@@@///--มุ่งมั่นต่อไปก็เพื่อชีวิต--///@@@
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
16 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
จดหมายจากฉันถึงเธอ ฉบับ 2

กรุงเทพ
17 สิงหาคม 2550
ถึงเธอผู้เป็นปิยมิตรของฉัน
จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งฉันเขียนถึงเธอขณะที่เธอปฏิบัติงานภาคสนาม เมื่อคืนฟังข่าวโทรทัศน์ และวันนี้ก็ดูข่าวปัญหาภูมิอากาศ ส่งผลต่อสภาพภูมิประเทศในหลายพื้นที่ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้เธอระมัดระวังตัว ระวังสุขภาพให้มากและถ้ามีโอกาส จะช่วยเหลือชุมชนได้ก็อย่าละเว้นเพราะนั้นเป็นสิ่งที่สมควรเลือกอย่างยิ่ง ขอเริ่มจดหมายในรูปแบบการบันทึกประจำวันฉบับที่ 2 เลยก็แล้วกันนะจ๊ะ

16 สิงหาคม 2550 -วันนี้ฉันออกจากบ้านเพื่อไปทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตราชเทวี ได้บัตรคิวที่ 6 การทำบัตรฯ เดี๋ยวนี้สะดวกรวดเร็วดี รูปที่ถ่ายออกมาก็ดูจะเข้าท่ากว่าครั้งก่อนๆ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก็เสร็จ ฉันย้อนกลับไปบ้านซื้อข้าวให้คุณลูกสาว ออกจากบ้านอีกครั้งเดินไปขึ้นรถที่อนุสาวรีย์รอรถอยู่นาน ท้ายที่สุดได้รถปรับอากาศสาย 59 ลงสนามหลวงสวนกับคณะนักเรียนชั้นประถมฯ น่าจะสักป.3-ป.4 จากโรงเรียนจิตรลดา ที่มาพิพิธภัณฑ์ ดูเด็กๆ แล้วก็สบายใจดี ขึ้นส.บอ. พอดีพี่ไบ๋และลิง(มานา) รุ่น 20 กำลังจะไปรับประทานอาหารกลางวันเลยติดตามไปด้วย รับประทานอาหารคาวที่ร้านศรี ต่อด้วยขนมหวานซอยกลาง ทั้งคาว-หวานพี่ไบ๋เป็นเจ้ามือ ฉันเดินไปส่งมานาขึ้นรถ 507 ที่สนามหลวง รออยู่นาน ราว 13 น. รถจึงมา เขากลับไปทำงาน มานาจบศิลปศาสตร์จากธรรมศาสตร์ ตอนเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร ปฏิบัติงานที่สกลนคร ในโครงการปุ๋ย เขียนสารนิพนธ์เรื่องการมีส่วนร่วมของสมาชิกศูนย์สาธิตการตลาด หลังจากจบก็ทำงานอยู่ที่ มพด. ปัจจุบันทำทัวร์ ใครสนใจก็ปรึกษาได้เพราะจัดได้ว่า มีความชำนาญมากคนหนึ่ง
ช่วงบ่ายเรียง sheet จดหมายที่จะส่งให้เธอ เมื่อได้รับที่อยู่จดหมายก็คงจะได้ฤกษ์เดินทาง ประมาณ 16 น. ออกจากธรรมศาสตร์ไปพร้อมกับ บอ.รุ่น30 มีนัดรับประทานอาหารเย็น แถวๆ ซอยรางน้ำ ฝนตกลงมาทำให้ทุลักทุเลพอควร นัดเจอเพื่อนรุ่น 30 อีกคนหนึ่งที่คิวรถ 72 สี่เสาเทเวศน์ ราวๆ 17 น. นั่งรถ 72 ไปลงแถวศรีอยุธยาเดินตัดซอยเล็กไปที่ร้านอาหาร สั่งอาหารมากินแบบเบาๆ รอเพื่อน ท้ายที่สุดก็มาพร้อมกันนับรวมได้ 8 คน นั่งพูดคุยถามถึงคนนั้นคนนี้ เริ่มจากเสียงค่อยๆ แล้วก็ดังขึ้นทีละนิดละหน่อยประมาณ 21.15 น. สมควรแก่เวลาที่จะต้องแยกจากกันเพราะแต่ละคนบ้านอยู่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยฯ มาก ด้วยน้ำใจไมตรีจิตที่มีช่วยให้ได้มาพบคุยกัน และหวังใจว่า ในวัน 16 สิงหาคม ปีหน้าเราจะได้พบกันอีก ฉันเดินไปส่งพวกเขาที่อนุสาวรีย์เรียบร้อยจึงเดินเข้าบ้าน ระหว่างที่กินข้าวพูดคุยอยู่ก็มีเพื่อนอีก 2 คนโทรศัพท์มาร่วม jam ด้วย รวมความแล้วเพื่อน บอ.รุ่น 30 ที่ฉันได้คุยด้วย 10 คน ตามลำดับ ดังนี้ คือ ไก่ ตูน ฝอง เจี๊ยบ เปิ้ล แม็กซ์ ตุ่น หทัยรัตน์ ติ๊ดตี่ และเอก ข้อคิดที่ได้ในวันนี้ มิตรภาพและไมตรีจิต เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่จางคลาย ยิ่งถ้ารู้จักรักษาก็เป็นกำลังใจเป็นความสุข อยากจะบอกเธอว่าฉันขอบใจทุกคนนะ ที่สำคัญเพื่อนคือ...ผู้ที่ไม่ทอดทิ้งกันในยามเหน็บหนาว และก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน


Create Date : 16 กันยายน 2550
Last Update : 16 กันยายน 2550 22:44:58 น. 12 comments
Counter : 695 Pageviews.

