Welcome to my blog

4 วัน 3 คืน มัณฑะเลย์ ตามรอยประวัติศาสตร์ราชวงศ์พม่า (ตอนที่ 2: สะกาย+มิงกุน+อังวะ+อมรปุระ)


สถานที่ท่องเที่ยว : วัดมหาอองยีบองซาน (Maha Aungmye Bonzan Temple), เมืองอังวะ, Myanmar 
พิกัด GPS : 21° 53' 30.05" N 96° 3' 40.41" E


วันที่สาม       

หลังจากในตอนที่ผ่านมา ผมได้พาทุกคนเที่ยวในเมืองมัณฑะเลย์จนครบแล้ว ในวันนี้เราจะมาเที่ยวเมืองข้างเคียงกันบ้างครับ อย่างที่เคยเกริ่นไว้ในตอนแรกๆว่า พื้นที่รอบๆเมืองมัณฑะเลย์เป็นบริเวณที่ถูกเรียกว่า พม่าแท้ (Real Myanmar) เพราะมีเมืองประวัติศาสตร์ของชาวพม่าที่สำคัญมากมายตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ได้แก่ อังวะ สะกาย มิงกุน และ อมรปุระ  (แผนที่จาก Mr.Hotsia)


วิธีการเดินทางไปยังเมืองโบราณ 4 แห่งรอบเมืองมัณฑะเลย์ที่สะดวกที่สุดก็คือ หารถเช่าพร้อมคนขับ โดยเราสามารถให้โรงแรมติดต่อหารถเช่าให้ หรือติดต่อด้วยตัวเองผ่านบริษัททัวร์ต่างๆในเมืองมัณฑะเลย์

สำหรับทริปนี้ ผมเลือกใช้บริการของ Mr.Zin Private Taxi and Tour ซึ่งเป็นบริษัทรถเช่าพร้อมคนขับที่ได้คะแนนรีวิวเป็นอันดับหนึ่งใน Tripadvisor และจากการที่ผมติดต่อรถมาหลายเจ้า ที่นี่ให้ราคาดีสุดคือ 50 USD ต่อวัน หรือคิดเป็นเงินไทยแค่ 1,500 บาทต่อวันเท่านั้นครับ (รถนั่งได้ 4 คน หารกันเหลือคนละไม่กี่ร้อย)
 

ใครสนใจจะใช้บริการรถเช่าของบริษัทนี้ ลองทักไปถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/mrzinmdy/

ตามโปรแกรมคือ เวลา 9 โมง รถจะมารับเราจากโรงแรมในเมืองมัณฑะเลย์ จากนั้นก็จะออกเดินทางข้ามแม่น้ำอิรวดี เพื่อมุ่งหน้าไปยัง เขตสะกาย (Sagiang region) ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่อยู่ทางเหนือของพม่า มีอาณาเขตติดกับประเทศอินเดีย รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐชิน รวมทั้งเขตมัณฑะเลย์ โดยมีแม่น้ำอิรวดีเป็นตัวคั่น มีเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ โมนยวา (Monywa) แต่ศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่ เมืองสะกาย (Sagaing cty)

 

เขตสะกายมีเมืองโบราณที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

ชเวโบ (Shwebo) เป็นบ้านเกิดของพระเจ้าอลองพญา

- โมนยวา (Monywa) ที่ตั้งของถ้ำพระที่ได้ชื่อว่าเป็น เพตราแห่งพม่า

มิงกุน (Mingun) ที่ตั้งของเจดีย์ขาวที่ได้ชื่อว่าเป็น ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิรวดี

- สะกาย (Sagaing city) อดีตเมืองหลวงช่วงสั้นๆสมัยราชวงศ์คองบอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่จำกัด ผมจึงเลือกเที่ยวแค่ 2 เมืองนั่นก็คือ มิงกุน และ สะกาย เท่านั้นครับ แต่ถ้ามีโอกาส ผมคงมาเที่ยวที่เขตนี้ซ้ำอีกแน่

การเที่ยวในเขตสะกายจะต้องซื้อตั๋วที่เรียกว่า Mingun-Sagaing Archeological Admission Ticket ในราคา 5,000 จ๊าด ตั๋วนี้จะสามารถใช้ในการเที่ยวชมโบราณสถานสำคัญในเมืองสะกายและมิงกุนได้ทั้งหมด

 

มาเริ่มที่ เมืองมิงกุน (Mingun) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองสะกาย (Sagaing city) 

จริงๆแล้ว การเดินทางมาที่เมืองนี้จากมัณฑะเลย์มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีคือ ทางเรือ และทางรถครับ เอาเป็นว่า ถ้าใครอยากมีเวลาน้อย และเน้นสะดวก มาทางรถน่าจะดีกว่า เพราะจะได้เที่ยวหลายๆเมืองในวันเดียว แต่ถ้าใครมีเวลาเยอะๆ อยากเน้นบรรยากาศชิลล์ๆกลางแม่น้ำอิรวดี การเดินทางทางเรือก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ (ทริปนี้เรานั่งรถมา)


สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองมิงกุนหลักๆที่นักท่องเที่ยวนิยมมามีอยู่ด้วยกัน 3 ที่ ดังนี้ ได้แก่

1. เจดีย์มิงกุน (Mingun Pahtodawgyi)

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจดีย์จักรพรรดิ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของ พระเจ้าปดุง (คนที่ทำสงครามเก้าทัพ) เพื่อใช้ประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้มาจากพระเจ้ากรุงจีน


แค่ส่วนฐานของเจดีย์ก็มีความใหญ่โตมากราวกับเป็นภูเขาอิฐขนาดย่อมๆ ว่ากันว่า ถ้าหากเจดีย์นี้สร้างเสร็จตามแผนจะเป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในโลกคือ สูงถึง 152 เมตร (ใหญ่กว่าพระปฐมเจดีย์ของไทย) แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การสร้างเจดีย์มิงกุนนี้ต้องใช้งบประมาณและแรงงานคนมาก และพระเจ้าปดุงยังเสด็จสวรรคตไปก่อนที่เจดีย์จะสร้างเสร็จ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษ เจดีย์จึงถูกทิ้งร้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ เจดีย์ยังเจอกับแผ่นดินไหวอีก 2-3 ครั้ง จนเกิดรอยร้าวมาจนถึงทุกวันนี้ (มีการประมาณการกันว่า เจดีย์นี้คงอยู่ได้อีกไม่นาน ถ้าเจอแผ่นดินไหวแรงๆอีกครั้งคงพังลงมา แนะนำว่า ควรจะรีบไปดูนะครับ)


2. ระฆังมิงกุน (Mingun Bell)

ระฆังนี้ก็สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าปดุงเช่นเดียวกับเจดีย์มิงกุนครับ พระองค์กะว่าจะเอาระฆังนี้ไปแขวนไว้คู่กับเจดีย์มิงกุน แต่เจดีย์สร้างไม่เสร็จระฆังก็เลยยังอยู่ตรงนั้น

