<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
25 กุมภาพันธ์ 2551

Charlie Wilson's War : สงครามอุดมการณ์ (ฉบับชั่วคราว)

ผลกระทบจากความโหดร้ายแห่งสงครามที่ประชาชนชาวอัฟกานิสถานได้รับในช่วงยุคที่รัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) เรืองอำนาจ ไม่ได้มีผลกระทบต่อจิตใจอเมริกันชนเลยแม้แต่น้อย หากนักวิเคราะห์แนวภูมิรัฐศาสตร์ไม่ไปสะกิดเตือนว่า ถ้ารัสเซียยึดอัฟกานิสถานได้ ก็จะขยายอิทธิพลอำนาจแห่งคอมมิวนิสต์เข้ามาสู่ตะวันออกกลาง แล้ววันหนึ่งคงเป็นคิวของอเมริกา


แน่นอนว่า เมื่อผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน บวกเข้ากับความเกลียดคอมมิวนิสต์เข้าไส้ จึงเริ่มมีแผนปฏิบัติการลับจากสหรัฐอเมริกาที่คอยสนับสนุนกลุ่มนักรบมุดจาฮีดีนในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย


Charles Nesbitt Wilson หรือเรียกกันสั้นๆว่า Charles Wilson เป็นสมาชิกสภาผู้แทนจากรัฐเท็กซัส แห่งพรรคเดโมแครตที่มีบุคลิกเป็นนักการเมืองเพลย์บอยตามแบบฉบับหนุ่มเจ้าสำราญ ทว่าในด้านการเมือง เขาเป็นแกนนำคนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการระดมทุนสนับสนุนงบประมาณลับให้กับ CIA ในการทำสงครามเย็นกับรัสเซีย ผ่านทางสงครามร้อนในอัฟกานิสถาน



โดยจุดประสงค์ของการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำเพื่อสหรัฐอเมริกาเท่านั้น อุดมคติสงครามตัวแทนของ Wilson และผู้สนับสนุนทั้งหลาย ยังกระทำไปเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อชาวอัฟกันที่น่าสงสาร รวมทั้งยังช่วยปกป้องโลกจากภัยคอมมิวนิสต์อีกด้วย


ทว่าน่าเสียดายที่นักการเมืองผู้มีอุดมการณ์เกี่ยวกับสงครามอันน่าชื่นชมอย่าง Wilson เป็นนักการเมืองที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะประเทศพญาอินทรี มักเป็นเจ้าอุดมการณ์ที่ไม่ค่อยจะมองการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือมองอะไรไกลไปกว่าผลประโยชน์ระยะสั้นๆของตนเอง ดังนั้นทันทีที่รัสเซียพ่ายแพ้ในสงครามอัฟกานิสถาน สหรัฐอเมริกาถือว่าตนเองประสบชัยชนะแล้ว ทุกอย่างจึงจบลงไปแบบค้างๆคาๆ


สุดท้ายแล้ว ผลจากการสนับสนุนแบบลับๆ แต่ไม่เคยพัฒนาความรู้ หรือสานต่อความสัมพันธ์ใดควบคู่ให้สอดคล้องกันไป กลุ่มมูจาฮีดีนที่เป็นเสมือนลูกค้าแบบให้เปล่าของชาวอเมริกันก็กลับกลายมาทำร้ายทิ่มแทงผู้ให้การสนับสนุนอย่างที่เห็นกัน



ประโยคอันแสนเจ็บแสบที่ Wilson กล่าวไว้ จึงตรงกับนิยามความเป็นเจ้าแห่งอุดมการณ์ของสหรัฐอเมริกาในสงครามครั้งนี้ไม่มากก็น้อย นั่นคือ “These things happened. They were glorious and they changed the world ... and then we f_cked up the endgame.”


Charlie Wilson's War เป็นภาพยนตร์ประเภทอัตชีวประวัติที่สร้างมาจากเรื่องจริง แม้เรื่องราวอาจดูเครียด แถมยังว่าด้วยเนื้อหาของการเมืองขนานแท้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ สอดแทรกมุขตลกร้ายไว้มากมาย และกลายเป็น 1 ใ น 5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทเพลงหรือตลกของรางวัลลูกโลกทองคำปีล่าสุด


เมื่อพูดถึงความโดดเด่นของภาพยนตร์การเมืองเรื่องนี้ แบ่งออกเป็นเนื้อหา และการแสดงอันเปี่ยมไปด้วยพลังทั้ง Tom Hanks และ Philip Seymour Hoffman โดยเฉพาะรายหลังนั้น สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และเข้าชิงในสาขาเดียวกันนี้อีกหลายต่อหลายสถาบัน




แต่สำหรับ Julia Roberts ต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เธอไม่มีบทบาทอะไรน่าจดจำนัก ตรงข้ามกับบทบาทเล็กๆในฐานะผู้ช่วยของ Wilson อย่าง Amy Adams (เจ้าหญิงสุดน่ารักใน Enchanted) ที่เริ่มมีรัศมีความเป็น (ว่าที่) ซุปเปอร์สตาร์เจิดจรัสขึ้นมา


ด้านงานกำกับ ถือว่าผู้กำกับอย่าง Mike Nichols ยังคงรักษามาตรฐานระดับสูงไว้ได้สบายๆ ด้วยการใส่บทสนทนาเข้าไปกว่าค่อนเรื่อง แต่กลับเต็มไปด้วยลูกเล่นที่แพรวพราว และอารมณ์สนุกๆที่ดูได้เรื่อยๆไม่น่าเบื่อแม้แต่น้อย


ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลก ดังนั้นนักศึกษาหรือผู้สนใจด้านรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือประวัติศาสตร์นั้น จึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

บทความจาก //www.elearneasy.com : POGGHI เขียน




Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 17 เมษายน 2551 21:27:40 น. 2 comments
Counter : 2146 Pageviews.  

 
เยี่ยมมากๆเลย ....


โดย: MM (ongchai_maewmong ) วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:04:41 น.  

 
PRANORMLEKSWAT@GMAIL.COM


โดย: PRANORMLEKSWAT@GMAIL.COM IP: 192.168.1.123, 180.183.161.204 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:15:12:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

POGGHI
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




..

บทความ และผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog นี้
สงวนลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ห้ามผู้ใดละเมิด ด้วยการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความ และ ผลงานภาพถ่าย โดย เจ้าของ Blog ไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


POGGHI

..
[Add POGGHI's blog to your web]