 
17 สิงหาคม 2550 - เมื่อวานฉันได้เขียนถึงเพื่อนพ้องรุ่นที่ 30 ที่หาโอกาสมาพบกันและไม่ลืมที่จะชวนให้ฉันไปร่วมวงสนทนาด้วย วันนี้จึงอยากจะแนะนำพวกเขาให้เธอรู้จักพอสังเขป กลุ่มแรก เป็นพวกที่ปฏิบัติงานในโครงการปุ๋ย (ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว) ได้แก่ เรวดี(ไก่) ปฏิบัติงานที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เขียนสารนิพนธ์ เรื่องอาหารท้องถิ่นกรณีบ้านกล้วย เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ที่มหิดล ปัจจุบันเรียน ป.โท สังคมวิทยาที่ธรรมศาสตร์ ศิริพร(เปิ้ล) ปฏิบัติงานที่เดียวกับไก่แต่คนละหมู่บ้าน เขียนสารนิพนธ์ เรื่อง การส่งเสริมถั่วแขกพืชไร่ใช้น้ำน้อย จบ ม.นเรศวร หลังจากเรียน บอ. เป็นนักวิจัยผู้ช่วยและจบ ป.โท ชนบทศึกษารุ่นที่ 1 ปัจจุบันทำอะไรอยู่ลืมถาม แต่สถานภาพ โสด (สนิทศิษย์ส่ายหน้า) วีระพงศ์ (เอก) ปฏิบัติงานที่อำเภอบ้านโคก อุตรดิตถ์ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องการไปทำงานต่างประเทศ จบ ป.โท ศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ ม.สงขลา ภูมิลำเนาเป็นคนกระบี่ เดิมเป็นคนรักการกินดื่ม หลังบวชแล้ววิถีชีวิตดีขึ้น (มาก) ปะลาลี (เจี๊ยบ) ปฏิบัติงานที่อำเภอทองเสงขัน อุตรดิตถ์ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องการละเล่นพื้นบ้านของเด็ก ปัจจุบันประกอบอาชีพอิสระเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของเครือข่าย บอ.พวกเธอน่าจะจำได้เพราะงานส่ง บอ.39 เขาก็มาร่วมงานด้วย ศิรินทร์ยา(ตูน) ปฏิบัติงานที่อำเภอเพ็ญ อุดรธานี เขียนสารนิพนธ์ เรื่องประเพณีบุญบั้งไฟที่บ้านธาตุ ศึกษา ป.โท ที่ มศว.ประสานมิตร ปัจจุบันมีลูกสาวอยู่ในท้อง 5 เดือน ตั้งใจจะให้ชื่อ “มารน้อย” จะได้น่ารักเหมือนแม่ สมพล (ติ๊ดตี่) จบจากเกษตรสาขาเศรษฐศาสตร์ ปฏิบัติงานที่อำเภอนายูง อุดรธานี ทำงานองค์กรเอกชน มีภรรยาเป็นเพื่อนร่วมรุ่น และมีทายาทเป็นชาย บัณฑิต (ตุ่น) จบจากเชียงใหม่ ปฏิบัติงานที่อำเภอเมือง มุกดาหาร เขียนสารนิพนธ์ เรื่อง ควาย ชีวิต และกิจกรรมเรียนรู้จากหมู่บ้าน ปัจจุบันทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นคนพูดน้อยแต่แฝงปรัชญาชีวิต ชาญณรงค์ (ฝอง) ปฏิบัติงานที่อำเภอสมเด็จ กาฬสินธุ์ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องการเพาะเห็ดฟางด้วยเปลือกมันสำปะหลัง จบมาจากแม่โจ้ ปัจจุบันประกอบอาชีพอิสระ ภูมิลำเนาอยู่ระยอง ใจคอกว้างขวาง ใครอยากกินผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ก็ไปเยี่ยมเยียนได้ ผ่านการบวชเรียนและเกณฑ์ทหาร(เรือ)แล้ว คนที่สองเพราะมาคนเดียว จึงไม่อาจใช้คำว่ากลุ่มได้ จากโครงการโภชนาการ มาลี (แม็กซ์) ปฏิบัติงานที่กิ่งอำเภอดอนจาน กาฬสินธุ์ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องพฤติกรรมการดูแลตนเองของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ในหมู่บ้าน ปัจจุบันทำงานด้านหนังสือ เป็นคนมี creative thinking ดี(คนหนึ่ง) คนที่สามโครงการ กศน. หทัยรัตน์ ปฏิบัติงานที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เขียนสารนิพนธ์เรื่อง อาหารป่าวิถีการบริโภคที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จบปริญญาโท และทำงานที่มหิดล บอ.รุ่น30นี้มีทั้งหมด 29 คน เป็นรุ่นสุดท้ายที่ฉันได้ดูแลเมื่ออยู่ที่ศูนย์ฯ และสอนวิชาเทคนิคการทำงานฯ ให้เขาข้อมูลที่เขียนบอกมา อาจจะช่วยให้เป็นจุดเริ่มต้น ในการคบหากันต่อๆ ไป
วันนี้...มีเรื่องที่น่าดีใจสำหรับฉันเรื่องหนึ่ง เพราะได้รับจดหมายจากเพื่อนของเธอซึ่งปฏิบัติงานที่น่าน เป็นจดหมายจากสนามฉบับแรก ลงวันที่ 10 สิงหาคม ใช้เวลาเกือบอาทิตย์กว่าจะมาถึงท่าพระจันทร์ รายละเอียดฉันจะเขียนเล่าให้เธออ่านในคอลัมน์ บางเรื่อราวจากจดหมายของเธอ แต่ที่อยากจะสรุปสาระสั้นๆ ให้อ่านว่า “ในบรรยากาศฝนตกพรำๆ ใจก็คิดถึงเพื่อนๆ อดที่จะห่วงและอยากไปหา แต่ด้วยภาระ ความรับผิดชอบจึงต้องหักห้ามใจไว้ก่อน” นี่ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บไว้ในความทรงจำของแต่ละคน (ไม่รู้ลืม) ขอจบ Diary Note วันนี้ไว้แค่นี้นะจ๊ะ


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:46:27 น.  