เส้นรอบวงของระฆังนี้คือ 10 เมตร และหนักเกือบ 90 ตัน ถือเป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากระฆังยักษ์ที่พระราชวังเครมลินของรัสเซีย แต่เนื่องจากระฆังที่รัสเซียไม่สามารถใช้การได้แล้ว ระฆังมิงกุนจึงถือเป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดที่ยังตีได้ในปัจจุบัน

มีธรรมเนียมของพม่าเกี่ยวกับระฆังนี้ด้วยครับ ว่ากันว่า ถ้าใครขอพรแล้วตีระฆังนี้ พรนั้นจะเป็นจริง แต่พรที่ขอต้องขอให้คนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง


3. เจดีย์ชินพิวเม (Hsin Byu Me Pagoda)

มีอีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์เมียะเต็งดาน (Mya Thein Tan Pagoda) เป็นเจดีย์สีขาว ซึ่งมีองค์เจดีย์สูงอยู่กลางยอดและรายรอบเป็นวงกลมด้วยเจดีย์บริวาร สร้างขึ้นตามหลักไตรภูมิ เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนว่า ยอดตรงกลางคือเขาพระสุเมรุอันเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล ล้อมรอบด้วยภูเขา และมหาสมุทร


เจดีย์นี้สร้างขึ้นตามพระราชดำริของ พระเจ้าจักกายแมง ซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ของพระเจ้าปดุง เพื่อถวายแด่พระชายาของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ เนื่องจากประวัติความเป็นมาของเจดีย์นี้คล้ายกับเรื่องราวของทัชมาฮาลที่พระเจ้าชาห์จะฮันสร้างเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่มีต่อพระนางมุมทัชมาฮาล เจดีย์นี้จึงได้ชื่อว่าเป็น ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิรวดี

หลังจากเที่ยวเมืองมิงกุนเสร็จ เราก็นั่งรถย้อนกลับเพื่อไปยังเที่ยวเมืองเอกของเขต นั่นก็คือ เมืองสะกาย (Sagaing city) กันต่อ

เมืองสะกายเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำอิรวดี สร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เพื่อเป็นเมืองหลวงของ อาณาจักรสะกาย (ค.ศ. 1315–1364) ซึ่งอาณาจักรเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม

 

สะกายยังเคยเป็นเมืองหลวงของพม่าช่วงสั้นๆระหว่างปี ค.ศ. 1760–1763 ในรัชสมัยของ พระเจ้ามังลอก และเคยเป็นเมืองที่ถูกจัดให้ชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนมาหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มาลงหลักปักฐาน

เป้าหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวที่เมืองนี้คือ การมาชมวิวมุมสูงของเมืองสะกายจาก เนินเขาสะกาย (Sagaing Hill) ซึ่งมีวัดอยู่ด้วยกัน 2 แห่งคือ

1. วัดอูมินธอนเซ (U Min Thonze Cave Temple)

ชื่อของวัดนี้แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า วัดเจดีย์สามสิบถ้ำ สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์ของพระเจ้าตะโดมินพญา แห่งอาณาจักรอังวะ ในปีค.ศ.1366

สาเหตุที่เรียกเจดีย์นี้ว่า เจดีย์สามสิบถ้ำ เพราะด้านบนเจดีย์จะมีประตูที่มีลักษณะคล้ายกับถ้ำ 30 ประตู ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 45 องค์



2. วัดซุนอูปนยาชิน (Sun U Ponya Shin Pagoda)

เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเนินเขาสะกาย (Sagaing Hill) ที่ความสูง 240 เมตร วัดนี้มียอดเจดีย์ สูงถึง 29 เมตร ภายในเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


ไฮไลท์ของวัดนี้คือ เราสามารถชมวิวจากมุมสูงของ เนินเขาสะกาย (Sagiang Hill) มองไปด้านล่างเห็นเจดีย์ที่มีฉากหลังเป็นแม่น้ำอิรวดี

 

นอกจากนี้ ลงจากเนินเขายังมี วัดกวงมูดอว์ (Kunghmudaw Pagoda) หรือที่ทัวร์ไทยนิยมเรียกว่า เจดีย์นมนาง อีกด้วยครับ แต่เนื่องจากทริปนี้เวลาไม่พอ เราจึงได้แต่ชมเจดีย์จากมุมสูงไกลๆ


สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเขตสะกายก็มีประมาณนี้แหละครับ พวกนี้เป็นสถานที่ๆควรมา แต่ถ้าใครมีเวลามากกว่านี้ก็สามารถเก็บวัดอื่นๆได้อีก หรือถ้ามีเวลาเหลือเฟือก็สามารถขึ้นไปเที่ยวถึงเมือง โมนยวา (Monywa) และ ชเวโบ (Shwebo) ด้วยก็ได้ และถ้ามีโอกาสผมก็อยากมาเที่ยวเขตนี้เต็มๆอีกสักรอบครับ

หลังจากเที่ยวที่เมืองสะกายเสร็จแล้วก็ได้เวลาอาหารเที่ยง ในเมื่อเราออกมาเที่ยวนอกเมืองมัณฑะเลย์แบบนี้ ตอนแรกผมก็แอบเป็นห่วงเรื่องอาหารการกินว่า จะสะอาดหรือเปล่า คนไทยจะกินได้ไหม คนขับรถของเราจึงแนะนำ ร้านที่ชื่อว่า Sagaing Hill Restaurant ครับ


ร้านนี้อยู่ตรงทางขึ้นเนินเขาสะกาย (Sagaing Hill) โดยรวมค่อนข้างสะอาดใช้ได้เลยทีเดียว อาหารก็รสชาติดี คนไทยทานได้ ร้านตกแต่งร่มรื่น บรรยากาศดี ห้องน้ำสะอาด ส่วนใหญ่ทัวร์ต่างชาติก็จะมาทานที่นี่ทั้งนั้น ที่สำคัญพนักงานสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพอใช้ได้ เวลาสั่งไม่มีปัญหาเลยครับ


ร้านนี้มีข้อเสียนิดเดียวคือ เรื่องแมลงวัน แต่อันนี้ควบคุมได้ยาก ไปไหนก็เจอ เลยพอให้อภัยได้ นอกนั้นผ่านหมดครับ

หลังจากทานอาหารกลางวันที่เมืองสะกายเสร็จ คนขับรถของเราก็พาข้าม สะพานอังวะ (Ava Bridge) เพื่อกลับมายังฝั่งเขตมัณฑะเลย์ จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังท่าเรือสำหรับข้ามไปยังเมืองอังวะ
 
 
เมืองอังวะ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ กรุงรัตนปุระอังวะ เป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าหลายครั้ง นับตั้งแต่การล่มสลายลงของอาณาจักรพุกาม 

อังวะถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงครั้งแรกในรัชสมัย พระเจ้าตะโดมินพญา ในปี ค.ศ.1364 หลังจากนั้นอังวะก็มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายพระองค์ และบางคราวอังวะก็ถูกปกครองโดยกษัตริย์ชาวไทใหญ่ จนมาถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู อังวะก็ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหงสาวดี เป็นอันสิ้นสุดอาณาจักรอังวะที่ปกครองแถบพม่าตอนบนมาเกือบ 200 ปี

