Welcome to my blog

4 วัน 3 คืน หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง)

 
สถานที่ท่องเที่ยว : ถ้ำติ่ง, Laos
พิกัด GPS : 20° 3' 6.38" N 102° 12' 25.74" E

วันที่สี่

วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะอยู่ที่หลวงพระบาง ผมจึงตื่นแต่เช้าเพื่อมาทำอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิต ที่ใครมาเที่ยวที่หลวงพระบางชอบทำกันนั่นก็คือ การตักบาตรข้าวเหนียว ครับ

ตักบาตรข้าวเหนียว

เป็นประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวหลวงพระบาง ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากในปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในโปรแกรมบังคับที่คนที่มาเที่ยวหลวงพระบางต้องทำกัน (ปัจจุบัน ผู้ที่ออกมาตักบาตร เป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าคนท้องถิ่นซะอีก)

การตักบาตรของชาวหลวงพระบางจะนิยมใส่เฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้น ซึ่งเราสามารถหาซื้อข้าวเหนียวได้ทั้งจาก ตลาดเช้า และ แม่ค้าที่มาขายตามท้องถนน แม้ว่าปัจจุบันทางการของเมืองหลวงพระบางจะรณรงค์นักท่องเที่ยวให้ซื้อข้าวเหนียวจากตลาดเช้า แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ยังนิยมซื้อจากแม่ค้าที่ขายตามท้องถนนมากกว่าอยู่ดี 

หลังจากที่พระบิณฑบาตเสร็จ เมื่อกลับถึงวัดพอพระท่านจะฉัน พระจะเคาะเกราะไม้ไผ่เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ จากนั้นชาวบ้านก็จะจัดกับข้าวมาถวายท่านอีกทีเรียกว่า ถวายจังหัน

ถ้าใครสนใจจะมาร่วมกิจกรรมนี้อาจจะต้องตื่นเช้าซะหน่อยครับ พระจะเริ่มบิณฑบาตประมาณตีห้าครึ่ง ซึ่งถ้าใครเลือกที่พักทำเลดีหน่อย (เช่น บนถนนเส้นหลัก) ก็สามารถตักบาตรได้จากหน้าที่พักได้เลย

ข้อปฏิบัติสำหรับการตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง ของนักท่องเที่ยว
- ควรตักบาตรในอาการที่สงบ
- หากไม่ได้ตักบาตร ควรเว้นระยะห่างเพื่อให้คณะสงฆ์บิณฑบาตได้สะดวก 
- สามารถถ่ายรูปการตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบางได้ แต่ควรระวังไม่ให้รบกวนพระภิกษุสงฆ์
- ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยแต่งกายให้มิดชิดทั้งชายและหญิง
- ไม่ควรถูกเนื้อต้องตัวพระภิกษุสงฆ์


ล่าสุดกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวหลวงพระบาง ประกาศจัดระเบียบใหม่เกี่ยวกับของที่นำมาใส่บาตร โดยมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้
- ห้ามพ่อค้าแม่ค้านำขนมสำเร็จรูปของต่างประเทศทุกชนิด มาขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อเอาไปใส่บาตร อนุญาติเฉพาะขนมพื้นเมือง ที่ผลิตและปรุงแต่งในประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีความสะอาดและไม่เน่าเสีย
- ห้ามขายข้าวหลามให้นักท่องเที่ยวเพื่อนำไปใส่บาตรเด็ดขาด
- ห้ามนำข้าวเหนียวค้างคืน หรือข้าวเหนียวเก่ามาอุ่นร้อนขายเด็ดขาด ต้องเป็นข้าวนึ่งสุกใหม่เท่านั้น ให้ขายตามน้ำหนักและราคาที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง คือ 1 กก. = 10,000 กีบ, 1.5 กก. = 15,000 กีบ และ 2 กก. 20,000 กีบ

คำแนะนำอื่นๆ (จากผมเอง)
- ถ้าใครซื้อข้าวเหนียวจากแม่ค้าตามท้องถนน ผมแนะนำให้สอบถามราคา และซื้อข้าวเหนียวจากแม่ค้าให้เรียบร้อยก่อนค่อยเริ่มใส่บาตร (ไม่งั้นแม่ค้าจะคอยเติมข้าวเหนียวให้เราไปเรื่อยๆ ขณะใส่บาตร จะโดนฟันหัวแบะเอา)
- เนื่องจากการตักบาตรแบบนี้ เราจะใช้มือเปล่าของเรา หยิบข้าวเหนียวลงไปในบาตรพระ ดังนั้นควรล้างมือให้สะอาดก่อนใส่บาตร เพื่อสุขอนามัยของพระสงฆ์


หลังจากตักบาตรข้าวเหนียวเสร็จ เราก็มาเริ่มเที่ยวกันต่อเลย ช่วงเช้าของวันนี้ ผมจะนั่งเรือเพื่อไปเที่ยว ถ้ำติ่ง ก่อนที่ช่วงบ่ายจะขึ้นเครื่องของ Air Asia เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

