JMaa
The 5th Habit: Seek First to understand, then to be understood เข้าใจผู้อื่นก่อน

นิสัยที่ 5 Seek First to understand, then to be understood เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา


ลองอ่านเหตุการณ์นี้ก่อนนะคะ

สมชายกำลังเลือกรองเท้าในร้านรองเท้าแห่งหนึ่งกับคนขายรองเท้าระดับเซียน
คนขายรองเท้า “สวัสดีครับ คุณต้องการรองเท้าแบบไหนครับ”
สมชาย “ผมต้องการแบบที่..............”
คนขายรองเท้า “ผมรู้ว่าคุณต้องการแบบไหน” เขาขัดคอขึ้น แล้วหยิบรองเท้าแบบหนึ่งมาให้ดู “เขากำลังนิยมแบบนี้กันครับ เชื่อผม ลองดูสิครับ”
สมชาย “แต่ผมไม่ชอบมันเลย มันคงไม่เหมาะกับผม”
คนขายรองเท้า “ใคร ๆ ก็ชอบนะครับ มันเป็นรุ่นยอดนิยมในขณะนี้เลยนะครับ”
สมชาย “ผมอยากได้แบบอื่น”
คนขายรองเท้า “ผมสัญญานะครับว่า คุณซื้อไปแล้วคุณจะรักมันแน่ ๆ”
สมชาย “แต่ผม”
คนขายรองเท้า “คุณครับผมขายรองเท้ามาสิบปีนะครับ ผมสามารถบอกได้ว่ารองเท้าคู่ไหนดีหรือไม่ดีทันทีที่ได้เห็น ผมว่ามันเหมาะกับคุณมากจริงๆ นะครับ”

เราคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ หากเราคือสมชายเราจะทำอย่างไรและจะเข้าร้านนี้เพื่อซื้อรองเท้าอีกหรือไม่ ??????

มีคำสุภาษิตของชาวอินเดียนแดงกล่าวว่า “จงฟัง ไม่เช่นนั้นลิ้นของท่านจะทำให้ท่านหูหนวก”

“เข้าใจผู้อื่นก่อนแล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา” เป็นกุญแจแห่งการสื่อสาร การมีอำนาจ และมีอิทธิพลต่อผู้อื่น

เริ่มตั้งแต่วันนี้อย่างง่าย ๆ และทำได้ทันที คือ หยุดเพื่อฟังก่อน แล้วจึงพูด

ทุกคนต้องการการยอมรับ ความเข้าใจ ความเคารพนับถือและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาเป็นเขาเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดและคนรอบข้างเสมอ

คนเรามักจะไม่เปิดเผยความอ่อนโยนที่มีอยู่ภายในจนกว่าจะรู้สึกรักและเข้าใจอย่างแท้จริง และเมื่อได้รู้สึกวางใจแล้วเขาจะบอกคุณมากเสียยิ่งกว่าที่คุณอยากจะฟังเสียอีก

บางครั้งเมื่อเราว้าวุ่นใจ
เราต้องการเพียงใครสักคนที่จะนั่งฟังเราบ่นระบายความในใจ
โดยไม่ต้องการให้ใครมาช่วยค้นหาว่าทำไม
หรือแม้แต่หาคำตอบว่า ...อย่างไร...
เพียงต้องการแค่ใครสักคน
ที่นั่งข้าง ๆ กันและพยักหน้ารับรู้อย่างเข้าใจ
ก็แค่นั้น................

ต่อไปนี้มาเรียนรู้ลักษณะการฟังที่ไม่ดี 5 อย่างกันนะคะ

1. ไม่สนใจฟัง

เรามักจะไม่มีสมาธิในการฟังคนที่พูดกับเราอยู่ตรงหน้า เนื่องจากในสมองเรามีเรื่องอื่นที่มันมันส์กว่าเป็นไหน ๆ หยุดความคิดในสมองแล้วหันมาให้ความสำคัญกับคนที่เราสนทนาด้วยตรงหน้าสักไม่เกินห้านาทีเราจะทราบว่า เรามีค่ากับเขาเป็นไหน ๆ และเราจะได้ “ฝาก” บัญชีออมใจกันต่อไป แล้วเราค่อยมาโลดแล่นกับความคิดเราใหม่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำให้เราทำอะไรได้ช้าลงไปเลยค่ะ