 

 
ต่อมา อาณาจักรอังวะก็ถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งหลังการล่มสลายของอาณาจักรหงสาวดีโดย พระเจ้านยองยาน แห่งราชวงศ์ตองอู จากนั้นอังวะก็มีกษัตริย์ราชวงศ์ตองอูปกครองเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของ พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี อาณาจักรอังวะก็ถูกมอญตีแตกเป็นอันสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ตองอู

อย่างไรก็ตาม อาณาจักรของชาวพม่าก็ถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว โดย พระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์คองบอง และในช่วงการปกครองของราชวงศ์คองบอง อังวะก็ยังถูกใช้เป็นเมืองหลวงอีกหลายครั้ง ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ามังระ, พระเจ้าจิงกูจา, พระเจ้าจักกายแมง และพระเจ้าแสรกแมง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2382 พระเจ้าแสรกแมงจึงย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองอมรปุระซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน หลังจากนั้นอังวะก็ไม่ได้ถูกใช้เป็นราชธานีอีกเลย ทำให้ในปัจจุบัน เมืองอังวะที่เคยยิ่งใหญ่ก็กลายเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเมืองอังวะ ก็คือในช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้มีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวไทยมาไว้ที่นี่ ทำให้วัดต่างๆ มีร่องรอยศิลปะอยุธยาให้เราได้ชมกันครับ

 

เนื่องจาก อังวะเป็นเมืองที่มีลักษณะเป็นเกาะกลางแม่น้ำครับ เกาะนี้ป็นจุดบรรจบระหว่าง แม่น้ำมยิตเง (Myitnge River) กับ แม่น้ำอิรวดี (Irrawady River) ดังนั้น การเดินทางเข้าสู่เมืองอังวะที่รวดเร็วที่สุดคือ การนั่งเรือข้ามแม่น้ำมยิตเง โดยค่าเรือจะอยู่ที่ 1,500 จ๊าด สำหรับการนั่งเรือแบบไป-กลับ 
 
 
นอกจากนั่งเรือ เรายังสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองอังวะได้ทางถนน แต่เนื่องจากต้องอ้อมไปไกล และถนนไม่ดี ทำให้เสียเวลามาก ดังนั้นการเดินทางทางเรือจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเมืองอังวะจะนิยมเช่ารถม้าสำหรับการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆภายในเมือง ปัจจุบันมีการจัดระเบียบรถม้าให้มีเส้นทาง และราคาที่ได้มาตรฐานคือ 15,000 จ๊าด (ไม่รวมทิป) สำหรับการเที่ยวชมเมืองอังวะ 1 รอบ โดยรถม้า 1 คันจะนั่งได้ 2 คน (จริงๆจะนั่ง 3 คนก็ได้ครับ เค้าจะคิดราคาอยู่ที่ 22,500 จ๊าด แต่อย่าเลยครับ สงสารม้า)
 
 
 
การนั่งรถม้าที่นี่ค่อนข้างจะอันตรายไปซะหน่อย มีรายงานว่าหลายๆครั้ง ม้าก็พยศ นักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บก็มีมาก เอาเป็นว่าใครรับได้ก็รับครับ แต่ถ้ารับไม่ได้ก็อย่าไปเลย

คนพม่าบอกผมมาว่า รถม้าที่ผู้หญิงขับจะเสี่ยงอันตรายกว่ารถม้าที่ผู้ชายขับ และทางรัฐบาลท้องถิ่นก็พยายามให้ผู้หญิงที่นี่เลิกขับรถม้า แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เอาเป็นว่า ถ้าใครจะขึ้นจริงๆ ให้เลือกรถม้าที่ผู้ชายเป็นคนขับน่าจะดีกว่า (แต่รถม้าที่ผมขึ้นก็มีผู้หญิงเป็นคนขับ และผมก็ปลอดภัยกลับมาเขียนบล็อกนี้อยู่นะ)

Tip: ที่เมืองอังวะ ถนนยังเป็นลูกรังอยู่ ทำให้เวลารถม้าวิ่งฝุ่นจะคลุ้งมาก ใครจะไปแนะนำให้เตรียมผ้าปิดปาก ปิดจมูกไปด้วย


สำหรับการเที่ยวชมสถานที่ในเมืองอังวะต้องใช้ตั๋วครับ โดยเราสามารถใช้ Mandalay Archaeological Zone Ticket ที่ใช้ชมพระราชวังมัณฑะเลย์, วิหารชเวนันดอว์ และอารามอาตุมาชิ แสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้เลย (ถ้าเจอ) แต่จากการเที่ยวชมทั้งเมือง ผมยังไม่เจอกับเจ้าหน้าที่มาเช็คตั๋วเลยสักคน

 
สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองอังวะ ที่เราได้มีโอกาสไปนั่งรถม้าเยี่ยมชมมีดังนี้ครับ

1. วิหารไม้บากายา (Bagaya Monastery)                        

วิหารนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าจักกายแมงในปี พ.ศ.2377 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย) เป็นวิหารที่สร้างขึ้นด้วยไม้สักทั้งหลัง และมีเสามากถึง 267 ต้น
        
 
 
ไฮไลท์ที่สำคัญของวัดนี้คือ ทีนี่มีงานแกะสลักไม้สกุลช่างอยุธยาอยู่จำนวนมาก รวมทั้ง ครุฑยุดนาค ซึ่งจะสังเกตว่า บนเศียรของครุฑมีการสวมชฎาซึ่งเป็นศิลปะของอยุธยา ส่วนเครื่องแต่งกายจะเป็นแบบผสมผสานระหว่างไทยกับพม่า ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคน สันนิษฐานว่า การแกะสลักนี้ น่าจะเป็นผลงานของลูกหลานชาวอยุธยาในรุ่นหลังๆ ที่สืบสานงานศิลปะจากคนอยุธยารุ่นก่อน เนื่องจากวัดนี้ก่อสร้างหลังจากเหตุการเสียกรุงไปนานเกือบ 70 ปีแล้ว
 

 



 
เนื่องจากวัดนี้เก่ามากและยังไม่ได้รับการบูรณะ ใครจะไปก็เดินระวังหน่อยนะ พื้นบางส่วนไม้ทะลุ บางส่วนก็ผุ อาจจะได้รับอันตรายได้ครับ

2. วัดยาดานาซินเม (Yadana Hsemee Pagoda Complex)

เป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ถัดออกมานอกเมืองอังวะไม่ไหล สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรอังวะยุคแรก (ปี ค.ศ.1430) โดย พระเจ้าโมญินตะโด เพื่อใช้เก็บพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวที่ได้รับมาจากลังกา

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของวัดนี้ ก็คือร่องรอยทางสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาที่เราสามารถมองเห็นได้หลายๆส่วนของวัด ทั้งเจดีย์


