สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 สิงหาคม 2548
 

7-11 จากมติชนสุดสัปดาห์

คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ โดย หนุ่มเมืองจันทน์

เซเว่นอีเลฟเว่น

ทิ้งท้ายฉบับที่แล้วว่าจะเล่าเรื่องการ์ตูน "เซเว่นอีเลฟเว่น" ให้ฟัง

"เซเว่นอีเลฟเว่น" เป็นธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ของสหรัฐอเมริกาครับ

บริษัท โยคุเซเว่น ซื้อแฟรนไชส์ "เซเว่นอีเลฟเว่น" มาจากบริษัทเซาท์แลนด์

บริษัทนี้มีบริษัทอิโทโยคะโดผู้ประกอบการธุรกิจซุปเปอร์สโตร์อันดับที่ 17 ของญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ 50%

อีก 50% เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกซึ่งเป็นพนักงานของ "อิโทโยคะ"

ในหนังสือ "CREATING MODERN CAPITALISM" ที่ใช้เป็นตำราเรียนของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มีกรณีศึกษาทางธุรกิจของญี่ปุ่น 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของโตโยต้า

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องความสำเร็จของ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ในญี่ปุ่น

น่าสงสัยใช่ไหมครับว่าทำไมธุรกิจที่ซื้อแฟรนไชส์มาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นกรณีศึกษาของ "ฮาวาร์ด"

แค่ทำตามคัมภีร์ที่บริษัทแม่ส่งมา ไม่เห็นน่าสนใจตรงไหนเลย

ทีมผู้บุกเบิกของ "โยคุเซเว่น" ตอนแรกก็คงคิดแบบผม คิดว่าคงจะลงแรงไม่มาก

แต่ชีวิตจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเปิดคัมภีร์ที่บริษัทแม่ให้มากลับใช้การอะไรไม่ได้เลย

มันไม่เหมาะกับญี่ปุ่น

การซื้อแฟรนไชส์มาจึงเป็นเพียงแค่การซื้อป้ายร้าน 7-11 พร้อมกับระบบคอนวีเนียนสโตร์ที่เปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่มเท่านั้น

นอกจากนั้นทีมงานต้องเริ่มใหม่หมด

พื้นที่ของร้านแรกที่เปิดคือ 73 ตารางเมตร น้อยกว่าพื้นที่ร้านที่บริษัทแม่กำหนดไว้ถึงครึ่งหนึ่ง

ขนาดตู้แช่ตามคัมภีร์ก็ใหญ่กว่าพื้นที่ที่มีอยู่

เมื่อเกิด "ปัญหา" ทีมงานก็ต้องออกแบบตู้แช่ใหม่

เมื่อตู้แช่เล็ก บรรจุเครื่องดื่มได้น้อย แต่ถ้าปรับใหม่เพิ่มความสะดวกในการเติมเครื่องดื่มเข้าไป เรื่องขนาดของตู้แช่ก็ไม่ใช่ปัญหา

นั่นคือที่มาของความคิดสร้างสรรค์ "ตู้แช่" ที่เปิดได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

คนซื้อเปิดหยิบเครื่องดื่มด้านหน้า

พนักงานเติมเครื่องดื่มที่ด้านหลัง

นอกจากสะดวกแล้ว การเติมเครื่องดื่มด้านหลังตู้แช่ ทำให้เครื่องดื่มที่เย็นจะไหลลงมาใกล้มือคนซื้อ

แก้ปัญหาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

ผู้ซื้อก็จะได้เครื่องดื่มที่แช่เย็นแล้ว ส่วนคนขายก็สะดวกในการเติมเครื่องดื่ม

เพราะถ้าเปิดประตูด้านหน้าได้ด้านเดียว การเติมเครื่องดื่มนอกจากเกะกะคนซื้อแล้ว ตามหลักความสบายของคนทำงาน คงยากที่พนักงานจะเติมเครื่องดื่มขวดใหม่ไว้ด้าน

หลังเครื่องดื่มเก่าที่เย็น แล้ว

เขาจะเลือกความสะดวกด้วยการเติมขวดใหม่ไว้ด้านหน้า ดันขวดเก่าไปไว้ด้านหลัง

การออกแบบตู้แช่ที่เปิดได้ทั้ง 2 ด้าน จึงแก้ปัญหาทั้งหมดได้



อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

หลังจาก "เซเว่นอีเลฟเว่น" ที่ญี่ปุ่นเปิดไปได้แล้วพักหนึ่ง ทีมงานก็เริ่มพบปัญหาว่าจำนวนสินค้า 3,000 ชนิดมากเกินไปสำหรับขนาดของคอนวีเนียนสโตร์

สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์

ทีมงานตัดสินใจตรวจสภาพคล่องของสินค้าด้วยมือ ทุกวันเขาต้องใช้เวลา 15 ชั่วโมงตรวจใบสั่งสินค้าและยอดขายสินค้าแต่ละชนิดของร้าน

ทำบัญชีอย่างละเอียดยิบ

และในที่สุดเขาก็ค้นพบ "ความลับ" จาก "ตัวเลข"

