รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
22 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
ภาพพุทธประวัติ ตอนที่ 4 ตรัสรู้

โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง




ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น



ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ ๆ นั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป น้องคนกลาง มีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีทิฏฐิหนักในการบูชาเพลิง

พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลสสปรังเกียจทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฏิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูล ว่า พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพระยานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุด อาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติ ต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพระยานาค เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้นก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฎฐิแห่งพระยานาคนี้ ระงับเดชพระยานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พระยานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมสบัติบันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสง แดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟให้เป็นเถ้าธุรี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพระยานาคในที่นั้น

ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์เดชพระยานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พระยานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มี อานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พระยานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิต

พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเวลาเช้า อุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ พระบรมศาสดาจึงตรัส บอกว่า ดูกรกัสสปนั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

พระบรมศาสดา เสด็จมากระทำภัตตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรีก่อน ตรัสบอกว่า ดูกรกัสสป เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม ชฎิล ได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบส แล้วก็กลับมาอยู่ทิวาวิหารยังพนัสฐานที่นั้น ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหม ก็ส่งมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหาร แล้วทูลถามอีก ตรัสตอบว่า คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิล แล้วก็กลับมาสู่สำนัก

ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล คือชนชาวอังครัฐทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล ๆ จึงดำริแต่ในราตรีว่า รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาเอนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตรได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ๆ ระลึกถึงพระองค์อยู่" จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับ ตกใจ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา

ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติ เสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหาอัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอด ระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด ? ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรี ให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น ขณะที่ทรงซัก ก็ทรงดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์ จนหายกลิ่น ๔ อสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุกขเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้นั้นลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า จะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าวสหัสสนัยก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น

เพลารุ่งเช้าอรุณขึ้น อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถามพระบรมศาสดา ตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สดุ้งตกใจ ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวาน ยังลงมากระทำการไวยาวัจจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตกิจ จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป ในป่าหิมพานต์มาแล้ว ก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้ว ตรัสว่า "ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสันฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา" อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก

ในวันต่อมา ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง

วันหนึ่ง ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่าที่เป็นทั้งนี้ เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้น ชฎิลก็ผ่าฟืนออกได้ตามประสงค์

วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงก็ไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง ๆ ก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้วก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง ๆ ก็ดับพร้อมกันถึง ๕๐๐ กอง

วันหนึ่ง ในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินสีห์ ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกราณประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราณ แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงทรงนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก.

วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาล ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไป ในทิศโดยรอบที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น

ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้น คิดว่าพระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วนถึง ประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า "กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่" แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศเลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล ๆ ก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิเป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติมาส ( เดือน ๑๒ ) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญ เดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ทรมานอุรุเวลกัสสป โดยเอนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่ อุรุเวลกัสสปว่า "กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ อรหัตทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้ง ๆ ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ! ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน" เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจง ให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท" อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชา ในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบบส บริขาร และเครื่องตกแต่งผม ชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสทบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอย น้ำมาก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวล กัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้นดุจชฎิลพวกก่อนนั้น

ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไต่ถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชล ดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้า ทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตน แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศ นา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น.




เสด็จพระนครราชคฤห์




พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม โดยสำราญ พอสมควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์ และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแก่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์ มีพระอุรุเวลากัสสปเป็นประธานเสด็จไปยังมคธรัฐ ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน ใกล้พระนครราชคฤห์



หัวข้อ




โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร
ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระขีนาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดี ในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณะโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"

พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่พอใจ น่าปรารถนา เป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อนเพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"

ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า ถวายบังคมพระบรมศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดีเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้ง หมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา ตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมาร อยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ

๑. ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

๒. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แคว้นของหม่อมฉัน

๓. ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๔. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ

๕. ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน

บัดนี้ มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบาน ในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวงจงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีย์ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร



ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆาราม




ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช พร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธา มีกิจจะพึงไป หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ" กราบทูลแล้ว ก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยาน เวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา



อุปดิสสะและโกลิตะออกบวช



พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนา พาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬารทั้งงามตระการและมั่นคง ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความ สะดวกสบายแก่สมณะเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญญเขตควรแก่การบูชา มหาชนมีรัศมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนาเป็นอันมากเป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแพร่ไป ในประชุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ ใกล้กรุงราชคฤห์ ๒ หมู่บ้าน เรียกว่า อุปติสสะคามบ้าน ๑ โกลิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสะคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อว่า อุปดิสสะ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตะคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี ดังนั้น บุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

อุปดิสสะ กับโกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิดแต่อุปดิสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปดิสสะว่า พี่ ในฐานะแก่กว่า คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน แม้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนาน บันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา ในการชมมหรศพถึงคราวสรวลเสเฮฮา ก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดใจด้วย คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัล ก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน

วันหนึ่ง มีงานมหรศพบนภูเขา มีผู้คนไปมาก อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพก็ไปชมด้วยกัน แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า ดูมหรศพด้วยพิจารณา เห็นความจริงของกัปปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรศพก็ไม่ออกรส ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรศพนี้เลย ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า

ครั้นมานพทั้งสองได้ใต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ และอุปดิสสะมานพก็กล่าวกะโกลิตะมานพว่า เมื่อเราทั้งสองมีความตรึกตรองต้องกันเช่นนี้แล้ว สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตะมานพจึงปรึกษาว่า เราจะบวชในสำนักอาจารย์ใดดี

สมัยนั้น สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก ครั้นตกลงใจแล้ว มานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก ขอบวชและอยู่ศึกษาในสำนักนั้น

