space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
10 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

จากเทพสู่ธรรม ธรรมกำหนดกรรม กรรมเรียกร้องสิกขา ก) จาก เทพสูงสุด เป็น ธรรมสูงสุด พระพุท
จากเทพสู่ธรรม  ธรรมกำหนดกรรม  กรรมเรียกร้องสิกขา
 
   ก) จาก เทพสูงสุด เป็น ธรรมสูงสุด
 
     พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา  ได้ตรัสรู้  ค้นพบความจริง   เข้าถึงกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และอสังขตสภาวะที่ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยนั้นแล้ว  พระองค์ก็มาทรงแสดงธรรม   เท่ากับทรงเที่ยวบอกแก่ประชาชนทั้งหลายว่า  ท่านทั้งหลายอย่ามัวแต่มองออกไปข้างนอกเลย  อย่ามัวไปหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้าโดยไปขอให้ท่านช่วยโน่นช่วยนี่กันเลย   ที่แท้นั้นสิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามความจริงของมันเอง   ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน  ขอให้เราหันมามองดูความจริงกันเถิด
 
     คำสอนของพระพุทธเจ้าย้ำเตือนว่า อย่ามัวแต่มองไปที่เทพเจ้าแล้วร่ำร้องว่าเราจะเอาโน่นเอานี่โดยขอให้ท่านทำให้เลย  ขอให้เรามามองดูความจริงที่อยู่รอบตัวเรานี่แหละ  ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราว่า  สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน  ผลที่เราต้องการจะเกิดขึ้นด้วยการกระทำของเราที่ตรงตามเหตุ   ถ้าเราทำเหตุปัจจัยให้ตรงให้พร้อม  ผลก็จะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั้น นี่คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
 
     รวมความว่า  พระพุทธเจ้าทรงชี้ชวนประชาชน  ให้หันเหเบนความสนใจจากการดลบันดาลของเทพเจ้า  ซึ่งเป็นอำนาจภายนอกที่เลื่อนลอยที่ตัวเองมองไม่เห็น และไม่สามารถบังคับควบคุม ให้หันมาดูความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คือ ธรรม
 
     ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือตัวความจริงนี้ เรียกง่ายๆ ด้วยศัพท์สั้นนิดเดียว เป็นคำๆ เดียว คือ ธรรม เท่านั้นเอง
 
     จากเทพเจ้าที่ดลบันดาล   พระพุทธเจ้าเบนความสนใจของประชาชนมาสู่ความจริงแห่งกฎธรรมชาติ คือธรรม เพราะฉะนั้น พุทธกิจสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำ  สรุปได้ง่ายๆ คือ ทรงดึงประชาชนจากเทพมาสู่ธรรม จากการถือว่าเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด 
 
     “จากเทพ - สู่ธรรม”  นี้  คือเหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในพุทธกาลเป็นการปฏิวัติสังคม ในขณะที่สังคมมุ่งหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เมื่อประชาชนมัวหลงใหลวุ่นวายอยู่กับเรื่องเทพเจ้า เอาแต่อ้อนวอนขออำนาจเทพเจ้าให้บันดาลโน่นดลนี่ พระพุทธเจ้าก็ดึงให้เขามาสนใจตัวธรรมที่อยู่ในธรรมชาติ คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย  อันนี้แหละเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

 
ข) จาก  “ธรรม”  เพ่งแคบเข้ามาที่  “กรรม”
 
     ความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น สัมพันธ์กับตัวมนุษย์อย่างไร อธิบายว่า มนุษย์ต้องการผล หรือต้องการประโยชน์บางอย่างให้แก่ตนเอง ผลที่ต้องการนั้นต้องเกิดจากเหตุ เหตุนั้นคืออะไร ก็คือการกระทำของมนุษย์เอง เมื่อเราต้องการผล ก็ต้องทำเหตุการณ์ทำเหตุด้วยตัวของมนุษย์เองนั้น ก็คือการกระทำของเขา
 