 ตัววิหารของวัดจะมีลายเครือเถา อยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร
 

พระวิหารจะมีเสาขนาดใหญ่ไว้รองรับน้ำหนักพระวิหาร ซึ่งอันนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับที่พบที่อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านนา
 

 
ภายในพระวิหารพบพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะอยุธยาและศิลปะพม่า

 
3. หอคอยเอียงเมืองอังวะ (Nanmyint Watch Tower)

หอคอยนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังเมืองอังวะ สูง 30 เมตร สร้างในปี พ.ศ.2365 ในรัชสมัยพระเจ้าจักกายแมง เพื่อใช้สำหรับสังเกตการณ์

หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวในปี พ.ศ.2381 ทำให้หอคอยแห่งนี้เกิดการเอียงตัว แม้ภายหลังจะได้รับการบูรณะตามแบบโครงสร้างเดิม แต่หลายคนยังนิยมเรียกว่า ‘หอคอยเอนเมืองอังวะ’ มาจนถึงปัจจุบัน

 
 
ปัจจุบัน หอคอยนี้ขึ้นไม่ได้ครับ เราได้แค่ชมจากข้างล่างเท่านั้น
 

 
4. วัดมหาอังยีบองซาน (Maha Aungmye Bonzan Temple)

วัดนี้สร้างขึ้นโดย พระนางแมนู พระอัครมเหสีของพระเจ้าจักกายแมง เป็นพระมารดาของพระนางอเลนันดอ และเป็นพระอัยยิกา (ยาย) ของพระราชินีศุภยาลัตครับ

เดิมทีวัดนี้สร้างขึ้นด้วยโครงสร้างไม้ แต่ภายหลังได้พังทลายลง จึงเพิ่มโครงสร้างแบบปูนเข้าไปแทน

 


 
ทั้งหมดนี้เป็นสถานที่สำคัญ 4 แห่งที่เราได้ไปเยือนในเมืองอังวะครับ จากนั้น รถม้าก็พาเราไปส่งที่ท่าเรือเพื่อขึ้นเรือกลับไปยังฝั่งเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายของทริปนี้ นั่นก็คือ สะพานไม้อูเบ็งแห่งเมืองอมรปุระ

สะพานไม้อูเบ็ง (U Bein Bridge) เป็นสะพานไม้ที่สร้างขึ้นสำหรับใช้สัญจรข้าม ทะเลสาบตองตะมาน (Taung Tha Man Lake) มีความยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก (คล้ายๆกับสะพานมอญที่สังขละบุรี แต่ยาวกว่า)
 

 
สะพานนี้สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระเจ้าปดุง มีผู้คุมการก่อสร้างคือ อู เบ็ง (U Bein) อันเป็นที่มาของชื่อสะพานนั่นเองครับ ว่ากันว่า ไม้ที่ใช้สร้างสะพานเป็นไม้สักที่ได้มาจากการรื้อถอนพระราชวังที่เมืองอังวะ โดยใช้ไม้ไปถึง 1,208 ต้น
 

 
 
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการมาเยี่ยมชมสะพานอูเบ็งก็คือ ช่วงพระอาทิตย์ตกดินครับ น่าเสียดายที่เรามาช้าไปหน่อย พระอาทิตย์เลยตกไปแล้ว
 
 
หลังจากเที่ยวชมสะพานไม้อูเบ็งเสร็จ เราก็กลับเข้าตัวเมืองมัณฑะเลย์ ทริป 1 วัน สำหรับ 4 เมืองโบราณรอบมัณฑะเลย์ ได้แก่ สะกาย มิงกุน อังวะ และอมรปุระ ก็จบเพียงเท่านี้ครับ

วันที่สี่

สำหรับทริปในวันสุดท้าย ตอนแรกผมตั้งใจจะไปช็อปปิ้งซื้อของฝากที่ ตลาดเซย์โช (Zay Cho Market) แต่เนื่องจากเราตื่นสายเลยตัดสินใจเปลี่ยนแผน ใช้เวลาพักผ่อนที่โรงแรม รอเวลารถมารับไปสนามบินดีกว่า

การเดินทางไปสนามบิน ผมก็ยังใช้บริการของ Klook เหมือนขามาครับ (แพงหน่อย แต่เน้นสะดวก ปลอดภัย)

 

 
Flight ของเราคือ FD345 นำพวกเรากลับสู่ประเทศไทย เป็นอันปิดทริปมัณฑะเลย์ที่สวยงามและประทับใจครับ
 
 
รีวิวภาพรวมเมืองมัณฑะเลย์

อ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ทริปมัณฑะเลย์น่าไปไหม ผมขอตอบว่า น่าไปสำหรับบางคนครับ เช่น ถ้าคุณเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ ชอบวัฒนธรรม ชอบวัด มัณฑะเลย์น่าจะตอบโจทย์คุณสุดๆ แต่ก่อนไป แนะนำให้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์พม่าไปเยอะๆนะ เล่มที่แนะนำคือ พม่าเสียเมือง ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วคุณจะอินกับการเที่ยวมัณฑะเลย์มากขึ้นเยอะเลย

แต่ถ้าใครเป็นคนที่เน้นเที่ยวสบายๆ เน้นแต่งตัวหล่อๆสวยๆ หรือเป็นสายช็อป ผมว่ามัณฑะเลย์และพม่าอาจจะไม่เหมาะครับ เพราะการเที่ยวพม่าจะไม่เหมือนประเทศอื่น หลายๆที่ยังเที่ยวค่อนข้างลำบาก สกปรก ฝุ่นเยอะ อากาศร้อน นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากยังเป็นวัดและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ถ้าใครไม่ชอบ ไม่อิน ผมว่าไม่น่าจะประทับใจในทริปแบบนี้ครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง




 

Create Date : 07 เมษายน 2563    
Last Update : 10 ธันวาคม 2566 23:07:12 น.
Counter : 3631 Pageviews.  

