๓ ความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลิดเพลินใจในอารมณ์ต่างต่าง
สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างต่างเพียงสักว่าสักว่า ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างต่าง ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจงมองโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิคือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องประสบไม่มากก็น้อย ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง? ภิกษุทั้งหลาย ความเกิดเป็นความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นความทุกข์ ความแห้งใจหรือความโศก ความร่ำไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรมิได้ดังใจหมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุป การยึดมั่นในขันธ์ห้าด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเอง เป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวว่าความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรน ซึ่งมีลักษณะเป็นสามคือ ดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เรียก กามตัณหา อย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียก ภวตัณหา อย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นแล้ว เรียก วิภวตัณหา อย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งทุกข์ขั้นมูลฐาน
ภิกษุทั้งหลาย การสลัดทิ้งโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่างต่าง ดับตัณหา คลายตัณหา โดยสิ้นเชิงนั่นแล เราเรียกว่า นิโรธ คือความดับทุกข์ได้

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2551 |
|
2 comments |
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2551 13:23:01 น. |
Counter : 1047 Pageviews. |
|
 |
|
|
| |
โดย: ณธีร์ 11 กุมภาพันธ์ 2551 9:03:18 น. |
|
|
|
|
|
|
|