1 2 3
4 5 6 7 8 9 10
11 12 13 14 15 16 17
18 19 20 21 22 23 24
25 26 27 28 29 30 31
*** Hamlet *** บทสดุดีการแสดง โดยการแสดง เพื่อการแสดง (แด่มนุษย์ทุกคนผู้ต้องแสดงโดยมิอาจเลี่ยง)
*** Hamlet *** เขียน: William Shakespeare แปล: ศวา เวฬุวิวัฒนา สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ต้องออกตัวไว้ก่อนเลยว่า Shakespeare กับผมแทบไม่เคยได้ทำความรู้จักกันมาก่อน ก่อนหน้านี้ก็อาจจะเคยเฉียดกันมาบ้างกับหนังของ Baz Luhrmann เรื่อง Romeo + Juliet ซึ่งเคยได้ดูสมัยยังเด็ก ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่สัมผัสกับบทละครของ Shakespeare ผ่านการแปลของ ศวา เวฬุวิวัฒนา ที่ไม่ได้แปลแค่ภาษา แต่ถ่ายทอดรูปแบบและฉันทลักษณ์เฉพาะตัวของ Shakespeare ออกมาจนเดาได้ไม่ยากว่าต้นฉบับนั้นมีหน้าตาอย่างไร *** จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ เหมาะสำหรับผู้ที่อ่านหรือรู้เรื่องของ Hamlet มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว *** เรื่องราวว่าด้วย Hamlet เจ้าชายแห่งเดนมาร์กที่หาทางแก้แค้นให้พ่อ, กษัตริย์แห่งเดนมาร์กผู้ถูก Claudius น้องชาย วางยาพิษเพื่อแย่งชิงบัลลังก์รวมไปถึงการแต่งงานกับองค์ราชินี Gertrude ผู้เป็นแม่ของ Hamlet ก่อนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด แผนการแก้แค้นของ Hamlet เริ่มต้นหลังจากเขาได้พบกับวิญญาณผู้เป็นพ่อ ที่กลับมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่าถูกฆ่าโดย Claudius ซึ่งทาง Hamlet เองก็ไม่ได้เชื่อตั้งแต่แรกเสียทีเดียว เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าวิญญาณที่ปรากฏในรูปของพ่อของเขา จะเป็นพ่อตัวจริงหรือเป็นปิศาจจากนรกมาล่อลวงกันแน่ Hamlet จึงพิสูจน์ด้วยการจ้างคณะละครมาเล่นให้ Caludius ได้รับชม โดยเนื้อเรื่องที่แสดงนั้น ทาง Hamlet จะแทรกเรื่องราวการฆาตกรรมด้วยวิธีเดียวกับที่วิญญาณพ่อของเขาบอกเล่าเอาไว้ แล้วดูว่า Claudius จะมีอาการอย่างไร ถ้ามีอาการตกใจอันเกิดจากเพราะมีคนล่วงรู้สิ่งที่ตัวเองทำไว้ก็แสดงว่าเรื่องที่วิญญาณพ่อของเขาเล่านั้นเป็นเรื่องจริง จากเนื้อหาข้างต้นเราจะพบว่า Hamlet ใช้ การแสดง เป็นเครื่องมือพิสูจน์ความจริง ในบทละครยังมีการอธิบายโดยละเอียดว่า Hamlet บอกกับนักแสดงว่าให้เล่นแบบไหน เล่นอย่างไร เร้าอารมณ์แค่ไหน ราวกับทำตัวเป็นผู้กำกับ เพื่อให้ภารกิจในการพิสูจน์ความจริงของเขาน่าเชื่อถือที่สุด (องก์ 3 ฉาก 2 หน้า 155) นี่ทำให้นึกไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Inglourious Basterds ของผู้กำกับ/เขียนบท Quentin Tarantino ที่กลุ่มตัวเอกของเรื่องแก้แค้นพวกนาซี โดยใช้ ภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับที่ Shakespeare ใช้ การแสดงละครเวที เป็นเครื่องมือแก้แค้นของ Hemlet โดยใช้เพื่อพิสูจน์ความจริง ซึ่ง การสะท้อนภาพความจริง ถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ การแสดงละคร (Hamlet เองก็พูดถึงประเด็นนี้ใน องก์ 3 ฉาก 2 หน้า 156) ประเด็นเรื่องการแสดงยังถูก Shakespeare สำรวจลึกลงไปอีก เราจะพบว่า Hamlet บอกกับ Horatio สหายคนสนิทว่า เขาคงจะต้องแสร้งแสดงเป็นคนบ้าคลั่งเพื่อปกปิดแผนการของเขา (องก์ 1 ฉาก 5 หน้า 83) ดังนั้นประเด็นที่ว่า Hamlet ใช้การแสดงเป็นเครื่องมือ นั้น ไม่ได้มีแค่การใช้การแสดงละครเพื่อพิสูจน์ความจริงเท่านั้น Hamlet เองก็ทำตัวเป็น นักแสดง ด้วยการสวมบทบาทเป็นคนบ้าคลั่ง เพื่อปกปิดแผนการของตนเอง (แต่ก็น่าสงสัยว่า ความบ้าคลั่ง ของ Hamlet เป็นของจริงหรือเป็นการแสดง หรือทั้งสองอย่างผสมกัน) Shakespeare ยังบอกกับเราว่าอันที่จริงแล้วการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็คือการแสดงอย่างหนึ่ง ซึ่งการแสดงในที่นี้คือ การสวมบทบาท ตามที่ทางสังคมได้วางไว้ ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ที่มีอำนาจล้นฟ้า เพราะไม่ว่าใครเมื่อเข้ามาเป็นกษัตริย์ ก็ต้องสวบบทบาทในความเป็นกษัตริย์ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ จึงไม่สามารถทำทุกอย่างได้อย่างอิสระตามต้องการ ทุกการกระทำของกษัตริย์ก็คือการกระทำของรัฐ ซึ่งนั่นทำให้กษัตริย์แบกรับหน้าที่และเป็น ทาส ในตำแหน่งของตัวเอง (เหมือนที่ Laertes บอกกับ Ophelia ไว้ใน องก์ 1 ฉาก 3 หน้า 54-55) บทบาทที่มนุษย์ต้องตกเป็นทาสยังซับซ้อนมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน เมื่อ Claudius ผู้เป็นอาของ Hamlet แต่งงานกับ Gertrude ผู้เป็นแม่ Hamlet จึงเรียก Claudius อย่าประชดประชันว่า อาพ่อ และเรียก Gertrude ว่า อาแม่ (องก์ 2 ฉาก 2 หน้า123) การใส่ฉากสนทนาระหว่าง Hamlet กับคนขุดสุสานในเนื้อเรื่อง (องก์ 5 ฉาก 1) อาจดูไม่จำเป็นกับเนื้อเรื่องหลัก แต่แท้จริงแล้วนี่อาจเป็นสารสำคัญที่ Shakespeare ต้องการเน้นย้ำในเรื่องปรัชญาว่าด้วยชีวิตมนุษย์และความตาย และมันยังก็ยังคาบเกี่ยวถึงประเด็นที่ว่าด้วย การสวมบทบาทของมนุษย์ในสังคม ที่จะหลุดพ้นได้ก็ต่อเมื่อตายไปแล้วเท่านั้น Yorick ตลกหลวงในวังที่เคยสร้างเสียงหัวเราะ บัดนี้กลายเป็นแค่ฝุ่นผงในหลุมศพ จนชวนหดหู่มากกว่าน่าขบขัน หรือแม้แต่มหาราชที่ยิ่งใหญ่ตายแล้วก็กลายเป็นฝุ่นผงในหลุมศพไม่ต่างกัน การใช้ชีวิตของมนุษย์ต้องสวมบทบาทที่ตนได้รับ (ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่เลือกเองหรือไม่ก็ตาม) ราวกับวิญญาณบริสุทธิ์ต้องถูกริดรอนอิสระ กลายเป็นทาสของบทบาทที่มนุษย์สร้างขึ้น โลกจึงเปรียบเหมือนโรงละคร (หรือคุก) ที่ทุกคนต้องแสดงบทบาทไปจวบจนวาระสุดท้าย มีประโยคหนึ่งที่แม้จะไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้โดยตรงแต่ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ Hamlet ที่แสร้งบ้า พูดจาเราะร้ายใส่ Ophelia คนรักของเขาว่า พระเจ้าประทานใบหน้าให้เจ้าหนึ่ง, แต่เจ้ากลับสร้างอีกหนึ่งขึ้นมาซ้อน (องก์ 3 ฉาก 1 หน้า 151) อันที่จริง Hamlet ต้องการเสียดสีพวกผู้หญิงที่ชอบแต่หน้าจนบดบังความงามบริสุทธ์ แต่มันกลับเสียดสีตัว Hamlet เอง ที่ต้องแสร้งปิดบังความรู้สึกของตัวเองเพื่อแผนการแก้แค้น และในประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น มันพูดถึงการที่มนุษย์ต้องแสร้งเล่นไปตามบทบาทที่ตัวเองได้รับ ทั้งที่ขัดกับความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง (ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง หาใช่สิ่งที่พระเจ้าหรือธรรมชาติได้กำหนดไว้) Hamlet จึงเป็นเหมือนการสดุดี การแสดง ของ Shakespeare ในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ (และเครื่องทรมาน) ของมนุษยชาติ การแสดงไม่ใช่แค่มหรสพความบันเทิง หากแต่คือภาพสะท้อนชีวิต ซึ่งเป็นได้ทั้ง - เครื่องมือสะท้อนความจริง (แบบที่ Hamlet ใช้การแสดงละครพิสูจน์ความผิดของ Claudius) - เครื่องมือปกปิดความจริง (แบบที่ Hamlet แสดงเป็นคนบ้าคลั่งปกปิดแผนการแก้แค้น) และอันที่จริงแล้วการแสดง (หรืออีกความหมายหนึ่งคือ เสแสร้ง) ก็คือสิ่งที่มนุษย์ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเมื่อต้องสวมบทบาททางสังคมที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ Hamlet ยังสามารถมองผ่านด้วยแว่นสายตาอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปมปิตุฆาต หากมองผ่านแว่นจิตวิเคราะห์; อำนาจชายเป็นใหญ่ หากมองผ่านแว่นสตรีนิยม; สัจธรรมของชีวิตและความตาย หากมองผ่านแว่นปรัชญา และอื่นๆอีกมากมาย ในแง่ความบันเทิง Hamlet ยังมีเนื้อเรื่องที่เข้มข้นชวนติดตาม และโศกนาฏกรรมชวนหดหู่ในตอนจบก็กลายเป็นความตรึงใจได้เป็นอย่างดี นี่คือหนึ่งในวรรณกรรมยอดเยี่ยมของโลก สมกับที่ได้รับการกล่าวขานมายาวนานหลายร้อยปี
Create Date : 03 ธันวาคม 2565
Last Update : 3 ธันวาคม 2565 23:48:48 น.
0 comments
Counter : 853 Pageviews.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [? ]
นวกานต์ ราชานาค Navagan Rachanark สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ
เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม Time 09:00 Date 31/01/2010
by Histats.com
ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog
ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ
ขอบคุณครับ