space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
13 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

พระรัตนตรัย ต้องรู้จักใช้ให้เป็นสรณะ 235 พระรัตนตรัย ต้องรู้จักใช้ให้เป็นสรณะ ตอนนี้ขอให้สั
พระรัตนตรัย ต้องรู้จักใช้ให้เป็นสรณะ


235 พระรัตนตรัย ต้องรู้จักใช้ให้เป็นสรณะ


     ตอนนี้ขอให้สังเกต มีคําว่า ธัมม์/ทัมม์ ๒ ตัว

     ตัวที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าดึงคนจากเทพสู่ธรรม เขียนเป็นภาษาบาลีคือ “ธัมม์” = “ธมฺม”  นี่ คือธรรม ที่พระพุทธเจ้าต้องการชี้ให้เราทุกคนเข้าใจ

     ทีนี้หันมาดูที่ตัวเรา ก็เจอตัวที่ ๒  “ทัมม์”   เขียนอย่างบาลี =  “ทมฺม”  แปลว่า ผู้ที่ฝึกได้ อยู่ที่ตัวเราเอง

     เอาใจใส่แค่สองตัวนี่พอเลย  ชาวพุทธจะเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง และเจริญก้าวหน้า

     ตัวที่ ๑ เป็นหลักการใหญ่  ที่อยู่ล้อมรอบครอบตัวเราทั้งหมด  ชีวิตของเราก็อยู่ใต้อำนาจของมันก็คือ  ธัมมะ    ธง  (= ธรรม) ได้แก่  ความจริงของธรรมชาติ   เฉพาะอย่างยิ่ง  ธรรมดาแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

     ส่วนตัวเราเองเป็นอย่างที่ ๒ คือ ทัมมะ  ทหาร ทัมมะที่อยู่ที่ตัวเรานี้ ทําให้เรามั่นใจในศักยภาพที่จะเข้าถึง และได้ประโยชน์จากธัมมะ (ธรรม) เมื่อเจาะจุดถูกแล้ว  เราก็ฝึกตัวเองไป เราก็จะเข้าถึงธรรมตัวที่หนึ่งที่เป็น  ธงได้  แล้วชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่ดีงาม


     มนุษย์ผู้ทัมมะ (ท ทหาร) ท่านแรก  ฝึกฝนตนเอง  พัฒนาปัญญา ขึ้นมาจนบรรลุโพธิญาณ เข้าถึงธัมมะ/ธรรมะ (ธ ธง) เป็นพุทธะไปแล้ว  ก็นำเอาธัมมะ /ธรรมะ (ธ ธง) มาชี้แจงประกาศสั่งสอนมนุษย์อื่นให้รู้ตาม

     มนุษย์ผู้เป็นทัมมะ (ท ทหาร) คนอื่นต่อมา ก็สามารถเข้าถึงธัมมะ/ธรรมะ (ธ ธง) นั้นด้วย แล้วประกอบกันเข้าเป็นชุมชน หรือหมู่ชนผู้พัฒนาตนเป็นพุทธะอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า ชุมชนนี้เป็นชุมชน หรือหมู่ชนพิเศษ ได้ชื่อว่า สังฆะ

     ถึงตอนนี้   เราก็ได้สิ่งที่เป็นหลักใหญ่ ๓ อย่าง เรียกว่าพระรัตนตรัย  ซึ่งเป็นองค์ประกอบของพระพุทธศาสนา  พระรัตนตรัยก็เกิดขึ้น

     หลักพระรัตนตรัยนี้  เอามาใช้เป็นเครื่องรําลึกเตือนใจ สําหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อจะน้อมจิตเข้าสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา และจะได้ไม่เขว  ถ้าเราระลึกถึงพระรัตนตรัยถูกต้องแล้ว  ก็จะไม่พลาดไปจากพระพทธศาสนา 

     ถ้าเราเข้าใจพระรัตนตรัยไม่ถูก  ไม่รําลึกถึงพระรัตนตรัยให้เป็น เครื่องเตือนใจตัวเอง บางทีเราก็เขวออกไป ดีไม่ดีเดี๋ยวก็ถูกดึง หรือดีดตัวเองออกไปสู่เทพอีกตามเคย แทนที่จะอยู่กับธรรมก็ออกไปสู่เทพอีก