การเดินทางไปถ้ำติ่ง

ถ้ำติ่ง อยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร มีวิธีการเดินทาง 2 วิธีคือ

- เหมารถ ไปฝั่งตรงข้ามถ้ำ (เรียกว่า บ้านปากอู) แล้วนั่งเรือข้ามฟากข้ามไป

นั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำจากเมืองหลวงพระบาง (สำหรับทริปนี้ ผมเลือกวิธีนี้ครับ)

การนั่งเรือจากเมืองหลวงพระบางเพื่อไปเที่ยวถ้ำติ่ง เราสามารถเหมาเรือไปได้ หรือจะนั่งเรือแชร์ไปกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ซึ่งเราสามารถมาขึ้นเรือได้ที่ ท่าเรือด้านหลังพระราชวัง 

8.00 . เค้าจะเริ่มขายตั๋วเรือตามคิว โดยตั๋วจะอยู่ที่ 65,000 กีบต่อคน หรือประมาณ 260 บาท

หลังจากได้รับตั๋วเค้าจะทยอยเรียกขึ้นเรือ โดยเรือ 1 ลำไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนจะอนุญาตให้รับนักท่องเที่ยวได้แค่ลำละ 6 คน

ข้อดีของการล่องเรือไปถ้ำติ่งด้วยวิธีนี้ คือเราจะได้ชมวิวริมน้ำโขงได้เห็นวิถีชีวิต และธรรมชาติที่สวยงาม (ผมว่า อันนี้เป็นไฮไลท์ยิ่งกว่าตัวถ้ำซะอีก)

Tips:

ใครที่จะนั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่งด้วยวิธีนี้ ถ้าไปหน้าหนาว ผมแนะนำให้เตรียมเสื้อกันลมไว้ด้วย เพราะลมแรง และหนาวมาก

- เนื่องจากใช้เวลาเที่ยวค่อนข้างนานและไม่มีห้องน้ำสะอาดแถวนี้เลย ดังนั้น ก่อนขึ้นเรือ แนะนำให้เข้าก่อนนะครับ (เข้าจากร้านอาหารตรงข้ามท่าเรือก็ได้)

นั่งเรือไปประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดเราก็มาถึง ถ้ำติ่ง ครับ

ถ้ำติ่ง

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำปากอู ประกอบไปด้วยถ้ำย่อยๆ 2 ถ้ำคือ ถ้ำเทิง (ถ้ำบน) และ ถ้ำลุ่ม (ถ้ำล่าง) 

ค่าเข้าชม: 20,000 กีบ (80 บาท)

ถ้ำลุ่มอันนี้เดินขึ้นง่ายๆครับ

ในอดีตสมัยโบราณ ถ้ำติ่งเป็นที่ใช้สำหรับสักการบูชาผีฟ้าและพญาแถน ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเข้ามาสู่ดินแดนลาว ในรัชสมัยของพระเจ้าโพธิสารราช ถ้ำติ่งก็ถูกใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา มีการประดิษฐานพระพุทธรูปไม้มากมายปัจจุบัน มีการประมาณการว่ามีพระพุทธรูปมากถึง 2,500 องค์ 





ส่วนถ้ำเทิงต้องเดินขึ้นบันไดไป 218 ขั้น ถ้ำนี้ภายในมืดมากต้องเช่าไฟฉายด้านนอกถ้ำ และมีพระพุทธรูปไม่เยอะเท่าถ้ำลุ่มครับ (ถ้าใครเดินไม่ไหวก็เที่ยวถ้ำลุ่มอย่างเดียวก็ได้)

ผ่านไป 40 นาทีอย่างรวดเร็ว ก็ได้เวลานั่งเรือกลับเข้าตัวเมืองหลวงพระบางขากลับจะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าขามา เพราะเรือจะล่องไปตามน้ำครับ 

เมื่อกลับมาถึงที่หลวงพระบาง ผมก็ไปนั่งชิลล์ที่ร้าน Zurich Bread Artisan Bakery ซึ่งอยู่ตรงข้าม Café de laos inn ที่เราพัก 

เมื่อได้เวลาสมควร ผมก็นั่งรถของโรงแรมไปที่สนามบิน (ราคา 500 บาทต่อคันไป 4 คนตกคนละ 125 บาท) และตอน 15.50 ก็ได้เวลาเดินทางกลับกรุงเทพด้วยสายการบิน Thai Air Asia การเดินทางของผมในทริปนี้ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ

บทสรุป

ลาวเป็นประเทศที่มีความใกล้เคียงและใกล้ชิดกับประเทศไทย ซึ่งความใกล้กันเหล่านี้ มันอาจจะทำให้ใครหลายๆคนมองข้ามประเทศนี้ไป 

หลายคนอาจจะมองว่าเที่ยวลาวก็เหมือนเที่ยวไทย แต่จากที่ผมเที่ยวเมืองนี้มาผมว่าเมืองนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวบางอย่างในแบบที่ไทยไม่มี ทั้งบ้านเมือง ผู้คนวัฒนธรรม ภาษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างสรรค์หลวงพระบางให้มีความแตกต่างจากเมืองอื่นอย่างยากที่ใครจะเลียนแบบได้ หลวงพระบางจึงเป็นอีกเมืองที่ผมแนะนำครับ