 
18 สิงหาคม 2550- เมื่อคืนฉันพักค้างที่เอกมัย แม่ไม่ยอมให้กลับ พูดถึงเรื่องแม่ นึกถึง บทสนทนากับ บอ.30 บางคนเมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา ฉันบอกให้เขาหาโอกาสแสดงออกถึงความรักที่มีต่อท่าน จะเป็นสิ่งดี และเราจะรู้สึกรักแม่(พ่อ)ได้มากขึ้น เขาทำหน้างงๆ เหมือนมีคำถามว่า ทำไมต้องดูแลเพราะแม่ก็ยังดูแข็งแรงดีและดูแลเขาได้อยู่ เขาคิดว่ายังไม่ถึงเวลาฉันเน้นว่าอย่าประมาท ถ้ามีโอกาสจงทำเสีย แม้ท่านจะไม่แสดงออกแต่ถ้าเราทำให้ท่าน ลึกลงไปในจิตใจของท่านจะดีใจที่ลูกๆ เอาใจใส่ท่าน เมื่อวันที่ 17 ในเรื่องเดียวกันฉันได้คุยกับ บอ.รุ่น10 เขาเล่าถึงวันแม่ที่ผ่านมา เขาได้เห็นแววตาและรอยยิ้มของแม่ที่ดูลูกๆ ที่มาพร้อมกันในวันแม่ เขาบอกฉันว่า เขาตัดสินใจไม่ผิดที่ได้ไปหาแม่ในวันนั้น สำหรับตัวฉัน ฉันสัมผัสและเข้าใจคำว่า “กตัญญู” ได้ชัดเจนขึ้นกว่าเมื่อสมัยเป็นเด็กๆ เรื่องต่อไปที่เล่าให้ทราบคือ เรื่องสุขภาพ ฉันมีนัดกับหมอที่ศิริราช เมื่อกลับถึงบ้านตอนเช้าก็ต้องรีบไปโรงพยาบาลไปถึงศิริราช 7 โมง แต่ด้วยการขาดสติลืมใบสั่งเจาะเลือด วันนั้นเลยตรวจโดยไม่มีผลเลือด นั่งรอเวลาตรวจด้วยการข้ามไปเขียนงานที่สำนักฯ แล้วข้ามกลับไปโรงพยาบาลเวลา 12.30 น. หมอตรวจเสร็จเร็วแต่เสียเวลารอยาประมาณ 2 ชั่วโมง กว่าจะเสร็จก็เกือบ 16 นาฬิกา นี่ก็เป็นความจริงของชีวิตที่ปรากฏ ความเจ็บไข้มีอยู่ในทุกคนต่างกันตรงที่ว่า จะมาเยี่ยมเยียนเราเมื่อไรเท่านั้น ถ้าไม่ได้พิจารณาประมาทอยู่ก็จะมองข้ามไป ก่อนกลับบ้านข้ามไปที่สำนักฯ อีกครั้งได้ดูข้อมูลจาก web มีเรื่องของพวกเราน่าสนใจดีมีรูปภาพสถานที่ปฏิบัติงานและคติประจำตัว เสียดายว่ามีไม่ครบทุกคนและรูปบางรูปก็ไม่ชัด ฉันคิดว่าถ้าจัดทำให้ดีก็เป็นพื้นฐานในการทำหนังสือรุ่นของพวกเธอได้เลย ฉันนั่งรถ 201 กลับบ้านพร้อมเพื่อนที่ทำงาน แต่ไปติดฝนแถวอนุสาวรีย์ เลยแว๊บเข้าไปดูหนังสือที่ร้านดอกหญ้า ตามด้วยการนั่งดื่มกาแฟและโดนัท 2 ชิ้น สุนทรียภาพ ความสุขเล็กๆ ของชีวิตหาได้ไม่ยาก ไม่หรูหรา แต่ก็สุขใจ เป็นข้อคิดฝากถึงเธอในวันนี้นะจ๊ะ


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:47:19 น.  

 
22 สิงหาคม 2550- ฉันว่างเว้นจากการเขียน Diary Note ถึงเธอมาแล้วรวม 3 วัน วันนี้ขณะนี้เวลา 00.25 น. เป็นเวลาเช้าของวันที่ 22 หลังจากได้นอนพักอย่างเต็มที่ 19-23 น. ความง่วงความอ่อนเพลียหมดไปแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่าจะเขียนความถึงเธอ วันที่19 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองบนวัฒนธรรมการเมืองไทย มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนระดับฐานรากในหมู่บ้านหรือเปล่า ถ้าเป็นสมัยที่ฉันเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร คงต้องพึ่งข่าวจากวิทยุหรือหนังสือพิมพ์แต่ปัจจุบัน เมืองหลวง-เมือง-หมู่บ้าน ถูกทำให้แคบลง สื่อโทรทัศน์เข้าถึงทุกบ้าน จึงมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปพร้อมๆ กัน ฉันไปใช้สิทธิแสดงประชามติในตอนเช้า และติดตามข่าว (แกมบังคับ) จากโทรทัศน์ เป็นระยะๆ ผลที่ออกมาเธอคงทราบดีแล้ว และมุมมองของชาวบ้านเป็นอย่างไร ถ้าเธอสนใจหาคำตอบ เธอก็จะได้ความรู้การเมืองท้องถิ่นไทย ที่ up to date ที่สุด และถ้าคน 33 คนสนใจเหมือนกัน เมื่อกลับมาเธอก็จะได้ความรู้อีกชุดในระดับกลุ่มไม่มีจากที่อื่น แต่เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตนเองของ บอ.รุ่น 39 เขียนมาให้คิด (เล่นๆ) วันที่ 20 เป็นวันหยุดชดเชยก็เลยใช้เวลาทำความสะอาดบ้านและไปอยู่เป็นเพื่อนแม่และค้างคืน เพราะแม่มีอาการไอตลอดคืน พอรุ่งเช้าก็ต้องกลับบ้าน เพราะวันที่ 21 มีการสัมมนาหน่วยงาน ฉันไปทันได้ฟังการนำเสนอของกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการพอดี เที่ยงทนต่อสภาพน้ำตาลหมดไม่ไหวจึงปลีกตัวไปเติมพลังงานในขณะที่เขายังคงสัมมนาต่อ ช่วงบ่ายฉันช่วยเขาพับกระดาษ เนื่องในงานผ้าป่าการศึกษาซึ่งจะจัดในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึง สำหรับวันที่ 22-24 ส.ค. สำนักฯ ปิดทำการ บุคลากรส่วนใหญ่ไปดูงานที่เวียดนาม ไม่แน่ใจว่าจดหมายของพวกเธอจะมาค้างอยู่ที่ ส.บอ.หรือเปล่า
มาถึงช่วงนี้ฉันได้รับจดหมาย 1 ฉบับและตั้งใจจะเขียนตอบเขาในวันนี้ ส่วนจดหมายจากฉันถึงเธอฉบับแรกคงจะค้างส่งเธอไปจนถึงวันที่ 27 เพราะขาด address ของเธอ และส.บอ.ปิด


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:47:52 น.  