     เป็นอันว่า การกระทำของมนุษย์นั่นเอง เป็นเหตุปัจจัยหลัก ที่จะนำผลที่เขาต้องการมาให้การกระทำของมนุษย์นั้น เรียกว่า กรรม
 
     เพราะฉะนั้น ธรรม คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ก็แคบลงมา  ได้แก่ กรรม
 
     จากธรรม ที่กำกับครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง มองแคบลงมาเฉพาะส่วนที่เป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง ก็เอาแค่กรรม

      กรรม  ก็ซ้อนอยู่ในธรรมนั่นเอง

        235 ธรรม  คือการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

        235 กรรม  คือการที่ผลซึ่งเกิดแก่คนเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เขาทำ

     ธรรม   บอกว่า ผลเกิดจากเหตุ

     กรรม   บอกว่า  ผลที่มนุษย์ต้องการเกิดจากการทำเหตุ  การทำเหตุนั้น  เรียกว่า “กรรม” ดังนั้นจึงพูดใหม่ให้สั้นว่า  กรรม  บอกว่า ผลที่มนุษย์ต้องการเกิดจากกรรม  หมายความว่า ผลที่เราต้องการ  (และไม่ต้องการ)  เกิดจากกรรมที่ตรงกัน   (เป็นเหตุปัจจัยหลัก หรือเป็นตัวเน้นสำหรับมนุษย์คือไม่ตัดหรือมองข้ามปัจจัยทั้งหลายในขอบเขตแห่งธรรมที่กว้างกว่า)
 
     รวมความว่า จากธรรม เมื่อเพ่งที่เรื่องของมนุษย์  พระพุทธเจ้าทรงชี้แคบลงมาที่กรรม
 
     พูดยักเยื้องด้วยสำนวนต่างๆ ว่า ธรรมครอบคลุมกรรม หรือกรรมซ้อนรวมอยู่ในธรรม หรือกฎธรรมชาติ/กฎแห่งธรรมครอบคลุมกฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ/กฎแห่งธรรม
 
 
ค) เพื่อให้  “กรรม” นำผลดี  คนต้องมีการ  “ศึกษา”
 
     พอมาถึงกรรมแล้ว   จะมีอะไรต่อไป  จุดสำคัญก็คือมนุษย์จะต้องทำกรรมให้สำเร็จผลที่ตนต้องการ  ถ้าต้องการผลดีก็ต้องทำกรรมดี  ถ้าไม่ต้องการผลชั่วหรือผลร้าย ก็ต้องหลีกเลี่ยงกรรมชั่วร้าย ก็เลยมีหลักว่ากรรมดีนำไปสู่ผลดี   กรรมชั่วนำไปสู่ผลชั่ว  ทำกรรมดีก็จะได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็จะได้รับผลชั่ว
 
     เมื่อมนุษย์จะต้องทำกรรมดีให้สำเร็จผลที่ตนต้องการ   การที่ต้องทำนั้นก็จะเรียกร้องเองให้เขาต้องเพียรพยายาม คือผลที่ต้องการทุกอย่างนั้นเขาจะต้องเพียรพยายามทำเอา
 
     เพราะฉะนั้น  เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหลักกรรม  ก็จะมีความเพียรมาด้วย  คือ กรรม  มากับความเพียร หรือ วิริยะ
 
     ตรงนี้  ต้องย้ำด้วยพุทธพจน์ที่ว่า  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน ล้วนเป็นกรรมวาท  (ตรัสหลักกรรม)  เป็นกิริยวาท (ตรัสหลักการที่จะต้องทำ) และเป็นวิริยวาท  (ตรัสหลักความเพียร)  [ดู องฺ.ติก.๒๐/๕๗๗]
 
     เป็นธรรมดาว่า  คนที่ทำการด้วยความเพียรพยายามก็จะเป็นคนที่เข้มแข็ง และได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองยิ่งขึ้นๆ ตรงข้ามกับคนที่เอาแต่อ้อนวอนร้องขอและคอยรอความช่วยเหลือ ซึ่งมีแต่จะอ่อนแอลงๆ และเวลาผ่านไปๆ ก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง
 