ถ้าใครสนใจจะเที่ยวหลวงพระบาง ผมแนะนำว่าเวลาประมาณ 4 วัน 3 คืนแบบนี้ กำลังดี เที่ยวสบาย และไม่เหนื่อยจนเกินไป หรือถ้าใครมีเวลาเยอะก็สามารถรวบเป็นทริปลาวเหนือ เที่ยวไล่ตั้งแต่ เวียงจันทน์ วังเวียง และหลวงพระบางก็ได้ (อันนี้เป็นรูทยอดนิยม) แต่ช่วงที่ผมแนะนำที่สุดคือช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณที่ติดตามบล็อกนะครับ ในบล็อกหน้า เราจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยกันบ้าง โดยผมจะพาไปเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์อย่างสุโขทัย และพิษณุโลก โดยจะรีวิวละเอียดยิบตั้งแต่การวางแผนเที่ยวเลย ฝากติดตามด้วยนะครับ ^^

ตอนอื่นๆ

ตอนที่ 1: เตรียมตัวเที่ยวหลวงพระบาง

ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด

ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง

ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง

ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี

ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2561    
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:55:13 น.
Counter : 4501 Pageviews.  

4 วัน 3 คืน หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี)

 
สถานที่ท่องเที่ยว : น้ำตกตาดกวางสี, Laos
พิกัด GPS : 19° 44' 57.94" N 101° 59' 31.09" E

วันที่สาม (ต่อ)

ในช่วงที่ผ่านมาผมได้พาไปเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบางจนแทบจะครบทุกซอกทุกมุมไปแล้ว ช่วงเวลาที่เหลือของทริปนี้ เราจะออกไปเที่ยวนอกเมืองกันบ้าง ที่เที่ยวนอกเมืองหลวงพระบางที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกันมีอยู่ 2 ที่คือ น้ำตกตาดกวางสี และ ถ้ำติ่ง ในวันนี้เราจะมาเที่ยวน้ำตกกันก่อนครับ

การเดินทางไปน้ำตกตาดกวางสี

น้ำตกตาดกวางสีเป็นน้ำตกที่อยู่นอกเมืองหลวงพระบางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

วิธีการเดินทางไปน้ำตกมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

(1) ซื้อทัวร์แบบ One day trip --> ราคาต่อคนจะอยู่ประมาณ 50,000 กีบ (200 บาท) 

(2) เหมารถสองแถวไปเอง --> ราคาจะอยู่ที่ 200,000 – 250,000 กีบต่อคัน (800-1,000 บาท)

ถ้าใครไป 1-3 คน ผมแนะนำให้ซื้อ One day trip (นั่งรถแชร์ไปกับนักท่องเที่ยวคนอื่น) แต่ถ้าใครไปเป็นกลุ่ม 4 คนขึ้นไปผมว่าเหมาสองแถวไปเองน่าจะคุ้มกว่า

ในทริปนี้ ผมเหมาสองแถวได้ในราคา 800 บาท ซึ่งกลุ่มผมไปกัน 4 คน ก็จะตกคนละ 200 บาทครับ (รถหน้าตาประมาณนี้ ขอก็อปรูปชาวบ้านเค้ามาประกอบนะครับ)

เมื่อเรามาถึงประตูทางเข้าหน้าน้ำตกก็ต้องจ่ายค่าเข้าคนละ 20,000 กีบหรือประมาณ 80 บาท (ก่อนเข้า อย่าลืมนัดแนะกับคนขับให้ดีนะครับ ว่าจะนัดเจอที่ไหน ตอนกี่โมง)

ก่อนจะเข้าถึงตัวน้ำตก เหล่าจะเดินผ่าน ศูนย์อนุรักษ์หมี ก่อน

หมีเหล่านี้จะเป็นหมีที่ได้รับการช่วยเหลือจากการค้าสัตว์ป่าในลาว โดยค่าเข้าชมน้ำตกตาดกวางสีส่วนหนึ่ง ถูกนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของการอนุรักษ์หมีด้วย

พอผ่านโซนหมี ก็มาถึงตัวน้ำตกครับ

น้ำตกตาดกวางสี

เป็นน้ำตกที่ได้ชื่อว่า สวยที่สุดในแขวงหลวงพระบาง ด้วยความสูงรวม 75 เมตร และมีจำนวนชั้นทั้งหมด 4 ชั้น จัดเป็นน้ำตกหินปูน น้ำมีสีเขียวมรกต และมีระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย (ซึ่งประเทศไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง)

ค่าเข้าชม: 20,000 กีบ (80 บาท)

บริเวณตรงนี้มีคนมากระโดดน้ำเล่นเยอะมาก (คล้ายๆที่วังเวียง) แม้ว่าอากาศจะหนาวมากก็เหอะ

ที่นี่ดูจะฮอตฮิตในหมู่ฝรั่งเหมือนกัน

สองคนนี้ ทำยังกะมาถ่ายแบบ

ตรงนี้เป็นจุดที่สวยสุดของน้ำตกนี้แล้วครับ

 