 
23 สิงหาคม 2550- วันนี้ออกจากเอกมัยนั่งรถสาย 23 มาต่อรถ สาย 38 ลงป้ายก่อนถึงอนุสาวรีย์ 1 ป้าย เวลาประมาณ 05.25 น. เห็นว่าอากาศดีเลยถือโอกาสเดินออกกำลังต่อจนถึง 6.15 น. ที่สวนสันติภาพเป็นสวนสาธารณะขนาดไม่ใหญ่มากนัก สร้างสมัยที่ พล.ต.จำลอง เป็นผู้ว่า กทม. ชาวบ้านในละแวกนี้ได้ใช้ประโยชน์มาก ตอนเช้าๆ จะมีกลุ่มคนมาวิ่งเดินออกกำลังกาย ตอนกลางวัน เด็กๆ นักเรียนก็มาใช้เป็นที่พักผ่อนตอนเย็นราวๆ 17-18 น.ก็มีการรำมวยจีน พอ 18-19 น.ก็เป็นการเต้นแอโรบิค บริเวณด้านหน้าก็มีน้ำพุดนตรี เรียกว่าถ้ามาใช้ประโยชน์ก็จะได้ทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพใจ และการสังคม เป็นสุนทรียภาพของชีวิตที่หาได้โดยไม่เสียสตางค์ ฉันชอบไปใช้บริการแต่ในรอบ 2-3 ปีนี้ว่างเว้นไป บรรยากาศยามเช้าอากาศบริสุทธิ์เดินไปพิจารณาเรื่องต่างๆ ไปด้วย สมองปลอดโปร่งก็คิดอะไรดีๆ ได้ เห็นเด็กป่วยที่แม่พานั่งรถเข็นมาเล่นบริเวณมุมเครื่องเล่นของเด็ก มีชีวิตชีวาดี เธออยู่ในหมู่บ้านอาจจะไม่มีสวนสาธารณะ แต่น่าจะมีสวนธรรมชาติก็อย่าลืมแสวงหาความสุข จะเป็นการพาเด็กๆ เดินเล่น หรือขี่รถจักรยานเที่ยวจะได้ออกกำลังผ่อนคลายและถ้าช่างสังเกตสักนิดก็เป็นการศึกษาชุมชนไปในตัวด้วย สมัยที่ฉันเป็นบัณฑิตอาสาสมัครฉันก็ใช้วิธีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าพื้นที่ จนกระทั่งช่วงท้ายๆ หาข้อมูลเขียนสารนิพนธ์ ได้ความอย่างไรก็บันทึกไว้ใน Diary ของเธอ หรือจะเขียนเล่ามาให้ฉันรับทราบก็แล้วแต่สะดวก
เมื่อวันก่อน (21 ส.ค.) ฝากจดหมายจากฉันถึงเธอฉบับที่ 1 ไปกับพี่เล็ก เพื่อให้หนูซิ้ม บอ.รุ่น 36 ช่วยพิมพ์ข้อความลง web กลายเป็นจดหมายจากฉันถึงเธอผ่าน web จะได้ทันสมัยกับเขาหน่อย ซึ่งน้องสาวใจดีคนนี้ก็ช่วยอนุเคราะห์ด้วยความเต็มใจ ก่อนหน้านี้ฉันก็รบกวนขอให้เขาช่วยพิมพ์เรื่องบอกเล่าเก้าสิบ งานเลี้ยงส่ง บอ.39 ออกพื้นที่ไปแล้วครั้งหนึ่ง จึงอยากจะแนะนำให้เธอได้รู้จักเขาพอสังเขป ซิ้ม ชื่อจริงว่า วารินทร์ จัดเป็นสาวสวยคนหนึ่งของรุ่น ปฏิบัติงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในโครงการองค์กรชุมชน เขียนสารนิพนธ์เรื่อการศึกษาการผลิตและการตลาดของโรงงานปุ๋ยชีวภาพปั้นเม็ด ปัจจุบันทำงานที่สถาบันเอเชีย มธ.ศูนย์รังสิต ในงานรับเพื่อนพ้องรุ่น 39 เขาก็มาร่วมงาน และวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 เขาก็มาช่วยเพื่อนๆ รุ่น 36 เตรียมบอร์ด
จดหมายและข่าวคราวของพวกเรายังนิ่งอยู่ ส่งผลให้จดหมายจากฉันถึงเธออยู่ในลักษณะการสื่อสารแบบ one way ซึ่งคงทำให้เธอเบื่อที่จะอ่านบ้าง แต่ก็ขอให้ติดตามไปเพราะด้วยใจรักจากใจเท่านั้น ที่ทำให้เกิดจดหมายรูป Diary Note นี้ขึ้น ขอมอบของฝากและข้อคิดถึงเธอในวันนี้นะจ๊ะ
“สามสิ่งที่ต้องมีอยู่ในตัวเรา คือ
ความกล้า ความสุภาพอ่อนโยน และความมีน้ำใจ
สามสิ่งที่ต้องขจัดออกไป คือ
ความเxxx้ยมโหด ความไม่จริงใจไร้สาระและความเย่อหยิ่ง
สามสิ่งที่ต้องรักษาไว้ คือ
หลักการ ที่พำนัก และบ้านเกิดเมืองนอน
สามสิ่งที่ต้องควบคุมให้ได้ คือ
อารมณ์ คำพูด และกิเลส”
(คำภีร์ชีวิตจากสู่คุณธรรมของ ม.ร.ว. วุฒิสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์)


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:48:34 น.  

