วุ้นสายรุ้ง ทำง่ายๆได้กำไรชั่วร์จ๊ะ
'วุ้นสายรุ้ง'ทุนต่ำทำง่ายขายคล่อง พูดถึงขนมนิ่ม ๆ ใส ๆ อย่างวุ้น หลายคนอาจนึกถึงแต่วุ้นกะทิ หรือหากเป็นสมัยก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักกันดีก็จะเป็นวุ้นไข่หรือวุ้นสังขยา แต่ไม่ว่าจะเป็นวุ้นอะไร ก็เป็นขนมที่ทำได้ไม่ยาก หาวัสดุอุปกรณ์ในการทำก็ง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งเป็นขนมที่นิยมบริโภคกันทั่วไป ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่าขนมชนิดนี้ทำเมื่อไรก็ขายได้ และวันนี้ทีม ช่องทางทำกิน ก็มีข้อมูลเรื่องวุ้นมานำเสนอ เป็น วุ้นสายรุ้ง หลากสี... ในปัจจุบันเราจะพบการทำวุ้นที่ดัดแปลงรูปแบบหลากหลาย อย่างเช่นวุ้นเค้ก ซึ่งก็เป็นวุ้นกะทิ นิยมทำสลับชั้นแล้วใช้พิมพ์รูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ ระฆัง โบว์ ใบไม้ หัวใจ ตัวอักษร และผลไม้ ดูแล้วสวยงาม มาโนชญ์ อินทวงษ์ อายุ 46 ปี เป็นเจ้าของร้านขนมไทย-วุ้นสายรุ้งหลากสี ก็ทำวุ้นแบบดัดแปลงรูปแบบเช่นกัน โดยเจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า ทำอาชีพค้าขายของกินทั้งคาว-หวานมาหลายอย่างแล้ว อาทิ เค้กกระป๋อง แต่จำต้องเลิกเพราะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนตกงาน วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมขึ้นราคา
ขนมที่ทำจะขายราคาเดิมก็ไม่มีกำไร ขายราคาสูงขึ้นคนก็ซื้อยาก ก็หันไปทำขนมกุยช่ายขายตลาดนัดอยู่พักหนึ่ง ภายหลังก็เริ่มทำวุ้นขาย โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ว่าแม้ผลิตภัณฑ์สินค้าชนิดเดียวกัน แต่ถ้าเราทำรูปแบบให้น่าสนใจ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างคือการบรรจุหีบห่อ เพื่อให้ได้วุ้นที่
น่ารับประทาน เป็นที่สะดุดตา ก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งวุ้นสามารถแบ่งตลาดจากเค้กได้ อาจเพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับนม-เนย การทำวุ้นสายรุ้งหลากสี มี 2 ชั้นสลับกัน คือตัววุ้น กับหน้ากะทิ
ส่วนผสมหลักของการทำวุ้นเจ้านี้ ตามสูตรประกอบด้วย... ผงวุ้นอย่างดี ตรานางเงือก (1 ซอง บรรจุ 50กรัม), น้ำลอยดอกมะลิ, น้ำตาลทราย, สีผสมอาหาร, กาแฟ, ใบเตยหอม และกลิ่นมะลิ
วัสดุ-อุปกรณ์... ใช้หม้อต้มสแตนเลส (เบอร์ 28), ทัพพีทรงกลมลึก, ช้อนตวง, ถ้วยตวงน้ำ, ถ้วยตวงแห้ง, ช้อนกาแฟ, ไม้พาย, เตาแก๊ส, ถ้วยแบ่ง, แม่พิมพ์วุ้นรูปแบบต่าง ๆ, ผ้าขาวบาง, ที่ปาดส่วนผสม, กระติกเก็บความร้อน, ขวดที่มีฝาบีบได้, ถ้วยหรือกระบอกสำหรับแบ่งวุ้นเพื่อหยอดพิมพ์ ขั้นตอนการทำ วุ้นสายรุ้ง