หลังจากเที่ยวชมน้ำตกตาดกวางสีได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็ได้เวลาเดินทางกลับเข้าเมือง แต่ก่อนที่จะกลับ ผมขอแวะเที่ยวหมู่บ้านม้งก่อน

หมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจาก UN ด้านในจะมีชาวม้งนำสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านมาขาย

รู้จักกับชาวม้งในลาว

ชาวม้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง

ชาวม้งเริ่มอพยพหนีภัยสงครามจากจีนมาหาที่อยู่แห่งใหม่ในแถบลาว พม่า เวียดนาม รวมทั้งในประเทศไทย สำหรับในประเทศลาวมีชาวม้งอาศัยอยู่ประมาณ
6 แสนคน (หรือคิดเป็น 10%ของประชากรลาวทั้งหมด)

ชาวม้งมีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามกลางเมืองของประเทศลาว โดยผู้นำชาวม้งอย่าง นายพลวังเปา ก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลของลาวฝ่ายขวา (ฝ่ายประชาธิปไตย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่สำคัญในการต่อสู้กับลาวฝ่ายคอมมิวนิสต์ 

ต่อมาเมื่อพรรคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมือง นายพลวังเปาและชาวม้งบางส่วนก็ลี้ภัยมาอยู่ที่ประเทศไทย และสหรัฐ แต่บางส่วนก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายรัฐบาลลาวคอมมิวนิสต์อยู่ จนเมื่อปี 2554 นายพลวังเปาเสียชีวิตบทบาทของชาวม้งที่ต่อต้านรัฐบาลก็ลดลงไป

ปัจจุบันชาวม้ง ถือเป็นชนชายขอบของลาวมีคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างย่ำแย่ และยากจน (บางคนยังพูดภาษาลาวไม่ได้เลย) และบางส่วนก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลลาวอย่างลับๆในแถบแขวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และไซยสมบูรณ์ กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลลาวในยุคปัจจุบันต้องแก้กันไป

หลังจบจากช็อปที่หมู่บ้านม้งเสร็จก็ได้เวลากลับเข้าตัวเมือง ทริปของเราในวันนี้ก็จบลงอย่างน่าประทับใจครับ

Comment: 

ใครที่มาเที่ยวเมืองหลวงพระบาง น้ำตกตาดกวางสีเป็นอีกหนึ่งสถานที่ๆผมแนะนำให้มา ยิ่งถ้าใครมาเที่ยวช่วงอื่นที่ไม่ใช่หน้าหนาว ผมแนะนำให้เตรียมชุดมาเปลี่ยนลงเล่นน้ำด้วยครับ (น้ำที่นี่น่าเล่นมากกกกกกก) ส่วนหมู่บ้านม้ง อันนี้จะมาหรือไม่ก็ได้ครับ (อันนี้้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล) แต่ถ้าใครมีโอกาสมาเยี่ยมชมที่นี่ ผมอยากให้ซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย เพราะรายได้จากสินค้าพวกนี้มันจะลงไปที่ชาวบ้านผู้ยากไร้โดยตรง ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเค้าครับ

ตอนอื่นๆ

ตอนที่ 1: เตรียมตัวเที่ยวหลวงพระบาง

ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด

ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง

ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง

ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี

ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2561    
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:54:36 น.
Counter : 11558 Pageviews.  

4 วัน 3 คืน หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง)

 
สถานที่ท่องเที่ยว : หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง, Laos
พิกัด GPS : 19° 53' 31.86" N 102° 8' 7.67" E

ในตอนที่แล้ว ผมได้พาไปชมวัดทั่วเมืองหลวงพระบางกันไปแล้ว ในตอนนี้เราจะเปลี่ยนบรรยากาศมาชมพระราชวังกันบ้าง

ก่อนหน้าที่ลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ลาวมีการปกครองแบบราชอาณาจักร และมีประมุขของรัฐ ที่เรียกว่า เจ้ามหาชีวิต มาโดยตลอด

ตั้งแต่ช่วงปี 1904 เป็นต้นมา เจ้ามหาชีวิตของลาวจะประทับที่ พระราชวังหลวงพระบาง ซึ่งผมจะมารีวิวที่นี่ในบล็อกนี้ครับ

วันที่สาม

หอพิพิธภัณฑ์ หรือ อดีตพระราชวังหลวงพระบาง (Royal Palace Museum) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางขึ้นพระธาตุพูสีซึ่งเราเพิ่งจะเที่ยวมาเมื่อวานนี้

ด้านหน้าของพระราชวัง เราจะเจอกับ หอพระบาง ก่อน จะสังเกตว่าหอแห่งนี้เป็นสไตล์สิมแบบหลวงพระบางครับ

น่าเสียดายที่ข้างในไม่ให้ถ่ายรูป ผมจึงถ่ายรูป องค์พระบาง มาไม่ได้ เลยขอเอารูปจากเน็ตมาให้ดูละกัน (แต่คิดว่า รูปนี้น่าจะเป็นองค์จำลองนะครับ)