 
24 สิงหาคม 2550- เมื่อวานนี้ช่วงบ่ายแวะไปส.บอ.เพื่อดูว่า จะมีจดหมายของพวกเธอเข้ามาบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าว่างเปล่า เลยเดินกลับบ้าน ก่อนหน้าแวะไปหาบอ.รุ่น38 ที่บ้านพักวัดดาวดึงส์ ฝั่งปิ่นเกล้าก็ว่างเปล่าอีก เดินจากจุดนั้นไปเรื่อยๆ ข้ามสะพานพระราม 8 บรรยากาศดีมากเงียบสงบถ้านั่งสมาธิก็น่าจะได้ผลดี วันนี้จึงเป็นวันพิเศษวันหนึ่ง คือ เดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานพระปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 ถ้าเธอมีโอกาสอยากเชิญชวนให้มาซึมซับประสบการณ์นี้ ทุกย่างก้าวมีความหมายพบพานสิ่งต่างๆ ที่แสนน่ารัก จากสะพานพระราม 8 ฉันเดินต่อไปเรื่อยๆ แวะหาอาจารย์บรรจง ซึ่งเป็นบอ.รุ่น3 และเคยเป็นอาจารย์ประจำสำนักฯ ตั้งแต่ปี 2519-2547 ก็ฟาวล์อีก เดินต่อไปขึ้นรถสาย 18 ที่ป้ายสวนสัตว์ดุสิต เป็นวันที่เดินออกกำลังมากที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ (24) ตื่นแต่เช้าจัดการเรื่องต่างๆ เสร็จออกจากบ้านโชคดีได้ติดรถคนที่อยู่ในซอยไปธรรมศาสตร์ แวะกินข้าวที่โรงอาหาร แล้วไปหาหมอที่ห้องแพทย์ หมอให้ยาลดอาการปวดและให้ไปเอาประวัติคนไข้ที่ศิริราชมาเพื่อที่ท่านจะได้สั่งให้ไปทำกายภาพเพื่อที่จะหายเร็วขึ้น ความตั้งใจหลักๆ หรือแผนการของวันนี้ คือ (1) ไปหาหมอ (2) ฟังการสัมมนาทางวิชาการและช่วงเย็นไปหาแม่เป็นอันดับ (3)
ขณะนี้เป็นช่วงฟังปาฐกถานำ เรื่อง อุดมศึกษากับการสร้างปัญญาและวิญญาณ โดย รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้แนะนำวิทยากรพูดเกริ่นว่าการศึกษาที่ผ่านมาเป็นการฆาตกรรมอำพรางทำให้คนที่มีชีวิตชีวา เป็นคนที่คล้ายหุ่นยนต์มากขึ้นทุกที วิทยากรบรรยายจากประสบการณ์ตรง ชี้ให้เห็นการศึกษาที่ผ่านมาได้ทำลายเจตจำนงค์ทางการแสวงหา และพูดถึงพัฒนาการของเด็ก ช่วงที่รับรู้ความดี ช่วงรับรู้ด้วยการทดลอง ช่วงที่แสวงหาความจริง(15-21) ช่วงนี้เป็นช่วงที่พวกเธอผ่านมามาดๆ วิทยากรพูดน่าสนใจว่าเขาชอบที่จะแก้ปัญหาใหญ่ๆ แต่อุปสรรคคือครูไม่พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้เขาทำ
ช่วงที่สี่ คือช่วงแห่งการแสวงหาอิสรภาพทางปัญญา (22-up.) ข้อน่าสนใจคนรุ่นใหม่มีข้อจำกัด ที่จะใช้ “ภาษา” อธิบายเปรียบเทียบเรื่องราวแต่ขอให้เชื่อว่าสมองเราพัฒนาได้เสมอ เพียงแต่ไม่จำกัดกับการคิด แต่สัมผัสด้วยความรู้สึกและจิตใจ ช่วงที่สองเป็นการพูดเรื่อง “Best Practice ของกระบวนการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” วิทยากรเริ่มบรรยาย ในหัวข้อธรรมชาติของมนุษย์กับการจัดการศึกษา สมดุลของการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาในแต่ละระดับ วิทยากรคนที่สองพูดจากประสบการณ์จัดโรงเรียนกาญจนาภิเษก สิ่งสำคัญ คือ ทำให้รู้ว่า “ตัวเองให้คุณค่ากับอะไร” อย่าละเลย ชีวิต จิตใจ ความเป็นมนุษย์ ไปกับตัว ชีวิตที่ระบบการศึกษาและสังคมกำหนดให้เป็น ข้อความขีดเส้นใต้นี้เป็นความเห็นของฉัน จงภาคภูมิใจที่เลือกมาบนเส้นทางนี้ (ส.บอ.) แล้วแสวงหาคุณค่าของตัวเอง รักษาจิตใจที่แสนงดงามของเธอไว้ให้ได้ท่ามกลางโลกที่แสนวุ่นวาย ในรอบที่สองวิทยากรคนเดิม (คนแรก) พูดถึง การเข้าใจโครงสร้างสังคมให้นิยามให้ชัดเจน เข้าใจเป้าหมายของสังคม-เป้าหมายของมนุษย์ มองการณ์ไกล และคุณสมบัติของผู้เรียน-ผู้สอนที่จะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ สุดท้ายคุณสมบัติที่จะทำให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดมีมากถ้ามีโอกาสจะเขียนเล่าให้อ่านกันต่อไป ส่วนวิทยากรคนที่สองก็ต่อยอดในประเด็นหลักสูตรที่เขียนขึ้นให้สอดคล้องกับเด็กที่ดูแล ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ได้เขียนถึงเธอในวันนี้ และขอฝากอะไรเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นบทส่งท้าย “ดวงตะวัน...หาได้ส่องแสงเพียงเพื่อต้นไม้สองสามต้นและดอกไม้สองสามดอกไม้ แต่ให้ความอบอุ่นแก่โลกเท่าเทียมกัน”... “กำลังแขน กำลังอมาตย์ กำลังสมบัติ กำลังชาติสูง สี่กำลังนี้ความรอบรู้มีกำลังดีกว่า...”


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:49:16 น.  