เริ่มจากทำวุ้นสี นำผงวุ้นที่เตรียมไว้ โรยลงไปในน้ำสะอาด ตามสัดส่วน คือวุ้น 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2? ถ้วยตวง (ถ้าไม่ใช้น้ำ แต่เป็นกะทิ ก็สัดส่วนเหมือนกัน) ถ้าใช้น้ำ (หรือกะทิ) มากกว่านี้ตัววุ้นจะนุ่ม ไม่ค่อยอร่อย ใส่ผงวุ้นลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 1 นาที เพื่อให้วุ้นได้ดูดน้ำให้เต็มที่ ก่อนจะนำขึ้นตั้งไฟ ควรใช้ความร้อนปานกลางค่อนข้างอ่อนในการเคี่ยว เมื่อวุ้นละลายดีแล้ว จังหวะนี้หากต้องการเติมรส-สีสัน กลิ่น ตามที่ต้องการ เช่น รสกาแฟ ก็ให้ใช้กาแฟชงกับน้ำร้อนในปริมาณเข้มข้น เพื่อหยอดใส่ลงในหม้อวุ้น
เช่นเดียวกับใบเตย นำใบเตยมาปั่นแล้วคั้นน้ำเข้มข้นเติมใส่ลงไปในหม้อเคี่ยววุ้น หากเป็นสีสันอื่น ๆ ก็ให้ใช้สีผสมอาหารละลายกับน้ำสะอาด และใส่กลิ่นต่าง ๆ ตามต้องการ ใส่น้ำตาลทราย เมื่อวุ้นเดือดเคี่ยวต่อประมาณ 5 นาที ก็จะได้วุ้นสีใส เตรียมไว้หยอดลงพิมพ์รูปต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ควบคู่กับการทำวุ้นสี คือการทำส่วนผสมวุ้นกะทิ... ใช้ผงวุ้น, น้ำลอยดอกมะลิ, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และ เกลือ
เริ่มจากผสมผงวุ้นกับน้ำลอยดอกมะลิ ตั้งไฟเคี่ยวจนวุ้นละลายจนหมด จึงใส่น้ำตาลทราย เคี่ยวต่อไปอีกสักครู่จึงใส่หัวกะทิ เกลือ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ตั้งไฟ พอเดือดทั่วใส่กลิ่นมะลิลงไป แล้วยกลง
ตักหยอดวุ้นกะทิสลับกับวุ้นสีที่ทำเตรียมไว้ลงในพิมพ์ เสร็จแล้วปิดท้ายด้วยวุ้นกะทิชั้นบนสุด ก็จะได้วุ้นสายรุ้ง โดยใส่ถ้วยพลาสติกใส ขนาด 180 กรัม จะได้จำนวนประมาณ 20 ถ้วย ขายราคาถ้วยละ 20 บาท เทคนิคการทำ วุ้นสายรุ้ง ให้ออกมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม คืออย่าทิ้งผิววุ้นให้แห้ง มิฉะนั้นจะหยอดชั้นต่อไปไม่ติดกัน และทำให้แต่ละชั้นหลุดออกจากกัน
มาโนชญ์บอกว่า ลักษณะวุ้นสายรุ้งของที่ร้านจะมีกลิ่นหอม สีสันสวยงาม เนื้อนิ่ม รับประทานง่าย รสชาติกำลังดี สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 4 - 5วัน ผู้ที่สนใจอยากมีอาชีพเสริมหรือจะยึดเป็นอาชีพหลัก ด้วย วุ้น ก็ลองฝึกทำกันดู แต่หากคิดอยากจะทำขาย เริ่มต้นควรหาตลาดก่อน ว่าจะขายยังไง ตรงไหน ดูกลุ่มลูกค้าว่าชอบวุ้นแนวไหน ทั้งนี้ วุ้น-วุ้นสายรุ้งนี้ยังเหมาะที่จะใช้ในงานประชุมสัมมนา ทำบุญเลี้ยงพระ เป็นของฝากของขวัญในเทศกาลงานปีใหม่ โดยใครต้องการจะติดต่อกับเจ้าของ วุ้นสายรุ้ง ที่ว่ามา ติดต่อได้ที่ โทร.08-5481-1152, 08-1939-9019
เชาวลี ชุมขำ :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ ที่มา เดลินิวส์
Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552 |
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2552 15:25:41 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1545 Pageviews. |
|
|
ขอลองทำทานก่อน อิอิ น่าสนใจ ๆ ๆ ค่ะ