ตำนานเกี่ยวกับพระบาง

ตามตำนานกล่าวว่าพระบางถูกสร้างขึ้นที่ กรุงลังกา จากนั้นก็ถูกอัญเชิญมาไว้ที่เขมร ก่อนที่ พระเจ้าฟ้างุ้ม จะอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางแห่งนี้ และก็ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังกรุงเวียงจันทน์ในเวลาต่อมา

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สยามกับล้านช้างเกิดสงครามระหว่างกัน หลังสยามได้รับชัยชนะ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือ รัชกาลที่หนึ่ง) ได้อัญเชิญพระบางมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีพร้อมกับ พระแก้วมรกต แต่ภายหลังได้ทรงคืนพระบางไปหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่สาม สยามก็อัญเชิญพระบางลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพอีกครั้ง (หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์) แต่หลังจากเกิดเหตุภัยแล้งหลายปี ผู้คนในกรุงเทพจึงลือกันว่า สาเหตุเกิดจากการที่พระบางกับพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เมืองเดียวกัน (มีเรื่องเล่าว่า พระทั้งสององค์ไม่ถูกกัน) ทำให้พระบางจึงถูกอัญเชิญกลับไปที่ประเทศลาวจนถึงทุกวันนี้

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เชื่อว่าพระบางองค์จริงถูกพรรคคอมมิวนิสต์ย้ายไปประดิษฐานที่กรุงเวียงจันทน์อยู่ช่วงหนึ่ง ภายใต้การคุ้มครองอย่างแน่นหนา จนเมื่อหอพระบางสร้างเสร็จ พระบางองค์จริงก็ถูกย้ายกลับสู่เมืองหลวงพระบางอีกครั้ง

ฝั่งตรงข้ามหอพระบาง จะเป็น อนุสาวรีย์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ครับ

เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์

เป็นพระโอรสของ พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ (เจ้าคำสุก) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ในปี พ..2447 และหลังจากลาวได้รับเอกราชก็เสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะ พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาว

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์คือ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของลาว ที่เขียนโดยคนลาว ในปี พ..2490

เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์สวรรคตในปี พ..2502 พระโอรสของพระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็น เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรลาว

หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง

ในอดีตที่นี่คือ พระราชวังหลวงพระบาง ถูกสร้างขึ้นในปี 1904 เป็นศิลปะแบบล้านช้างผสมโคโลเนียล ออกแบบโดยสถาปนิกฝรั่งเศส

เนื่องจากด้านในไม่สามารถถ่ายรูปได้ (ต้องฝากของทั้งหมดไว้ที่ล็อคเกอร์เก็บของด้านนอก) ผมจึงขอบรรยายให้ฟังนะครับว่า มีอะไรบ้าง

(1) ห้องรับแขกเจ้ามหาชีวิต

เป็นห้องให้คณะทูตานุทูตมาเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชการ และถวายสาส์นตราตั้ง ภายในจะมีรูปหล่อเจ้ามหาชีวิต 3 พระองค์ที่หล่อมาจากฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีงานไม้แกะสลักกลองสัมฤทธิ์โบราณ ส่วนผนังจะบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวลาวหลวงพระบาง และประเพณีต่างๆ

(2) ท้องพระโรงหน้า

ใช้ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ รวมทั้งถูกใช้เตรียมสำหรับพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา (แต่พิธีก็ถูกยกเลิก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

(3) ห้องรับแขกพระมเหสี

มี 2 ส่วนคือ ห้องสำหรับเก็บและจัดแสดงของขวัญที่ได้จากประเทศต่างๆส่งมาถวายเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา (รวมทั้งของขวัญจากประเทศไทย) ส่วนอีกห้องแสดงภาพวาดสีน้ำมันของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระราชินีคำผุย และเจ้าชายมกุฎราชกุมารวงศ์สว่าง

(4) ห้องโถงใหญ่

ใช้จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองและแหย่งช้างที่ เจ้าอนุวงศ์ แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ส่งมาถวาย เจ้ามันธาตุราช แห่งอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เพื่อชักชวนให้ร่วมสงครามกับสยามในสมัยรัชกาลที่สาม

(5) เขตพระราชฐาน

เป็นห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิตพระมเหสี เชื้อพระวงศ์ รวมทั้งห้องเสวย ห้องพักผ่อนและห้องจัดแสดงสมบัติส่วนพระองค์

(6) ห้องแสดงรถพระที่นั่ง

จัดแสดงรถพระที่นั่งโบราณและราชรถสำหรับขบวนแห่พระบาง

ค่าใช้จ่าย: 30,000 กีบ (120 บาท)

เวลาเยี่ยมชม: เปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร (8.00-11.30 และ 13.30-16.00)

โดยภาพรวมผมว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ๆน่าสนใจ ถ้าใครมาเที่ยวที่หลวงพระบาง ผมว่าก็ควรหาเวลามาเยี่ยมชมให้ได้นะครับ จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย

สำหรับรีวิวในตอนนี้ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ ในตอนหน้าเราจะเปลี่ยนแนวไปเที่ยวน้ำตกกันบ้าง เรื่องราวจะเป็นยังไง ฝากติดตามด้วยนะครับ

ตอนอื่นๆ

ตอนที่ 1: เตรียมตัวเที่ยวหลวงพระบาง

ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด

ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง

ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง

ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี

ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง




 

Create Date : 27 มกราคม 2561    
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:53:58 น.
Counter : 2812 Pageviews.  