4 วัน 3 คืน มัณฑะเลย์ ตามรอยประวัติศาสตร์ราชวงศ์พม่า (ตอนที่ 1: เที่ยวในเมืองมัณฑะเลย์)


สถานที่ท่องเที่ยว : พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace), Myanmar 
พิกัด GPS : 21° 59' 34.34" N 96° 5' 47.55" E


มิงกาลาบา (สวัสดี) ครับทุกคน วันนี้ผมขออนุญาตกล่าวคำทักทายเป็นภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยนะครับ

ถ้าพูดถึงพม่า หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมา ไปแล้ว ประเทศนี้อาจจะยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับคนไทย ทั้งๆที่ไทยกับพม่ามีอาณาเขตติดกันมากกว่า 2,400 กิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับใครหลายคน อาจจะยังมองประเทศนี้ในแง่ลบ ทั้งในแง่ความปลอดภัย หรือเรื่องราวความบาดหมางในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ในรีวิวชุดนี้ ผมจะพาทุกคนไปพบกับอีกแง่มุมหนึ่งของประเทศนี้ ทั้งในด้านความสวยงาม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้า โดยเมืองที่ผมจะพาไปเที่ยวในทริปนี้มีชื่อว่า มัณฑะเลย์ (Mandalay) ครับ
            
ทริปนี้ผมไปมาในช่วงระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม 2562 เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน โดยใช้เวลาอยู่ที่ เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay city) รวมทั้งเมืองบริวารอย่าง สะกาย (Sagiang), มิงกุน (Mingun), อังวะ (Inwa) และ อมรปุระ (Amarapura) ครับ


รู้จักกับเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay)

เมืองมัณฑะเลย์ถือเป็นหัวเมืองที่ใหญ่ที่สุด และยังเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมใน แถบพม่าตอนบน (Upper Myanmar) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ถูกเรียกว่าเป็น พม่าแท้ (Real Myanmar) ต่างจากพม่าตอนล่าง (Lower Myamar) ซึ่งเป็นดินแดนที่ประชากรเป็นลูกผสมระหว่างชาวพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

บริเวณแถบพม่าตอนบน ยังถือเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวพม่า เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอดีตเมืองหลวงต่างๆทั้ง อังวะ สะกาย อมรปุระ และ มัณฑะเลย์ ซึ่งในทริปนี้ เราจะเที่ยวเก็บเมืองเหล่านี้ทั้งหมดครับ

เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในประเทศพม่า รวมทั้งที่เมืองมัณฑะเลย์เป็นวัด ข้อแนะนำอย่างหนึ่งสำหรับการเที่ยวที่นี่ก็คือ ให้ใส่รองเท้าแตะครับ เนื่องจากเวลาเข้าวัด เราต้องถอดรองเท้า จะได้ถอดง่ายๆ และที่นี่ยังห้ามใส่ถุงเท้า หรือถุงน่องเข้าวัดอีกด้วย นอกจากนี้ การแต่งกายเวลาเข้าวัด ก็ควรแต่งกายสุภาพ (กางเกงขายาว ห้ามใส่เสื้อแขนกุด สายเดี่ยว หรือเกาะอก)

Tip: เวลาที่ไปเที่ยว ผมแนะนำให้เตรียมถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ 1 ใบ ไว้ใส่รองเท้าไว้ด้วย เนื่องจากบางครั้งเราถอดรองเท้าไว้ข้างนอก อาจโดนขโมย หรือเสียเงินค่าฝากรองเท้า (แต่ถ้าใครไม่ซีเรียสมากก็ไม่เป็นไร)

แผนเที่ยว

วันที่หนึ่ง

  • นั่งเครื่องจากกรุงเทพไปยังเมืองมัณฑะเลย์ด้วยสายการบิน Thai Air Asia (FD244)
  • ถึงเมืองมัณฑะเลย์ เดินทางจากสนามบินเข้าเมืองใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
  • เช็คอินเข้าที่พัก (APEX hotel)
  • ทานชา กาแฟ ยามบ่าย พร้อมชมวิวเมืองมัณฑะเลย์ที่ภัตตาคารของโรงแรม
  • ทานอาหารเย็นที่ APEX sky bar
วันที่สอง
  • เช้าเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์
  • ทานอาหารเที่ยงที่ Mingalapar restaurant
  • บ่ายเที่ยววัดต่างๆรอบเมือง ได้แก่ วัดพระมหามัยมุนี, วิหารชเวนันดอว์, อารามอาตุมาชิ, วัดกุโสดอว์
  • เย็นชมพระอาทิตย์ตกดินที่ Mandalay Hill
วันที่สาม
  • เช้าเที่ยวเมืองมิงกุน ชมเจดีย์มิงกุน ระฆังมิงกุน และเจดีย์ชินพิวเม
  • ทานอาหารเที่ยงที่ Sagiang Hill restaurant
  • บ่าย ชมวิวเมืองสะกายจาก Sagiang Hill จากนั้นนั่งรถม้าชมเมืองอังวะ
  • เย็น ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สะพานอูเบ็ง เมืองอมรปุระ
วันที่สี่
  • ตื่นสายๆ ทานอาหารเช้าที่โรงแรมชิลล์ๆ
  • นั่งรถไปสนามบิน
  • บินกลับเมืองไทยด้วยสายการบิน Thai Air Asia (FD245)

ที่พักในเมืองมัณฑะเลย์

ทริปนี้ผมเลือกพักที่ Hotel APEX ซึ่งเป็นโรงแรมระดับมาตรฐานสามดาว ใจกลางเมืองมัณฑะเลย์

ข้อดีของที่นี่มีมากมายครับ ทั้งทำเลที่ตั้ง พนักงานที่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี (รวมทั้งภาษาจีนด้วย) ตกแต่งสวยงาม มีสระว่ายน้ำและฟิตเนส นอกจากนี้แขกของทางโรงแรม ยังจะได้รับคูปองอาหารว่างยามบ่าย (Tea break) ที่ภัตตาคารของโรงแรม และที่นี่ยังมี APEX sky bar อยู่บนชั้นดาดฟ้าของโรงแรม ซึ่งแขกของโรงแรมจะได้รับสิทธิพิเศษเป็น Cocktail ฟรี 1 drink และส่วนลดค่าอาหารอีก 10% จากข้อดีมากมายของโรงแรมนี้ ผมขอแนะนำที่นี่เลยครับ
 

 

 
ข้อเสียเพียงไม่กี่อย่างของที่นี่คือ ห้องน้ำของโรงแรมนี้ ไม่ได้แยกส่วนเปียกกับส่วนแห้งออกจากกันอย่างชัดเจน เวลาอาบน้ำจะเปียกไปทั้งห้องน้ำ นอกจากนี้ ห้องของโรงแรมไม่ได้เก็บเสียง เสียงจากห้องอื่น และข้างนอก อาจเล็ดลอดเข้ามาได้

ตลอดทริปนี้ ผมจองที่ Hotel APEX เป็นเวลา 3 คืน ตกคืนละ 1,500 บาท หารต่อคนก็ตกคนละ 750 บาทต่อคืนครับ (รวมอาหารเช้าแล้ว)

ใครสนใจโรงแรมนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ https://www.hotelapexmandalay.com/

วันที่หนึี่ง

ทริปนี้เราออกเดินทางจากกรุงเทพครับ ผมนั่งเครื่องบินของสายการบิน Thai Air Asia เที่ยวบินที่ FD 244 ไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ในช่วงบ่าย