     ถ้าสังคมมีคนที่เป็นนักอ้อนวอนอ่อนแออย่างนั้นมากๆ ก็จะเป็นสังคมที่อ่อนแอ ยากที่จะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ จึงต้องเร่งรัดปลุกเร้าหมู่ชนให้ไม่ประมาทที่จะทำการทั้งหลายด้วยความเพียร
 
     แต่มนุษย์ที่เพียรพยายามทำเอานี้    ถ้าตัวเองไม่มีความรู้เข้าใจ   ทั้งๆที่มีความเพียรพยายามทำ   ทำกรรมไปแต่ทำเหตุไม่ตรงผล  ถ้าเหตุไม่ตรงผล   ผลที่ต้องการก็ไม่เกิดขึ้น
 
 
     ฉะนั้น การทำกรรมก็ยังไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้สำเร็จผลที่ต้องการ เพราะเราไม่รู้ว่าการกระทำใด  จะนำไปสู่ผลอันใด  นี่ก็คือการขาดปัญญา  เพราะฉะนั้นต้องมีปัญญา เพื่อจะให้ทำกรรมได้ถูกต้อง  ตรงกับที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลดีแน่แท้จริง
 
     แต่ทำอย่างไรจะให้เกิดปัญญาขึ้นมา  ตอนนี้ตัดสินได้ว่ามนุษย์จะต้องมีปัญญา คือจะต้องรู้เข้าใจ ว่ากรรมไหนนำไปสู่ผลอันไหนจะต้องทำกรรมใดอย่างไรจึงจะได้ผลที่ตนต้องการ  ซึ่งก็คือเรียนรู้เหตุปัจจัยนั่นเองจะได้ทำให้ตรงจุด
 
     ฉะนั้น คนเราจะต้องมีปัญญา แต่จะทำให้มีปัญญาได้อย่างไร ก็ต้องฝึกคนหรือพัฒนาคนขึ้นมา จึงมีหลักการของพระพุทธศาสนาว่ามนุษย์นี้ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา แล้วก็เกิดหลักปฏิบัติขึ้นมา เรียกว่า สิกขา ซึ่งแปลว่า   การศึกษา หรือ การฝึกฝนพัฒนามนุษย์
 
     การฝึกฝนพัฒนามนุษย์นี้   เป้าหมายสำคัญคือให้เกิดปัญญา  เกิดปัญญาแล้วก็รู้ถึงความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และรู้ตัวเหตุตัวปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ คือรู้ธรรมนั่นเอง
 
     เมื่อคนมีปัญญารู้เหตุปัจจัยได้ตรงชัดทั่วถ้วนดีแล้ว  ตัวเองก็ทำกรรมได้สอดคล้องถูกต้อง ก็ทำกรรมให้เกิดผลดีงามที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงกรรมที่เป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีได้
 
     เพราะฉะนั้น หลักการของพระพุทธศาสนา  ในที่สุดก็มาถึงตัวมนุษย์ว่าจะต้องมีสิกขา คือต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา อันนี้แหละเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
 
     จากเทพ พระพุทธเจ้าดึงคนมาสู่ธรรม  ในธรรมนั้นแฝงหลักกรรมอยู่ว่า เพื่อจะให้กรรมได้ผลดี มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาที่จะรู้เหตุปัจจัยขึ้นมา แต่จะพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ก็ต้องมีสิกขา และการที่จะให้มีสิกขา คือมีการฝึกฝนพัฒนามนุษย์นั้น ก็เพื่อพัฒนาปัญญานี้แหละ
 
     เมื่อมนุษย์มีสิกขา   ก็พัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ ซึ่งทำให้เห็นธรรมรู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำกรรมได้ตรงที่จะให้เกิดผลดีที่พึงต้องการ
 