4 วัน 3 คืน หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง)

 
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเชียงทอง, Laos
พิกัด GPS : 19° 53' 50.70" N 102° 8' 35.30" E
 
วันที่สอง

นับแต่ก็ตั้งอาณาจักรล้านช้างโดยขุนบรม ชาวลาวจะนับถือธรรมชาติ และภูตผีปีศาจ จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระเจ้าฟ้างุ้ม ที่ทรงนำเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงในอาณาจักรล้านช้าง นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาก็กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติของชาวลาวจนถึงปัจจุบัน

ประจักษ์พยานแห่งความศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวลาวก็คือ วัดต่างๆทั่วทั้งประเทศ เฉพาะในเมืองหลวงพระบางก็มีวัดต่างๆมากมาย ทั้งใหญ่และเล็กมากกว่า 20 วัด ในรีวิวตอนนี้ เราจะมาเที่ยววัดสำคัญ 4 วัดทั่วเมืองหลวงพระบาง จะมีวัดอะไรบ้างมาชมกันเลยครับ       

1) วัดเชียงทองราชวรมหาวิหาร (วัดเชียงทอง)

เป็นวัดอันดับหนึ่งของหลวงพระบางที่ ต้องห้ามพลาดเด็ดขาด เนื่องจากวัดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็น อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว

ค่าเข้าชม: 20,000 กีบ (80 บาท)

วัดนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก่อนที่พระองค์จะย้ายราชธานีไปอยู่ที่เวียงจันทน์

วัดนี้ถือเป็นวัดเพียงไม่กี่แห่งที่ไม่ถูกทำลาย ภายในจึงมีความสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่น่าสนใจของวัดนี้ ได้แก่

สิม

เป็นสิมแบบหลวงพระบางแท้ๆ หลังคามีช่อฟ้าสีทอง 17 ยอด (หมายถึง วัดนี้ถูกสร้างโดยกษัตริย์ เพราะถ้าเป็นขุนนางหรือคนธรรมดาสร้างจะมีเพียง 1-7 ยอด)

Note: สิมแบบหลวงพระบาง เป็นสิมที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากสิมแบบล้านนา จะสังเกตว่าสิมของวัดเชียงทองจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ พระอุโบสถของวัดโลกโมฬี ในจังหวัดเชียงใหม่มาก (ลอง search ดูรูปเปรียบเทียบใน google ได้เลยครับ)

ผนังด้านในประดับด้วยงามจิตรกรรมลายรดน้ำ ปิดทองบนพื้นดำ แสดงภาพพุทธประวัติ 

ประตูแแกะสลักอย่างงดงาม โดย พระยาตัน ซึ่งเป็นสุดยอดช่างฝีมือแห่งหลวงพระบาง

หอพระม่าน

ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่า แต่ปกติหอนี้จะปิด ถ้าใครอยากดูต้องมองลอดช่องประตูเข้าไปครับ

หอพระพุทธไสยาสน์

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อายุ 400 กว่าปี (ฝรั่งเศสเคยเอาพระพุทธรูปนี้ไปจัดแสดงที่กรุงปารีสด้วย)

โรงเมี้ยนโกศ

สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2505 เพื่อเป็นที่เก็บราชรถและพระโกศ ซึ่งมี 3 องค์ ได้แก่ พระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา, พระโกศของพระปิตุลา และพระโกศของพระราชชนนี

2) วัดใหม่สุวรรณพูมาราม (วัดใหม่)

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ได้รับการบูรณะใหม่หลายครั้ง จนรูปแบบสิมเป็นแบบ สิมแบบผสมหลังคา
5 ชั้น

ผนังด้านหน้าเป็นประติมากรรมปูนปั้นสีทองเรื่องรามเกียรติ์กับพระเวสสันดร

ภายในประดิษฐาน พระเอ้ ซึ่งชาวหลวงพระบางให้ความเคารพนับถือ

วัดนี้ยังเป็น ที่ประทับของพระสังฆราชลาวองค์สุดท้าย และยังในช่วงสงกรานต์ทางการจะอัญเชิญ พระบาง มาประดิษฐานที่ลานด้านหน้าวัดนี้ให้ประชาชนร่วมสรงน้ำอีกด้วย

ค่าเข้าชม: 10,000 กีบ (40 บาท)


3) วัดวิชุนราช

วัดนี้สร้างโดย พระเจ้าวิชุนราช ในปีพ.ศ.2046 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบาง อยู่ช่วงหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ.2057 พระนางพันตีนเซียง ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชได้มีรับสั่งให้สร้าง พระธาตุหมากโม ขึ้น (นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระธาตุนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก พระมหาสถูปสาญจี ที่ประเทศอินเดีย)