จากสนามบินมัณฑะเลย์ เราสามารถนั่งรถ Airport bus ไปก็ได้ หรือถ้าใครมากันหลายคน แนะนำให้เรียกรถ Taxi จากสนามบินเข้าเมือง ราคาถ้าคิดเป็นเงินไทยก็อยู่ที่ 300-500 บาท แต่ถ้าใครไม่อยากเสี่ยงกับรถ Taxi ที่อาจจะโดนโกงได้ ผมขอแนะนำบริการของ Klook ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นชื่อดังในด้านการท่องเที่ยว โดยเราสามารถใช้แอพนี้จองทั้งทัวร์และรถรับส่งต่างๆอย่างค่ารถจากสนามบินเข้าเมือง ถ้าจองผ่าน Klook จะอยู่ที่ 500 กว่าบาท ซึ่งหารกันตกคนละ 100 กว่าบาทเท่านั้นเอง (จ่ายแพงกว่าแท็กซี่ทั่วไปเล็กน้อย แต่แลกกับความสบายใจ ผมว่าคุ้มอยู่นะ) 


วันที่สอง

วันนี้ถือเป็นวันแรกที่เราได้เที่ยวเมืองมัณฑะเลย์จริงๆจังๆ หลังจากที่วันแรกอยู่แต่ในโรงแรม วันนี้เราจะเริ่มต้นเที่ยวในเมืองมัณฑะเลย์กันก่อนครับ


เนื่องจากมัณฑะเลย์เป็นเมืองขนาดใหญ่ เราไม่สามารถเดินเที่ยวทั้งเมืองได้อย่างแน่นอน ดังนั้นหลายคนจะใช้วิธีเหมารถ หรือไม่ก็ใช้วิธีโบก Taxi เป็นครั้งๆไป ซึ่งราคาและคุณภาพการบริการก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจาต่อรองของแต่ละบุคคล แถมบางทียังอาจโดนโกงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเดินทางภายในเมืองมัณฑะเลย์ทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากมีบริการ grab ภายในเมืองมัณฑะเลย์ โดยเราสามารถใช้แอพเดียวกับที่ใช้เรียกรถต่างๆในเมืองไทยได้เลย รถที่ให้บริการก็มีอยู่หลายประเภททั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก และรถยนต์ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันออกไปขึ้นกับประเภทของรถครับ

การเยี่ยมชมโบราณสถานในเมืองมัณฑะเลย์ต้องเสียค่าเข้าชม 10,000 จ๊าด เรียกว่า Mandalay Archaeological Zone Ticket โดยเราสามารถซื้อบัตรนี้ได้จากประตูทางเข้าสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองมัณฑะเลย์ เช่น พระราชวังมัณฑะเลย์, วิหารชเวนันดอว์, อารามอาตุมาชิ

บัตรนี้บัตรเดียวสามารถใช้ชมได้สถานที่ท่องเที่ยวได้เกือบทั้งหมดในเมืองมัณฑะเลย์ (ยกเว้นวัดพระมหามัยมุนี) รวมทั้งในเมืองข้างเคียงอย่างอมรปุระ และอังวะอีกด้วยครับ

สถานที่แรกที่เรามาเยี่ยมชมก็คือ พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace) ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น ผมจะขอเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ให้ฟังพอสังเขป เพื่ออรรถรสในการท่องเที่ยวนะครับ

ในอดีตเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ดินแดนของชาวพม่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอังวะ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ตองอู (พระเจ้าบุเรงนองอยู่ในราชวงศ์นี้) ต่อมาราชวงศ์ตองอูก็ได้เสื่อมลง ทำให้มอญได้ประกาศเอกราชและได้เข้าตีเมืองอังวะจนพังพินาศ แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ก็ได้มีวีรบุรุษคนหนึ่งของชาวพม่าได้กอบกู้เอกราชจากมอญนั่นก็คือ พระเจ้าอลองพญา ซึ่งได้สถาปนา ราชวงศ์คองบอง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองพม่า

เมื่อพระเจ้าอลองพญาได้รวบรวมพม่าเป็นปึกแผ่นแล้ว ก็ได้เข้าตีกรุงศรีอยุธยา และสวรรคตลง ณ ชานเมืองอยุธยา หลังจากนั้นพม่าก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์  เช่น พระเจ้ามังระ พระเจ้าปดุง พระเจ้าจักกายแมง เป็นต้น ในช่วงเวลานั้นพม่าก็มีการย้ายเมืองหลวงอีกหลายครั้ง ตั้งแต่ชเวโบ อังวะ สะกาย และอมรปุระ รวมทั้งผ่าน สงครามอังกฤษ-พม่า จนทำให้เสียดินแดนพม่าตอนล่าง (Lower Myanmar) ไปทั้งหมด

ในปี พ.ศ.2400 พระเจ้ามินดง ได้ทำการย้ายเมืองหลวงอีกครั้งจากเมืองอมรปุระ มาที่เมืองมัณฑะเลย์ตามคำทำนายของโหรหลวงว่า ที่นี่เป็นทำเลทองที่จะทำให้พม่ารอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้ เมืองนี้จึงถูกสร้างขึ้นใหม่ มีการตัดถนนและวางผังเมืองเป็นอย่างดีตามแบบตะวันตก รวมทั้งมีการสร้างพระราชวังไม้สักที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดในอุษาคเนย์ 

สำหรับพระเจ้ามินดงนั้น พระองค์เป็นกษัตริย์พม่าที่มีพระราชินี และพระสนมเป็นจำนวนมากกว่า 50 พระองค์ ในบรรดาพระสนมทั้งหมด มี พระนางอเลนันดอ ที่ว่ากันว่าเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง และมีอิทธิพลในราชสำนักมาก พอสิ้นพระเจ้ามินดงแล้ว พระนางก็กุมอำนาจในราชสำนัก และสถาปนา เจ้าชายธีบอ ซึ่งเป็นเจ้าชายที่กิดจากพระสนมปลายแถวขึ้นเป็นกษัตริย์ (จะได้ควบคุมง่ายๆ) รวมทั้งจัดแจงอภิเษกลูกสาวของพระนางคือ พระราชินีศุภยาลัต ให้เป็นพระราชินีของพระเจ้าธีบออีกด้วย (คนด้านล่างในรูปคือ พระเจ้าธีบอ และพระราชินีศุภยาลัต)

เรื่องราวที่อื้อฉาวที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าธีบอก็คือ การสังหารหมู่ที่พระราชวังมัณฑะเลย์ โดยพระนางศุภยาลัตซึ่งเวลานั้นได้กุมอำนาจทั้งหมดไว้แล้ว ได้วางแผนจัดการเสี้ยนหนามทางการเมืองนั่นก็คือ เชื้อพระวงศ์ต่างๆของราชวงศ์คองบองให้สิ้นซากด้วยการประหารชีวิตด้วยท่องจันทน์ จากนั้นก็ได้ขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วโยนพระศพเหล่านี้ลงไปในหลุม ว่ากันว่า การประหารต้องใช้เวลาถึง 3 คืน เนื่องจากมีคนจำนวนมากเป็นร้อยๆศพถูกฆ่า และต้องทำในเวลากลางคืนเท่านั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เพื่อกลบเสียงโหยหวนจากคนที่กำลังจะถูกฆ่า พระราชินีศุภยาลัตได้จัดงานเลี้ยงประโคมเครื่องดนตรีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของพระเจ้าธีบอ