2. แสร้งทำเป็นรับฟัง

เป็นสิ่งที่พบบ่อยมาก ๆ และก็ไม่ได้ถือเป็นการสนใจคนอื่นแต่อย่างใด และโดยเรามักจะใช้คำพูดทั่ว ๆ ไป ต่อบทสนทนาเช่น “แจ๋ว” “ใช่เลย” “ฟังดูดีนี่” และผู้พูดก็มักจะเดาอาการนี้ออกและทำให้เกิดการ “ถอน” บัญชีออมใจกัน เนื่องจากละเลยความสำคัญของคู่สนทนา

3. เลือกที่จะรับฟัง

บางทีเรามักจะสนใจในบางส่วนของการสนทนาเฉพาะส่วนที่เราสนใจ เช่น เรามีพื้นฐานเรื่อง “ลูก”และรักเด็กมาก วันหนึ่งเพื่อนของเรามาขอคำปรึกษาเราว่าเขากำลังไปหลงรักพ่อหม้ายลูกติด เราก็ได้ยินแต่เรื่อง “ลูก” ของผู้ชายคนนั้น จึงพูดถึงและแนะนำให้เพื่อนเราเฉพาะแต่เรื่องรักเด็กเอาใจเด็ก โดยที่ไม่ได้สนใจถึงใจความสำคัญของเรื่องที่เพื่อนมาปรึกษาแม้แต่น้อย

4. รับฟังเฉพาะคำพูด

ข้อนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราตั้งใจรับฟังผู้อื่นจริง ๆ แต่เราฟังเฉพาะคำพูด ไม่ใด้ใส่ใจภาษากาย ความรู้สึก ท่าทางของผู้พูดเลย บางครั้งผู้พูดมักพูดลอย ๆ เพื่อวัดใจผู้ฟัง หรือบางครั้งพูดไม่ตรงกับใจ หรือ ฯลฯ ดังตัวอย่างนี้
สุดสวย “สมศรี เธอคิดอย่างไรกับนักรบจ๊ะ”
สมศรี “เขาก็ดูดีนะ”

แต่หากสมศรีอ่อนไหวมากกว่านี้ โดยรับฟังภาษากายโดยการสังเกตท่าทางและโทนของน้ำเสียงของสุดสวยดู สมศรีจะได้ยิน

สุดสวยพูดว่า “สมศรีเธอคิดว่านักรบเขาชอบฉันไหม”
หากคุณเน้นฟังเฉพาะคำพูดที่ออกจากปากผู้พูด คุณอาจจะไม่ได้สัมผัสกับอารมณ์เบื้องลึกในจิตใจของผู้คน

5. การรับฟังโดยถือตนเองเป็นใหญ่

ข้อนี้มักเกิดขึ้นเสมอ ๆ เมื่อเรามองทุกสิ่งทุกอย่างจากมุมมองของเรา และเมื่อเราคิดว่าเราเก่ง เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เราประสบความสำเร็จ เรามีอัตตาเป็นที่ตั้ง ทำให้เรา “กลับต้องการให้เขาเอาใจเขามาใส่ใจเรา แทนที่เราจะเอาใจเราไปใส่ใจเขา”

เรามักจะทึกทักเอาเองว่าเขารู้สึกแบบเดียวกับเรา เช่นเดียวกับ คนขายรองเท้าในตัวอย่าง

การรับฟังโดยถือตนเองเป็นใหญ่มักเป็นเกมของผู้ที่พูดจาทับถมคนอื่น ซึ่งเรามักจะพูดทับถมกันไปมา ราวกับว่ากำลังแข่งขันอะไรกันอยู่สักอย่างหนึ่ง และต้องการผู้ชนะ

เรามักจะได้ยินคำพูดแบบนี้เสมอ “เธอคิดว่าได้เจอวันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตแล้วอย่างนั้นหรือ นั่นหนะไม่เท่าไหร่เลย เธอลองฟังเรื่องที่เกิดขึ้นกับฉันก่อนนะ แล้วจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร”