Note: วัดนี้จะอยู่ห่างออกมาจากถนนเส้นหลักซักหน่อยแต่เดินได้ครับ

4) วัดพูสี (พระธาตุพูสี)

พูสีเป็นชื่อยอดเขาสูง 150 เมตร กลางเมืองหลวงพระบาง (ตรงข้ามพระราชวังหลวงพระบาง) ตามตำนานเชื่อว่าในอดีตตรงนี้เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤาษีอาศัยอยู่ ผู้คนจึงเรียกว่า พูฤาษี ก่อนที่จะเพี้ยนเป็นพูสีในปัจจุบัน ด้านบนมีพระธาตุพูสี ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวหลวงพระบาง

ด้านบนนี้เราจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองหลวงพระบางได้แบบ 360 องศา

พระธาตุพูสีเป็นสถานที่ๆควรมาชมตอน พระอาทิตย์ตกดิน ครับ วิวด้านบนเป็นอะไรที่สุดยอดมาก (แนะนำว่าควรมาตั้งแต่สี่โมงเย็นเพื่อมาจับจองพื้นที่ชมวิว) 

จริงๆวัดในเมืองหลวงพระบางยังมีอีกเยอะมาก แต่วัดที่ผมคัดมาในรีวิวตอนนี้ เป็นวัดที่น่าจะไปเยี่ยมชมในมุมมองของผมครับ

นอกจากวัดพวกนี้แล้ว วัดที่น่าไปเยี่ยมชมอีก ได้แก่

- วัดแสนสุขาราม
วัดสบสิกขาราม
- วัดสีบุนเฮือง
วัดปากคาน

- วัดสุวันนะคิลี

วัดทั้งหมดนี้จะอยู่ตรงทางไปวัดเชียงทอง ในกรอบสี่เหลี่ยมหมายเลข 1 นะครับ

สำหรับรีวิวในตอนที่ 3 ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ ในตอนหน้าจะเป็นการเที่ยวในวันที่สาม ซึ่งผมจะพาไปเยี่ยมชม อดีตพระราชวังหลวงพระบาง  ที่ปัจจุบันกลายเป็น หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง ไปแล้ว เรื่องราวจะเป็นยังไง ฝากติดตามด้วยนะครับ

ตอนอื่นๆ

ตอนที่ 1: เตรียมตัวเที่ยวหลวงพระบาง

ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด

ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง

ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง

ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี

ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง




 

Create Date : 26 มกราคม 2561    
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:53:10 น.
Counter : 4128 Pageviews.  

4 วัน 3 คืน หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด)

 
สถานที่ท่องเที่ยว : เมืองหลวงพระบาง, Laos
พิกัด GPS : 19° 53' 27.46" N 102° 8' 11.23" E
 
วันที่หนึ่ง

ทริปนี้ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองด้วยสายการบิน Thai Air Asia เที่ยวบินที่ FD 1030 โดยถึงที่หลวงพระบางตอน 15.30 ครับ

ตัวอย่างใบตม.ของประเทศลาว แนะนำให้กรอกให้เรียบร้อยตั้งแต่อยู่่บนเครื่องนะครับ

เมื่อเดินทางมาถึงที่หลวงพระบาง ด่านแรกที่เราจะเจอ ก็คือ สนามบินหลวงพระบาง หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับที่นี่ให้มากขึ้นกันดีกว่า

ท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง

เป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของประเทศลาว รองจาก ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต (ที่นครหลวงเวียงจันทน์) ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงพระบางเพียง 7 กิโลเมตร และยังเป็นฐานการบินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศลาว โดยมีสายการบินต่างๆมาลงที่นี่ทั้ง Domestic และ International Flight ได้แก่ Bangkok Airway, Laos Airline, การบินไทย, Aia Asia, Laos Central Airline, Vietnam Airline และ China Eastern Airline

ปัจจุบันสนามบินแห่งนี้เพิ่งจะเปิดใช้อาคารแห่งใหม่ โดยได้รับเงินลงทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลจีน ภายในอาคารมีทั้งร้านค้าต่างๆให้เดินเพลินๆ รวมทั้งไวไฟฟรีให้เล่นด้วยครับ

การผ่านตม.