จำเดิมแต่มานพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน สำนักก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่ออุปดิสสะมานพและโกลิตะมานพบวชเป็นปริพพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า " ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ? " อาจารย์สญชัยก็บอกว่า " ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้โดยท่านไม่รู้เลย " แล้วตั้งให้อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน

มานพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรเราจะเที่ยวสืบเสาะ แสวงหาดู แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถามต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว์ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน

ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร ครั้งนั้น พระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง ขณะนั้น พออุปดิสสะปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระ ตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอด พอประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปดิสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตมีกริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง แต่แล้วอุปดิสสะมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่สมควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม" ครั้นอุปดิสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร

ครั้นพระอัสสชิเถระเจ้าได้บิณฑบาตแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตตกิจได้ อุปดิสสะปริพพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถระเจ้าทำภัตตกิจเสร็จแล้ว อุปดิสสะปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข แม้ผิวพรรณของท่านก็สอาดบริสุทธิ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ? ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ? "

พระเถระเจ้าตอบว่า " ดูกรปริพพาชก พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น เป็นบรมครูของฉัน ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล " อุปดิสสะปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า "อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน ?"

พระเถระเจ้าดำริว่า ธรรมดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรอาตมาจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด ครั้นแล้วจึงบอกว่า " ดูกรปริพพาชก อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัย โดยพิศดารแก่เธอได้ดอก " อุปดิสสะปริพพาชกจึงได้เรียนปฏิบัติท่านว่า " ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปดิสสะ ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อ ๆ เถิด "

พระอัสสชิเถระเจ้า กล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า "เย ธม.มา เหตุปป.ภวา" เป็นอาทิ ความว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้"

อุปดิสสะปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจจะธรรมถึงบรรลุโสดาปัตติผล โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถระเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด อย่าแสดงต่อไปอีกเลย เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ? "

พระเถระเจ้าบอกว่า "เวลานี้ พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร "

"เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้" อุปดิสสะอุทานวาจาออกด้วยความซาบซึ้งในธรรม และในความกรุณาของพระเถระเจ้า " นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง ด้วยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตะมานพสหายที่รักว่า " ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง" แล้วกราบพระเถระเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ แล้วส่งพระเถระเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม

ส่วนโกลิตะปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า ใบหน้าของสหายเรา วันนี้ ดูเบิกบาน ผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ ครั้นอุปดิสสะปริพพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปดิสสะก็บอกว่า "ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด" แล้วอุปดิสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถระเจ้า พออุปดิสสะแสดงจบลง โกลิตะปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปดิสสะปริพพาชก

โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปดิสสะว่า "เราทั้งสองได้บรรลุโมกธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด " อุปดิสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า " ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว ก่อนแต่จะจากสำนักนี้ไปเราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์ แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามี วาสนาบารมี ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่ "

ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบได้จริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฎิบัติ ท่านอาจารย์จงมาร่วมกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด

ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า "ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภมียศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะไปเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า ? " แต่แล้วก็คิดว่า อุปดิสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า "ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ของผู้ใดได้ดอก "

"ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย" สหายทั้งสองวิงวอน "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"

"พ่ออุปดิสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ?" สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีท่าเลี่ยง แต่อุปดิสสะตอบตรง ๆ โดยความเคารพว่า "คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถ จะมีสักกี่คน"

"จริง ! อย่างพ่ออุปดิสสะพูด" สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม "คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปดิสสะ เพราะเหตุนี้แหละ เราจึงไม่ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว"

แม้สหายทั้งสอง จะพูดจาหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปดิสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตน จำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร



หัวข้อ



โปรดอัครสาวกทั้งสอง
ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปดิสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย" เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปดิสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น

สหายทั้งสองจึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐ คนนั้น เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ รับสั่งเรียกอุปดิสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้

ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมักฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น

ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถระเจ้า พระเถระเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.



เสด็จเมืองกบิลพัสดุ์




ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของ ท่านอาจารย์อสิตดาบสและพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์

ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์ อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย ครั้นฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้งคณะ ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา

ครั้นล่วงมาหลายเวลา พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ใหม่ออกติดตาม และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล และได้ อุปสมบทในพระศาสนา เช่นอำมาตย์คณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอารธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัย รับสั่งเรื่องนี้ แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระราชประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายี เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย

กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า "จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้" แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจำ ต้องพระราชทานให้กาฬุมายีตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันสิ้น เมื่อพระกาฬุทายีเถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน ก็พอสิ้นเหมันตฤดู จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์ ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือ วันเพ็ญเดือน ๔ พอดี

พระเถระเจ้ากาฬุทายีจึงดำริว่า พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ มรรคาทีจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบาย พฤกษาชาติก็เกิดเรียรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราชดำริแล้วพระเถระเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎิ ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสดุ์บุรี เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย

อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากวงศ์ แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เป็นศิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด

เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา ที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูลพรรณา รวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า " ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรีตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้ ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี

เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้าให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตรจีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นประมาณเสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี

ฝ่ายพระกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้าแด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราช และโกลิยะวงศ์ ในเทวทหะนคร พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรี ด้วยความปิติยินดีเกษมสานต์ ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎิ เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณะวิสัยเป็นอย่างดี

ครั้นสมเด็จพระชินศรี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่นต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า " พระสิตธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตร หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิตธัตถะกุมาร "

เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคแต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "

เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี

ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธาอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์

ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า "ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้" แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ ว่าสมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตรที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ๆ ในกบิลพัสดุ์บุรี.





//technology100.yolasite.com/photo-gallery.php


Create Date : 22 ตุลาคม 2554
Last Update : 22 ตุลาคม 2554 17:49:00 น. 0 comments
Counter : 1323 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.