ท้ายที่สุดในปี พ.ศ.2428 อังกฤษก็ได้ยกทัพล่องตามแม่น้ำอิรวดีเข้ามายึดเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ พระเจ้าธีบอ พระราชินีศุภยาลัต และพระนางอเลนันดอก็ได้ถูกนำตัวไปอยู่อินเดีย เป็นการปิดฉากราชวงศ์คองบองที่ปกครองพม่าได้เป็นเวลากว่า 120 ปี เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตรงนี้ได้ถูกนำไปเขียนเป็นบทประพันธ์เรือง พม่าเสียเมือง ของมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้นำมาดัดแปลงเป็นละครต่างๆเรื่อง เพลิงพระนาง และ รากนครา อีกด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม คราวเคราะห์ของพระราชวังนี้ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองเมืองมัณฑะเลย์ ก็ได้ใช้พระราชวังมัณฑะเลย์เป็นศูนย์กลางการปกครอง จนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ยึดครองพม่ารวมทั้งเมืองมัณฑะเลย์ได้เป็นผลสำเร็จ และได้ใช้พระราชวังมัณฑะเลย์เป็นฐานบัญชาการ ดังนั้น เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไป อังกฤษจึงทิ้งระเบิดใส่พระราชวังมัณฑะเลย์จนไหม้เป็นจุล พระราชวังที่เห็นทุกวันนี้เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบพระราชวังเดิม

เกริ่นมายาวเหยียด เรามาดูกันดีกว่าว่า พระราชวังนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง ถ้ามองจากด้านนอก เราจะเห็นคูน้ำและกำแพงสูงยาวเหยียดแบบนี้  ว่ากันว่า ตอนสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์มีการฝังคนเป็นๆถึง 52 คนตามประตูต่างๆ หลายคนเชื่อว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วิญญาณเหล่านี้เคียดแค้น จึงเกิดเรื่องไม่ดีต่างๆมากมายขึ้น

ประตูที่นักท่องเที่ยวจะเข้าได้คือ ประตูตะวันออก (East gate) เท่านั้น เมื่อเข้าประตูนี้แล้วให้เดินไปซื้อตั๋วกับทหาร ซึ่งต้องเตรียมพาสปอร์ตไว้ใช้แลกบัตรห้อยคอเพื่อแสดงตนเป็น Visitor ด้วยครับ

จากบริเวณบูธขายตั๋วไปถึงพระราชวังจะต้องเดินเข้าไปอีก 900 เมตร ใครเดินไหวก็เดิน แต่ถ้าเดินไม่ไหว สามารถเรียกมอเตอร์ไซค์แถวนั้นให้พาเข้าไปส่งยังด้านในได้

(ถ้าใครตัดสินใจเดิน อย่าถ่ายรูปส่งเดชนะ เพราะตรงนั้นเป็นค่ายทหาร เป็นพื้นที่ความมั่นคง อาจจะมีปัญหาได้ เราสามารถถ่ายรูปได้เฉพาะด้านในพระราชวังเท่านั้น)


เมื่อเดินจากประตูตะวันออกก่อนถึงพระราชวังจะพบกับ Relic tower หรือที่เก็บพระบรมอัฐิของพระเจ้ามินดง (ปัจจุบันไม่ได้เก็บแล้ว)

จาก Relic tower เราจะเห็นตัวพระราชวังตั้งอยู่ไม่ไกลครับ

ถึงแล้วครับ พระราชวังมัณฑะเลย์

หุ่นจำลองของพระเจ้ามินดง และพระนางนันมาดอ พระอัครมเหสี

หุ่นจำลองของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของพม่า กับพระราชินิศุภยาลัต

ทางเดินไปยังพระตำหนักต่างๆของพระราชวังมัณฑะเลย์

สิ่งปลูกสร้างและพระตำหนักบางส่วนครับ

แท่นบรรทมของพระราชินีศุภยาลัต

หอคอยพระราชินีศุภยาลัต เป็นหอคอยที่ใช้มองทั่วทั้งเมืองมัณฑะเลย์ ว่ากันว่า เมื่ออังกฤษบุกมาถึงเมืองมัณฑะเลย์แล้ว แต่พระราชินีศุภยาลัตไม่เชื่อว่าพม่าจะแพ้ จึงปีนหอคอยนี้ขึ้นมาดู และเมื่อพบว่าเป็นความจริง พระนางก็เป็นลมสลบไป

เมื่อเดินขึ้นไปบนหอคอย เราจะได้เห็นพระราชวังมัณฑะเลย์ในมุมสูง

ใกล้ๆกับหอคอยมีอาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรปแทรกอยู่

 

มีคู่บ่าวสาวถ่ายรูปพรีเวดดิ้งในพระราชวังมัณฑะเลย์ด้วยครับ

ผมเที่ยวชมพระราชวังมัณฑะเลย์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยง หลายๆคนอาจจะบอกว่าที่นี่ไม่มีอะไร เที่ยวแป๊บเดียวก็หมด แต่ผมว่า ถ้าจะเที่ยวให้ครบ ถ่ายรูปชิลล์ๆ ต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมงเลยครับ

จากพระราชวังมัณฑะเลย์ ผมก็เดินออกทางประตูเดิม แลกพาสปอร์ตคืน และเรียก grab ไปทานอาหารเที่ยงที่ร้าน
Mingalabar restaurant

ใครที่อยากทานอาหารพม่าแท้ๆ ผมแนะนำร้านนี้เลยครับ ร้านตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับพระราชวังมัณฑะเลย์ ได้รับคะแนนรีวิวเป็นอันดับหนึ่งใน Tripadvisor

ข้อดีของร้านนี้คือ ถูกมาก และสะอาด ส่วนอาหารรสชาติถูกปากไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับลิ้นแต่ละคนครับ ส่วนตัวผมไม่ชอบอาหารพม่าเลยคิดว่า ไม่อร่อยเลย ในขณะที่เพื่อนร่วมทริปกลับชมว่าอร่อยมาก เอาเป็นว่า ถ้าใครได้ไปมัณฑะเลย์ก็ลองชิมดู แล้วมารีวิวกันด้วยนะครับว่าคิดยังไงกันบ้าง

หลังจากเติมพลังด้วยอาหารพม่าเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเที่ยวกันต่อครับ โดยเราได้เรียก grab เพื่อไปยังที่ต่อไป นั่นก็คือ วิหารชเวนันดอว์ (Shwenandw Monastery)

ตามที่ผมได้เล่าไปในตอนต้นเกี่ยวกับพระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพระราชวังไม้สักที่สวยงามที่สุดในอุษาคเนย์ แต่กลับถูกกองทัพอังกฤษถล่มด้วยระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจนแหลกเป็นจุล แต่สิ่งที่น่าดีใจก็คือ ยังมีบางส่วนของพระราชวังเหลือรอดมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ วิหารชเวนันดอว์ (Shwenandw Monastery) แห่งนี้นั่นเอง

