า "เจ้าไล" อีกด้วย ชื่อนี้จึงค่อนข้างเป็นที่แพร่หลายทั่วไป


การแปลที่ผิดพลาด


หนังสือเรื่อง "Van Vliet's Siam" 
เป็นการนำเอกสารภาษาดัชต์ของฟานฟลีตมาแปลใหม่
โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษในทอดเดียว


ความเป็นจริงคือ ทางไทยไม่เคยศึกษาเอกสารต้นฉบับภาษาดัชต์ของฟานฟลีตเลย เริ่มต้นมาได้เป็นฉบับตีพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส 

สำหรับฉบับภาษาดัชต์ ศาสตราจารย์อิวาโอะ เซอิจิ(岩生 成一) ได้พบเอกสารเขียนด้วยลายมืิอภาษาดัชต์ที่หอจดหมายเหตุกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้นจึงมีการนำมาเปรียบเทียบกับ "จดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)" พบว่ามีความแตกต่างหลายอย่าง หลังจากมีการเทียบกับฉบับภาษาอื่นๆก็พบว่ามีการแปลที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ฉบับแปลจากภาษาดัชต์เป็นภาษาฝรั่งเศสแล้ว พอแปลต่อมาหลายๆทอดก็พากันผิดตามไปหมด

  • ต้นฉบับภาษาดัชต์ ฟาน ฟลีตได้เขียนจบในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ.1640(พ.ศ.๒๑๘๓) สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไม่เคยได้ตีพิมพ์
  • ฉบับภาษาฝรั่งเศสแปลโดย Abraham de Wicquefort มีการตีพิมพ์ในปารีสใน ค.ศ.1663(พ.ศ.๒๒๐๖) ฉบับนี้เองมีความคลาดเคลื่อนจากฉบับภาษาดัชต์มากในหลายจุด อาจเป็นเพราะเกิดความผิดพลาดจากการแปล หรืออาจแปลจากเอกสารคนละชิ้น 
อย่างไรเสีย ผลที่ตามมาคือเนื้อความทุกฉบับที่แปลหลังจากฉบับภาษาฝรั่งเศสจึงผิดตามกันไปหมด พอแปลหลายภาษาเข้าก็อาจทำให้ผิดเพิ่มไปอีก จึงเป็นเหตุให้เรื่องสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีความคลาดเคลื่อนไปหลายเรื่องจนทุกวันนี้

ใน "จดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)" ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษซึ่งแปลมาหลายทอดกล่า่วว่า "...พระองค์ไล ผู้ซึ่งได้ครองราชย์ ในเวลานั้น และทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง (Pratiavw Tsangh, Pra - Tiavw Isi angh Ihon - Dengh Pra Thiangh Choboa) ที่เรียกกันว่า พระเจ้าบัลลังก์ทอง พระเจ้าช้างเผือกแดงหางขอด...

ฉบับภาษาดัชต์ได้เขียนว่า  Pra Ongh Srij(wiens titulen zijn Pra tjaum Pra-sathongh,PraTsiauw tsiangh Peeuck,Pra tjsaeuw tsiangh thongh dengh,Prajaeuw TsianghChobolt)' ซึ่งถอดเสียงเป็นภาษาไทยได้ว่า 'พระองค์ศรี(ผู้ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างทองแดง พระเจ้าช้างโคบุตร'
เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วพระนามที่ถูกต้องน่าจะเป็น พระองค์ศรี(Pra Ongh Srij)

แต่พอแปลเป็นฝรั่งเศสก็แปลผิด(ไม่ใช่แค่เรื่องนี้) จาก Pra Ongh Srij เลยกลายเป็น Phra Ongly
พอ Mundie แปลเป็นภาษาอังกฤษเลยกลายเป็น Phra Ong Lai 
พอแปลไทยจึงกลายเป็น พระองค์ไล

จาก Pra Ongh Srij จึงกลายเป็ พระองค์ไล ไปด้วยประการฉะนี้


พระองค์ศรี คือพระนามเดิมหรือไม่?
ในฉบับภาษาดัชต์หรือจดหมายเหตุวันวลิต(ฉบับสมบูรณ์)ของไทยเรา ไม่เคยมีตรงไหนที่พูดเลยว่าพระองค์ศรีหรือพระองค์ไลคือพระนามเดิม บุคคลแรกที่กล่าวเช่นนี้เห็นจะเป็นสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพตามที่ปรากฏในพระนิพนธ์ "ไทยรบพม่า"

ความเป็นไปได้ที่มากกว่าน่าจะเป็นการเรียกย่อพระนามของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมากกว่า โดยฟาน ฟลีต ได้บันทึกไว้่ว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชแล้วทรงมีพระนามว่า พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช(Pra Onghsrij d'Harma Raatsja Thijraaja) 

ตัวอย่างของการย่อพระนามของวันวลิตมีตัวอย่างอื่นอีกคือพระนามของ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ที่ฟาน ฟลีตเรียกว่า พระองค์เชษฐราชา(Pra Onghthit Terrae Tsiae-มีการสะกดหลายแบบ) ก็เรียกย่อว่า พระองค์เชษฐ(Pra Onghthit) เช่นเดียวกัน