การทำธุรกิจเรื่อง "ตัวเลข" เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการตีความจาก "ตัวเลข"

ปัญหาของนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยก็คือดูแต่ "ตัวเลข" แต่ไม่สามารถแปร "ตัวเลข" ให้เป็น "ข้อมูล" ได้

"คามาตะ" ที่อาสาตรวจสภาพคล่องของสินค้าได้พบข้อมูลที่คาดไม่ถึงจากระบบบัญชี

เขาพบว่านิตยสารรายสัปดาห์เมื่อวางจำหน่ายได้ 4 วันก็จะขายไม่ออก

เขาพบว่าผงซักฟอกขนาดใหญ่ขายไม่ออก แต่ขนาดเล็กขายดี

เขาพบว่าบะหมี่สำเร็จรูปแบบถ้วยขายดีกว่าแบบซอง ฯลฯ

และนั่นคือที่มาของข้อสรุปใหม่

"เราจะวางสินค้าแบบเดียวกับซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ ลูกค้าของคอนวีเนียนสโตร์ต้องการสินค้าที่แตกต่างกันออกไป"

จากตัวเลขยอดขายสินค้าแต่ละประเภท นำมาสู่การตีความเรื่องพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า

และในที่สุดก็กลายมาเป็นแนวทางการบริหารชั้นวางสินค้า

"เซเว่นอีเลฟเว่น" ไม่ต้องมีสินค้าครบทุกยี่ห้อหรือทุกขนาดก็ได้ แต่สินค้าที่วางในร้านต้องเป็นสินค้าที่หมุนเวียนเร็ว

ใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หรือเรื่องการขยายสาขาก็น่าสนใจ การติดต่อเปิดสาขาในทำเลที่ต้องการ เขาต้องเผชิญกับค่านิยมบางอย่างของคนญี่ปุ่น

สนใจรูปแบบธุรกิจ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อร้านเพราะเป็นชื่อเก่าแก่ตั้งแต่บรรพบุรุษ

กรณีนี้เหมือนกับเมืองไทย ตอนที่ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ติดต่อขอซื้ออาคารพาณิชย์เพื่อปรับปรุงเป็น "เซเว่นอีเลฟเว่น"

เขาต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องเจ้าของไม่ยอมขาย

และยังถือว่าการติดต่อซื้อคือการดูถูก

คิดว่าข้าไม่มีเงินหรืออย่างไร

ต่อมาเมื่อ "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" เข้ามาดูแลก็ได้ปรับระบบใหม่เปลี่ยนจาก "ซื้อ" มาเป็น "เช่า"

นอกจากไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่แล้ว ยังทำให้การเจรจากับเจ้าของง่ายขึ้น เพราะเจ้าของตึกไม่รู้สึกเสียหน้า

ทรัพย์สินยังเป็นของตัวเอง แต่ปล่อยให้คนอื่นเช่าระยะยาว

เรื่องบางเรื่องมันเป็นปัญหาแบบ "เส้นผมบังภูเขา"

เช่นเรื่อง ตู้แช่ หรือเรื่องเช่า-ซื้อ ฯลฯ

นิดเดียวจริงๆ

ในโลกธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จทางธุรกิจหรอกครับ

ไม่มี "ยาวิเศษ" หรือ "ยาครอบจักรวาล" ชนิดใดที่กินเม็ดเดียวแก้ได้ทุกโรค

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของนักธุรกิจหรือคนดังทั้งหลายมันเปรียบเสมือน "ตัวเลข"

เราต้องแปร "ตัวเลข" เป็น "ข้อมูล"

ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเราและสิ่งแวดล้อม

คนแบบไหน ควรใช้วิธีการแบบไหน

สิ่งแวดล้อมใด ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร

การประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมจึงเป็นเคล็ดลับแท้จริงของความสำเร็จ



"อมร" ตั้งคำถามกับ "สมชาย"

"ปัญหาเส้นผมบังภูเขามักเกิดขึ้นกับคนประเภทใด"

"คนคิดแต่ในกรอบ ไม่ยอมคิดนอกกรอบ" สมชายตอบ

"ไม่ใช่"

"คนที่ชอบคิดอะไรยากๆ"

"ไม่ใช่" อมรส่ายหน้า เขี่ยเส้นผม "สมชาย" เล่น แล้วเฉลย

"คนผมยาว"


Create Date : 04 สิงหาคม 2548
Last Update : 4 สิงหาคม 2548 14:35:17 น. 1 comments
Counter : 836 Pageviews.  
 
 
 
 
อิอิ นะ อ่านอย่างตั้งใจเก็บความรู้มาตั้งแต่ต้น
จนจบ พอถึงตอนท้ายหักมุมซะจนอดยิ้มไม่ได้
 
 

โดย: blueblood@มาทุกวัน!!!! ^o^ วันที่: 18 สิงหาคม 2548 เวลา:17:50:30 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ยุง บิน ชุม
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ยุง บิน ชุม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com