     หลักพระรัตนตรัย จากที่พูดมาก็ชัดเจนแล้วว่า มนุษย์ (ทัมมะ) นี้ พัฒนาตัวเองจนเข้าถึงธัมมะ/ธรรม ก็กลายเป็นพุทธะ

     หลักพุทธะนี้ จะมาเตือนใจเรา ให้เราได้ประโยชน์เมื่อระลึกถึงหลายอย่างหลายประการ

     ประการที่ ๑ เป็นเครื่องชี้โยงมาถึงตัวเราเอง  เวลาระลึกถึงพระพุทธเจ้า  ก็เตือนใจเราให้ระลึกว่า   พระพทธเจ้าก็เคยเป็นมนุษย์อย่างเรานี้แหละ  แต่ด้วยศักยภาพ หรือความสามารถที่คลี่บานออกมาได้ด้วยการฝึกตัวเองนี้  พระองค์ก็พัฒนาพระองค์จนเป็นพุทธะไป  ในตัวเราที่เป็นมนุษย์  ก็มีศักยภาพอันนี้อยู่  ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้  สามารถที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวไปให้เป็นอย่างพุทธะนั้น

     เมื่อระลึกอย่างนี้  ก็เกิดความมั่นใจในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งเรียกว่าเป็นศรัทธา ขั้นเบื้องต้น ที่จะเป็นพื้นฐานของการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

     ประการที่ ๒  เมื่อระลึกอย่างนั้น  ก็รู้ตระหนักพร้อมไปด้วยว่า  ถึงเราจะเป็นมนุษย์  มีศักยภาพนี้อยู่   แต่ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่ฝึกฝนพัฒนาตน  ก็จะไม่เกิดผลอะไร  ความประเสริฐก็จะไม่เกิดขึ้น การที่ศักยภาพนั้นจะมีผลออกมา   ก็อยู่ที่ตัวเรานี่แหละจะต้องทํา คือต้องศึกษา ต้องฝึกฝนพัฒนา เพราะฉะนั้น  จึงเท่ากับเตือนให้ระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ คือการที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเองนั้น  ให้มีผลเป็นจริงขึ้นมา

     ประการที่ ๓  ก็ทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะพัฒนาฝึกฝน  เราอาจจะนึกว่ายาก เมื่อยากเราก็จะท้อ   แต่พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า  เราก็นึกว่ามีตัวอย่างเป็นจริงนี่  มีผู้เข้าถึงความจริงเป็นพุทธะอย่างนี้ได้แล้ว  มีผู้ที่พัฒนาตนสูงสุดอย่างนี้ได้จริง  พอนึกถึงพระพุทธเจ้าทีไร เราก็เกิดกำลังใจว่า  เราทําได้เราทําได้แน่  เมื่อใดชักจะท้อใจ   ระลึกถึงแบบอย่างแห่งการบําเพ็ญเพียรในประวัติของพระองค์  เราก็คึกคักเข้มแข็ง สู้ต่อไป

     ประการที่ ๔ ได้แบบอย่างวิธีปฏิบัติ  พระพุทธเจ้าทํามาอย่างไร  ท่านเดินหน้านําทางให้เราแล้ว  เราง่ายขึ้นแล้ว  เราไม่ต้องไปเที่ยวลองผิดลองถูกอีกแล้ว  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างให้เรา  เราคงลําบากแย่  เราจะต้องลองผิดลองถูก  เมื่อไรจะถึงสักที  แต่นี่พระพุทธเจ้าทรงทํามาก่อน และยังแถมบอกวิธีให้มากมายด้วย  เราก็ได้ตัวอย่างและวิธีการจากประสบการณ์ของพระองค์ที่ได้ทรงนํามาตรัสบอกไว้ให้แล้ว  ชี้ทางไว้ให้แล้ว  ลัดเข้ามา  เราสะดวกสบายมากมาย