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวิหารนี้นั่นก็คือ งานแกะสลักไม้สักตามผนังต่างๆที่มีทั้งความประณีต และสวยงาม (ลองจินตนาการดูครับว่า ในอดีต พระราชวังมัณฑะเลย์ที่มีตำหนักต่างๆเป็นแบบนี้ทั้งหมด จะสวยงามขนาดไหน)

ในอดีตวิหารนี้คือ พระราชมณเฑียรทอง ซึ่งสร้างด้วยไม้สักและปิดทองทั้งหลัง แต่ปัจจุบันทองคำได้ลอกออกไปหมดเหลือแต่ไม้ ว่ากันว่า พระเจ้ามินดงได้มานั่งสมาธิและสิ้นพระชนม์ที่วิหารแห่งนี้ พระเจ้าธีบอจึงสั่งให้ย้ายวิหารนี้มาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน 

ใกล้ๆกับวิหารชเวนันดอ จะมีพระอารามที่ชื่อว่า อารามอาตุมาชิ (Atumashi Monastery)

อารามนี้ พระเจ้ามินดงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บพระไตรปิฎกหลวง โดยคำว่า อาตุมาชิ หมายถึงงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ สมัยก่อนจะมีพระประธานองค์ใหญ่ที่มีเพชรเม็ดใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้วย แต่เพชรได้หายไประหว่างการจลาจลช่วงที่อังกฤษบุกมัณฑะเลย์ แถมต่อมาอารามนี้ก็เกิดเพลิงไหม้อีก อารามที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นของใหม่ทั้งหมดครับ

หลังจากเที่ยวชมพระอารามอาตุมาชิเสร็จแล้ว เราก็เรียก grab ต่อไปยัง วัดพระมหามัยมุนี (Maha Myat Muni Temple) ครับ

พระมหามัยมุนี (Maha Myat Muni Buddha Image) ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่า เดิมทีพระพุทธรูปนี้ไม่ได้อยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์หรอกครับ แต่ประดิษฐานอยู่ที่แคว้นยะไข่ ซึ่งสมัยก่อนยะไข่เป็นอาณาจักรอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับพม่า จนเมื่อรัชสมัยของ พระเจ้าปดุง (คนที่ทำสงครามเก้าทัพกับไทย) พม่าได้ทำสงครามชนะยะไข่ จึงได้เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปนี้ล่องตามแม่น้ำขึ้นมาถึงเมืองมัณฑะเลย์

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ตอนที่สร้างพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทานลมหายใจให้กับพระพุทธรูป ชาวยะไข่และชาวพม่าจึงถือว่า พระพุทธรูปนี้ยังมีลมหายใจอยู่ ทุกวันตอนตีสี่จึงมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี

นอกจากพระมหามัยมุนีแล้ว ที่วัดนี้ยังมีรูปหล่อสำริดทั้งทวารบาล สิงห์ และช้างเอราวัณ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รูปหล่อเหล่านี้ จริงๆแล้วมีต้นกำเนิดมาจากนครวัด แต่สาเหตุที่มาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์แห่งนี้ เนื่องจาก เมื่อนครวัดถูกอาณาจักรอยุธยาตีแตก รูปปั้นเหล่านี้ก็ถูกนำมาที่อยุธยา จนเมื่อเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง พระเจ้าบุเรงนองก็สั่งให้นำรูปหล่อเหล่านี้มาไว้ที่กรุงหงสาวดี และพอสิ้นพระเจ้าบุเรงนอง กรุงหงสาวดีก็ถูกยะไข่ตีแตก รูปปั้นเหล่านี้ ก็ถูกนำไปอยู่ที่ยะไข่เป็นเวลากว่า 200 ปี จนเมื่อพระเจ้าปดุงพิชิตยะไข่ได้ รูปปั้นจึงถูกนำมาอยู่ที่วัดพระมหามัยมุนีมาจนถึงปัจจุบันครับ

ภายในวัดยังมีอนุสาวรีย์ของ ตะโดเมงสอ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าปดุง ผู้ที่ทำสงครามเอาชนะยะไข่ และนำพระมหามัยมุนีมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ

จากวัดพระมหามัยมุนี เราก็เรียก grab เพื่อไปยังจุดต่อไป นั่นก็คือ วัดกุโสดอว์ (Kuthodaw Pagoda) ครับ

วัดกุโสดอว์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 ในรัชสมัยพระเจ้ามินดงด้านในมีจารึกพระไตรปิฎก 74,000 พระธรรมขันธ์ จารึกลงบนหินอ่อน 729 แผ่น และทำมณฑปครอบไว้จึงถือเป็น หนังสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (The largest book in the world)

จารึกพระไตรปิฎกของวัดนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำของโลก โดยองค์การยูเนสโก้ ในปี 2013 อีกด้วย

นอกจากนี้ วัดนี้ยังมี เจดีย์มหาโลกมารชิน (Maha Lawka Marazein) ซึ่งจำลองมาจากเจดีย์ชเวซิกองที่เมืองพุกาม

จากวัดกุโสดอว์ เราก็เรียก grab ไปยังจุดหมายสุดท้ายของทริปวันนี้ นั่นก็คือเนินเขามัณฑะเลย์ (Mandalay Hill) ซึ่งเป็น ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่า เพราะเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ที่ภูเขาลูกนี้ และทำนายว่า เมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาลูกนี้จะเป็นเมืองที่รุ่งเรือง นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมพระเจ้ามินดง จึงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมาอยู่ที่มัณฑะเลย์

ภูเขาลูกนี้สูง 240 เมตร มีทางเดินเป็นบันได 1,729 ขั้นเป็นระยะทาง 400 เมตร สามารถเดินขึ้นได้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือถ้าใครไม่อยากเหนื่อย สามารถนั่งรถขึ้นมาก็ได้ครับ (แนะนำให้ขาขึ้นนั่งรถ ส่วนขากลับเดินลง จะได้ไม่เหนื่อยมาก)

ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติจะขึ้นมาชมพระอาทิตย์ตกดินที่นี่ครับ เพราะเราจะได้เห็นวิว 360 องศา และมองเห็นไปจนถึงแม่น้ำอิรวดีเลย



จบไปแล้วนะครับ สำหรับการเที่ยว 1 วันในเมืองมัณฑะเลย์ตั้งแต่พระราชวัง, วัดต่างๆ ไปจนถึงจุดชมวิวของเมืองมัณฑะเลย์ ทั้งหมดนี้ผมใช้ grab เดินทางทั้งหมดซึ่งถือว่าเที่ยวได้สะดวกมากๆ ใครมาเมืองนี้ ผมแนะนำเลยครับ

ในตอนหน้า ผมจะพาออกนอกเมืองมัณฑะเลย์กันบ้าง รอบๆเมืองมัณฑะเลย์ยังมีเมืองโบราณที่มีความสวยงามและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่มากมายทั้งสะกาย มิงกุน อังวะ และอมรปุระ ทั้งหมดนี้ ฝากติดตามต่อในตอนหน้านะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 10 ธันวาคม 2566 23:08:46 น.
Counter : 3309 Pageviews.  


เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.