 
27 สิงหาคม 2550- เมื่อวานนี้ช่วงเช้าฉันจัดการเรื่องต่างๆ ของที่บ้านเรียบร้อย ราวๆ 11 น. มีโทรศัพท์มาจากรังสิต เป็นเสียงของ สิริวัฏ รุ่น 24 หรือพี่เดฟ แจ้งว่าพาพ่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลวิภาวดี พอดีฉันจะรีบออกไปธุระจึงไม่ได้คุยกัน บอ.ท่านนี้ค่อนข้างอาวุโสในรุ่น ปฏิบัติงานโครงการปุ๋ย ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เขียนสารนิพนธ์เกี่ยวกับโครงการปุ๋ย หลังจบจากบัณฑิตอาสาสมัครก็แวะเวียนมาเยี่ยมอยู่บ่อยครั้ง ช่วงหลังย้ายไปอยู่ที่สกลนครเลยห่างหายไป ใช้การติดต่อทางโทรศัพท์แทน ภูมิลำเนาเป็นคนอ่างทอง อัธยาศัยเป็นคนเรียบร้อยในงานรับเพื่อนพ้อง บางปีทำหน้าที่เป็นหมอขวัญ ถ้าเธอได้รู้จักและพูดคุยด้วยก็จะได้แง่คิดเกี่ยวกับชีวิตจากเขาไม่น้อย
ช่วงกลางวันฉันไปอยู่เป็นเพื่อนแม่ เพราะในตอนเย็นต้องไปร่วมงานมงคลสมรสของ บอ.27 ที่กองพันทหารสารวัตรที่ 11 ประมาณ 17 นาฬิกา ออกจากเอกมัยถึงงานประมาณ 18.15 น. มีพวกเรามาจองโต๊ะแล้ว 1 โต๊ะ สำหรับเจ้าบ่าวคือ กุ๊ก (โชคชัย) บอ.37 ส่วนเจ้าสาวชื่อ จริยาพร (เจี๊ยบ) ชื่อกุ๊กกับเจี๊ยบดูคล้องจองกันดี เธอคิดเหมือนฉันไหม และจากชื่อที่คล้องจองกันนี้เอง ชีวิตคู่ของเขาก็น่าจะสุขสดชื่น เพื่อนพ้อง บอ.มากันพอสมควรไม่นับรวมฉันกับพ่อเล็กนับได้ 16 คน พวกเรานั่งอยู่ในงานตั้งแต่ 18.30 น. จนถึง 21.30 น. โดยประมาณ ฝนตกลงมาอวยพรคู่บ่าว-สาวตั้งแต่เริ่มงานพวกเรากินไป คุยไป ฟังเพลงไป และดูเจ้าบ่าวเขินอายเมื่อต้อง kiss เจ้าสาว เรียกว่างานจัดได้บรรยากาศดีอาหารก็อร่อย เมื่อฝนเริ่มซาแขกก็เริ่มทยอยกันกลับ ฉันติดรถคุณอาวุธลงที่เซนจูรี่ เดินเข้าบ้าน ขอแนะนำเพื่อนพ้องให้เธอได้รู้จักซึ่งดูจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใน Diary Note ของฉันไปแล้ว สามชาย(พี่หนึ่ง)รุ่น 24 ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่ธรรมศาสตร์ สนใจใฝ่หาความรู้และสนใจการเมือง ช่วงเป็นบัณฑิตอาสาสมัครปฏิบัติงานที่อำเภอทองแสนขัน อุตรดิตถ์ ในโครงการ สคช.กระทรวงศึกษาธิการ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องสภาพชีวิตกลุ่มประชากรยากจน; อาวุธและจิรศักดิ์ (รุ่น 31) รายแรกฉันเขียนแนะนำให้เธอรู้จักในจดหมายฉบับที่ 1 แล้ว ส่วนรายที่สอง ชื่อเล่นก๊อต ปฏิบัติงานโครงการโภชนาการที่อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เขียนสารนิพนธ์ เรื่องแบบแผนการใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน มีความรู้เรื่องเครื่องเสียงและคอมพิวเตอร์ระดับดีมากคนหนึ่ง; ยิ้ม,โบ, มาและอุไร (รุ่น 32) รายแรกชื่อจริง เกียรติศักดิ์ ทำงานในโครงการมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่จังหวัดเชียงราย เขียนงานเรื่องการแพทย์พื้นบ้าน กรณีอาข่าบ้านอาแบ ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ คราวนี้เขาไม่ได้มาคนเดียวพาหวานใจมาด้วย ชื่อเจี๊ยบเหมือนเจ้าสาว รายที่สอง คมลักษณ์ คงคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ปฏิบัติงานโครงการโภชนาการ ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ งานเขียนชื่อ การจัดทำคู่มือบทสนทนาและแถบบันทึกเสียงภาษากะเหรี่ยงสะกอ ปัจจุบันศึกษา ป.โทที่ศิลปากร รายที่สาม สมาภรณ์ ปฏิบัติงานโครงการ อบต.ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ งานเขียนมลาบรีกับการดำรงชีวิตหลังหยุดการเร่ร่อน หลังจบจาก ส.บอ.เป็นนักวิจัยผู้ช่วย งานหนังสือพิมพ์ครั้งล่าสุด เป็นครูสอนภาษาไทยที่เวียดนาม รายที่สี่ อุไร ทำงานโครงการโภชนาการที่เชียงใหม่ งานเขียนเรื่อง พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของแม่บ้านกะเหรี่ยงสะกอ ปัจจุบัน น่าจะทำงานองค์กรพัฒนาและกำลังศึกษาต่อ; เบ๊นซ์,มุ้ย,ฝน (รุ่น 35) สามสาวนี้เคยมาร่วมงานรับเพื่อนพ้องและปลีกตัวกลับไป ราวๆ 22 นาฬิกากว่าๆ รายแรก อัญภิกา ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชน เครติดยูเนี่ยน ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น งานเขียนเป็นเรื่อง สหกรณ์ยูเนี่ยนที่หนองปิง รายที่สอง วาสนา ปฏิบัติงานโครงการ กศน. ที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก งานเขียนเรื่อง วิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอญอ บ้านห้วยยางแสม ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท ที่ไหนสักแห่งในประเทศไทย รายที่สาม สิริพร ปฏิบัติงานโครงการ อบต. ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง งานเขียนเรื่อง การจัดการและบริหารกองทุนหมู่บ้าน; ธีระศักดิ์ (ธีร์) รุ่น 36 ดูจะเป็นคนหนึ่งที่เธอรุ่น 39 รู้จักดี งานเขียนเรื่อง โรงเรียนในฝัน ปฏิบัติงานที่จังหวัดน่าน ; แนน,กร,ธนิต,ตี้และต่วน (รุ่น 37) กลุ่มนี้น่าจะเป็นตัวแทนรุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมของเพื่อนพ้องเกือบทุกครั้ง มี spirit ดี รายแรก อารีรัตน์ ปฏิบัติงานมูลนิธิรักษ์ไทย อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน งานเขียนเรื่องบทบาทความมั่นคงยั่งยืนขององค์กรชุมชน บ้านดอนมูล จบจากรัฐศาสตร์ มธ.ปัจจุบันทำงานอยู่คณะสังคมวิทยา มธ. เป็นนักวิชาการ รายที่สอง วงศกร ปฏิบัติงานกลุ่มออมทรัพย์แม่วงศ์/แม่เปิน ที่จังหวัดจันทบุรี งานเขียนเรื่องปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มออมทรัพย์ปุ๋ยหมักและสารชีวภาพ เป็นคนเอาใจใส่การศึกษาหลังจบ ส.บอ.แล้ว ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (วิจัย) และ ป.โท สังคมวิทยาที่ธรรมศาสตร์ รายที่สาม ธนิต ปฏิบัติงานบอ. (อบต.) ที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา งานเขียนเรื่องบททดลองเสนอหลักสูตรท้องถิ่นมอแกนกรณีบ้านลำปี จบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ปัจจุบันต้องขออภัยพบกันหลายครั้งไม่ได้ถามที่ทำงาน รายที่สี่ กษิษิ์เดช ปฏิบัติงานที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โครงการองค์กรชุมชน งานเขียนเรื่อง “คาถาสามัญประจำบ้าน” ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ รายที่ห้า ต่วนรุสดี ปฏิบัติงานที่กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โครงการสหทัยมูลนิธิ งานเขียนเรื่องการปรับตัวด้านการประกอบอาชีพของชาวไทยพลัดถิ่น คนสำคัญของงาน โชคชัย ปฏิบัติงานโครงการโภชนาการ จังหวัดเชียงราย งานเขียนปัญหาของชาวเขาผู้ไร้สัญชาติต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัย
สำหรับบทส่งท้ายในวันนี้ ขอฝากนิยามคำว่าเพื่อนมาให้เธอได้คิดพิจารณาจะเห็นคล้อยตามหรือแตกต่างก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น “เพื่อนคือผู้ที่ไม่ได้สำคัญตรงรูปร่างหน้าตา...คือ ผู้ที่ติดตามกันไปทุกหนทุกแห่ง และคือ ผู้ที่นอนเบียดเสียดกันได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด...” และฝากข้อคิดเกี่ยวกับการสมรสให้คู่บ่าวสาวหรือใครที่กำลังคิดจะสมรส ด้วยสุภาษิตพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ในหนังสือเรื่อง วิลัยเลือกคู่ หน้า 75 ความว่า “ไม่มีอะไรน่าปรารถนา ยิ่งไปกว่าการอยู่เป็นคู่ผัวตัวเมียกัน โดยสบง ปรองดอง และถูกอัธยาศัยกัน ไม่ใช่ลุ่มหลงกันอย่างบ้า” เอาล่ะคราวนี้จบจริงๆ สักที จะไปนั่งรอจดหมายจากเธออีกวัน


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:50:02 น.  