     เพราะฉะนั้น   การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจึงได้ประโยชน์  ๔ ประการ เป็นอย่างน้อย

        ๑. เกิดความมั่นใจในศักยภาพของมนุษย์ที่มีในตัวเองว่าจะฝึกฝน พัฒนาได้

        ๒. เตือนใจให้ระลึกถึงหน้าที่ของเราเองที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตน

        ๓. ทําให้เราเกิดมีกําลังใจที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอย่างนั้น

        ๔. ได้แบบอย่างวิธีปฏิบัติที่จะทําให้เราทําได้ง่ายขึ้น

     เมื่อพระพุทธเจ้าชี้มาที่ตัวเรา ให้เราพร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว พระองค์ก็ชี้ต่อไปว่า การที่จะพัฒนาตนสําเร็จได้เราต้องเข้าถึงธรรม  เธอจะต้องรู้และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรม เพราะการพัฒนาตัวของเรานี้  ต้องเป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ  ตามกฎแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น  ถ้าเราพัฒนาตนเองไม่ตรงตามเหตุปัจจัย  ไม่ทําให้ตรงตามกฎธรรมชาติ  ไม่ตรงตามธรรม ก็ไม่สําเร็จ

     เพราะฉะนั้น  เราจะต้องยึดถือธรรมเป็นสรณะ  เอาธรรมเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ตลอดเลยตั้งแต่ต้นจนจบ  ในการดําเนินชีวิตที่ดีของเรา  เราต้องปฏิบัติตามนี้แหละ

     ธรรม ต้องเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นหลักตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่ในชีวิตประจำวันมีประสบการณ์ต่างๆ เข้ามาทางตา หู  ฯลฯ ก็ต้องมองในแง่ของธรรม คือมองตามเหตุปัจจัย

     พอเริ่มเอาธรรมคือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมาใช้เป็นหลัก เราก็เริ่มฝึกตัวเองแล้ว

     แต่ก่อนนี้  เราเคยมองสิ่งทั้งหลายตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ พอเจออารมณ์อะไรเข้ามาทาง ตา หู  จมูก ลิ้น กาย ถ้ามันสบาย  ก็ชอบใจ  ถ้าไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ อยู่ด้วยความชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วก็คิดปรุงแต่งไปตามที่ยินดียินร้าย

     มนุษย์ที่ไม่ฝึกฝนพัฒนา ท่านเรียกว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน แปลว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่ได้เรียนรู้ เป็นคนไม่มีหลัก ก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือ มีการรับรู้ด้วยความชอบ และชัง ยินดีและยินร้าย

     แต่พอเริ่มฝึกตน  จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นอริยชน หรือเป็นอริยสาวก ก็จะรับรู้โดยมองตามเหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญา

     พอเริ่มมองเห็นตามเหตุปัจจัย คือมองตามความเป็นจริง  ก็จะป้องกันและกําจัดความยินดียินร้ายชอบชังได้  จิตใจก็จะสบายโปร่งโล่ง  ปราศจากปัญหา  พร้อมกันนั้น ก็จะได้เรียนรู้ ทําให้ปัญญาพัฒนา  เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น  ไมใช่มองด้วยจิตที่วนเวียนจมอยู่ใน โลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็ตามมาด้วยปัญหา

     นี่เป็นตัวอย่างเบื้องต้นของการเอาธรรมมาใช้ คือเป็นที่พึ่ง  เป็นสรณะ เป็นหลักแห่งการดําเนินชีวิตของเรา แม้แต่ในชีวิตประจําวัน

     รวมความก็คือ ชีวิตของเราต้องเดินตามธรรม และเอาความรู้ในธรรมมาใช้โดยตลอด จนกระทั่งในที่สุด เมื่อเข้าถึงธรรมจริงๆ เข้าถึงตัวความจริงที่เรียกว่าเป็นหลักการใหญ่แล้ว เราก็กลายเป็นพุทธะด้วย เช่น เดียวกับพระพุทธเจ้า



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2567 7:55:40 น. 0 comments
Counter : 24 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space