อย่างที่บอกไปในตอนแรกแล้วว่าคนไทยมาลาวไม่ต้องขอวีซ่า (ถ้าอยู่ไม่เกิน 30 วัน) ดังนั้นเมื่อลงจากเครื่องแล้ว เราก็เข้าช่องผ่านตม.ไปเลย (ของพวกฝรั่งต้องไปขอ Visa on Arrival ก่อน) ขั้นตอนนี้ไม่ต้องซีเรียสครับผ่านทุกคน

ข้อเสียของตม.ที่นี่คือ ทำงานช้ามากกกกกก เฉลี่ยต่อคนใช้เวลาตรวจเอกสารถึง 3-4 นาทีเลยทีเดียวครับ

การเข้าเมืองหลวงพระบาง

เมื่อออกจากสนามบินจะมีรถตู้/Taxi เข้าเมืองในราคามาตรฐานที่ 6 USD หรือ 200 บาทต่อคน

ถ้าใครมากันหลายๆคน ผมแนะนำให้สอบถามราคาของบริการ Airport transfer ของที่พักต่างๆ (มีอยู่แทบทุกที่) อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่ารถแท็กซี่ครับ อย่างเช่นในทริปนี้ผมไปกัน 4 คน ถ้าขึ้น Taxi อาจจะต้องเสียถึง 800 บาท แต่ค่าบริการ Airport transfer ของโรงแรม Café de Laos Inn กลับคิดในราคาเพียง 500 บาทเท่านั้น

ช็อปปิ้งตลาดมืด

ผมมาถึงที่พักตอนประมาณ 16.00 . ซึ่งก็คงไม่มีเวลาทำอะไรเท่าไหร่ ผมจึงใช้เวลาในช่วงที่เหลือของวัน ในการเที่ยวเบาๆชมเมืองเล็กๆแห่งนี้ ซึ่งกิจกรรมยอดฮิตที่หลายๆคนที่น่าจะชอบก็คือ การมาช็อปปิ้งที่ตลาดมืดครับ 

ตลาดมืดในที่นี่ไม่ได้หมายถึง ตลาดที่ขายของผิดกฎหมาย แต่เป็นตลาดกลางคืนตั้งอยู่ระหว่างหน้าพระราชวังหลวงพระบาง กับพระธาตุพูสี 

ตลาดแห่งนี้จะขายของพวกสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆ เช่น ผ้าทอ พวงกุญแจ เสื้อยืด 

Comment: แม้ว่าโดยส่วนตัวผมจะไม่ใช่สายช็อปปิ้งเท่าไหร่ แต่ผมว่าตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่เดินเพลินมาก ของที่ขายก็น่าซื้อ และราคาก็ไม่แพงอย่างที่คิด (ต่อราคาได้เยอะเลย) ถ้าใครมาเที่ยวที่นี่อย่าลืมแวะช็อปที่นี่นะครับ (ผมมาทุกวันเลย)

ร้าน Bouang

หลังช็อปเสร็จก็ได้เวลาอาหารเย็นพอดี ร้านที่ผมจะมาแนะนำในวันนี้ก็คือ ร้าน Bouang ครับ

ที่ตั้ง: ร้านนี้ตั้งอยู่บนถนนเส้นหลัก (ถนนศรีสว่างวงศ์) ฝั่งเดียวกับพระธาตุพูสี เดินจากพระธาตุไปไม่ไกลครับ (ถ้าหาไม่เจอ ลอง search จาก google map ดูก็ได้ครับ)

ร้านนี้อาจจะไม่ใช่ร้านที่หนังสือไกด์บุ๊คของไทยแนะนำ แต่สำหรับ Tripadvisor ร้านนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นร้านอาหารอันดับหนึ่งของเมืองนี้เลย เพราะอะไร เรามาดูกันครับ

เริ่มที่เมนูที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร

อาหารที่นี่จะเป็นอาหารลาวสไตล์ฟิวชั่นแบบที่ฝรั่งกิน รสชาติอาจจะไม่จัดจ้านอย่างที่คนไทยบางคนคาดหวัง (แต่จริงๆอาหารลาวหลวงพระบางแท้ๆก็ไม่ได้รสจัดอยู่แล้ว)

Comment: สำหรับบรรยากาศร้านนี้ให้ชนะเลิศเลยครับจัดร้านสวย น่านั่งมากๆ ส่วนอาหารถึงจะเป็นสไตล์ฟิวชั่น แต่ผมว่าก็อร่อยดีสมราคาร้านอาหารอันดับหนึ่ง

ข้อเสียของร้านนี้อย่างเดียวคือ ร้านนี้มีเจ้าของร้านเป็นฝรั่ง และพนักงานที่นี่เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ (น่า) จะใช่ชาวลาว เวลาจะสั่งอาหารหรือคุยกับพนักงานจึงต้องใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น

หลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จ ผมก็เดินเที่ยวอีกเล็กน้อย เมื่อได้เวลาสมควรก็กลับที่พักเพื่อพักผ่อนเอาแรง สำหรับการเที่ยวที่หนักหน่วงในวันพรุ่งนี้ รีวิวในตอนนี้ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ


ตอนอื่นๆ

ตอนที่ 1: เตรียมตัวเที่ยวหลวงพระบาง

ตอนที่ 2: ช็อปปิ้งที่ตลาดมืด

ตอนที่ 3: วิถีพุทธแห่งหลวงพระบาง

ตอนที่ 4: เที่ยววังเก่าหลวงพระบาง

ตอนที่ 5: เที่ยวน้ำตกตาดกวางสี

ตอนที่ 6: นั่งเรือเที่ยวถ้ำติ่ง




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2560    
Last Update : 17 มิถุนายน 2566 21:52:33 น.
Counter : 5372 Pageviews.  

1  2  3  4  

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.