แต่ก็มีคนที่เชื่อว่า พระองค์มีพระนามเดิมว่า "ศรี" มีเรื่องที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือเมื่อทรงรับราชการแล้ว พระองค์มักจะได้ทินนามที่มีคำว่า "ศรี" เช่น "ศรีสรรักษ์" "ศรีวรวงศ์" หรือ "กลาโหมสุริยวงศ์" อาจจะมาจาก "ศรีสุริยวงศ์" ซึ่งเป็นทินนามที่มีปรากฏใช้ในสมัยหลัง

แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานจะชี้ชัดได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพระนามเดิมว่าอะไร




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2555
10 comments
Last Update : 31 สิงหาคม 2555 16:44:45 น.
Counter : 12548 Pageviews.

 

ภาษาไทย เป็นไทยยังผิดเลย

ไม่นานนี้เพื่อนส่งมาให้อ่าน
เช่น เดิมคือ ชลบท คือเมืองที่มีน้ำไหลผ่าน
ไปตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่า ชนบท แปลว่า บ้านนอก

 

โดย: tuk-tuk@korat 7 มีนาคม 2556 13:15:06 น.  

 

เจ้าฟ้าชายรามาธิเบศร โอรสสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประสูติแต่พระนางมณีจันทร์ ถูกเอาไปฝากออกญาศรีธรรมาธิราชเลี้ยงเพื่อหนีราชภัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะที่พระนางมณีจันทร์ก็หลบภัยไปผนวชที่วัดพุทไธศวรรย์

 

โดย: หลังม่านไม้ไผ่ IP: 49.230.193.145 15 กุมภาพันธ์ 2558 13:07:03 น.  

 

เรื่องที่คุณอ้างมีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมั้ยครับ ถ้ามีก็ช่วยยกมาให้อ่านหน่อย เพราะเท่าที่ศึกษามาไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือตรงกับที่คุณอ้างครับ มณีจันทร์ก็เป็นการแปลที่ผิดพลาดจากเอกสารภาษาดัตช์เป็นภาษาฝรั่งเศส เท่าที่ดูเห็นจะเป็นเอาหลักฐานของฟาน ฟลีตมาโยงกับเรื่องเล่าเชิงตำนานเอาเองแล้วยังแต่งเสริมโดยปราศจากหลักฐานเสียมากกว่าครับ

 

โดย: ศรีสรรเพชญ์ IP: 61.90.104.180 15 กุมภาพันธ์ 2558 22:45:30 น.  

 

แล้วมณีจันทร์จริงๆชื่อเรียกว่าอะไรหรือครับ คนเขาเรียกทั้งบ้านทั้งเมืองผมไม่รู้ว่าคุณเก่งมาจากไหนจังคุณศรีสรรเพชญ์ ตัวเองถูกหมดเนาะกล่าวหาคนง่ายๆอย่างนี้ สืบสายเลือดเขามาเลยรึไงรู้เรื่องเขาดีนักหนิ ตระกูลที่เขาสืบสายเลือดเจ้าสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงๆที่บอกต่อกันมาสิบๆรุ่นเขาเรียกเยี่ยงนี้แหละแล้วคุณเป็นใครเหรอ????? จะเรียกมณีจันทร์ให้แปลกออกไปว่าอะไร ชะแวก ชะหงายชื่อลูกพระองค์เจ้าชายตรุบ พี่ชายพระเจ้าเอกทัศเหรอ???? คำไทยโบราณเนี่ย

 

โดย: หลังม่านไม้ไผ่ IP: 49.230.210.205 17 กุมภาพันธ์ 2558 15:15:04 น.  

 

ผมถามเพียงเพราะอยากทราบหลักฐานที่คุณอ้างอิงครับ ถ้ามีหลักฐานอ้างอิงที่เหมาะสมผมพ้อมที่จะเชื่อตามนั้นครับ ไม่ใช่พูดลอยๆแต่ไม่มีอะไรอ้างอิง

ส่วนเรื่องชื่อมณีจันทร์ไปอ่านตามลิ้งแล้วกันนะครับ จริงๆกรมศิลปากรได้แปลต้นฉบับของฟาน ฟลีตที่สะกดชื่อมณีจันทร์ผิดใหม่แล้ว แต่เพราะเรียกกันมานานคนก็ยังคุ้นที่จะเรียกครับ ทั้งๆที่ขัดต่อหลักฐาน
//pantip.com/topic/32091934/comment4

ที่ว่าเรียกกันมาสิบรุ่นๆก็ไม่ใช่ เพราะคนที่แปลชื่อมณีจันทร์จากจดหมายเหตุวันวลิตเป็นภาษาไทยก็ไม่กี่สิบปีนี้เอง

 

โดย: ศรีสรรเพชญ์ IP: 110.169.89.112 17 กุมภาพันธ์ 2558 19:43:31 น.  