เมื่อเราฟังในมุมมองของเรา เรามักจะตอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธีนี้ คือ
1. ตัดสิน ขณะที่เราฟังอยู่ เราก็ตัดสินในใจไปแล้วว่าเขาทำดีหรือไม่ดีอย่างไร
2. แนะนำ เรามักจะพูดออกมาว่าเมื่อฉันอายุเท่าเธอฉันเจอเหตุการณ์แบบนี้ แล้วฉันทำ........เราแนะนำเขาทันทีจากประสบการณ์ในอดีตของเราเอง เมื่อฟังผู้อื่นพูดจบ โดยไม่สนใจว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร
3. ซักไซ้ไล่เลียง เรามักจะพยายามขุดคุ้ยอารมณ์ก่อนที่ผู้อื่นจะพร้อมที่จะแบ่งฟันความรู้สึกนั้นก่อนเสมอ ตัวอย่างเช่น สามีกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ด้วยความอยากให้สามีแบ่งปันประสบการณ์ที่ไปพบเจอมาจากที่อื่น ก็ซักไซ้ซะตั้งแต่ยังไม่หายเหนื่อย จนทำให้สามีรำคาญ จากเจตนาดีของเราที่จะหาเรื่องคุยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ กลายเป็นการ “ถอน” บัญชีออมใจกันไป โดยไม่รู้ตัว แถมภรรยายังโวยวายใส่ “นี่อุตส่าห์หาเรื่องคุยแล้วนะ ยังมาทำท่าไม่อยากคุยอีก มันอะไรกันนี่...................” ก็ทะเลาะกันกลายเป็นเรื่องใหญ่ จากจุดเล็ก ๆ ที่ไม่รู้จักกาลเทศะแค่นั้นเอง หรือ อีกกรณีคือ กับลูกวัยรุ่นที่แม่อยากจะกระชับความสัมพันธ์และเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าลูกเป็นอย่างไร ก็มักไปซักไซ้สืบถาม ซึ่งอีกนัยมันเหมือนเป็น “การบุกรุก” ทำให้เราเองทำการปิดประตูกั้นความหวังดีจากแม่ไป


การรับฟังอย่างจริงใจ

1. การรับฟังด้วยตา ด้วยใจ และด้วยหู
การฟังด้วยหูจะได้ยินบทสนทนาแค่ 7% เท่านั้น ที่เหลือนั้นจะมาจากภาษาทางกาย (53%) และวิธีที่เราใช้คำพูด โทนเสียงและความรู้สึกที่แสดงออกทางน้ำเสียง (40%)

ลองสังเกตถึงความหมายที่เปลี่ยนไปของประโยคข้างล่างนี้ เมื่อมีการเน้นคำที่แตกต่างกัน

“ฉัน”ไม่ได้บอกว่าคุณมีปัญหาเรื่องทัศนคติ
ฉันไม่ได้บอกว่า “คุณ”มีปัญหาเรื่องทัศนคติ
ฉันไม่ได้บอกว่าคุณมีปัญหาเรื่อง “ทัศนคติ”

การที่จะได้ยินสิ่งที่ผู้พูดต้องการพูดจริง ๆ คุณจะต้องรับฟังในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด ไม่ว่าจะจากลักษณะภายนอกนั้นแข็งกร้าวเพียงใด แต่คนเราทุกคนล้วนมีความอ่อนโยนอยู่ภายในและต้องการอย่างยิ่งที่จะได้รับการเข้าอกเข้าใจ

2. เอาใจเราไปใส่ใจผู้อื่น
เพื่อที่จะเป็นผู้รับฟังที่แท้จริง เราต้องถอดรองเท้าของตนเองแล้วไปส่วมใส่รองเท้าของผู้อื่น หรือ อีกประโยคหนึ่งจาก โรเบิร์ต ไบร์น “จนกว่าเราจะเดินอยู่ในรองเท้าของผู้อื่น เมื่อนั้นเราจึงจะไม่ได้กลิ่นจากรองเท้าคู่นั้น” เราควรพยายามที่จะมองโลกเช่นที่คนอื่นมองและพยายามรู้สึกเช่นที่ผู้อื่นรู้สึก

มีหลาย ๆ ครั้งที่หลาย ๆ คนมองการสนทนาเป็นเกมของการแข่งขัน คือ ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งชนะ ในความเป็นจริงเราทั้งสองคนมาจากคนละพื้นฐานคนละมุมมองกัน เราอาจจะถูกทั้งสองคนก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นการไร้สาระมากที่เราจะพยายามเอาชนะการสนทนา เพราะมักจะจบลงด้วยการแพ้/แพ้ แพ้/ชนะ และมันคือการ “ถอน"”บัญชีแห่งสัมพันธภาพอีกด้วย