 
28 สิงหาคม 2550 – เมื่อวานนี้ในช่วงบ่าย ฉันได้ดู web ของสำนักฯ จดหมายจากฉันถึงเธอที่ได้รับความอนุเคราะห์จากซิ้มปรากฏแก่สายตาเพื่อนพ้อง ช่วงเช้าจึงโทรศัพท์ไปขอบใจคนพิมพ์อีกครั้ง เขาสร้างสรรค์งานได้ดีแทนการพิมพ์ธรรมดาก็เล่นสีเริ่มจากอักษรตัวโตอ่านง่ายในช่วงแรก พอผู้อ่านเริ่มคุ้นก็ลดขนาดตัวอักษรลง น่าสนใจดีในความเห็นของฉัน แม้จะมีเพียงไม่กี่รายก็ถือเป็นก้าวแรกและน่าจะมีก้าวต่อๆ ไป หลังจากดู web ก็ได้รับจดหมายจากบอ.39 รวม 2 ฉบับ เป็นของภาคเหนือและภาคใต้อย่างละฉบับ เล่าเรื่องการเข้าพื้นที่ การปรับตัว ฉันตอบจดหมายได้ 1 ฉบับก็พอดีได้เวลาเลิกงาน ฝนตั้งเค้ามาต้องรีบเผ่นที่หมายเอกมัย ฟ้ามืดแต่เม็ดฝนยังเล่นตัวไม่ยอมตก แต่ที่สำคัญรถติดเสียแล้ว ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เล่นเอาเหนื่อยและหัวเสีย นอนค้างเป็นเพื่อนแม่ พอรุ่งเช้าเวลา 05.30 น.ก็เดินทางกลับบ้าน ฝนตกไม่เท่ากันจึงนับเป็นโชค น้ำที่คิดว่าจะท่วมไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็น เผลอนอนพักสายตาเวลาเลยไปถึง 8.30 น.และกว่าจะถึงที่ทำงานก็ราวๆ 10 โมง สอบถามข้อมูลที่อยู่ของพวกเธอจากพี่กัลยา (แอ๊ด) ฉันใช้เวลาก่อนเที่ยงเริ่มคัดลอกคาดว่าอย่างช้าวันศุกร์ก็คงจะส่งได้ จดหมายการสื่อสารแบบ 2 ทางจะได้เริ่มต้นเสียที
ช่วงเที่ยงข้ามไปศิริราช ปรากฏว่าพี่ชายไม่สบายไขมันในเส้นเลือดมากหมอให้นอนดูอาการ ช่วงเย็นข้ามไปดูอีกครั้งก็ยังคงสภาพเดิม ฉันกลับบ้านหลังจากจัดการเรื่องต่างๆ หลานสาาวโทร.มาแจ้งข่าวว่า หมออนุญาตให้กลับบ้านได้ก็โล่งใจไป สิ่งสะท้อนความจริงของชีวิต คือการเจ็บไข้ ต้องไม่ประมาทเพราะจะเกิดขึ้นกับเราเวลาใดก็ได้ ส่วนตัวฉันก็อาจจะเจอเข้าสักวันเพราะเริ่มเข้าข่ายสูงอายุ อันที่จริงไม่ค่อยอยากจะรับนักที่จะมาเหมาเรียก คนอายุ 50 ต้นๆ ว่า ผู้สูงอายุ เธอเห็นด้วยกับฉัน(บ้าง)หรือเปล่า ขณะนี้เวลา 22 น.รู้สึกเพลียขออนุญาตพักสายตา และฝากข้อคิดสั้นๆ ว่า “เราทำงานอย่าให้งานทำเรา ให้งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่อย่าให้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของงาน.../งานที่ตนทำไม่ได้อย่าพูด” คิดแล้วได้ความอย่างไร เล่ามาให้ทราบบ้างก็จะดี


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:50:50 น.  

 
29 สิงหาคม 2550- เมื่อคืนได้นอนพักเต็มที่ แต่สภาพร่างกายคงจะแย่ลง ไม่รู้สึกสดชื่นเหมือนใจคิด แต่ก็ยังดีที่ได้พักบ้าง ที่รู้สึกเหนื่อยไม่สดชื่นเพราะฝันว่าไปแข่งกีฬาวิ่งและรักบี้ เรื่องพวกนี้คงจะอยู่ในจิตใต้สำนึก เขาว่ากันว่า คนหลับสนิทจะไม่ฝัน เธอมีความรู้เรื่องนี้บ้างไหมเขียนมาบอกกันมั้งจะขอบใจยิ่ง
เมื่อถึงที่ทำงานก็เริ่มทำงานตามลำดับ ส่ง address ให้ลุงแอ๊ด (อาสาสมัครตัวจริงของฉัน) ช่วยโรเนียว และเริ่มเขียนจดหมายถึงเธอรวม 33 ฉบับ


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:51:38 น.  