 

เชื่ออะไรบันทึกของวันวลิตมากคะ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจริงหรอกค่ะ แค่เอาชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริงๆมาแต่งสีสันไปแค่นั้นเองดิฉันเป็นเพื่อนคุณหลังม่านไม้ไผ่ค่ะ
คุณลองถามคนที่นามสกุล สุดลาภา ดูนะคะสกุลนี้เป็นเชื้อ เจ้า จากสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงๆค่ะไม่ใช่เชื้อขุนนางที่เป็นสามัญชนเหมือนราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน ทางสกุลสุดลาภาไม่ได้โดนทหารพม่ากวาดต้อนไปครั้งเสียกรุงศรีิยุธยาครั้งที่สองค่ะ
แต่ก็นั่นแหละเขาก็เล่าปากต่อปากไม่ได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอะไรเหมือนคุณศรีสรรเพชญ์ ตระกูลเขามาทางเจ้าฟ้าชายตรัสน้อย เจ้าฟ้าหญิงสิริกัลยาณี เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี ของราชวงศ์ปราสาททองมาถึงต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงค่ะที่ลาออกจากความเป็นเจ้ามาเป็นสามัญชนค่ะ เขาก็บอกนะคะว่าต้นสายเขามีเชื้อมอญเพราะพระเจ้าปราสาททองประสูติจากพระนางมณีจันทร์ค่ะได้เป็นเจ้าฟ้าชายพระนาม รามาธิเบศร และเกิดเหตุการณ์ที่ต้องพาพระองค์ไปซ่อน เข้าเรื่องสกุลสุดลาภาต่อค่ะ รุ่นเจ้าฟ้าหญิงสุดาวดีออกมาอยู่บ้านละมุด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และสืบทอดสายโลหิตมากระทั่งปี 2310 ก็หลีกไปทางอื่นเพราะพม่าผ่านมาทางนี้ ไปทางนครราชสีมาหรือลพบุรีที่ไม่ใช่ทางผ่านกองทัพพม่า เมื่อเหตุการณ์สงบก็กลับมายังถิ่นฐานเดิม(ถ้าจำไม่ผิด ถ้าผิด ก็ขออภัยค่ะ)เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาถามว่าเอาหลักฐานมาจากไหนอีกนะคะ เพราะเล่าจาก "ปาก" ค่า คำพูดไม่สละสลวย ขออภัยด้วยนะค้า สวัสดีค่ะ

 

โดย: หนูขาว IP: 49.230.218.144 18 กุมภาพันธ์ 2558 9:47:57 น.  

 

ขอโทษที่พิมพ์ผิดค่ะ ฝากคุณศรีสรรเพชญ์แก้บรรทัดที่ 7 คำว่า กรุงศรีอยุธยาให้หน่อยนะคะ จะได้ดูสละสลวยค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: หนูขาว IP: 49.230.218.144 18 กุมภาพันธ์ 2558 9:54:21 น.  

 

ตามหลักฐาน รามาธิเบศ เป็นพระนามของพระเจ้าปราสาททองที่ปรากฏเรียกในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่ากับคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเขียนจากปากคำเชลยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ เช่นเดียวกับที่เรียกกษัตริย์องค์องค์อื่นๆด้วยชื่อที่ต่างออกไป แต่ไม่มีหลักฐานระบุว่าเป็นพระนามเดิมของพระองค์ นอกจากนี้คำให้การของเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ ก็ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นพระญาติข้างพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรม ไม่ได้บอกว่าเป็นโอรสลับ สอดคล้องกับฟาน ฟลีต

ผมไม่ปฏิเสธว่าฟาน ฟลีตมีอคติต่อพระเจ้าปราสาททอง แต่การปฏิเสธว่าหลักฐานไม่น่าเชื่อถือเลยเห็นจะไม่จริง หลักฐานหลายชิ้นของฟาน ฟลีตหลายฉบับเนื้อความสอดคล้องกับเอกสารไทยโบราณเช่นสังคีติยวงศ์หรือตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ในเรื่องการบรรยายเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมของอยุทธยาก็มีความละเอียด แทบจะไม่ต่างจากของลาลูแบร์เลย และก็สอดคล้องกับธรรมเนียมไทยปัจจุบันด้วย หลักฐานของฟาน ฟลีตยังมีที่บันทึกในรูปแบบบันทึกประจำวัน ซึ่งสามารถระบุยศบรรดาศักดิ์ของข้าราชการไทยได้อย่างละเอียดแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบราชการไทยได้เป็นอย่างดี และด้วยความที่เป็นหลักฐานร่วมสมัยจึงย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าครับ

 

โดย: ศรีสรรเพชญ์ IP: 171.97.26.24 21 กุมภาพันธ์ 2558 8:24:35 น.  

 

ขอบคุณสำหรับแหล่งที่มาครับ คุณหนูขาว

เรื่องที่ให้แก้บรรทัดที่ ๗ ผมไม่รู้จะแก้ยังไงขออภัยด้วยครับ

 

โดย: ศรีสรรเพชญ์ 21 กุมภาพันธ์ 2558 14:02:31 น.  

 

เข้ามาอ่านใหม่ตั้งแต่ตอนแรกค่ะ
เพราะกำลังจะเขียนเรื่องวัดไชยวัฒนาราม

 

โดย: tuk-tuk@korat 10 มีนาคม 2558 13:51:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]