     อย่างไรก็ตาม จะต้องมองให้ทั่วตลอดว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น  มันต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ทุกด้านของชีวิต เริ่มตั้งแต่มนุษย์จะต้องมีพฤติกรรมที่ดีงามเพื่อเอื้อต่อการเจริญปัญญา ถ้าไม่มีพฤติกรรมที่ดีงาม ปัญญาก็ไม่เกิดเหมือนกัน
 
     ดังนั้น  จึงต้องวางฐานด้านพฤติกรรมต่างๆ คือ ต้องจัดความประพฤติทางกาย วาจา ให้ดีเพื่อสร้างสภาพแวดล้อม และความสัมพันธ์ในสังคมที่จะเอื้อต่อการแสวงปัญญา
 
     พร้อมกันนั้น ในด้านจิตใจ เพื่อตัวเองจะได้ความรู้มาเจริญปัญญายิ่งขึ้นจะต้องฝึกฝนจิตใจเพื่อสร้างสภาพจิตที่ดีเช่น ใฝ่รู้ขยัน อดทน แกล้วกล้า
 
     โดยเฉพาะต้องสร้างจิตให้เกิดสมาธิ  เพราะสมาธิเป็นแกน และเป็นฐานให้แก่คุณสมบัติอื่นๆ ทุกอย่างของจิต ทำให้จิตเป็นกัมมนีย์ เหมาะแก่งาน  เป็นสนามที่ปัญญาจะทำงานได้สะดวก แล้วก็เอาจิตนั้นไปใช้เป็นเวทีให้ปัญญาพิจารณาคิดสิ่งต่างๆ พอจิตมั่นคงเป็นสมาธิ ก็เอื้อต่อการเกิดปัญญา  (สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ)
 
     โดยนัยนี้  เพื่อจะให้เกิดปัญญานี้แหละ  จึงต้องมีการพัฒนาในด้านพฤติกรรมที่เรียกว่า ศีล ด้วย และพัฒนาในด้านจิตใจโดยมีสมาธิเป็นแกนด้วย  ก็เลยกลายเป็นสิกขา ๓ ขึ้นมา มีศีล สมาธิ และปัญญา
 
     ศีล พัฒนาด้านพฤติกรรมทางกาย และวาจา  พร้อมทั้งการใช้อินทรีย์  เช่น  ตา หู  ในการสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  ทางสังคมบ้าง  ทางวัตถุบ้าง  แล้วเอามาโยงประสานกับการพัฒนาทางด้านจิตใจ และการพัฒนาปัญญา มาช่วยกันเสริมกัน มนุษย์ก็จะเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรมมากขึ้นตามลำดับ
 
     เมื่อมนุษย์เข้าถึงธรรม  คือรู้ความจริงของเหตุปัจจัยทั้งหลายแล้ว  เขาก็รู้ว่าจะทำกรรมอย่างไรดี จะสร้างเหตุปัจจัยอะไรจึงจะได้ผลดีมนุษย์ก็ทำกรรมได้ถูกต้อง แล้วก็เกิดผลดีตามที่ปัญญาบอกให้ต้องการกรรมก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งพ้นกรรมไปเลย นี่แหละคือหลักการใหญ่ๆ ของพระพุทธศาสนา
 
     อย่างไรก็ดี   หลักการใหญ่ที่ครอบคลุมนี้  เป็นเรื่องที่ว่าพูดง่ายแต่ทำยาก โยมแค่รักษาศีลอย่างเดียว  พัฒนาศีลก็แทบแย่แล้ว  แต่ก็ขอให้ได้ภาพรวมไว้ก่อน  ถ้าได้ภาพรวมของพระพุทธศาสนาไว้แล้ว   เราก็จะมองเห็นจุดหมายปลายทาง  เห็นความสัมพันธ์ในการปฏิบัติของเราว่าอันไหนโยงไปอันไหน แล้วเราจะปฏิบัติได้ถูกต้องดีขึ้น
 

235 ดูให้ชัด โดยเฉพาะโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ


 
 
 
 



Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2567 7:11:08 น. 0 comments
Counter : 28 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space