 
31 สิงหาคม 2550 - แผนการณ์ที่ตั้งใจต้องปรับเปลี่ยนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ฉันไปโรงพยาบาลศิริราชติดต่อคลีนิคกระดูก ได้คิวที่ 90 รอตรวจตั้งแต่ 9.30-12.15 น. หมอตรวแล้วมีความเห็นให้ทำกายภาพ หมอนัดอีกครั้งเย็นหลังเลิกงาน ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 10 เวลาประมาณ 17 น. ฉันไปตรวจทุกอย่างดูแปลกตาเพราะเครื่องมือใช้ไฟฟ้าช่วย ไม่เหมือนสมัยที่เป็นนักศึกษา ซึ่งก็ราวๆ 20 ปี มาแล้ว อันแรกเริ่มต้น จุดที่ 1 ประคบความร้อนที่แขนด้วยคลื่นไฟฟ้า จุดที่ 2 ประคบความร้อนที่บ่า จุดที่ 3 ประคบร้อนที่ไหล่ จุดที่ 4 ประคบความร้อนที่บ่า ด้วยถุงน้ำร้อน และยืดแขนด้วยเครื่องไฟฟ้า ตามด้วยการนวดดัดแขนปวดอย่าบอกใครเลย สุดท้ายต้องประคบเย็นให้หายระบม ได้ข้อสังเกตประการหนึ่ง เมื่อเราไม่รู้อะไรต้องทำตามสั่งก็จะงงๆ ต่อไม่ติดวิตกกังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อคุ้นเคยแล้วความวิตกลดลงกล้าเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดได้มากขึ้น จึงอยากฝากเป็นข้อชวนคิดดังนี้ ในสิ่งที่เราไม่มีประสบการณ์จะทำให้เราคาดคะเนไปต่างๆ นานา มันจะเป็นอย่างไร เกิดความกลัว คิดวิตกสารพัดที่จิตจะหลอกเอา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มคุ้นเคย ก็จะค่อยๆ กล้าเผชิญกับสิ่งนั้นๆ แม้จะแฝงความกลัวไว้แต่ก็รู้ว่ามันไม่ถึงตาย การเตรียมใจจึงเป็นศิลปะที่ควรจะค้นหาให้พบในชีวิตปัจจุบันนี้
ช่วงเย็น บอ.รุ่นที่ 20 คือ อั๋นและเอก ซึ่งมาขายผ้าพื้นเมืองที่สำนักหอสมุดจัด ได้แวะขึ้นมาหา และชวนไปกินข้าวเย็น ไม่มีที่ไปเลยใช้พื้นที่เก่าโดมพระจันทร์ ตรงข้ามคณะรัฐศาสตร์ พูดคุยกันถึงหลักการของสำนักฯ การดูแลอบรมสมัยที่เขาเป็น บอ.และอีกหลายต่อหลายเรื่อง มิตรภาพ-ความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีค่ายิ่ง แม้วันเวลาจะเคลื่อนไป เราก็มีความสบายใจที่จะได้คุยกัน เพราะทั้งหมดออกมาจากใจที่ไว้วางใจต่อกัน ประมาณ 19.30 น. ฉันและเขาก็ต้องแยกกัน สำหรับ อั๋น(ศันสนีย์) ปฏิบัติงานโครงการโภชนาการที่อำเภอเขมราช อุบลราชธานี เขียนงานเรื่อง แหล่งอาหารธรรมชาติที่มีผลต่อเศรษฐกิจของชาวบ้าน ปัจจุบันมีครอบครัวแล้วและประกอบอาชีพค้าขายผ้าพื้นเมือง เอก(สุพิศ) ปฏิบัติงานโครงการ สคช.กระทรวงศึกษา ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เขียนงานเรื่อง ตะหวาก กรณีบ้านปลักช้าง มีประสบการณ์เรื่องผ้าทอเมืองน่าน ปัจจุบันก็ใช้ชีวิตอยู่ที่น่าน และนำผ้ามาขายตามงานต่างๆ คุยกันว่า ปีหน้าจะครบ 20 ปีของการเป็น บอ. ของพวกเขา อาจจะมีการจัดงานเลี้ยง พวกเธออาจจะมีโอกาสได้พบกับเขาบ้าง
จดหมายจากฉันถึงเธอ ฉ.2 ในรูปแบบ Diary Note 16-31 สิงหาคม ได้เวลาปิดต้นฉบับ คงมีโอกาสสานความตั้งใจให้จดหมายนี้เดินหน้าจนถึงเวลาที่เธอกลับจากสนาม
“จริงใจและซื่อหมายถึงความวางใจไว้ในสถานกลาง
ไม่เรียกร้อง หรือออดอ้อน แต่เป็นความเชื่อว่าสิ่งดีๆ
ที่จะเกิดก็เกิดภายใต้การนำและสรรค์สร้างของธรรมชาติ
ภายใต้การนำและสรรค์สร้าง ไม่ว่าไปทางใดย่อมเป็น
ความดีที่จะรับและรักสิ่งนั้นๆ ได้ ย่อมพอใจว่ามันบังเกิด
เพื่อเป็นทางให้ใจเราซื่อยิ่งๆ ขึ้น อย่าลวงตนและอำพราง
ข้อเท็จจริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของการกระทำได้จริง
กล่าวถึงผลการกระทำไปใย จงซื่อต่อการกระทำและผลไม่ว่าสถานใด
มุ่งเข้าแก้ไขที่ความไม่ซื่อก่อน ส่วนปัญญาที่จะรู้เห็นช่องทาง
แก้สถานการณ์อื่น เป็นเพียงพรจากใจอันซื่อ เมื่อใจเราซื่อและอิ่มใจแล้ว
จะช่วยให้คนอื่นซื่อด้วย เขายังไม่ซื่อพอก็เพราะยังไม่เห็นสัญญาณและพร
จากความซื่อจากดวงใจของเรา...
ดังนั้นพึงสังวร เมื่อต้องการจะเติบโตในความรัก
และสันติสุข จงระวังการกระทำให้ดีๆ...”
(แรมราย คืน: เขมานันทะ)

ด้วยใจรักจากใจ
จารุวิตต์ บุนนาค


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:52:34 น.  

 
คัดลอกมาจาก : //www.bbznet.com/scripts/view.php?user=gvctu&board=2&id=1074&c=1&order=numtopic

ตามไปอ่านต้นฉบับได้ที่นั่นครับ


โดย: naigod วันที่: 16 กันยายน 2550 เวลา:22:53:59 น.  

 
คิดถึงพี่จามากคัรบ ต้องขอโทษที่ไม่ได้ติดต่ดกลับ(ตอนนี้กำลังร่างจดหมายฉบับที่ 1 อยู่และกำลังจะส่งไปด้วย) สุดท้ายตอนนี้ "ผมสบายดีครับ"


โดย: fan (gv. 39) IP: 125.27.229.29 วันที่: 21 กันยายน 2550 เวลา:15:41:30 น.  

 
ขอบคุณคุณก๊อตมาก เดี๋ยวจะส่งฉบับที่สามและฉบับที่สี่ตามไปเร็ว ๆ นี้ ช่วยส่งที่อยู่มาให้ด้วย หรือถ้าให้แอดเอ็มเอสเอ็นมาที่เมลหลานของพี่ก็ได้ hydrophileaqua@hotmail.com


โดย: จารุวิตต์ IP: 58.9.159.225 วันที่: 30 กันยายน 2550 เวลา:16:21:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

naigod
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เพราะชีวิตมีความฝัน..
..จึงเป็นความงดงามของการมีชีวิต
Friends' blogs
[Add naigod's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.