3. ฝึกการสะท้อนเยี่ยงกระจก
คิดให้เหมือนกระจก กระจกทำอะไรบ้าง – มันไม่ตัดสิน มันไม่ให้คำแนะนำ แต่มันสะท้อน ๆ ๆ แล้วก็สะท้อน มันคือ การทวนซ้ำในสิ่งที่ผู้อื่นฟูดออกมาและรู้สึกด้วยคำพูดของเราเอง การสะท้อนไม่ใช่การเลียนแบบ การเลียนแบบคือการพูดทวนสิ่งที่ได้ยินผู้อื่นพูดแบบไม่ผิดเพี้ยนเช่นเดียวกับนกแก้ว เช่น
เขาพูด “ฉันกำลังแย่มาก ๆ หมดหนทางจริงๆ”
เราพูด “ฉันกำลังแย่มาก ๆ หมดหนทางจริงๆ”
เขาพูด “ฉันกำลังจะตาย”
เราพูด “ฉันกำลังจะตาย”
เขาพูด “หยุดพูดทุกอย่างตามฉันพูดสักที!!!”

การเลียนแบบคือ การทวนคำพูดซ้ำ ใช้คำเหมือนเดิม เย็นชาไร้ความรู้สึก


***** การสะท้อนเยี่ยงกระจกคือ
• ทวนความหมายซ้ำ
• ใช้คำของตนเอง
• อบอุ่นและใส่ใจ

ลองดูตามตัวอย่างนี้ค่ะ

พ่อ “ไม่นะ ลูกจะเอารถไปข้างนอกคืนนี้ไม่ได้ และนี่คือคำสุดท้าย”
ลูก “ครับพ่อ ผมเห็นแล้วว่าพ่อกำลังโกรธในเรื่องนี้”
พ่อ “แน่สิ พ่อโกรธ การที่ลูกเกรดต่ำลง ลูกไม่สมควรได้ขับรถออกไปเที่ยว”
ลูก “พ่อกำลังเป็นห่วงผมเรื่องเกรดของผม”
พ่อ “ใช่ ลูกรู้อยู่แล้วว่าพ่ออยากให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากแค่ไหน”
ลูก “มหาวิทยาลัยมีความสำคัญกับพ่อมากใช่ไหม”
พ่อ “พ่อไม่เคยมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้พ่อไม่สามารถหาเงินได้มาก ๆ เพราะเรียนน้อย พ่อรู้ว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่มันช่วยได้แน่ในตอนนี้ พ่ออยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่านี้”
ลูก “ผมเข้าใจครับพ่อ”
พ่อ “ลูกเป็นคนมีความสามารถ มันจึงทำให้พ่อโมโหมากที่ลูกไม่ตั้งใจเรียน ลูกอาจจะเอารถไปได้ หากสัญญากับพ่อว่า ลูกจะกลับมาทำการบ้านและอ่านหนังสือต่อในคืนนี้ พ่อขอสัญญาเพียงแค่นี้ได้ไหม”

เห็นไหมคะ จากบทสนทนานี้ จะเห็นว่า “ลูก” ทำการสะท้อนบทสนทนาเยี่ยงกระจก จึงทำให้ลูกเข้าถึงประเด็นที่แท้จริงของพ่อ พ่อไม่ได้สนใจนักเรื่องการเอารถออกไปขับ แต่พ่อกังวลเรื่องเกี่ยวกับอนาคตและความไม่ใส่ใจในการเรียน เมื่อพ่อทราบว่าลูกเข้าใจว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยมีความสำคัญเพียงใด แรงต้านจาก “พ่อ” ก็ลดลงทันที

การสะท้อนเยี่ยงกระจกอาจจะไม่สำเร็จเสมอไป เช่น ประโยคต่อไปนี้
พ่อ “พ่อดีใจที่ลูกเข้าใจพื้นฐานของพ่อ เอาล่ะ ไปทำการบ้านได้แล้ว ไป๊”
แต่รับประกันได้เลยว่า การสะท้อนเยี่ยงกระจก ถือเป็นการ “ฝาก” บัญชีแห่งสัมพันธภาพที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว

การสะท้อนเยี่ยงกระจกเป็นทักษะและต้องใช้ทัศนคติที่ถูกต้องร่วมด้วย คุณก็จะเป็นนักสื่อสารที่มีอิทธิพลมาก


จากนั้นจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา

ความกลัวที่คนเรากลัวมากที่สุด ไม่ใช่ “ความตาย” การกลัวความตายเป็นการกลัวอันดับที่สอง รองลงมาจาก ความกลัว “การพูดในที่สาธารณะ” แปลว่า คนเรายอมตายดีกว่าต้องพูดในที่สาธารณะ แปลกไหม???

การทำให้ผู้อื่นเข้าใจเรา มีความสำคัญเทียบเท่ากับ การเข้าใจผู้อื่น แต่ต้องการทักษะหรืออื่น ๆ ที่แตกต่างออกไป การเข้าใจผู้อื่นนั้นต้องการ “ความเห็นอกเห็นใจ” แต่การให้ผู้อื่นเข้าใจเรานั้นต้องการ “ความกล้า”

การเข้าใจผู้อื่นเพียงอย่างเดียวนั้นจะทำให้อ่อนแอ และเป็นการคิดแบบแพ้/ชนะ มันคือที่รองรับอารมณ์คนอื่น เรามักเอาความรู้สึกไม่ดีต่อคนอื่นเก็บไว้โดยไม่บอกให้เจ้าตัวรู้ ไม่ว่าจะเป็น สามีภรรยา ลูกกับพ่อแม่ มักมีการเข้าใจกันผิดและเก็บความรู้สึกไม่ดีเอาไว้ โดยที่อีกฝ่ายอาจไม่ได้มีเจตนาเช่นที่เราเก็บความรู้สึกไม่ดีนั้นเอาไว้เลย ดั่งเพลง “ก้อนหินก่อนนั้น” มันกลายเป็นหลุมพราง บั่นทอนและ “ถอน” ความสัมพันธ์อันดีไปเรื่อย ๆ จงจำไว้ว่า
--- ความรู้สึกที่ไม่ได้แสดงออกมาจะไม่ตาย ทว่ามันจะถูกฝังทั้งเป็นและโผล่ขึ้นมาทีหลังในวิถีทางที่น่าเกลียดยิ่งกว่า--- เราต้องแบ่งปันความรู้สึกออกมา ไม่เช่นนั้นมันจะกัดกินใจคุณไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้แล้ว การที่คุณได้สละเวลารับฟังคนอื่นอย่างเข้าอกเข้าใจแล้ว ก็ถึงโอกาสของคุณที่จะได้รับการรับฟังจากคนอื่นบ้าง เรียกว่าเป็นการ Giving Feedback หรือการตอบสนองกลับ เป็นส่วนที่สำคัญมากของการให้ผู้อื่นเข้าใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องจะเป็นการ “ฝาก” บัญชีออมใจต่อไป เช่นเรื่องง่าย ๆ หากคุณมีเพื่อนสนิทมีกลิ่นปาก (จนทราบกันไปทั่ว) คุณคิดหรือไม่ที่เขาจะรู้สึกขอบคุณ ๆ ที่กล้าจะตอบสนองกลับแบบจริงใจด้วยความอ่อนโยน

เคยไหมที่เราจะนึกถึงคู่เดทของเราหลังจากที่กลับมาถึงบ้านแล้ว แต่เราเห็นว่ามีเศษอาหารชิ้นใหญ่มากติดอยู่ที่ฟันตลอดเย็นที่ยิ้มและสนทนากันกับคู่เดทคนนั้น ในทันทีที่เห็นเศษอาหารในกระจกเราคงนึกย้อนภาพสยดสยองทุกครั้งที่ยิ้มให้คู่เดทของเราอย่างอ่อนหวานและสวยที่สุด เราจะคิดไหมว่า เขาน่าจะบอกเราสักนิด

"เรามีสองหู หนึ่งปาก จงใช้งานให้เหมาะสม"

ต่อที่ habit 6 นะคะ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=joy2k&month=06-2008&date=23&group=2&gblog=5



Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 16 กรกฎาคม 2552 22:27:45 น. 0 comments
Counter : 2498 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แม่น้องเอเอ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
23 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่น้องเอเอ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.